ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชนในอเมริกา บทเรียนและประสบการณ์จากนักเคลื่อนไหวทางสังคม

เก็บความโดย พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ / ภาพถ่ายโดย สมรักษ์ อุตม์จันดา

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) จัดเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชนในอเมริกา: บทเรียนและประสบการณ์จากนักเคลื่อนไหวทางสังคม” โดยวิทยากร ซูซาน เฮย์ แพทริก (Susan Hay Patrick) จาก United Way of Missoula County  ล่ามแปลภาษาไทยโดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์  ทั้งนี้มีผู้สนใจจากหลากหลายองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในเวทีนี้

ช่วงเช้า


ชีวิน อริยะสุนทร ตัวแทน นธส. กล่าวเปิดงาน:

ขอต้อนรับทุกท่าน แผนงาน นธส. ร่วมกับภาคีได้จัดงานเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการทำงานขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชน โดยเราได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เป็นคนทำงานองค์กรประชาชนจากอเมริกามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพวกเรา หัวข้อเสวนาวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม เราจะเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในบริบทของอเมริกาและลองเปรียบเทียบการทำงานของบ้านเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง และพูดถึงการบริหารจัดการองค์กรและการระดมทุน โดยวิทยากรจะมาบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนกับพวกเรา

 

คุณสุเพียงพิชญ์ พรฤกษ์งาม ตัวแทนจาก US Embassy กล่าวแนะนำวิทยากร:

ในนามของสถานทูตสหรัฐฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนับสนุนให้เกิดเวิร์กชอปนี้ขึ้นมา โดยเรามีวิทยากรสองท่านจาก U-of Montana ซึ่งเดินทางมาในฐานะ Professional Fellows  โครงการ Professional Fellows เป็นโครงการแลกเปลี่ยนที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โครงการนี้เป็นโครงการที่เราจะส่งคนไทยอายุ 25-35 ปีไปที่ U-of Montana เป็นองค์กร NGO management ไปศึกษาดูงานที่นั่นเป็นเวลา 5 สัปดาห์ หลังจากนั้นเราก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญของ U-of Montana มาที่นี่เพื่อมาแลกเปลี่ยน  

Susan Hay Patrick

คุณซูซาน (Susan Hay Patrick) วิทยากรหลัก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์กรภาคประชาชน เธอเป็นผู้นำในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากว่า 35 ปี  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น Chief Executive Officer เป็นซีอีโอขององค์กร NGO ชื่อ United Way of Missoula County รัฐมอนทานา นอกจากนั้นคุณซูซานยังเป็นผู้อำนวยการองค์กรเอ็นจีโอที่ใหญ่ที่สุดติดหนึ่งในสิบของสหรัฐอเมริกา ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมานอกจากบริหารองค์กรภาคประชาชนแล้วยังเคยเป็นล็อบบี้ยิสต์ในวอชิงตันดีซี เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการองค์กรภาคประชาชนหลายแห่งเกี่ยวกับเด็ก คนไร้บ้าน การป้องกันการฆ่าตัวตาย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเธอได้รับรางวัลระดับชาติและระดับท้องถิ่นหลายรางวัล

Betsy Mulligan-Dagne

คุณเบสซี่ (Betsy Mulligan-Dagne) เป็นนักสังคมสงเคราะห์คลินิก มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี เธอจัดกลุ่มเสวนาโดยใช้กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อพูดถึงปัญหาต่างๆ ระหว่างคนหลายภาคส่วนโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบัน Jeannette Rankin Peace Center นโยบายของสถาบันคือมุ่งเน้นการเพิ่มทักษะการสื่อสารให้ประชาชนเพื่อใช้ในการลดความขัดแย้งและเสริมสร้างสันติภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวชีวิตของคุณเบสซี่ได้ถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีเรื่อง “ก้าวข้ามความแตกแยก” เป็นความพยายามที่จะใช้สันติวิธีเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ทำงานเรื่องสันติภาพกับกลุ่มทหารผ่านศึก คุณเบสซี่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้สันติวิธีในการสื่อสาร คลี่คลายความขัดแย้ง การสร้างทีม รวมถึงเรื่องสตรีศึกษาและการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม

ผู้เข้าร่วมเสวนาแนะนำตัวและประเด็นงานที่แต่ละคนทำอยู่

จากซ้าย เบสซี่ ซูซาน และเจฟฟ์

คนซ้าย คุณไพรินทร์ ล่ามแปลภาษาไทย

บรรยากาศวงเสวนา

ซูซานบรรยายในประเด็น “การวางแผนกลยุทธ์”

  

ในประเทศสหรัฐอเมริกาองค์กรเอ็นจีโอทำงานกันมานาน มีองค์กรที่มีความเข้มแข็ง มีแหล่งสนับสนุนเยอะ ดังนั้นความท้าทายที่เราเจออาจไม่เท่าครึ่งหนึ่งของพวกคุณ จากที่ได้ฟังว่าพวกคุณทุกคนทำงานเหนื่อย ต้องต่อสู้กับความท้าทายทั้งหลาย ฉันก็รู้สึกถ่อมตัวและเป็นเกียรติมากที่ได้มาอยู่กับพวกเราและแบ่งปันกับพวกเราในวันนี้ ฉันมีรายการหลายอย่างที่อยากมาแบ่งปัน บางอย่างฉันก็เพิ่งได้เรียนรู้มา บางอย่างฉันก็ต้องเรียนรู้มาด้วยความยากลำบาก ฉันอยากช่วยเหลือให้พวกคุณไม่ต้องเรียนรู้ด้วยความยากลำบากเหมือนฉัน มีสองสิ่งที่ฉันคิดถึงขณะฟังพวกเราแบ่งปันเรื่องราว อย่างแรกขณะที่เรากำลังทำงานเหล่านี้ก็จะมีคนหรือพลังบางอย่างที่มาต่อต้านขัดขวางหนทางของพวกเรา และเราก็ต้องต่อสู้กับมันในทุกๆ ที่ สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้มาคือไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราก็ต้องทำงานต่อไป ต่อสู้ต่อไป เวลาที่คนที่เขาต่อต้านเราเขาเอาก้อนหินหรืออุปสรรคมาขวางทางเรา เราต้องร่วมมือกันเพื่อจะผลักก้อนหินเหล่านั้นกลับไป อยากให้พวกเราตระหนักรู้ว่างานของเราสำคัญแค่ไหน ไม่ใช่งานประจำที่เลิกงานแล้วกลับบ้าน แต่งานของพวกเราคืองานที่กำลังเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นงานที่ให้เสียงกับคนที่ไม่มีเสียงในสังคม ขอบคุณพวกเรามาก ขณะฟังฉันจับประเด็นที่คล้ายคลึงกัน เช่น ประเด็นเรื่องการสร้างเครือข่าย ความยั่งยืน การทำงานให้มีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงสร้างความร่วมมือกัน การขยายงานของพวกเรา การสร้างความเข้มแข็งให้กับศักยภาพของพวกเรา การสร้างทักษะศักยภาพ ความเท่าเทียมกัน การสื่อสาร และเราจะทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม คิดว่าการพูดของฉันในวันนี้จะช่วยพวกคุณในหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ฉันคิดว่าพวกเราทุกคนในที่นี้มีหลายสิ่งหลายอย่างสามารถสอนทั้งฉันและเบสซี่ได้ด้วย

ขอเริ่มด้วยการพูดถึงการวางแผนกลยุทธ์ซึ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานในองค์กรของเรา และเราจะได้ลงมือทดลองวางแผนกัน เราจะพูดถึงการหาทุน ระดมทุน เพราะการระดมทุนเป็นการสร้างความยั่งยืนความมั่นคงให้แก่การทำงานของเรา และเราจะเป็นผู้นำได้อย่างไรในวิถีชีวิตของพวกเรา พวกเราทุกคนในที่นี้เป็นผู้นำกันหมดไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เราสามารถเป็นผู้นำจากจุดที่เรายืนอยู่ได้ อยากให้พวกเราสนุกกันในวันนี้ ดังที่คอลัมนิสต์หัวก้าวหน้าชาวอเมริกันคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เราต้องสนุกขณะต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งหลาย เพราะว่าปกติเราจะไม่ชนะเสมอไป”

อันดับแรกอยากพูดถึงรัฐมอนทานาที่เป็นบ้านของฉัน มอนทานาเป็นรัฐขนาดใหญ่ในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา พวกเราเป็นคนชนบท ชื่อเล่นของรัฐเราคือ “a glimpse of the BIG SKY” (สถานที่ที่มีฟ้ากว้าง) เมืองในภาพนี้คือมิสซูลา เป็นเมืองที่มีมีแม่น้ำไหลผ่าน ตั้งอยู่ไม่ห่างจากทุ่งหญ้าที่มีควายป่าไบซัน เราอยู่ในรัฐที่สวยงามมาก อุดมสมบูรณ์ มีกวางเดินอยู่ในสวนหลังบ้าน ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพที่งดงาม ภาพด้านล่างนี้เรียกว่าต้นไม้ผี เป็นต้นไม้ที่ปกคลุมด้วยหิมะในหน้าหนาว

Professional Fellows เป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักวิชาการระหว่างกันและกัน ส่วน YSEALI (Young Southeast Asian Leaders Initiative) เป็นโครงการที่นำผู้นำเยาวชนมาเจอกัน เพื่อแปลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความเป็นผู้นำของเยาวชนเหล่านั้นโดยมีเยาวชนจากพม่า ลาว กัมพูชา ไทยเข้าร่วม จุดมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อสร้างความร่วมมือ ความเข้าอกเข้าใจกัน และแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราเชี่ยวชาญกันและกัน

องค์กร United Way ทำงานในเขตมิสซูลา (Missoula) เราทำงานใน 3 ส่วน คือ 1) เรื่องการศึกษา  2) เรื่องรายได้  3) เรื่องสุขภาพ  ตัวอย่างโครงการที่เราทำ ได้แก่

  • โครงการ Graduation Matters เป็นโครงการที่พยายามสนับสนุนเยาวชนให้คงอยู่ในโรงเรียนจนเรียนจบได้ เรามอบกระเป๋าเป้ที่มีอุปกรณ์การศึกษาให้เด็กนับพันคนเพื่อให้เด็กไปโรงเรียนได้โดยมีอุปกรณ์การเรียนการสอนเหมือนคนอื่นๆ
  • โครงการ “ห้องสมุดในจินตนาการ” (Imagination Library) ริเริ่มโดย ดอลลี่ พาร์ตัน (Dolly Parton) เป็นนักแสดงผู้มีความฝันว่าอยากแบ่งปันความสุขจากการอ่านให้แก่ทุกคน โครงการนี้จะส่งหนังสือให้เด็กทุกคนที่สมัครสมาชิก 1 เล่มต่อ 1 เดือน ตั้งแต่เกิดจนถึง 5 ขวบหรือเริ่มเข้าอนุบาล เพราะสมองมนุษย์ส่วนใหญ่จะพัฒนาช่วงระหว่างเมื่อเราเกิดจนถึง 5 ขวบ เราจะพยายามทำให้เด็กๆ สามารถสร้างการพัฒนาในสมองได้ วิธีหนึ่งที่เราทำคือส่งหนังสือให้รู้ว่าครอบครัวเหล่านั้นมีหนังสือที่พัฒนาสมองของเด็กๆ ทั้งหลาย
  • โครงการ Let’s Move Missoula เป็นโครงการต่อต้านความอ้วน เพราะเรามีประชากรน้ำหนักเกินจำนวนมาก โรคอ้วนส่งผลเสียหายทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคต่างๆ อีกมาก โครงการขยับร่างกายนี้ช่วยให้คนกลับมาดูแลสุขภาพ ใช้วิถีชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้นทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายและอาหาร
  • โครงการ Reaching Home เป็นโครงการที่เราริเริ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้านภายใน 10 ปี ประเทศเรามีปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน ในมิสซูลาก็เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อทุกๆ คน ไม่เฉพาะคนไร้บ้านเองเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อเด็กๆ ส่งผลต่อครอบครัวด้วย
  • โครงการ “มอนทานาวันพรุ่งนี้” (Tomorrow Montana) เป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย เราได้เห็นภาพมอนทานาสวยงามแต่มอนทานาก็มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดในสหรัฐฯ เราต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพนี้ เราเริ่มโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยการสร้างสุขภาวะที่ยืดหยุ่นกับชีวิต พยายามช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในชุมชน เพราะถ้าคนไม่มีความสัมพันธ์เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า นอกจากนี้เรายังฝึกอบรมผู้คนในชุมชนให้สามารถให้ความช่วยเหลือยื่นมือออกไปหาคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรืออยากฆ่าตัวตายให้สามารถช่วยคนเหล่านี้ได้ เรายังทำให้การขอความช่วยเหลือของคนอยากฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติ ไม่อยากให้เป็นเรื่องของคนผิดปกติหรือคนโรคจิต แต่อยากทำให้เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถขอได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาโดยเฉพาะในบรรดาพวกผู้ชายที่ไม่อยากขอความช่วยเหลือเพราะอยากรักษาภาพลักษณ์เข้มแข็ง

องค์กรของเราชื่อ United Way ยังเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับนานาชาติด้วยที่เรียกว่า United Way Worldwide ดังนั้นนอกจากทำงานระดับชุมชนแล้วเรายังทำงานระดับนานาชาติด้วย สโลแกนของเราคือ “การใช้ชีวิตโดยร่วมไม้ร่วมมือกัน เราจะได้สร้างอนาคตที่มีความมั่นคงเข้มแข็งเพื่อเด็กๆ ของพวกเรา

เหตุใดจึงต้องวางแผนกลยุทธ์?

จากภาพ ชายคนนี้บอกว่าใครจะไปมีเวลาวางแผนฉันไม่มีเวลากระทั่งจะแต่งตัวตอนเช้าเลย เราก็เช่นกัน แต่ละวันเรามีงานที่ต้องทำเยอะแยะไปหมดแล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาวางแผน ฉันก็รู้สึกเหมือนกัน แต่ละวันต้องจัดเอกสารเข้าแฟ้มๆ จนต้องบอกตัวเองว่าต้องมีเวลาวางแผนเพื่อไม่ให้เอกสารล้นแฟ้ม

เราวางแผนเนื่องเพราะเวลาเราทำงานจะมีสิ่งภายนอกเกิดขึ้นหลายๆ อย่าง เช่นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งมา ตลาดหุ้นผันผวนส่งผลต่อการที่คนมีเงินหรือไม่มีเงิน เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการทำงาน และไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น ภายในองค์กรเองก็มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น ผอ. ลาออก หรือแหล่งทุนเลิกสนับสนุนเรา เป็นต้น  การวางแผนจะช่วยให้เราเห็นว่าองค์กรเราจะมุ่งหน้าไปทิศทางไหน เป็นเหมือนโรดแม็ปขององค์กรเรา เราจะเอาทรัพยากรที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุนไปทุ่มกับอะไร การวางแผนยังช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนหรือผู้คนที่เราทำงานเพื่อพวกเขา เราจะสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้คนภายนอกเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ฉะนั้นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ฉันคิดว่าทำไมเราต้องวางแผนองค์กรของเราก็คือว่า เราจะสามารถควบคุมทิศทางการทำงานขององค์กรได้ หรือถ้าเราเคยสูญเสียการควบคุมไปก็จะทำให้เรากลับมาควบคุมทิศทางของมันได้อีกครั้งด้วย และจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายที่มีเหตุมีผลได้ด้วย

ในนิยาย อลิซในแดนมหัศจรรย์ เจ้าแมว Cheshire พูดกับอลิซว่า “If you don’t know where you’re going, any road will do.” (ถ้าเธอไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนถ้าอย่างนั้นก็ไปตามถนนไหนก็ได้)  การบริหารจัดการองค์กรของเรา เราคงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะเราต้องการรู้ว่าเราจะไปในทิศทางไหน

นอกจากการตั้งเป้าหมายที่มีเหตุมีผลแล้วในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีภาพฝันที่ใหญ่ด้วย เป็นเหมือนภาพวิสัยทัศน์ของเรา เพราะผลลัพธ์ของสิ่งดีๆ ที่ออกมาได้นั้น เบื้องหลังที่ขับเคลื่อนอยู่คือ ภาพฝัน หรือวิสัยทัศน์ที่ใหญ่ มันจึงให้ผลที่ใหญ่ออกมาได้ อีกเหตุผลหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์ก็คือจะช่วยให้เรารู้สึกว่าเรามีพลัง

เมื่อไรจึงจะวางแผนกลยุทธ์?

สำหรับองค์กรที่พึ่งเริ่มใหม่หรือบางองค์กรที่มีแผนงานแล้วหรือทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว บางครั้งมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อองค์กร เราจึงต้องมีการวางแผนว่าเราจะรับมือกับปัจจัยเหล่านั้นอย่างไรบ้าง เวลาที่เราจะไม่วางแผนคือเวลาที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต เพราะเวลาวิกฤตนั้นสมองเราจะคิดคำนวณไม่ได้ดีเท่าไร ถ้าเรามีหัวหน้ามาใหม่ควรรอจนหัวหน้าเข้ารับตำแหน่งในองค์กรก่อนแล้วค่อยมาวางแผน ตอนที่ฉันขึ้นมาเป็นซีอีโอขององค์กร ในองค์กรก็คิดว่าน่าจะเป็นไอเดียที่ดีถ้าเราวางแผนกลยุทธ์ไว้ก่อน พอหัวหน้าใหม่มาก็เสนอแผนที่วางไว้แล้วแก่หัวหน้าใหม่เลย ปรากฏว่าแผนนั้นเป็นแผนที่แย่มาก เราจึงต้องเสียเวลามาวางแผนกันใหม่ ดังนั้นจะฉลาดกว่าถ้ารอหัวหน้าใหม่มาก่อนแล้วมาร่วมวางแผนด้วยกัน ไม่ว่าใครก็อยากให้แผนงานออกมาดี 

อะไรอยู่ในแผนกลยุทธ์ที่ดี?

วิสัยทัศน์หรือภาพฝันที่เรามีต่อชุมชนหรือคนที่เราทำงานด้วยคืออะไร? คุณค่าขององค์กรเราคืออะไร? เราให้คุณค่ากับสิ่งไหน จิตวิญญาณที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังงานเราคืออะไร เป้าหมายหลักขององค์กรเราคืออะไร และขั้นตอน กระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมายมีอะไรบ้าง? สิ่งนี้จะเป็นโรดแม็ปขององค์กรเรา

ข้อควรระวังคือการยึดติดกับแผนงานนั้นๆ เราจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ในพระคัมภีร์เก่าพูดถึงโมเสส โมเสสเป็นผู้นำประชาชนและได้รับบัญญัติสิบประการมาจากพระผู้เป็นเจ้าสลักมาในหินสองก้อน แต่ในปัจจุบันสลักหินสองก้อนก็ใช้ไม่ได้แล้วสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน ข้อควรระวังอีกประการคือการที่เราวางแผนเสร็จแล้วไม่เคยกลับไปดูมันอีกเลย เรามีแผนแล้วแต่ไม่เคยหันไปหามันเลย

ใครมีความเกี่ยวข้องกับแผนกลยุทธ์ของเราบ้าง?

ในประเทศเราแต่ละองค์กรก็แตกต่างกันไปว่าใครเกี่ยวข้องกับแผนของเราบ้าง เวลาที่เราจะวางแผนให้องค์กรของเราลองคิดดูว่าแผนงานนี้มีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ในสหรัฐฯ เราจะพยายามรวมคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในแผนงานนี้เข้าด้วยกัน เช่นคณะกรรมการ คนทำงาน แหล่งทุน องค์กรภาคี และบรรดาอาสาสมัครของเรา เราจำเป็นต้องให้คนที่จะได้รับผลจากแผนงานของเรามีส่วนร่วมในการวางแผนด้วย ไม่ใช่เราทำแผนไปให้เขาแต่ให้เขามีส่วนร่วมวางแผนกับเรา บางองค์กรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่วัฒนธรรมองค์กรของพวกเรา ในองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศเราส่วนใหญ่จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางแผนกลยุทธ์ แต่องค์กรเล็กๆ ก็จะเป็นคณะกรรมการทั่วๆ ไปที่จะมาวางแผน บางองค์กรก็จะไปจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในการวางแผน แต่บางองค์กรก็วางแผนกันเอง ฉันคิดว่าถ้ามีคนนอกองค์กรเข้ามาช่วยจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขาจะได้ให้มุมมองใหม่ๆ แก่องค์กรของเรา ขอให้มองออกไปนอกหน้าต่าง มองสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วย ไม่ใช่แค่ส่องกระจกภายในว่าเราทำอะไรมาแล้วเท่านั้น เพราะถ้าเรามองแต่เรื่องภายในว่าเราทำอะไรกันมาแล้วก็จะมองไม่เห็นว่าข้างนอกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ดังนั้นบางทีเราวางแผนออกมาแล้วอาจไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก

การวางแผนกลยุทธ์ที่ดีควรมีสิ่งเหล่านี้

  • เป้าหมาย
  • ความเป็นเหตุเป็นผล เพราะอะไรสิ่งนี้ถึงจำเป็นหรือสำคัญในมุมมองของเรา เพราะถ้าเราเลือกเป้าอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วเราควรต้องสามารถอธิบายให้เหตุผลได้ว่าเพราะอะไรเป้านี้ถึงสำคัญ
  • ทรัพยากรที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการเงิน บุคคล เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร พื้นที่ ฯลฯ สิ่งที่สามารถช่วยให้เกิดตามตามแผนงานเราได้
  • ขั้นตอนของการกระทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
  • ตารางเวลา อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องทำทันทีหรืออีกสามเดือนค่อยทำ
  • การประเมินผล ส่วนประกอบต่างๆ ที่เราเอามาใช้ประเมินผล เช่นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลงมือกระทำเมื่อไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าแผนนี้ประสบความสำเร็จ

เวลาที่เราวัดผลความสำเร็จไม่ใช่วัดผลเฉพาะตัวเลขว่าเราทำงานกับคนกี่คนแต่วัดด้วยว่าชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราได้พัฒนาปรับปรุงสภาพต่างๆ ขึ้นได้อย่างไรบ้าง เราไม่ใช่แค่รายงานผลว่าเราให้ความรู้เรื่องสิทธิกับคน 50 คน แต่เราบอกผลไปด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 50 คนนี้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

PLAN              PROGRAM                 BUDGET

เมื่อเรามีแผนแล้ว แผนจะเป็นตัวขับเคลื่อนโครงการของเรา โครงการของเราจะถูกออกแบบมาเพื่อสอดรับกับแผนที่เราวางไว้ นั่นเองเป็นตัวกำหนดงบประมาณว่าเราจำเป็นต้องมีเงินที่ทำโครงการของเราเท่าไร

ฉันชอบแผนงานที่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ แผนงานที่ซับซ้อนดูแล้วไม่เข้าใจก็ไม่จำเป็นและไม่ช่วย ไม่มีใครอยากจะทำงานที่มีแผนซับซ้อนหรอก ฉะนั้นเราจะเริ่มต้นได้อย่างไร เริ่มต้นด้วยการค่อยๆ ก้าวเท้าออกไปทีละก้าว เริ่มจากการมาดูว่าขณะนี้องค์กรเราอยู่ตรงไหน

เริ่มต้น: วิเคราะห์และระดมสมอง

  • เราคือใคร องค์กรเราอยู่ตรงไหน
  • แบ่งส่วนองค์กร เปรียบกับการกินพาย เวลาเรากินพายเรากินทีละชิ้น การจัดการองค์กรก็เหมือนการกินพายทีละชิ้น เราแบ่งส่วนองค์กรออกเป็น 1) การจัดการบริหารองค์กร 2) การระดมทุนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก 3) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ว่าเราจะสื่อสารงานของเราที่เราทำออกไปสู่ผู้คนได้อย่างไรบ้าง โครงการของเราคืออะไร งานของเราที่เราทำมีอะไรบ้าง สิ่งก่อสร้างทั้งหลายต้องมีตึกหรือเปล่า มีคอมพิวเตอร์หรือเปล่า ซึ่งบางทีอาจต้องมีส่วนการเงินด้วย งานที่ซับซ้อนอาจต้องแยกส่วนออกมา อาจแยกออกจากการระดมทุน เป็นเรื่องการจัดการการเงินโดยเฉพาะ ที่พูดมาเป็นบรรดาการจัดส่วนต่างๆ ของการจัดการองค์กร แต่พวกเราก็น่าจะรู้เองว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่สำคัญของเรา นี่คือการวิเคราะห์ หนึ่งคือองค์ประกอบขององค์กรเรามีอะไรบ้าง แล้วประเมินองค์กรขณะนี้ว่าอยู่ในภาวะไหนแล้ว
  • ประชุมคุยด้วยกิริยาว่าเราจะทำอะไร การประชุมระดมสมองกันว่าแล้วเราจะไปในทิศทางไหน เวลาเราคิดว่าเราจะทำอะไรขอให้คิดออกมาเป็นคำพูดที่สื่อถึงการกระทำ คำกิริยาของการกระทำ เช่นเราจะพัฒนา จะจัดการประชุม จะปรับปรุงอะไร เป็นต้น เพราะการบอกว่าเราจะทำอะไรจะช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้น การใช้คำเฉพาะเจาะจงจะมีประโยชน์มากกว่าการพูดลอยๆ เราอาจจะทำให้มันเฉพาะชัดเจนขึ้นเช่นอาจจะพูดว่าเราจะพัฒนาโครงการที่จะช่วยให้คนไร้บ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง เป็นต้น

ช่วงระดมสมองนี้ สิ่งสำคัญคืออย่าพึ่งอภิปรายโต้เถียง ช่วงนี้ควรจะเป็นช่วงที่เราทุกคนเสนอความเห็นได้ เป็นช่วงของการรับฟังกันและกัน ใส่ใจและเคารพเสียงทุกเสียง ตอนท้ายเรายังมีเวลาจึงค่อยมาดูความคิดเห็นเหล่านี้ ลองจัดลำดับความสำคัญ บางอย่างเราอาจปฏิเสธไม่ทำก็ได้ เราอาจเคยไปงานประชุมที่เรายกมือเสนอเรารู้สึกว่าเป็นความคิดที่ดีมาก พอมีอีกคนบอกว่านั่นงี่เง่ามาก พอฟังอย่างนี้คนอื่นก็ไม่กล้ายกมือเสนอความเห็นแล้ว ตอนฉันนำประชุมระดมการวางแผน เวลาคนอื่นเสนอความเห็นมาฉันจะไม่ให้คนถอนหายใจหรือทำหน้าเซ็งน่าเบื่อเลย สมมติคุณเบสซี่มาหาฉันแล้วบอกว่ามีไอเดียบรรเจิดมากเลยว่าเราจะสร้างสันติภาพให้โลกนี้ ถ้าฉันไม่พูดอะไรเลยแต่ทำสีหน้าถอนหายใจแค่นั้นเบสซี่ก็รู้แล้วว่าฉันไม่ชอบแผนนี้ ดังนั้นเราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกเสียง ไม่มีใครในที่นี้ฉลาดล้ำเลิศเพอร์เฟกต์

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการวางแผนจะพบว่าไม่มีใครอยากทำสิ่งต่างๆ ในสภาวะรีบร้อน เราไม่ควรเร่งเร้าขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรปล่อยให้มันยืดเยื้อยาวนาน การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจำเป็นต้องใส่รายละเอียดว่าเราจะไปที่นั่นอย่างไร การวางแผนนี้จะใช้เวลา 3-6 เดือน

ลำดับขั้นตอนในการวางแผน

  1. Analyzing วิเคราะห์
  2. Brainstorming ระดมสมองฟังความเห็นของแต่ละคน
  3. “Marinating” บ่ม เหมือนบ่มเนื้อ  เช่นวันจันทร์คิดว่าแผนนี้เจ๋งมาก พอมาดูอีกทีวันพุธพบว่าแผนนี้แย่มาก เราต้องมีเวลาบ่มแผนและปรับแผนได้เสมอ
  4. Defending/refining ปรับแผน เวลาวางแผนเราต้องมีเป้า ตอนตั้งเป้าต้องมีเหตุผล มาคุยกันว่าเหตุผลนี้จำเป็นอย่างไร
  5. Prioritizing จัดลำดับความสำคัญ เพราะเราไม่มีเวลาทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ อะไรสำคัญจัดเรียงลำดับความสำคัญ
  6. Developing ปรับปรุงและพัฒนาความคิดเหล่านั้นขึ้นมาอีก
  7. Approving แต่ละแผนต้องมีคนมาอนุมัติ กระบวนการอนุมัติก็ต้องใช้เวลา
  8. Implementing ดำเนินงาน ลงมือกระทำตามแผน ไม่ใช่วางแผนแล้วทิ้งไว้บนหิ้ง
  9. Evaluating ประเมินผลพัฒนาแผนงานการทำงานของเรา
  10. Revisiting  บางครั้งมีสิ่งต่างๆ ปัจจัยภายนอกภายในที่เปลี่ยนแปลงเราก็ต้องกลับไปปรับปรุงพัฒนาแผนของเราด้วย แผนนี้ไม่ใช่บัญญัติสิบประการที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้

แลกเปลี่ยน/คำถาม

Q1:      สามถึงหกเดือนคือประชุมกันทุกอาทิตย์?

ซูซาน: ช่วงระหว่างการวางแผนอาจจะประชุมทุกอาทิตย์หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ แต่อย่าทิ้งไปสามเดือนหลังจากคิดเสร็จ ไม่อย่างนั้นแผนก็จะตายสลายแห้งเหี่ยวไป ไม่รู้ว่าทุกคนยุ่งมากหรือเปล่า แต่ทุกคนก็อยากจะรู้แผนตารางเวลา เช่นเราจะประชุมกันเรื่องการวางแผนของคณะกรรมการวางแผนกลยุทธ์ทุกวันพุธ เป็นต้น

Q2:      การประชุมนี้คุยเรื่องอื่นด้วยนอกจากเรื่องการวางแผนจะได้หรือไม่?

ซูซาน: มันผสมกัน เวลาที่เราวางแผนมันก็อาจจะมีเรื่องอื่นๆ ขององค์กรเราด้วย ซึ่งเรื่องอื่นๆ ที่เข้ามาจะได้วางแผนของเราผ่านการมองเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งเรื่องอื่นๆ ที่เข้ามาในองค์กรที่เราคุยกันก็อาจจะมุ่งไปสู่การพัฒนาแผนของเราไปด้วย

Q3:      เราจำเป็นจะต้องจัดประชุมแยกต่างหากเพื่อการวางแผนกลยุทธ์ของเราออกจากการประชุมการปฏิบัติงานทั่วไปขององค์กรหรือไม่?

ซูซาน: ถ้าประชุมแยกต่างหากเลยเพื่อวางแผนกลยุทธ์ของเราโดยเฉพาะก็ดีเหมือนกัน แต่การประชุมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ได้ด้วยเช่นกัน

เวลาที่เราใช้เวลาในการวางแผนกลยุทธ์ ข้อดีคือเราจะมีความชัดเจนว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร ยกตัวอย่างเช่นในอเมริกามีประชาชนที่มีรถเก่าๆ มักจะเอามาบริจาคให้เอ็นจีโอ เพื่อเอ็นจีโอจะได้เอาไปขายเพื่อหาเงินเข้าองค์กร แต่องค์กรของเราบอกว่าเราจะไม่รับรถเก่าเลย เป็นข้อตกลงที่ทุกคนในองค์กรรู้ชัดเจนจากการประชุมแผน ดังนั้นเวลามีคนโทร.มาบอกว่าจะบริจาครถเก่า เราก็บอกว่าขอบคุณมาก องค์กรเราไม่รับบริจาครถยนต์ แต่อาจให้องค์กรของเบสซี่แทนก็ได้ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ว่าแผนจะทำให้เราชัดเจนในการทำงานว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ดังนั้นเราใช้เวลาเยอะในการวางแผนแต่จะช่วยในการทำงานได้มาก

ลักษณะแผนกลยุทธ์ที่ดี

  1. อย่าทำให้มันซับซ้อนเกินไป
  2. คิดอะไรที่ทำได้จริง เป็นจริงได้ด้วย ดังคำพังเพยที่ว่า “เราก็ต้องไถนาด้วยวัวที่เรามีอยู่” (You must plough with such oxen) เช่นเบสซี่มีภาพฝันอยากให้มีสันติภาพโลก แต่การเริ่มทำจากคนแต่ละคน เริ่มทีละคน ถ้าเราไม่เริ่มทีละคนก็ไม่สามารถเป็นจริงได้
  3. สิ่งที่เราทำอยู่เป็นงานสร้างสรรค์เหมือนสร้างรูปปั้นทางศิลปะ งานของเราไม่ใช่ก้อนหินเท่านั้น ดังนั้นเวลาทำงานลงรายละเอียดแล้วอย่าลืมภาพฝันอันสวยงามว่าเราอยากให้เกิดอะไรขึ้น อย่าลืมความเป็นศิลปะตรงนั้นไป
  4. มีคำพูดภาษาอังกฤษว่า “เราก็ใส่เงินเข้าไปในปาก” (It puts your money where your mouth is.) ความหมายคือพูดอะไรทำอย่างนั้น การวางแผนที่ดี เราวางแผนเพื่อให้เกิดสิ่งใดขึ้นแล้วเราก็ใช้ทรัพยากรของเรามุ่งไปสู่สิ่งนั้น
  5. สิ่งสำคัญคือเวลาเราวางแผนขึ้นมา ขอให้ทุกคนเข้าใจแผนและมุ่งมั่นจะปฏิบัติตามแผนนั้น แม้บางส่วนของแผนที่เขาไม่ชอบ แต่ขอให้แต่ละคนคอมมิทกับแผนนั้น ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับทุกๆ ส่วนของแผนงานนั้นแต่เราเห็นด้วยกับภาพใหญ่ก็ขอให้ตั้งใจที่จะทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเห็นด้วยกับทุกรายละเอียดในแผนงานนั้นทั้งหมด
  6. แผนงานที่ดีจะช่วยให้เราสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรับรู้เกี่ยวกับงานของเราได้ด้วย เหมือนทำการตลาดประชาสัมพันธ์หรือสามารถสร้างความร่วมมือกับคนอื่นได้ด้วย
  7. แผนงานจะทำให้เกิดภาวะที่เกื้อกูลกันและกัน ยังประโยชน์กันและกันด้วยเหมือนกวางที่มีนกเกาะหลัง นกได้อาหารจากการจิกหมัดเห็บ กวางก็ได้ประโยชน์ด้วยจากการทำความสะอาดตัวมันไปด้วย แผนที่ดีจะยังประโยชน์ซึ่งกันและกัน

แผนงานที่เป็นเลิศเป็นอย่างไร

เราทุกคนต่างอยากได้แผนงานที่เป็นเลิศ แผนงานที่เป็นเลิศจะมีลักษณะดังนี้

  • มีภาพฝัน วิสัยทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน ผลักดันผู้คนทำตามภาพฝันนั้น
  • เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราทำสิ่งนี้ได้
  • เราต้องมีตารางเวลาการทำงานที่ไม่ใช่ทำงานแบบรีบร้อน มีเวลาที่สามารถแสดงให้คนอื่นเห็นให้คนมีส่วนร่วม เห็นว่าทำได้จริง ค่อยเป็นค่อยไป
  • เราสื่อสารเกี่ยวกับงานของเราอย่างสม่ำเสมอบ่อยๆ และชัดเจน
  • เรามีศักยภาพที่จะกลับไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงานของเราได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็น

การวางแผนระยะยาว

แมวไม่ค่อยชอบวางแผน แผนของแมวคือเดี๋ยวฉันจะไปกิน เดี๋ยวจะไปวิ่งไล่จับหนู เดี๋ยวฉันจะนั่งมองหาเก้าอี้ เดี๋ยวฉันก็อาจจะนอนหลับ นี่คือแผนแบบแมว แต่สำหรับเรา เรามีงานหนักมากกว่าแมวเวลาที่เราวางแผน จะขอยกตัวอย่างองค์กรของฉัน

United Way of Missoula County

จากภาพนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Logic model บรรดาแหล่งทุนทั้งหลายเดี๋ยวนี้จะพยายามมองหาสิ่งที่เป็นรูปธรรม คุณจะทำอะไร จะทำอย่างไร ผลที่ออกมาคืออะไร ผลกระทบในระยะยาวจะสร้างผลอะไรได้บ้าง

องค์กรของฉันให้เงินทุนแก่องค์กรอื่นๆ ในชุมชน ดังนั้นองค์กรเราจึงขอให้ทุกองค์กรที่เราสนับสนุนเงินทุนให้อธิบายงานของพวกเขาผ่านรูปแบบตารางนี้ และเพื่อจะให้องค์กรต่างๆ เข้าใจเรา เราจึงอธิบายคำศัพท์แต่ละตัว เช่นอธิบายคำว่าทรัพยากรในช่องแรกว่าเราหมายถึงอะไร ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการนี้ เช่น บรรดาเจ้าหน้าที่ แผนงานทั้งหลาย อุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

จากทรัพยากรทั้งหลายนั้นเราใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อให้เกิดกิจกรรมอะไรบ้าง กิจกรรมที่เกิดขึ้นเช่นให้ผู้มารับบริการของเราสามารถรับเคสได้ หรือสอนชั้นเรียนของการเป็นพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพ

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากกิจกรรม เช่น เราได้สอนการจัดการเคสไปกี่คนแล้ว มีกี่คนที่มาเข้าชั้นเรียนกับเรา หรือถ้าเราเป็นคนบริจาคอาหารเราได้ให้อาหารไปกี่กิโลฯ กี่ครอบครัวแล้ว เป็นต้น นี่คือผลในเชิงตัวเลขหรือปริมาณ อีกอย่างคือผลในเชิงคุณภาพ ผลที่เกิดขึ้นกับคนที่คุณทำงานด้วย เขามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างไรบ้าง สภาวะต่างๆ ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

สุดท้ายคือแล้วผลในระยะยาวในภาพกว้างคืออะไร (Long-term Impact) โครงการของเราส่งผลกระทบอะไรในภาพใหญ่บ้าง เช่นถ้าเบสซี่อยากให้เกิดสันติภาพโลกนั่นคือผลระยะยาว ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ทรัพยากร กิจกรรม ผลเชิงปริมาณ ผลเชิงคุณภาพ

กรณีตัวอย่าง:     คลินิกที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่สอนคนมีรายได้น้อยให้รู้เรื่องกฎหมาย เพื่อที่ว่าคนมีรายได้น้อยจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินจ้างทนายแพงๆ ทำอย่างไรให้เขามีความรู้ด้านกฎหมายเพื่อจะไปจัดการด้านกฎหมายต่อได้

  • ผลระยะยาว คลินิกนี้หวังผลว่าคนมีรายได้น้อยสามารถไปปรากฏตัวเช่นในศาลหรือในที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้ ไปปรากฏและได้รับการยอมรับ นี่เป็นภาพฝันที่เราอยากเห็น แต่เราต้องเริ่มจากทีละก้าว เริ่มจาก
  • ทรัพยากรที่เรามี เราต้องมีเงินไปจ้างทนาย เราจะต้องมีเงินไปจ้างทำเอกสารเพื่ออธิบายปัญหาเชิงกฎหมายมีอะไรบ้าง ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ จากทรัพยากรเหล่านี้นำไปสู่กิจกรรม
  • กิจกรรม เราจะเอาเงินไปอบรมทนาย เราจะทำชุดเอกสารขึ้นมาเพื่อไปอบรมคนต่างๆ สร้างโปรแกรมออนไลน์ให้คนเข้าถึงได้ด้วย และยังไปทำงานกับระบบศาลด้วยเพื่อให้ศาลรู้ว่ามีโครงการนี้อยู่
  • ผลเชิงปริมาณ เราจะสามารถอบรมทนาย ผู้ช่วยด้านกฎหมายได้จำนวน…คน และสามารถสร้างเอกสารขึ้นมาได้ ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เราก็สามารถไปอบรมคนได้…คน
  • ผลเชิงคุณภาพ ท้ายที่สุดเมื่อจบโครงการแล้วเราสามารถทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถไปปรากฏตัวในศาลได้ เราสามารถสร้างชุดเอกสารให้คนเข้าใจว่าเวลามีปัญหาทางด้านกฎหมายเขาจะทำอะไรได้บ้าง จะสื่อสารอะไรในศาลได้บ้าง เราสามารถสอนผู้คนให้เข้าถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บรรดาคนมีรายได้น้อยก็จะรู้จักวิธีและคุ้นเคยกับกระบวนการในศาล
  • ผลระยะยาว ภาพฝัน คนมีรายได้น้อยสามารถสื่อสารทางกฎหมายได้อย่างประสบความสำเร็จ ระบบศาลและบรรดาทนายสามารถช่วยเหลือบรรดาคนที่ต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ด้วย บรรดาคนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าไปต่อสู้เชิงกฎหมายได้ด้วยตัวเขาเองจำนวน…เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี

ในการวางแผนองค์กรวางแผนกลยุทธ์ก็เหมือนเดินขึ้นบันไดไปทีละขั้น เราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้น และเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้อีก และเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นได้อีก เพื่อจะให้เราไปสู่เป้าหมายสูงสุดของเรา

เราเริ่มจากการมองภาพ จากจุดเล็กๆ ที่เราจะเริ่มคือจุดที่เราสามารถควบคุมได้มากที่สุด จากจุดเล็กๆ เพื่อนำไปสู่อีกจุดหนึ่ง อีกจุดหนึ่ง จนนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดที่เราต้องการ

ในเมืองของเรา หน่วยงานสาธารณสุขใช้ภาพนี้ในการวางแผน นี่คือตัวอย่างการวางแผนของเขา

เป้าหมายในเมืองของเรา เราอยากให้เด็กๆ ในเขตเมืองมิสซูลาได้รับสารอาหารดีและมีน้ำหนักในเกณฑ์สุขภาพดี เราก็รู้ว่าการที่แม่ให้นมลูกจะเป็นการให้ลูกได้รับสารอาหารดีที่สุด เราจึงมีสายด่วนสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือให้คำปรึกษาเรื่องให้นมลูก เรามีแผนงานที่จะเข้าถึงบรรดาคุณแม่ทั้งหลายและบรรดาธุรกิจร้านค้าทั้งหลายเราก็อยากให้เขามีนโยบายเกี่ยวกับการให้นมลูกที่แม่สามารถให้นมลูกได้ในการทำงาน เราทำสิ่งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับนมแม่ และเราก็วัดได้จากมีแม่เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ จากการที่พยาบาลไปเยี่ยมแม่เหล่านั้น มีสายด่วนเกี่ยวกับการให้นมกี่สาย เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดและเพื่อให้ชีวิตเด็กๆ มีสุขภาพแข็งแรง ในที่สุดเราก็จะได้เด็กๆ ที่ได้รับสารอาหารและมีน้ำหนักมาตรฐานเกณฑ์ดี

อีกตัวอย่างเป็นแผนงานเกี่ยวกับสุนัข เป้าหมายคือเราต้องการป้องกันคนจากโรคพิษสุนัขบ้า

ในมิสซูลาทุกบ้านเลี้ยงสุนัข เป้าหมายของแผนคือสุนัขทุกตัวในเมืองของเราต้องได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและได้รับใบรับรองด้วย ผลลัพธ์เราสามารถประเมินว่าในแต่ละปีมีสุนัขกี่ตัวที่ได้รับใบรับรองว่าฉีดวัคซีนแล้ว และจะได้ใบสั่งด้วยถ้าบ้านไหนไม่เอาสุนัขไปฉีดวัคซีน คนในชุมชนต้องพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ให้สัตวแพทย์ดูแล เราวัดผลจากสัตวแพทย์ที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ และจำนวนสุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะถ้าสุนัขได้ฉีดวัคซีนแล้วเราก็จะรู้ได้ว่าสุนัขตัวนั้นปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้าแล้ว เรายังวัดผลจากสัตวแพทย์ที่เก็บข้อมูลว่าสุนัขกี่ตัวในชุมชนเราที่ฉีดวัคซีนแล้ว และจากจำนวนสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าลดลงในแต่ละปี ในที่สุดก็จะไปถึงเป้าหมายคือสุนัขในเขตเมืองของเรามีจะไม่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าไปสู่ผู้คน

จากตัวอย่างข้างต้น ต่อไปจะเป็นการให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ทดลองวางแผนเชิงกลยุทธ์

วิทยากรแจกแผนภาพการวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้แต่ละกลุ่มทดลองทำ

 

ช่วงบ่าย


แต่ละคน/กลุ่มเลือก 1 เป้าหมาย ทดลองวางแผนเชิงกลยุทธ์ ใช้เวลา 30 นาที

นำเสนอแผน

    

หลังจากทุกกลุ่มนำเสนอแผนแล้ววิทยากรสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อแผนงานที่นำเสนอมาส่วนใหญ่มีการวางแผนที่จะฝึกอบรมคนอื่นต่อไป เพื่อให้เขารู้ในสิ่งที่เรารู้ ต่อไปเราจะกลายเป็นกองทัพที่มีพละกำลังเข้มแข็ง เป็นการวางแผนให้ยั่งยืน คือการอบรมคนอื่นให้สามารถทำงานต่อไปได้ ขอบคุณทุกท่านมากที่ร่วมแบ่งปันนำเสนอในวันนี้”

ซูซานบรรยายประเด็นการระดมทุน

วัฒนธรรมการให้ (Philanthropy)

ก่อนที่จะพูดเรื่องการระดมทุนเราจะมาพูดถึงวัฒนธรรมของการให้ ในสหรัฐอเมริกาเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ก่อตั้งรากฐานตั้งแต่เริ่มแรกอยู่บนการให้ ถือเป็นส่วนสำคัญหลักของการเป็นคนอเมริกัน ตอนนี้ความคิดเรื่องนี้ในหมู่คนรุ่นใหม่ๆ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องทำให้ความคิดนี้ยังคงอยู่ต่อไป เราเชื่อว่าการประสบความสำเร็จของแต่ละคนเชื่อมโยงไปกับคนส่วนรวม ในภาษาอังกฤษวัฒนธรรมการให้เรียกว่า philanthropy เป้าหมายของการให้คือให้คนได้รู้จักประเด็นสำคัญต่างๆ ซึ่งช่วยส่งผลประโยชน์ต่อการทำงานทางสังคมทั้งหลาย และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นคนอเมริกันด้วย รวมทั้งส่งผลกระทบไปสู่นโยบายสาธารณะทั้งหลาย เวลาที่เกิดปัญหาวิกฤตความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ ฯลฯ ทำให้คนเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ เหมือนมีธรรมเนียมปฏิบัติในความเป็นอเมริกันที่ทำให้คนเห็นวิกฤต

ธรรมเนียมของการให้ย้อนกลับไปไกล ในปี ค.ศ. 1800 อเล็กซิส เดอ ต็อกเกอวิลล์ (Alexis de Tocqueville) ชาวฝรั่งเศสเดินทางมาศึกษาประเทศใหม่ สหรัฐอเมริกาในเวลานั้นพึ่งก่อร้างตั้งประเทศ ต็อกเกอวิลล์กลับไปเขียนหนังสือจากการที่เขาสังเกตว่าชีวิตคนอเมริกันเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อร้อยปีมาแล้วและยังคงเป็นหนังสือสำคัญที่คนยังอ้างอิงถึงอยู่ สิ่งหนึ่งที่เขาเขียนในหนังสือก็คือว่า คนอเมริกันรู้สึกว่าชะตาชีวิตของตัวเองเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ถ้าฉันประสบความสำเร็จฉันมีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยให้คนอื่นประสบความสำเร็จเช่นกัน มีคำพูดหนึ่งในประเทศเราที่ว่า “เวลากระแสน้ำขึ้นมันจะยกเรือทุกลำขึ้นด้วย”

ผู้มีชื่อเสียงอีก 2 คนคือ แอนดรู คาร์เนกี้ (Andrew Carnegie) กับ จอห์น ดี. ร็อกเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller, Jr.)  แอนดรู คาร์เนกี้ เป็นคนริเริ่มก่อตั้งห้องสมุดสาธารณะบริการฟรีทั่วประเทศสหรัฐฯ เพราะเขาเชื่อมั่นลึกๆ ว่าการได้รับการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จ ส่วนร็อกกี้เฟลเลอร์ร่ำรวยมาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและรถไฟ เขาก็พยายามไปชักชวนเพื่อนๆ ที่ร่ำรวยทั้งหลายว่ามาเป็นผู้ให้

ทุกวันนี้เรารู้จักคนอเมริกันรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง อาทิ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และพริสซีเลีย ชาน (Mark Zuckerberg & Priscilla Chan) บิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates) วอร์เรน บัฟเฟต์ (Warren Buffett) คนเหล่านี้ต่างก็เป็นคนร่ำรวยของโลก และคนเหล่านี้บริจาคเงินจำนวนมาก  วอร์เรน บัฟเฟต์ พูดประโยคหนึ่งว่า “ทุกวันนี้มีคนบางคนที่นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ได้เพราะคนบางคนในอดีตได้ปลูกต้นไม้เมื่อนานมาแล้ว” เราเองก็เช่นกันเราได้นั่งอยู่ใต้ร่มไม้จากต้นไม้ที่ใครบางคนในอดีตได้ปลูกมา และตอนนี้เราก็กำลังปลูกต้นไม้ให้คนรุ่นหลังต่อไปโดยที่ตัวเราเองอาจไม่มีโอกาสได้นั่งใต้ร่มไม้นั้นเลย  

ในประเทศของเราไม่ใช่เฉพาะคนรวยเท่านั้นที่บริจาคเงิน แต่คนทุกชนชั้นก็บริจาคเงิน ยกตัวอย่างเช่น Oseola McCarty ต้องออกจากโรงเรียนตอนจบ ป.6 มาหาเลี้ยงชีพ ทำงานซักรีด ทำงานจนอายุ 86 ปีและต้องหยุดเพราะเป็นโรคไขข้อ เธอเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ไม่ใช้รถ ไม่มีลูกหลาน เธอตัดสินใจว่าจะเก็บเงินทั้งหมดเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนระดับวิทยาลัย เธอตัดสินใจจะส่งให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคนผิวดำให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีตอนใต้ ในที่สุดก็สามารถก่อตั้งทุนการศึกษาทุกปีเป็นเงินแสนเหรียญสหรัฐฯ เธอไม่ใช่คนร่ำรวยแค่ตัดสินใจอยากจะเก็บเงินเพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น  แม้แต่เด็กๆ ก็ริเริ่มบริจาคเงิน เช่น เด็กนักเรียน 3 คนในมิสซูลาริเริ่มโครงการที่ชักชวนเพื่อนๆ เก็บเงินเพื่อเอาเงินนี้ไปให้องค์กรอนุรักษ์เต่าทะเล เขาได้รับรางวัลจากองค์กรแหล่งทุนของเรา (Missoula WMFRA Philanthropy Award Winners)  อีกตัวอย่าง มีเด็กมัธยมปลายรวมตัวกันก่อตั้งเป็นชมรมตั้งกองทุนขึ้นมาชื่อว่า Missoula Youth Philanthropy Club  เขาก็เรียนรู้วิธีมององค์กรต่างๆ ว่าเงินของเราควรไปให้ตรงไหนดีขององค์กร เขารวบรวมเงินได้หมื่นเหรียญสหรัฐฯ มอบให้สถานเด็กกำพร้าในอเมริกาใต้ ดังนั้นอยากให้เราตระหนักรู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องร่ำรวยจึงจะบริจาคเงินได้ คุณอาจเป็นเด็กเล็กๆ ก็ได้ 

การระดมทุนไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องที่เรียบง่าย เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สิ่งสำคัญคือ การขอบคุณ พยายามให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในงานของเรา และระบุได้ว่าใครจะเป็นผู้ให้เงินทุนแก่เราได้ ให้การศึกษาเขา บ่มเพาะเขาขึ้นมาเหมือนเขาเป็นต้นไม้ แล้วเราก็ขอเงินเขา วงจรนี้ก็เวียนกลับไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักร เราขอเงินเขา ขอบคุณเขา ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม แล้วหาว่าใครจะให้เงินเราได้อีก ให้การศึกษาเขา บ่มเพาะเขาและขอเงินเขาอีก

แม้สังคมไทยจะไม่ได้มีวัฒนธรรมการให้แบบ philanthropy แต่เราก็สามารถเปลี่ยนสิ่งนั้นได้ และเริ่มจากบางจุดได้

อันดับแรก เราต้องทำในสิ่งที่ค้านกับความเชื่อหรือสัญชาตญาณของเรา บางทีเราจะต้องไปในที่ที่ไม่คิดว่าจะได้เงินจากที่นี่ เพราะบางทีสัญชาตญาณของเราอาจผิดพลาดได้ บางทีเราอาจรู้สึกต้องขอโทษเขา ขอโทษที่ฉันต้องขอเงินจากเธอ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปขอโทษใคร เราต้องใช้เงินนั้นในการทำงาน

สิ่งที่ฉันจะพูดต่อไปนี้นำไปใช้ได้กับทุกองค์กรทุกลักษณะ ในทุกชุมชนและกับคนในทุกระดับรายได้

21 เคล็ดลับในการระดมทุน (21 Fundraising Tips)

  1. Keep At It! ขอจากคนในจำนวนที่เพียงพอ จำนวนครั้งที่ขอให้เพียงพอ และคุณจะหาเงินได้เท่าที่คุณต้องการ เราจะต้องขอต่อไปเรื่อยๆ
  2. Offering and Opportunity คนมักจะให้เงินกับคนอื่นมากกว่าจะให้เงินกับปัญหา ดังนั้นกฎข้อแรกสำหรับความสำเร็จในการระดมทุนคือการสร้างความสัมพันธ์ คุณจะไปขอเงินใครหรือใครมาขอเงินคุณมันขึ้นกับความสัมพันธ์ คุณไม่ใช่ไปขอทาน คุณเป็นคนให้โอกาสแก่คนอื่นที่จะให้โอกาสเขาในการให้เขาสนับสนุนสิ่งบางอย่างที่มีความสำคัญ ในชีวิตฉันเองฉันบริจาคเงินเท่าที่ให้ได้ บางครั้งฉันบริจาคเงินไม่ใช่เพราะปัญหานั้นแต่เพราะปัญหานั้นสำคัญสำหรับคนที่ฉันรู้จัก เช่นเดียวกับงานของพวกคุณ ฉันเป็นห่วงเรื่องสันติภาพ แต่ที่เป็นห่วงยิ่งกว่าคือฉันมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนกับเบสซี่ ฉันเลยให้เงินองค์กรของเบสซี่ที่ทำงานด้านสันติภาพ
  3. Many “Hands” Make Light Work  เราจำเป็นต้องสร้างคนมาสนับสนุนเราให้เป็นเครือข่าย ไม่จำเป็นต้องมีคนให้เงินเราเยอะๆ ก้อนเดียว แต่มีจำนวนหลายๆ คนที่จะช่วยสนับสนุนงานของเรา การสร้างเครือข่ายที่มีคนสนับสนุนเยอะๆ จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรของเรา มากกว่าที่จะมีคนให้เงินเราหรือเป็นแหล่งทุนของเราเพียงแค่หนึ่งหรือสององค์กรเท่านั้น
  4. It’s Not Big Corporations  ในประเทศเรามีองค์กรแหล่งทุนต่างๆ แต่ว่า 80% ของคนบริจาคเงินให้มาจากปัจเจกบุคคลที่ไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล เป็นคนที่มีฐานะปานกลาง รายได้ปานกลาง
  5. and it’s not the Top 2 Percent… ในประเทศของเรา มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่บริจาคเงินมาจากคนที่ทำรายได้ 60,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีหรือน้อยกว่านั้น
  6. Everyone Can Contribute เราไม่จำเป็นต้องไปรู้จักคนรวยมากๆ เพื่อจะหาเงินมาระดมทุน
  7. Persist เราต้องอดทน ทำแล้วทำอีกขอแล้วขออีกไปเรื่อยๆ เราไม่จำเป็นต้องก้าวร้าวบังคับผู้คน เราแค่ขอแล้วขออีก บางคนก็อาจให้แต่บางคนก็อาจปฏิเสธไม่ให้ เราจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนเหล่านั้นไปเรื่อยๆ
  8. Work Toward Yes เมื่อมีคนปฏิเสธเรามามันไม่ได้แปลว่าเขาจะปฏิเสธเราไปตลอดกาล งานของเราคือเราจะสานความสัมพันธ์ต่อไปเรื่อยๆ และในเวลาต่อมา ด้วยการให้การศึกษาเขา หรือบางครั้งคนนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป หรือสถานะการเงินเปลี่ยนแปลง และในที่สุดแล้วหลายคนก็จะให้เงิน เราก็ทำในวัฏจักรนั้นทำแล้วทำเล่าต่อไปเรื่อยๆ ให้เขามีส่วนร่วม ระบุผู้คนที่จะมาเป็นผู้ให้เงินของเรา ให้การศึกษาเขาและเราดูแลเขาเหมือนเป็นต้นไม้
  9. Stay Positive บางทีเราบอกตัวเองว่าเราไม่ประสบความสำเร็จหรอก ถ้าเราทำเช่นนั้นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือเราก็จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราบอกตัวเองว่าเราจะประสบความสำเร็จ เราสามารถหาเงินที่เราต้องการได้ ในที่สุดเราก็จะประสบความสำเร็จ ถ้าเรากลัวอะไรเราก็จะดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราประสบความสำเร็จได้เราก็จะทำมันได้ ฉันระดมทุนมาแล้วกว่า 40 ปี ฉันคิดว่าฉันหาเงินมาได้ทั้งหมดอย่างน้อย 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉันรู้ว่าสิ่งนี้ได้ผล ถ้าเราขอต่อไปขอแล้วขออีกไปเรื่อยๆ เราจะต้องมีทัศนคติในแง่บวก คิดแง่บวกไว้โดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังพยายามสร้างวัฒนธรรมแห่งการบริจาคเกินครึ่งในประเทศของเรา
  10. Be Very Clear เราจำเป็นต้องชัดเจนต่อเป้าหมายขององค์กร เป้าหมายงานขององค์กรของเรา เราจำเป็นต้องพูดได้ว่างานของเราสำคัญอย่างไร เราต้องช่วยกันทำให้ทุกคนในองค์กรเราสามารถพูดได้ด้วยว่าเพราะอะไรงานขององค์กรเราจึงสำคัญ เช่นถ้ามีคนถามว่าทำไมฉันต้องให้เงินองค์กรคุณด้วย เราก็ต้องตอบได้ทันทีชัดเจนให้เขารับรู้ได้ว่าทำไม ลองฝึกพูดดูก็ได้เพราะอะไรงานของคุณจึงสำคัญทำไมคนอื่นต้องให้เงินคุณด้วย เราฝึกด้วยกันเองก็ได้ คนหนึ่งเป็นคนขออีกคนเป็นคนฟัง คนฟังก็บอกได้ว่ายังไม่น่าเชื่อถือหรือโอเคพูดน่าเชื่อถืออยากให้เงินแล้ว บางทีเราอาจจะอยากบอกทุกคนเกี่ยวกับทุกสิ่งในองค์กรของเรา แต่ว่าเราจำเป็นต้องทำให้สั้นกระชับ เพราะคนทั่วไปสามารถตั้งใจฟังสิ่งต่างๆ ได้แค่ 8 วินาทีเท่านั้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องพูดได้รวดเร็วและชัดเจน
  11. Be Visible เราจำเป็นต้องทำให้คนอื่นรับรู้ด้วยว่าเพราะอะไรงานของเราจึงสำคัญโดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายเพื่อให้คนอื่นรับรู้ ศตวรรษนี้การใช้โซเชียลมีเดียสื่อออนไลน์ทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะส่งจดหมายข่าวหรืออะไร ไม่ว่าจะจัดงานอะไรก็อย่าลืมบอกคนอื่นด้วยว่าทำไมงานเราจึงสำคัญ
  12. Be Committed บรรดาคณะกรรมการขององค์กรหรือเจ้าหน้าที่องค์กรแต่ละคนถ้าเขารู้สึกตั้งใจมุ่งมั่นกับงาน เวลาเขาพูดอะไรออกมาคนอื่นจะรับรู้ได้ถึงแรงบันดาลใจแรงขับเคลื่อนแรงผลักดันได้
  13. Be Grateful ความรู้สึกขอบคุณคนอื่น เมื่อคนอื่นสนับสนุนงานเราเราก็ต้องขอบคุณเขาด้วย เราชอบที่คนอื่นมาขอบคุณเราดังนั้นเราก็จำเป็นต้องหาวิธีที่จะแสดงความขอบคุณนี้ออกไป สำหรับคนที่ช่วยให้ทุนสนับสนุนองค์กรเรา
  14. Show Results สิ่งจำเป็นคือต้องพูดได้ว่าผลงานของเราคืออะไร ไม่ใช่แค่พูดว่าเราทำอะไร แต่พูดได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร ไม่จำเป็นต้องพูดในระดับประเทศแต่พูดถึงคนคนหนึ่งที่งานของเราส่งผลต่อชีวิตของเขา เพราะเวลาเราพูดถึงความเป็นมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงชีวิตคน คนจะรับรู้เข้าใจและเข้าถึงได้ เวลาที่ฉันพูดถึงงานของฉันในมิสซูลา ถ้าเราพูดถึงคนไร้บ้านภาพกว้างๆ ทั่วๆ ไปมันทำให้แต่ละคนดูเหมือนกันหมด แต่ถ้าฉันพูดถึงคนคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่ง คนจะจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ ฉะนั้นฉันคิดว่าเวลาเราพูดถึงข้อมูลมันเหมือนกับลบหน้าเขาหายไป เขาจะไม่มีตัวตน ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้คนเห็นใบหน้าแต่ละคน ชีวิตของแต่ละคนที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลตัวเลขเหล่านั้น
  15. Protect Your Investment! เราไม่จำเป็นต้องมีโปรแกรมซับซ้อนสำหรับเก็บข้อมูลคนให้เงินเรา แต่เรารักษาตัวบุคคล ปฏิบัติเหมือนเขาเป็นทองคำ คนที่ให้เงินเราทั้งหลาย
  16. Show Up in Person วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการหาเงินขอเงินคือการไปปรากฏตัวต่อหน้าเขา การส่งจดหมาย เขียนอีเมลมันง่ายกว่า แต่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือไปปรากฏตัวไปอยู่ต่อหน้าเขาเลย ขอให้ชัดเจน เช่นเราบอกว่าถ้าคุณให้เงินฉันมา 100 เหรียญ ฉันจะเอาไปทำอะไร มันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนอย่างไรบ้าง
  17. How Much Do You Really Want? เราไม่จำเป็นต้องไปขอโทษขอโพยเขาเวลาเราไปขอเงินเขา ขอโทษจริงๆ ที่ต้องมาขอเงิน ขอโทษที่มารบกวน ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ขอให้เรามีความชัดเจนและมั่นคง เข้มแข็ง มันเป็นเขาเองที่เขาจะตัดสินใจว่าเขาจะให้เงินเราหรือไม่ ไม่ต้องไปขอโทษเขา
  18. Be Specific-Let them Decide นี่เป็นการให้โอกาสเขาในการช่วยเหลือคน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือให้เขาเกิดความชัดเจนว่าเงินที่เขาให้มันจะมาเติมเต็มความต้องการอะไรขององค์กรเราได้บ้าง เวลาเราขอแล้วเรารอให้เขาเป็นคนให้คำตอบ ไม่ใช่ว่าพอเขาเงียบแล้วเราเป็นคนตอบแทนเขา คนอเมริกันพูดเยอะ เราไม่ค่อยอยู่ได้อย่างสบายใจนักกับความเงียบ ส่วนใหญ่แล้วคนอเมริกันพอขอเงินแล้วอีกฝ่ายเงียบไปเราก็อยากพูดอะไรต่อ แต่หลักของเราคือรอในความเงียบให้เขาตอบกลับมา
  19. What’s in it For THEM? ในหัวเราเราก็จะถามตัวเองว่าถ้าเขาให้เงินเราแล้วเขาจะได้อะไรกลับไป บางทีเขาก็อยากมีส่วนร่วมในบางสิ่งในงานที่สำคัญบางอย่าง หรือบางคนให้เงินเพราะเอาไปลดภาษีได้ บางคนแค่อยากช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นงานของเราคือลองกลับไปค้นหาว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาให้เงินช่วยเหลือบริจาค
  20. Who Do They Know? บางทีเราก็ต้องใช้สะพานเชื่อม ถ้าเราไม่รู้จักคนรวยที่มีเงินคนนั้น เราก็ต้องไปหาคนที่รู้จักคนนั้นที่จะเปิดประตูให้เราได้ ดังนั้นอำนาจอยู่ในความสัมพันธ์ว่าใครเป็นคนที่จะขอเงิน
  21. Start at the Center ตั้งแต่แรกที่เราบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้จักคนเยอะ เราเริ่มเรารู้จักคนในครอบครัว เรารู้จักเพื่อนของเรา เรารู้จักตัวเอง ดังนั้นเราเริ่มจากที่ที่เรารู้จัก เหมือนเวลาที่เราโยนหินลงน้ำแล้วน้ำก็กระจายออกเรื่อยๆ เริ่มต้นเล็กๆ แต่ให้มันส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ  ถ้าเราขอเงินกับคนมากเท่าไรก็จะมีคนที่ได้ความรู้ได้การศึกษามากขึ้นเท่านั้นและมันก็จะขยายผลต่อไปเรื่อยๆ

ฉันก็รู้ว่าฉันพูดจากวัฒนธรรมอเมริกันที่คนมีวัฒนธรรมการให้เงินมาเป็นร้อยปีแล้ว เวลาฉันทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในโครงการแลกเปลี่ยนพบว่าคนที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมโครงการจากนั้นกลับไปทำงานที่บ้านเกิดตัวเอง คนเหล่านี้ก็ไปเริ่มวัฒนธรรมการให้ที่บ้านตัวเอง ดังนั้นเราก็จะเป็นส่วนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ในประเทศเราด้วย ฟังดูอาจเป็นนามธรรมไปหน่อย แต่ฉันเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้วในลาว เวียดนาม เขมร  เราก็รู้ใช่ไหมว่างานของเรามีความสำคัญและเราทำงานเพื่อคนรุ่นต่อไปและคนรุ่นต่อไปจากรุ่นต่อไปนี้ เบสซี่ชอบคำพูดของคานธีที่ว่า เราต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นที่เกิดขึ้นในโลกนี้ เราต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงนั้นเองในตัวเรา พวกเราในที่นี้ฉันมองเห็นว่าพวกเราได้ทำตัวเป็นการเปลี่ยนแปลงนั้นที่เราหวังอยากจะเห็นให้เกิดขึ้นในโลกของเรา และพวกคุณก็ส่งต่อความคิดนี้ไปยังคนอื่นๆ ด้วย นั่นละคือการช่วยกันเปลี่ยนโลกใบนี้ 

แลกเปลี่ยน/คำถาม

คำถาม: ในเมืองไทยเราก็มีวัฒนธรรมการให้ แต่ให้วัดเยอะ ในส่วนของภาคประชาสังคมเรามีการตั้งกองทุนขึ้นมา โดยใช้วิธีให้แต่ละคนบริจาค เช่น ผู้สูงอายุที่ได้รับเดือนละ 600 บ. ถ้าเขาไม่ได้ใช้เงินส่วนนี้จะมาเข้ากองทุนมั้ย ทำอย่างไรที่จะบริจาคร้อยบาทพันบาทคนที่ไม่รวยก็บริจาคได้ อยากถามว่าที่ทำงานมามีประเด็นที่ท้าทายที่สุดคืออะไร และท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่ยุ่งยากด้านเศรษฐกิจจะก้าวข้ามอย่างไร?

ซูซาน: คิดว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของฉันคือ เวลาบางคนถามคำถามฉันฉันจะตอบความคิดแรกที่ขึ้นมาในหัว ฉันคิดว่าตัวฉันเองบางครั้งก็เป็นอุปสรรค เสียงเหล่านี้บางทีมันขึ้นมาในหัวว่าฉันไม่มีวันหาเงินได้หรอก ถ้าฉันฟังเสียงเหล่านี้มันก็จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ฉันทำไม่ได้ สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้มา คือไม่มีใครหรอกที่จะดูถูกฉันด้วยการไปขอเงินเขา ฉันได้เรียนรู้ว่าฉันไม่ได้เป็นขอทานที่ไปขอเงินเขา แต่ฉันกำลังให้โอกาสคนคนนั้นในการให้ ฉันตระหนักรู้ว่างานของฉันสำคัญ และถ้างานสำคัญอย่างนี้ไม่ใช่ว่างานจะหาเลี้ยงตัวเองได้ งานฉันสำคัญมากจนฉันไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการที่จะต้องไปขอเงินคนอื่นได้ ตอนแรกที่ฉันเริ่มต้นทำงานกับ YSEALI ในโครงการนี้หลายปีที่แล้ว คนก็บอกว่าไม่มีใครให้เงินหรอก ฉันก็ถามเขาว่าคนเหล่านั้นให้เงินบริจาคหรือเปล่า เหมือนมีแสงส่องประกายวาบขึ้นในหัว ใช่เขาให้เงิน เขาไม่ได้ให้เงินเราแต่เขาให้เงินวัด เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงมัน เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนอายุมากได้แต่เราอาจเริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นมิลเลนเนียมไม่ได้มีแค่เฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น เรามีคนหนุ่มสาวเรือนล้านในแต่ละประเทศที่เขาหาความหมายให้กับชีวิตหาเป้าหมายให้กับชีวิต อะไรที่ไปไกลกว่าคนรุ่นพ่อแม่เขา เราจำเป็นต้องเริ่มปลูกต้นไม้นั้นไว้แม้เราจะไม่ได้นั่งใต้ร่มไม้นั้นก็ตาม

คำถาม: องค์กรนี้มีการขอทุนจากแหล่งทุนอื่นหรือไม่ หรือระดมทุนอย่างเดียว แล้วมีการทำเกี่ยวกับ Social Enterprise มั้ย อย่างในไทยกำลังมีแนวคิดว่าองค์กรพัฒนาเอกชนไทยควรทำ SE

ซูซาน: ในองค์กรเรา United Way ส่วนใหญ่แล้วเงินที่ได้มาจากปัจเจกบุคคล ได้มาจากองค์กรสาธารณกุศล มาจากบริษัทด้วย ความคิดเรื่อง CSR เป็นแนวคิดอเมริกัน ซึ่งบางองค์กรจริงจังกับเรื่องนี้มาก ฉะนั้นองค์กรบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะมีแผนกบริจาคเงิน มีเอ็นจีโอบางองค์กรก็มีสัญญากับรัฐบาล เช่นองค์กรที่ทำงานกับผู้สูงอายุ ดูแลเอาอาหารไปให้ผู้สูงอายุที่บ้าน คนที่ต้องการความช่วยเหลือก็มีองค์กรเข้าไปช่วยประสานงานให้ มีสัญญากับรัฐบาลที่รัฐบาลต้องให้เงินสนับสนุน ดังนั้นเงินทุนหลักๆ มาจากรัฐบาล บางอค์กรอย่างองค์กรของเบสซี่ก็จะเปิดร้านค้าของตัวเอง ร้านค้าของเราเป็นพันธกิจของเราในการสร้างความยุติธรรมในสังคม ขายสินค้าที่เป็น Fair Trade  ร้านแฟร์เทรดก็ช่วยหาเงินให้องค์กรเราและให้การศึกษาแก่ผู้คนด้วยในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม

—-จบวงเสวนา—-

คุณศรินพร พุ่มมณี ตัวแทน นธส. มอบของที่ระลึกแก่วิทยากร

ผู้เข้าร่วมเสวนาถ่ายรูปร่วมกับวิทยากร