“เราจะไปทางไหนกัน” เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมไทยบนทางแพร่ง

พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ เรียบเรียง
สมรักษ์ อุตม์จันดา ถ่ายภาพ

“การเมืองภาคประชาชนจะมีสภาพเป็นเช่นใด กติกาการเมืองชุดล่าสุด พื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีเหลือหรือมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน…ในวันนี้ (ที่) ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)[1]

“เอ็นจีโอกลายเป็นกลุ่มองค์กรที่ทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐราชการ เป็นพันธมิตรกับรัฐราชการเพื่อแลกกับความอยู่รอดของตนเอง โดยปราศจากการมองภาพอนาคตของสังคมไทย หรือคุณภาพของสังคมไทย และเห็นว่าคุณภาพของความเป็นประชาธิปไตยของสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของตนอีกต่อไป”

(ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี)[2]

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากบทความของนักวิชาการที่ออกมาตั้งคำถามเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่เอ็นจีโอและคนทำงานทางสังคมจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งนำมาสู่วงคุยเพื่อขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เครือข่ายนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) ได้จัดงานเสวนา “สรุปบทเรียน และมองอนาคตการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคมในพลวัตสังคม การเมือง เศรษฐกิจปัจจุบัน” ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 8 ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย (เชิงสะพานหัวช้าง) กรุงเทพฯ

จะเด็จ เชาวน์วิไล จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงที่มาของวงคุยครั้งนี้ว่า “การทำงานภาคประชาสังคมปัจจุบันเผชิญคำถามและการวิจารณ์อย่างหนาหู ล่าสุด อ.เสกสรรค์ อ.ปิ่นแก้ว ก็ออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ แต่น่าเสียดายว่าเอ็นจีโอส่วนหนึ่งก็แสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์กลับในลักษณะไม่สร้างสรรค์ และละเลยเนื้อหาสาระสำคัญที่เป็นประเด็นใจกลางของบทความ นั่นคือ องค์กรเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมจะเดินต่อไปอย่างไรในท่ามกลางสถานการณ์ที่ว่ารัฐราชการจะอยู่กับเราไปอีกยาวนาน วงคุยวันนี้จึงเป็นเสมือนการเริ่มต้นพูดคุยเพื่อหาหนทางฝ่าวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่”

ในงานนี้มีทั้งเอ็นจีโอที่ทำงานมายาวนาน เอ็นจีโอรุ่นใหม่ นักกิจกรรมทางสังคม ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ แกนนำชุมชนในเครือข่ายลดละเลิกเหล้า เครือข่ายสลัมสี่ภาค และผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่งมาร่วมถกเถียงถึงทิศทางอนาคตของเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในสถานการณ์รัฐเผด็จการทหารปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาของการพูดคุยอาจประมวลได้ดังนี้

“เกือบสองทศวรรษมีปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดคือความเป็นขบวนมันลดลง การเกาะประเด็นตัวเองทำให้พวกเราขาดออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ การมองภาพรวมในเอ็นจีโอเริ่มมีปัญหา”

จะเด็จ เชาวน์วิไล

 ปรากฏการณ์บนทางแพร่ง

 เอ็นจีโอมีหลายเฉดหลายสายคิด

จักรชัย โฉมทองดี มองว่า “บ้านเรามองเอ็นจีโอเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่ง ซึ่งเป็นการมองที่แปลก อาจเป็นผลจากการที่ช่วงหนึ่งเอ็นจีโอพยายามสร้างอัตลักษณ์ตัวเองก็ได้ แต่ในหลายประเทศไม่เป็นอย่างนี้ อย่างเยอรมันก็จะเห็นว่า เอ็นจีโอ, thinktank นักวิชาการ, พรรคการเมือง, สหภาพแรงงาน ฯลฯ รวมกันทางสายคิด เวลาเรียกเขาก็จะเรียกสายเสรีนิยมใหม่ สายสังคมนิยม ฯลฯ ฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน มีสายเหมา สายปฏิรูป มักไม่เรียกเอ็นจีโอโดดๆ แต่บ้านเรามักเห็นเอ็นจีโอเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหมดซึ่งสุดท้ายต้องถามว่าเป็นการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เดิมอาจจะได้ แต่ผมคิดว่าสิบปีที่ผ่านมามันเกิดการใส่สารอะไรบางอย่างลงไปในน้ำแล้วเริ่มเกิดการแยกชั้นแยกส่วนอาจจะเห็นไม่ชัด แต่ละคนแต่ละกลุ่มก็ทำหน้าที่บางอย่าง สลัมสี่ภาคก็มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน พีมูฟก็ไม่ได้คิดไปทางเดียวกันหมด คือบางเรื่องมันพูดรวมๆ ได้ แต่หลายเรื่องต้องแยกแยะ ดังนั้นการเรียกเอ็นจีโอ มันมีอาการเหมารวมอยู่ซึ่งผมมองว่ามันลดทอนประโยชน์ของการแลกเปลี่ยน”

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักวิจัยที่ศึกษาการทำงานของเอ็นจีโอ มองว่า “วิธีคิดที่แปะป้ายว่าใครเป็นเอ็นจีโอไม่เป็นเอ็นจีโอ เป็น nonprofit organization หรือไม่ เป็นวิธีการแบ่งเชิงโครงสร้างหน้าที่ แบ่งว่าองค์กรนี้เป็นลักษณะประเภทอะไร ซึ่งในทางสากลจะมีอยู่ 4 องค์ประกอบใหญ่ หนึ่งคือ ต้องมีลักษณะเป็นองค์กรในระดับหนึ่ง จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ สองคือต้องเป็นอิสระจากรัฐ สามคือหากำไรได้แต่ไม่เอากำไรมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรือคนทำงาน สี่คือมีลักษณะของความสมัครใจ (voluntary) ซึ่งอาจตีความได้สองนัยคือเกี่ยวโยงกับอาสาสมัครหรือทำงานที่สมัครใจไม่ถูกใครสั่งหรือบังคับให้ทำ แต่ในไทยพบว่าคำนิยาม 4 ประการนี้อาจจะยังไม่พอ เพราะในบริบทเมืองไทยเราไม่นับมหาวิทยาลัย, think tank นักวิชาการ, วัด เป็นเอ็นจีโอ ซึ่งถ้ายึดตามคำนิยามก็เรียกได้ ดังนั้นเมืองไทยจึงมีคุณสมบัติที่ 5 เพิ่มมา นั่นคือการทำงานทางสังคม”

ธีรพัฒน์เห็นว่า “ในต่างประเทศมีคำเรียก NGO หลายประเภท อาทิ NPO-nonprofit  ที่อังกฤษเขาใช้คำว่า VO (voluntary organization) คือองค์กรอาสาสมัคร หรือองค์กรการกุศล (charity organization) องค์กรที่ทำงานบริการสังคม เป็นต้น คำว่า เอ็นจีโอ มาจาก UN เกิดขึ้นในบริบทโลกกำลังพัฒนา เอ็นจีโอในไทยเกิดขึ้นมาเพราะรัฐบาลล้มเหลว โดยชื่อก็บอกว่า non-government แต่ในอเมริกาเกิดขึ้นมาจากตลาดล้มเหลวจึงเรียก non-profit  นี่คือมิติเรื่องคำเรียกซึ่งก็จะนิยามรูปร่างหน้าตาของคำต่างกันไป ตอนนี้ก็มีคำเรียก CSO (civil society organization) เป็นต้น”

ธีรพัฒน์สรุปให้เห็นว่าภาพรวมขององค์กรประชาชนมี 3 แบบ

  • กลุ่มแรก คือองค์กรที่มุ่งประโยชน์สาธารณะ กลุ่มนี้มีเอ็นจีโอเป็นเหมือนเสาหลัก
  • กลุ่มที่สอง คือองค์กรที่ให้ประโยชน์แก่สมาชิก เช่น องค์กรชุมชน สมาคมนักเรียน การเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพต่างๆ
  • กลุ่มสุดท้าย เป็นองค์กรเอ็นจีโอที่จัดตั้งโดยรัฐบ้างจัดตั้งโดยเอกชนบ้าง เป็นองค์กรเอกชนตั้งรับ (ตัวอย่างเช่นมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นต้น)

เขามองว่าในไทยมีแค่สองกลุ่มแรกเท่านั้นที่เรียกว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม คือองค์กรที่มุ่งประโยชน์สาธารณะกับองค์กรที่มุ่งประโยชน์สมาชิก

เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “เอาเข้าจริงเมืองไทยนิยามเอ็นจีโอมากไปกว่าการจัดประเภทองค์กร แต่นิยามเอ็นจีโอในฐานะ ideology of life แบบหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นลักษณะพิเศษของเมืองไทย ที่อังกฤษผมมีเพื่อนเป็นคนทำงานเอ็นจีโอพอสมควรแต่พวกเขาไม่เคยเรียกตัวเองว่า NGO, VO หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาเรียกตัวเองเป็น lawyer, เป็น social activist, เป็น social development แต่ทำงานใน nonprofit organization”

กล่าวให้ถึงที่สุดเอ็นจีโอก็มีลักษณะเป็นอาชีพเหมือนพยาบาล ตำรวจ หมอ ซึ่งแต่ละอาชีพก็มีหลายเฉดหลายแนวคิด เช่นกันในไทยก็มีเอ็นจีโอสายอนุรักษ์นิยม เอ็นจีโอสายเสรีนิยมใหม่ เอ็นจีโอสายประชาธิปไตย เป็นต้น นั่นคือ เอ็นจีโอมีจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองหลากหลายไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันเสมอไป

“ผู้นำชาวบ้านที่ต้องรับผิดชอบฐานมวลชนไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้เช่นเดียวกับเอ็นจีโอ เพราะจะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่สำคัญในพื้นที่นั้น”

– สามารถ สระกวี

 เอ็นจีโอยังตอบโจทย์สังคมอยู่หรือไม่?

หากถามว่าทุกวันนี้เอ็นจีโอมีบทบาทหน้าที่อะไรในสังคม?  จักรชัยกล่าวว่า “เอ็นจีโอมีหน้าที่ในฐานะหน่วยในการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ว่าการออกแบบในลักษณะเอ็นจีโอในไทยที่ผ่านมาซึ่งเริ่มต้นมา 30-40 ที่ปีแล้วก็รับใช้ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ ไม่เฉพาะเอ็นจีโอแต่ทุกหน่วยในสังคมเมื่อเวลาผ่านไปสภาพภูมิทัศน์หรือสำนึกทางการเมืองเปลี่ยนไปก็ต้องเผชิญการทดสอบว่าจะก้าวไปได้หรือไม่ โจทย์คงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องทำให้ก้าวไปให้ได้ แต่อยู่ที่ว่าหน่วยที่จำเป็นต้องตอบโจทย์ทางสังคมนี้ควรจะถูกดีไซน์แบบไหน ถึงที่สุดแล้วถ้าบางเอ็นจีโอไม่ได้ตอบโจทย์เพราะว่าลักษณะโครงสร้างหรือความเชื่อหรืออุดมคติบางอย่างไม่ตอบโจทย์มันก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไป”

ปัญหาที่จักรชัยทิ้งไว้ให้ขบคิดคือบทบาทหน้าที่ทางสังคมของเอ็นจีโอควรจะมีที่ทางและเดินไปแบบไหน?  “การตอบโจทย์สังคมปัจจุบันมีความสำคัญ มีแรงเสียดทาน และไม่ใช่เรื่องง่าย คำถามคือหน้าที่เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ในปัจจุบันควรจะมีพื้นที่อยู่อย่างไร บทบาททางสังคมของเอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมทางสังคมควรจะมีที่ทางและเดินไปแบบไหน แน่นอนความท้าทายมีหลายมุมทั้งเรื่องเงิน ทรัพยากร แต่สิ่งสำคัญที่ไม่พูดไม่ได้คือ จุดยืนทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตย เกี่ยวโยงหรือไม่อย่างไรกับประเด็นงานที่เราทำ แล้วเราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถ้าเราไม่เลือกจะมีทางเดินไปได้หรือไม่อย่างไร”

ประเด็นที่ว่าเอ็นจีโอจำเป็นต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือไม่ สามารถ สระกวี จากเครือข่ายเกษตรฯ จ.สงขลา ฉายภาพให้เห็นการทำงานในพื้นที่ว่า เอ็นจีโออย่างเขาทำหน้าที่รวมกลุ่มชาวบ้านมาทำกลุ่มออมทรัพย์ ตัวเขาไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้เพราะชาวบ้านก็มีหลายมิติทางการเมือง เมื่อกลุ่มออมทรัพย์เป็นรูปเป็นร่างบริหารโดยองค์กรชาวบ้านเอง สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ประกอบด้วยคนแทบทุกเพศทุกวัยทุกฝ่ายในหมู่บ้าน เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองปรากฏว่าแกนนำกลุ่มออมทรัพย์เองก็ไม่อาจแสดงบทบาททางการเมืองได้เช่นกัน เพราะฐานสมาชิกมีรสนิยมทางการเมืองแตกต่างกัน ถ้าแกนนำเลือกข้างใดข้างหนึ่งก็จะเกิดวิกฤตภายในกลุ่มออมทรัพย์ ข้อสังเกตของเขาก็คือผู้นำชาวบ้านที่ต้องรับผิดชอบฐานมวลชนไม่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้เช่นเดียวกับเอ็นจีโอ เพราะจะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่สำคัญในพื้นที่นั้น

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี เสริมประเด็นนี้ว่า “จักรชัยเคยวิเคราะห์ไว้ในวงประชุมเอ็นจีโอเมื่อสามปีที่แล้วว่าเอ็นจีโอเป็นนักประชาธิปไตยรายประเด็น ไม่สนใจโครงสร้างใหญ่” น่าสนใจว่านี่คือข้อจำกัดที่ทำให้เอ็นจีโอไม่แสดงท่าทีหรือจุดยืนทางการเมืองในระดับใหญ่หรือไม่

“เอ็นจีโอทำงานมา 30 ปีแล้ว ตั้งเป็นองค์กร เป็นหน่วยงาน มีภารกิจเฉพาะ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ด้านหนึ่งก็ต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมาย แต่เมื่อเกิดวิกฤตเรื่องใหญ่ๆ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เราต้องมาฟื้น มาเริ่มต้นใหม่ สถานการณ์จะผลักดันไปสู่ตรงนั้น ไม่อย่างนั้นก็จะไม่รอด”

– วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ในส่วนประเด็นที่ว่าเอ็นจีโอยังมีบทบาทหน้าที่ในสังคมหรือไม่อย่างไร คนทำงานชุมชนอย่างโบ๊ต-อำนาจ แป้นประเสริฐ จากชุมชนวัดโพธิ์เรียง บางกอกน้อย มองว่า “ก่อนหน้าที่ผมมาทำงานชุมชนก็ไม่รู้ว่าเอ็นจีโอทำอะไร ในชุมชนของผม มูลนิธิ (มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนของเรา ทำให้ชุมชนเราดีขึ้นซึ่งชุมชนก็ได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์ด้วยในการทำงานเพื่อชุมชน ตัวเราไม่ใช่เอ็นจีโอ เรามองว่าเราเป็นนักพัฒนาชุมชน ขณะที่พ่อผมก็เป็นนักพัฒนาชุมชนเหมือนกันแต่อยู่ในสายข้าราชการ ยึดติดพวกพ้องในระบบเก่าๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าแบบเก่านั้นไม่ใช่สิ่งที่รุ่นเราจะเดินตามได้แล้ว”

จะพบว่า ณ วันนี้คนทำงานในเครือข่ายภาคประชาสังคมหลายกลุ่มก็นิยามตนเองว่าไม่ใช่เอ็นจีโอ นวล-พนิตา จากศูนย์ประสานงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า “เราทำงานในองค์กรชุมชนเล็กๆ ค่อยๆ ขยายตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรที่กว้างขึ้น จากเดิมรุ่นพี่สร้างมาแล้วเราขึ้นมาสานต่อ เราคิดว่าเราทำงานภาคประชาสังคมมากกว่า เพราะเดิมเราคิดว่าเอ็นจีโอต้องมีความรู้สูงส่ง เราไม่ถึงแน่ๆ เราเลยมองว่าเราไม่ใช่เอ็นจีโอ เราก้าวขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ว่าจะมีแรงสนับสนุนจากพี่ๆ ช่วยสนับสนุนให้เรามาทำงานเป็นองค์กรและออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า”

ในขณะที่ จุก-อำไพ รมยะปาน จากเครือข่ายสลัมสี่ภาคกล่าวว่า “เราเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อยู่ในชุมชน เมื่อ 17-18 ปีที่แล้วมีเอ็นจีโอเข้ามาในชุมชนที่ถูกไล่รื้อ จนถึงตอนนี้เราก็ไม่เข้าใจว่าเราอยู่ระดับไหนหรือต้องขึ้นมาระดับไหน แต่ที่รู้ๆ ตอนนี้เหมือนเขาดันเราขึ้นมาเป็นนักจัดตั้งเราก็ยังงงๆ ว่าจะเรียกตัวเองว่าอะไร แต่อุดมการณ์ของเราชัดเจนคือเราต้องการให้ชุมชนที่ถูกไล่รื้อได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นและได้รวมกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น มองว่าเมื่อก่อนเอ็นจีโออาจดูเหมือนเป็นผู้นำชาวบ้าน เราต้องฟังเขาเพราะเขามีความรู้ความสามารถ แต่พอมา ณ จุดนี้พอเราเริ่มแข็งขึ้น พี่เลี้ยง (เอ็นจีโอ) ก็เริ่มถอยและพยายามให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ทุกวันนี้เราสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านเอ็นจีโอ”

ในส่วนนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ๆ เองก็เริ่มไม่เรียกตัวเองเป็นเอ็นจีโอแล้วทั้งที่โดยบทบาทหน้าที่ที่ทำอยู่จะถือว่าเป็นเอ็นจีโอก็ตาม

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักฝึกอบรมที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชน เมื่อแต่ละกลุ่มเริ่มจะนิยามตัวเองและกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่โดยมีองค์ประกอบที่เจ้าของประเด็นปัญหาขึ้นมานำเอง เติบโตเป็นภาคประชาสังคมใหม่ที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

“เราไม่ใช่เอ็นจีโอ เรามองว่าเราเป็นนักพัฒนาชุมชน รุ่นก่อนเราเป็นนักพัฒนาชุมชนในสายข้าราชการ ซึ่งผมรู้สึกว่าแบบเก่านั้นไม่ใช่สิ่งที่รุ่นเราจะเดินตามได้แล้ว”

– อำนาจ แป้นประเสริฐ
เครือข่ายชุมชนลดละเลิกเหล้า

“เราทำงานในองค์กรชุมชนเล็กๆ ค่อยๆ ขยายตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรที่กว้างขึ้น จากเดิมรุ่นพี่สร้างมาแล้วเราขึ้นมาสานต่อ เราคิดว่าเราทำงานภาคประชาสังคมมากกว่า เราไม่ใช่เอ็นจีโอ”

– นวล
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ

“เมื่อก่อนเอ็นจีโออาจดูเหมือนเป็นผู้นำชาวบ้าน เราต้องฟังเขาเพราะเขามีความรู้ความสามารถ แต่พอมา ณ จุดนี้พอเราเริ่มแข็งขึ้น พี่เลี้ยง (เอ็นจีโอ) ก็เริ่มถอยและพยายามให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง”

– จุก 
เครือข่ายสลัมสี่ภาค

“กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชน เมื่อแต่ละกลุ่มเริ่มจะนิยามตัวเองและกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่โดยมีองค์ประกอบที่เจ้าของประเด็นปัญหาขึ้นมานำเอง เครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด”

– กิตติชัย งามชัยพิสิฐ

 การไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กันเอง

ชูวิทย์ จันทรส จากเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ สะท้อนให้เห็นบรรยากาศในแวดวงเอ็นจีโอภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน “ผมอยู่ในสภาวการณ์ที่บางครั้งพิมพ์อะไรไปครึ่งหน้าแล้วลบทิ้งเพราะรู้สึกว่าเลือกจะเซฟดีกว่า พอหันไปฟังอีกมุมหนึ่งเขาก็มีความคิดทำนองว่าจังหวะมา นี่คือหน้าต่างแห่งโอกาส เราจะใช้หน้าต่างนี้อย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ แม้แต่พังบ้านทั้งหลังเพื่อจะได้กอดหีบใบที่ฉันรักที่สุด เรารู้สึกว่าเราอยู่ท่ามกลางภาวะแบบนี้ พอมีบางเรื่องเข้ามาเราก็ต้องอยู่ให้เป็น สุดท้ายแล้วก็ไม่มีจุดยืนอะไรเลย แค่พิมพ์บางคำก็ไม่กล้า เรากำลังสร้างแบบอย่างที่ว่าอยู่ให้เป็นแล้วเราจะรอดเราจะได้ทำโครงการอย่าคิดมาก ไม่กล้าวิจารณ์พี่ๆ บางคนเพราะกลัวผลที่จะตามมา”

จะพบว่าในหลายๆ องค์กรภาคประชาสังคมเองก็ประสบภาวะเช่นนี้ คือไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยถกเถียง กิตติชัยตั้งข้อสงสัยว่าการที่ไม่กล้าวิจารณ์กันเองเป็นเพราะระบบพี่น้องและวัฒนธรรมอุปถัมภ์หรือไม่ เช่นคนนี้เป็นรุ่นพี่ที่สอนเรามา เป็นรุ่นพี่ที่เป็นที่เคารพในวงการ ถ้าเราวิจารณ์ไปอาจเกิดปัญหาต่ออนาคตการทำงาน เป็นต้น

แมน-ปกรณ์ อารีกุล ผู้ประสานงานติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาคตะวันออก มองว่าส่วนตัวเขายังคุยได้และร่วมงานกับพี่ๆ บางคนได้แม้จะเห็นต่างกันทางการเมือง เขาคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหารุนแรงคือการด่าทอหยาบคายในเฟซบุ๊ก เขามองว่าเป็นเรื่องโซเชียลมีเดียที่หลายคนรู้ไม่เท่าทันสื่อและรู้ไม่เท่าทันตัวเอง

ส่วนประเด็นที่ว่าระบบอาวุโส วัฒนธรรมพี่น้อง และระบบอุปถัมภ์ เป็นตัวขัดขวางการเติบโตหรือประสิทธิภาพของภาคประชาสังคมหรือไม่ จักรชัยตั้งข้อสังเกตว่า “น้องรุ่นใหม่ๆ ที่ทำกิจกรรมทางสังคมพอเขาแน่นระดับหนึ่งแล้วความอาวุโสก็เอาไม่อยู่แล้ว เขาไปของเขาเอง  ในไทยเองไม่มีกระบวนการวิพากษ์ตัวเองซึ่งที่จริงเป็นวิธีการของฝ่ายซ้าย  แล้วเราจะมีข้อเสนออะไรที่จะทำให้เกิดบทสนทนาในองค์กรที่จะคุยกันได้และนำผลผลิตของการพูดคุยนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ต้องแกะเรื่องอะไรออกไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่นอาจจะต้องแกะเรื่องแหล่งทุน เพราะพี่เป็นคนทับแหล่งทุนไว้ใช่หรือไม่”

จักรชัยตั้งคำถามสำคัญให้ขบคิดต่อว่า “นิเวศแบบไหนที่จะสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนให้เกิดขึ้นได้”

จะเด็จกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “พวกเราต่างก็มีความฝันอยากเห็นว่าสังคมอุดมคติต้องไปทางไหน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่คนรุ่นผมหรือรุ่นพี่ คนรุ่นใหม่ก็มีอุดมคติว่าอยากเห็นสังคมไปทางไหน แต่กระบวนการถกเถียงทำกันน้อยมาก ไม่มีความฝันร่วมกัน ต่างคนต่างทำ นี่คือสิ่งที่ขาดไปช่วงสิบปีที่ผ่านมา เรากลัวว่าจะมีปัญหา ฝั่งนั้นฝั่งนี้ เราเกรงใจพี่คนนั้นเรารู้สึกว่าถ้าพูดแบบนี้พี่คนนี้จะไม่สบายใจ กลายเป็นปัญหาที่สะสมมาสิบปี เราห่างเหินที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันเอง เราห่างเหินที่จะวิเคราะห์สังคมไทยจะไปทางไหนมานาน การจะเปลี่ยนระบบอำนาจบางอย่างในหมู่พวกเราต้องช่วยกันทั้งขบวน แน่นอนว่าพี่เองก็ต้องยอมถอยด้วย”

“เอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่มีฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติการ ถูกสร้างมาตอบโจทย์ประเด็นและปฏิบัติการนั้นๆ จึงไม่เรียกร้องให้คิดเกินไปกว่านั้น การถกเถียงเชิงทฤษฎีหรือหลักคิด เชิงจุดยืนและท่าทีทางการเมืองจึงอาจไม่เคยมีการคุยมาอย่างเป็นระบบนัก”

– จักรชัย โฉมทองดี

“บางครั้งแสดงจุดยืนของตัวเองออกไปแล้วกลายเป็นความขัดแย้งในองค์กรเราก็เลยเลือกที่จะรักษาท่าทีเพื่อให้ความสัมพันธ์ยังคงอยู่ เพื่อให้งานยังไปต่อได้ การถกเถียงเรื่องวิธีคิดก็จะเงียบลง ไม่แปลกใจว่าทำไมวงการเอ็นจีโอถึงค่อยๆ ดาวน์ลง”

– ณัฐพงษ์ ภูแก้ว

 ไม่มีการถกเถียงระดับแนวคิดในแวดวงเอ็นจีโอ

แก้วใส-ณัฐพงษ์ ภูแก้ว นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า “การไม่ได้คุยกันถึงระดับวิธีคิดทั้งในองค์กรและในการทำงานกับชาวบ้านส่งผลตามมาเวลามีความขัดแย้งใหญ่ทางการเมือง หรือบางครั้งแสดงจุดยืนของตัวเองออกไปแล้วกลายเป็นความขัดแย้งในองค์กรเราก็เลยเลือกที่จะรักษาท่าทีเพื่อให้ความสัมพันธ์ยังคงอยู่ เพื่อให้งานยังไปต่อได้ การถกเถียงเรื่องวิธีคิดก็จะเงียบลง ผมมองว่าถ้าบางองค์กรยังเป็นอย่างนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตก็ได้ ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจว่าทำไมวงการเอ็นจีโอถึงค่อยๆ ดาวน์ลง”

จักรชัยเสริมประเด็นนี้ว่า “นึกย้อนไป 15 ปีที่แล้วตอนที่มีการวิพากษ์เอ็นจีโอว่าไม่มีทฤษฎีชี้นำ ตอนนั้นผมก็มองว่าแล้วไง? แต่พอมาถึงจุดที่ท้าทายก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่ามันไม่มีบทสนทนานี้ในเอ็นจีโอ แต่เอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่มีฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติการถูกสร้างมาตอบโจทย์ประเด็นและปฏิบัติการนั้นๆ จึงไม่เรียกร้องให้คิดเกินไปกว่านั้น การถกเถียงเชิงทฤษฎีหรือหลักคิด เชิงจุดยืนและท่าทีทางการเมืองจึงอาจไม่เคยมีการคุยมาอย่างเป็นระบบนัก ดังนั้นพอถึงจังหวะที่มีข้อท้าทายใหม่เช่นทักษิณมา เอ็นจีโอก็ไปไม่เป็น พอมีรัฐประหารก็เลือกที่จะเล่นแบบหนึ่ง คือตอบโจทย์ด้วยปฏิบัติการแบบไหนจะทำให้งานตรงหน้าเดินไปได้ดีที่สุด และผู้ที่มีประสบการณ์ก็จะดูเหมือนว่าคิดได้ดีกว่าน้อง น้องก็อาจเห็นว่าจริง คือมุ่งตอบโจทย์เชิงปฏิบัติการเพราะไม่มีการคุยโจทย์ที่เกินไปกว่านั้น เอ็นจีโอไทยถึงที่สุดแล้วไม่เคยถูกฝึกหรือถูกเรียกร้องให้ต้องมีสิ่งนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นอะไรที่ขาดหายไป พอถึงเวลาก็เลยไม่มีหลักคิดทฤษฎีที่จะเอามาใช้เพื่อให้การปฏิบัติมีมิติที่กว้างขึ้น”

ประเด็นนี้วิฑูรย์ให้ภาพอีกมุมว่า “ตอนผมเข้ามาวงการเอ็นจีโอช่วงปี 2527 มีการถกเถียงทางแนวคิดที่แรงมากถึงกับจัดขั้วความคิดว่ากลุ่มไหนสายเศรษฐศาสตร์การเมือง สายสันติวิธี สายวัฒนธรรมชุมชน ตอนนั้นนักวิชาการกับเอ็นจีโอสายหนึ่งก็อยู่ด้วยกัน ผ่านพ้นมาสักสองสามทศวรรษจนเกิดปัญหาทางการเมืองที่เราเห็น เกิดวิกฤตเรื่องประชาธิปไตย จะพบว่าการถกเถียงเรื่องนี้ในวงเอ็นจีโอน้อยมาก”

จะเด็จเสริมประเด็นนี้ว่า “สมัยที่ผมทำงานประเด็นผู้หญิง มีการถกเถียงกันในหมู่พี่น้องเยอะว่าเราอิงหลักคิดอะไร ถกเถียงเชิงทฤษฎีด้วย พออีกรุ่นหนึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่มี เป็นเรื่องที่ต้องฟื้น ผมเชื่อว่าการสร้างพื้นที่จำเป็น เพราะถ้าเราไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเราก็จะเป็นแค่นักปฏิบัติการเราไม่รู้ว่าจะอิงกับอะไร การมีพื้นที่กลางๆ ให้คนมีความหลากหลายมาคุยเป็นเรื่องสำคัญ”

นอกจากขาดการถกเถียงเชิงหลักคิดแล้วจะเด็จยังมองถึงปัญหาการไม่เชื่อมร้อยกันเป็นขบวน “ช่วงที่ผ่านมาเกือบสองทศวรรษมีปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดคือความเป็นขบวนมันลดลง การเกาะประเด็นตัวเองทำให้พวกเราขาดออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ การมองภาพรวมในเอ็นจีโอเริ่มมีปัญหา ผมทำงานประเด็นผู้หญิงก็จะพูดบนจุดยืนเฟมินิสต์แต่ก็ยึดโยงกับประเด็นความยากจนด้วย เศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย เชื่อมมิติต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมว่าชาวบ้านต้องการอะไร เมื่อก่อนเรามองปัญหาความยากจนต้องเชื่อมโยงกัน ตอนหลังไม่มี อันนี้เป็นจุดอ่อน แหล่งทุนส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือมันมีลักษณะว่าประเด็นเยอะแล้วเชื่อมกันไม่ได้ เราต้องค่อยๆ หาทางทะลุกำแพงให้ได้”

นอกจากนี้จะเด็จยังเห็นว่า “หลังเกิดวิกฤตศรัทธาใน พคท. รุ่นพี่ออกจากป่ามาเป็นเอ็นจีโอ เมื่อก่อนปัญญาชนส่วนหนึ่งในยุคผมเชื่อว่าถ้าจะให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมต้องแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ การถกเถียงก็จะเริ่มจากการวิเคราะห์สังคมไทย เมื่อก่อนเรากล้าฟันธงวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เราไม่กล้าวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเป็นอย่างไรแล้วจะไปต่ออย่างไร ก็ต้องมานั่งถกเถียงวิเคราะห์สังคมไทยกันใหม่ด้วย”

ชีวิน อริยะสุนทร จากเครือข่าย นธส. ตั้งข้อสังเกตว่า “สมัยพี่ๆ มีการถกเถียงเชิงทฤษฎีอุดมการณ์ แต่ในสมัยเราตั้งแต่ทำงานมาเราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ คุยแต่ว่าปัญหาคืออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมายหรือการรณรงค์อย่างไรบ้าง คือพูดในเชิงประเด็น เช่นแรงงานนอกระบบก็คุยกันว่าจะผลักดัน พ.ร.บ. ประกันสังคม แก้มาตรา 40 เรื่องสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง คุยแค่ว่าจะต่อรองกันบนกติกาอะไร จะล็อบบี้สร้างมวลชนจัดตั้งอะไรเราก็อยู่บนกติกานี้ ผมไม่รู้ว่าตอนสมัยรุ่นพี่ๆ คุยกันด้วยโจทย์นี้เพราะอะไร คุยแล้วเราจะได้อะไร แล้วจะเริ่มคุยอย่างไร”

“ตั้งแต่ทำงานมาเราไม่เคยเห็นการถกเถียงเชิงแนวคิดทฤษฎีอุดมการณ์ คุยแต่ว่าปัญหาคืออะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมายหรือจะรณรงค์อย่างไร คือคุยเชิงประเด็นว่าจะต่อรองอย่างไรบนกติกานี้”

– ชีวิน อริยะสุนทร

“ท่าทีต่อรัฐของเอ็นจีโอกลายเป็นดูแค่ว่าจะชนะจากช่องทางอะไรแค่นั้น ไม่ได้สนใจว่ามันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือจะไปสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการมั้ย หรือจะไปสนับสนุนให้เกิดปัญหากับประชาธิปไตยในอนาคตที่จะถึงหรือไม่ เอ็นจีโออาจไม่คำนึงถึงเรื่องพวกนี้เลยขอแค่กรณีปัญหาถูกแก้เท่านั้น”

– รัชพงศ์ โอชานนท์

รัชพงษ์ โอชาพงศ์ นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “เราต้องหาให้ได้ว่าเราทำอะไรบางอย่างหายไป เมื่อก่อนผมตื่นเต้นมากตอนประท้วงแปรรูป กฟผ. ไปเช่าหอประชุมจุฬาฯ ในนั้นมีทั้งเครือข่ายสลัม เครือข่ายต้าน FTA ต้านแปรรูปฯ รวมกันเป็นสมัชชาประชาชน สมัยก่อนมีวารสารของ สนนท. เปิดมาหน้ากิจกรรมจะพบว่ามีกิจกรรมตลอดทั้งเดือนโดยเฉพาะกิจกรรมเสวนาและเป็นวงคุยเปิดสาธารณะเยอะมาก จะเคลื่อนไหวทีหนึ่งประชุมกันทุกอาทิตย์และมียุทธศาสตร์ด้วย วางงานกันยาว ทำงานวิชาการกับแอ๊กชั่นด้วย ผมว่าน่าจะลองหาดูว่าเราทำอะไรหายไป ตอนนี้เอ็นจีโอถูกเซ็ตออกมาว่าต่างคนต่างแยกกลายเป็นว่าอะไรก็ได้ขอให้ปัญหาถูกแก้ไข ซึ่งที่จริงสมัชชาคนจนก็เคยสรุปบทเรียนแล้วว่าการพยายามสร้างฐานมวลชนจากกรณีปัญหาไม่เวิร์ก เพราะสุดท้ายแล้วต่างก็คิดแต่จะแก้ปัญหาของตนเอง แล้วโอกาสที่จะยกระดับขึ้นมามันใช้ทรัพยากรเยอะจนไม่คุ้ม”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ยากที่จะตอบคำถามว่าเอ็นจีโอจะมีท่าทีต่อรัฐอย่างไร เพราะคำตอบก็อาจจะออกมาในรูปที่เฉื่อย-รัชพงษ์ว่าไว้  “ท่าทีต่อรัฐตอนนี้ก็อาจจะเป็นว่าถ้าเขาตั้งคณะกรรมการแล้วเราเห็นว่าประเด็นเรามีโอกาสจะชนะเราจะไปเป็นคณะกรรมการ แต่ถ้าเขาตั้งคณะกรรมการแล้วเราเห็นว่าไม่มีโอกาสชนะเราก็จะประท้วง คือเราดูแค่ว่าเราจะชนะมั้ยจากช่องทางอะไรแค่นั้นไม่ได้สนใจว่ามันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือจะไปสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการมั้ยหรือจะไปสนับสนุนให้เกิดปัญหากับประชาธิปไตยในอนาคตที่จะถึงหรือไม่ เอ็นจีโออาจไม่คำนึงถึงเรื่องพวกนี้เลยขอแค่กรณีปัญหาถูกแก้เท่านั้น”

ชูวิทย์เสริมประเด็นที่ว่าเราทำอะไรหายไป “เวทีจัดการศึกษาของพวกเรามันหายไป อาจจะเป็นเพราะว่าพอเรามาเป็นหน่วยงานรับทุน ชีวิตเราก็ง่วนกับมัน จะต้องเขียนโครงการ ต้องทุ่มทั้งร้อยไปกับโครงการ แล้วพวกเราจะเอาเวลาที่ไหนไปจัดการศึกษา ก็วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ สุดท้ายเราก็เป็นมนุษย์งานในห่วงโซ่การผลิตของขบวนการ แล้วเราก็ทิ้งอย่างอื่นไปหมด วันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นมาเราก็ตั้งหลักไม่ทัน” เขากล่าวต่อ “เวทีจัดการศึกษาทั้งที่เราแสวงหาเองกับที่ต้องสร้างขึ้นมันหายไปเพราะภารกิจเราต้องทำงานตอบสนองแหล่งทุน”

จากข้อถกเถียงข้างต้นมีคำถามน่าสนใจที่ว่า ชุมชน (ชาวบ้านหรือคนทำงานรายประเด็นรายกรณีปัญหา) จำเป็นต้องถกเถียงเชิงแนวคิดอุดมการณ์หรือไม่? และคนทำงานรายประเด็นรายกรณีจะสามารถยกระดับงานตัวเองสู่แนวคิดเชิงอุดมการณ์ได้หรือไม่?

เฉื่อย-รัชพงษ์ตั้งคำถามว่า “เอาเข้าจริงคนทำงานบ้านเราในองค์กรคิดกันเรื่องวิธีคิดทฤษฎีจริงหรือ เขาทำงานแล้วมานั่งตั้งคำถามกันหรือว่าเขาเป็นเสรีนิยมหรือเปล่า สิ่งที่เขาเคลื่อนไหวมันสนับสนุนกลไกรัฐหรือเปล่า เขาคิดกันขนาดนั้นเลยหรือ เท่าที่รู้จักหลายๆ องค์กรไม่เคยเห็นการถกเถียงกันเรื่องนี้”

แก้วใส-ณัฐพงษ์เห็นว่า “การแลกเปลี่ยนถกเถียงควรจะสร้างให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กรซึ่งจะลดเรื่องความอาวุโสลงได้ และแม้วงพี่น้องชาวบ้านก็ควรถกเถียงกันถึงเรื่องแนวคิด ถ้าสังเกตขบวนการแรงงาน เมื่อก่อนมีหลัก 8/8/8 (ทำงาน 8 ชม./พักผ่อน 8 ชม./ศึกษาหาความรู้ 8 ชม.) แต่ปัจจุบันด้วยปัจจัยการทำมาหากินที่บีบคั้นทำให้เรื่องแบบนี้หายไป ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันส่งผลให้ขบวนการต่อสู้เรื่องแรงงานอ่อนกำลังลงหรือไม่ กรณีขบวนการชาวบ้านก็เช่นกัน ในยุคก่อนที่คาบเกี่ยวมาตั้งแต่ยุคเข้าป่าป่าแตกมาเป็นเอ็นจีโอมาเป็นสมัชชาคนจน แต่ก่อนมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างไรถึงได้ขบวนการยิ่งใหญ่แล้วจู่ๆ ก็หายไป”

เขายังตั้งคำถามท้าทายในประเด็นคนรุ่นใหม่ด้วยว่า “ขบวนการต่อสู้ยังอีกยาวไกลแต่กับคนรุ่นใหม่ในองค์กรต่างๆ สร้างคนรุ่นใหม่หรือไม่ เปิดโอกาสหรือลดความอาวุโสลงมั้ย วัฒนธรรมแลกเปลี่ยนถกเถียงและสร้างคนให้เติบโตทางความคิดมีหรือไม่ พี่ๆ เองก็คาดหวังว่าคนรุ่นใหม่ต้องออกมาทำงานต่อแต่ถ้าน้องๆ ไม่ได้มีวิธีคิด หรือมีวิธีการแสวงหาความรู้เปลี่ยนไป หรือการเรียกร้องตัวเองก็อาจไม่เท่าคนรุ่นก่อนเพราะสถานการณ์ต่าง วิธีคิดกับการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน แล้วจะเดินต่อไปอย่างไร”

ปรากฏการณ์ของรอยต่อที่ขาดจากกันเรื่อยๆ ของคนรุ่นก่อน คนรุ่นกลาง กับคนรุ่นใหม่ในแวดวงเอ็นจีโอทั้งในเรื่องวิธีคิด วัฒนธรรมการถกเถียงเชิงแนวคิด ท่าทีรวมตลอดถึงวิธีเคลื่อนไหว เป็นอีกภาพที่สะท้อนให้เห็นดังที่หลายคนกล่าวมาข้างต้น

แมน-ปกรณ์เพิ่มเติมว่า “การที่คนรุ่นใหม่พยายามจะสร้างขบวนการใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมาก็ด้วยความไม่อยากจะวนลูปแบบนั้นแล้ว”

ลูปหรือวงจรที่เขาหมายถึงคือ “ปัญหาการรวมกันไม่ใช่ว่ารวมแล้วยกระดับไม่ได้ แต่เอ็นจีโอหรือพี่เลี้ยงที่เข้าไปอยู่ในขบวนการก็สนใจแต่ประเด็นปัญหาที่เอาไปรวมกัน ความเป็นขบวนการซึ่งควรต้องยกระดับให้เห็นโครงสร้างทางการเมืองไม่เกิด ยกตัวอย่างกรณีพีมูฟชุมนุมครั้งแรกยึดลานพระรูปได้ สุดท้ายคือได้ MOU กลับไป กลายเป็นวนลูป คือยื่นข้อเสนอ ตั้งกรรมการร่วม มี MOU ไม่ทันครบสามเดือนกรรมการที่ตั้งร่วมกับรัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรี ต้องเริ่มกันใหม่ก็วนกลับไปเหมือนเดิม”

ขณะที่จักรชัยมองว่าเราอาจไม่ได้ทำอะไรหายไป “ตั้งแต่ขบวนการฝ่ายซ้ายล่ม การถกเถียงระบบโครงสร้างเชิงลึกไม่เคยถูกใช้อย่างจริงจัง แม้แต่การถกเถียงเรื่องวิธีคิด สายเศรษฐศาสตร์การเมือง สายวัฒนธรรมชุมชน เอาเข้าจริงสิ่งที่ผู้นำทางความคิดเอ็นจีโอหยิบมาอาจเป็นเพียงหลักเชิงปฏิบัติการ เชิงงานจัดการในงานที่เราทำ ซึ่งไม่ได้แปรไปสู่ยุทธศาสตร์ต่อโครงสร้างของสังคม”

“ผมมองว่าเอ็นจีโอเมืองไทยอยู่ในโหมดเอาตัวรอด ซึ่งนี่เป็นปัญหาในหลายประเทศ ไม่เฉพาะที่ไทย เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ในทางสากลเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘เอ็นจีโอภิวัตน์’ (NGO-ization)”

– ธีรพัฒน์ อังศุชวาล

 เอ็นจีโอเป็นส่วนขยายของรัฐราชการ?

ธีรพัฒน์ อังศุธวาล ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นที่น่าสนใจในงานของ อ.ปิ่นแก้ว คือการพูดถึงส่วนขยายของรัฐ “ในเชิงวิชาการคำนี้เป็นศัพท์ที่ใช้เพื่ออธิบายว่าการทำงานพัฒนามีสนามหรือพื้นที่ที่ราชการเข้าไปมีอำนาจเยอะ แต่นั่นคือในยุคที่ภาคประชาสังคมยังไม่เติบโต พอมีหน่วยงานใหม่ๆ ที่เข้าไปอยู่ในสนามนี้จึงบอกว่านี่เป็นแขนขาของรัฐ (arm of state) ซึ่งก็ต้องถามว่าสถานการณ์ยุคนี้ใช่หรือไม่”

ในงานวิจัยที่เขาศึกษาบทบาทของ สสส. กับเอ็นจีโอไทย ธีรพัฒน์พบว่าองค์กรที่รับทุน สสส. ก็ไม่ได้ทำงานตอบสนองแหล่งทุนเพียงอย่างเดียว “อย่างที่เราก็รู้กันว่าทุนต่างประเทศหายไป องค์กรอย่าง สสส. กลายเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศที่ให้ทุน ข้อดีคือยังทำให้คนรับทุนยังทำภารกิจของตนเองได้อยู่ในโครงสร้างที่บีบคั้น ผมมองว่าเอ็นจีโอเมืองไทยอยู่ในโหมดเอาตัวรอด (survival mode) ซึ่งนี่เป็นปัญหาทั่วโลกไม่เฉพาะที่ไทย ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่หลายประเทศก็เจอ พอรับทุนมาเราไม่สามารถคุยเรื่องการเมืองได้ ต้องคุยเทคนิคหยุมหยิมเพื่อแก้ปัญหา มันเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ซึ่งในทางสากลเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘เอ็นจีโอภิวัตน์’ (NGO-ization)”

 ข้อเสนองานจัดตั้งบนทางแพร่ง

อ้วน-กิตติชัยเปิดประเด็นโดยอ้างถึงบทความ อ.เสกสรรค์และ อ.ปิ่นแก้ว “ส่วนหนึ่งบทความ อ.ปิ่นแก้วพูดถึงเหตุปัจจัยภายในคือไม่มีงานจัดตั้ง อ.เสกสรรค์ก็พูดถึงในแง่ว่านักเคลื่อนไหวทำงานมวลชนน้อยมาก อาศัยหนึ่งไปสู้สิบ คือเราใช้จำนวนคนน้อยๆ ไปสร้างฉันทามติของประเทศมันไม่ได้ นั่นก็คือไม่มีงานจัดตั้งขนาดใหญ่เลย มีงานจัดตั้งเยอะมากแต่เป็นงานจัดตั้งขนาดเล็กที่ไม่เชื่อมโยงประสานกันกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งผมคิดว่ามันเกี่ยวพันกับปัญหาภายในประเด็นต่อมาคือการไม่เชื่อมโยงกับประเด็นเชิงโครงสร้าง หรือไม่ยอมถกเถียงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง วิธีคิดและหลักการอย่างจริงจังชัดเจน ทำให้ไม่สามารถจะรวมกันเป็นกลุ่มขบวนการขนาดใหญ่ได้ มีแต่กลุ่มจัดตั้งขนาดเล็ก ดังที่ อ.ปิ่นแก้ววิจารณ์ว่าขบวนการจัดตั้งมีการจัดตั้งขนาดเล็กที่ไม่สามารถยกระดับตัวเองไปสู่การจัดตั้งขนาดใหญ่ได้ ผมคิดถึงกรณีความมั่นคงทางอาหารซึ่งค่อนข้างเห็นภาพครบ คือทำงานจัดตั้งขนาดเล็กค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นระดับประเด็นและระดับของงานยุทธศาสตร์ได้ แต่ว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่ไม่ได้ทำแบบนั้น”

ดังนั้นจากปรากฏการณ์ข้างต้นถ้าหากจะนำไปสู่ภาพของงานจัดตั้งใหม่ได้จะต้องเป็นไปอย่างไร งานจัดตั้งใหม่หมายถึงการเห็นกระบวนการเชื่อมโยงประสานต่อเนื่อง กระบวนการทำงานกับคนใหม่ๆ กระบวนการถกเถียงกันเรื่องอุดมการณ์หรือสำนึกทางการเมืองใหม่ เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ประมวลจากการแลกเปลี่ยนได้ดังนี้

 เปิดพื้นที่พูดคุยถกเถียงเชิงแนวคิด

จากปรากฏการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นหลายคนเห็นตรงกันว่าต้องสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ สร้างวัฒนธรรมของการถกเถียงขึ้นมาใหม่

วิฑูรย์กล่าวว่า “สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วประเด็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่ เอ็นจีโอทำงานมาสามสิบปีแล้ว ตั้งเป็นองค์กรตั้งเป็นหน่วยงาน มีหน้าที่มีภารกิจเฉพาะ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ด้านหนึ่งก็ต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมายก็อาจตรงกับที่ อ.ปิ่นแก้ววิจารณ์ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเรื่องใหญ่ๆ เรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องประชาธิปไตย เราต้องมาฟื้นมาเริ่มต้นใหม่ สถานการณ์จะผลักดันไปสู่ตรงนั้นไม่อย่างนั้นก็จะไม่รอด” นอกจากนี้เขายังมองว่า “เอ็นจีโอส่วนใหญ่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ แต่ว่าจุดยืนเรื่องประชาธิปไตย วัฒนธรรมประชาธิปไตยอาจจะมีปัญหาในหลายกลุ่ม”

ธีรพัฒน์กล่าวว่า “การคุยกันเรื่องอุดมการณ์คงเป็นทุกที่ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยคุยเรื่องนี้เท่าไร ผมคิดว่าบางทีเราไม่ได้ทำอะไรหายไป บางทีมันอาจตกตะกอนแล้ว ในวงการเอ็นจีโอไทยส่วนตัวผมเข้าใจว่าให้คุณค่ากับประสบการณ์เยอะ เป็นสายปฏิบัติ (pragmatism) เราสนใจว่าอะไรจะทำให้เราไปถึงเป้าหมาย ดังนั้นก็จะถูกวิจารณ์เยอะมากในมุมนี้ แต่จริงๆ เรื่องความชำนาญก็ไม่ได้มีเฉพาะแง่มุมประสบการณ์ อาจมีแง่มุมอื่นด้วยก็ต้องมาดูว่ามันมีส่วนประกอบอื่นหรือไม่ที่น่าจะให้น้ำหนัก”

ธีรพัฒน์มองว่ามีเงื่อนไขพื้นฐาน 4 ประการที่จะทำให้เกิดการถกเถียงเชิงแนวคิด

  1. การถกเถียงเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นสำหรับคนมีเวลาว่าง ต้องมีเวลาว่างระดับหนึ่งนอกเหนือจากงานเฉพาะหน้า เวลาว่างแบบนี้เกิดจากไหนบ้าง เช่น นักศึกษา นักเรียน ผู้สูงอายุ คนที่ยังไม่มีงานประจำชัดเจนถาวร เวลาว่างทำให้เกิดการคิดเรื่องพวกนี้
  2. ต้องมี power ระดับหนึ่งถึงมาคุยเรื่องพวกนี้ได้ power ในความหมายของอำนาจหน้าที่ ตำแหน่งอาวุโสในงาน ความรู้ ประสบการณ์ เป็นต้น
  3. มีความใกล้ชิดกับงานวิชาการ เช่นอ่านหนังสือ ไปงานสัมมนา เสวนา มีโอกาสคุยเรื่องพวกนี้บ่อยๆ ซึ่งคือเรื่องพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนถกเถียง
  4. มีแนวคิดที่พอจะยกมาถกเถียงแล้วเกิดประโยชน์ คือเวลาเราเถียงกันเรื่องอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เป็นไอเดียฝรั่ง แม้จะเป็นไอเดียสากลแต่ต้องเข้าใจว่าโลกเราหมุนคนละแบบกับฝรั่ง เราหมุนตามเขา จริงอยู่ไอเดียนี้เป็นสากลแต่สำหรับเขาเป็นเรื่องของเขา กลายเป็นว่าเรากำลังคุยเรื่องของเราในภาษาของเขา ยกตัวอย่างในยุคก่อนที่เถียงกันทางแนวคิดระหว่างกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองกับกลุ่มวัฒนธรรมชุมชน จะพบว่าไอเดียเรื่องนี้แปรเป็นของไทยไปแล้วจึงเถียงกันได้มันส์ แต่แนวคิดเสรีนิยมใหม่กลายเป็นว่าเถียงกันว่าใครเข้าใจฝรั่งพูดได้มากกว่ากัน ซึ่งอาจไม่เกิดประโยชน์ก็ได้ ผมคิดว่ามันมีอุดมการณ์แบบไทยๆ มั้ย เช่นเถียงกันว่าจะเอาแนวทางแบบนิติราษฎร์ แบบปรีดี เป็นต้น มีกรุ๊ปทางความคิดพอจะยกมาเถียงกันได้หรือไม่

 ทลายกรอบวัฒนธรรมพี่น้อง ระบบอาวุโส และระบบอุปถัมภ์

ชูวิทย์มองว่าการเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยถกเถียงจำเป็นต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ ทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ที่ไม่มีลักษณะพี่ครอบงำน้องจนน้องไม่กล้า

จักรชัยกล่าวว่า “พูดในฐานะคนเป็นน้องมาก่อน ผมคิดว่าเรื่องพี่ปิดกั้นน้องในวงการเอ็นจีโอไม่ได้มีค่าเฉลี่ยตีบตันมากไปกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม และตลอดระยะเวลาการทำงานยี่สิบปีที่ผ่านมา ผมก็เห็นว่าน้องที่มีความสามารถ สุดท้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพี่อุปถัมภ์หรือไม่ ถ้ามีความสามารถ มีความเข้าใจประเด็นและพัฒนาตัวเอง ความสำเร็จที่มาจากการอุปถัมภ์เป็นสัดส่วนไม่ได้มากมายอะไร เพราะเอ็นจีโอก็ไม่ได้มีอะไรมาอุปถัมภ์นักหรอก เราต้องถามตัวเองว่าเรากระเถิบไปไม่ได้เป็นเพราะพี่ปิดกั้นหรือเป็นเพราะเราเอาจริงเอาจังหรือพัฒนาตัวเองขนาดไหน เอ็นจีโอที่เราเห็นทุกวันนี้ลองย้อนกลับไปสิบปีที่แล้วเขาก็ไม่ใช่หัวขบวน เขาก็เข้าแทนที่คนอื่น วิธีก็ต่างกัน ซึ่งวงการอื่นก็เป็น ภาคธุรกิจเองกว่าจะขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ก็มีเรื่องแบบนี้ คนรุ่นหลังก็กระทบคนรุ่นก่อนไป เป็นกติกาที่ชอบธรรมในสังคมตราบใดที่ไม่เล่นสกปรก”

เขาท้าทายเอ็นจีโอรุ่นใหม่ว่า “โจทย์ที่ต้องคิดคือเราต้องทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยพี่ แม้แต่ทำงานในองค์กรคุณก็ต้องคิดว่าคุณสามารถทำได้แม้พวกพี่ๆ ไม่อยู่”

ประเด็นเรื่องระบบอุปถัมภ์จักรชัยมองว่ามีอยู่จริงไม่ใช่แค่ในวงการเอ็นจีโอ วงวิชาการก็มี เขามองว่าวิธีแก้อาจต้องสร้างพื้นที่ให้รุ่นกลางรุ่นใหม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสื่อสารออกไปและเสริมความเข้มแข็งในการถกเถียง และในการสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เราควรต้องมีสมดุลในเรื่องแนวคิดกับปฏิบัติการด้วย

นอกจากการท้าทายเชิงบุคคลแล้ว อ้วน-กิตติชัย มองว่าโครงสร้างองค์กรก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทลายกรอบอาวุโสและวัฒนธรรมอุปถัมภ์ “กรณีสลัมสี่ภาคน่าสนใจ เขามีกระบวนการที่เปลี่ยนหน้าใหม่เรื่อยๆ มีการเลือกตั้งประธานสลัมสี่ภาค ประธานคนไร้บ้าน มีการเปลี่ยนและความพยายามที่จะผลักคนใหม่ๆ ขึ้นไปตลอด  ในระดับโครงสร้างก็มีการเลือกตั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมีวาระชัดเจนซึ่งคิดว่าช่วยป้องกันระบบอาวุโสระดับหนึ่ง”

ประเด็นนี้จุก-อำไพจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคสะท้อนให้ฟังว่า “สลัมสี่ภาคจะมีวาระ 4 ปีเลือกครั้งหนึ่ง เลือกกรรมการบริหารเลือกประธาน ส่วนเรื่องการทำงานพี่เลี้ยงจะไม่อยู่เหนือคนทำงาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเข้ามาใหม่ๆ งูๆ ปลาๆ เขาจะช่วย แต่พอหลังๆ มาพี่เลี้ยงพูดบ่อยๆ ว่าถ้าไม่มีพวกเขาเราต้องยืนด้วยตนเองได้ เราจึงต้องฝึกมานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรจะยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีพี่เลี้ยง ตอนนี้เราลงชุมชนได้เองโดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยง อาจจะสื่อสารโทรคุยกันบ้างว่าจะตัดสินใจอย่างนี้อย่างไรดี พี่เลี้ยงก็จะบอกว่า ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำทางชุมชนโอเคเราก็ตัดสินใจได้เลยโดยไม่ต้องรอพี่เลี้ยง ถ้าเราไม่รู้จักตัดสินใจเราก็จะไม่รู้จักโต นี่คือสลัมสี่ภาค”

“เวทีจัดการศึกษาทั้งที่เราแสวงหาเองกับที่ต้องสร้างขึ้นมันหายไปเพราะภารกิจเราต้องทำงานตอบสนองแหล่งทุน พอเรามาเป็นหน่วยงานรับทุน ชีวิตเราก็ง่วนกับมัน พอเกิดอะไรขึ้นมาเราก็ตั้งหลักไม่ทัน”

– ชูวิทย์ จันทรส

“ปัญหาการรวมกันไม่ใช่ว่ารวมแล้วยกระดับไม่ได้ แต่เอ็นจีโอหรือพี่เลี้ยงที่เข้าไปอยู่ในขบวนการก็สนใจแต่ประเด็นปัญหาที่เอาไปรวมกัน ความเป็นขบวนการซึ่งควรต้องยกระดับให้เห็นโครงสร้างทางการเมืองไม่เกิด การที่คนรุ่นใหม่พยายามจะสร้างขบวนการใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมาก็ด้วยความไม่อยากจะวนลูปแบบนั้นแล้ว”

– ปกรณ์ อารีกุล

 กลับสู่เกมประชาธิปไตย คือจุดเชื่อมร้อยงานจัดตั้ง

สำหรับงานจัดตั้งจักรชัยมองว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นการจัดตั้งที่ตอบโจทย์ชาวบ้าน “มนุษย์ทุกคนเห็นปัญหาของตัวเองเฉพาะหน้าอยู่แล้ว การจัดตั้งที่ไพศาลจะเป็นการจัดตั้งบนหลักการลอยๆ ไม่ได้ ผมคิดว่าแม้แต่พรรคการเมืองก็ยังจัดตั้งบนฐานรูปธรรมเช่นกองทุนหมู่บ้านแล้วต่อเชื่อมกัน ถ้าเลือกตั้งแล้วจะได้อันนี้ ไม่ใช่เลือกตั้งลอยๆ เป็นการจัดตั้งที่ตอบโจทย์ชาวบ้าน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานนอกระบบ ชุมชน การไล่ที่ ผมว่ามันก็ต้องไปแบบนั้นเพราะตอบโจทย์ของเขา แต่เอ็นจีโอเองอาจไม่ได้พยายามร้อยว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้ว่ามีจุดร่วมอะไร”

เขามองว่าจุดร่วมก็คือประเด็นพื้นที่ประชาธิปไตย “ถ้าไม่มีทุกคนเผชิญชะตากรรมเดียวกันหมด คิดว่าการร้อยจุดเชื่อมตรงนี้มันไม่เกิดและไม่เคยถูกพยายามทำให้เกิด ทุกคนทำรายประเด็นไปและไม่มีการระบุว่าประเด็นร่วมของเราคืออะไร เมื่อระบุไม่ได้ก็สร้างแนวร่วมไม่ได้”

 ทิศทางอนาคตเอ็นจีโอ?

เฉื่อย-รัชพงษ์มองว่าทิศทางอนาคตของเอ็นจีโอไทยอาจมีสองทาง ทางหนึ่งคือถ้าไม่แตะการเมืองเชิงโครงสร้าง คุณูปการที่จะทำให้มีประโยชน์กับสังคมได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคม อาทิเช่น Root garden ที่เป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างคนเมืองในฐานะผู้บริโภคกับเกษตรกรผู้ผลิต เป็นต้น ในอีกทางหนึ่งคือถ้าคิดจะแตะการเมืองเชิงโครงสร้างก็คิดถึงข้อเสนอเรื่องพรรคการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่หายไปทั้งที่เคยมีการคุยกันถึงขนาดจัดกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองภาคประชาชนมาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยซ้ำ 

ประเด็นพรรคการเมืองภาคประชาชน จักรชัยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ทัศนะที่ว่าเอ็นจีโอไม่ควรไปแปดเปื้อนการเมืองเลือกตั้งไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผมคิดว่าคนที่คิดจะทำพรรคอาจยังติดทัศนะบางอย่างอยู่ และดูเหมือนว่าต้องเลือกระหว่างการเมืองท้องถนน (หรือการเมืองภาคประชาชน) กับการเมืองทางการ (หรือการเมืองเลือกตั้ง) ซึ่งผมมองว่ามันไม่จำเป็นต้องเลือก ในประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็มีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างการเมืองประชาชนกับการเมืองทางการ เช่นเวลาสหภาพแรงงานจะตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหนก็มีประกาศออกมาชัดเจน ไม่คิดว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแบบแยกขาดจากกัน”

กล่าวโดยสรุป วงเสวนาครั้งนี้อาจเป็นเวทีเล็กๆ ที่จุดประกายให้คนทำงานในแวดวงเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมได้กลับมาขบคิดทบทวนและพูดคุยถกเถียงกันต่อไปถึงทิศทางข้างหน้าว่า “เราจะไปทางไหนกัน?” บนทางแพร่งทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น

[1] “ ‘เสกสรรค์’ ประเมิน ‘ชนชั้นนำภาครัฐ’ อยู่ยาว 10 ปี อะไรคือความหวังการเปลี่ยนแปลง,” http://prachatai.org/journal/2017/06/72004

[2] ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, “เอ็นจีโอและภาคประชาชน,” ใน แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาไท, พฤษภาคม 2560), น. 50-73.

บรรยากาศวงเสวนา