พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2561

เรียบเรียงโดย วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
จากงานอบรมหลักสูตร “นักยุทธศาสตร์รุ่นใหม่: สานเสริมพลังขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสุขภาพ” ของแผนงาน นธส. (ปี 2559-2560)

จัดพิมพ์โดย
แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.)

สนับสนุนโดย
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สารบัญ

คำนำ
บทนำ

1. กรอบคิดยุทธศาสตร์

  • ภูมิทัศน์การเมืองไทยกับกระบวนการสร้างนโยบาย
  • การออกแบบและผลักดันนโยบายสาธารณะ
  • ยุทธศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวสากล
  • ขบวนการแรงงานสากล
  • ขบวนการสิทธิมนุษยชน
  • ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในลาตินอเมริกา

2. เครื่องมือคิดงานยุทธศาสตร์

  • ระย้าผลสัมฤทธิ์
  • 9 คำถามขับเคลื่อนนโยบาย

3. ถอดบทเรียนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย

  • ยุทธศาสตร์ขบวนองค์กรชุมชน
  • ยุทธศาสตร์ขบวนประชาสังคม
  • ยุทธศาสตร์ขบวนการภาคประชาชน

4. หัวใจของนักยุทธศาสตร์

  • องค์ประกอบของการเป็นนักยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม
  • งานฐานคือหัวใจของนักยุทธศาสตร์
  • วัฒนธรรมองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลง

บรรณานุกรม ในหลายองค์กรที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือผลัดรุ่น เรามักจะพบว่าคนรุ่นเก่ามักกุมแผนยุทธศาสตร์ กุมทิศทางองค์กร ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มักคิดว่าตัวเองยังมือไม่ถึงพอ

ไม่เก่งวางแผน เก่งทำ ขอให้สั่งมา

ปล่อยให้พวกหัวๆ แกนๆ เขาคิดดีกว่า คิดเยอะปวดหมอง

พึ่งจะเข้ามาทำงานได้ไม่กี่ปีจะให้ขึ้นไปเป็นนักยุทธศาสตร์ได้อย่างไร ทำไม่ได้หรอก

งัวงานอย่างเราๆ จะขยับไปเป็นนักยุทธศาสตร์ได้อย่างไร แค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายก็แทบแย่แล้ว

“เราจะเป็นนักยุทธศาสตร์ได้หรือ?”

คำพูดเหล่านี้มาจากฐานความเชื่อที่ว่า นักยุทธศาสตร์จะต้องเป็นคนเก่งมีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำองค์กร มีความรู้สูง มีบารมีที่สั่งสมมาจากประสบการณ์การทำงานอันยาวนาน มีบุคลิกดีพูดจาน่าเชื่อถือ มีความเป็นผู้อาวุโสที่ผู้น้อยต้องน้อมรับฟัง มีเครือข่ายกว้างขวาง

ที่สำคัญคือมองนักยุทธศาสตร์เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้จะทลายความเชื่อดังกล่าว

เราเชื่อว่านักยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมจะต้องมาจากฐานราก เพราะเจ้าของปัญหาย่อมรู้ประเด็นปัญหาของตนได้ดีที่สุด แผนยุทธศาสตร์ที่ดีจะต้องสร้างมาจากข้างล่างมิใช่เบื้องบนกำหนดให้ แผนยุทธศาสตร์ที่ดีจะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของเจ้าของประเด็นปัญหาได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ

เช่นนั้นแล้ว นักยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมจึงมิใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่คือ “ทีม”

เช่นนั้นแล้ว คำถามที่ว่า “เราจะเป็นนักยุทธศาสตร์ได้หรือ?” ย่อมไม่สู้ถามว่า “เราจะเป็นนักยุทธศาสตร์ได้อย่างไร?”

หากค้นพบหัวใจของการเป็นนักยุทธศาสตร์ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการคิดเชิงยุทธศาสตร์
เพียงเท่านี้การเป็นนักยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

หนังสือเล่มนี้จะชวนคุณท้าทายตัวเอง ท้าทายทีม ท้าทายวิธีคิดเดิมๆ

ติดอาวุธความคิดและฝึกฝนทักษะที่ใช้ขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อค้นหาเครื่องมือของ “นักยุทธศาสตร์” ในการก่อรูปขบวนเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นใหม่ในยุคที่สมรภูมิเปิดทุกด้าน ซึ่งก็มีแต่จะต้อง

“ฝันให้ไกล แล้วไปด้วยกัน”