แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.)ได้จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่อง “การสร้างภาวะการนำในการเคลื่อนไหวสังคมเพื่อความเป็นธรรม”หลักสูตรนักขับเคลื่อนสังคม: สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก รุ่นที่ 1 ในระหว่างวันที่ วันศุกร์ที่ 14 ถึง วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2558 (รวม 5 วัน) ณ ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม (บ้านดิน) อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- เพื่อให้ผู้เรียนใช้กรอบวิเคราะห์เรื่องอำนาจเป็นฐานในการทำความเข้าใจความไม่เป็นธรรมและแนวทางการทำงานสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่
- เพื่อให้ผู้เรียนทบทวนเรื่องโครงสร้างหรือระบบต่างๆในสังคมที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหลากหลายรูปแบบที่ทับซ้อนเชื่อมโยงกันต่อกลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบ และหาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านั้น
- ให้ผู้เรียนฝึกทักษะที่เป็นฐานสำคัญของการทำงานแนวฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพของกลุ่มคนชายขอบ ตลอดจนวิธีการฟื้นฟูดูแลสุขภาวะหลายด้านของคนทำงานเพื่อสังคม
การอบรมครั้งนี้มีเนื้อหาหลักๆคือการวิเคราะห์กรอบเรื่องอำนาจ( power analysis)เพื่อทบทวนเรื่องแหล่งที่มาของอำนาจ และวิธีการใช้อำนาจในความสัมพันธ์ทุกระดับ ตั้งแต่ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ในการทำงาน และในระดับสังคมใหญ่ กรอบคิดเรื่องอำนาจนี้จะช่วยให้เห็นมุมมองเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เรียกว่ารูปแบบหรือลักษณะของวัฒนธรรมครอบงำ และทบทวนเรื่องรูปแบบการใช้อำนาจแบบใหม่ที่เรียกว่าวัฒนธรรมอำนาจร่วม และที่สำคัญคือการทำความเข้าใจเรื่องอำนาจภายในของกลุ่มคนชายขอบและวิธีการฟื้นฟูอำนาจนี้เพื่อเป็นฐานในการสร้างความเข้มแข็งของทำงานร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่กดขี่คนชายขอบ, ความไม่เป็นธรรมเชิงระบบหรือเชิงโครงสร้าง( Structural Inequality) จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการทบทวนและทำความเข้าใจถึงความไม่เป็นธรรมรูปแบบต่างๆหรือความรุนแรงที่กลุ่มคนชายขอบได้รับจากโครงสร้างหรือระบบต่างๆในสังคม การวิเคราะห์นี้จะช่วยให้เห็นแนวทางการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านั้น ความเป็นชายขอบและอัตลักษณ์กระแสหลักหรืออัตลักษณ์ครอบงำ ซึ่งเกี่ยวโยงถึงการมีอำนาจ โอกาสและอภิสิทธิ์ภายในชุมชนคนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม, ทักษะฐานของการทำงานเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพของคนชายขอบ (Empowering/Empowerment model)ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้แก่ การฟังด้วยหัวใจ การจับประเด็นและการสะท้อนกลับ และการตั้งคำถามเพื่อให้เข้าถึงหรือค้นพบปัญญาด้วยตัวเอง
สำหรับผู้ปฏิบัติงานเองในระหว่างการอบรมจะมีวิธีการฟื้นฟูดูแลสุขภาวะคนทำงานเพื่อสังคม(Self-care / Well-being) ที่เป็นฐานสำคัญที่จะช่วยให้คนทำงานมีความสุข มีความมั่นคงภายใน และมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อองค์กร และขบวนการทำงานเพื่อสังคมโดยรวม
กระบวนการอบรมในครั้งนี้ได้เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ โดยทุกเนื้อหาจะดึงเอาประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียนมาเป็นฐานในการเรียนรู้ ในบางหัวข้อกระบวนกรจะจัดกิจกรรมหรือเสนอกรอบคิดเพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้เรียนหรือดึงปรากฏการณ์ในสังคมมาทำความเข้าใจ ทั้งนี้ผู้เรียนจะต้องใช้ฐานหรือช่องทางการเรียนสี่ฐานคือ ฐานหัว คือการคิด การวิเคราะห์ การแบ่งปันข้อมูล เรื่องราวและประสบการณ์ ฐานใจ คือการแบ่งปัน พูดคุยและรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและของกันและกัน ฐานกายคือการใช้ร่างกายเป็นฐานในการเข้าใจตนเองและการดูแลสุขภาวะตนเอง และฐานจิตวิญญาณคือการฝึกฝนความมั่นคงภายใน สติ และการรู้ตัว