ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ

สวัสดีครับ เรามาพบกับเนื้อหาในคลิปออนไลน์เรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เราอาจจะเคยได้ยินคำนี้มาจากหลายๆ ที่นะครับ มันอาจจะดูแปลกๆ เป็นคำใหม่ๆ ที่เราอาจจะยังไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินแล้วแต่ไม่เข้าใจว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับเรื่องพวกนี้นะครับ

ก่อนที่เราจะไปเข้าใจเรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เรามาทำความเข้าใจคำว่าสุขภาพกันก่อน เวลาเราพูดถึงคำว่าสุขภาพ หลายครั้งเราอาจจะมองไปที่ความเจ็บป่วย โรงพยาบาล หมอ ยารักษาโรค การผ่าตัด เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพฤติกรรมอะไรต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งเวลาเราพูดถึงเรื่องมุมมองทางสุขภาพ มันจะมีมุมมองอยู่ 2 แบบ แบบแรกก็คือมุมมองสุขภาพแบบแคบ แล้วก็แบบที่ 2 ก็คือมุมมองสุขภาพแบบที่มันกว้างขึ้น

มุมมองสุขภาพแบบแคบ

ในมุมมองสุขภาพแบบแรกนี้ ก็คือมุ่งไปที่ตัวโรคตัวปัญหาที่มันเกิดขึ้น ซึ่งมันทำให้เวลาเราจะไปจัดการกับเรื่องพวกนี้ เราก็จะไปจัดการกับตัวโรค การแก้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นแล้ว หรือป้องกันไม่ให้ปัญหามันเกิดขึ้น ซึ่งคนที่มาจัดการกับตัวปัญหาเหล่านี้ก็จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมอ บุคลากรทางสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แล้วก็เกิดยา เกิดโรงพยาบาล เกิดสถาบันอะไรต่างๆ นะครับ เพื่อที่จะขึ้นมาจัดการกับเรื่องของความเจ็บป่วยเหล่านี้ แล้วก็มองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องของสุขภาพเพียงเท่านั้น สิ่งอื่นไม่เกี่ยว แต่ว่ามันมีแนวคิดทางสุขภาพอีกแบบหนึ่งนะครับที่คู่กันมา เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้มองมันหรือว่านิยามมันในฐานะที่เป็นเรื่องสุขภาพนะครับ มันก็คือเป็นมุมมองสุขภาพแบบกว้าง

มุมมองสุขภาพแบบกว้าง

สุขภาพแบบกว้างจะมุ่งไปที่ตัว “สุขภาวะ” คือภาวะที่คนเป็นสุข มันมุ่งไปที่เชิงบวกมากกว่า หมายความว่า จะทำยังไงให้คนมีความสุข ทำยังไงให้คนมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้น องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมาจึงไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาแล้ว มันจะเพิ่มเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ… ทำยังไงให้คนมีชีวิตที่ดี ทำยังไงให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งต่อตัวเราเอง ต่อคนอื่น แล้วก็ต่อสังคมภายนอก แล้วก็ต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนะครับ นี่เป็นเรื่องเรื่องของสุขภาพแบบกว้าง ก็จะมุ่งไปเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ระบบนิเวศที่ดี อาหารที่ดี พื้นที่ออกกำลังกายที่ดีใกล้บ้าน พื้นที่สันทนาการ พื้นที่พบปะพูดคุย การรู้สึกถึงพลังอำนาจในตัวเอง การได้ช่วยเหลือแบ่งปันคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของสุขภาพที่มันเป็นความหมายที่มันกว้างขึ้น ซึ่งมันจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่มันดีขึ้น

ความชันทางสุขภาพ

ทีนี้ในมุมมองแบบกว้าง พอมันมองอะไรที่มันมากไปกว่าเรื่องของพฤติกรรมของคนที่จะทำให้เจ็บป่วย มองไปมากกว่าเรื่องของโรคที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว มันจะมามองกันเรื่องขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของมนุษย์

คือมันมีงานวิจัยที่วิจัยสุขภาพของข้าราชการชายชาวอังกฤษ ปรากฏว่า ข้าราชการระดับล่างมีอัตราการตายมากกว่าข้าราชการระดับสูงถึง 4 เท่า เดิมทีเรามักจะคิดว่า คนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง คนที่ร่ำรวย คนที่มีรายได้เยอะกว่า จะเครียดกว่า จะไม่มีเวลา ไม่ดูแลสุขภาพอะไรอย่างนี้นะครับ แต่ปรากฏว่าในผลวิจัยนี้มันกลับบอกว่าคนที่มีฐานะยากจน ข้าราชการระดับล่างมีสุขภาพที่แย่กว่าและมีอัตราการตายที่สูงกว่า มันหมายความว่าอะไร

นอกจากนั้นนะครับ เด็กที่เกิดในญี่ปุ่นหรือสวีเดน จะมีโอกาสที่จะเติบโตแล้วก็มีอายุขัยได้ถึง 80 ปี ในขณะที่เด็กที่เกิดในบราซิลมีอายุเฉลี่ยแค่ 72 ปี เด็กที่เกิดที่อินเดียจะมีอายุเฉลี่ย 63 ปี เด็กที่เกิดที่แอฟริกาจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี ตัวเลขนี้บอกอะไรเรา

เด็กคนเดียวกัน แต่เกิดต่างที่ แต่ว่ามีอายุขัยมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้แตกต่างกันมันแปลว่าอะไร

แล้วก็มีงานวิจัยที่ไปวิจัยเด็กในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานะครับว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้อายุระหว่าง 6-15 ปีมีพัฒนาการล่าช้าถึง 60% เมื่อเทียบกับเด็กพื้นที่อื่น ตัวเลขนี้บอกอะไรเรา

หลายครั้งเวลาเราคบคนที่เจ็บป่วยขึ้นมา เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคไข้เลือดออก เป็นโรคอะไรต่างๆ นะครับ หลายครั้งเราก็เผลอไผลที่เราจะไปมองว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือเปล่า กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่ไม่ดี ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักดูแลสุขภาพตัวเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การดูแลสุขภาพตัวเองเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดีเท่านั้น ถ้าดูจากชาร์ทนี้นะครับ ชาร์ทที่เป็นเรื่องของความชันทางสุขภาพ เราจะมองเห็นอยู่ 3 ส่วน 

ส่วนแรกที่สุดเป็นรูปตัวคน มันจะพูดถึงตัวเรา พูดถึงพฤติกรรม พูดถึงการใช้ชีวิตของเรา พูดถึงนิสัยต่างๆ ในการกิน การอยู่ การออกกำลังกาย ความเครียดอะไรต่างๆ อันนี้เป็นตัวเรา เป็นตัวบุคคล เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสุขภาพดีหรือไม่ดี

ในส่วนที่ 2 ที่เป็นรูวงกลม มันจะพูดถึงตัวภาระนะครับ ตัวภาระเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน คนๆ หนึ่งอาจจะมีภาระที่มันต่างกัน อาจจะเป็นเรื่องของครอบครัว ครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีพ่อแม่แก่ชราต้องคอยดูแลมีพี่น้องที่อาจจะเจ็บป่วยอยู่นะครับ อยู่ในสังคมที่มีภาระทางประเพณีทางวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง ต้องคอยดูแลสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

และในส่วนที่ 3 ที่เป็นรูปสามเหลี่ยมนี้นะครับ มันพูดถึงเรื่องที่มันใหญ่ไปกว่าตัวคนแล้ว มันจะพูดถึงเรื่องนโยบายการศึกษา – การศึกษาทั่วถึงมั้ย? คนๆ นั้นเขามีโอกาสได้เรียนหนังสือเท่าเทียมกันกับคนอื่นหรือเปล่า?

พูดถึงเรื่องการเดินทาง การคมนาคม – เขาเดินทางไปในที่ต่างๆ ง่ายมั้ย? เข้าถึงแหล่งสุขภาพได้ไหม? เข้าถึงแหล่งนันทนาการสันทนาการออกกำลังกายได้ง่ายหรือเปล่า?

พูดถึงเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ทั้งน้ำประปาที่สะอาด เขาเข้าถึงหรือเปล่า?

เขาเข้าถึงแหล่งงานหรือเปล่า? มีงานทำที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่เขามีอยู่ได้หรือเปล่า? ภาวะการกระจายงานทั่วถึงหรือเปล่า? โอกาสที่เขาจะได้ใช้ศักยภาพของเขามากขึ้นมีหรือเปล่า?

พูดถึงนโยบายทางสาธารณสุขที่ดูแลคนในประเทศ คนในจังหวัดที่มีสุขภาพแตกต่างกัน มันมีการเข้าถึงได้ง่ายหรือยาก?

พูดถึงการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เขามีโอกาสที่จะมีที่อยู่อาศัยหรือว่ามีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสุขภาพที่ดีสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาหรือเปล่า?

แล้วก็พูดถึงการเข้าถึงอาหารที่ดี เขามีโอกาสได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพหรือเปล่า? เข้าถึงอาหารที่ราคาไม่สูงมากเกินไปสำหรับการมีชีวิตที่ดีมากพอหรือเปล่า?

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ คนใดคนหนึ่งไม่สามารถควบคุมได้ มันถูกควบคุมโดยตัวนโยบายของรัฐบาล มันถูกควบคุมโดยกลไกของรัฐ ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ของโครงสร้างทางการเมืองทั้งหลาย

ดังนั้น ที่เราและพยายามที่จะรักษาสุขภาพของตัวเราเองอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ในเมื่อบางที เราอาจจะไม่ได้รับน้ำที่สะอาดเพียงพอ เราไม่ได้รับข้อมูลทางด้านสุขภาพที่มากเพียงพอ เราไม่ได้รับที่อยู่อาศัยที่มีอากาศ มีน้ำ มีไฟที่ดีเพียงพอ

ดังนั้นการที่จะบอกว่าโรคใดโรคหนึ่งเกิดขึ้นมา คนใดคนหนึ่งเกิดโรคขึ้นมา หรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี บางทีมันไม่ใช่แค่ตัวพฤติกรรมของเขาอย่างเดียว มันมีนโยบายต่างๆ ปัจจัยต่างๆ สามส่วนนี้เกี่ยวข้องด้วย

พอเราเห็น 3 ปัจจัยนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นตัวคน ตัวภาระ แล้วก็ตัวความชันทางสุขภาพที่เป็นสามเหลี่ยมนี่นะครับ หมายความว่าตัวสามเหลี่ยมนี้นะครับ ยิ่งมันชันมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเข็นเจ้าตัวภาระที่เขาจะต้องขึ้นไปสู่เส้นชัยของเขายากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่าอะไรครับ แปลว่าคนยิ่งตัวเล็กยิ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่แข็งแรงอยู่แล้ว ตัวใหญ่อยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่นคนที่จนอยู่แล้วมาอยู่ภายใต้โครงสร้างสามเหลี่ยมที่มันชันเท่ากัน คนที่รวยกับคนจน โอกาสในการที่จะมีสุขภาพดีของเขาจึงไม่เท่ากัน คนตัวเล็ก คนที่ยากจนอาจจะต้องใช้ความพยายามโดยส่วนตัวของเขามากกว่าคนตัวใหญ่ที่แทบไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เนื่องจากมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงิน เป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของเขา

สิ่งเหล่านี้มันโยงไปสู่แนวคิดเรื่องความเท่าเทียม เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความเท่าเทียม ใช่ครับ ภายใต้ประเทศเดียวกัน เราจะมีคนหลายประเภท มีคนที่ยากจน มีคนที่เป็นระดับกลาง และมีคนที่ร่ำรวยระดับสูง คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้าถึงตัวสามเหลี่ยม ตัวความชันทางสุขภาพด้วย ตัวนโยบายไม่เท่าเทียมกัน นั่นแปลว่าโอกาสที่จะมีสุขภาพที่ดีมันก็จะไม่เท่ากันด้วย เราจะพบว่ามันมีความไม่เท่าเทียมมีความเหลื่อมล้ำอย่างนี้อยู่ในสังคมของเรา ซึ่งความไม่เท่าเทียมเหล่านี้มันมีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมด้วย มีความไม่เป็นธรรมทางการเมือง มีความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย ดังนั้น เวลาเราพูดถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราทำต้องมาพูดเป็นเรื่องของความเป็นธรรมทางสุขภาพด้วย

พอพูดเรื่องความเป็นธรรม จริงๆ แล้วความเป็นธรรมเนี่ยมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองด้วยสายตาแบบไหน เราอาจจะเคยได้ยินนะครับ เป็นเรื่องของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เราก็จะมีแนวคิดต่างๆ นะครับว่าเราจะมีความเป็นธรรมเป็นเศรษฐกิจยังไง เราจะกระจายรายได้ยังไง แต่ละชนชั้นเราจะแบ่งปันทรัพยากรกันยังไง

หรืออาจจะพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมทางเพศว่า ระหว่างชาย ระหว่างหญิง ระหว่างเพศต่างๆ เราจะมีความสัมพันธ์กันยังไง

ความเป็นธรรมทางนิเวศน์ จะพูดถึงเรื่องสิทธิการใช้ทรัพยากรต่างๆ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ แล้วก็ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลก

แน่นอน ความเป็นธรรมทางสุขภาพก็เช่นกันนะครับ เวลาวิเคราะห์ เราจะมาวิเคราะห์กันเรื่องของมิติทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสุขภาพแบบกว้าง ก็คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีโอกาสในการที่จะมีสุขภาพทั้งทางร่างกายและทางจิตใจที่ดี เราก็เลยใช้มุมมองทางสุขภาพมามองเรื่องความเป็นธรรมกัน ซึ่งในเรื่องนี้ อย่างที่เราพูดกันไปแล้วเรื่องของชาร์ทเรื่องความชันทางสุขภาพ ก็คือมันมีโอกาสเกี่ยวข้องกับ 3 ส่วนซึ่งโดยทั่วไปในสังคมเราก็จะมุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ว่าในเรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพพยายามที่จะทำให้เราหันมามองเรื่องปัจจัยที่เป็นเรื่องทางสังคมด้วย ซึ่งมันจะโยงไปถึงเรื่องของนโยบาย มันจะโยงไปถึงเรื่องของโอกาสทางการเมือง มันจะโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของพวกเราในระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ซึ่งมันก็จะมีตัวเครื่องอยู่ที่มาช่วยในการวิเคราะห์ เราเรียกมันว่าสายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ

สายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ

เครื่องมือสายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ จะเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยให้เราได้มองเห็นปัญหาทีละชั้น

ในชั้นแรก มันจะพูดถึงตัวคนที่เราต้องการที่จะวิเคราะห์ว่าเป็นใคร ว่ามีพฤติกรรมยังไง เป็นคนประเภทไหน เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง อายุเท่าไหร่อะไรอย่างนั้นนะครับ ก็จะเป็นปัจจัยส่วนที่เป็นตัวเราในตัวความชัน

ถัดมาเนี่ย ก็จะมองเรื่องพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเขาว่าจะมีพฤติกรรมหรือใช้ชีวิตโดยทั่วไปยังไง ที่กิน ที่นอน ที่ทำงาน ที่อาบน้ำ อะไรอย่างนี้นะครับ เป็นเรื่องของตัววิถีชีวิตแล้วก็พฤติกรรม

ในชั้นถัดมาเนี่ย ก็จะพูดถึงเรื่องตัวเครือข่ายทางสังคม ชุมชนที่เขาอยู่เป็นยังไง เครือข่ายทางสังคมของเขาเป็นยังไง อาศัยอยู่ในชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นคนใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิศ หรือว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในการทำงานในไร่ในนา ในระบบเกษตรกรรม ก็แล้วแต่นะครับ เราก็จะพอมองเห็น แล้วนอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมการทำงานว่าเขาอยู่ในอาชีพอะไรเป็นหลัก ทำงานโรงงานนะครับ รับเงินเดือนหรือว่าทำงานรับจ้างทั่วไป รับเงินเป็นรายครั้ง สภาพการทำงานเป็นยังไง อยู่ในโรงงานที่ไม่ได้มีการดูแลเรื่องสุขภาพของคนทำงาน แล้วแต่นะครับ

แล้วก็อีกวงนึงมันก็จะพูดถึงเรื่องตัวเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อันนี้จะพูดถึงเรื่องตัวนโยบายของรัฐ อาจจะโยงไปพูดถึงตัวสถานการณ์ของโลกด้วย อาจจะเป็นสภาวะแวดล้อม สภาพโลกร้อน หรือว่าล่าสุดนี่ก็จะเป็นเรื่องของโรคระบาดอย่าง Covid เป็นต้นนะครับ อันนี้จะเป็นสายรุ้งที่จะทำให้เราพยายามทำความเข้าใจสภาวะทางสุขภาพของคนในสังคม ซึ่งเราจะยกตัวอย่างมาแค่หนึ่งคน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของคนอีกจำนวนมากในสังคม

ผมยกตัวอย่างเช่นสายรุ้งปัจจัยทางตรงกำหนดสุขภาพนะครับที่เป็นของคนไร้บ้าน ก็จะมาดูเช่นตรงกลางนี้นะครับ เราก็จะมาพูดถึงคนไร้บ้านนะครับ คนไร้บ้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ชายวัยกลางคน ที่บางทีก็มีติดเหล้า ซึมเศร้า ติดยา มีสภาพที่เจ็บป่วย

ส่วนวิถีชีวิตของเขาก็จะเป็นเช่น ไม่อาบน้ำนะครับ มีการนอนข้างถนน ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้านะครับ ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมๆ เป็นต้นนะครับ

ในชั้นถัดมาก็คืออยู่ในพื้นที่สาธารณะเลย อยู่ข้างถนน อยู่ในสวนสาธารณะ ก็คืออยู่ข้างนอกอ่ะครับไม่ได้อยู่ในบ้าน แล้วก็ชุมชนแถวนั้น คนแถวนั้นก็จะรังเกียจ แล้วก็ระแวงเขา ไม่มีครอบครัว ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับครอบครัว

ส่วนการใช้ชีวิตและในการทำงานก็คือ มันไม่มีที่ซักผ้า ตากผ้า ไม่มีที่อาบน้ำ ไม่มีอาหารที่ดีมากพอ ต้องไปคุ้ยขยะ ต้องทำงานรับจ้างรายวัน แล้วบางทีก็ถูกโกงบ้างถูกอะไรบ้าง เนื่องจากไม่ได้มีสัญญาจ้างที่มันชัดเจน นะครับ หลายอย่าง

ส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมเนี่ยก็คือ เขาจะถูกมองเป็นพวกคนบ้า คนเป็นโรคจิตเภทนะครับ ก็จะจัดการเขาอีกแบบนึง หรือถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากรอะไรอย่างนี้นะครับ เขาก็จะถูกมองแบบนึงในขณะที่ไม่มีนโยบายที่อยู่อาศัยหรือว่าไม่มีนโยบายเรื่องดูแลกลุ่มคนไร้บ้านโดยเฉพาะ มาถึงก็จับกวาดเขาไปอยู่อีกที่นึงซึ่งไม่ได้คำนึงว่าเขามีชีวิตอยู่อย่างไรในที่ตรงนั้น หรือว่าไม่มีห้องน้ำสาธารณะที่ให้คนทุกคนสามารถใช้ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เราก็จะพอมองเห็นแล้วว่า แต่ละชั้นๆ ๆ เนี่ยนะครับ มันก็จะมีปัญหาเป็นของมันเอง เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหามันจึงไม่ใช่แค่ไปจัดการกับตัวคนไร้บ้านอย่างเดียวว่า เฮ้ย คนไร้บ้านคนนี้เนี่ย ก็ทำตัวให้ดีสิ ขยันหน่อย ไปหางานทำซะ แต่งตัวให้ดี แล้วก็เดี๋ยวอีกหน่อยก็จะมีงานทำแล้วเก็บเงินได้เยอะๆ แล้วก็จะมีบ้านอยู่ ไม่ใช่เลย ปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องแค่นั้น มันเกี่ยวโยงกับหลายๆ มิติและหลายๆ ชั้นที่กล่าวมา

เราก็จะพอมองเห็นว่า ถ้าอย่างนั้นเนี่ย ในแต่ละภาคส่วนก็คงต้องไปจัดการในแต่ละชั้นกันไป

โอเค ในส่วนของการเยียวยาดูแล ในส่วนของการรักษาโรค ก็เป็นชั้นในสุดที่ต้องมาช่วยมาดูแลเขา ในขณะที่ในส่วนของคนที่จะต้องมาดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงาน สภาพแวดล้อมของพื้นที่สาธารณะ ก็เข้ามาดูเรื่องนโยบายเรื่องพวกนี้ ในขณะที่ในส่วนของตัวนโยบายเองก็ต้องมาจัดการเรื่องตัวนโยบาย อย่างนี้เป็นต้น ก็จะพอมองเห็นได้ว่าพอเราใช้เครื่องมือสายรุ้งนี้นะครับ ก็จะช่วยให้เรามองเห็นปัจจัยต่างๆ ที่มันมีอยู่แวดล้อมเขา มีหลายระดับชั้นซึ่งมันจะนำไปสู่ว่า อ๋อ แต่ละภาคส่วน แต่ละคนที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป มีอำนาจในการตัดสินใจในการทำงานแตกต่างกันไป จะสามารถเข้ามาดูแลสุขภาพ สามารถเข้ามาดูแลความเป็นธรรมทางสุขภาพยังไงต่อไป

แนวทางการทำงานเพื่อไปสู่ความเป็นธรรมทางสุขภาพ

แนวทางในการไปสู่ความเป็นธรรมตามสภาพนี้จะมีอยู่ 3 ส่วนนะครับ ส่วนที่ 1 ก็คือพูดถึงเรื่องฟังเสียงของคนชาบของ 2. เสริมสร้างพลังอำนาจของคนชายขอบ แล้วก็ 3. การทำงานข้ามภาคส่วนต่างๆ

การฟังเสียงคนชายขอบ

ในส่วนแรกการฟังเสียงคนชายขอบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากนะครับ การทำงานหลายครั้งในสังคมของเราที่ผ่านมา มักจะเป็นคนที่มีอำนาจหรือว่ามีความรู้เป็นคนที่จะสร้างนโยบายขึ้นมา เป็นคนที่จะพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ที่เขามองเห็น อาจจะไปทำวิจัย มีวงวิชาการ มีอะไรเยอะแยะมากมายนะครับ แต่บางครั้งหลายครั้งเลยนะครับ หลงลืมที่จะฟังเสียงคนชายขอบ

มันกลับกลายเป็นมุมมองการแก้ปัญหาจากคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีพลังอำนาจอยู่แล้ว ละเลย ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหาที่สำคัญเนี่ย มันคือการให้ตัวผู้ประสบปัญหาเองเป็นคนที่บอกว่าจริงๆ แล้วเขามีปัญหาอะไร เพื่อที่จะให้เราได้รับรู้ รับรู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน

และที่สำคัญไปกว่านั้น การฟังเสียงเพื่อแก้ปัญหาของคนที่ยากลำบากที่สุดในสังคม มันแปลว่าข้อเสนอของการแก้ปัญหาเหล่านี้เนี่ย คนทุกๆ คนในสังคมที่ไม่ได้ลำบากเท่าเขา มีโอกาสที่จะเข้าถึงการแก้ปัญหาแบบนี้ได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ขัอเสนอของคนไร้บ้านในการแก้ปัญหาของพวกเขา เขาไม่ได้ต้องการอะไรที่เป็นของส่วนตัวของเขา เขาไม่ได้ต้องการบ้าน เขาไม่ได้ต้องการเงิน เขาไม่ได้ต้องการความร่ำรวยอะไร เขาต้องการห้องน้ำสาธารณะ แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเรามองเห็นมุมมองของเขาและสร้างห้องน้ำสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านมีสุขภาวะที่ไม่ดี คนอื่นๆ ในสังคมก็สามารถที่จะเข้าถึงห้องน้ำสาธารณะได้ด้วยเหมือนกัน คือเขาไม่ได้สร้างห้องน้ำสาธารณะเพื่อคนไร้บ้านอย่างเดียว แต่คนในสังคมจะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน อย่างนี้เป็นต้น

หรือว่าข้อเสนอจากคนพิการที่ใช้วิลแชร์ ที่เขาต้องการที่จะเดินทางด้วยรถเมล์ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันนี้รถเมล์เนี่ย คนที่ใช้วีลแชร์จะขึ้นได้ลำบากมากนะครับ ต้องมาช่วยกันยก ต้องมาอะไรกัน เขาก็เสนอเป็นรถเมล์ชานต่ำขึ้นมานะครับ เป็นรถเมล์ที่จะมีทางเดินขึ้นสำหรับคนพิการให้เขาไปใช้ได้

ข้อเสนอเหล่านี้ เราดูเผินๆ เราอาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่ให้เฉพาะคนพิการที่ใช้วิลแชร์เท่านั้น ซึ่งมีคนจำนวนไม่เยอะหรอกที่ใช้ แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว เมื่อเราพิจารณาลงไป เราจะมองเห็นว่าจริงๆ แล้วคนที่ใช้ชานหรือว่าทางเดินขึ้นรถเมล์ที่เป็นทางลาดเนี่ยนะครับมากกว่าคนพิการที่ใช้วีลแชร์อีกเยอะนะครับ ยกตัวอย่างเช่น คนแก่ซึ่งมีจำนวนมหาศาล แล้วเรากำลังเข้าสู่สังคมที่จะมีคนแก่เยอะขึ้น หรือคนที่เจ็บป่วยเช่น ขาหัก เท้าแพลง ฯลฯ ที่ไม่สามารถที่จะก้าวเท้าขึ้นบันไดธรรมดาปกติได้ จะสังเกตเห็นว่าข้อเสนอของคนพิการไม่ได้เป็นข้อเสนอเพื่อตัวเขาเองอย่างเดียว แต่ว่าเนื่องจากการที่เขาเป็นกลุ่มคนที่ยากลำบากที่สุดในการเข้าถึงทรัพยากร เวลาเขาเสนออะไรขึ้นมาเนี่ย มันจึงเป็นข้อเสนอที่คนอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงร่วมกับเขาได้ด้วย

การฟังการแก้ปัญหาจากคนข้างล่างมันเท่ากับเป็นการคำนึงถึงคนทั้งสังคมไปด้วยในตัว ต่างจากการแก้ปัญหาที่มาจากมุมมองจากคนข้างบนที่จะมุ่งแก้ปัญหาเป็นจุดๆ เป็นครั้งๆ หรือว่าเป็นเรื่องของน้ำใจ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน

การเสริมพลังอำนาจของคนชายขอบ

สำหรับข้อ 2 ก็คือเรื่องของการเสริมสร้างพลังอำนาจของคนยากคนจน คนชายขอบนะครับ เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือหลายครั้งนี้นะครับเราจะมองว่า เอ้อ ก็ไปถามเจ้าตัวแล้ว เจ้าตัวบางทีไม่ยอมพูดหรือว่าพูดไม่เป็นไม่เข้าใจว่าปัญหาตัวเองคืออะไร ดังนั้น คนที่มีความรู้คนที่มีอำนาจจึงคิดแทนให้ ซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอดนะครับ เนื่องจากเราไม่คุ้นเคยที่จะฟังเสียงของคนชายขอบ

ดังนั้น ข้อ 2 นี้ เราจะพยายามที่จะมาทำให้คนชายขิบ คนยากคนจน คนที่ลำบากที่สุดเนี่ยนะครับ รู้สึกถึงพลังหน้าตัวเอง อาจจะต้องชวนให้เขาเนี่ยสามารถที่จะวิเคราะห์ตัวเองได้ ให้มองเห็นว่าสิ่งที่เขาเชิญอยู่นี่นะครับมันไม่ใช่แค่เรื่องของเวรของกรรม ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลอย่างเดียว อาจจะใช้เรื่องความชันทางสุขภาพไปดู ไปช่วยเขาคิดช่วยเขามอง ใช้สายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพไปช่วยกันคิดช่วยกันมอง ทำให้เขาเห็นได้ว่าปัญหาที่เขาพบเจอมันมีเรื่องอะไรบ้าง จากมุมมองของเขาเอง มาช่วยกันเสริมสร้างพลังอำนาจในเรื่องของความรู้ ในเรื่องของความสำคัญของเขา ว่าจริงๆ แล้วเขามีคุณค่ามากพอที่จะเสนอเรื่องของเขามาในสังคม ซึ่งมันจะช่วยเสริมพลังกับข้อหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่มาจากข้างล่าง เกิดการแก้ปัญหาที่มาจากตัวผู้ประสบปัญหาเองได้ตรงๆ แล้วก็กลับกลายเป็นการเพิ่มพลังในการแก้ปัญหาได้ด้วยว่ามันไม่ใช่ตกเป็นภาระของหน่วยงานราชการ ตกเป็นภาระของผู้เชี่ยวชาญอะไรอย่างเดียว ตัวคนที่เจอปัญหาเองก็ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาได้ด้วยแทนที่จะมองว่าเป็นผู้ที่รอรับหรือว่าเป็นเหยื่อของระบบเพียงอย่างเดียว

การทำงานข้ามภาคส่วน

ในส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ก็คือการทำงานภาคส่วน อย่างที่พูดไปแล้วว่าในอดีตที่ผ่านมานะครับเรามักจะแก้ปัญหาด้วยคนจากข้างบน คนที่มีโอกาส คนที่มีความเชี่ยวชาญ คนที่มีอำนาจอยู่ แต่ละส่วนกันเองนะครับก็อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงประสานสัมพันธ์กันเท่าที่ควร ในแนวคิดแบบนี้ เวลาเราทำสายรุ้งนะครับ สายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เราจะพบว่า มันทำเพียงคนเดียวหรือว่ากลุ่มเดียวไม่ได้ ไม่สำเร็จ เพราะว่ามันต้องใช้องค์ความรู้จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นวงในสุดที่มันเป็นการทำความเข้าใจตัวคนที่ประสบปัญหาเองจริงๆ ทำความเข้าใจตัวชุมชน ทำความเข้าใจตัวโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำความความเข้าใจตัวโครงสร้างทางการเมือง ทางนโยบาย ต่างๆ เหล่านี้มันต้องอาศัยคนแต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ไม่งั้นมันไม่สามารถที่จะวิเคราะห์สายรุ้งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพได้อย่างชัดเจน

ซึ่งมันก็จะนำไปสู่ว่า ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้นะครับเราก็จะต้องมาทำงานร่วมกัน มาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วฟังกันและกันมากขึ้น ซึ่งมันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มันเชื่อมโยงกันแต่ละภาคส่วนให้ได้มากที่สุด ไม่ได้ตกเป็นภาระของส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว

สรุปภาพรวม

แนวคิดเรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพก็จะช่วยขยายมุมมองของพวกเราให้มองเห็นได้ว่า ตัวปัญหาสุขภาพตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคลอื่นต่อไป มันเป็นเรื่องของระบบโครงสร้าง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองทั้งหลายในสังคมของเราที่มันก็มีส่วนเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั่วไป

ในขณะที่มันอาจจะช่วยขยายมุมมองของเราที่บางทีเรามีเลนส์เรื่องความเป็นธรรมอยู่แล้ว เราพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม มันจะมีมุมมองความเป็นธรรมอีกหลายแบบ แล้วเราก็จะได้เพิ่มความเป็นธรรมทางสุขภาพเข้ามาเป็นอีกมิติหนึ่งเวลาเราพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมมากขึ้น ในการที่จะสร้างนโยบาย สร้างตัวโครงการ สร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่มันกว้างไกลขึ้นไปกว่าเดิมนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หวังว่ามันจะนำไปสู่การที่จะทำให้เรารวบรวมเอาคนชายขอบได้มาเป็นองค์ประธานในการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวหลักในการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในสังคมของเรา เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นธรรมทางสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ก็สำหรับคลิปนี้ เราก็จบลงเท่านี้นะครับ ขอบคุณมากครับ