ครั้งที่ 5 : การลงพื้นที่ศึกษาภาคสนาม

การลงพื้นที่ศึกษาภาคสนาม ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2559

แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) ได้จัดการศึกษาภาคสนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในหลักสูตร “นักขับเคลื่อนสังคม : สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก”รุ่นที่ 2” ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ มีผู้เข้าร่วมที่เป็นแกนนำและภาคีเครือข่ายของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) รวมถึงแกนนำประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำนวน 21 คน

วัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้  1) ผู้เข้าร่วมมีความรู้ มีความเข้าใจการสร้าง การรวมพลัง และการทำงานที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มคนชายขอบ 2) ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจรูปแบบ ยุทธวิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสุขภาพที่เชื่อมโยงกันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากกรณีศึกษา เครือข่ายชุมชนทามมูล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ 3) ผู้เข้าร่วมได้นำเอากรอบคิด ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในหลักสูตรมาใช้วิเคราะห์กรณีศึกษาจริงในพื้นที่

กระบวนการเรียนรู้ เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา โดย แกนนำชุมชนและ วิทยากร (Keynote speaker) ที่มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมและสุขภาพในพื้นที่ การสนทนาแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยและการลงพื้นที่แล้วสรุปประเด็นการเรียนรู้ในหัวข้อยุทธวิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสุขภาพที่เชื่อมโยงกันในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การทำงานข้อมูลไทบ้านในเรื่อง อาหาร ทรัพยากร เศรษฐกิจ การจัดการที่ดินและสุขภาพ การสื่อสารกับสังคมให้มีความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น กระบวนการผลักดันปัญหาและข้อเรียกร้องไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ การทำงานจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายแบบองค์กรชาวบ้าน  เป็นต้น

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการทำงานรวมกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและสุขภาพจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา กว่า 2,000 ครอบครัว ,การบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ และการต่อรองประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้ทดลองนำเอากรอบคิดและเครื่องมือที่ได้จากการเรียนรู้ในหลักสูตรมาใช้ในการวิเคราะห์กรณีศึกษาต่างๆในพื้นที่ภาคสนาม เช่น กรอบคิดเรื่องภาวะการนำร่วม (Collective leadership)ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movement) การทำงานรณรงค์สื่อสารสังคม เป็นต้น