ล่องแพในกระแสเชี่ยว | สร้างสรรค์องค์กรทางสังคมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง

พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ เก็บความ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานเสวนา “มองบทเรียนการขับเคลื่อนองค์กรทางสังคมผ่านหนังสือล่องแพในกระแสเชี่ยว ขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 8 ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย (เชิงสะพานหัวช้าง) โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่
  • อวยพร เขื่อนแก้ว ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม หนึ่งในผู้แปลหนังสือเล่มนี้
  • ธีรวัฒน์ ตันติวิริมานนท์ ที่ปรึกษาการบริหารแผนงาน การจัดการโครงการและการพัฒนาองค์กร
  • จะเด็จ เชาว์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  • สามารถ สระกวี เครือข่ายเกษตรฯ จ.สงขลา
  • องอาจ พรหมมงคล เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้

และผู้เข้าร่วมจากองค์กรทางสังคมหลากหลายกลุ่ม ดำเนินรายการโดย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ จากสำนักพิมพ์ของเรา (protestista) ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

ชีวิน อริยะสุนทร ผู้จัดการแผนงาน นธส. กล่าวถึงที่มาของการจัดงานครั้งนี้ว่า “เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนทำงานองค์กรทางสังคมได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานโดยใช้หนังสือ ล่องแพในกระแสเชี่ยว ซึ่งเป็นประสบการณ์การทำงานองค์กรภาคสังคมในอเมริกามาพูดคุยกัน และมองไปข้างหน้าว่าเราจะมีทิศทางเดินไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับองค์กรทางสังคมอย่างไร”

กำหนดการ

ล่องแพในกระแสเชี่ยว เป็นหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้ของคนทำงานทางด้านสังคมในสหรัฐอเมริกา ทั้งกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนผิวดำ กลุ่มคนยากจน คนไร้บ้าน กรรมกร นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ คนทำงานหลากหลายกลุ่มเหล่านี้ได้มาสรุปบทเรียนร่วมกันทั้งงานเคลื่อนไหว งานจัดตั้ง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง รวมทั้งการจัดองค์กรแนวระนาบ จนก่อเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้

“ตอนไปเจอต้นฉบับนี้ตกใจมากว่ามีประสบการณ์แบบนี้อยู่แต่ไม่ถูกกระจายออกวงกว้าง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าถ้าเราอ่านมาก่อนองค์กรเราคงไม่ล่ม ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้เราคงไม่ผ่านประสบการณ์เจ็บปวดแบบนั้น คือเรายืนอยู่บนบ่าของคนเหล่านี้ได้ในประสบการณ์ที่เขาทำและกลั่นออกมา”
— กิตติชัย เกริ่นนำ

ลองมาฟังประสบการณ์ของคนทำงานองค์กรทางสังคมในไทยกันบ้างว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร รวมทั้งหลากหลายมุมมองที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้

วัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กรทางสังคม

“เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงข้างนอกกับข้างในมันไม่ได้แยกกัน เมื่อไรที่แยกกันแปลว่าเราไม่เข้าใจ  เมื่อไรที่เราเห็นข้างนอกกับข้างในแยกกัน เรายังไม่เข้าใจเรื่องการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
— อวยพร เขื่อนแก้ว

 อวยพร เขื่อนแก้ว เริ่มต้นวงเสวนาโดยกล่าวถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ว่า “จอร์จ เลกี้ เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเรา ปัจจุบันจอร์จอายุ 87 ปี อยู่ฟิลาเดลเฟีย และเป็นเควกเกอร์ (Quakers)  ที่ยอมรับเขาเป็นอาจารย์เพราะเขาไม่ได้พูดถึงความเป็นธรรมข้างนอกเท่านั้น แต่พูดถึงความเป็นธรรมข้างในด้วย จากที่เคยเข้าอบรมกับจอร์จ สิ่งที่ จอร์จ เลกี้ ทำคือ เชื่อว่าทุกคนไม่ใช่แก้วน้ำที่ว่างเปล่า อาจารย์เพียงแต่บอกว่าทุกคนมีน้ำในแก้วและน้ำไม่เหมือนกัน อาจารย์ช่วยย้ำว่าเราแต่ละคนมีน้ำในแก้ว อาจารย์เอาน้ำเหล่านั้นออกมา พอมารวมกันมันก็มากขึ้นและหลากหลาย ซึ่งนี่คือหัวใจของการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

จอร์จ เลกี้ เขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อแบ่งปัน “การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง” อย่างที่เขาเชื่อ และ ล่องแพในกระแสเชี่ยว ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“เล่มนี้แปลเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ตอนนั้นแปลแล้วแปลไม่หยุดเพราะสิ่งที่แปลคือสิ่งที่เรานั่งอยู่ที่นั่นและเราเจอกับมัน เราได้เห็นว่าองค์กรทางสังคมมีการใช้อำนาจนิยมสูงมาก โครงสร้างองค์กรปิรามิด และคนที่มีอำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ในโครงสร้างปิรามิดด้วยซ้ำ แต่อยู่ข้างนอกปิรามิด” อวยพรเล่าถึงเมื่อครั้งแปลเล่มนี้ในช่วงที่ทำงานองค์กรทางสังคมแห่งหนึ่ง

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนอ่านหนังสือเล่มนี้มันชัดมาก คือคนทำงานฉลาด มีความคิดที่ดี มีความตั้งใจเสียสละและคิดว่าพอ คิดว่าเราเข้าใจเรื่องความเป็นธรรม แต่ความเข้าใจของเรามันเกิดจากการเห็นคนอื่นถูกเอาเปรียบแล้วเราเข้าใจว่าเราจะไม่ใช้อำนาจจะไม่เอาเปรียบคน

“ตอนนั้นเป็นช่วงเบิกบานเพราะอาจารย์เควกเกอร์ และเราก็เริ่มภาวนากับสายท่านติชนัทฮันท์ หลวงพ่อชา และอาจารย์อีกหลายๆ ท่านเช่นอาจารย์ไพศาล (พระไพศาล วิสาโล) ก็เลยกลับเข้าไปข้างใน เริ่มค้นพบว่าเราทำงานด้วยความโกรธ โกรธกับความไม่เป็นธรรม แล้วเรารู้สึกว่ามันทำร้ายตัวเอง  บวกกับการทำงานเรื่องผู้หญิงในตอนนั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแม้กระทั่งองค์กรที่ตัวเองอยู่ ฉะนั้นมันมีหลายเรื่อง และเราเองเคยถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว เราไม่ได้รับการเยียวยา มันเกิดการเปิดเข้าไปข้างในตัวเองเพื่อจะเยียวยา ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าองค์กรไม่ได้ช่วยเยียวยาคน คนที่กระโจนเข้าไปทำงานหลายคนได้รับบาดเจ็บมาก่อน แล้วกระโจนเข้ามาทำงานเรื่องความเป็นธรรมโดยไม่ได้รับการเยียวยา สอง กระโจนเข้าไปทำงานเพราะเป็นคนดี เป็นคนชั้นกลาง เป็นคนชั้นสูง

“พอแปลหนังสือเล่มนี้ก็เลยตัดสินใจกลับบ้านเพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างองค์กรที่ใช้อำนาจร่วมได้ โดยที่คนทำงานจะต้องพัฒนาอำนาจภายใน เพราะถ้าไม่พัฒนาอำนาจภายในจะไม่มีทางเข้าใจเรื่องการใช้อำนาจร่วม  ตอนทำงานกับพระกับแม่ชีก็เจอเรื่องอำนาจนิยมที่มาพร้อมกับการเทศนาสั่งสอน ขณะเดียวกันเราก็เริ่มทำงานกับองค์กรรากหญ้าพม่าตั้งแต่ปี 1997 ผ่านมา 10 ปีพบว่าแทบทุกองค์กรรากหญ้าล้วนเจอปัญหาเดียวกันคืออำนาจนิยมในองค์กร เราทำเรื่องอำนาจร่วมปรากฏว่าคนที่ถูกส่งมาเรียนเรื่องนี้ก็คือเจ้าหน้าที่ใหม่กับอาสาสมัคร ไม่เคยมีผู้นำองค์กรมาอบรมเรื่องนี้  เราพบว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมมีทั้งในหมู่เอ็นจีโอไทย เอ็นจีโอพม่า และทั่วโลกด้วยซ้ำ”

อวยพรตั้งคำถามสำคัญว่า “ในเมื่อสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมปิรามิดแล้วถ้าเราสร้างองค์กรแบบปิรามิดแล้วจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร”

สังคมปิรามิดในความหมายของอวยพรคือสังคมชายเป็นใหญ่แบบอำนาจนิยม “คือสังคม homophobia อำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้หญิงไม่บ้าอำนาจ ผู้หญิงเองก็อาจมีแหล่งอำนาจอื่นเช่นฉันเป็นคนตั้งองค์กร ฉันจบดอกเตอร์ หรือฉันเป็นพี่ แล้วสามารถกดขี่ไม่ฟังเสียงผู้ชายก็ได้ ดังนั้นถ้าเราสร้างองค์กรแบบปิรามิดเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมปิรามิดได้อย่างไร ก็เหมือนนั่งสัมมนาถ้านั่งเป็นแถวๆ แล้วสี่คนมานั่งพูดข้างหน้ามันก็ผลิตซ้ำโครงสร้างปิรามิด แต่พอเรานั่งเป็นวงกลม energy มันเปลี่ยน เราได้ยินกัน เราเห็นกัน”

ในฐานะคนจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องนี้อวยพรกล่าวปิดท้ายไว้ว่า “ทุกวันนี้เรายังคงทำเรื่องอำนาจ อำนาจร่วม เพราะเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงข้างนอกกับข้างในมันไม่ได้แยกกัน เมื่อไรที่แยกกันแปลว่าเราไม่เข้าใจ เมื่อไรที่เราเห็นข้างนอกกับข้างในแยกกัน เรายังไม่เข้าใจเรื่องการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

วัฒนธรรมองค์กรแบบเควกเกอร์

“เควกเกอร์สนใจในสัมพันธภาพของมนุษย์ต่อมนุษย์ ความจริงใจ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การไม่สะสมทรัพย์ การลดการบริโภค  การจับตัวเป็นองค์กรของเควกเกอร์เป็นไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง  เพราะเควกเกอร์ตั้งปณิธานไว้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพโลก”
– ธีรวัฒน์ ตันติวิริมานนท์

จากที่อวยพรกล่าวถึงผู้เขียน จอร์จ เลกี้ ว่าเป็นเควกเกอร์นั้น ธีรวัฒน์ ตันติวิริมานนท์ ได้ขยายความให้เราเห็นภาพของ “เควกเกอร์” ผ่านหนังสือเล่มนี้ว่า

“เวลาผมอ่านหนังสือเล่มนี้ผมมองสมมติตัวเองว่า จอร์จ เลกี้ กำลังเขียนในวัฒนธรรมไหน ผมพบว่าเล่มนี้เขียนในวัฒนธรรมของเควกเกอร์ แต่เป็นวัฒนธรรมเควกเกอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักของวัฒนธรรมอเมริกัน กล่าวคือวัฒนธรรมอเมริกันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมอเมริกันจะเน้น performance (ฝีมือ) และ productivity (ผลผลิต) การจัดองค์กรก็จะมุ่งไปที่ตรงนี้มากและไม่เอาใจใส่สัมพันธภาพระหว่างบุคคลมากเท่าที่ควร ก็เลยเกิดคำว่า ‘ทุกคนอยู่สุดเอื้อม’ อันนี้เป็นสภาพหลักทั่วไป และอิงกับวิทยาศาสตร์ เอาสิ่งที่สังเกตการณ์มาเขียน ตรงนี้เรารับเขามาเยอะมาก แต่เควกเกอร์เป็นอีกอย่างหนึ่ง

“ผมเคยทำงานกับพวกเควกเกอร์ในลาว องค์กรในฟิลาเดลเฟีย American Friends Service Committee และผมก็ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของเขา เควกเกอร์สนใจในสัมพันธภาพของมนุษย์ต่อมนุษย์ ความจริงใจ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การไม่สะสมทรัพย์ การลดการบริโภค การจับตัวเป็นองค์กรของเควกเกอร์เป็นไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเควกเกอร์ตั้งปณิธานไว้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพโลกจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม บางคนเชื่อในรูปแบบของการต่อต้านสงครามก็เป็น pacifism (นักสันตินิยม) บางคนเชื่อเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือคนที่อยู่ชายขอบก็เป็นนักพัฒนา  แล้วคนพวกนี้จะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือเขาเอาตัวเข้าแลก เขาเอาเชือกมาแขวนคอเขา เขาเอาคอเขาขึ้นเขียงเพื่ออุดมการณ์ของเขา  ยกตัวอย่างเมื่อครั้งรัฐบาลบุชคนพ่อหรือเรแกนสมัยนั้นต้องการทำสงคราม พวกเควกเกอร์ก็จะไม่เสียภาษีแต่เขาจะเอาเงินภาษีเก็บเป็นกองทุนเพื่อทำสันติภาพ รัฐบาลจะจับเขาก็จับแต่เขาเสียภาษีนี่ มันก็เกิดภาวะกระอักกระอ่วนขึ้น ถ้าเขาถูกเกณฑ์ไปทำสงครามเขาก็ไม่ไป แต่ถ้าเขาจำเป็นต้องไปเขาก็จะไม่ถือปืน แต่ไปขับรถพยาบาล ไปเป็นทหารเสนารักษ์แทน หรือถ้าอเมริกาจะไปทิ้งระเบิดที่อิรัก เควกเกอร์ก็จะส่งคนไปที่อิรักไปเป็นโล่ห์มนุษย์

“ฉะนั้นการสร้างองค์กรของเขาเป็นไปเพื่อช่วยให้เขาทำการเปลี่ยนแปลงตรงนั้นได้สำเร็จ องค์กรของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อทำกำไรสูงสุด หรือเพื่อความมั่นคงหรือเป็นฐานอำนาจให้ตัวเอง เขาเพียงเป็นคนที่มีอุดมการณ์หรือตั้งปณิธานเพื่อ world peace หรือสันติภาพโลก  พวกเขามารวมกันแล้วหาทางปฏิสัมพัทธ์กันเพื่อให้แต่ละคนมีความสุขที่จะทำงานต่อไปได้ ก็เกิดประเพณีขนบปฏิบัติอันหนึ่งคือการตัดสินใจ เขาจะปฏิเสธฐานอำนาจโดยสิ้นเชิง คุยกันจนทุกคนตกผลึกผงกหัวยอมรับแล้วถึงทำ ถ้ามีคนหนึ่งที่ไม่ยอมรับก็จะต้องคุยกันต่อ บางทีเป็นวัน จนกระทั่งได้ฉันทามติ

“แนวคิดเรื่องเควกเกอร์มีส่วนคล้ายอย่างมากกับการนับถือศาสนาพุทธในชุมชนซึ่งมีพิธีกรรมที่น้อยมาก ผมคิดถึงประเพณีทอดกฐินผ้าป่าซึ่งไม่มีหัวหน้า แต่ละคนมีปณิธานร่วมกัน แล้วไม่ต้องสั่งการกัน ดูเหมือนว่าทุกคนจะทำสิ่งที่ขาดโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาว่าอะไรกัน ถ้าสมมติมีอะไรผิดพลาดก็หัวเราะกันด้วยความชื่นมื่น”

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้องค์กรเควกเกอร์พิเศษแตกต่างจากองค์กรกระแสหลักของอเมริกา และพิเศษต่างจากคัมภีร์พัฒนาองค์กรที่ออกมาเยอะแยะในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มองในเชิงผู้สังเกตการณ์ แต่ จอร์จ เลกี้ จะมองมิติของภายในด้วย เขาจะไม่พูดถึงโครงสร้างองค์กร job description การแบ่งอำนาจหน้าที่ การไหลของเอกสารซึ่งเรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่ก็รับมาจากทางการทหารและอุตสาหกรรม แต่เขาจะดูว่าเงื่อนไขอะไรที่จะได้ใจคน หลอมใจคน และทำให้คนทำงานมีความสุข นี่คือพูดถึงอำนาจร่วม อำนาจร่วมนี้ไม่เพียงแต่หาโครงสร้างกลไกอำนาจร่วมระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับผู้ปฏิบัติงาน แต่รวมถึงอำนาจร่วมของปัจเจก ตัวตนของเขาต่ออัตตาของเขาด้วย อย่างที่ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงการจำกัดความเครียดเวลาเกิดความขัดแย้งภายในตัวเรา แนวโน้มที่จะคาดคั้นตัวเองทำให้เราไม่เป็นสุข เป็นต้น

“ที่จริงวัฒนธรรมองค์กรเรารับมาจากต่างประเทศ แล้วเราก็รับเอาส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์มา ส่วนที่เป็นกระแสหลัก แล้วเราก็เข้าใจว่ากำไร ประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องฝีมือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากกว่าเรื่องของคนต่อคน เราคิดถึงระบบการติดตามงานและประเมินผลงาน (M&E / monitor & evaluation) ในลักษณะของการควบคุมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่เราต้องการโดยลืมความเป็นมนุษย์ไป แต่แท้จริง M&E ในงานเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นงานที่หนุนเสริมให้เกิดความสำเร็จ และไปหนุนเสริมคนต่อคน ช่วงอารมณ์จิตใจภายในของเขาเพื่อให้ได้ผล ส่วนความสำเร็จหรือล้มเหลวเรามาถอดบทเรียนกัน ตรงนั้นสำคัญกว่า คือเก็บบทเรียนจากการก้าวเดินทดลองทดสอบตามสมรภูมินั้นๆ แล้วก็ศึกษาเพื่อว่าอย่างน้อยเราก็จะได้มีข้อมูลสมรภูมิที่มันปรับเปลี่ยนแล้วก็ยุทธศาสตร์ที่มันได้ผลและไม่ได้ผล”

โครงสร้างปิรามิดในองค์กรเอ็นจีโอไทย

“ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่เป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็คือโครงสร้างของเอ็นจีโอซึ่งเป็นปิรามิดจะเปลี่ยนได้มั้ย เป็นเรื่องที่ท้าทาย…ทำอย่างไรให้เอ็นจีโอสร้างนวัตกรรมทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมคนยากคนจนได้อย่างแท้จริง”

–จะเด็จ เชาว์วิไล

เมื่อมองย้อนกลับมาที่องค์กรเอ็นจีโอไทย ดังที่อวยพรได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่าองค์กรที่ทำงานด้านสังคมล้วนมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม องค์กรเอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่ก็เช่นกัน และโครงสร้างองค์กรแบบปิรามิดที่ใช้กันอยู่ก็ได้กลายเป็นเสาหลักค้ำจุนวัฒนธรรมนั้นให้ดำรงอยู่สืบเนื่องมา

ในฐานะคนทำงานและคลุกคลีอยู่ในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนไทยมาหลายปี จะเด็จ เชาว์วิไล สะท้อนมุมมองประเด็นนี้ไว้ว่า

“ผมทำงานทั้งกับองค์กรที่ทำงานมานานและมาทำองค์กรใหม่ ก็มีคำถามว่าทำไมโครงสร้างองค์กรที่มีลักษณะแบบปิรามิดมันถึงเกิดปัญหา ผมพบว่าวงการเอ็นจีโอขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คน แล้วก็พูดกันวาทกรรมเดิมๆ ว่าผู้นำจะต้องยึดกุมสภาพไปเรื่อยๆ เพราะน้องๆ ประสบการณ์น้อย ยากมากที่จะเห็นทิศทางในอนาคต ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ผมไม่เห็นด้วย

“จากประสบการณ์ที่ผมเจอมา พอถึงขั้นหนึ่งองค์กรที่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ มันทำให้คนหลุดออกไปจากขบวน คือพอไม่มีกระบวนการตรวจสอบ มีลักษณะปิรามิดเขาก็มีโอกาสหลุดออกไปทั้งจากชื่อเสียงหรือตำแหน่ง เอ็นจีโอมักคิดว่าเราไม่ใช่นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาถูกตรวจสอบ เราเป็นคนที่ถูกอุปโลกน์ว่าตัวเองเสียสละทำงานเพื่อสังคม ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบเราจึงมีน้อยมาก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา

“ผมทำงานมา 31 ปี แรกๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเพราะตอนนั้นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีใครรู้จัก แต่พอหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 บทบาทเอ็นจีโอโดดเด่นมาก ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เอ็นจีโอหลายคนเริ่มคิดว่าการทำงานเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ สมัยผมทำงานไม่มีเอ็นจีโอคนไหนที่ฐานลอย ทุกคนทำงานกับกรรมกร ทำงานกับชาวไร่ชาวนา ทำงานกับคนสลัม ทำงานกับคนชายขอบ  มีทฤษฎีในการทำงานเยอะแยะเต็มไปหมด เช่นเศรษฐศาสตร์การเมือง สาธารณสุขมูลฐาน เกษตรผสมผสาน ฯลฯ ภาพรวมของเอ็นจีโอที่ผ่านมาเคยทำงานอยู่กับชาวบ้าน มีอุดมคติช่วยเหลือคนยากคนจน เพราะเราเชื่อว่าถ้าช่วยเหลือคนยากคนจนแล้วจะนำมาสู่ความเป็นธรรมทางสังคม ทำให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม แต่พอหลังพฤษภา 35 เอ็นจีโอส่วนหนึ่งคิดว่าโครงสร้างเท่านั้นที่จะนำมาสู่การทำให้เกิดความเป็นธรรม เลิกทำงานฐาน ซึ่งผมคิดว่ามันผิดในเชิงยุทธศาสตร์ และมันก็นำมาสู่การไม่มีกระบวนการตรวจสอบจากขบวนการประชาชน

“สำหรับผม งานฐานเป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่  ถ้าเรายึดโยงกับคนไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมเชื่อว่าคนทำงานอย่างพวกเราจะรู้สึกได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนดี ไม่ใช่นางฟ้าไปฉุดเขามาจากนรก แต่เราเป็นคนไม่ต่างจากเขา มันสร้างสำนึกตรงนี้ให้เกิดขึ้นได้จากการลงไปสัมผัสเชิงลึก เราต้องไปใช้ชีวิตกับเขาเรียนรู้กินอยู่กับเขา แต่ถ้าเราทำงานโดยขาดตรงนี้มันก็ทำให้เรามองจากตัวเองโดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบจากเขา ก็จะคิดแต่ว่าตัวเองทำดีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ผิดแต่ผมคิดว่าในทางจิตวิญญาณมันหายไป ผมห่วงว่าถ้าเอ็นจีโอขาดการทำงานแบบนี้ก็จะทำให้ไปคิดว่างานเชิงโครงสร้างเท่านั้นที่แก้ปัญหาซึ่งผมว่าไม่ใช่”

“เมื่อโครงสร้างองค์กรแบบปิรามิดที่มีปัญหาเพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบ พอมาบวกกับลักษณะความหวังดีความเป็นปัญญาชน เราก็เลยมีความเชื่อว่าเราคิดถูก ในหนังสือเล่มนี้ก็มีตัวอย่างชัดเจนที่ว่าองค์กรผู้หญิงบางส่วนที่เป็นปัญญาชนคนชั้นกลางใช้ประเด็นตัวเองไปครอบผู้หญิงยากจน ผู้หญิงยากจนเขาต้องการการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่พอปัญญาชนคนชั้นกลางเข้าไปทำงานก็พูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ซึ่งมันไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ซึ่งในเมืองไทยก็มี การเอาความหวังดีของเราไปครอบเขา นี่คือลักษณะของปัญญาชนคนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองติดดี

“พอผมทำงานมากๆ เข้าช่วงหลังก็เห็นชัดเลยว่าเอ็นจีโอไม่เคยเข้าใจประเด็นทางสังคมเลย เข้าใจแต่เรื่องตัวเอง ทำเรื่องนี้ก็มุ่งแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ผมทำงานประเด็นผู้หญิง แต่ประเด็นผู้หญิงประเด็นเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ ผมได้บทเรียนจากการทำงานมาเป็นสิบปีว่าชุมชนที่เราทำงานด้วยแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงอย่างเดียวไม่จบ เพราะมีปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเยาวชนและเด็ก มีปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ถ้าเราเชื่อมั่นว่าทำเรื่องเดียวแล้วจะแก้ได้ทั้งหมดผมว่าคิดผิดแล้ว

“ผมออกมาทำงานกับคนรุ่นใหม่ๆ เพราะผมเชื่อว่าต้องกล้าที่จะท้าทายเปลี่ยนโครงสร้าง การใช้อำนาจร่วมมันอาจจำเป็นแล้วสำหรับขบวนการในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนต้องการความคิดเห็นร่วม หมดยุควีรชนเอกชนแล้ว ถ้าจะอยู่ในสังคมที่สลับซับซ้อนคุณต้องฟังคนหลากหลาย ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่เป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็คือโครงสร้างของเอ็นจีโอซึ่งเป็นปิรามิดมันจะเปลี่ยนได้มั้ย เป็นเรื่องที่ท้าทาย  และหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะเป็นเครื่องมือให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีพื้นที่ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของภาคประชาสังคมเพราะมันตอบโจทย์หลายอย่าง”

จะเด็จกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “สุดท้ายผมไม่อยากให้เอ็นจีโอฐานลอย ทำอย่างไรให้เอ็นจีโอสร้างนวัตกรรมทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมคนยากคนจนได้อย่างแท้จริง”

การจัดรูปองค์กรเครือข่ายแบบปลาดาว

“การทำงานเครือข่ายในลักษณะที่มีอำนาจจากศูนย์กลางควบคุมสั่งการไปสู่พื้นที่ แล้วพื้นที่ก็ทำเหมือนกันหมด นี่คือแบบแมงมุม มีแมงมุมตรงกลางมันชักใยไปทั่ว ซึ่งผมคิดว่ามันถึงทางตันแล้ว แต่ถ้าเป็นแบบปลาดาว ปลาดาวมันไปโตแต่ละที่ อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งที่หักไปมันก็ไม่ตายมันไปโตต่อได้ เพราะบริบทพื้นที่ไม่เหมือนกัน
– องอาจ พรหมมงคล

องอาจ พรหมมงคล กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “มันเข้ามาสู่ช่วงที่ผมมีคำถามพอดีว่า ถ้าเราจะตั้งองค์กรแล้วไม่ได้วางโครงสร้างแบบปิรามิดจะทำยังไง”

เขาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดรูปองค์กรใหม่ “ผมมีฐานเชื่อเรื่องการทำงานแบบแนวราบ ผมโชคดีที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานเครือข่ายงดเหล้าในช่วงปี 2555-56 ซึ่งอยู่ในช่วงภาวะการเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายงดเหล้าพอดี เครือข่ายงดเหล้าทำงานมา 12 ปี ปี 56 เป็นช่วงที่ครบสิบปีมันเกิดการเปลี่ยนแปลง คำที่ผมได้ยินตอนเข้ามาทำงานเครือข่ายงดเหล้าคือจะเปลี่ยนจากแมงมุมไปเป็นปลาดาว ผมก็เริ่มสงสัยแมงมุมคืออะไร ปลาดาวคืออะไร

“ความเป็นเครือข่ายงดเหล้ามันซับซ้อน เปรียบเหมือนแมงมุมตรงกลางมันชักใยไปทั่ว มันมีวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์ทั้งเรื่องขับเคลื่อนนโยบายที่มาจากตรงกลาง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่สนุกสำหรับคนทำงานในพื้นที่ แต่ถ้าเป็นปลาดาวล่ะ ปลาดาวมันไปโตแต่ละที่ อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งที่หักไปมันก็ไม่ตายมันไปโตต่อได้ เพราะบริบทพื้นที่ไม่เหมือนกัน ภาคใต้กับอีสานก็ต่างกัน ผมว่าอย่างนี้น่าสนุก

“ตอนปี 56 ผมก็เริ่มไปก่อตั้งองค์กรทางภาคใต้ ก็หาทีมหาน้องมาช่วยแล้วก็พบว่าไม่ง่ายเลยที่จะสร้างองค์กร แต่สุดท้ายก็ฝ่ามาได้ ผมไม่เชื่อในการทำงานแนวดิ่ง ผมมีทีมงาน 8 คน รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนตั้งแต่ชุมพรลงไป ผมก็แบ่งทีมแบ่งสายงานลงไป แต่ละจังหวัดก็จะมีโครงสร้างขององค์กรงดเหล้าต่างกันไป แต่ละจังหวัดก็มีเครือข่ายชุมชนอยู่ด้วย ฉะนั้นในการเคลื่อนเรื่องงานเหล้าต้องเคลื่อนเป็นขบวนใหญ่ สมมติถ้าผมสั่งว่าเจ็ดจังหวัดต้องเคลื่อนเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้เรื่องพักตับ ถ้าจังหวัดชุมพรบอกว่าคนชุมพรไม่เก๊ตเรื่องพักตับ แต่เขาจะทำปฏิญาณตนบนผืนผ้ารอบพระธาตุสวี อย่างนี้เป็นต้น คือมันต้องขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ ดังนั้นผมจึงเอามติของแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วถึงจะเคลื่อนร่วมกัน

“การทำงานแบบเครือข่าย การมีอำนาจจากศูนย์กลางในการถ่ายลงไปสู่ความเป็นเครือข่ายของพื้นที่ การควบคุมสั่งการอยู่ที่ส่วนกลาง แล้วก็ทำเหมือนกันหมด สิบปีที่ผ่านมาของเครือข่ายงดเหล้าเป็นแบบแมงมุม ในมุมมองผมคิดว่าไปต่ออย่างนั้นไม่ได้เพราะมันตันแล้ว แต่ถ้าเป็นปลาดาว ความเป็นบริบทของแต่ละพื้นที่ปัญหามันไม่เหมือนกัน”

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ขยายความเรื่ององค์กรแบบแมงมุมและปลาดาวไว้ว่า “มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อองค์กรปลาดาว เป็นหนังสือการบริหารองค์กรของฝั่งธุรกิจ ตอนนี้ธุรกิจปรับตัวกลายเป็นปลาดาวแล้ว การบริหารองค์กรแบบแมงมุมคือมีแมงมุมหนึ่งตัวไปชักใยไปขยายเครือข่าย ถ้าจัดการแมงมุมตัวนั้นใยที่มีอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย นั่นคือเป็นองค์กรแบบเดิมที่การสั่งการสูงสุดอยู่ที่ข้างบนคนคนเดียว แต่ถ้าเป็นปลาดาว มันมีปลาดาวชนิดหนึ่งที่ถ้าขาหนึ่งถูกตัด อีกขาหนึ่งจะไปงอกเป็นตัวใหม่ ส่วนตัวเดิมก็งอกขาขึ้นมาเต็มเหมือนเดิมได้ด้วย นั่นคือยิ่งตัดยิ่งโต ยิ่งตัดยิ่งขยาย องค์กรธุรกิจเริ่มใช้การบริหารแบบนี้ พอกลายเป็นปลาดาว แต่ละสาขาสามารถจัดการตัวเองภายใต้ภารกิจเดียวกัน ไม่ใช่รับคำสั่งเพราะกลัวหัวหน้าหรืออยากได้ค่าตอบแทนจากหัวหน้า แต่ล่มหัวจมท้ายกับภารกิจ เขาอยู่กับภารกิจนี้ร่วมกัน”

องอาจเสริมสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้อีกว่า “อีกประเด็นหนังสือเล่มนี้พยายามบอกเรื่องอำนาจ อำนาจที่ว่ามันไม่ใช่แค่ในองค์กรอย่างเดียว ในองค์กรมันเหมือนเรื่องเล็กๆ แต่ว่ามันซับซ้อน สามปีที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบนพยายามทำงานแบบทุกคนมีส่วนร่วม แต่สุดท้ายต้องมีคนตัดสินใจ แต่กว่าจะตัดสินใจจะต้องมาคุยในวงก่อน ประชุมกันทุกเดือน ตกในวงประชุมให้เป็นมติร่วม”

องอาจยังเล่าถึงการนำสิ่งที่ได้จากการอ่านไปใช้ในการทำงานองค์กร “ผมชอบอีกบทในหนังสือเล่มนี้ บทที่ว่าด้วยแอนที่ออกจากงานเพราะเขาไม่มีบทบาทอะไรในองค์กร แต่พอแอนออกแล้วองค์กรนั้นสั่นสะเทือนเพราะแอนเป็นตัวเชื่อมประสานในองค์กร มันทำให้ผมนึกถึงน้องคนหนึ่งในองค์กร น้องเขาไม่ได้เก่งด้านไหนเป็นพิเศษแต่เขาชอบไปคุยกับคนนั้นคนนี้ บทบาทเขาคือเชื่อมประสานในองค์กร พออ่านเจอเรื่องนี้ผมกลับไปคุยกับน้อง สร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจร่วม ปรากฏว่าตอนนี้บทบาทของน้องคนนี้เริ่มนิ่งขึ้นเพราะเขาเริ่มเข้าใจในบทบาทตัวเอง เขารู้ว่าเขามีค่าในองค์กร เขามีหน้างานของเขา เขามีงานที่ต้องรับผิดชอบ เขาก็เริ่มสนุก เขาก็มีคุณค่า องค์กรก็เริ่มเปลี่ยน”

อำนาจร่วมคือคำตอบของขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ประเด็นอำนาจร่วมเป็นทั้งโจทย์ใหญ่และคำตอบให้กับขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในรูปแบบใหม่ ต้องสร้างอำนาจร่วมให้เกิดขึ้น เป็นจริง และประยุกต์ใช้ได้ ผมว่าความล้มเหลวของสังคมนิยมก็มาจากรากปัญหานี้”

– สามารถ สระกวี

สามารถ สระกวี กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “รู้สึกเสียดายที่หนังสือเล่มนี้แปลมา 20 ปีแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้อ่านตั้งแต่ช่วงที่ตัวเองยังหนุ่ม ผมมองย้อนกลับไป 30-40 ปีที่แล้วเราถูกกล่อมเกลาให้เข้าสู่เส้นทางนี้ด้วยกระบวนการของหนังสือที่วิเคราะห์วิพากษ์เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความไม่เป็นธรรม เรื่องการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ  คนรุ่นผมก็คงคล้ายๆ กันที่ว่าเรารู้สึกประทับใจกับหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างน้อยสองเล่มคือ โฉมหน้าศักดินาไทย กับ ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ซึ่งกระตุ้นปลุกเร้าหนุ่มสาวที่เริ่มซึมซับเรื่องความไม่เป็นธรรมให้ตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ผมจินตนาการว่าถ้าล่องแพในกระแสเชี่ยว มาเชื่อมต่อช่วงวัยที่ผมอินกับสองเล่มนั้นก็จะน่าประทับใจมาก

ล่องแพ เป็นประสบการณ์ตรงของคนทำงาน แล้วเราก็เป็นคนทำงาน พออ่านไปมันก็ซึมซับระหว่างเรื่องราวในหนังสือกับเรื่องราวของเราด้วย สิ่งที่เราเป็นเราอยู่ในขบวนเคลื่อนไหวในไทย กลายเป็นว่าความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่แบ่งเพศแบ่งวัย ผมประทับใจมากอ่านหนังสือเล่มนี้ มีทั้งอารมณ์เจ็บปวดรู้สึกผิด บางช่วงก็รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ หลายสิ่งเราพึ่งรู้พึ่งเข้าใจ โดยเฉพาะช่วงที่กระแสน้ำเชี่ยวแล้วเราต้องอยู่ในบทบาทที่ต้องก้าวผ่าน อ่านแล้วได้หลากหลายอารมณ์มาก เป็นความรู้ใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ตรงของอีกที่หนึ่งแต่ก็ไม่ต่างกันเท่าไรกับสภาพของเรา

“อ่านเล่มนี้แล้วผมนึกถึงขบวนการของ กป.อพช. ในเมืองไทย ผมนึกไปถึงสมัชชาคนจน ฯลฯ ผมคิดว่ายุคสมัยที่อาศัยเงื่อนเวลาที่มันเปลี่ยนผ่าน กระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่จะเป็นคำตอบว่า ล่องแพในกระแสเชี่ยว จะปรับใช้ประยุกต์กับขบวนในสังคมไทยเป็นผลสำเร็จมากแค่ไหน

“ประเด็นที่น่าจะเป็นประเด็นแกนกลางที่สุดก็คือเรื่องอำนาจร่วม ประเด็นอำนาจร่วมเป็นทั้งโจทย์ใหญ่และคำตอบให้กับขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในรูปแบบใหม่ แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นประสบการณ์ของอเมริกาแต่มันมีหลักการร่วมกันอยู่และมีความเหมือนกันอยู่บางอย่าง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของกลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมก็คือต้องสร้างอำนาจร่วมให้เกิดขึ้นได้และเป็นจริงและประยุกต์ใช้ได้ทั้งโลก ผมว่าความล้มเหลวของสังคมนิยมก็มาจากรากปัญหานี้

“เห็นชัดว่าผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าเรื่องทางสังคมกับเรื่องของตัวเองมันเป็นเนื้อเดียวกัน มันไม่ได้แยกจากกัน ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าจริงๆ แล้วเราก็มีพฤติกรรมอำนาจนิยม มีหลายช่วงตอนของชีวิตทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว บางสถานการณ์เราก็รู้ตัว บางสถานการณ์เราก็ไม่รู้ตัวไม่เท่าทัน

“ผมมองว่าล่องแพเป็นหนังสือที่ให้กำลังใจตัวเราเอง ราวกับหนังสือรู้ว่าเรามีข้อผิดพลาดเยอะแยะไปหมด ผมชอบบทส่งท้ายของหนังสือตรงที่ว่า เรื่องราวทั้งหมดนั้นถูกขับเคลื่อนไปด้วยพลังแห่งความรัก ถ้าเราจะรักตัวเองรักสังคมนี่เป็นฐาน สิ่งที่เราเคยชินกับบริบทในสังคมที่เราถูกขัดเกลาถูกกล่อมเกลามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอำนาจนิยมทัศนคติ สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในตัวของเรา บางเรื่องเรารู้ตัวเราอยากจะออกไปจากจุดนั้นแต่มันไม่ใช่แค่เราเป็นผู้ที่จะมีสิทธิหรือมีอำนาจในการที่จะสร้างสิทธิเสรีภาพให้แก่ตัวเราเองได้เพราะเราเป็นจุดหนึ่งที่อยู่ในบริบทที่มันเป็นอยู่”

การทำงานข้ามประเด็น

ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอไทยในปัจจุบัน “ที่ว่างานเอ็นจีโอมันลอยอยู่ มันไม่ลงไปที่ฐานราก เรามองว่าความเป็นชุมชนมันเปลี่ยนแปลงไปในระดับใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้ถูกยึดโยงในเชิงพื้นที่อีกต่อไป มันยึดโยงกับความเป็นอัตลักษณ์ มันมีความพยายามที่จะทำงานเพื่อให้คนเกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างไป อย่างในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ได้มีองค์กรตายตัว ไม่มีใครเป็นเจ้าของงาน แต่ทุกคนจะต้องมานั่งคุยกันว่าอยากจะทำอะไร สังคมทุกวันนี้คนมีความเป็นปัจเจกสูงแล้วมารวมกันด้วยประเด็น ซึ่งเป็นคนละนิยามในเรื่องชุมชน มันเคลื่อนด้วยอัตลักษณ์มากกว่า”

อวยพร เขื่อนแก้ว ในฐานะคนหนึ่งที่ทำเรื่อง LGBT เมืองไทย ได้แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในเมืองไทยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องประชาธิปไตยสมัยยุคตุลา จากนั้นขยับไปเรื่องคนจน ปัญหาโครงสร้างคนจน แล้วก็มาเรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อมกับคนจน คนสลัม พอตอนหลังกลุ่มที่ทำเรื่องอัตลักษณ์ เรื่องผู้หญิง หรือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศก็ไม่เคยเข้าไปในมุมมองหรือแว่นการทำงานของเอ็นจีโอกลุ่มเดิมที่ทำเรื่องป่าไม้หรือทำเรื่องความยากจนเลย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเป็นข้อจำกัดของกลุ่มที่ทำเรื่องเพศวิถี LGBT ก็คือว่าคุณมักจะออกมาทำงานเมื่อมีปัญหา คุณทำเพื่อ react ต่อปัญหา จากนั้นก็สลายตัว ฉะนั้นความยั่งยืนไม่มี วิสัยทัศน์ใหญ่อาจจะไม่มี แล้วสังเกตดูจะพบว่าคนที่มา react ได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนชั้นกลางหรือคนที่อยู่กรุงเทพฯ ฉะนั้นในแง่หนึ่งแม้กระทั่งจะทำงานเรื่องอัตลักษณ์นี้ก็ต้องใช้ฐานรากหญ้าอยู่ดี

“ในหนังเรื่อง Milk (2008) จะเห็นได้ว่ามิลค์ (Harvey Milk) ออร์กาไนซ์รากหญ้า มิลค์ไม่ได้ทำงานเฉพาะกลุ่มเกย์เท่านั้นแต่เขาทำงานกับคนเอเชีย คนผิวดำ มิลค์เป็นเพื่อนกับสหภาพแรงงาน มิลค์เข้าไปทำงานกับคนชายขอบ เพราะมิลค์วิเคราะห์ปัญหาว่าอำนาจนิยมมันทำลายคนทุกกลุ่มยกเว้นคนผิวขาวรักต่างเพศคนชั้นกลางขึ้นไปและคริสเตียน มิลค์มีแว่นที่ชัดมากว่าคนชายขอบจะต้องมาผนึกกำลัง มิลค์ถึงทำงานสร้างขบวนการเคลื่อนไหวได้เพราะเขาสร้างแนวร่วม เขาหาเพื่อน ฉะนั้นตราบใดที่ LGBT ไม่ทำงาน cross issue ไม่มีทางเกิดขบวนการเคลื่อนไหว  Callen-Lorde เป็นผู้หญิงผิวดำและเป็นหญิงรักหญิง เธอบอกว่าชีวิตคนไม่ได้มีประเด็นเดียว แล้วทำไมเราทำงานประเด็นเดียว?” อวยพรตั้งคำถาม

ในประเด็นนี้ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งมองว่า “ผมรู้สึกว่ามันหมดยุคที่คุณจะมานั่งกอดแต่ประเด็นตัวเองแล้วโดยสิ้นเชิง ผมเห็นปรากฏการณ์แบบนี้หลายๆ ที่และรู้สึกว่ามันน่าจะหมดยุคไปแล้ว บางทีเราอยากพัฒนาเชิงนโยบายบางเรื่อง แล้วเราก็มักมีคำว่ามันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสแล้วละ พอรัฐประหารมาเราจะได้กฎหมายเหล้า เราจะได้กฎหมายบุหรี่ พอคิดแบบนี้จิตใจเราก็ฝักใฝ่ว่าเมื่อไรรัฐประหารจะมา แล้วพอมาปั๊บเราก็ออกไปเชียร์กันสุดลิ่มทิ่มประตูว่าเราอยากได้กฎหมายมาคุมบุหรี่มาคุมเหล้าซึ่งมันเล็กนิดเดียวมาก แต่เรายอมพังโครงสร้างพังบ้านเพื่อให้ได้กฎหมายมาแค่นี้ ผมว่าวิธีคิดแบบนี้ต้องทบทวน”

จะเด็จ เชาว์วิไล แลกเปลี่ยนประเด็นนี้จากประสบการณ์ของตนเอง “ผมโตมาจากประเด็นทางสังคมจากขบวนการนักศึกษา ซึ่งขบวนการนักศึกษาเวลามองปัญหามันมองประเด็นเดียวไม่ได้ เพราะปัญหาประชาธิปไตยความไม่เป็นธรรมมันโยงกันทั้งหมด พอผมทำงานไประยะหนึ่งก็ได้คำตอบจากการทำงานกับชาวบ้าน อย่างประเด็นผู้หญิง ความรุนแรง แอลกอฮอล์ที่เราทำ ปัญหาไม่ได้มีแค่นี้มันมีเรื่องความยากจน แล้วความยากจนจะแก้ยังไงก็ต้องมีอาชีพ ทำเกษตรอินทรีย์ อย่างชุมชนอำนาจเจริญที่ผมทำงานอยู่ด้วย เขาทำทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมี ทำเอ็มโอยูกับตำบล จนตอนนี้จะทำพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว และผู้หญิงก็ทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ เพราะถ้าผู้หญิงมีอำนาจในการคุมเมล็ดพันธุ์ก็จะมีอำนาจต่อรองในชุมชนได้มากขึ้น ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าเราสามารถเอาประเด็นผู้หญิงมาเชื่อมร้อยกับประเด็นอื่นได้”

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งในแวดวงการศึกษาสะท้อนว่า “ตอนนี้เริ่มมีโรงเรียนชุมชนและโรงเรียนที่เป็นตัวอย่างการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่พยายามทำลายกรอบของชั่วโมงเรียนแต่ละวิชา เพื่อจะวางอยู่บนฐานชุมชนจริงๆ เช่นเรียนเรื่องน้ำก็เอาไปเชื่อมกับเรื่องอื่นๆ ว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง มันกลัวกลับหาง ซึ่งพวกเราซึ่งอยู่ในระบบการศึกษาเดิมถูกคิดมาเป็นแท่งๆ เราก็พยายามที่จะพลิกตรงนี้”

ผู้ร่วมเสวนาจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้าอีสานล่างร่วมแลกเปลี่ยนว่า “ถ้าพูดถึงคนทำงานปลอดเหล้ายุคแรกๆ เมื่อสิบปีที่แล้ว เราถกหรือรบกับกระแสสังคมหรือค่านิยมที่บอกว่ามาอีกแล้วพวกปลอดเหล้า พอมีคำว่าพวกก็ดูเหมือนเป็นคนละขั้ว เมื่อสิบปีที่แล้วเราทำหน้าที่อธิบายทั้งเข้าไปทำงานในพื้นที่รูปธรรมหรือศูนย์เรียนรู้ ย้อนหลังไป 3-5 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ตัวองค์กรเองจากที่เป็นแมงมุมเราเริ่มเห็นปลาดาวกำลังเจริญเติบโตและเห็นหลายๆ แฉกที่เริ่มก้าวข้ามอะไรบางอย่าง สำหรับอีสานล่างเองเราใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง คำว่าพื้นที่มันคือวิถี คือวัฒนธรรมความเป็นอยู่ มันคือทุกเรื่อง เช่นทำเรื่องเหล้าแต่เกษตรกรยังใช้สารเคมีมันก็ไปไม่รอดเพราะค่าใช้จ่ายเรื่องสารเคมีก็ยังอยู่ ดังนั้นยุคหลังสองสามปีหลังเราก็พยายามจะเชื่อมข้ามประเด็น เริ่มเห็นการเคลื่อนตัว พยายามบูรณาการเอาเรื่องวิถีวัฒนธรรมมาพูดคุยกันมากขึ้น”

น่าสนใจว่ากระบวนการทำงานข้ามประเด็นจะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างน้อยการเปลี่ยนวัฒนธรรมมาเป็นแบบอำนาจร่วมมากขึ้น เราจะได้ยินคนอื่น ฟังคนอื่น เคารพคนอื่น ประเด็นที่รายล้อมตัวเราอยู่ตลอดเวลาก็จะเริ่มปรากฏตัว

ความหลากหลายในขบวนการเคลื่อนไหว

จากที่ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนมานอกจากทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคขององค์กรที่ทำงานด้านสังคมในไทยแล้วยังเห็นถึง “ความหวัง” ที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งระดับเล็กและระดับเครือข่ายที่หลายกลุ่มพยายามผลักดันอยู่ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรและขบวนการเคลื่อนไหวในไทยก็คือ “หลากหลายตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กร” ดังที่ในหนังสือ ล่องแพ ได้กล่าวไว้ ซึ่งอวยพรได้ยกตัวอย่างประเด็นนี้ให้ฟังว่า

“ตอนนี้ จอร์จ เลกี้ พึ่งตั้งองค์กรใหม่มาได้ 4 ปี เพราะฟิลาเดลเฟียอนุญาตให้มีการสัมปทานเหมือง เขาจึงต้องตั้งองค์กรมาจัดการกับธนาคารที่ให้เงินทุนบริษัททำเหมือง เราได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการองค์กรของเขา ก็พบว่าในคณะกรรมการนั้นมีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนผิวดำ และ จอร์จ เลกี้ ก็เป็นตัวแทนคนแก่ จะเห็นว่าเขามีความหลากหลายตั้งแต่แรกตั้งคณะกรรมการ และคนเหล่านี้คือตัวแทนของความไม่เป็นธรรมในชุมชนนั้น

“อีกตัวอย่างคือ ถ้าจะดูขบวนการเคลื่อนไหวสังคมล่าสุดที่เราคิดว่าหลากหลายที่สุดตอนนี้ก็คือ Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำมีค่า) ซึ่งเกิดจากเด็กผู้หญิงผิวดำสองคนบอกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้วก็ลุกมาทำ พอเด็กผู้หญิงขึ้นมาก็มีคนข้ามเพศผิวดำขึ้นมานำ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นการรังเกียจคนข้ามเพศก็มีอยู่ในหมู่คนผิวดำ ปรากฏว่า Black Lives Matter ตอนนี้การนำเขาหลากหลายมาก และไม่ใช่นำแบบเดิม ประเด็นการต่อสู้เรื่องสีผิวยังเหมือนเดิมแต่การนำเปลี่ยนไป มันเปลี่ยนไปเพราะคนรุ่นใหม่”

อวยพรมองว่า “ถ้าไม่ให้พื้นที่ความหลากหลายในกลุ่มองค์กรมันจะไปทำงานในโครงสร้างไม่ได้ คือการก่อตัวมันต้องก่อตัวแบบนั้น เด็กเยาวชนอายุ 22 เขาต่อสู้เรื่องให้เยาวชนมีพื้นที่ เขาไม่ใช่แค่ตัวแทนแต่เขาเป็นคนที่ถูกกระทำมาก่อน หมายความว่าเขาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มซึ่งเป็นชายขอบ ฉะนั้นพอเขาเริ่ม organize เริ่มจะรณรงค์ เด็กคนนี้มีเพื่อนก็เอาเพื่อนมา กลุ่มเกย์ก็เอาเพื่อนมา พอทุกคนที่มีสมาชิกอยู่แล้วมารวมกันมันก็หลากหลาย”

ในวงเสวนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายกลุ่มองค์กรได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานองค์กรทางสังคม รวมทั้งเสนอแนะเครื่องมือและวิธีคิดเชิงรูปธรรมในการสร้างสรรค์องค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมขึ้นมาใหม่ อาทิเช่น การนิยามงานตัวเองใหม่ การพยายามที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมแบบปิรามิดมาสู่อำนาจร่วม การให้เจ้าของปัญหาพูดเองให้ได้ การที่มี facilitator คอยดึงให้ข้อมูลปรากฏตัวออกมา วัฒนธรรมล่มหัวจมท้ายที่ไม่ใช่ในนามของผู้ช่วยเหลือ ตลอดจนสมดุลของชีวิตกับการทำงาน เป็นต้น เราก็ได้แต่หวังว่าบทสนทนาของคนทำงานองค์กรทางสังคมเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันประการหนึ่งของการสร้างสรรค์องค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง

ภาพบรรยากาศวงเสวนา