การเมืองกับฉัน

เกศสุดา สวนแก้ว
นักขับเคลื่อนสังคม รุ่นที่ 2

ฉันเคยคิดว่านักการเมืองคือคนที่เชื่อถือไม่ได้ตลบแตลงและไม่น่าข้องแวะ….แต่ก็นะประสบการณ์เรื่องการเมืองของฉันมันเริ่มต้นมาจากการอ่านนิยายเรื่องกะไหล่ทอง….กลเล่ห์เพทุบายของนักการเมืองที่ถูกใส่เข้ามาเป็นตัวตั้ง mind set ของฉันเรื่องการเมือง ฉันเริ่มรู้จักนักการเมืองคนแรกคือ ส.ส.ในจังหวัดของฉันที่ถูกคุณครูสั่งให้ท่องชื่อเหมือนกับชื่อนายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ฉันเลือกตั้งครั้งแรกในจังหวัดที่ไปเรียนหนังสือ เลือกเลือกไปเพื่อให้ใช้ได้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ยังไม่เห็นว่ามีความสำคัญกับชีวิตของฉันตรงไหนนอกจากการเข้าไปรับฝีปากในสภาผู้แทนราษฎร (ยังจำได้ว่าฉันเสนอให้โรงเรียนพาไปรัฐสภาและเขาดินตาม มานะ มานี ปิติ ชูใจ….ตอนนั้นประธานรัฐสภาชื่อนายอุกฤกษ์ มงคลนาวิน…จำได้ทำได้ทำไมนี่) และตกเป็นขี้ปากของนักข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และจำได้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ฉันย้ายทะเบียนบ้านกลับบ้านแล้ว ในยุคนั้นมีการขายเสียงกันอย่างโจ๋งครึ่ม ลูกพี่ลูกน้องของฉันคนหนึ่งรับเงินซื้อเสียงมาแล้วบอกว่าจะเอาเงินไปซื้อรองเท้าและเวลาใส่รองเท้าจะได้จำว่าหน้าเขาหนาเหมือนรองเท้ากล้ามาซื้อเสียงกู….

ฉันเริ่มเห็นอิทธิพลของการเมืองชัดเจนขณะที่ฉันเรียนปริญญาโทที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ ช่วงนั้นเป็นการรณรงค์ผูกโบว์สีเขียวเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 40 ช่วงนั้นมีการกดดันสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนในวงกว้าง…ฉันจำได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลถูกชูขึ้นมา ฉันเริ่มรู้สึกคำว่าสิทธิของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับวิชาแกนของนักศึกษาคณะสาธารณสุขที่ต้องเรียนวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่อาจารย์ให้พกเราไปอ่านหนังสือเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อให้พวกเรานำแนวคิดมาวิพากษ์ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย (ในยุคนั้นไม่มี E-book หนังสือมีจำกัดฉันถ่ายเอกสารหนังสืออ่าน) ฉันผูกโบว์สีเขียวไว้กับกระเป๋าที่ถือไปเรียนหนังสือทุกวัน….ตอนที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาลสมัยแรกฉันไม่ได้เลือกพรรคนี้เข้ามาและฉันหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายที่แปลกและแตกต่างและราวกับเราเสียเอกราชให้กับนักธุรกิจที่เคยคิดแคมเปญ…ลูกใครหว่า…(หลายคนอาจเกิดไม่ทัน)…การทำงานในกระทรวงสาธารณสุขในช่วงนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่านที่้คนทำงานหกคะมำคว่ำคะเมน ก่นด่าการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เห็นหัวและภาระของคนทำงาน…จำนวนผู้คนที่เข้าถึงบริการอย่างมหาศาล พวกเราหนักใจและเหนื่อยกาย รวมถึงต้องปรับตัวอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังตีน กว่าฉันจะเข้าใจหลักการของหลักประกันสุขภาพเวลาก็ล่วงผ่านไปหลายปี (คารวะคุณหมอสงวน นิตยารัมพงษ์ ผู้คิดและทำจนมี 30 บาทรักรักษาทุกโรคในวันนี้…..)

ฉันได้อ่านสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศ….พลังของการเคลื่อนไหว……ในวันนั้นฉันเริ่มเห็นพลังของการเมืองทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผนซึ่งเป็นชุดวิชาเรียนในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ฉันลงเรียนไว้….อ่านอย่างไรตอนนั้นไปทำข้อสอบก็ยังไม่เข้าใจและความลุ่มลึกของวิชานี้จนกระทั่งฉันย้อนกลับไปมองการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของประเทศไทยผ่านหลักประกันสุขภาพในวันนี้……

อีกหลายปีต่อมาฉันเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลึกซึ้งกว่าเดิม เมื่อฉันผ่านการเรียนรู้ในกระบวนการขับเคลื่อนสังคมซึ่งออกแบบให้ฉันได้เรียนรู้เรื่องการกดทับเชิงโครงสร้างผ่านเกมที่บ้านดินของพี่อวยพร…..ฉันเห็นเลยว่าคนชายขอบ คนที่ไม่มีโอกาส คนตัวเล็กตัวน้อยเขาไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรส่วนกลางได้เหมือนกับคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นการไปโรงพยาบาลเราอาจจะเลือกไปโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้เพราะมีประกัน แต่ชาวบ้านเดินทางไปสถานีอนามัยบางทียังลำบากเลย แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือบางกลุ่มไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ์เพราะว่าเขาไม่เคยขาดแคลนเรื่องพวกนี้ เขาไม่เคยเห็นภาพ เขาจึงไม่รู้ว่าคนส่วนหนึ่งไม่มีสิทธิเรื่องพวกนี้ต้องอยู่ตามยถากรรม แน่นอนคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน….ยากดีมีจนเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน….แต่สิทธิพื้นฐานของความเป็นคนไทยต้องเท่ากัน….เช่นสิทธิในการเป็นพลเมืองและใช้ชีวิตในแผ่นดินไทยไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร….ดังนั้นฉันจึงรู้สึกยอกแสยงใจเวลาที่มีใครไล่คนอื่นออกไปจากแผ่นดิน

ช่วงหนึ่งที่ฉันสนใจข่าวสารการบ้านการเมือง ติดตามรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ รายการดีเบตต่าง ๆ ทางช่องเก้า มีเรื่องมาถกเถียงกับพ่อบ่อยๆ จนกระทั้งพีคที่สุดเป็นช่วงการเมืองบนท้องถนนเสื้อเหลืองเสื้อแดงเป็นวิกฤตทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงจิตวิญญาณเลยทีเดียว เป็นช่วงที่ใจระทมทุกข์ ไหว้พระก็ขอให้คนไทยรักกัน แต่ก็เป็นช่วงที่ฉันได้เติบโตและบ่มเพาะความเข้าใจเรื่องการเมืองและนโยบายสาธารณะมากขึ้น ฉันถูกถีบจากบางคนให้สวมสีเสื้อเพราะความคิดเห็นบางอย่างสอดพ้องกับสีนั้น แต่เขาไม่รู้หรอกว่าการตีตราในแบบนั้นทำให้ฉันกลายเป็นอื่น ความวุ่นวายอลหม่านในสังคมแทรกแซงเข้าไปในครอบครัว ในโรงพยาบาล และซอกซอนเข้าไปถึงความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อน ฉันเชื่อว่าหลายคนถูก unfriend บน facebook ความแตกแยกร้าวฉานกระจายเป็นวงกว้าง ฉันสลดใจมากและรู้สึกแย่มากที่สุดคือวันที่แพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งติดป้ายประกาศหน้าห้องตรวจ ปฏิเสธการรักษาตำรวจ ฉันตั้งคำถามว่า “คนทำงานในโรงพยาบาลอย่างเรา เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” แม้ว่าเราจะไม่พอใจ แต่สิ่งที่ควรคือเก็บไว้ในใจ กลับมาทำงานมีคนไข้มาทำแผลหลังจากกลับจากที่ชุมนุม คุยให้ฉันฟังว่า “ใครก็หาว่าผมรับเงิน ผมไม่ได้รับสักบาท แต่ผมทนไม่ได้ ผมต้องไป” ตำรวจในอำเภอที่ฉันทำงานก็ต้อง สลับกันไปดูแลผู้ชุมนุมในกรุงเทพ ส่วนงานที่อำเภอตัวเองก็ล้นมือ ตลาดนัดมีรถหายไม่เว้นแต่ละวัน สังคมในโรงพยาบาลก็ไม่ต่างจากสังคมในโลกออนไลน์ หรือสังคมประเทศชาติ มีคนหลายรูปแบบ ทั้งเลือกข้าง ไม่เลือกข้าง ความเชื่อทางการเมืองกลายเป็นข้อจำกัด เกิดการแบ่งฝ่ายเพิ่มขึ้น ฉันใส่เสื้อสีเหลืองและสีแดงไปไหนต่อไหนไม่ได้ แม้กระทั่งการเรียนหากมีใครแสดงตัวอยู่ฝ่ายที่ฉันไม่ชอบใจ ฉันพาลพาโลไม่รู้เรื่องที่เขาสอนเสียอย่างนั้น แถมยังนั่งเถียงในใจด้วย

เรื่องราวทางการเมืองจบด้วยความหดหู่ใจ เกิดปฏิวัติรัฐประหาร ฉันรู้สึกหมดเรี่ยวแรงเหมือนเดินเข้าสู่ทางตัน ภาพของผู้ชายใส่เสื้อสีดำ หน้าตาเศร้า ถือป้ายที่ทำจากกล่องกระดาษเขียนว่า “สิทธิ์กูก็นิดเดียว มึงยังเอาไป” สะเทือนใจฉัน บันทึกที่ฉันเขียนในโลกออนไลน์วันนั้น มีเพื่อนที่เข้ามาแสดงความเห็นใจ และบอกให้ฉันยอมรับ มีคนพยายามที่จะอธิบายว่าความเชื่อของฉันผิด จึงเกิดการปะทะบนหน้าสื่อออนไลน์ ซึ่งอารมณ์โกรธตอนนั้น ทำให้ฉันไม่อาจสงวนท่าที ต่อการรุกรานความคิดความเชื่อของฉันได้ การโต้เถียงนั้นปลุกเร้า การตอบโต้ที่รุนแรงมาก ความต้องการอธิบายของเขา ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกว่าถูกกด เหยียบลงไปอีก ฉันเคยคิดว่าการที่คนเลิกเป็นเพื่อนกัน เพราะทัศนคติทางการเมือง มันเป็นเรื่องทุเรศมาก แต่ฉันกำลังอยากทำทุเรศแบบนั้นจริง ๆ ปิดคอมพิวเตอร์ด้วยใจอันขุ่นมัว แล้วโทรศัพท์ไประบายกับเพื่อนอีกคน นานจนฉันรู้สึกดีขึ้น ขอบคุณที่เขารับฟัง การที่เข้าฟังโดยไม่โต้เถียง ยอมให้ฉันระบายสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจฉัน มีพลังเยียวยาใจฉัน ความขุ่นใจลดลง ซึ่งเมื่อฉันต้องเป็นผู้รับฟัง มันไม่ง่ายเลย หรือว่าฉันถนัดพูดจึงทำให้การรับฟังไม่ดี

ช่วงนั้นเป็นจุดตกต่ำสุด ฉันเริ่มหมดศรัทธากับผู้คนจนฉันต้องหาที่ทางให้กับตัวเองและเริ่มสนใจ Non Violent Communication (NVC) ฉันเลิกเข้าพันทิปห้องราชดำเนิน คุยเรื่องทัศนคติทางการเมืองกับเพื่อนที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน ไม่กล้าคุยกับเพื่อนที่เห็นแตกต่างบอกตรงๆ ฉันกลัวเสียเพื่อนและจิตใจไม่แข็งแรงพอที่จะรับความเห็นต่างอย่างไม่แคร์ความรู้สึกของฉัน

5 ปีผ่านไปการเรียนรู้บนเส้นทางที่ฉันแสวงหา ฉันพบว่าฉันไม่สามารถเปลี่ยนใครให้มีทัศนคติเหมือนกับฉันได้ แต่ฉันสามารถทำให้ตัวเองมีสันติภายในใจมากพอที่จะฟังความเห็นต่าง

การกดทับเชิงโครงสร้างอาจเป็นวาทกรรมที่ฉันได้ยินโดยทั่วไปแต่ฉันจะไม่เข้าใจเลยถ้าฉันไม่ได้พบประสบการณ์ที่ถูกกดทับ….วันที่ฉันได้นั่งรับฟังประสบการณ์ขอผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ด้วยการฟังอย่างลึกซึ้งฉันพูดว่าฉันเจ็บปวดเหมือนๆกับเขาในเวลานั้นฉันรู้สึกว่าเราเท่าเทียมกันฉันมีโอกาสถูกลิดรอนสิทธิ์ได้เหมือนกับเขา มันไม่ใช่ความสงสารที่เราจะอยู่สูงกว่าเขา และให้การช่วยเหลือเขาอีกต่อไป เราจะอยู่เท่าเทียมกับเขาเราจะสู้ร่วมกันไปกับเขา ยังจำได้ว่าเคยไปถกเถียงเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยจริงจังจนเกือบจะเป็นเรื่องร้าวฉาน

การกดทับโดยอำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่สะเทือนใจฉันอย่างที่สุด ฉันรับราชการด้วยความรู้สึกว่าข้าราชการคือผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของปวงชน และรู้สึกว่าการทำงานของตัวเองนอกจากเงินเดือนแล้วเรายังได้เสียสละแก่สังคมด้วย ฉันไม่เคยรู้เลยว่าการกดทับโดยอำนาจรัฐ น่ารังเกียจที่สุด ถ้าข้าราชการได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ เขาจะไม่ทำในสิ่งที่น่ารังเกียจนั้น เรื่องการกดทับเชิงโครงสร้างเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งฉันคิดว่าสำคัญมากสำหรับข้าราชการ ความเข้าใจเรื่องนี้จะทำให้เราเห็นการกดทับที่สังคมกระทำต่อบุคคลผู้มีอำนาจน้อย เห็นความทุกข์และการรังแกจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ก่อนเป็นข้าราชการควรเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน จึงเกิดความตั้งใจอยากสร้าง “หลักสูตรที่ข้าราชการไม่เคยเรียน” น่าเสียดายที่ข้าราชการไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังจึงขาดความเข้าใจต่อหน้าที่อันแท้จริงของเรา…..

การสื่อสารอย่างสันติ (NVC) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เรียบง่ายแต่ลึกเข้าไปในใจของมนุษย์ ที่ต้องใช้การสังเกตเพื่อรับรู้ความรู้สึก ความต้องการ และร้องขอเป็นหนทางของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เริ่มต้นได้ที่ตัวเอง บ่มใจของเราให้ศรัทธาเพื่อนมนุษย์ เพราะทุกคนล้วนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน ฉันพยายามนำสิ่งที่ฉันได้รับจากในห้องเรียนไปทดลองใช้ในการทำงาน ก็เป็นเรื่องที่ถูกนำไปใช้บ่อย ๆ แบบเก้ ๆ กัง ๆ ฉันพยายามคาดเดาความรู้สึก และความต้องการของผู้มารับบริการ พยายามดึง“วิญญาณของยีราฟ” มาสิง “หัวใจหมาป่า”ของฉัน ใช่แล้วตัวตนของฉันคือหมาป่า

ฉันสมัครเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการละครเพื่อการเข้าใจความเป็นมนุษย์” หวังจะค้นหาเทคนิคในการทำความเข้าใจมนุษย์ กิจกรรมแรกพบทำความรู้จัก กระบวนกรให้ออกไปแนะนำตัวหน้าห้องทีละคน เมื่อก้าวไปอยู่ตำแหน่งที่จะแนะนำตัวเองให้เรานิ่งอยู่กับตัวเองสักครู่ ก่อนที่จะแนะนำชื่อและอาชีพ วันนั้นการกล่าวแนะนำตัวเองและบอกว่าเป็นพยาบาล ในช่วงที่นิ่งอยู่กับตัวเอง ฉันระลึกถึงความรู้สึกของการแทนตัวเองอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “พยาบาล” กับคนไข้ได้ชัดเจน มีความภาคภูมิใจ และการตระหนักรู้ว่าเราคือใคร ทำหน้าที่อะไร การเข้าอบรมครั้งนี้ฉันนำความเป็นพยาบาลติดตัวไปด้วยกระบวนการเรียนรู้ ดึงให้ฉันสั่นสะเทือนใจไปกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการสวมบทบาท เพื่อทำความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ของบุคคลที่ฉันสวมบทบาทอยู่ ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไม “เราคิดไม่เหมือนกัน” ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไม “เรารู้สึกไม่เหมือนกัน” และสิ่งที่ฉันควรตระหนักคือ มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย นี่คือความเป็นมนุษย์ ถ้าการทำงานที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ต้องเคารพในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ที่ผ่านมาฉันกะเกณฑ์ให้คนไข้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

การตระหนักถึงความเป็นธรรมทางสังคม สิ่งที่ฉันใส่ใจจึงเป็นเรื่อง “สิทธิ์” เปลี่ยนมิติในเรื่องการสงเคราะห์ออกไปจากจิตใจ ฉันเห็นความอยู่สูงของคนที่รู้สึกสงสาร คือความไม่เท่ากัน ความเข้าใจเรื่องสิทธิ์ในแบบใหม่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลเท่าเท่ากัน ด้วยความคิดแบบนี้ฉันจึงเจ็บปวดใจ เมื่อผู้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าไม่ได้เห็นใจผู้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้อย เช่นกรณีโรงไฟฟ้าที่เทพา ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยถูกกล่าวหาว่าไม่เห็นแก่ส่วนรวม คนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละบ้านของตัวเอง ให้คนอื่นมาทำลาย ความรู้สึกรู้สาแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เหตุการณ์รัฐประหารส่งผลกระทบทางใจกับฉันอย่างรุนแรง ทำให้หายเงียบไปจากสังคมออนไลน์ เรื่องที่เขาคุยกันสนุกสนานนั้นฉันไม่สนุกด้วย การรัฐประหารทำให้รู้สึกว่าถูกคุกคาม และรุกรานอย่างหนัก เพราะฉันให้ความสำคัญของความเท่าเทียมและสิทธิ์ หลังจากเข้าอบรมในหลักสูตรนักขับเคลื่อนสังคมฯ ฉันตระหนักถึงความเป็นธรรมที่ทุกคนควรได้รับ ส่งผลให้ฉันเข้าไปอยู่ในมุมมืดของตัวเอง ภาพผู้ชายวัยกลางคนสีหน้าเรียบเฉย แววตาดูแห้งแล้ง อยู่ท่ามกลางแสงเทียนอันริบหรี่ ถือป้ายที่ทำจากเศษกล่องเขียนบนว่า “สิทธิ์กูก็นิดเดียวมึงยังเอาไป” เหมือนเขาพูดแทนฉัน เพราะสิ่งที่กระทบใจฉัน ในฐานะที่ทำงานพิทักษ์สิทธิของคนไข้มาโดยตลอด การลิดรอนสิทธิ์จึงเป็นเรื่องกระทบใจและแยกไม่ออกกับตัวตนของฉัน เมื่อตกไปอยู่ในสถานการณ์เรื่องการตัดสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วย ซึ่งปัญหาและความผิดพลาดเกิดขึ้นจากระบุตัวตนของผู้ป่วยผิด เนื่องจากผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะตอบคำถามและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนติดมาขณะที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยส่งต่อประกาศผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ จะตัดสิทธิ์ของผู้ป่วยหากพบความผิดพลาดแบบนั้นอีก แม้จะยังไม่มีการดำเนินการ แต่มีมติและประกาศที่จะใช้วิธีการแบบนั้น เป็นมติของกลุ่มงานที่มีหน้าที่ดูแลหลักประกันสุขภาพ ฉันขอเป็นหนึ่งเสียงที่จะไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะส่งเสริมการใช้อำนาจที่ผิดที่ผิดทาง การแก้ไขปัญหาต้องคิดเพื่อให้คนทำงานง่าย และใส่ใจกับความถูกต้องตามระบบ เจ้าหน้าที่ต้องพยายามให้เขาได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่ มิใช่ไปลิดรอนสิทธิของเขา เจ้าของสิทธิ์ไม่ได้มีความผิด พลาดที่ระบบและคนทำงานแต่ลงโทษเจ้าของสิทธิ์ หัวใจฉันเต้นแรง โกรธ รู้สึกว่าเลือดขึ้นหน้า บ้า เดือด และร้อนใจ พร้อมจะถกเถียงกับทุกคน ที่มองไม่เห็นความเดือดร้อนของคนตัวเล็กตัวน้อย “คนในระบบสุขภาพหลงลืมความเป็นมนุษย์ไปได้อย่างไร”

ฉันเจ็บปวดและเหนื่อยใจเหนื่อยกาย ทุกวันที่ฉันทำงานอย่างนั้นค่าตอบแทนที่มีลำดับชั้นและความเหลื่อมล้ำเชิงวิชาชีพ มีการจำกัดการบรรจุใหม่ของพยาบาล ค่าตอบแทนที่ค้างจ่าย เงินโอทีที่ไม่เคยขึ้นมามากกว่า 20 ปี ฉันมองเพื่อนครูที่เงินเดือนและตำแหน่งไหลลื่นด้วยความชอกช้ำ เห็นทหารซื้ออาวุธซื้อเรือดำน้ำในขณะที่ฉันต้องทำงานอยู่ในความจำกัดจำเขี่ยของงบประมาณ การลดยาออกจากบัญชี ลดต้นทุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้อยู่ตามความจำเป็นจนบางครั้งหมิ่นเหม่กับการรักษาต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดทรัพยากรไม่พอยังขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานอีกด้วย ทหารตำรวจเสียชีวิตขณะปฏิบัติราชการมีสวัสดิการรองรับครอบครัวในขณะที่เพื่อนร่วมวิชาชีพฉันเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานในรถพยาบาลเป็นความซวยของครอบครัวที่เสาหลักในการเลี้ยงดูครอบครัวตายไป ฉันจึงซึ้งใจกับความเลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ และการกดทับเชิงโครงสร้างจากประสบการณ์จริง

“บทเรียนของอำนาจ” ฉันจัดกระบวนการนำพาให้น้องผ่านการสังเกตความรู้สึกของ ผู้นั่งและผู้ยืน ให้เขาได้เข้าไปสัมผัสความรู้สึกในบทบาทต่าง ๆ และกิจกรรมที่ชื่อว่า “landlord” กิจกรรมนี้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มละ 4 คน คนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ นิ้วชี้ไปที่หน้าผากของชาวนา ชาวนาต้องเคลื่อนไหวไปตามนิ้วชี้ของเจ้าของที่ดินเท่านั้น แขนทั้งสองข้างของชาวนาชี้นิ้วไปที่หน้าผากของควายสองตัว ควายมีหน้าที่เคลื่อนไหวตามนิ้วชี้ของชาวนาโดยไม่ต้องคิด และผลัดกันสวมทั้ง 3 บทบาทสลับกันไป เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่นำไปใช้แล้วทรงพลัง ครั้งหนึ่งในฐานะกระบวนกรของฉัน บทเรียนที่เกิดกับผู้เข้าร่วมมีพลังและกระทบใจ ฉันโยนคำถามเข้าไปในวงว่า “ใครคือควายในระบบบริการสุขภาพ” คำถามนี้ก็ทำปฏิกิริยากับฉันเช่นกัน ฉันรับรู้ถึงความสั่นสะเทือนใจของตัวเอง คำตอบที่ผุดขึ้นมาในใจ “ฉันไง ควายในระบบบริการสุขภาพ” คำตอบออกมาหลากหลาย และเชื่อว่าจะปรากฏอยู่ในใจของผู้เข้าร่วมทุกคน การเรียนรู้เรื่องอำนาจจะช่วยให้น้องตระหนักถึงอำนาจที่เขามีและใช้อำนาจอย่างเหมาะสม ในระหว่างการเรียนรู้ของน้อง ฉันก็เกิดการเรียนรู้เช่นกัน ฉันเคยรู้สึกรังเกียจอำนาจเหนือ เพราะมันแฝงไปด้วยพลังเชิงลบ การจัดกระบวนการครั้งนี้ฉันได้เห็นการมีอยู่ของอำนาจเหนือ เห็นความจำเป็น และเห็นประโยชน์ในบางสถานการณ์ มุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นขยายจิตขยายใจของฉัน ความคับข้องใจในอำนาจเหนือ และประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดจากการถูกใช้อำนาจเหนือทำให้ฉันตัดสินว่าเป็นอำนาจที่เลวร้าย การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดจากในห้องเรียนแบบมีส่วนร่วม ฉันเห็นความเป็นไปได้และช่องทางในการใช้อำนาจเหนืออย่างมีพลังในทางสร้างสรรค์

กระบวนการเรียนรู้แบบ process work ที่ให้ฉันลองไปสวมบทบาทของอีกฝ่ายหนึ่งฉันได้ค้นพบจุดร่วมของขั้วตรงข้าม เข้าใจความเป็นเขาผ่านตัวเรา….วินาทีที่ฉันเข้าใจ ฉันยอมรับและเคารพในความคิดของเขา ไม่ได้โกรธเกลียดราวกับจะฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง เป็นความรู้สึกอยากประคับประคองเขาให้ทางไปด้วยกัน และเห็นใจเสียงข้างน้อยและฟังเขาได้มากขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้ไม่ได้อยู่ที่วิธีการ รูปแบบ หรือเทคนิค หากแต่มันอยู่ที่สันติในใจเรา ความรู้สึกนี้โคตร healthy มากๆ

ที่เขียนมายืดยาวขนาดนี้(แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมดบนเส้นทางการเรียนรู้ของฉันใน 5 ปีที่ผ่านมา) เมื่อการใช้อำนาจร่วมเป็นการใช้อำนาจที่ดีงามในทุกด้าน…..จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ไปเลือกตั้งอันเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติและเคารพหลักของการใช้อำนาจร่วม

เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาฉันเหมือนจมน้ำอยู่ในกระแสของอารมณ์ความรู้สึกและข้อมูลที่ตีกันราวกับคนจะจมน้ำ แต่ในเวลานี้ฉันกำลังรู้สึกสนุกสนานกับการติดตามนโยบายของแต่ละพรรคเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเหล่านั้นว่าจะส่งผลต่อชีวิตของฉันในเบื้องหน้าอย่างไร ข้อมูลในปัจจุบันก็หาได้ไม่ยากเพียงแต่เราต้องใช้การกลั่นกรองอย่างหนัก สำหรับกองทัพข่าวสารที่ดาหน้ามาให้เราศึกษา การโฆษณาชวนเชื่อและโจมตีด้วยข่าวลวงการใส่ร้ายป้ายสีที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ข้ามอดีตมาปัจจุบัน อย่าปล่อยให้มันส่งพลังเหนือกว่าปัญญาในมหาสมุทรของยุคสมัย การที่ไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระแสนั้น มันมีความรู้สึกราวกับนั่งอยู่บนยอดคลื่นที่กำลังจะไปสู่อนาคต…..

หมายเหตุ ขอบคุณผู้ผ่านมาร่วมทางที่ช่วยให้ได้เรียนรู้ Guay Makhampom และทีมมะขามป้อมและม.เถื่อน ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้อันมหัศจรรย์ เพื่อนนักขับเคลื่อนสังคมสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ชีวิตและการงานของเขาที่ทำให้เราเข้าใจโลกกว้างอย่างเป็นจริง การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่พาฉันไปพบความเข็มแข็งจากข้างใน Pracha Hutanuwatr Ouyporn Khuankaew Kittichai Weareallhuman Jarupapha Wasi Sonny Chatwiriyachai พี่ฉั่วที่ชวนอ่านหนังสือการศึกษาของผู้ถูกกดขี่และละครที่พี่ทำมันช่วยได้มาก เพื่อนพี่น้องครูบาอาจารย์ในสังฆะจิตตปัญญาที่โอบอุ้มความดื้อดึงและความร้ายกาจของฉัน

ที่มา: https://www.facebook.com/notes/kedsuda-suankeow/การเมืองกับฉัน/10156792988040661/

เครดิตภาพประกอบจาก Freepik