คำกล่าวปิดการการอบรม นิเวศภาวนา ณ บ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

โดยอาจารย์ประชา หุตานุวัตร วันที่13 พ.ย. 58

เรียบเรียงโดย ศุภธิดา ศิริวงศ์

การเติบโตภายในของคนเรา มีเหตุปัจจัยสำคัญอยู่ 4 อย่าง ที่ขาดไม่ได้

  1. การตัดสินใจเรียนรู้จากการงาน: ในชีวิตจริงเราต้องตัดสินใจ ทำงานทำการ เรื่องชีวิต ถ้าเราเรียนรู้จากโลกภายนอก เรียนรู้จากความทุกข์หมั่นสรุปบทเรียนตนเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตภายในด้วย
  1. การใคร่ครวญชีวิต: อันนี้สำคัญและจำเป็นมาก การใคร่ครวญ ตรึกตรองชีวิตด้านในของเราเอง การเห็นว่าใจตอนนี้เป็นอย่างไร การเห็นว่าสภาพจิตตอนนี้เป็นอย่างไร รู้จักแยกแยะให้เห็นสภาพใจของเราแต่ละขณะ อันนี้คือ “โยนิโสมนสิการ”
  1. กัลยาณมิตร: ขาดไม่ได้ คือ เพื่อน ชุมชน หมู่มิตร กลุ่มก้อน ที่เรารู้สึกว่าที่นี้เป็นบ้านทางใจของเรา ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นคนในครอบครัว อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือ อาจจะไม่ใช่เพื่อนที่ร่วมงานด้วยกัน แต่เมื่อเราเจอแล้วเรารู้สึกว่าใช่ ว่านี้คือชุมชนของเรา คนที่ที่เราไม่ต้องเสแสร้ง ไม่ต้องแสดง เราสามารถเป็นตัวของเราได้เต็มที่
  1. สมาธิ ภาวนา ความสงบสุขภายใน: ที่สำคัญมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะขาดกันมาก คือ ความสงบสุข การแสวงหาความสงบจากข้างในลึกๆ แม้เราจะมีความสำเร็จจากหน้าที่การงาน แต่ไม่มีความสำเร็จภายใน เราก็จะดิ้นรน ร้อนรน ตลอดเวลา ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานเพื่อสังคมหรืองานเพื่อส่วนตัวก็ตาม ดังนั้น ความสงบสุขภายในสำคัญมาก ซึ่งจะเกื้อกูลให้ชีวิต เกื้อกูลมิตรภาพ เกื้อกูลการสรุปบทเรียนด้วย การเรียนรู้มันเป็นปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกันโดยตลอด

ที่นี้ เราจะรู้ได้อย่างเราว่าเรามีการเติบโตภายใน ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่

(1) เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง เราทำอะไรโดยที่ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ เราลดการติดยึดในภาพลักษณ์ของตนเอง เราไม่แคร์ว่าคนอื่นจะมองเห็นเราสำคัญ แต่เราพร้อมทำกิจกรรมสำคัญตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่สนใจมากนักว่าภาพลักษณ์เราต่อสาธารณะจะเป็นอย่างไร

(2) เราสามารถทำความดีโดยไม่ยึดความดีนั้น ไม่รู้สึกว่ากูดีกว่าคนอื่น คนส่วนมากถ้าทำความดีแล้วจะรู้สึกว่ากูนิดีกว่าคนอื่น เช่น ถ้าเรากินเจก็จะรู้สึกว่าคนไม่กินเจนี้แย่ เราทำงานเพื่อสังคมแล้วรู้สึกว่าเรานี้เหนือกว่ามนุษย์เผ่าอื่นทั้งหมด มันจะลดความรู้เหล่านี้ลงไป เราสามารถทำความดีลับหลังคนได้ง่ายขึ้น อันนี้เป็นความเติบโตภายใน ทำความดีโดยไม่ต้องมีใครมาเห็นเรา

(3) เราจะไม่มีเจตนาทำร้ายคนอื่น เจตนาไม่ดีจะไม่มีโดยธรรมชาติ เราถือศีลโดยธรรมชาติ ไม่ต้องฝื่นใจมาก

(4) เราจะเกิดความมั่นใจแบบอ่อนน้อมถ่อมตัว เราจะมั่นใจจักรวาล เราเชื่อใจธรรมชาติ ในแง่หนึ่งมันเป็นมิติหนึ่งของการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าโลกนี้โอเค เราเดินไปไหนก็ได้ ความมั่นใจมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของชีวิต หรือความสำเร็จหรือความความล้มเหลวมันไม่ได้ทำให้เราหวั่นไหวมากนัก

(5) เพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้ ช่วยให้เรารู้กาละเทศะ สามารถทำอะไรได้อย่างพอดีๆ กับบุคคล กับชุมชน กับเวลา กับเหตุกับผล ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ซึ่งส่วนนี้มันคิดได้เอง คิดด้วยเหตุผลไม่หรอก มันเป็นความพอดีที่เกิดจาก การที่ ใจ กาย และอารมณ์ของเรา มันเริ่มสมานเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกันแล้ว ความพอดีอันนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ และถ้าเราอยู่กับอันนี้ได้นานพอ โดยที่ไม่กลับไปอีก พุทธศาสนาบอกว่า “ชีวิตไม่เป็นโมฆะ” และจะไม่มีทางตกต่ำไปอีก ชีวิตจะไม่ทางลงไปสู่ความเสื่อม

อันนี้ ให้ไว้เพื่อเป็นเครื่องมือให้เราเอาไว้ดูตัวเราเอง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเรียนรู้ด้านใน และหวังพวกเราจะเรียนรู้กันต่อไปนะคะ