ตะวันลับฟ้าที่เกาะกระทะ

อนันทชัย วงศ์พยัคฆ์ เขียน

– 1 –

ใต้เกาะหม้อลงไปสักครึ่งไมล์คือ ‘เกาะหม้อน้อย’ คนมอแกนเรียกว่า “เกาะกระทะ” ลักษณะคล้ายกระทะคว่ำอยู่กลางทะเล ทั้งสองเกาะเป็นเกาะขนาดเล็กเหมือนเนินดินสูงที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ริมน้ำเป็นผาหิน ถัดขึ้นไปเป็นดินเหนียวปนดินลูกรัง มีไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมร่มครึ้ม ก็ไม่รู้ว่าทำไมคนไทยถึงเรียกว่า “เกาะหม้อ?” 

ด้านทิศใต้ถัดลงไปคือ ‘เกาะไร่’  เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่า มีหาดทราย และมีแผ่นป้ายคอนกรีต บนป้ายมีข้อความ ‘เขตทหารเรือ’ ถัดลงไปอีกสักสามไมล์ คือเกาะช้าง ด้วยรูปทรงถ้ามองจากด้านทิศตะวันออกคล้ายช้างเชือกใหญ่โผล่ครึ่งตัวจากผืนน้ำ  มีแนวสันเขาที่คล้ายสันหลังของช้าง  ก็แล้วแต่จะมอง! ส่วนในอ่าวด้านทิศเหนือสุดเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวมอแกน ที่ดินแคบๆ ที่สำนักคริสตจักรซื้อไว้และแบ่งพื้นที่ให้ชาวมอแกนได้ตั้งหมู่บ้านอยู่อย่างแออัดภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ด้านทิศใต้ของเกาะช้างห่างออกไปอีกห้าไมล์ คือเกาะพยาม ในอ่าวแคบๆ ที่ชื่อ “อ่าวเขาควาย” ก็เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวมอแกน เช่นกันกับที่เกาะช้าง ที่ดินบริเวณนี้ สำนักคริสตจักรแห่งหนึ่งเป็นผู้ครอบครองและจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่ตั้งหมู่บ้านคนมอแกน เกาะพยามกำลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดระนอง ด้วยสภาพที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก เช่นกับเด็กสาวที่งามพิสุทธิ์ อ่อนเดียงสา!! 

ทิศตะวันออกของเกาะหม้อน้อยเป็นที่ตั้งของเกาะเหลา เป็นเกาะที่อยู่ชิดฝั่งแผ่นดินใหญ่ มีเพียงร่องน้ำและป่าชายเลนคั่นกลาง ด้านตะวันออกของเกาะซึ่งเป็นที่ราบและเป็นจุดที่ป้องกันคลื่นลมได้ดีกว่า คือที่ตั้งหมู่บ้านคนไทย มีทั้งโรงเรียนและสถานีอนามัยตั้งอยู่ ส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเหลาคือชุมชนเกาะเหลานอก หรือชุมชนมอแกนเกาะเหลานั้นเอง จุดนี้เป็นเพียงเวิ้งอ่าวแคบๆ ชายฝั่งเต็มไปด้วยกรวด หิน เศษขวดและขยะสารพัดชนิดซึ่งถูกทิ้งลอยมาจากตัวเมือง อ่าวด้านนี้ยังเป็นที่รับคลื่นลมมรสุมจากอันดามัน ฉันเคยลงไปนอนค้างอ้างแรมในช่วงมรสุม พร้อมกับทีมสำรวจข้อมูลของ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ปรากฎว่าทั้งคืนแทบไม่อาจข่มตานอน ทั้งลมทั้งฝนมรสุมพัดกระหน่ำฝาบ้านและหลังคาแทบหลุดลอยไปกับแรงลม ตัวเรือนสั่นไหวยวบยาบเหมือนคนชราเป็นไข้มาลาเรีย ส่วน’ผู้ใหญ่สิดิษ’เจ้าของกระท่อมกับ ‘ยายยาว’ ภรรยาคูทุกข์ นอนเงียบอยู่ในห้องเหมือนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องปกติสามัญ ด้านหลังของหมู่บ้านเป็นเนินเขา ตรงปลายแหลมนอกสุดมีผาหินชิดขอบทะเล ตรงนี้มีน้ำจืดไหลซึมจากร่องผาลงมา หญิงชาวมอแกนจะใช้สารพัดภาชนะ รองน้ำจืดจนเต็ม ‘ทูน’ ไว้บนศีรษะแล้วเดินลัดเลาะมาตามแนวหาด หลบโขดหิน เศษขวด มาเก็บไว้ดื่มกินที่บ้าน


– 2 –

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ “เกาะกระทะ” จึงตั้งอยู่ค่อนไปทางกึ่งกลางของชุมชนชาวมอแกนทั้งสามเกาะ มันคือสุสานลานตาย คือพื้นที่สุดท้ายที่ใช้ฝังร่างคนมอแกนมาช้านาน “คับแคบแล้ว ขุดลงไปก็เจอกระดูกคนก่อน …ต้องฝังซ้อนๆกันแล้วครับ” อู้ หนุ่มลูกครึ่งไทย-มอแกน ให้ข้อมูลสภาพการใข้ประโยชน์ในที่ดินสุสานบนเกาะกระทะ เมื่อเราสนทนากันทางกล่องข้อความ

เรื่องเล่าจากมอแกน : การตาย


เรื่องเล่า/ภาพโดย บิลลี่ ประมงกิจ หนุ่มมอแกนเกาะเหลา

จริงๆ เมื่อก่อนนี้เราไม่มีโลง ต้องใช้ผ้าห่มห่อศพ และห่อ เรื่องเล่า/ภาพโดย บิลลี่ ประมงกิจ หนุ่มมอแกนเกาะเหลา ด้วยเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ต่อมาเราเริ่มซื้อปีกไม้มาต่อเป็นโลง แล้วระยะหลังมานี้จึงเริ่มมีคนไทยช่วยซื้อโลงมาบริจาคให้ ก่อนนำศพคนตายบรรจุโลง จะมีการอาบน้ำให้ศพ พออาบเสร็จแต่งหน้าให้ ตัดเล็บตัดผม  ต้องรอญาติพี่น้องที่อยู่ตามเกาะอื่นมาให้ครบก่อนค่อยเอาศพบรรจุโลง มีการประดับประดาด้วยผ้าสีสวยๆ โลงศพคนมอแกนจะมีสองแบบ คือแบบรูปทรงเหมือนบ้าน กับแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั่วๆ ไป ต่อจากนั้นนำศพไปไว้ที่ศาลาหรือบ้านของผู้เสียชีวิต มีการวางข้าวสวย น้ำ ธูป-เทียน หน้าโลงศพ …เมื่อก่อนไม่มีเครื่องเสียง เครื่องเล่นแผ่นวีซีดี. ดนตรีแบบตายายเขาใช้กลองหรือถังน้ำ แกลลอนพล๊าสติก ขวดแก้ว เคาะแทนเครื่องดนตรี แล้วร้องเพลงเป็นภาษามอแกน เนื้อเพลงพูดถึงการทำมาหากิน การมีครอบครัวที่ดี พูดถึงความรัก กล่อมวิญญาณคนที่จากไป สมัยนี้เขาใช้เครื่องเสียงแล้วมีอาหารเลี้ยงทุกมื้อ มีการเลี้ยงอาหารว่าง มีการร้องรำทำเพลงกันทั้งคืนทั้งวัน  ทุกคนจะไม่มีการกลับบ้าน  มีการค้างศพไว้ 2-3 คืน  พอถึงวันที่ 3 จะมีการเปิดฝาโลงศพ เอาสิ่งของที่คนตายชอบหรือเคยใช้ เช่น หม้อ ช้อน กะละมัง ทุกอย่างที่เป็นของคนตาย ใส่ลงเรือพร้อมกับโลงบรรจุศพไปขึ้นที่เกาะกระทะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเหลา  ห่างออกไปราวๆ 3 กิโลเมตร บรรดาญาติๆ ก็จัดเตรียมของ พวกขนม น้ำ เพื่อนำไปเซ่นไหว้หลุมศพคนที่ตายไปก่อน ซึ่งฝังอยู่ที่เกาะนั่นเอง ก่อนฝั่งศพจะมีร้องเพลงไปด้วยขุดหลุมไปด้วย  มีการบอกกล่าวกับคนตายว่าให้ไปดีๆ อย่าได้เป็นห่วงกังวลคนข้างหลัง ต่อจากนั้นก็ลงเรือกลับบ้าน คนที่บ้านต้องเตรียมหาต้นไม้มีหนามแหลมๆ ไว้ให้คนที่กลับจากพิธีฝังศพเพื่อป้องกันวิญญาณร้ายๆ ตามกลับเข้ามาในหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็มีการตั้งข้าว น้ำ เทียน ไว้ที่ที่คนตายเคยนอน ให้ครบ 7 วัน  นี่เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของมอแกนดั้งเดิม


ต้นปี 2562 ‘ผู้ใหญ่สิดิษ’ (ตำแหน่ง’ผู้ใหญ่’นำหน้าชื่อนี้ทางราชการเป็นผู้แต่งตั้งให้เพื่อใช้แกเป็นคนประสานงาน ด้วยแกพอจะสื่อสารภาษาไทยได้รู้เรื่องมากที่สุดของชุมชน) เสียชีวิตลงด้วยสารพัดโรคในกาย ด้วยวัยเจ็ดสิบปี แกตายในขณะเพิ่งมีสัญชาติไทยได้ไม่นาน ด้วยความที่แกเป็นที่รู้จักของส่วนราชการและยังเคยได้รับรางวัลคนดีผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคมอะไรประมาณนี้แหละ ก่อนตายลุงสิดิษเคยสั่งไว้ ขอให้มีการนิมนต์พระมาสวดศพให้แก และให้ฝังร่างแกไว้ที่สุสานหลังชุมชน ในงานพิธีศพจึงมีพวงหรีดจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้อำนวยการโรงเรียนประจำเกาะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล  และผู้บังคับการกองกำลังเฉพาะกิจที่มาประจำการในพื้นที่ชายแดนแถบนี้ พร้อมกับจัดกำลังทหารมาร่วมในพิธีศพตลอดสามคืน ระหว่างพิธีศพก็มีข่าวที่ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ ข่าวว่าเจ้าของที่ดินผู้ถือเอกสารสิทธิ์ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินสุสานของมอแกนอาจไม่ยินยอมให้มีการฝังศพบริเวณนั้นอีก เข้าวันถัดมา ตอนที่คนหนุ่มชาวมอแกนช่วยกันขุดหลุมเพื่อฝังศพจึงต้องมีกำลังทหารคอยอยู่ใกล้ๆเป็นเกราะคุ้มกันให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จพิธีเย็นนั้น ตัวแทนชาวมอแกนหลายคนต้องขึ้นฝั่งเพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนตามที่ฝ่ายผู้ครอบครองที่ดินได้ร้องทุกข์ไว้


– 3 –

‘อู้’ เป็นหนุ่มชาวมอแกนลูกครึ่งไทย อู้และน้องมีสัญชาติไทยแล้ว เพราะมีพ่อเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวมอแกนอพยพมาจาก’เกาะแม๊ะ’เขตประเทศพม่า ก่อนจะมาพบรักกับหนุ่มไทยและปักหลักใช้ชีวิตบนฝั่งเกาะพยาม แม่ของอู้ก็เช่นกันกับชาวมอแกนส่วนใหญ่ในเขตระนองที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ’บัตรเลขศูนย์’  ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลของรัฐบาล (มติ ครม. 18 มกราคม 2548) “ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย  …คือผมหมายถึงพวกเขาไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทย”  เคยได้ยินคำอธิบายของเจ้าหน้าที่กรมการปกครองที่ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ เมื่อเรื่องราวของชนเผ่าแห่งท้องทะเลถูกเปิดตัวหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ดูจะเป็นเรื่องมืดมนสำหรับคนมอแกนรุ่นพ่อแม่ ซึ่งหลายคนอาจถือกำเนิดบนฝั่งของเกาะแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ว่าจะอยู่ในเขตอำนาจรัฐใด   หรือบางชีวิตอาจเกิดบน ‘กาบาง’ เรือที่เป็นดั่งบ้านของทุกชีวิต ขณะลอยลำอยู่บนผืนน้ำ ..ที่ไหนสักแห่งของอันดามัน สำหรับคนที่พิสูจน์ได้ว่าตนเป็นคนดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่มาช้านาน อาจได้สัญชาติไทย  ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร หรือที่เรียกว่า “ระเบียบปี 2543” ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศก็มีโอกาสได้สัญชาติ ตามมาตรา 23 (พรบ.สัญชาติแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4) แม้พ่อหรือแม่จะมีสัญชาติไทยแล้ว การจะเพิ่มขื่อบุตรที่เกิดก่อนวันที่พ่อหรือแม่ได้สัญชาตินั้น ในทางปฏิบัติยังต้องมีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 

แน่นอนว่าเส้นแบ่งพรมแดนอำนาจรัฐทั้ง 2 ได้ขีดทับลงบนน่านน้ำ ขีดทับชีวิตคนมอแกน ขีดแบ่งพี่น้อง แบ่งพ่อ-ลูกออกจากกัน ทำให้พวกเขากลาย”คนอื่น”ในบ้านตัวเอง มอแกนมีเพียงภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีการบันทึกวันเดือนปี ประวัติศาสตร์ของเผ่าเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน ขณะกฎหมายสัญชาติอิงอยู่กับหลักฐานเอกสาร พยานบุคคลที่รัฐเชื่อ ทั้งหมดนั่นภายใต้หลักอธิปไตยเหนือดินแดน  คนมอแกนจำนวนมากจึงต้องถือ’บัตรเลขศูนย์’ต่อไป  ..จนกว่าชีวิตจะดับสูญ!!

ฉันเคยเป็นสักขีพยานในการกำเนิดของชีวิตมอแกนน้อยๆ ครานั้น หลังเหตุการณ์สึนามิ เราลงไปช่วยสร้างบ้านให้ชาวมอแกนเกาะเหลา ‘ตะวัน’เด็กสาวมอแกนแรกรุ่น พบรักกับหนุ่มชาวมอแกนหมู่บ้านเดียวกัน ไม่มีระบบคุมกำเนิด ตะวันจึงท้องอุ้ยอ้าย ฝ่ายสามียอมหยุดจากอที่ยวเรือ’ดำปลิง’ คอยเฝ้าประคับประคองคนรักและชีวิตน้อยที่กำลังจะสัมผัสโลก คืนนั้น.. บนเรือนมีเตาไฟที่สุมไม้ฝืนจนเปลวไฟลุกโชนตลอดเวลา น้ำร้อนในกาเดือดพล่าน ในกระท่อมที่มีเพียงห้องเดียวจึงร้อนดั่งยามเที่ยงวัน เสียงแนะนำของแม่หมอ เสียงปลอบใจของแม่ชรา  เสียงร้องครวญครางของแม่มือใหม่ มีเพียงฝ่ายสามีร่างเตี้ยซึ่งไม่ปริปากบ่น กุลีกุจอทำทุกอย่างแล้วแต่ใครจะใช้ เด็กน้อยลืมตาดูโลกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เช้าวันใหม่ ครอบครัวก็ต้องหอบหิ้วทั้งแม่และลูก ขึ้นฝั่งเพื่อไปพบหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ทั้งแม่และลูกน้อยมีสภาพซีดเหลือง คงไม่ใช่แค่การขาดสารอาหารที่จำเป็น หากแต่ชีวิตมอแกนขาดทุกอย่างที่เคยมี อิสรภาพของชนเผ่าเสรีผู้รักสงบ เหลือเพียงตำนาน!!

คนเจ็บที่นอนป่วยเป็นแรมเดือนอยู่ในบ้าน  มีเพียงยาแก้ปวด กับยารากไม้ต้มเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดว่าหนึ่งชีวิตจะมีสิทธิ์อยู่หรือตายจาก


– 4 –

ปี 2552 เกาะหม้อน้อย  เกาะไร่  เกาะตาครุฑ เกาะช้าง เกาะหาดทรายดำ และอีกหลายเกาะบริเวณใกล้กัน ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง  นั่นหมายความว่าชีวิตชาวมอแกนจะถูกขังไว้ในบ้าน  เมื่อท้องน้ำและชายฝั่งที่เคยทำมาหากินกลายเป็นสถานที่หวงห้ามเสียแล้ว แม้พรบ.อุทยานฯฉบับปี 2562 จะพยามแก้ไขปัญหา’คนอยู่กับป่า’ ด้วยการเพิ่มมาตรา 64 และ 65 ที่เปิดให้ชาวบ้าน ซึ่งครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานฯมาก่อน ได้เข้าสู่การสำรวจขึ้นทะเบียน ภายใน 240 วัน นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ (25 พฤศจิกายน 2562) แต่นั่นก็สำหรับราษฎรที่มีสัญชาติไทย เมื่อรัฐไทยให้น้ำหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่าการคำนึงถึงชีวิตผู้คนที่เกาะเกี่ยวเกื้อกูลกับอยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบเช่นชนเผ่ามอแกน รัฐบาลเคยมี’มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล’ เมื่อ 2 มิถุนายน 2553 แต่ดูเหมือนว่า นโยบายหรือมติใดๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนกลับไม่ได้รับการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ กระท่อมหลังน้อยอันเป็นที่กำเนิดผืนน้ำกว้างใหญ่อันเป็นที่ทำกินอย่างเสรี เกาะกระทะที่ฝังร่างยามสิ้นลม เหล่านี้อาจไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่เคย เมื่อชีวิตคนมอแกนไม่ถูกนับให้เป็นราษฎรของรัฐใดในโลก.