เสรีนิยมใหม่กับการสร้างความเป็นอื่น: กรณีศึกษาการขยายตัวของกลุ่มคนชายขอบร่วมสมัย

ผศ. ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

1.บทนำ

ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นภาพสะท้อนการขยายตัวของระบบทุนนิยมตั้งแต่ช่วงปลาย ศตวรรษที่ 20 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อเอื้อต่อการแสวงหากำไรอย่างเข้มข้น ลักษณะเช่นนี้มาพร้อมกับการทำลายรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า  การย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่า สวัสดิการต่ำกว่า คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า กฎหมายด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนไม่ครอบคลุม รวมถึงการสร้างกลุ่มแรงงานที่มีอำนาจต่อรองต่ำเข้าสู่ระบบที่ไม่มีการคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นแรงงานสตรี แรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันระบบการผลิตมุ่งเดินหน้าสู่การจัดการแบบถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้ใช้แรงงานเอง  ผ่านการถ่ายโอนการผลิตสู่วิสาหกิจขนาดย่อม การรับงานกลับไปทำที่บ้าน แม้กระทั่งการขยายตัวของ Gig-Economy หรือเศรษฐกิจเลือกรับงานตามความถนัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากทำงานหนักมากขึ้น ได้ค่าตอบแทนน้อยลง ซึ่งรวมถึงภาระค่าใช้จ่ายจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลและการดูแลตนเองยามสูงอายุ ลักษณะสำคัญของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่คือการก้าวเข้าไป “ปล้นชิง” ความเป็นมนุษย์ในทุกมิติและแปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าจึงปรากฏชัดว่า “ลักษณะชายขอบ” ภายใต้เงื่อนไขเสรีนิยมใหม่จึงไม่ใช่ผู้ที่ถูกละทิ้ง ละเลยหรือไม่ถูกให้ความสำคัญในระบบทุนนิยมในทางตรงกันข้ามหมายถึงกลุ่มที่ถูกปล้นชิงอย่างไร้อำนาจการต่อรองและอยู่ในศูนย์กลางของระบบทุนนิยมเอง ในบทความนี้จะฉายภาพถึงลักษณะ “คนชายขอบ” ร่วมสมัยที่อยู่ในระบบทุนนิยมเสรีนิยมในช่วง ปี 2010-2018 อันเป็นช่วงที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ฝังรากลึกในความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม โดยพิจารณากลุ่มหลักที่มีลักษณะร่วมของการถูกกันออกจากการมีชีวิตที่ดีในเสรีนิยมใหม่อันประกอบด้วย 1.คนรุ่นใหม่ 2.แรงงานเสี่ยง 3.ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4.ภาวะความซึมเศร้า

2.ทฤษฎีแนวคิดที่เกี่ยวข้อง

การสถาปนาลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มีหัวใจสำคัญคือการตัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสวงหากำไรออกเสีย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลแรงงาน การว่างงาน ป่วยไข้  หรือยามแก่ชรา เมื่อพิจารณาเช่นนี้ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งในทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ย่อมเป็นการเข้าออกกับภาวะ ส่วนกลาง-ชายขอบอยู่ตลอดเวลา หรืออีกนัยหนึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมมีโอกาสที่จะเป็น “คนชายขอบ” ได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน David Harvey ชี้ให้เห็นถึงภาวะข้างต้นในลักษณะการสะสมผ่านการปล้นชิง (Accumulation by Dispossession) ผ่านการเปลี่ยนทุกความสัมพันธ์ให้กลายเป็นสินค้าโดยแท้จริงแล้วผ่านเงื่อนไขการใช้อำนาจทางการเมืองแบบอำนาจนิยมในการวางเงื่อนไขข้างต้น  ทั้งนี้ Guy Standing ได้นิยามผลของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ว่าก่อให้เกิดแรงงานเสี่ยง (Precariat) ในทุกกลุ่มอาชีพหรือทุกการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม กล่าวคือการเกิดขึ้นของกลุ่มแรงงานที่ไม่ใช่เพียงแค่รับผิดชอบตัวเองเท่านั้นแต่ยังต้องแบกรับความเสี่ยงแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ด้วย

3.คนรุ่นใหม่กับภาวะชายขอบของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

คนรุ่นใหม่ หรือหากนับเป็นกลุ่มคนที่เกิดหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 1990 เป็นต้นไป พวกเขาเกิดและเติบโตภายใต้ลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างเต็มตัว ความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการและการดูแลประชาชนอย่างถ้วนหน้ากลายเป็นอดีต พวกเขาเริ่มมองว่าประชาธิปไตยไร้ความหมายไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อัตราผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในหมู่คนรุ่นใหม่ลดลงอย่างมาก และก้าวเข้าสู่สภาวะปลอดการเมือง ด้านหนึ่งเกิดจากการที่พรรคการเมืองหลักในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกมุ่งปรับตัวเข้าสู่แนวทางเสรีนิยมใหม่และไม่มีความแตกต่างทางนโยบายและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในกิจกรรมสาธารณะที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ลดน้อยลง ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ก็มีลักษณะร่วมใกล้เคียงกันกับมายาคติว่าด้วยการมีชีวิตที่ดีได้โดยไม่จำเป็นต้อง “ท้าทาย”อำนาจทางการเมือง หรือรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มการเป็นคนชายขอบในระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อเปรียบกับประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่แต่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเทียบอัตราส่วนต่อค่าเฉลี่ยรายได้ของทุกกลุ่มจะพบว่าคนอายุน้อยกว่า 35 ปีมีอัตราส่วนรายได้สุทธิเทียบกับรายได้เฉลี่ยของทุกกลุ่มอายุ น้อยลงกว่าสองเท่า เมื่อเทียบปี 1989 กับปี 2016 และมีแนวโน้มที่จะต่ำลงมากกว่านี้อีกในอนาคต กล่าวคือภาพชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ในปี 2016 ต้องทำงานหนักเมากกว่าสองเท่าเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกันกับคนรุ่นใหม่ที่อายุเท่ากันเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ตามแผนภาพด้านล่าง

ภาพแสดงรายได้ของคนจำแนกตามอายุเทียบกับรายได้เฉลี่ยของประชากร
ที่มา :https://ftalphaville.ft.com/2018/01/04/2197227/eight-charts-on-inequality-in-the-us/

นอกจากนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด แม้ว่าจากข้อมูลด้านบนเสมือนว่าหากคนรุ่นใหม่ทำงานไปและใช้ชีวิตเมื่ออายุมากย่อมมีชีวิตที่ดีขึ้นตามเงื่อนไขของชีวิตแต่จากข้อมูลของธนาคารโลกว่าด้วยการเลื่อนลำดับชั้นระหว่างรุ่นซึ่งได้ศึกษาใน 150 ประเทศ อันนับรวมประชากร 96% ของประชากรโลก ซึ่งพบว่าการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมมีความเกี่ยวพันกับความเป็นประชาธิปไตยและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐ และความเสมอภาคในสังคม 90% ของประเทศที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นระหว่างรุ่นต่ำเป็นประเทศยากจน และไม่มีสวัสดิการพื้นฐานที่ดีมากพอ แต่ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นแม้ในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่การเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นเริ่มลดลงเมื่อนับจากคนที่เกิดในทศวรรษ 1960 เทียบกับคนที่เกิดในทศวรรษ 1980 ลักษณะเช่นนี้เป็นตัวชี้วัดการขยายตัวของความเป็นอื่นของคนรุ่นใหม่ ภายใต้เงื่อนไขทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ และสร้างสภาวะความเป็นชายขอบให้กลายเป็นลักษณะทั่วไป

4.แรงงานเสี่ยง

ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบมากกว่า 20 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 70 ของกำลังแรงงาน กลุ่มแรงงานนอกระบบทำงานหนักมากโดยเฉลี่ยมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมากกว่าครึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท เดือน และลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วไป ภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่เช่นกัน แม้ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มูลเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของแนวคิด การผลิตแบบเน้นอุปทาน ที่สนับสนุนการขยายตัวของกลุ่มทุนผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายการคุ้มครองแรงงานที่ยืดหยุ่น การจ่ายค่าตอบแทนรายชิ้น ฯลฯ ลักษณะเช่นนี้ทำให้กลุ่มทุนขยายตัวอย่างมากเช่นเดียวกันกับอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน Guy Standing ได้ชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวของกลุ่มแรงงานเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนของรายได้ ความมั่นคงในงาน รวมถึงสำนึกร่วมของผลประโยชน์จากการต่อสู้ทางชนชั้นก็หายไปเช่นกัน และเมื่อเทียบในกลุ่มอาชีพเดียวกัน รายงานจากวารสารข่าวออนไลน์ economia รายงานถึงบทสัมภาษณ์ Standing ชี้ให้เห็นว่า มันอาจมีทนายที่มีค่าตัวหลักล้าน มีทนายที่มีเงินเดือนประจำ ไล่ลงมากระทั่งนักกฎหมายกึ่งอาชีพ (Paralegal) ที่ทำงานพื้นฐานไปเรื่อยๆไม่มีการเติบโตในอาชีพ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสวัสดิการ ลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่ทุกอาชีพในลักษณะทั่วไป การขยายตัวของ Gig Economy เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ใช้แรงงานเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะได้เป็น “เจ้านายตัวเอง รายได้เพิ่มมากขึ้น และมีอิสระในการรับงาน” แต่ในทางตรงข้าม Mark Graham จากมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวของ Gig Economy ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีสวัสดิการและคนต้องถูกจูงใจในการทำงานเพื่อให้ได้รับเงินอย่างเช่น ในกลุ่มประเทศ แอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Sahara) หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลักษณะของเศรษฐกิจแบบนี้มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิด การขยายตัวของแรงงานที่ไม่มีความหลากหลายอย่างล้นเกิน ความไม่มั่นคงในอาชีพ การเลี่ยงภาษีของเจ้าของธุรกิจ รวมถึงการเลือกปฏิบัติในการแจกจ่ายงาน อันส่งผลต่อการแยกขาดจากสังคมเนื่องด้วยการทำงานที่มากเกินไป

5.ความเป็นชายขอบของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีเหตุปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ชีวิต  ประชาไท-หนังสือพิมพ์ออนไลน์ได้รายงานข่าวโดยอ้างถึงรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนครั้งที่ 5 ว่าอัตราป่วยเป็นโรคเบาหวานของคนไทยอายุเกิน 15 ปีเพิ่มจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็น 8.9 ในปี 2557 และโรคเบาหวานมีความเกี่ยวพันกับโรค  โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคไตวายเรื้อรัง  สาเหตุหนึ่งมาจากการพักผ่อนที่ไม่เป็นเวลาหรือการทำงานที่หนักมากเกินไป

ทั้งนี้ บทความของ Glasgow และ Shrecker ในวารสาร Health Place ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 ได้ชี้ให้เห็นลักษณะสองด้านของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ) ที่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยมักพิจารณาว่าเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคส่วนตนและพยายามในแง่มุมนี้ในการผลักดันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของปัจเจกชนและส่งออกแนวคิดนี้กลายเป็นเรื่องสากลทั่วไป แต่ละเลยความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปิดเสรีการค้าและบริการ ที่เอื้อต่อการสะสมทุน สิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยากจน ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถบริโภคอาหาร หรือมีแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพระยะยาวได้ ขณะเดียวกันราคาของสุขภาพที่ดีก็สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น อาหาร การพักผ่อน และจำกัดการเข้าถึงมากขึ้นเช่นกัน การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจึงไม่สามารถทำได้เพียงแค่การรณรงค์หรือเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่หากจำเป็นต้องพูดถึงการกระจายทรัพยากรสุขภาพ การเพิ่มอำนาจการต่อรองในการทำงาน และเพิ่มความมั่นคงในการทำงานที่สามารถพักผ่อนได้มากขึ้น

6.ความเป็นชายขอบของภาวะซึมเศร้าในกระแสเสรีนิยมใหม่

ในภาวะที่คนในสังคมถูกบีบบังคับให้ต้องซื้อทุกอย่างแม้กระทั่งความสัมพันธ์ที่ดี การทำตนให้มีค่าอยู่ตลอดเวลา และต้องพยายามอยู่รอดในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมได้ไม่ว่าจะทำงานหนักและเชื่อมั่นขนาดไหน Lauren Berlant ระบุในหนังสือ Cruel Optimism ว่าสิ่งที่มาพร้อมกับการขายตัวของเสรีนิยมใหม่ คือการควบคุมผ่านคุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมที่ทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามกับสังคมได้ และทำให้เรารู้สึกกับความปกติของคุณค่าที่เกิดจากการที่เราไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบได้ พร้อมกับการสร้าง “แฟนตาซี” ขึ้นมาเช่น ครอบครัวที่อบอุ่น การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม หรือการวางแผนการเงินที่ดี การรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเอง เงื่อนไขข้างต้นเป็นภาวะของการสร้างเงื่อนไขเหนือจริงขึ้นมาให้เราสามารถอยู่ได้ในโลกที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ลักษณะเช่นนี้ขยายตัวสู่ภาวะซึมเศร้าในวงกว้าง การขาดเป้าหมายในชีวิต ขาดอิสระในการเลือก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นข้ามชนชั้นเป็นภาพรวมของทั้งโลกไม่จำเพาะในประเทศยากจน อันเนื่องด้วยสภาวะไร้อำนาจ (ไร้ทางเลือก ไร้ความมั่นคง เต็มไปด้วยความเสี่ยง) แต่คาดหวังให้ผู้คนต้องเลือกให้ดีที่สุด ลงทุนอย่างมีเหตุผล และบริหารความเสี่ยงได้

สรุป

ลักษณะความเป็นชายขอบภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือประเทศยากจนเท่านั้น หากแต่ได้ขยายตัวสู่ลักษณะที่มีความทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ภายใต้การพยายามเข้าควบคุมและแปรเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนชายขอบที่มีปริมาณสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหนักและมีความยากจนถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด กลุ่มแรงงานเสี่ยงที่แบกรับความเสี่ยงจากระบบทุนนิยมและไร้อำนาจต่อรอง สุขภาพที่เสื่อมโทรมจากการทำงานหนักและต้นทุนของสุขภาพที่ดีสูงขึ้นจนเอื้อมไม่ถึง และสุดท้ายคือภาวะความซึมเศร้าที่เราไม่สามารถเป็นเจ้าของโลกที่เรารับใช้มันอยู่ทุกวัน


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Berlant, L., & Ebrary, Inc. (2011). Cruel Optimism.

Financial Times (2018) Eight charts on inequality in the US https://ftalphaville.ft.com/2018/01/04/2197227/eight-charts-on-inequality-in-the-us/ access 31 Aug

Glasgow, S., & Schrecker, T. (2015). The double burden of neoliberalism? Noncommunicable disease policies and the global political economy of risk. Health & Place, 34(C), 279-86.

Johnson.Neil (2017) The rise of the precariat in The Economia https://economia.icaew.com/features/june-2017/the-rise-of-the-precariat access 31 Aug 2018

World Bank (2018) Intergenerational Mobility around the World https://www.worldbank.org/en/events/2018/05/22/intergenerational-mobility-around-the-world access 31 Aug 2018

ประชาไท (2561) งานวิจัยชี้นอนดึกตื่นสายนอนหลับๆตื่นๆเสี่ยงโรคเบาหวานhttps://prachatai.com/journal/2018/08/78515เข้าถึง 31 สิงหาคม 2561