ฟาสามัญ ep.10
อำนาจ 3 แบบ
สวัสดีครับ เรามาพบกันกับคลิปฟาสามัญออนไลน์ ในคลิปนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแนวคิดเรื่องอำนาจ 3 แบบ ซึ่งผมได้เรียนรู้มาจากแนวคิดของสตาร์ฮอคซึ่งเป็นนักกิจกรรมผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและสังคม ในฟาสามัญเราสนใจเรื่องการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ ดังนั้นทำความเข้าใจเรื่องอำนาจ การวิเคราะห์อำนาจ การได้รู้ว่ามีหลายแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญของฟาสามัญ
ในที่นี้ เราก็จะมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าในสังคมของเรามันมีคู่ของความสัมพันธ์อยู่ เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นคู่ของครูนักเรียน ผู้ใหญ่กับเด็ก พ่อแม่กับลูก คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงกับคนเจ็บป่วยหรือคนพิการ คนที่เป็นนายกกับคนที่เป็นประชาชน ทหารกับประชาชน หัวหน้ากับลูกน้อง คนขาวกับคนผิวดำในประเทศไทย คนที่อยู่กรุงเทพฯกับอยู่ต่างจังหวัด คนที่เรียนสูงคนที่เรียนน้อย
เราจะมีคู่ความสัมพันธ์แบบนี้ในสังคมอยู่เยอะแยะมากมาย ลองสังเกตดู สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีโดยตัวของมันเอง คำถามก็คืออะไรทำให้คนที่อยู่ข้างหน้าได้ยังอยู่ข้างหน้า
อะไรทำให้ครูได้อยู่ข้างหน้า
ผู้ชายได้อยู่ข้างหน้า คนที่สุขภาพแข็งแรงได้อยู่ข้างหน้า
ทหารได้อยู่ข้างหน้า คนร่ำรวยคนมีเงินได้อยู่ข้างหน้า
แน่นอนครับ เป็นเพราะว่าแหล่งอำนาจแตกต่างกันนั่นเอง
แหล่งอำนาจที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง ความคิดความเชื่อ วัฒนธรรม ประสบการณ์ ความมุ่งมั่นทางจิตใจ สุขภาพ ค่านิยมของคนในสังคม พรรคพวก พี่น้องเพื่อนฝูง ความรู้ การศึกษา กฎหมายหรือว่าตัวระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อคนบางคน ตัวระบบการเดินทางที่เอื้อต่อคนบางคน
ต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งอำนาจของคนในสังคม ที่มีบางคนสามารถเข้าถึงได้มากกว่า และมีบางคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึง แหล่งอำนาจเหล่านี้มีอยู่ในสังคมโดยทั่วไป มันทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเนี่ยมันมีความไม่เท่าเทียมกัน แต่อย่างไรก็ตามนะครับ การที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่าเทียมกัน ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีโดยตัวมันเอง มันขึ้นอยู่กับวิธีการใช้อำนาจต่างหาก วิธีการใช้อำนาจมีอยู่ 3 แบบ แบบแรกเราเรียกมันว่าการใช้อำนาจเหนือ
อำนาจเหนือ
Power Over
การใช้อำนาจเหนือเป็นการใช้อำนาจแบบที่เราคุ้นเคยกัน ก็คือการที่คนหรือกลุ่มคนใช้แหล่งอำนาจให้ตัวเองมี เพื่อที่จะตัดสินใจแทนคนอื่น หรือบีบบังคับให้คนอื่นกระทำการในสิ่งที่ตัวเขาเองไม่ต้องการ รวมถึงไปตัดสินคุณค่าความหมายของชีวิตและประสบการณ์ของคนอื่นด้วย เราอาจจะเคยได้รับประสบการณ์การใช้อำนาจเหนือกันมาในชีวิตเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นถูกใช้หรือเป็นคนที่ใช้กับคนอื่น
เครื่องมือของอำนาจเหนือ
เครื่องมือสำคัญของการใช้อำนาจเหนือก็คือ การให้รางวัล การลงโทษ แล้วก็การควบคุมบงการ ยกตัวอย่างเช่น ในนามของความหวังดี เช่น พ่อแม่หวังดีต่อลูกในการเลือกให้ลูกเรียนอะไร หรือว่าเราหวังดีต่อคนยากคนจนเราเลยเอาสิ่งของไปบริจาคให้โดยไม่ได้ถามก่อนว่าเขาต้องการอะไร อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าการที่รัฐบาลทำโครงการอะไรต่างๆ เพื่อการพัฒนาโดยไม่ได้ถามคนในพื้นที่ หรือว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจทำการปราบปรามคนที่คิดเห็นต่างจากตนโดยที่ไม่ได้ฟังเลยว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ เหล่านี้เป็นการใช้อำนาจเหนือ
ในชีวิตประจำวันของเราเอง เราก็อาจจะเคยใช้อำนาจเหนือเวลาที่เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจมากกว่าคนอื่น มีแหล่งอำนาจมากกว่าคนอื่น เช่น มีเงินมากกว่า มีประสบการณ์มากกว่า มีอาวุโสกว่า มีทรัพยากรมากกว่า เราก็ใช้การควบคุมทรัพยากรของเราในการที่จะไปบีบบังคับให้คนอื่นต้องตัดสินใจหรือกระทำการใดๆ ตามที่เราต้องการก็ได้ ซึ่งหลายๆครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว เราเองคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะว่าเรามักจะมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบคนที่กดขี่เรา หรือคนที่มีอำนาจเหนือเรา เนื่องจากภายในจิตใจลึกๆ ของเรา บางทีเราก็จะรู้สึกว่าคนเหล่านั้นมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเรา เราพยายามที่จะเลียนแบบพวกเขา เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิม
ยังมีการใช้อำนาจอีกแบบหนึ่งที่เป็นการใช้อำนาจให้มันตรงข้ามกัน ก็คือการใช้อำนาจร่วม
อำนาจร่วม
Power with other
การใช้อำนาจร่วมมันคือ การที่คนหรือกลุ่มคนใช้แหล่งอำนาจที่ตัวเองมี เพื่อที่จะสร้างการตัดสินใจร่วมกับผู้อื่น หรือทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งส่งเสริมให้คนอื่นได้ตัดสินคุณค่าความหมายประสบการณ์ของตัวเอง ก็คือเป็นอำนาจที่มาจากการร่วมมือกับคนอื่น
เครื่องมือของอำนาจร่วม
เครื่องมือสำคัญของการใช้อำนาจร่วมก็คือ การประชุม การหาข้อตกลงร่วมกัน การพูดคุยสนทนากัน การใช้อำนาจร่วมนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยการตัดสินใจร่วม ไม่ว่าจะเป็นการถามกันว่า เราจะมีเป้าหมายการอบรมการเรียนรู้ การประชุมครั้งนี้เป็นอะไร เราจะมีข้อตกลงกันยังไง เราจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในการมาอยู่ร่วมกันในช่วงนี้ เราจะตัดสินใจในมติเหล่านี้อย่างไร ให้วงเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นอำนาจร่วม การส่งเสริมอำนาจร่วมจะทำให้คนเนี่ยมีความสามารถในการเติบโต ในการที่จะอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดความยุติธรรม ความเป็นธรรมในสังคม มากกว่าที่จะใช้อำนาจเหนือในการที่บอกว่า มีใครสักคนบางคนหวังดีต่อสังคม และยึดกุมทรัพยากรเอาไว้แล้วตัดสินใจให้แก่คนอื่น การใช้อำนาจร่วมมันจะเกิดมาจากการเคารพในเพื่อนมนุษย์ การเชื่อมั่นว่าคนทุกคนสามารถพัฒนาได้ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับคนอื่น
การมีส่วนร่วม 4 ระดับในการใช้อำนาจร่วม
เราอาจจะใช้เครื่องมือการใช้อำนาจร่วมใน 4 ระดับก็ได้นะครับ ตั้งแต่อันแรกก็คือ การร่วมที่จะคิดร่วมกัน ร่วมตัดสินใจร่วมกัน ร่วมทำแล้วก็ร่วมรับผิดชอบ กระบวนการเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องครบทั้ง 4 แบบ 4 ขั้นตอนก็ได้ ฟาสามัญอาจจะชักชวนให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในมิติต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะให้ความสำคัญอย่างมากกับขั้นตอนของการร่วมกันตัดสินใจ
ในช่วงแรกคนอาจจะไม่พร้อมหรืออาจจะไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะมาร่วมคิด แต่อย่างน้อยถ้าเราให้ข้อมูลมากพอ ถ้าเราให้โอกาสในการเรียนรู้มากพอ เขาก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ หลังจากการตัดสินใจแล้วก็นำไปสู่การร่วมทำหรือว่าการร่วมรับผิดชอบ ซึ่งบางทีถ้าหากว่าไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตัดสินใจร่วมกันเนี่ย การร่วมทำกับการร่วมรับผิดชอบก็อาจจะไม่ใช่การใช้อำนาจร่วมกันอย่างแท้จริงก็ได้
ฟาสามัญเราจึงให้คุณค่ากับการตัดสินใจร่วมเป็นหลัก เราก็จะสร้างโครงสร้างของการตัดสินใจร่วมไปหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมกัน การถามตัวบุคคล การมีกลุ่มย่อยต่างๆ ที่จะแสวงหาข้อตกลงอะไรต่างๆ ตั้งแต่ระดับย่อยมาจนถึงระดับใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น
ในแง่ของสังคมเองก็เช่นกัน เราสามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมของการใช้อำนาจร่วมขึ้นมาได้ เพื่อให้สังคมนี้ได้เรียนรู้และเติบโต ทั้งนี้เนื่องจากว่า คนเราเนี่ยจะเติบโตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาเอง การที่คนถูกใช้อำนาจเหนือเนี่ยบางทีเราจะสามารถปัดความรับผิดชอบไปได้ เช่น เฮัย! คนนั้นเป็นคนตัดสินใจให้เรา เราไม่ได้คิดเอง เราไม่ได้ตัดสินใจเอง เราถูกบีบบังคับให้ทำ เราจะไม่เรียนรู้ในการกระทำนั้นๆ แต่ว่าถ้าหากว่าเราใช้อำนาจร่วม เราเป็นหนึ่งในคนที่ตัดสินใจ เราก็จะได้มีโอกาสในการพิจารณาวิธีการการตัดสินใจของเรา ได้เรียนรู้ ได้สรุปบทเรียนของตัวเราที่จะทำให้เติบโตมากขึ้น
คุณที่ถูกใช้อำนาจเหนือบ่อยๆ มักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ เนื่องจากกลัวจะถูกลงโทษหรือว่าถูกตัดสิน หรือในอีกทางนึงก็คือ มีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะกระทำการใดๆ เพื่อให้รางวัล ได้รับคำชม ส่วนใหญ่แล้วคนที่ถูกใช้อำนาจเหนือมาบ่อยๆ มักจะรู้สึกต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ รู้สึกพึ่งพาคนที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือพึ่งพาคนที่มีอำนาจด้อยกว่าในการที่จะต้องใช้อำนาจเหนือ ก็จะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันตลอดเวลา
ในขณะที่เมื่อเราส่งเสริมการใช้อำนาจร่วม เมื่อเราใช้อำนาจร่วมบ่อยๆ เราก็จะเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับคนอื่น เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ถึงแม้จะมีความผิดพลาด ก็เป็นความผิดพลาดที่เราจะแบ่งปัน เฉลี่ย เกลี่ย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในกลุ่มได้ ฟาสามัญจึงมักจะส่งเสริมการใช้อํานาจร่วมเป็นหลัก
แหล่งอำนาจภายนอก กับแหล่งอำนาจภายใน
เราพูดถึงเรื่องแหล่งอำนาจไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง อาวุธ ชื่อเสียง ค่านิยมวัฒนธรรม เหล่านี้เนี่ยเป็นแหล่งอำนาจภายนอก ซึ่งจริงๆ แล้วพวกนี้มันจะถูกแย่งชิงได้ หรือว่ามีการเสื่อมสลายได้ แต่มันจะมีแหล่งอำนาจอีกแบบนึง ที่เราเรียกกันว่าแหล่งอำนาจภายใน มันก็คือตัวประสบการณ์ ความรู้ ความศรัทธา ความมุ่งมั่น ความหวัง ความฝัน ซึ่งถ้ามันมีเยอะๆ มันก็จะเป็นแหล่งอำนาจอีกแบบนึงที่เราเรียกกันว่าแหล่งอำนาจภายใน ซึ่งมันจะแผ่ขยายไปแล้วกลายเป็นความสามารถในการกระทำการสิ่งใดๆ ให้สำเร็จ อำนาจภายในก็จะใช้แหล่งอำนาจเหล่านี้ล่ะครับ
อำนาจภายใน
Power from within
อำนาจภายในเนี่ย ภาษาอังกฤษมันมาจากคำว่า Power from within ก็คือมันเป็นอำนาจที่มันมาจากข้างในของตัวเราออกไปอยู่ข้างนอก เป็นสิ่งที่ใครก็แย่งยึดไปจากเราไม่ได้ และถ้าไม่มีเราก็สามารถพัฒนามันขึ้นมาได้ เช่น เรามีความมุ่งมั่นร่วมกัน หรือว่ามีใครบางคนมีความมุ่งมั่นมากๆ มีความศรัทธา มีความหวังมากๆ เขาก็กระทำการใดๆ จนกระทั่งมันสามารถที่จะสำเร็จได้ ซึ่งอำนาจภายในนี้เนี่ยมันอาจจะมีหลายๆ คนแล้วก็มาใช้อำนาจภายในร่วมกันก็ได้ เช่น เรามีเจตจำนงที่เราอยากจะเห็นสังคมเท่าเทียมร่วมกัน การมีความหวังต่อสังคมร่วมกัน
แหล่งอำนาจภายในจะเป็นสิ่งที่คนยากคนจนสามารถที่จะเอามาใช้ต่อสู้กับความอยุติธรรมทางสังคมได้มากกว่านะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความศรัทธา ความมุ่งมั่น ความหวัง ความฝัน ประสบการณ์ อารมณ์ขัน หรือคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมายนะครับที่เราสามารถที่จะร่วมกันพัฒนาขึ้นมาได้
ตัวอย่างการใช้อำนาจภายใน
ตัวอย่างของการใช้อำนาจภายใน ในสังคมของเราที่ผ่านมาก็ยกตัวอย่างเช่น คานธี ด้วยความมุ่งมั่นของเขา ด้วยวิถีชีวิตปฏิบัติของเขา อาจจะไม่ได้มีการร่วมมือพูดคุยกับคนอื่น มีการประชุมอะไรเยอะแยะ แต่ว่าความมุ่งมั่นของเขาเนี่ยก็ได้ดึงดูดผู้คนจำนวนมากที่จะเข้ามาร่วมกัน ใช้อำนาจร่วมกัน หรือว่ากระทำการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน
หรือว่าคนอื่นๆ อีกจำนวนมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการที่จะปกป้องวิถีชีวิตผืนแผ่นดินของตัวเอง ก็อาศัยความรักในบรรพบุรุษ อาศัยความรักในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตัวเองรวบรวมกันขึ้นมา เพื่อที่จะต่อสู้กับอำนาจเหนือที่มากดทับได้
หรือว่านักกิจกรรมที่ใช้ร่างกายตัวเอง ใช้ความมุ่งมั่นของตัวเองในการอดอาหารประท้วงต่อความอยุติธรรมหลังจากถูกจับโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างนี้เป็นต้น
พลังภายในเหล่านี้มันก่อให้เกิดเป็นอำนาจที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การชักชวนโน้มน้าว เพื่อให้เกิดการกระทำการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้
มุมมองของการใช้อำนาจแต่ละแบบ
ในมุมมองต่อหน้าทั้ง 3 แบบ เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องการใช้ไปแล้ว แต่ว่ามันมีความแตกต่างกันในเรื่องของมุมมองของอำนาจด้วยที่ส่งผลให้เราในใช้อำนาจไม่เหมือนกัน
ในมุมมองของคนที่เชื่อในอำนาจเหนือ เขามักจะเชื่อว่าอำนาจมันมีอยู่จำกัด มันมีอยู่ก้อนเดียว เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าไปแย่งยึด ใช้อำนาจที่มีอยู่จำกัดนั้นให้มากกว่าคนอื่น อยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะเอามาใช้ในการควบคุม บงการ หรือมีอำนาจที่เหนือกว่าคนอื่น
ในขณะที่คนที่เชื่อในอำนาจร่วม จะมองว่าอำนาจเป็นสิ่งที่มีได้ไม่จำกัด เราสามารถพัฒนามันได้ เราสามารถทำให้อำนาจมันขยายตัวได้ ผ่านความร่วมมือ ผ่านการเรียนรู้ ผ่านการเชื่อมโยงประสาน แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันและกัน ด้วยมุมมองอำนาจแบบนี้ มันจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมายื้อแย่งแข่งขันกัน แต่มันจะมุ่งไปสู่ความร่วมมือกันเพื่อให้กลุ่มทั้งหมดไปด้วยกัน แล้วก็ใช้อำนาจเหล่านี้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสังคมที่ดีกว่าร่วมกัน
สำหรับคนที่ใช้อำนาจภายใน เช่นกันครับ เขาก็จะมองเหมือนกันว่าอำนาจเนี่ยมันสามารถขยายตัวโดยไม่จำกัด แต่ว่ามันสามารถที่จะขยายตัวผ่านการเรียนรู้ภายในของแต่ละคน ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง สามารถที่จะพัฒนาอำนาจภายในของเขา เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่น เกิดความหวัง เกิดความศรัทธากันและกัน จากนั้น เขาจะใช้อำนาจภายในเหล่านั้นมาร่วมมือกันกับคนอื่นๆ มาชักชวน มาโน้มน้าว มากระทำการร่วมกันกับคนอื่นๆ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสได้พัฒนาอำนาจภายในเช่นเดียวกันกับเขาต่อไปเรื่อยๆ
นี่เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะว่าถ้ามุมมองของเราอย่ามองว่าการที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การที่จะสร้างสังคมที่มันดีขึ้นมาได้ จำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจเหนือ เราก็จะมองการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกแบบหนึ่ง ก็คือถ้าเรามองว่าเราจะต้องใช้แหล่งอำนาจภายนอก ในส่วนของคนด้อยโอกาส คนชายขอบ คนยากคนจน ผู้ถูกกดขี่ มักจะมีแหล่งอำนาจภายนอกน้อยกว่าฝ่ายที่เป็นผู้กดขี่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง อาวุธ พรรคพวก ความเชื่อค่านิยมต่างๆ แหล่งอำนาจที่คนยากคนจน คนชายขอบ ผู้ถูกกดขี่ มีโอกาสที่จะมีมากกว่าผู้กดขี่ก็คือแบ่งอำนาจภายในนั่นเอง จะเห็นได้ว่ามุมมองต่ออำนาจของแต่ละการใช้อำนาจมันแตกต่างกัน มันส่งผลให้มีการปฏิบัติการที่มันต่างกัน
ในฟาสามัญของเรา เราจะพยายามทำความเข้าใจกับอำนาจทั้ง 3 แบบ เอามาใช้ในการวิเคราะห์ มองว่า เอ๊ะสิ่งเหล่านี้ เราจะพัฒนาให้มันเติบโตไปได้อย่างไร เมื่อเราใช้อำนาจเหนือมันจะเกิดอะไรขึ้น ใช้อำนาจร่วมจะเกิดอะไรขึ้น และใช้อำนาจภายในจะเกิดอะไรขึ้น เราสังเกตเรียนรู้แล้วค่อยๆ พัฒนากันขึ้นไปเพื่อนำไปสู่การท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมขึ้นมาให้ได้
สรุป
เราก็มาทำความเข้าใจกับแนวความคิดการใช้อำนาจทั้ง 3 แบบในเบื้องต้นกันไปนะครับ ผมก็ขอชวนให้พวกเราลองไปสำรวจตัวเองว่าในชีวิตประจำวัน หรือว่าที่ผ่านมา เราได้เคยได้ลองใช้อำนาจเหนือ อำนาจร่วม หรืออำนาจภายในอะไรบ้าง และเราก็จะสามารถพัฒนากระบวนการของเรา หรือว่าวิถีชีวิตของเราที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาอำนาจร่วมและอำนาจภายในต่อไปได้อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่น่าท้าทายตัวเองที่จะพัฒนาอำนาจเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อที่จะนำไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมเป็นธรรมมากขึ้น และสร้างวัฒนธรรมการสนทนากันต่อไปในอนาคต
ก็จบลงแล้วนะครับสำหรับแนวคิดเรื่องการใช้อำนาจทั้ง 3 แบบตามแนวทางของสตาร์ฮอก สำหรับที่จะให้ทางฟาสามัญได้เอาไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการประชุม กระบวนการทำงานทางสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมต่อไป ครับผมขอบคุณครับ