ฟาสามัญ | ภาคฟานอกห้อง

ชุด เมื่อมีคนพูดมากในวง

ตอนที่ 1: การรับมือกับผู้เข้าร่วมที่ยุ่งยาก

ในการประชุม สัมมนา อบรม ต่าง ๆ เรามักจะต้องพบกับผู้เข้าร่วมที่มีความหลากหลายต่าง ๆ กันไป หลายคนทำให้การพบกันเป็นเรื่องน่าประทับใจ ในขณะที่บางคนกลับทำให้การพบกันครั้งนั้นน่าเบื่อหรือพังทลายลง

ในฐานะฟาฯ ที่มีหน้าที่ทำให้กลุ่มไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น เราจะรับมือกับผู้เข้าร่วมที่ทำให้กลุ่มไปข้างหน้าได้ยากอย่างไร?

ขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอนคือ  จัดการตนเอง ดูแลผู้นั้น กลับมาที่กลุ่ม

ขั้นแรก จัดการตนเอง

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยาก ฟาอาจรู้สึกปั่นป่วน สิ่งแรกที่ต้องทำจึงเป็นการกลับมาตั้งหลัก เชื่อมต่อ และทบทวนเป้าหมายของงานนั้น ๆ เพื่อไม่ให้ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากเกินไป ย้ำเสมอว่าฟามีหน้าที่ช่วยให้กลุ่มไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่เอาชนะใครในกลุ่ม

ขั้นที่สอง ดูแลผู้นั้น

สถานการณ์ยุ่งยากอย่างการพูดมาก ไม่ฟัง ทะเลาะกัน อาจจะเป็นสัญญาณของการต้องการความช่วยเหลือของใครสักคนในกลุ่ม สิ่งที่ฟาต้องทำ ไม่ใช่จัดการหรือเอาชนะ แต่คือมุ่งไปที่การดูแล 

ขั้นที่สาม กลับมาที่กลุ่ม

หลังจากจัดการตนเอง ดูแลผู้นั้น ต้องไม่ลืมที่จะกลับมาที่กลุ่ม ฟาทำงานกับกลุ่ม อย่าให้กลุ่มรู้สึกว่าถูกทิ้งหรือถูกฟารวบอำนาจไป มันคือการชวนให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือให้กลับมาเชื่อมต่อกับกลุ่ม และทำให้กลุ่มกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้ง เป็นขั้นสุดท้าย

ตอนที่ 2 สาเหตุที่เขาพูดมากในวง

คนผู้ใช้เวลากับการพูดในวงมาก ๆ ที่เรามักจะพบเจอมีหลายแบบ เราสามารถสังเกตได้ว่าคนที่ใช้เวลาพูดในวงมาก ๆ นั้นมีแรงจูงใจอะไร เพื่อที่เราจะปฏิสัมพันธ์กับเขาได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น 

กลัวคนอื่นไม่เข้าใจ

คนกลุ่มนี้มีความกังวลว่าตนเองไม่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้ จึงมักจะพูดอธิบายยาว อาจจะเริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไป ประเด็นแวดล้อม ตัวอย่าง ประเด็นเชื่อมโยงต่าง ๆ และบางครั้งเมื่อพูดไปแล้วก็นึกประเด้นอื่นต่อได้จึงพูดต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น

ฟาสามารถช่วยคนกลุ่มนี้ได้ด้วยการ เข้าร่วมการสนทนา และทวนคำพูดของเขาให้ชัดเจน เพื่อให้เขารู้ว่าเราเข้าใจแล้วไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อ

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าร่วมการสนทนาตั้งแต่ต้น มีปฏิกิริยาตอบรับ ทวนคำพูดเป็นระยะสั้น ๆ จนเข้าใจทั้งหมดแล้วจึงขอสรุปสิ่งที่พูดมาสั้น ๆ ให้เขาและวงฟัง ก่อนจะเชิญให้คนอื่นพูดต่อ

มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการสื่อสารกับผู้อื่น แต่ยังไม่รู้สึกว่าได้รับการรับฟัง

คนกลุ่มนี้จะพูดซ้ำ ๆ ถึงประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง หรือพูดถึงประเด็นตนเองทุกครั้งซ้ำ ๆ ที่มีโอกาส โดยไม่สนใจว่าวงกำลังสนทนากันอยู่ในประเด็นอะไร

สิ่งที่ฟาทำได้คือการทำให้เขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง และทำให้เขารู้สึกว่าวงรับฟังเขา ถึงแม้อาจจะยังไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของเขาได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีคนรับฟังอย่างจริงจัง

อาจจะทำได้โดยการทวนคำพูด เขียนลงกระดาน หรือขอให้มีอาสาสมัครมาทำกลุ่มย่อยคุยเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วงเย็นหลังการอบรมหรือการประชุมจบ

ต้องการให้คนในวงยอมรับความสามารถ 

คนกลุ่มนี้ต้องการแสดงให้คนในวงเห็นว่าตนเองมีความรู้ความสามารถที่อยากให้วงได้รับรู้ อาจแสดงออกด้วยการยกคำคม ทฤษฎี คำสอน หรือเล่าว่าตนเองมีความรู้ประสบการณ์อะไรเพื่อเป็นหลักฐาน หลายครั้งอาจจะพูดเหมารวมว่าคนอื่นก็คิดแบบตนเช่นเดียวกัน เช่น “ใคร ๆ ก็…” “ทุกคนต่าง…” “คนอื่น ๆ ก็เป็น”

เนื่องจากแรงจูงใจของคนกลุ่มนี้คือการยอมรับจากวง ฟาสามารถชวนให้เขาเข้ามาเชื่อมต่อกับวงได้ด้วยการชวนให้เขาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับวง เมื่อเขายกคำสอนกว้าง ๆ หรือเป็นนามธรรม จากนั้นก็ขอให้เขาได้ฟังประสบการณ์อันหลากหลายของคนอื่นในวงบ้าง

ย้ำว่าประสบการณ์ของเขามีคุณค่า และของคนอื่นก็เช่นเดียวกัน

ต้องการช่วยเหลือวง

กลุ่มนี้จะกลัววงเงียบ อยากช่วยฟา จึงมักจะตอบคำถามอย่างรวดเร็ว มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ซึ่งในบางครั้งทำให้คนอื่นในวงไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ เนื่องจากตอบไม่ทัน หรือคิดว่าไม่ต้องแลกเปลี่ยนอะไรมากแล้วเพราะมีคนคุยในวงแล้ว

เนื่องจากคนกลุ่มนี้มุ่งไปที่การช่วยเหลือวงและฟา ดังนั้นฟาอาจจะบอกเขาไปตรง ๆ ก็ได้ว่าอยากให้คนอื่นได้พูดก่อนบ้าง แล้วถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็ค่อยเสริมอีกได้ หรือใช้กระบวนการกลุ่มย่อยมากขึ้น เพื่อให้คนที่ไม่มีโอกาสในวงใหญ่ได้พูดมากขึ้น

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของแรงจูงใจแบบต่าง ๆ อาจจะมีแรงจูงใจอื่น ๆ อีก ให้ลองสังเกต และมองหาหนทางที่จะช่วยให้เขาและวงสามารถเชื่อมต่อกันได้ในที่สุด

ตอนที่ 3 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

สถานการณ์ยุ่งยากมีหลายแบบ แต่ที่เรามักจะเจอบ่อย ๆ คือ มีบางคนพูดมากเกินไป

ในการจัดกระบวนการ เราอาจจะพบกับคนที่มักจะพูดยาว พูดบ่อย พูดเชิงสั่งสอน ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่รู้ทุกเรื่อง สามารถแสดงความเห็นในทุกๆ หัวข้อ และทำตัวเป็นผู้รู้ไม่ฟังใคร จนทำให้ผู้เข้าร่วมท่านอื่นไม่มีส่วนร่วม ไม่สามารถสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนสนทนาได้

ช่วยให้เขาเชื่อมต่อกับวง

เวลาคือทรัพยากรร่วมกันของวง การที่มีใครบางคนใช้เวลาในการพูดมากกว่าคนอื่น เป็นการใช้ทรัพยากรส่วนรวม ฟาจำเป็นต้องช่วยให้วงสามารถจัดการทรัพยากรส่วนรวมร่วมกัน

คนที่ใช้เวลาพูดมากกว่าคนอื่นมีหลายประเภท ซึ่งจะต้องใช้ปฏิสัมพันธ์กันคนละแบบ ในกรณีทั่วไป เมื่อพบกับคนที่ใช้เวลาในการพูดมากกว่าคนอื่นจนกระทั่งอาจเกิดปัญหาการมีส่วนร่วมในวง สิ่งที่ฟาทำได้เบื้องต้นคือ

  • ทวนคำพูดหรือสรุปสั้น ๆ ขอบคุณเขา และขยับไปสู่หัวข้ออื่น
  • ถามผู้เข้าร่วมท่านอื่นถึงความเห็นของเขา
  • ขอบคุณสำหรับการมีส่วนร่วมและบอกเขาว่านี่เป็นเวลาที่จะได้ลองฟังคนอื่นบ้าง
  • ถามระบุคน หรือหน้าที่ หรือตำแหหน่ง เพื่อให้คนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพูด
  • ใช้มุกตลกเพื่อเชื้อเชิญให้คนอื่นกล้าพูด
  • หันไปหาคนอื่นและขอความเห็นที่หลากหลาย
  • บอกเขาว่าขอให้ช่วยสรุปให้สั้นลง
  • หลีกเลี่ยงการมองไปที่คนนั้น และพยายามสบสายตากับคนอื่นในวงมากขึ้น

ข้อห้าม

  • เอาชนะ
  • ปกป้องตนเอง
  • แสดงความโกรธ เกรี้ยวกราด
  • เห็นด้วยกับเขาเพียงเพื่อจะได้จบการสนทนา เพราะจะทำให้คนอื่น ๆ สับสน ผิดทิศทาง
  • ดูถูกเหยียดหยาม
  • เปลี่ยนเรื่อง
  • บอกว่าสิ่งที่เขาพูดมันน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ