ฟาสามัญ | ภาคฟานอกห้อง

ชุด เทคนิคสร้างการมีส่วนร่วม

ในบทบาทของฟา เราอาจจะเคยเจอบรรยากาศการประชุมทีมงาน ในชุมชน ในหมู่บ้านหรือประชุมร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีอำนาจน้อย ที่มักสร้างการมีส่วนร่วมได้ยาก ไม่ออกความเห็น ไม่มานั่งด้วย เออออไปหมด ฯลฯ

กระบวนการประชุมส่วนใหญ่จะไม่มีเวลามากเหมือนในห้องอบรม บางครั้งใช้เวลาเพียงสามสี่ชั่วโมง ดังนั้นฟาจะต้องมีกระบวนการที่จะสร้างมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในเวลาอันจำกัด นั่นคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่กังวลว่าจะถูกตัดสิน จับผิด ถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่อาจจะไม่เข้าท่าในความคิดคนอื่น การยืนยันสิทธิตนเอง การแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

หัวข้อนี้จะประกอบไปด้วย 1 ความเป็นเจ้าของร่วมกัน  2 การระดมความเห็นในวง 3 เพิ่มอำนาจผู้เข้าร่วม และ 4 เครื่องมือที่หลากหลาย

1: สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน

บางคนอาจเคยเข้าการประชุมที่เป็นเพียงฟังคำชี้แจง มีมติมาแล้ว ผู้มีอำนาจสั่งมา ใช้ภาษาทางการ มีคำศัพท์ยากๆ แปลกๆ 

ผู้เข้าร่วมที่รู้สึกตนเองมีอำนาจน้อย มักรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมกับการประชุม ไม่เหมาะสมที่จะเข้าประชุม ออกความเห็น หรือร่วมตัดสินใจ จึงไม่อยากมาเข้าประชุม ไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ารับผิดชอบ

เราสามารถสร้างการประชุมที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของได้ รู้สึกว่าตนเองเป็นประโยชน์ และได้ประโยชน์จากการประชุม

1. ทำให้ทุกคนมีพื้นที่ในวง

ถ้าเป็นวงที่ทุกคนยังไม่รู้จักกันและกัน ก็ขอให้แต่ละคนแนะนำตัว อาจจะเป็นชื่อ ตำแหน่งหรืองานที่ทำ และความเกี่ยวข้องต่อการประชุมครั้งนี้

ถ้าเป็นวงที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ก็อาจมีการพูดอะไรสั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าเช็คอิน เช่น ความรู้สึกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ชีวิตช่วงนี้ อะไรดี ๆ ที่เพิ่งผ่านมา เพื่อให้วงได้ยินได้ฟังกัน ได้รับรู้การมีอยู่ของแต่ละคน เป็นการยืนยันว่าทุกคนที่มาได้รับการยอมรับในพื้นที่นี้ 

2.  ตั้งเป้าหมายร่วมกัน

เราอาจระดมจากผู้เข้าร่วม และสรุปเป็นหมวดหมู่ จากนั้นก็มาเลือกประเด็นที่จะคุยกันภายใต้เวลาที่มีอยู่

การมีเป้าหมายร่วมทำให้ผู้เข้าร่วมรู้กันว่าจะคุยกันเพื่ออะไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ และรู้ว่าความขัดแย้งเรื่องใดที่ควรพักไว้ ความขัดแย้งใดคววรนำมาคุยในครั้งนี้

การไม่เห็นเป้าหมายร่วมกัน อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ได้ หรือต่างคนต่างเสนออะไรที่ไม่มีทิศทางจนไม่สามารถสรุปได้ 

เราสามารถตั้งเป้าหมายร่วมกันของการประชุมครั้งนี้ได้ว่าต้องการอะไร เช่น ต้องการการตัดสินใจ ต้องการวางแผนงาน รับรู้งานกันและกันและช่วยกันแก้ปัญหา ออกแบบกิจกรรม เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนเห็นทิศทางและช่วยกันพากันไปถึงเป้าหมาย

3. ข้อตกลงร่วมกัน

อาจจะเป็นเรื่องการฟัง การพูด การตัดสินใจ การใช้เวลา หรืออะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องครบถ้วนทุกเรื่อง เพราะเราสามารถเพิ่มหรือตัดได้ในระหว่างการคุย สิ่งสำคัญคือการมีข้อตกลงจะช่วยให้คนรู้สึกว่าทำอะไรได้บ้าง ผ่านกระบวนการสร้างข้อตกลง และเห็นทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

รูปแบบของข้อตกลงส่งผลต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในวงด้วย

การตั้งกฏห้าม ตั้งบทลงโทษ ก็จะทำให้คนเกรงว่าจะทำผิดกฏ กลัวว่าจะถูกลงโทษเมื่อทำผิด รู้สึกว่าตนเองตัวเล็ก

แต่ถ้าไม่มีกฏ ไม่มีข้อตกลง เราก็จะใช้ค่านิยมทั่วไปของสังคมในการสร้างความสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้อาวุโส เพศ ตำแหน่ง วุฒิการศึกษา ฐานะ หรือความเป็นคนเสียงดัง เป็นคนกล้าพูด เป็นต้น

เราสามารถใช้ข้อตกลงร่วมที่ทุกคนช่วยกันเสนอ ร่วมกันตัดสินใจ จะนำไปสู่การตระหนักถึงอำนาจที่มีร่วมกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน

4. ประเมินผลการประชุม

เมื่อจบการประชุม เราสามารถให้ทุกคนได้พูดอะไรสั้น ๆ กับวงได้ อาจจะเป็นความรู้สึกต่อวงวันนี้ ประเด็นที่ชอบ สิ่งที่อยากทำหลังจากออกจากห้อง หรืออื่นใด

การพูดสั้น ๆ ก่อนจบวง หรือการเชคเอาท์ เป็นช่วงเวลาของวงที่ทุกคนจะมีโอกาสได้พูดและถูกได้ยินเหมือนตอนเชคอิน เพราะบางครั้ง ในระหว่างประชุมเราอาจไม่มีโอกาสได้พูดเลย การเชคเอาท์จะเป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนจะได้แสดงความเห็นได้อีกครั้ง

ช่วงสุดท้ายนี้จึงเป็นเหมือนการประเมินผลร่วมกัน ทุกคนจะได้อ่านบรรยากาศ รับรู้ความรู้สึก ความพึงพอใจ ประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้จากช่วงเชคเอาท์นี้

2: การระดมความเห็นจากวง

ผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งอาจจะกังวลใจเมื่อต้องแสดงความเห็นในวง ว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ จะถูกหัวเราะเยาะ ปัดตก ดูแคลน หรือเมินเฉยละเลยหรือเปล่า

ฟาสามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมกลุ่มที่ช่วยระดมความเห็นได้ โดยมีขั้นตอนคือ ระดมความเห็น จัดหมวดหมู่ ร่วมกันตัดสินใจ กลายเป็นมติร่วมของวง

ระดมความเห็น โดยยังไม่ตัดสินว่าเอาไม่เอา อาจจะช่วยต่อยอด เสริมเติมได้ แต่ทุกความเห็นจะถูกนำมากองรวมไว้ก่อน

จัดหมวดหมู่ ให้ช่วยกันจัดกลุ่มของความเห็นเหล่านั้น แล้วถามอีกว่าใครมีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

ร่วมกันตัดสินใจ ให้ช่วยกันเลือก อาจจะลำดับความสำคัญ หรือดูความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายงาน

กลายเป็นมติร่วมของวง เมื่อช่วยกันระดมความเห็นและคัดเลือกแล้ว ก็จะกลายเป็นมติวง

วิธีนี้จะช่วยไม่ให้มีการปัดตกหรือถกเถียงไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง คนใดคนหนึ่งทันที ซึ่งจะทำให้คนพูดไม่เก่ง หรือไม่มั่นใจตนเอง รู้สึกถูกโจมตีมาที่ตัวเขามากกว่าจะถกเถียงกันที่ประเด็นหรือเนื้อหา เกิดความกังวลจนไม่กล้ามีส่วนร่วมกับวง

วิธีนี้จะช่วยให้ทุกความเห็นถูกได้ยินและวางไว้จนเย็นพอ แล้วค่อยยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกัน การเห็นแย้ง เห็นด้วย จะมุ่งไปที่ประเด็นหรือเนื้อหามากกว่าตัวคนผู้เสนอ ทำให้กลายเป็นเนื้อหาของวงในที่สุด

3: จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจให้เท่าเทียม

ในวงประชุมประกอบไปด้วยคนหลากหลาย แต่ละคนมีแหล่งอำนาจไม่เท่ากัน ส่งผลต่อบรรยากาศและผลของการประชุม เราไม่อาจทำให้ทุกคนมีแหล่งอำนาจเท่ากันได้ แต่เราจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในวงประชุมอย่างเท่าเทียมกันให้มากที่สุดได้ เพื่อช่วยให้คนที่มีอำนาจมากได้จำกัดการใช้อำนาจของตนได้ในระดับที่ไม่ไปกดทับคนอื่นมากเกินไป และเพื่อให้คนอำนาจน้อยได้มีโอกาสมีส่วนร่วมมากขึ้น

การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่เราสามารถทำได้

1. เริ่มจากประสบการณ์

เรามีการพูดคุยกันในวงประชุมได้สองแบบคือ การพูดโดยเริ่มจากประสบการณ์ และ การพูดจากหลักการก่อน

การชวนให้ผู้เข้าร่วมเริ่มพูดจากประสบการณ์ก่อน จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมมั่นใจขึ้น

หลายครั้งที่เราไม่กล้าพูดอะไรในที่ประชุม เพราะกลัวว่าสิ่งที่พูดออกไปดูไม่มีความรู้ ไม่มีหลักการ ไม่ฉลาด แต่อันที่จริงแล้ว การพูดจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมกลับทำให้เข้าใจง่ายกว่า นำไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจนกว่า

การพูดหลักการกว้าง ๆ ทฤษฎีนามธรรม คำศัพท์เฉพาะ จะใช้ได้ในช่วงที่ต้องสรุป หรืออ้างอิงในสิ่งที่ผู้เข้าร่วมทุกคนพอมีพื้นฐานร่วมกันมาอยู่บ้าง แต่ถ้าใช้ในการสนทนาหรือประชุม มักจะเป็นนามธรรมเกินไป

การพูดจากประสบการณ์ก่อน อาจหมายถึงพูดความรู้สึก พูดสิ่งที่ต้องการ เหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ตอนนี้รู้สึกกังวล ต้องการขายของ เมื่อวานไม่มีเงินซื้อข้าว ตอนนี้มีทีมงานหกคน เป็นต้น

จะเห็นว่าเป็นคำง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็พูดได้ เริ่มจากสิ่งที่ตนเองรู้ สัมผัส และเข้าใจ ก็จะมั่นใจและถ่ายทอดง่าย

ถ้าเราเริ่มจากการพูดหลักการก่อน อาจจะทำให้ผู้เข้าร่วมที่มองว่าตนเองไม่มีความรู้ รู้สึกถอยห่างจากการมีส่วนร่วมในวงได้ เช่น เราจะต้องบูรณาการการทำงาน ชุมชนต้องพอเพียง ทีมงานต้องซื่อสัตย์สุจริต ต้องใช้ดีไซน์ติ๊งกิ้ง ต้องมีโยนิโสมนสิการ

หลักการมักเป็นเรื่องนามธรรม ที่หลายครั้งเราเองก็เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้หลายคนไม่กล้าพูดเพราะเกรงว่าจะเข้าใจความหมายผิดไป นั่งฟังผู้รู้ก่อนจะปลอดภัยกว่า

วงคุยที่เริ่มจากการพูดถึงหลักการอาจจะทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกถูกกดดันจากหลักการที่อาจฟังดูสวยหรูแต่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงขณะนั้น 

ดังนั้นลองสร้างวงคุยที่เริ่มจากประสบการณ์หรือรูปธรรมก่อน จากนั้นก็ค่อยช่วยกันสรุปเป็นหลักการเป็นนามธรรมร่วมกัน ทำให้ข้อสรุปกลายเป็นของทุกคนไม่ใช่มาจากหลักการอื่นนอกประสบการณ์ของคนในวงประชุม

2. ท่าทีที่เท่าเทียม

ท่าทีของฟาหรือผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกวงประชุมมีผลต่อบรรยากาศของวง

ถ้าใช้ท่าทีแบบคุณครูหรือผู้ใหญ่ใจดีมีเมตตา เมื่อมีคนตอบคำถามหรือแสดงความเห็นก็จะชื่นชม ความเห็นใดถูกใจก็จะชื่นชอบ อุ้มชูให้กำลังใจให้รางวัล ผู้เข้าร่วมอาจจะตอบเอาใจฟาหรือแสดงความเห็นเพราะอยากได้รางวัลอยากได้คำชม

ในทางตรงข้าม ถ้าฟาใช้ท่าทีแบบคุณครูหรือผู้ใหญ่ผู้เข้มงวด หวังดี คาดหวังให้ได้ดี จะดุ มีคำตอบที่ถูกต้อง คนจะไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะกลัวถูกลงโทษหรือถ้าจำเป็นต้องตอบก็ตอบเพราะกลัวถูกลงโทษเช่นกัน

จะเห็นว่าท่าทีทั้งสองแบบ เป็นท่าทีของวัฒนธรรมการต่อต้านการสนทนาเช่นกัน

ฟาที่ใช้ท่าทีแบบเพื่อนร่วมกลุ่ม จะพร้อมแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม เคารพกันและกัน ขอบคุณเมื่อรู้สึกดี ถามกลุ่มเมื่อรู้สึกขัดแย้ง ก่อวัฒนธรรมการสนทนาที่แต่ละคนแสดงความเห็นโดยไม่ต้องการคำชื่นชมหรือเพราะกลัว แต่ต้องการต่อเติมเส้นทางไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

3. มีกลุ่มมีเพื่อนที่คิดคล้ายกัน

ในห้องเรียนมักไม่ชอบการจับกลุ่มกันเอง เพราะการจับกลุ่มกันเป็นการสร้างอำนาจที่ท้าทายครูผู้ถืออำนาจเดิม การรวมกลุ่มเป็นวิธีดั้งเดิมของเราในการสร้างอำนาจ 

แต่เราชอบ หากมันเป็นไปเพื่อสร้างอำนาจให้แก่ผู้เข้าร่วมที่มีอำนาจน้อย เราส่งเสริมให้มีการแบ่งกลุ่มย่อย ทั้งจับกลุ่มแบ่งกันเองหรือฟาช่วยอำนวยความสะดวกให้

บางทีผู้เข้าร่วมประชุมอาจจะจับกลุ่มกันมาอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ คนไร้สัญชาติ ชาวประมง วัยรุ่นชาย วัยรุ่นหญิง ยายหลาน เพื่อให้รู้สึกว่ามีพวก รู้สึกปลอดภัย

ฟาอาจจะใช้ประโยชน์จากการจับกลุ่มของผู้เข้าร่วมในช่วงแรกก่อน ด้วยการยอมรับว่ามีกลุ่มย่อยได้ แล้วค่อย ๆ ขยายพื้นที่ปลอดภัยจากภายในกลุ่มเดิมของเขาออกมาสู่กลุ่มอื่น ๆ  และกลุ่มใหญ่ในที่สุด เช่น การจับคู่บัดดี้ จับกลุ่มย่อยที่คละกัน 

ฟาอาจจะชวนให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มได้พูดในมุมมองของเขาเอง เช่น ในฐานะผู้สูงอายุในชุมชน ในฐานะอดีตข้าราชการ ในฐานะเยาวชน เพื่อทำให้ความคิดเห็นของเขา มาจากประสบการณ์เฉพาะ ที่ทำให้เขามั่นใจว่ารู้ดีที่สุดจากจุดที่เป็นอยู่ ถ้าจะมีใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วยจากมุมมองอื่น ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่ตัดสิน

จากนั้นฟาอาจจะชวนผู้เข้าร่วมจับกลุ่มใหม่ผ่านการเชื่อมโยงใหม่ ๆ เช่น ตามประสบการณ์ อาชีพ เพศ วัย ตำแหน่ง ที่อยู่ จนกระทั่งสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห้นได้อย่างอิสระได้

4. มีระบบรับผิดชอบร่วมกัน

การมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ยากในบรรยากาศที่มุ่งจับผิด มองหาข้อผิดพลาด หาคนผิด หรือปัดความรับผิดชอบ

บรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมคือบรรยากาศที่คนรู้สึกปลอดภัย ทำงานเกื้อหนุนกัน มีระบบที่เอื้อต่อการรับผิดชอบร่วมกัน

นั่นคือการมีส่วนร่วม ๔ ระดับ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมประเมินผลและรับผิดชอบ

การจะรับผิดชอบร่วมกันได้ จะต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน เป็นการตกลงกัน ไม่ใช่การสั่ง กดดัน หรือผลักภาระ

นอกจากการตัดสินใจร่วมกันแล้ว ถ้ากลุ่มสามารถสร้างระบบสนับสนุนเช่น

  • ระบบการบันทึกการประชุมที่ดีเพื่อกลับมาอ้างอิงได้
  • มีการสรุปงานหรือถอดบทเรียนหรือAAR ที่ช่วยให้เห็นข้อดีข้อผิดพลาดโดยไม่ได้มุ่งจับผิดบุคคล
  • มีระบบติดตามหนุนเสริมจากทีมงาน
  • เฉลิมฉลองเมื่อมีความสำเร็จ ถอดบทเรียนเมื่อล้มเหลว

ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนการมีส่วนร่วมให้แก่ทีมงานได้ดียิ่งขึ้น

4: มีเครื่องมือที่หลากหลาย

วาดภาพ – การวาดภาพจะช่วยสำหรับคนที่พูดไม่เก่ง เขียนไม่เก่ง ได้กล้าแสดงความคิดตนเองออกมาด้วยภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนที่พูดเก่งเขียนเก่งได้มีโอกาสสงบลงและใช้ทักษะที่ตนเองไม่คุ้นเคยได้ ฟาต้องย้ำเสมอว่าการวาดภาพนี้เพื่อการสื่อสาร ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความสวยงามแข่งขันชิงชัยกัน

เราอาจแจกกระดาษให้แต่ละคนวาด ให้สีเทียนสักกล่อง แล้วให้เวลาสำหรับการถ่ายทอดความคิดในหัวมาเป็นภาพ ระวังอย่าให้มีการหัวเราะเยาะหรือคำวิจารณ์ทางลบต่อภาพ ย้ำเสมอว่าเรามุ่งที่การสื่อสารความคิดเป็นภาพมิใช่การประกวดประชันฝีมือ

จับคู่/กลุ่มย่อย – เราสามารถจับคู่หรือแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกล้าพูดมากขึ้นได้ อาจแบ่งกลุ่มย่อยตามความสนิทสนมก็ได้ในกรณีที่คนยังไม่คุ้นเคยกัน

อ่างปลา (Fish Bowl) – จัดที่นั่งกลางวงสัก 4-5 ที่นั่ง แล้วเชิญอาสาสมัครเข้าไปนั่งโดยเว้นที่นั่งว่างไว้ 1 ที่นั่ง โดยมีกติกาคือถ้ามีคนไปนั่งตรงที่นั่งที่ว่างไว้ ต้องมีคนหนึ่งในวงนั้นลุกออกมานั่งกลุ่มใหญ่หนึ่งคน เพื่อให้มีที่นั่งว่างหนึ่งที่เสมอ ทุกคนมีสิทธิเข้าวงกี่ครั้งก็ได้ 

พูดคนละคำ/ประโยค – ให้ทุกคนได้พูดคนละคำหรือประโยค ในประเด็นที่ต้องการความเห็นของทุกคน โดยอาจจะให้พูดเรียงทีละคนหรือพูดเมื่อพร้อม และสามารถแสดงความเห็นซ้ำกันได้

บัตรคำ – ในกรณีที่ไม่กล้าพูด หรือมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก อาจจะขอให้ทุกคนช่วยแสดงความคิดเห็นผ่านการเขียนบัตรคำ แล้วนำเสนอได้ โดยฟาสามารถถามต่อได้ และนำบัตรคำไปจัดหมวดหมู่ที่กระดานได้ ข้อเสียของบัตรคำคือมักเป็นเพียงคีย์เวิร์ดหรือคำสั้น ๆ  ที่ต้องอธิบายเพิ่ม บางครั้งเมื่อกลับมาดูทีหลังอาจจะไม่เข้าใจ

ไม้พูด – ใช้ไม้หรือหินหรือสิ่งของอะไรก็ได้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถ้าใครถือไว้จะมีสิทธิพูด โดยให้วนไม้ไปเรื่อย ๆ เมื่อพูดเสร็จก็ให้ส่งไม้ต่อไปที่คนถัดไป ฟาสามารถขอให้พูดแบบกระชับตรงประเด็นได้ ผู้ที่ถือไม้อาจใช้สิทธิไม่พูดได้ โดยถือไว้กับตัวสักครู่หนึ่งแล้วค่อยส่งต่อให้คนถัดไป เทคนิคนี้จะช่วยให้ไม่มีคนผูกขาดการพูดมากเกินไปได้ด้วย 

ยกมือ – เป็นการมีส่วนร่วมที่ง่ายที่สุดแบบหนึ่ง ฟาอาจใช้คำถามปิดเพื่อถามแล้วให้ผู้เข้าร่วมยกมือ เช่น ใครเคยมีประสบการณ์พูดหน้าชั้นบ้าง ใครชอบเล่นเกมบ้าง ใครเห็นด้วยกับประเด็นนี้บ้าง ใครรู้สึกเหนื่อยอยากพักบ้าง เป็นต้น  วิธีนี้จะใช้เป็นเทคนิคเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีปฏิกิริยาตอบรับ เมื่อคุ้นเคยกันมากขึ้นก็จะสามารถใช้เทคนิคอื่นต่อไปได้

แสดงสัญลักษณ์ – เราสามารถตกลงสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อแสดงความเห็นโดยไม่ต้องพูดได้ในตลอดการอบรม สัญลักษณ์ที่มักใช้กันในกลุ่มที่สนใจกระบวนการแสวงหาฉันทามติ ก็เช่น ยกฝ่ามือทั้งสองข้างในระดับใบหน้าแล้วขยับนิ้วทั้งสิบ เพื่อแสดงความเห็นด้วย ยกฝ่ามือขนานพื้นพร้อมขยับปลายนิ้วในระดับหน้าอกเพื่อแสดงความรู้สึกเฉยๆ ยกฝ่ามือในระดับเอวให้ปลายนิ้วชี้ลงพื้นแล้วขยับปลายนิ้วเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย กำมือแล้วเอาท่อนแขนไขว้กันแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เอาปลายนิ้วชี้และนิ้วโป้งของทั้งสองมือมาแตะกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อขอให้คนที่พูดอยู่กลับเข้าประเด็น เป็นต้น ดูเพิ่มเติมในสามัญชนเปลี่ยนโลก หรือ consensus meeting ในเนต

เปรียบเทียบอุปมาอุปไมย– บางคนไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะกลัวผิด กลัวพูดไม่ตรงปรัเด็น รู้สึกตัวเองไม่มีความรู้จึงพูดเป็นสาระไม่เป็น เราสามารถชวนคุยโดยให้จินตนาการหรือเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นได้ เช่น ความรู้สึกตอนนี้เหมือนดอกไม้อะไร เหตุการณ์นี้ทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องไหน สถานการณ์นี้เราสามารถแปลงร่างเป็นใครเพื่อมาช่วยได้บ้าง 

ฟาช่วยเสริมพลัง – ฟาสามารถเสริมพลังให้คนกล้าพูดแสดงความเห็นมากขึ้นได้ เช่น ถามว่ามีใครที่พูดน้อยหรือยังไม่ได้พูดอีกบ้าง ตั้งใจฟังอย่างจริงจัง ทวนคำพูด หรือช่วยปรับเรียบเรียงประโยคและถามเพื่อตรวจสอบความหมายว่าตรงหรือไม่ ขอบคุณที่แสดงความเห็น ขอความเห็นด้วยหรือสนับสนุนจากกลุ่มเพิ่มเติมเมื่อเห้นว่าประเด็นน่าสนใจ แต่ต้องระมัดระวังว่าฟาต้องไม่ชมหรือให้รางวัล เพราะนั่นจะยิ่งตอกย้ำอำนาจที่เหนือว่าของฟา