ฟาสามัญ ep.12
การกลับมาอยู่กับวงอย่างมั่นคง
สวัสดีครับ เรามาพบกันกับฟาสามัญออนไลน์กันอีกครั้งนะครับ ในคลิปนี้เนี่ยเราจะมาคุยกันถึงเรื่องการอยู่ร่วมกับวงอย่างมั่นคงหรือว่าการ Grounding การกราวดิ้งมันคือทักษะที่มันจะประกอบด้วยการปลดปล่อยแล้วก็การตั้งหลัก
คือในการทำงานกับวงเราจะเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันไป มันจะเต็มไปด้วยความคิดมากมายที่โยนใส่เข้าวง มันจะเต็มไปด้วยอารมณ์ เต็มไปด้วยความรู้สึก อาจจะมีความขัดแย้ง อาจจะมีความสนุกสนาน อาจจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้น บางครั้ง ถ้าเราตั้งหลักได้ไม่ดี เราก็จะถูกอารมณ์ของวงพัดพาไป
หลายครั้งที่เราเก็บเอาตัวอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาในตัวเยอะมากๆ เราก็จะจมอยู่กับตัวความรู้สึกนั้น ไม่สามารถที่จะอยู่กับวงได้มั่นคงมากพอ เราก็จะต้องมาเรียนรู้เรื่องการปลดปล่อยและการตั้งหลักกัน
Grounding – การปลดปล่อยและการตั้งหลัก
มันคือการปรับความรู้สึกปรับพลังงานของเรา เพื่อที่ให้เรากลับมาเชื่อมต่อกับโลกได้อีกครั้งหนึ่ง ปลดปล่อยพลังงานลบออกไปแล้วก็เปิดให้พลังงานที่ดีเนี่ยไหลเข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งมันจะเป็นทักษะที่ช่วยให้ฟาสามารถที่จะช้าลง มั่นคงขึ้น แล้วกลับมาตัดสินใจในสถานการณ์ที่มันวุ่นวายสับสนได้ง่ายขึ้น
เทคนิคต่างๆ เหล่านี้เราจะทำคนเดียวตอนที่เราเป็นฟา ที่จะทำให้เรากลับมาตั้งหลักแล้วปลดปล่อยได้ หรือว่าจะชวนวงให้กลับมาตั้งหลักและได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก พลังงานลบออกไปได้ด้วย
1. การกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
การกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวง่ายๆ เลยนะครับเบื้องต้นเลยก็คือการกลับมารับรู้ถึงร่างกายของเราครับ
รับรู้ร่างกาย
เรากลับมารับรู้ความรู้สึกของร่างกายของเรา ลองรับรู้ถึงหัวของเรา หูของเรา ไหล่ของเรา ลองบอกว่าเรารู้สึกยังไงตอนนี้ นะครับ ไหล่ของเรากำลังตึงอยู่ ข้อศอกของเรามีเจ็บนิดๆ ฝ่ามือรู้สึกเมื่อยๆ แต่ว่าในช่องท้องผมรู้สึกสบายๆ อยู่ตอนนี้ ในขณะที่ตรงเอวเนี่ยก็จะมีอาการตึงๆ เล็กน้อย เป็นต้นนะครับ เราก็กลับมารับรู้ร่างกายของเราแล้วก็ลองพูดมันออกมาว่าเรารู้สึกอะไรกับร่างกายของเราในตอนนี้
เรียกชื่อความรู้สึก
หรืออีกแบบนึง เราอาจจะเรียกชื่อความรู้สึกของเราว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไรยังไง อาจจะไม่ตรงซะทีเดียวนะครับ ลองพูดมันออกมาว่าตอนนี้กำลังรู้สึกยังไง เช่น ตอนนี้ผมรู้สึกตื่นเต้น กำลังตื่นเต้นว่าผมกำลังจะพูดอะไรดีนะ หรือว่ารู้สึกเร็ว-รู้สึกว่าตัวเองเร็วมากในตอนนี้ อาจจะมีผลมาจากความตื่นเต้นอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ ลองเรียกชื่อความรู้สึกของเราออกมาดังๆ
เดินถอยหลัง
หรือว่าใช้กิจกรรมที่มันเป็นเรื่องของฐานกาย เช่น การเดิน แต่ว่าลองเดินหรือว่าทำสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างไปจากที่เราเคยทำ จากปกติที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินถอยหลัง การเดินถอยหลังก็จะช่วยให้เราต้องระมัดระวังมากขึ้น กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น หรือการเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย การวาดภาพด้วยมือซ้าย หรือว่าลองปิดตาหนึ่งข้างในการเดินไปในที่ต่างๆ หรือว่าลองปิดตาทั้งสองข้างเลยก็ได้ มันจะทำให้เรากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเรามากขึ้น
2. กลับมาเชื่อมต่อและอยู่กับโลก
เทคนิคที่สองก็คือ เทคนิคของการกลับมาเชื่อมต่อแล้วก็อยู่กับโลก เทคนิคนี้จะทำให้เราเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ในโลกมากขึ้น
ให้เท้าสัมผัสโลก
ลองทดลองแบบง่ายๆ อาจจะเป็นการถอดรองเท้าแล้วก็เดินไปบนพื้นปูน บนพื้นหญ้านุ่มๆ รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ ของเราที่สัมผัสกับพื้นโลก หรืออาจจะใช้ส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้นะครับ เช่น ใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆ รับรู้ถึงพื้นผิวสัมผัสของมัน รับรู้ถึงอุณหภูมิร้อนเย็นของมัน อาจจะใช้แผ่นหลังของเราไปสัมผัสสิ่งต่างๆ ไปสัมผัสกับผนัง แผ่นหลังเราไปสัมผัสกับต้นไม้ก็ได้ หลักๆ ก็คือใช้ร่างกายของเราเนี่ยไปสัมผัสแล้วก็รับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น
ใช้เทคนิค 5 4 3 2 1
หรือว่าใช้เทคนิค 54321 เทคนิคนี้ก็คือให้มองไปรอบๆ ของเรา ใช้ประสาทสัมผัสของเราทั้งหมด มองหาสิ่งที่เรามองเห็น 5 อย่าง หาสิ่งที่เราสามารถเอื้อมมือไปจับได้ 4 อย่าง ไปจับมันเลยนะครับ แล้วก็มองหาสิ่งที่เราได้ยิน 3 อย่าง จริงๆ อาจจะยากหน่อยมันจะเป็นเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่เคยสังเกตมันมาก่อน ให้ลองสังเกตมัน แล้วก็หาให้ได้ 3 อย่าง
หาสิ่งที่เราได้กลิ่น สามารถรับรู้กลิ่นได้นะครับ 2 อย่าง แล้วก็หาสิ่งที่เราสามารถชิมได้หนึ่งอย่าง ให้เราลองพยายามหาสิ่งที่เรามักจะมองข้ามไป อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยสังเกตมันอย่างจริงจัง เช่น เสียงแอร์ เช่นหัวน๊อตต่างๆ ในห้องของเรา เพื่อให้เราสามารถสังเกตมันได้อย่างลึกซึ้งแล้วก็กลับมาเชื่อมต่อตัวเรากับโลกได้
3. ทำหัวให้โล่ง ปลดปล่อยออก
เทคนิคที่ 3 ก็คือเทคนิคการทำหัวให้โล่งหรือว่าการปลดปล่อยออกไป ก็คือคือถ้าหัวของเราเนี่ยมันรู้สึกวุ่นวายไปหมดมีเสียงต่างๆ เข้ามาในหัวเยอะแยะมากมายไปหมด เรากำลังคิดเรื่องนั้นแล้วก็ไปคิดเรื่องนี้ ไม่สามารถที่จะทำให้มันสงบได้ เราก็ต้องปลดปล่อยมันออกมาก่อน
เอาความคิดออกมา
อันแรกเลยก็คือการเอาความคิดของเราออกมาเลย ง่ายๆ เลยนะครับด้วยการเขียนมันออกมาว่าตอนนี้สถานการณ์คืออะไร มีความคิด มีทางเลือกอะไรบ้างที่มันเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นบ้างในหัวของเรา มีความกลัว มีความสนุก มีความวุ่นวาย มีความลังเลใจ เขียนมันออกมา
สถานการณ์ที่แย่ที่สุดคืออะไร สถานการณ์ที่ดีที่สุดคืออะไร สถานการณ์ที่เราคิดว่าน่าจะพอรับได้มันคืออะไร อย่างนี้เป็นต้น เราอาจจะพูดออกมาหรือว่าเขียนออกมา มันจะช่วยให้เราไม่คิดวนเวียนซ้ำกลับไปอีก
ตะโกนหรือหัวเราะดังๆ
นอกจากนั้นก็จะเป็นการตะโกนดังๆ นะครับ ชวนคนในวงตะโกนดังๆ ได้นะครับ ตะโกนว่าอะไรก็ได้ โวยวายโหวกเหวกกันไปนะครับ หรือไม่ก็อาจจะเป็นการหัวเราะดังๆ ชวนกันหัวเราะตั้งแต่เบาๆ จนถึงดังขึ้นเรื่อยๆ ให้ห้องนี้ไปด้วยเสียงหัวเราะ เพื่อที่จะปลดปล่อยอารมณ์หลายๆ อารมณ์นี้ออกมา
สงครามหมอน
อีกอันนึงที่ผมชอบมากๆ ก็คือสงครามหมอน ก็คือถ้าเรามีหมอนใบเล็กๆ ที่สามารถขว้างปากันได้โดยไม่บาดเจ็บกันเกินไปนะครับ เราก็สามารถให้แต่ละคนเนี่ยเอาหมอนปาใส่กันและกันในวง เป็นสงครามหมอน ปาไปที่ใครก็ได้โดยที่ไม่ได้มุ่งร้ายให้ใครบาดเจ็บหรือว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นเป้าหมาย เราปาใส่กันและกัน มันจะเกิดเสียงหัวเราะ โวยวาย เสียงความกลัว เสียงอะไรต่างๆ มาให้เราปลดปล่อยอารมณ์ผ่านสงครามหมอนได้
4. รีโฟกัส
เทคนิคที่ 4 คือการรีโฟกัสหรือว่าการหาจุดที่เรากลับมามั่นคงให้ได้ คือหลายครั้งเนี่ยเราจะมีเรื่องที่ต้องจัดการเยอะมาก เฮ้ย เรื่องนั้นก็ต้องทำ เรื่องนี้ก็ต้องทำ เฮ้ย ตอนนี้คนนี้กำลังพูดอยู่ คนนี้กำลังทะเลาะกันอยู่ แล้วกิจกรรมถัดไปนี่เราจะต้องทำอะไรนะ? เวลาก็กำลังจะหมด…อย่างนี้เป็นต้นนะครับ มันจะมีเรื่องต่างๆ ที่เราต้องจัดการเยอะแยะมากมาย หรือว่ามีเรื่องหงุดหงิดโมโห มีเรื่องที่เราจะต้องไปทำหลังจากนี้ เราจะต้องกลับมารีโฟกัสใหม่
นับถอยหลังหรือท่องสูตรคูณถอยหลัง
เทคนิคการรีโฟกัสง่ายๆ เบื้องต้นเนี่ยมันก็คือการลองนับเลขดู แต่ว่าเรานับเลขถอยหลังครับจากร้อยถึงศูนย์ 100 99 98 97 96 95 94 93 … อย่างนี้เป็นต้น หรือถ้าให้มันยากไปกว่านั้นก็คือการท่องสูตรคูณถอยหลังครับ 2*12 เป็น 24, 2*11 เป็น 22, 2*10 เป็น 20, 2*9 18 อย่างนี้เป็นต้น เราอาจจะไปท่องสูตรคูณในแม่อื่นๆ ได้อีกด้วย
การทอดสมอ
หรือว่าใช้เทคนิคการทอดสมอครับ การทอดสมอก็คือการกลับมาอยู่กับปัจจุบันของเราเอง ลองพูดถึงสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เอาเฉพาะสิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอนาคตหรือเป็นอดีตออกมา เช่น ตอนนี้ผมชื่อกิตติชัย งามชัยพิสิฐนะครับ กำลังยืนอยู่ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นกางเกงขายาว ผมอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร กำลังทำคลิปฟาสามัญออนไลน์อยู่ จากนั้นเราก็อาจจะขยายความเพิ่มเติมออกไปอีกเรื่อยๆ ได้ อาจจะเป็นตัวความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในตอนนี้ เช่น ตอนนี้ผมรู้สึกเมื่อยเล็กน้อย แล้วก็แอร์ค่อนข้างเย็น ตอนนี้กำลังมีความกังวลอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ กำลังพยายามที่จะกลับมารีโฟกัสกับตัวเอง อย่างนี้เป็นต้นนะครับ เราลองขยายความนี้ไปเรื่อยๆได้จนกว่าเราจะรู้สึกสงบลงและสามารถที่จะกลับมาโฟกัสในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
Recap
นี่ก็จะเป็นเทคนิคการกราวด์ดิ้ง 4 แบบนะครับอันแรกคือการกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
2 ก็คือการกลับมาเชื่อมต่อกับโลก
3 ก็คือทำหัวให้โล่ง การปลดปล่อยออกไป
แล้วก็ 4 ก็คือการรีโฟกัสหรือการกลับมาตั้งหลักกับตัวเราเอง ซึ่ง 4 เทคนิคนี้ก็จะมีเทคนิคต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ แตกแขนงออกไป
4 เทคนิคเหล่านี้ก็จะสามารถไปประยุกต์เป็นกิจกรรมต่างๆ อีกมากนะครับ
เมื่อฟาสามัญสามารถที่จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ กลับมารีโฟกัสได้ กลับมาเชื่อมต่อกับโลกได้ เราก็จะมีความมั่นคงมากขึ้นในการที่จะอยู่กับวง ในการที่อยากร่วมไปกับวงในการนำพาวงไปสู่เป้าหมายที่วงต้องการได้
นอกจากนั้นเรายังสามารถที่จะประยุกต์ไปให้วงเนี่ยสามารถจะกลับมาตั้งหลัก มากราวด์ดิ้งกับตัวเองได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้กระบวนการกลุ่มไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง