ฐานคิดและที่มาของแนวคิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ
สวัสดีครับ เรามาพบกันกับแนวคิดปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ ในคลิปก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องแนวคิดแล้วก็เครื่องมือการเรียนรู้หลักๆ ของความเป็นธรรมทางสุขภาพไปแล้ว ในคลิปนี้เราจะมาดูที่มาและฐานคิดบางอย่างเพิ่มเติมกันนะครับ
แนวคิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ มันเกิดขึ้นมาจากคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้คนที่เกิดในประเทศหนึ่งมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าคนที่เกิดในอีกประเทศหนึ่ง ปรากฏการณ์ของความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพก็คือ การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตโดยไม่สมควรในประเทศต่างๆ
ในปี 2548 บุคลากรด้านสุขภาพที่สนใจเรื่องทางด้านสังคมขององค์การอนามัยโลกแล้วก็เอ็นจีโอโลกที่ทำงานทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้มีการสร้างแนวคิดแล้วก็เครื่องมือ มุมมองชุดใหม่ๆ เพื่อให้เป็นวาทกรรมหรือว่าเป็นภาษาชุดใหม่ เพื่อที่จะเอามาทำงานร่วมกัน
องค์การอนามัยโลกได้ตั้งคณะกรรมาธิการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพขึ้นมา เพื่อศึกษาและก็ส่งเสริมกระบวนการทางสังคมในระดับโลก เพื่อที่จะนำพาสังคมโลกไปสู่เป้าหมายเพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ การที่เราจะเข้าใจแนวคิดความเป็นธรรมทางสุขภาพเราสามารถพิจารณาได้จากฐานคิดหลักๆ 3 แนวคิด
1. แนวคิดของการโทษเหยื่อ
อันแรกเลย เราจะต้องออกจากมายาคติเรื่องแนวคิดของการโทษเหยื่อ การกล่าวโทษเหยื่อเป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากในสังคมเป็นอุปสรรคประการหนึ่งเลยของการแก้ปัญหาสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ การกล่าวโทษเหยื่อเนี่ยก็คือ การกล่าวหาคนที่เจ็บป่วยว่ามาจากปัจจัยภายในหรือว่าพฤติกรรมส่วนบุคคล ว่าการเจ็บป่วยเหล่านั้นมันเกิดจากคนเหล่านั้นทำตัวเอง
ดังนั้น สังคมจึงไม่ควรที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเจ็บป่วยนั้นๆ คนพวกนี้เนี่ยจะต้องรับผิดชอบตัวเอง และทำให้หลาบจำจะได้ไม่ทำตัวแบบเดิมอีก
แนวคิดนี้จะผลักภาระให้กับเหยื่อ เช่น เมื่อเกิดการข่มขืน ผู้หญิงก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุ เช่น แต่งกายั่วยุ ไปในที่เปลี่ยว หรือไม่ก็กินเหล้าเมายา การแก้ปัญหาจากแนวคิดนี้จึงมุ่งที่จะไปปรับพฤติกรรมของเหยื่อ มองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แล้วก็ไม่ได้มองไปที่ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการข่มขืนขึ้นมาในสังคม
นอกจากกรณีการข่มขืนแล้ว การโทษเหยื่อยังมีกรณีอื่นอีก อย่างเช่นการเกิดอุบัติเหตุ เมาแล้วขับ การโทษผู้ป่วยที่เป็นผู้สูบบุหรี่ โทษผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง HIV ท้องไม่พร้อม โดยมองว่าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลที่จะทำให้เกิดปัญหาหรือความเจ็บป่วยเกิดขึ้นมา แล้วก็ผลักภาระให้เหยื่อรับผิดชอบความเสียหายที่มันเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ให้ยกเว้นสิทธิประกันสุขภาพให้แก่บุคคลเหล่านี้เพื่อให้เขาเนี่ย ลด-ละ-เลิกพฤติกรรมทำลายสุขภาพเหล่านี้
พอมาถึงตรงนี้นะครับ ผมอยากจะเชิญชวนให้พวกเราลองมาคิดถึงการโทษเหยื่อที่มีอยู่ในสังคมเราในเรื่องอื่นๆ อีก ว่ามีเรื่องอะไรอีกบ้าง เพื่อที่จะได้ทบทวนตัวเองว่าเรายังมีความคิดแบบโทษเหยืออยู่หรือเปล่า แล้วทบทวนความคิดของทางสังคมว่าในสังคมเนี่ยมันมีเรื่องการโทษเหยื่อในเรื่องอื่นๆ อะไรอีกบ้าง
2. การมองว่าสุขภาพเป็นเรื่องส่วนบุคคล
มายาคติส่วนที่สองก็คือมองว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอะไร ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว สุขภาพเป็นเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองด้วย อย่างแยกกันไม่ขาด
องค์การอนามัยโลกได้นิยามปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพไว้ว่าหมายถึง สภาพแวดล้อมที่บุคคล เกิด เติบโต เรียนรู้ ทำงาน เล่น และดำรงชีวิต ไปจนถึงระบบซึ่งกำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน เช่น นโยบายและระบบเศรษฐกิจต่างๆ วาระการพัฒนา นโยบายสังคมและระบบการเมือง ไปจนถึงรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางสังคม หรือแม้แต่ความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่มีต่อความมั่นคง และความรู้สึกที่มีต่อความเป็นอยู่ในชีวิตของตัวเอง
ระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้น พัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ และก็มีชีวิตที่ดี หรือในทางกลับกันจะมีสุขภาพที่แย่ มืดมนแล้วก็สิ้นหวังต่ออนาคตหรือเปล่า
การจะดูว่าประเทศใดเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วหรือเปล่า ดูได้จากคุณภาพของสุขภาวะของประชากรในประเทศนั้นๆ
ดูว่าสุขภาวะต่างๆ นะครับมีการกระจายตัวอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า มีการปกป้องคุ้มครองสุขภาพให้แก่กลุ่มคนที่เสียเปรียบในสังคมว่าเป็นธรรมหรือเปล่าด้วย สถานะของสุขภาพของแต่ละคน ไม่ควรขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคม การปล่อยให้ความแตกต่างทางสุขภาพเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบแล้วก็เห็นได้อย่างเด่นชัด ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ป้องกันได้ ภาวะแบบนี้เรียกว่า ความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ
เช่นเดียวกันกับหัวข้อที่แล้วนะครับ ผมขอเชิญชวนให้พวกเราได้มามองดูว่าสุขภาพเนี่ยเกี่ยวข้องกับสังคมเศรษฐกิจและการเมืองในเรื่องไหนอีกบ้าง มีนโยบายใด แนวปฏิบัติใด ที่ส่งผลต่อสุขภาพบ้าง
3. เป็นความรับผิดชอบของสถาบันสาธาณสุข
ในข้อที่ 3 มายาคติดั้งเดิมของเราเนี่ยคือเรามองว่าสุขภาพควรจะเป็นเรื่องของหมอ ของสถาบันสาธารณสุข แต่จริงๆ แล้วเนี่ยความเป็นธรรมทางสุขภาพมันเกี่ยวข้องกับทุกๆ ส่วนในสังคม
แต่แน่นอนว่าความเป็นธรรมทางสุขภาพ อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายทางสังคมทั้งหมด แต่มันควรจะเป็นผลลัพธ์หนึ่ง เป็นผลพวงหนึ่งของนโยบายสังคมและการพัฒนาประเทศ
เราอาจจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเนี่ยจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งชีวิตประชาชนดีขึ้นมันก็นำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมก็อาจจะส่งผลลบต่อสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา สถาบันทางสุขภาพ รับผิดชอบสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชน แต่ว่าในเรื่องของความเป็นธรรมทางภาพ เราต้องอาศัยส่วนอื่นๆ ของสังคมมาช่วยกันทำให้เกิดการกระจายบริการทางสุขภาพอย่างทั่วถึง ทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพ สร้างปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เศรษฐกิจที่เป็นธรรม ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสุขภาพด้วย
เราลองมาทบทวนกันดูอีกเหมือนกันนะครับว่า กลุ่มองค์กรหรือสถาบันไหนในสังคมของเราที่ควรจะเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางสุขภาพอีกบ้าง เพื่อที่ว่าเราจะได้แสวงหาความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้อีก