คำถาม 5 ข้อ เพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ
สวัสดีครับ เรามาพบกับชุดการเรียนรู้ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพกันนะครับ
ในคลิปนี้ เราจะมาพูดถึงการตั้งคำถามซึ่งอาจจะไม่ได้มีคำตอบที่มันชัดเจน แต่ว่าจะเป็นคำถามที่ชวนพวกเราให้มาคุยกัน ถกเถียงแลกเปลี่ยนและสำรวจความคิดของพวกเรา เพื่อที่จะนำไปสู่การทำงานเพื่อการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ
มันจะเป็นคำถามที่พวกเราจะมาช่วยกันหาคำตอบร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาคำตอบจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มคนจน-คนรวย คนมีโอกาส-คนด้อยโอกาส คนชายขอบ-คนที่อยู่ในกระแสหลัก คนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจ คำตอบที่หลากหลายเหล่านี้มันนำมาสู่การประมวลผล นำมาสู่การสร้างความร่วมมือที่หลากหลาย
คำถามที่ 1 ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ
คำถามแรกที่อยากจะชวนให้พวกเราได้ชวนกันคุยก็คือว่า ทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงมีสุขภาพดีกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง อันนี้เป็นคำถามพื้นฐานที่น่าจะชวนคนคุยได้หลายอย่าง เช่น ทำไมคนรวยถึงได้มีสุขภาพดีกว่าคนจน เราอาจจะมองว่าคนรวยเนี่ยก็มีความรู้เยอะกว่าไง เขาก็เลยมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง ในขณะที่คนจนไม่มี
ซึ่งเราอาจจะต้องตั้งคำถามกันต่อไปว่า แล้วทำไมคนรวยถึงได้มีความรู้ทางสุขภาพเยอะกว่าคนจน มันก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อเนื่องกันไป
หรือว่าคนกลุ่มนึงเนี่ยมีสภาพการทำงานที่ดีกว่า ได้ทำงานในสถานที่ทำงานที่คำนึงถึงการดูแลสุขภาพ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี เราอาจจะต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เอ๊ะ แล้วทำไมจะสภาพแวดล้อมการทำงานจึงต่างกัน แล้วเราสามารถที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มันเอื้อต่อสุขภาพได้หรือเปล่า
การตั้งคำถามแบบที่ 1 นี้นะครับ จะตั้งคำถามเพื่อมองให้เห็นตัวแบบแผน ตัวความเหลื่อมล้ำ ตัวความไม่เท่าเทียมทางสังคมได้
คำถามที่ 2 สิทธิสำหรับกลุ่มคนที่หลากหลาย
คำถามที่ 2 ที่จะชวนให้พวกเราได้ไปถามกันต่อก็คือว่า ทำไมเราจึงควรจัดทรัพยากรของสังคมไปช่วยเหลือคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ เราอาจจะเคยตั้งคำถามว่า เอ๊ะ! ทำไมเราจะต้องมาจัดสถานที่ จัดบริการขนส่งสาธารณะให้กับคนพิการเป็นพิเศษ เราต้องเปลืองเงินของสังคมไปเพื่อคนเพียงไม่กี่คน? ทำไมเราจะต้องจัดห้องน้ำหรือจัดคลีนิคพิเศษให้กับกลุ่มคนที่มีเพศหลากหลาย? ทำให้เปลืองทรัพยากรของสังคมโดยใช่เหตุหรือเปล่า? ทำไมคนเหล่านั้นจึงควรได้สิทธิพิเศษ? หรือว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่สิทธิพิเศษ? แล้วถ้ามันไม่ใช่สิทธิ์พิเศษ เราจะเรียกมันว่าอะไร? ทำไมคนในสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องแบ่งปันทรัพยากรของสังคมให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น?
คำถามที่ 3 มาตราฐานชีวิตขั้นพื้นฐาน
คำภามที่ 3 คือเราพึงพอใจกับสภาพความเท่าเทียมกันในสังคมของเราหรือไม่? เราอาจจะคุ้นเคยกับสังคมของเราที่คนร่ำรวยมีความเป็นอยู่ที่ดี หรือว่าคนยากจนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ จนดูราวกับว่ามันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติของโลกใบนี้ แต่จริงๆ แล้วโดยธรรมชาติหรือความเป็นปกติ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า
หรือว่าเราสามารถที่จะมีสังคมแบบอื่นได้อีก เราอาจจะตั้งคำถามที่ 3 ได้ว่า คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมของเราเนี่ยนะครับควรจะมีมาตรฐานชีวิตขั้นต่ำเป็นอย่างไร อาจจะหมายความไปถึงสภาพความเป็นอยู่แบบไหนที่เขาจะไม่ตกไปจากศักดิ์ศรีของความเป็นคน สภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้เขายังดำรงศักดิ์ศรีของตนเองได้ สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างที่ไม่ยากลำบาก ไม่ย่ำแย่กันเกินไปนัก
คำถามที่ 4 ระบบที่ช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเองได้
คำถามที่ 4 เมื่อเราเห็นคนยากคนจน เมื่อเราเห็นคนที่ลำบากกว่าเรา หลายคนก็อาจจะรู้สึกเมตตา สงสาร อยากที่จะช่วยเหลือ ดูแลแบ่งปันกัน แต่การช่วยเหลือการดูแลในระดับบุคคลเหล่านั้นเนี่ยมันอาจจะยังไม่พอ เราไม่สามารถช่วยเหลือคนทุกคนหรือคนจำนวนมากได้
แต่ว่าเราจะสามารถสร้างระบบ สร้างปัจจัยอะไรที่ทำให้ทุกๆ คนสามารถที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง จัดการตัวเองได้
ดังนั้นคำถามที่ 4 ก็คือ เราจะมีปัจจัยหรือมีระบบหรือมีโครงสร้างอะไรที่ทำให้ทุกๆ คนสามารถที่จะจัดการชีวิตของตัวเองได้ สามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
คำถามที่ 5 โครงสร้างสังคมในปัจจุบัน
คำถามที่ 5 ก็คือ ณ วันนี้มันมีระบบ มีโครงสร้าง มีนโยบายอะไรที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ หรือว่าเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น มีนโยบายอันไหนที่มันกีดกัน เลือกปฏิบัติ หรือว่าทำให้คนบางคนบางกลุ่มเนี่ยไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางสุขภาพได้
หรือว่ามีนโยบายอันไหนที่ควรจะมีแต่ยังไม่มี เช่น นโยบายที่เอื้อต่อแรงงานนอกระบบมีมั้ย? เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ดีต่อคนพิการมีมั้ย? มีสถาบันไหนมีหน่วยงานไหนที่ทำหน้าที่นี้อยู่บ้าง?
มันจะเป็นคำถามที่จะชวนเราให้มองเห็นได้ว่าสังคมของเรามีอะไรแล้ว และขาดอะไรอยู่ แล้วเราจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพได้อย่างไร
สรุป
5 คำถามนี้จะเป็นคำถามขั้นพื้นฐานที่เราสามารถไปชวนคุณคุยได้หลากหลาย เราอาจจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มคนทางสังคม เราอาจจะมองเห็นจุดที่เขาสนใจ เราอาจจะมองเห็นจุดที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา และสุดท้ายมันจะกลับมาที่ตัวของเราเองว่าเราจะสร้างสะพานเชื่อม สร้างการเชื่อมโยง สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับกลุ่มคนที่หลากหลายเหล่านี้ได้อย่างไรด้วย
การตั้งคำถามทั้ง 5 คำถามนี้นะครับ เราอาจจะไม่ได้ตัวคำตอบสำเร็จรูปอะไร แต่ว่ามันจะเป็นคำถามที่ชวนเราคิดชวนเราคุยกับกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อที่จะสร้างแนวคิด แนวทางการทำงานที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นธรรมทางสุขภาพร่วมกัน ขอบคุณครับ