ฟาสามัญ ep.13
การตั้งเป้าหมายการอบรมด้วย KAS
ในการอบรมจะมีผู้เกี่ยวข้องในการตั้งเป้าหมายอยู่สามส่วนคือ ผู้จัดการอบรม ผู้เข้าร่วม และฟาฯ การอบรมแต่ละครั้งจึงต้องหาเป้าหมายที่สมดุลระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งสามส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นผู้รับผลโดยตรงของการอบรม แม้ว่าโดยทั่วไปผู้เข้าอบรมมักจะไม่ได้รับอำนาจในการกำหนดเป้าหมายการอบรมนัก แต่ฟาสามัญที่เชื่อเรื่องการศึกษาของประชาชนจำเป็นต้องเคารพอำนาจในการกำหนดเป้าหมายของผู้เข้าร่วมการอบรมด้วย จากนั้นจึงมาช่วยกันแยกแยะเป้าหมายเป็นสามส่วน คือความรู้ ทัศนคติ และทักษะ เพื่อให้เห็นเนื้อหาการอบรม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้าน ฟาที่ทำหน้าที่ผู้ฝึก จึงไม่ได้มุ่งที่จะสอน แต่มุ่งไปที่การทำให้ผู้เข้าร่วมทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ มีความเชื่อ และมีทักษะ ในวิถีทางของตนเอง เหล่านี้ยืนอยู่บนหลักการเสริมสร้างพลังอำนาจและความเท่าเทียมกัน
สวัสดีครับ เรามาพบกับคลิปฟาสามัญออนไลน์กันอีกครั้งหนึ่งนะครับ ในคลิปนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องการตั้งเป้าหมายการอบรมโดยใช้หลักการของ KAS
คือในการอบรมแต่ละครั้งของฟาสามัญ แน่นอนว่าหลักการพื้นฐานของมันก็คือ มันมีการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ มีการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ว่าการอบรมของแต่ละครั้งเนี่ยนะครับมันก็คงต้องมีเป้าหมายย่อยๆ ของการอบรมแต่ละครั้งด้วยซึ่งในคลิปนี้เนี่ยนะครับเราก็จะมาดูกันว่า เราจะตั้งเป้าหมายการอบรมได้อย่างไร
ขั้นตอนการตั้งเป้าหมายงานอบรม
1. คุยกับผู้จัด
ในขั้นแรกเลยเนี่ยมันคงต้องคุยกับคนจัดงานก่อนนะครับว่าคนจัดงานเขาต้องการอะไร มีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย มีการมองเป้าหมายของโครงการของเขา/ขององค์กรของเขาว่าอย่างไร ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมอบรมที่สอดคล้องกับองค์กรกับกลุ่มของเขาอย่างไรบ้าง
2. ฟังจากผู้เข้าร่วม
ในขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญก็คือยังไงก็ตาม ฟาสามัญเองก็ต้องฟังจากผู้เข้าร่วมอบรมเป็นหลัก ก็คือผู้เข้าร่วมอบรมเนี่ยจะต้องเป็นคนที่ตัดสินใจว่าเป้าหมายของการอบรมครั้งนั้นคืออะไร ดังนั้นเนี่ยฟาเองนะครับ ก็จะต้องหาความสมดุลระหว่างความต้องการของผู้จัดฯ – ความต้องการของผู้เข้าร่วมแล้วก็ความสามารถของฟาเองด้วย นี้เป็นส่วนที่ 2
ในขั้นตอนนี้เราอาจจะต้องใช้การระดมสมองจากผู้เข้าร่วมนะครับลองฟังดูว่าเขามีความต้องการอะไรบ้าง ในหัวข้อนี้เนี่ยเขาอยากที่จะเรียนรู้เรื่องอะไร เพื่ออะไร เป็นอะไร เพื่อที่ว่าฟาจะได้มารวบรวมสำหรับกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอบรมในครั้งนั้น
ซึ่งเราต้องระมัดระวังว่าเราจะต้องไม่ได้ทำตามความต้องการของผู้จัดมากจนเกินไป ซึ่งบางครั้งผู้จัดการเองอาจจะไม่ได้รับรู้ว่าผู้เข้าร่วมเองมีพื้นฐานหรือความต้องการอะไรแบบชัดเจน การฟังจากผู้เข้าร่วมก่อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
หรือว่าไปทางนึงก็คือกลายเป็นว่าฟาเองมีเนื้อหามาแล้ว เตรียมมาแล้ว แล้วก็พยายามที่จะยัดเข้าไปในการอบรมครั้งนั้นนะครับ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา แล้วต้องระมัดระวังว่ามันจะกลายเป็นการกำหนดเนื้อหาหรือเป้าหมายมาจากฟามากเกินไป ซึ่งทำแบบนั้นเนี่ยมันจะกลายเป็นการลากวงไป ไม่ใช่เป็นทีมเดียวกันระหว่างผู้เข้าร่วมกับฟา
3. หาสมดุล
ในขั้นตอนที่ 3 จะเป็นขั้นตอนการพยายามที่จะหาความสมดุลกันระหว่างผู้จัด ผู้เข้าร่วม แล้วก็ฟาเอง เพื่อตั้งเป้าหมายของการอบรมในครั้งนั้น เพื่อที่ว่ามันจะกลายเป็นเป้าหมายที่ทุกคนพากันไปด้วยกัน เป็นทีมเดียวกันที่จะมุ่งไปด้วยกัน แต่อาจจะเป็นคนละบทบาท เป็นบทบาทของผู้จัด เป็นบทบาทของฟา และบทบาทของผู้เข้าร่วม
4. ใช้เครื่องมือ KAS
หลังจากที่ได้เป็นทีมเดียวกันแล้วเราก็จะมาสู่ขั้นตอนที่ 4 ก็คือการพยายามที่จะมาแยกแยะดูนะครับว่า เป้าหมายนี้เนี่ยจะสำเร็จได้เนี่ยจะต้องมีเนื้อหาอะไรบ้าง มีเป้าหมายย่อยอะไรบ้าง ซึ่งในตรงนี้เนี่ยแหล่ะครับที่เราจะใช้เครื่องมือ KAS เข้ามาในการช่วยแยกแยะ ช่วยจัดหมวดหมู่ในการอบรมครั้งนั้นๆ
K ตัวแรกก็คือตัว Knowledge ตัวความรู้ ตัว A – Attitude ทัศนคติ แล้วก็ Skill หรือว่าทักษะ เราจะมาทำความรู้จักตัวแรกกันก่อนเลยนะครับ ก็คือตัวความรู้ หรือว่า knowledge
K – ความรู้
ความรู้คือการที่เราได้รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะเรียนประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วก็ส่วนประกอบเหล่านั้นมันมีไว้เพื่ออะไร มันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ อย่างไร ตัวความรู้ที่ว่านี้จะเป็นตัวข้อเท็จจริง ตัวข้อมูล แนวคิดทฤษฎี หรือว่าหลักการ การมีความรู้ว่าสิ่งต่างๆ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีพื้นฐานมาจากอะไร มันจะทำให้เรารู้ว่าเราทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร เพราะว่าถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ทำตามๆ กันไปโดยไม่ได้มีความรู้เนี่ยนะครับมันก็อาจจะเหมือนการทำตามๆ กันไปโดยที่ไม่ได้รู้ที่มา ไม่สามารถประยุกต์ต่อยอดได้ เหมือนกับที่สำนวนที่เขาว่า เถรส่องบาตร
ก็คือมันมีเรื่องเล่าว่า มีเณรคนหนึ่งเห็นพระอาจารย์ยกบาตรขึ้นมาส่องไปทางดวงอาทิตย์ทุกๆ วัน เณรท่านนั้นก็เลยทำตามทุกๆ วันเหมือนกัน พอมีคนมาถามก็ตอบไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ตอบได้แต่ว่าเห็นพระอาจารย์ทำ ทั้งๆ ที่พอไปถามพระอาจารย์ก็คือพระอาจารย์บอกว่าการส่องบาตรกับดวงอาทิตย์ก็คือจะได้ดูว่าบาตรนั้นน่ะมันรั่วหรือมันแตกหรือเปล่า จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์อะไร เป็นแค่การตรวจสอบบาตรเท่านั้น
นี่เป็นตัวอย่างของการทำตามๆ กันไปโดยที่ไม่มีความรู้ ดังนั้นสิ่งสำคัญเวลาเราจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ต้องกลับมาดูที่ตัวความรู้ด้วยว่ามันประกอบไปด้วยอะไร ทำไปเพื่ออะไร และเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อที่ว่าเราก็จะใช้ความรู้นี่แหละทำเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อยอด ประยุกต์ใช้ แล้วก็คิดค้นความรู้ใหม่ๆ เองได้ด้วยในอนาคต
ตัวอย่างของความรู้ เช่น ทฤษฎีวงจรการศึกษาของประชาชน 5 ขั้นตอนอย่างนี้เป็นต้นว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง หรือว่าแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมและความเท่าเทียม มีคนพูดถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง และ concept หลักๆ มันคืออะไร แนวคิดหลักๆ ของมันคืออะไร หรือว่าส่วนประกอบของสิ่งต่างๆ ก็ได้ครับ เช่น ส่วนประกอบของแกงเขียวหวานประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ส่วนประกอบต่างๆ ของรถยนต์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ส่วนต่างๆ ของการทำงานรณรงค์มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
A – ทัศนคติ
ตัวที่ 2 คือ A – Attitude หรือว่าทัศนคติ ทัศนคติก็คือมุมมองนี่แหล่ะครับ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ว่าเรามองจากมุมไหน ซึ่งมันจะส่งผลต่อความรู้สึกของเรา การให้คุณค่าของเรา การให้ความสำคัญของเรา โยงไปถึงเรื่องแรงจูงใจในการที่จะเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ในการที่จะทำสิ่งต่างๆ ในหัวข้อนั้นๆ
ทัศนคติคือสิ่งที่จะมากำหนดคุณภาพของการกระทำต่างๆ ในหัวข้อนั้นๆ ถ้าเรามีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่เราทำอยู่ มันก็จะนำไปสู่การที่เรามีแรงจูงใจมากขึ้น เราให้ความสำคัญมากขึ้น เราพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้มันดีมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การอยากที่จะไปอ่านต่อ อยากที่ไปศึกษาต่อ อยากที่จะไปฝึกฝนต่อ
ตัวอย่างของทัศนคติก็คือการที่เราคุยกันว่าการฟังมีผลอย่างไรต่อกระบวนการกลุ่ม เราก็จะได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการฟัง
หรือว่าการเป็นฟาเนี่ยสำคัญอย่างไรในกระบวนการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ประโยชน์ของการสร้างเครือข่าย หรือว่าแกงเขียวหวานที่ดีเป็นอย่างไร รถยนต์ในอุดมคติเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่า แล้วก็ความหมายของเรื่องนี้ที่ไปเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ด้วย
S – ทักษะ
ส่วนสุดท้ายก็คือตัว Skill หรือว่าทักษะ ทักษะคือระดับของความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ยิ่งเรามีทักษะในเรื่องนั้นมากๆ เราก็จะมีความคล่องแคล่ว ทำได้คล่องขึ้น ง่ายขึ้น แล้วก็แม่นยำมากขึ้น ทำได้ตรงตามเป้าหมายที่เราต้องการมากขึ้น
ก็คือพอเรามีความรู้ เราก็จะสามารถที่จะทดลองลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้เลย เช่น เรารู้ว่าส่วนประกอบของแกงเขียวหวานมีอะไรบ้าง รู้ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เราก็จะทดลองลงมือทำได้เลย หลังจากได้ทดลองลงมือทำแล้วเราก็จะเริ่มมีทักษะแล้วว่า อ๋อเราเอาความรู้มาลงมือทำ แต่หลังจากนั้นทักษะก็จะเพิ่มพูนไปตามการฝึกฝนของเรา การทดลองทำซ้ำของเรา การทบทวนว่าทำอะไรได้ดี ทำอะไรแล้วต้องปรับปรุงอะไรบ้าง มันก็จะก่อให้เกิดเป็นตัวทักษะที่มันเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างของทักษะก็เช่น ขั้นตอนการทำแกงเขียวหวานทำยังไง เราสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ขั้นตอนของการทำแกงเขียวหวานได้
หรือว่าทักษะการฟัง ทักษะการถาม ทักษะการทวนคำพูด เหล่านี้เป็นทักษะที่มันต้องอาศัยความรู้มาก่อน แล้วก็ได้ทดลองทำ ลงมือทำ เราก็จะเกิดเป็นตัวทักษะที่ติดตัวของเราไป แล้วยิ่งถ้ามีตัวทัศนคติที่ดีต่อเนื้อหาหัวข้อนั้นๆ ก็จะทำให้เรามีความต้องการที่จะต่อยอด พัฒนาให้เราเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ได้
Recap
KAS ทั้ง 3 ส่วนมีความสําคัญและส่งผลต่อกันและกัน ตัวความรู้เนี่ยนะครับ ทั้งตัวข้อมูล ข้อเท็จจริง แนวคิดทฤษฎีต่างๆ จะนำไปสู่การลงมือทำจนเกิดทักษะ หรือว่าสามารถที่จะไปปรับมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่ในโลกในสังคมได้ อย่างเช่น เราคงจะต้องเรียนรู้ส่วนประกอบของการทำแกงเขียวหวานก่อน อันนี้เป็นตัวความรู้ ถึงจะลงมือทำให้เกิดทักษะได้หรือว่าเราอาจจะต้องรู้ก่อนว่า ความเท่าเทียมคืออะไร อะไรที่มันเรียกว่าความเท่าเทียม ตัวอย่างมีมั้ย ข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่ในสังคมคืออะไรที่เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม เราถึงจะได้รู้ว่า อ๋อ..ความไม่เท่าเทียมเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา มันทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์น้อยลง มันมีความยากลำบากมีความทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็จะนำไปสู่มุมมองที่เราอยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็จะเกิดการลงมือทำ เกิดเป็นทักษะที่จะทำงานรณรงค์ ที่จะทำงานเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ขอบคุณครับ