ฟาสามัญ ep.15
ฟาสามัญไม่เปลี่ยนแปลงใคร
ปิดท้ายสำหรับชุดการเรียนรู้ฟาสามัญกับแนวคิดที่ออกจะต่างจากแนวคิดการสอนแบบอื่นๆ สักหน่อย นั่นคือฟาสามัญไม่เปลี่ยนแปลงใคร แนวคิดนี้ตั้งคำถามไปถึงคนที่จะเป็นฟา ว่ากำลังตกหลุมของการเป็นผู้ปลดปล่อยคนอื่น เป็นฮีโร่ ไอดอล ผู้นำใดๆ ที่จะนำพาผู้คนสู่โลกใหม่ที่ดีกว่าอยู่หรือเปล่า? และตั้งคำถามถึงผู้เข้าร่วมกระบวนการด้วยว่าตนเองคือองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่ใคร หากเราเองนี่แหละที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมให้เท่าเทียมเป็นธรรม เรื่องราวของฟาสามัญในชุดการเรียนรู้นี้คงจบลงเท่านี้ก่อน ยังมีเรื่องราวอีกมากมายรอการขีดเขียนบันทึกไว้ด้วยมือของทุกท่านที่ติดตามกันมา
สวัสดีครับเรามาพบกันกับคลิปฟาสามัญออนไลน์กันอีกครั้งนะครับ คลิปนี้เนี่ยน่าจะเป็นคลิปสุดท้ายของชุดฟาสามัญออนไลน์แล้วนะครับ ดังนั้นในคลิปนี้เราก็จะมาดูถึงแนวคิดสำคัญของฟาสามัญที่แตกต่างไปจากแนวคิดการศึกษาแบบอื่นกันอีกแนวคิดหนึ่ง ก็คือ ฟาสามัญไม่เปลี่ยนแปลงใคร
เวลาเราเข้าอบรม เรามักจะคาดหวังว่าเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองใช่ไหมครับ แต่ว่าเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นน่ะเกิดจากใคร
การเปลี่ยนแปลงเกิดจากใคร
แนวคิดการเรียนรู้แบบที่แพร่หลายกันทั่วไปเนี่ยก็คือเราจะมีผู้รู้มาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียน มีครูเป็นผู้รู้ ผู้สอนสั่งให้ผู้ไม่รู้ได้รู้ แต่ว่าถ้าฟาสามัญเป็นครู ก็คงเป็นครูที่แย่มาก เพราะว่าฟาสามัญไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงใคร ฟาสามัญนี้ไม่ใช่ครูผู้มีเมตตาสั่งสอน มอบคำคมบ่มเพาะนิสัย ใส่ความรู้เชิดชูคุณธรรม ชี้นำทางสว่างใดๆ ถ้าจะว่ากันไปนะครับมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงเสียด้วยซ้ำนะครับ ถ้าหากว่าฟามุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ฟาเองเนี่ยอาจจะตกหลุมพรางของการเอาชนะ การควบคุมบงการ การรุกรานทางวัฒนธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการต่อต้านการสนทนาไปซะอีก
เอาล่ะ แล้วในงานอบรมเนี่ย ฟาจะทำอะไรล่ะ
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนนะครับว่า การที่คนเราจะเปลี่ยนแปลง จะพัฒนาตัวเองเนี่ยนะครับ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อย่างแรกเราเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ตอนที่ว่าเราเห็นว่าสิ่งเดิมที่เราทำอยู่ มันใช้ไม่ได้ เราก็เลยจำเป็นต้องหาวิธีใหม่
หรือว่าแบบที่ 2 ถึงแม้ว่าของเดิมของเราเนี้ยจะใช้ได้อยู่ แต่ว่าเราเห็นว่าไอ้สิ่งใหม่ที่เราเห็น ที่เราเจอกันเนี่ยนะครับ มันคุ้มกว่า มันง่ายกว่า มันเร็วกว่า มันได้ผลมากกว่า เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเหมือนกัน
เมื่อเห็นทั้งสองอย่างนี้นะครับ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้นะครับ เราก็จะตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะเรียนรู้ เราจะฝึกฝน เราจะพัฒนาตัวเอง เพื่อให้งานของเราเนี่ยมันสำเร็จง่ายขึ้น เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
สังเกตได้ว่าการเปลี่ยนแปลง มันเกิดจากตัวเราเองนี่แหละเป็นผู้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยน ไม่ใช่มีใครมาเปลี่ยนแปลงเรา และนี่ก็คือวิธีคิดแบบที่ผู้เรียนเป็นประธาน เราเคารพในการตัดสินใจของผู้เรียน
ในกระบวนการเรียนรู้ของฟาสามัญ มันจะเริ่มมาจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมมาก่อนเลย หลังจากนั้นเรามาร่วมกันค้นหาแบบแผน มาค้นหาความรู้ร่วมกัน เสร็จแล้วก็มาออกแบบปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แล้วก็ลองไปทดลองกับโลกจริงๆ แล้วก็มาสรุปบทเรียนเพื่อการประยุกต์ใช้กันต่อไปในอนาคต
จากกระบวนการเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมจะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ท้าทายความรู้ ความเชื่อและทักษะเดิมของตัวเองที่มีอยู่ เราจะได้พบเห็นวิถีทางใหม่ๆ ที่ต่างออกไปทั้งจากการแลกเปลี่ยนสนทนากับคนอื่นๆ หรือว่าจากสถานการณ์ที่เราพบเจอ จนกระทั่งเราเนี่ยตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ฟาสามัญ จึงไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงผู้เรียน แต่ว่าเราเนี่ยจะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้มองเห็นตัวเองในแง่มุมต่างๆ แล้วก็ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยตัวเอง
การวัดผลการเปลี่ยนแปลง
แล้วเราจะวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราพูดลอยๆไม่ได้ ก็คือว่าถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเฉยๆ เนี่ยมันไม่ได้บอกว่าจะเปลี่ยนแปลงจากอะไรไปสู่อะไร เปลี่ยนแปลงจากภาวะที่ไม่พึงปรารถนาอะไรไปสู่ภาวะที่พึงปรารถนาอะไร การพูดลอยๆ แบบนี้มันจึงสุ่มเสี่ยงที่จะลดทอนความเป็นการเมืองของการศึกษาลงไปด้วย
เป้าหมายของฟาสามัญก็คือสังคมที่มีความเป็นธรรม ทุกคนเคารพและเกื้อหนุนกันและกัน ดังนั้นผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้แบบฟาสามัญนี้นะครับ จึงไม่ใช่แค่มีความรู้เพิ่ม มีมุมมองเพิ่ม มีทักษะเพิ่มเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของตัวเอง ที่มีต่อตัวเอง ที่มีต่อผู้อื่น ที่มีต่อสังคมเสียใหม่ เพื่อเป้าหมายคือไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเอื้อให้ทุกคนได้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
การวัดผลของการเรียนรู้ในกระบวนการเรียนรู้ของฟาสามัญ จึงต้องมาดูกันว่าเราจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่ยังไง ในทางที่มันจะส่งเสริมความเท่าเทียมและเป็นธรรม เราก็เลยมาดูกันว่า การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน การประเมินผลผู้เรียนเนี่ยนะครับมันจะดูกันในสามมิติ
มิติแรกก็คือ คนเรียนเนี่ยเกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ต่อตนเองยังไง เคารพตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า เห็นจุดอ่อนจุดแข็งตัวเองและยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้หรือเปล่า ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับสังคม ได้พัฒนาอำนาจภายในของตัวเองหรือเปล่า
อันที่ 2 ผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อผู้อื่นหรือเปล่า
สามารถใช้อำนาจร่วมกับผู้อื่นได้หรือเปล่า
มีกระบวนการ มีทักษะในการใช้อำนาจร่วมมากน้อยเพียงไหน ไม่มีการกดขี่หรือว่าควบคุมคนอื่น หรือว่ายอมรับการกดขี่ควบคุมจากคนอื่น
ในส่วนที่ 3 ผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจของตัวเองต่อสังคมหรือเปล่า มีการไม่ยินยอม ยอมจำนนต่อระบบหรือสถาบันที่กดขี่หรือเปล่า ปฏิเสธอำนาจเหนือมั้ย แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองมีพลังอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นได้หรือเปล่า
สรุป
สำหรับคอร์สออนไลน์คงจะจบลงในคลิปนี้ เราได้สนทนากันมาตั้งแต่แนวคิดมุมมองและทักษะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการเอื้ออำนวยวงในแบบของฟาสามัญ ในแบบของกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะให้สังคมนี้เป็นธรรม อย่างที่เราเคยคุยตั้งแต่แรกแล้วนะครับว่า ฟาสามัญนี้นะครับมันถือกำเนิดมาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ได้มองว่าเราจะเปลี่ยนแปลงใคร เราเป็นเพียงผู้ที่เอื้ออำนวยกระบวนการให้ผู้คนได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงกลุ่ม แล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น
สุดท้ายนี้ผมก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปใช้กระบวนการของฟาสามัญ ใช้แนวคิดของฟาสามัญในการที่จะไปร่วมกันสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมและเอื้อต่อความเป็นมนุษย์ของกันและกันในอนาคต
สวัสดีครับ