ฟาสามัญ ep.3
จากทฤษฎีสนทนาสู่พื้นที่ปลอดภัย
ในคลิปที่ 3 นี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย หรือว่าพื้นที่ในการสนทนา ซึ่งมันเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้ขั้นตอนต่างๆ ของวงจรการศึกษาของประชาชนเคลื่อนไปจนครบวงจรแล้วก็เริ่มต้นวงจรใหม่
ในที่นี้ ผมขออนุญาตใช้คำว่าพื้นที่ปลอดภัยก็แล้วกันนะครับ จริงๆ มันยังไม่มีความหมายที่จะตรงตัวนัก แต่ว่าในเบื้องต้นเราคุยกันในชื่อนี้ไปก่อน พื้นที่ปลอดภัย มันเป็นสิ่งที่ฟาจะต้องสร้างและขยายมันขึ้นเพื่อที่จะให้วงจรการเรียนรู้ วงจรการศึกษาฯ มันดำเนินไปได้อย่างมีพลัง
ทีนี้ ทำไมเราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย เรามาทำความเข้าใจกันก่อน ในสังคมของเราเนี่ย เปาโล เฟรเร เรียกว่าเป็นสังคมที่มันมีการกดขี่อยู่ คือเบื้องต้น เราอยู่ในโครงสร้างของสังคมที่กดขี่แล้วก็อยู่ภายใต้วัฒนธรรมของความเงียบ
โครงสร้างสังคมที่กดขี่
ในสังคมของเรา มันมีคนกลุ่มหนึ่งถูกริดรอนความเป็นมนุษย์ออกไป ในขณะที่มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งมีสิทธิในความเป็นมนุษย์มากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง และทำการกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบคนอีกกลุ่มหนึ่ง เราเรียกคนกลุ่มแรกว่า “ผู้ถูกกดขี่” และคนกลุ่มหลังเราเรียกว่า “ผู้กดขี่” โครงสร้างเหล่านี้ที่มีการกดขี่กันเนี่ยนะครับ มันดำรงอยู่ภายใต้ของวัฒนธรรมเงียบ การเกิดวัฒนธรรมเงียบนะครับมันทำให้ผู้ถูกกดขี่เนี่ยรู้สึกต่ำต้อย ดูถูกตัวเอง ขาดความมั่นใจ และไม่สามารถที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้ ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ มีความเฉื่อยชา เชื่อฟังผู้มีอำนาจ พึ่งพาผู้มีสติปัญญามากกว่า และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็คือว่า เขามองว่า ผู้กดขี่ที่เขามองเห็นอยู่เนี่ย ที่กำลังกดขี่เขาอยู่นี้ เป็นต้นแบบของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง สิ่งที่เขาปรารถนาที่จะทำก็คือ การทำตามสิ่งที่ “ผู้กดขี่” ทำ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มันจะทำให้โครงสร้างของการกดขี่และวัฒนธรรมเงียบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ได้
วัฒนธรรมเงียบ
วัฒนธรรมเงีบบนี้ถูกสร้างขึ้นอยู่ภายใต้การศึกษาที่เรียกว่า “การศึกษาแบบฝากธนาคาร” ที่ เปาโล เฟรเร ได้เขียนไว้ในรายละเอียดในหนังสือเรื่องการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ หลักๆ แล้วก็คือว่า มันเป็นการศึกษาที่ผู้กดขี่ออกแบบมาเพื่อที่จะควบคุมให้ผู้ถูกกดขี่ยอมรับและเชื่องเชื่อ สิ่งที่เรากำลังพยายามทำก็คือสิ่งที่เราพยายามทำกันอยู่ในคลิปที่ 2 ที่เราพูดถึงเรื่องของวงจรการศึกษาของประชาชน ในวงจรเหล่านั้นเนี่ย มันจะต้องเคลื่อนไปภายใต้ของมุมมองที่มันเปลี่ยนไป เปาโล เฟรเร เรียกมันว่า เราต้องทำความเข้าใจในทฤษฎี 2 อย่าง ก็คือ ทฤษฎีต่อต้านการสนทนา และทฤษฎีการสนทนา
ทฤษฎีต่อต้านการสนทนา
ภายใต้วัฒนธรรมเงียบ ภายใต้การศึกษาของผู้กดขี่ เขามีเครื่องมือหลักในการที่จะทำให้คนสยบยอม มีเครื่องมือหลักในการที่จะธำรงรักษาการกดขี่เอาไว้เนี่ยนะครับอยู่ 4 เครื่องมือ
การเอาชนะ
เครื่องมือแรกเนี่ยมันถูกเรียกว่า “การเอาชนะ” เขาจะสร้างวัฒนธรรมของการเอาชนะขึ้นมา คือคนกับคน กลุ่มคนกับกลุ่มคน มันจะต้องมีการเอาชนะกัน จะต้องมีการปราบพิชิตกัน ผู้ชนะจะเป็นผู้กำหนดสิ่งต่างๆ ของผู้แพ้ เป็นการกำหนดเป้าหมาย กำหนดการทำงาน กำหนดสิ่งต่างๆ ของผู้แพ้ คือเป็นการปราบพิชิตผู้แพ้ ในวัฒนธรรมของการต่อต้านการสนทนาเนี่ยนะครับ มันจะมุ่งมาที่การเอาชนะกันและกันแบบนี้
การแบ่งแยกแล้วปกครอง
เครื่องมือตัวที่ 2 ของทฤษฎีต่อต้านการสนทนา ก็คือ “การแบ่งแยกแล้วปกครอง” ผู้กดขี่จะพยายามไม่ให้ผู้ถูกกดขี่รวมตัวกันได้ อาจจะเริ่มมาจากการสร้างผู้นำขึ้นมา สร้างผู้ที่สูงกว่าเพื่อที่จะมานำ แล้วเสร็จแล้วก็ให้ตีกันเอง หรืออาจจะใช้ลักษณะของการสองมาตรฐาน การให้คนกลุ่มหนึ่งมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน
การควบคุมบงการ
ส่วนอันที่ 3 ก็คือการควบคุมบงการ การตั้งเป้าหมายให้ มาถึงก็บอกว่า โอเค เราต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ ชีวิตเราควรจะมีเป้าหมายชีวิตแบบนี้ ประเทศเรา กลุ่มเราควรจะมีเป้าหมายแบบนั้นแบบนี้ โดยที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็น ไม่ได้ฟังความต้องการ ไม่ได้ฟังตัวปัญหาของผู้ด้อยอำนาจ
การรุกรานทางวัฒนธรรม
และส่วนที่ 4 ก็คือการรุกรานทางวัฒนธรรม การรุกรานทางวัฒนธรรมหมายถึง การพยายามยัดเยียดทัศนะการมองโลกแบบของฉัน แบบของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้คนอีกคนหนึ่งต้องยอมรับ เชื่อว่าโลกมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ โลกเราเนี่ย ..ก็ต้องมีชนชั้น โลกเราเนี่ย ยังไงมันก็ต้องพัฒนาไปทางอุตสาหกรรม ให้คนอยู่ดี กินดี มีสุข มันจะไปทางอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณยอมรับมันซะเถอะ คุณต้องไปทางนั้น อะไรอย่างนี้ นั่นก็คือ 4 เครื่องมือหลัก ก็คือ การเอาชนะ การแบ่งแยกแล้วปกครอง การควบคุมบงการ และการรุกรานทางวัฒนธรรม 4 เครื่องมือนี้ มันสร้างกลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมาที่ทำให้คนไม่สนทนากัน มันจะเกิดความกังวล ฝ่ายผู้มีอำนาจน้อย มันจะพ่ายแพ้ การพ่ายแพ้นี่มันไม่ใช่แค่เอากำลังมากดข่มกันอย่างเดียวนะ บางทีมันมาในนามของความหวังดี โอ้..คุณอย่าเป็นอย่างนั้นเลย คุณอย่าเป็นอย่างนี้เลย พวกเราเนี่ยหวังดีต่อคุณนะ มันก็จะเกิดภาวะของการไม่พูด ไม่คิด พึ่งพา
ทั้ง 4 อย่างนี้ทำงานอยู่ร่วมกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยู่ภายใต้วัฒนธรรมของความเงียบแบบนี้ ภายใต้การทำงานที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมของความเงียบแบบนี้ มันทำให้เวลาเราจัดกระบวนการเรียนรู้ จัดสร้างพื้นที่การสนทนาขึ้นมา ผู้เข้าร่วมใหม่ๆ มาเนี่ย เค้าก็จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น แบบหนึ่งเลยก็ โอ้..อะไรก็ได้ แล้วแต่หัวหน้า แล้วแต่วิทยากร แล้วแต่คุณครู หรือไม่ก็พูดเอาอกเอาใจคนที่มีอำนาจ อ้อ..หัวหน้าบอกมาอย่างนี้ เราก็เห็นด้วย เราอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้ หรือว่าอีกแบบหนึ่งก็คือ เป็นแบบผู้มีอำนาจเลย ก็คือไปกดข่มคนอื่นในวงประชุม ในวงคุย ..แกต้องทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ คือมันเป็นวัฒนธรรมที่มันถูกสร้างขึ้นอยู่ เราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าเราเอาชนะคนอื่น ถ้าเราควบคุมบงการคนอื่น ถ้าเราสามารถที่จะมีชัยเหนือคนอื่นได้ เรารู้สึกว่า เรามีความเป็นมนุษย์สูงกว่าคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง
ทฤษฎีการสนทนา
จากโครงสร้างสังคมที่มันกดขี่ เขาใช้วัฒนธรรมเงียบ โดยใช้เครื่องมือของการต่อต้านการสนทนา ทีนี้เราก็จะมาใช้อีกแบบหนึ่ง ก็คือว่าเป้าหมายของเราก็คือว่า เราต้องการโครงสร้างสังคมที่เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน เราก็จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมของการสนทนาขึ้นมา แนวคิดทฤษฎีเรื่องการสนทนา มันก็จะตรงข้ามกับทฤษฎีต่อต้านการสนทนาที่ว่าไปเมื่อกี้
การร่วมมือกัน
cooperate
ก็คืออันแรก จากการเอาชนะ เรามาเปลี่ยนเป็นเรื่องของการร่วมมือกัน มองผู้อื่นในฐานะคนที่เราจะร่วมมือกัน ไม่ใช่คนที่จะปราบพิชิต ไม่ใช่คนที่เราจะต้องเอาขนะ แต่ว่าเราจะมาร่วมมือกัน เราใช้ข้อดีของกันและกัน เราเคารพซึ่งกันและกัน
การเป็นหนึ่งเดียวกัน
unity
ข้อที่ 2 จากการแบ่งแยกแล้วปกครอง เราก็มาดูเรื่องของการเป็นหนึ่งเดียวกัน คือแทนที่เราจะแบ่งเป็นพวกเขาพวกเรา เราค้นหาจุดร่วมกันขึ้นมา มองว่ากลุ่มเรา องค์กรเรา ชนชั้นของเราเป็นพวกเดียวกัน ที่เราต่างประสบปัญหาความทุกข์ยากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้กดขี่หรือผู้ถูกกดขี่ เอาเข้าจริงแล้ว ทุกๆ คนต่างก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ อยู่ภายใต้โครงสร้างที่กดขี่แบบนี้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีความยากลำบากกันคนละแบบก็ตาม เราจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เราจะอยู่ภายใต้ความรู้สึกร่วมเดียวกัน
การจัดตั้ง
organization
ส่วนที่ 3 แทนที่จะเป็นการควบคุมบงการ ตั้งเป้าหมาย บีบบังคับ เราเปลี่ยนมาเป็นการจัดตั้งองค์กรร่วมกัน แปลว่าอะไร แปลว่าเราทุกๆ คนต่างเป็นคนที่มีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน และเรามาร่วมมือกันตั้งเป้าหมายร่วมกัน ทำงานด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นการร่วมไม้ร่วมมือ ที่เป็นองค์กรเป็นกลุ่มรวมพลังของทุกๆ คนขึ้นมา
การสังเคราะห์าางวัฒนธรรม
Cultural synthesis
และส่วนสุดท้าย แทนที่เราจะรุกรานทางวัฒนธรรมหรือว่าพยายามที่จะยัดเยียดเอาทัศนะวิธีคิด วิธีมองของเราให้แก่คนอื่น ไม่ว่าวิธีคิด วิธีมองมันจะดีแค่ไหนก็ตาม เราเปลี่ยนมาเป็นการสังเคราะห์ทางวัฒนธรรม แปลว่า เราต่างเคารพในวัฒนธรรมของกันและกัน เราถกเถียง เราพูดคุยกัน แล้วก็เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดสิ่งสุดท้าย หลังจากที่ 4 อันนี้ ได้ร่วมมือกันก็คือ เราต้องการให้เกิดโครงสร้างสังคมเอื้อต่อความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน เราจะสร้างวัฒนธรรมของการสนทนากันขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับโครงสร้างสังคมที่มันกดยี่แฃะทำลายความเป็นมนุษย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การฟาภายใต้วัฒนธรรมเงียบ
คือเราต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ เราอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเงียบ คือฟาสามัญจะต้องตระหนักถึงภาวะที่ผู้เข้าร่วมอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเงียบ เขาก็จะแบบกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าพูด หรือยอมตามอะไรอย่างนี้อันนี้แบบนึงคือ เงียบ ไม่คุย ไม่สนทนา ไม่ขัดแย้ง ไม่อะไร หรืออีกด้านนึงไปเลย ก็คือว่า เขาไปเลียนแบบภาวะของผู้กดขี่ ก็คือไปออกคำสั่ง ไปบงการคนอื่น ไปพยายามเอาชนะคนอื่น แนะนำด้วยความปรารถนาดี ใช้หลักการอันสูงส่งดีงามมาบีบบังคับคนอื่น อะไรอย่างนี้ เราก็จะเจอกับผู้เข้าร่วมทั้ง 2 แบบนี้ตลอดเวลา ในการฟา (จัดกระบวนการ) เราจึงต้องมาสร้างวัฒนธรรมใหม่ ต้องสร้างโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้เกิดพื้นที่การสนทนา ซึ่งในที่นี้เราก็จะเรียกว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั่นเอง
ขั้นตอนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
แนะนำตัว
ขั้นตอนของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็คือว่า เบื้องต้นมันอาจจะแบบง่ายๆ เลยก็คือ แนะนำตัวกันเนี่ยแหล่ะครับ แนะนำตัวกันธรรมดานี่แหละครับ แต่ว่าฟาเองก็ต้องสร้างบรรยากาศของการที่ให้แต่ละคนฟังเพื่อน แล้วก็ให้แต่ละคนได้พูดถึงตัวเองอย่างที่ได้รับรู้ว่ามีคนเขารับฟังเราอย่างจริงจัง ไม่เหมือนกับการที่บางทีเราแนะนำตัวกันไป ก็แนะนำตัวกันแบบผ่านๆ ที่ไม่คิดว่าคนอื่นจะมาตั้งใจฟังเรา แต่ว่าการแนะนำตัวแบบที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยเนี่ยมันคือการพยายามที่จะทำให้แต่ละคนได้สร้างพื้นที่ของตัวเองในวงพูดคุยให้ได้ก่อน เหมือนกับเป็นการจองที่ในตลาดนัด
สร้างเป้าหมายร่วมกัน
ทีนี้ ขั้นตอนถัดมาเนี่ย มานั่งดูกันนะครับ มาสร้างพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการมาสร้างเป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเป็นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายมาแล้ว หรือว่ามีการส่งใบสมัครมาแล้ว อะไรอย่างนี้ แล้วแต่นะครับ เมื่อมาเข้าห้องร่วมกัน เราก็จะต้องมานั่งคุยกันเรื่องเป้าหมาย เพื่อที่จะปรับการเรียนรู้ร่วมกันทุกๆ คนจะได้ยินการตั้งเป้าหมายของแต่ละคนด้วยกัน ตัวฟา ตัวผู้เข้าร่วมก็จะได้แลกเปลี่ยนกันว่า การอบรมการเรียนรู้ในครั้งนี้นะครับมันมุ่งไปที่เป้าหมายอะไรร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างความเป็นทีมร่วมกัน เราจะไปสู่เป้าหมายนี้ด้วยกัน ไม่ใช่ให้ฟาเป็นคนพาไป หรือว่าต่างคนต่างก็มีตั้งเป้าของตัวเองไป นี่เป็นขั้นตอนที่ 2 ที่จะช่วยให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา
สร้างข้อตกลง
ขั้นตอนที่ 3 มันคือการสร้างข้อตกลง แต่มันไม่ใช่ว่าเราตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะลงโทษกันและกัน มันต้องตั้งกฏขึ้นมา ตั้งข้อตกลงขึ้นมา เพื่อที่จะเอื้อต่อกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรามีเรื่องการไม่ตรงเวลา การตรงต่อเวลานี่มันมองได้ 2 แบบนะครับ จะมอง
ในฐานะที่มันเป็นกฏก็ได้ เฮ้ย ใครมาไม่ตรงเวลา ฉันจะปรับ มีการสร้างบทลงโทษอะไรต่างๆ แต่ไม่ใช่ครับ เรามองว่า “ข้อตกลง” มันเอื้อต่อกลุ่มต่างหาก แปลว่า เอ้ย..ทำไมเราต้องตรงเวลา ตรงต่อเวลาเพราะว่าเราเคารพเพื่อนที่มาด้วยกัน แล้วก็นำไปสู่เรื่องของการเราใช้เวลาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ให้ใครมารอใคร ดังนั้นมันก็จะเป็นเรื่องของการตรงต่อเวลา เรื่องของการรักษาความสะอาด การจัดการสถานที่ร่วมกัน คอยช่วยกันดูแลกันและกัน ใส่ใจกันและกัน การถามไถ่ความรู้สึกของกันและกัน ใช้คำพูดคำจาที่ตรงไปตรงมาแต่ว่าสุภาพและเคารพกัน อย่างนี้เป็นต้น คือแล้วแต่ว่าในกลุ่มนนี้ เราจะสร้างข้อตกลงเรื่องอะไร เป้าหมายคือการทำให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งใจขึ้นมาให้มากที่สุด นี่คือส่วนของข้อตกลง
มีผิด-มีถูกได้
ข้อถัดมา อันนี้เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจไม่ตรงกันเยอะมาก ก็คือมักจะมีข้อตกลงแบบหนึ่ง ก็คือบอกว่า เฮ้ย..ในพื้นที่นี้เนี่ยไม่มีผิดไม่มีถูก ผมเข้าใจว่า เราหวังว่าการพูดแบบนี้เนี่ย มันจะนำไปสู่การที่เราสบายใจที่จะได้นำเสนอความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่ แต่ว่าผมอยากจะเสนออีกมุมหนึ่งก็คือว่า เรามีผิดมีถูกได้ ถ้าเราบอกว่าไม่มีผิดไม่มีถูกเนี่ย มันอาจจะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง คือใครพูดอะไรมาก็ถูกไปหมด ปัญหาก็คือแล้วเราจะตัดสินใจกันยังไงล่ะ ถึงที่สุดมันต้องมีการตัดสินใจ แต่ทีนี้ การตัดสินใจที่ว่านี้ เราต้องตระหนักรู้ตลอดเวลาว่า การตัดสินใจทุกครั้งของเราเนี่ย มันมีโอกาสผิดทั้งนั้นแหละ เราเผื่อไว้ตรงนี้ แปลว่า ถ้ามันมีโอกาสผิด มันคือเราเปลี่ยนแปลงได้ ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงได้ เป้าหมายเปลี่ยนแปลงได้ ข้อเสนอต่างๆ ความคิดเห็นต่างๆ มุมมองต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่า ณ เวลานี้ ณ ขณะนี้ เรามีความเห็นแบบนี้ เมื่อโยนเข้าไปที่วงพูดคุยแล้วมีคนไม่เห็นด้วยกับเรา ก็โอเคไงครับ มันจะได้มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกัน
ดังนั้น ผมมองว่า มันจำเป็นต้องมีผิดมีถูกในข้อเสนอต่างๆ ในประเด็นต่างๆ ที่เราพูดคุย แต่การผิดการถูกเหล่านั้น ถ้าหากว่าฟาสามารถทำให้การผิดและการถูกเหล่านั้นเนี่ย มันนำไปสู่การงอกเงยทางสติปัญญาร่วมกัน การงอกเงยประสบการณ์ร่วมกัน แล้วก็เป็นการลองผิดลองถูกที่เราจะเติบโตไปข้างหน้า ไปสู่เป้าหมายได้ ดังนั้นการผิดการถูกในที่นี้มันจึงไม่ใช่เป็นการตัดสินบุคคล มันตัดสินแค่เนื้อหานั้นๆ ในข้อเท็จจริงนั้นๆ ความคิดเห็นนั้นๆ เท่านั้น เพื่อที่จะทำให้คนสามารถที่จะกล้าผิดได้ สามารถที่จะแย้งกันได้ ไม่เก็บความรู้สึกเอาไว้ว่า เราจะต้องเกรงใจกัน มันไม่มีผิดไม่มีถูก เขามีทัศนคติแบบนั้นก็ไม่เป็นไรนะ ถึงแม้ทัศนคติเหล่านั้นมันจะไปละเมิดคนอื่นก็ตาม ไม่ได้! อันไหนละเมิด-เราต้องไม่ยอม แล้วเราก็พูดคุยถกเถียงกัน มันจะสร้างวัฒนธรรมของการถกเถียง ไม่ยอม ขัดแย้ง และหาวิธีการจัดการความขัดแย้งนั้นร่วมกัน ไม่ใช่อยู่เงียบๆ สยบยอม แล้วก็ปล่อยๆ มันไป ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อาจจะส่งเสริมวัฒนธรรมเงียบขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ไอ้เรื่องการมีผิดมีถูกเนี่ยนะครับ เราอาจจะช่วยกันสร้างแบบสนุกๆ ได้นะครับ นอกจากการพูดคุยตกลงกันแบบนี้ เราอาจจะเล่นเกมอะไรบางอย่าง เกมที่มันพลาดได้ ที่ผมมักจะชอบพาเล่นก็จะเป็นเกมนับเลข นับเลข 1-2 ตบมือ 4-5-6 ตบมือ 8-9-10 อะไรอย่างนี้นะครับ ก็คือเลข 3 เลข 7 เราตบมือ แล้วก็จะมีคนผิด มีคนไม่เข้าใจ มีคนงง แล้วเราทั้งวงมันช่วยกันได้ แล้วมันก็จะเห็นว่า อ๋อ..การผิดการถูกมันไม่ใช่เรื่องซีเรียส เราผิดได้ คนอื่นก็ผิดได้ หรือแม้แต่ผมที่เป็นฟาที่เล่นด้วยน่ะ ดูเหมือนมีสติปัญญามีความรู้อะไรอย่างนี้ มันก็ผิดได้เหมือนกัน ทุกคนต่างผิดและถูกได้ แล้วเราก็มาเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน
ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งสำคัญของข้อตกลงอีกอันหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ก็คือว่า พอมีข้อตกลงแล้วเนี่ยไม่ใช่ว่าข้อตกลงนี้จะอยู่ตลอดไปนะครับ เราเปลี่ยนแปลงได้ด้วยภายใต้มติการประชุมกัน พูดคุยกัน เรามีข้อตกลง ก็เปลี่ยนข้อตกลงได้ ร่วมกันคิดร่วมกันสนทนากันขึ้นมา อันนี้อันที่ 1
ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้ข้อตกลง
อันที่ 2 ก็คือว่าตัวข้อตกลงนี้ มันควรจะเป็นข้อตกลงที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงเดียวกันร่วมกันทุกคนในกลุ่ม คือไม่ใช่ว่าข้อตกลงนี้บังคับใช้เฉพาะบางคน ฟาไม่ต้อง ฟาจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น อันนี้มันจะไม่ใช่ภาวะพื้นที่ปลอดภัยนะครับ เพราะไม่เกิดภาวะที่มันเท่าเทียมกัน หรือว่าคนที่เป็นผู้บริหารที่เข้ามาในที่ประชุมนี้เนี่ยมันก็ต้องอยู่อีกกฏหนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานอยู่อีกกฏหนึ่ง มันไม่ใช่ ไม่ได้นะครับ มันจะไม่ได้เอื้อต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเลย มันเอื้อต่อการสร้างการแบ่งแยกและปกครองซะมากกว่า
บรรยากาศที่ฟังกันและกัน
องค์ประกอบที่สำคัญอันสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้ ก็คือบรรยากาศที่เอื้อต่อการฟังกันและกัน การสร้างบรรยากาศที่มันเอื้อต่อการฟังกันและกัน มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดูไม่ปกติในสังคมแบบวัฒนธรรมเงียบ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ฟาจะต้องสร้างมันขึ้นมา ซึ่งในรายละเอียดเนี่ย เดี๋ยวผมจะพูดต่อในคลิปถัดๆ ไปหลังจากนี้ ในเรื่องของทักษะการฟัง แต่ว่าในเบื้องต้น มันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่ง ก็คือว่ามันจะต้องสร้างข้อตกลงหรือว่าสร้างกติกา หรือว่าสร้างวัฒนธรรมพื้นฐานร่วมกันให้กับกลุ่มว่าเราฟังกัน เราจะได้ยินกัน เราจะไม่พูดแทรกกัน เวลามีใครจะพูดจำเป็นต้องยกมือก่อน เราจะต้องฟังอีกคนพูดให้จบ อะไรอย่างนี้นะครับ มันต้องสร้างบรรยากาศที่อาจจะอยู่ในข้อตกลงก็ได้หรือว่าสร้างบรรยากาศนี้ที่ฟาค่อยๆ แทรกเข้าไปว่า เราจะสร้างให้ทุกคนได้พูด และมีคนฟัง
โครงสร้างอื่นๆ ในงานอบรม
เวลาว่าง การสะท้อน กลุ่มทางกายภาพ
ส่วนถัดมาก็คือ ผมคิดว่าโครงสร้างของกำหนดการ เราควรจะให้ความสำคัญกับเวลาว่างด้วย มันแปลว่า มันเป็นเวลาที่ไม่ต้องไปจัดการอะไร หมายถึงตัวฟาเองอาจจะไม่ต้องพยายามที่จะใส่เนื้อหาอะไรให้มากที่สุด แต่ว่าส่งเสริมให้กลุ่มได้สามารถที่จะมีเวลาที่จะจัดการกันเองด้วย ในเรื่องของวงธรรมชาติ ในเรื่องของการได้พูดคุยในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเนื้อหาโดยตรง นี่เป็นโครงสร้างที่สำคัญอันหนึ่ง คือเป็นโครงสร้างที่มันไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัวเนื้อหาเป็นหลัก แต่มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้เข้าร่วมด้วย
อีกหนึ่งโครงสร้างที่สำคัญในการจัดโครงสร้างนี้ก็คือว่ามันต้องมีวงจรสะท้อนกลับด้วยหรือว่าการ Feedback ก็คือการสร้างให้เกิดการสะท้อนกัน การให้ข้อมูลกันและกันกับกระบวนการหรือว่าบทบาทของกันและกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้เข้าร่วมกับฟาที่จะให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสได้สะท้อนการทำงานของฟาในการสรุป การถอดบทเรียนหรือว่าการประเมินตัวฟาด้วย หรือว่าแม้แต่การสะท้อนกันและกันของคนในกลุ่มด้วย
แล้วก็ส่วนสุดท้ายเนี่ยนะครับ มันก็เป็นส่วนของการนั่งเป็นวง ทำให้เราต่างเห็นกันและกัน แล้วก็ไม่มีใครอยู่หน้าหรืออยู่หลังแบบชัดเจนเกินไป แต่ว่ามันเป็นการเห็นกันและกันได้ สนทนาแลกเปลี่ยนกันและกันได้ นั่งกันแบบสบายๆ ที่อาจจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้หรือนั่งบนพื้นก็ได้นะครับ ที่จะทำให้รู้สึกสบายใจหรือว่าไม่ทำอะไรอย่างที่เป็นทางการมากเกินไปอย่างนี้เป็นต้นนะครับ
พื้นที่ปลอดภัยเป็นพลวัติ เปลี่ยนแปลงตลอด
พื้นที่ปลอดภัยเองมันก็จะไม่ได้มีลักษณะที่หยุดนิ่งตายตัว หมายความว่า วันนี้เราสร้างพื้นที่ปลอดภัยแล้วไม่ได้แปลว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป หรือเหมือนเดิมตลอดไป มันอาจจะดีขึ้น รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ลงลึกมากขึ้น หรืออาจจะแย่ลง เช่น อาจจะมีคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ไม่เข้าใจตัววัฒนธรรม ไม่เข้าใจตัวข้อตกลงเดิม แล้วไม่มีเวลาอธิบายกัน ก็จะทำให้พื้นที่ปลอดภัยมันลดลง หรือว่ามีคนที่ผิดกติกา ไม่ยอมรับข้อตกลง ก็อาจจะทำให้ความไว้วางใจของกลุ่มเนี่ยมันลดลงได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติที่มันจะเกิดขึ้นได้ ฟาก็มีหน้าที่ในการที่จะคอยดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย และสิ่งสำคัญ สิ่งที่ฟาจะต้องทำก็คือ เราจะต้องทำหน้าที่ในการขยายพื้นที่ปลอดภัยให้มันกว้างขึ้นด้วย แล้วก็ลึกขึ้นด้วย แปลว่าอะไร? การที่พื้นที่ปลอดภัยนี้มันกว้างขึ้น หรือว่าลึกขึ้นเนี่ยนะครับ มันทำให้เราพูดในสิ่งที่เราไม่กล้าพูดในที่อื่นได้มากขึ้น กล้าที่จะเสี่ยงที่จะทำเรื่องผิดพลาดได้มากขึ้น นั่นแปลว่าเราจะกล้าทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยกล้าทำมาก่อนได้ เรากล้าที่จะถกเถียงในเรื่องความขัดแย้งที่เราไม่สบายใจที่จะพูดในที่อื่น แต่เราไว้วางใจกัน เรารู้สึกปลอดภัยมากพอที่เราจะเปิดประเด็นความขัดแย้งในที่นี้ และก็พูดคุยกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มันจำเป็นมากในการที่จะสร้างวัฒนธรรมการสนทนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น เราจะขยายพื้นที่ปลอดภัยเข้าไปได้ยังไง
การขยายพื้นที่ปลอดภัย
เรื่องแรกๆ เลยนะครับ หลายคนคงเคยได้ยินทฤษฎี Comfort Zone อยู่ มันจะมีเขตพื้นที่สบาย แล้วก็เขตไม่สบาย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของการเรียนรู้ แล้วก็มีเขตพื้นที่ที่เป็นอันตราย อันนี้เป็นทฤษฎีของการเติบโตส่วนบุคคล แต่ว่าเราสามารถที่จะประยุกต์ได้นะครับในการที่จะทำให้กลุ่มเราเนี่ยเติบโตขึ้นมาได้ ก็คือฟาสามารถที่จะชวนวงให้เข้าสู่พื้นที่ไม่สบายได้ เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ มันเป็นพื้นที่ที่จะต้องได้รับการท้าทาย ฟาสามารถที่จะท้าทายกลุ่มได้ มันก็จะมีกิจกรรมพวกเกมท้าทายทั้งหลาย ที่จะชวนให้กลุ่มไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองละ มันจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่มีเป้าหมายบางอย่างนะครับ พาเล่นเกมข้ามรั้วไฟฟ้า เล่นเกมโยนไข่ เกมเดินเป็ด เกมอะไรต่างๆ ที่จะทำให้กลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กันแล้วก็พยายามที่จะมีเป้าหมายร่วมกัน ทดลองที่จะทำงานร่วมกัน เราท้าทายกลุ่มได้ ช่วยทำให้กลุ่มออกจากพื้นที่เดิมๆ ที่มานั่งอยู่กับที่อย่างเดียว พูดคุยกันในทางหัวสมอง ทางความคิดอะไรกันอย่างเดียว เราอาจจะได้มาพูดคุยกันเรื่องของความรู้สึก เราอาจจะได้พูดคุยในเรื่องของการปฏิบัติการมากขึ้น ฟาทำหน้าที่ในการท้าทายกลุ่มให้ขยับออกไป ชวนกลุ่มคุยในเรื่องที่มันลึกขึ้น เรื่องที่มันขัดแย้งกันมากขึ้น ฟาก็จะค่อยๆ แหย่เข้าไปให้กลุ่มทดลองที่จะคุยกันในเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันมากขึ้นได้ โดยฟาก็อาจจะอ่านอุณหภูมิของกลุ่มอีกทีหนึ่งว่า เฮ้ย..แค่นี้พอหรือยัง อาจจะต้องหยุดเท่านี้ไว้ก่อน หรือว่าถ้ามันลงลึกไปได้ ฟาก็จะพาไป นี่คือเรื่องของการท้าทายกลุ่มเพื่อให้พื้นที่ปลอดภัยขยายใหญ่ขึ้น
อีกส่วนหนึ่งนะครับ การทำให้เกิดความขัดแย้งขี้นในกลุ่ม ฟามีหน้าที่นี้ด้วยครับ ช่วยทำให้ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มมันปรากฏตัวขึ้นมา แล้วก็ชวนเขามาคุยกับเถียงกันเรื่องนี้ เพื่อที่จะฝึกที่จะจัดการความขัดแย้ง ซึ่งบางทีเนี่ย จากการท้าทายเมื่อกี้นะครับ จากเกมท้าทาย จากกิจกรรมท้าทายหรือประเด็นที่ท้าทายเมื่อกี้ มันจะจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาไปด้วยเลยก็ได้ แล้วฟาจะทำหน้าที่ชวนกลุ่มมาจัดการความขัดแย้งไปทีละเรื่องทีละเรื่อง ทีละเล็กทีละน้อยได้ เมื่อจัดการความขัดแย้งได้นะครับ กลุ่มเราจะรู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้นว่า อ้อ..เราจัดการมันได้นะ ความขัดแย้งมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งสามารถที่จะจัดการกันได้ และเราเติบโตขึ้นมาจากการจัดการความขัดแย้งเหล่านี้ได้ นี่ก็จะเป็นหน้าที่อีกอันหนึ่งของฟา ที่จะช่วยทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้
ทั้งหมดนี้ของคลิปนี้นะครับ เราพูดถึงเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อที่จะลุกขึ้นมาสู้กับวัฒนธรรมเงียบ วัฒนธรรมที่ส่งเสริมโครงสร้างของการกดขี่ในสังคมปัจจุบัน เพื่อทำให้วงจรการศึกษาของประชาชนมันสมบูรณ์ขึ้น การมีพื้นที่ปลอดภัยจะช่วยให้วงจรเหล่านั้น มันไหลลื่นกันมากขึ้น แล้วเราก็จะเติบโต แล้วฟาก็จะสามารถที่จะชวนกลุ่มไปข้างหน้า ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เติบโต การสร้างสติปัญญาร่วมกัน การสร้างประสบการณ์ร่วมกัน การสร้างสังคมที่ดีงามร่วมกันได้ในอนาคต