ฟาสามัญ ep.7
ชุดคำถามเพื่อปฏิบัติการสู่ความเป็นธรรม

สวัสดีครับ มาพบกันกับคลิปฟาสามัญออนไลน์ตอนที่ 7 ในคลิปนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชุดคำถามเพื่อปฏิบัติการสู่ความเป็นธรรมกัน

ในตอนที่ 6 เราได้พูดเรื่องการตั้งคำถาม เราคุยกันเรื่องการตั้งคำถามเปิด-คำถามปิดแล้วก็การตั้งโครงคำถามแบบนี้วัตถุประสงค์

ในคลิปนี้เราจะมายกตัวอย่างชุดคำถามหนึ่งที่จะนำไปสู่เรื่องการปฏิบัติการเพื่อความเป็นธรรมกัน

ในสังคมที่มีการกดขี่ มันจะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแม้แต่ตัวเราเองก็อาจจะอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในนั้น เราอาจจะเรียกคนเหล่านั้นว่าคนชายขอบ คนยากคนจน คนด้อยโอกาส หรือผู้ถูกกดขี่

แต่ว่าเราก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านั้น หรือว่าหนักไปกว่านั้นเราอาจจะไม่รู้สึกว่ามีกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่

เราอาจมองว่าปัญหาของเรานี้ไม่เหมือนปัญหาเขา หรืออาจจะมีการเอารัดเอาเปรียบกันเองในกลุ่มต่างๆ

หรือคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเองไป เป็นกรรมใครกรรมมัน ใช่ครับ พวกเราถูกบดบังด้วยอคติ 4 อย่างที่มีต่อผู้ถูกกดขี่ อันแรกก็คือการถูกทำให้มองไม่เห็น ทำให้แบ่งแยกกัน ทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว และทำให้รู้สึกไร้อำนาจ

การทำให้มองไม่เห็น

อคติอันแรกก็คือการมองไม่เห็นเป็นอคติที่สำคัญอันหนึ่งเลย ก็คือต้องอาจจะเห็นคนพิการ คนเจ็บป่วย คนสูงอายุ คนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เห็นผู้หญิง แต่ว่าเราไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เราก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้รับอยู่นี้เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราก็จะไม่มองเห็นเขาในฐานะที่เป็นผู้ถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

การทำให้แบ่งแยกกัน

อคติอันที่ 2 ก็คือการรู้สึกว่าปัญหาของเราสำคัญกว่า เราได้รับความเจ็บปวด ได้รับความไม่ยุติธรรมอยู่ในชีวิตของเรา เราอาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย มันแย่มาก เราก็อาจจะรู้สึกว่าปัญหาคนอื่นไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าปัญหาเรา

หรือว่าหนักไปกว่านั้น เราอาจจะรู้สึกว่าคนกลุ่มอื่นๆ นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นคนยากคนจน เป็นผู้ชาย เป็นคนรักต่างเพศ เป็นคนที่ปกติ เป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธกระแสหลัก เป็นอะไรอย่างนี้นะครับ เป็นผู้ที่มากดขี่เราที่มีอัตลักษณ์แบบชายขอบที่มีโอกาสทางสังคมไม่เท่าเขา เราก็จะรู้สึกว่าเราแบ่งแยกกัน เราไม่เหมือนกันฉันถูกกดขี่โดยกลุ่มคนอื่นๆ อีกมากมาย

การทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว

อคติแบบที่ 3 ก็คือการมองว่าปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัว ใครขยัน ใครฉลาดก็รอด ใครที่ไม่รู้จักป้องกันดูแลตัวเองก็พ่ายแพ้ไป เป็นแนวคิดแบบลัทธิที่โทษเหยื่อ ก็คือใครที่พ่ายแพ้เนี่ยก็เป็นความผิดของเขาเอง

การทำให้รู้สึกไร้อำนาจ

และอันสุดท้าย เราต่างก็จมอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นธรรมด้วยกัน จมอยู่ในสังคมที่มีการกดขี่ด้วยกัน แต่ว่าเราต่างก็รู้สึกว่ามันใหญ่โตเกินกำลังของตัวเองและไร้อำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ

เป็นอคติ 4 แบบที่เราเผชิญกันอยู่

ชุดคำถาม RECAP

ชุดคำถาม Recap เป็นชุดคำถามที่ออกแบบมาเพื่อให้เรากลับมามองเห็น เชื่อมโยง เสริมพลังอำนาจและปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น โดยชุดคำถามนี้นะครับจะแบ่งกลุ่มคำถามเป็น 5 กลุ่ม คำถามประเภทแรกเป็นคำถามที่ช่วยให้เรามองเห็นหรือ Recognize

คำถามที่ช่วยให้มองเห็น (Recognize)

เป็นการถามเพื่อให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่า เรามองเห็นอะไรบ้าง เช่น ถามว่า

– เรารู้จักคนไร้บ้านมั้ย เราคิดยังไงกับการที่มีคนจํานวนหนึ่งเนี่ยไม่มีบ้านอยู่แล้วออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

– เราเคยเห็นคนพิการเดินทางมั้ย เป็นอย่างไรบ้าง

เป็นคำถามที่ชวนให้พวกเราในกลับมาทบทวนประสบการณ์ของเราที่เราอาจจะเคยละเลย เพื่อให้เราได้กลับมามองเห็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ ว่าเขามีลักษณะอย่างไร เป็นอย่างไร

คำถามเพื่อสำรวจตัวเอง (Explore)

คำถามประเภทที่ 2 จะเป็นคำถามที่มันต่อเนื่องมาจากคำถามแรก ก็คือคำถามแบบที่สำรวจหรือว่า Explore มันจะเป็นคำถามที่ให้เราเนี่ยกลับมาสำรวจมุมมองของตัวเราเองว่า ทำไมเราถึงมองไม่เห็นกลุ่มคนเหล่านั้น ทำไมเราไม่พูดถึงคนเหล่านั้น อะไรที่ทำให้เรามองไม่เห็น หรือว่าเรามีมุมมองยังไงกับคนเหล่านี้

สำรวจมุมมองของเรา เอ๊ะ! ที่เรามองไม่เห็นเพราะว่าเรารู้สึกว่าคนเหล่านั้นมันน่ารังเกียจ คนเรานั้นมันยากจน หรือว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา อย่างนี้เป็นต้นนะครับเป็นการสำรวจกลับมาที่ตัวเรา

คำถามเพื่อเชื่อมตัวเรากับความไม่เป็นธรรม (Connect)

คำถามประเภทที่ 3 ก็จะต่อเนื่องมาก็คือว่า เราจะสามารถเชื่อมโยงตัวเรากับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร ก็คือเป็นคำถามที่เป็นเรื่องของการ Connect เราจะเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นได้อย่างไร อย่างเช่น เราจะตั้งคำถามว่า

– เราลองเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของเราที่ยากลำบากดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วถ้าเมื่อเทียบกับคนพิการล่ะ คนที่ต้องใช้วิลแชร์ หรือคนที่มองไม่เห็นล่ะเป็นอย่างไร

– ลองเล่าประสบการณ์การถูกกีดกันในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ เมื่อไปเทียบกับกลุ่มคนอื่นๆ เป็นอย่างไร

เราก็จะพอมองเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วเราต่างก็ได้รับความทุกข์ที่ใกล้เคียงกัน เราได้เผชิญกฎกติกา ค่านิยมต่างๆ ของสังคมที่ต่างก็กีดกันกันและกันออกไป

คำถามเพื่อชวนวิเคราะห์ (Analyze)

คำถามประเภทที่ 4 เป็นคำถามที่เราจะกลับมาชวนกันวิเคราะห์แล้วนะครับ เป็นเรื่องของการ Analyze เราอาจวิเคราะห์ในแง่ของสาเหตุว่ามันมาจากเรื่องอะไร เรื่องของค่านิยม วัฒนธรรม หรืออาจจะเป็นตัวระบบเศรษฐกิจ อาจจะเป็นตัวกฎเกณฑ์ของบริษัท กฎหมายของรัฐ หรือว่าเป็นวิถีปฏิบัติที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติก็ได้ เรามาลองวิเคราะห์กันดูว่า เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้ อะไรที่มันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม

หรืออาจจะมีการลองพิจารณาทฤษฎีต่างๆ เช่น ทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคม ทฤษฎีมาร์กซิสต์ ทฤษฎีสตรีนิยม ทฤษฎีเสรีนิยม ทฤษฎีต่างๆ ทางสังคมที่พยายามที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม เราก็อาจจะเอาตรงนี้นะมาช่วยในการพิจารณา มาช่วยในการวิเคราะห์ได้

สิ่งเหล่านี้นะครับ เพื่อช่วยให้เราได้มองเห็นถึงสาเหตุของความไม่เป็นธรรมทางสังคมในมิติที่เราพอที่จะวิเคราะห์กันได้ หรืออาจจะพอมองเห็นแบบแผนร่วมกันที่คนในสังคมได้รับร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • มีกฎเกณฑ์หรือกติกาอะไรในบริษัทของเราที่กีดกันไม่ให้กลุ่มคนบางกลุ่มได้สามารถมีโอกาสทางสังคมหรือว่าทางความก้าวหน้าในการงานบ้างหรือเปล่า
  • มีความเชื่ออะไรในสังคมที่ทำให้คนพิการถูกละเลยไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างในฐานะความเป็นมนุษย์ร่วมกัน
  • มีอะไรที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานของไทย ต้องทำโอทีถึงจะอยู่รอด ถ้าทำงานตามปกติแล้วเงินไม่พอใช้ อะไรทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้น อย่างนี้เป็นต้น

คำถามสู่ปฏิบัติการ (Practice)

คำถามประเภทที่ 5 จะเป็นคำถามที่มุ่งสู่การปฏิบัติการหรือว่า Practice แล้ว อาจจะเป็นปฏิบัติการเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงปฏิบัติการที่มันใหญ่ขึ้น

คำถามเชิงปฏิบัติการนี้จะมุ่งไปที่การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็จะมีหลายมิติ

มิติแรกก็คือ 1 เราจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือว่ามุมมองของตัวเราเองยังไง อย่างเช่น

  • เราจะมองคนอื่นให้เท่ากันกับเราได้ยังไง เราจะมองคนพิการ คนยากจน คนไร้บ้าน คนที่ไม่เหมือนกับเราเนี่ยเป็นคนเหมือนเราได้อย่างไร
  • เราจะมีปฏิบัติการอย่างไรในชีวิตประจำวันของเราที่จะปฏิเสธสินค้าที่มีการกดขี่แรงงาน อย่างนี้เป็นต้น

ในมิติที่สองเราจะเปลี่ยนความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร เช่น

  • เราจะเข้าไปช่วยเหลือคนพิการอย่างไรโดยที่ไม่เป็นการไปกดขี่เขาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
  • เราจะรวมกลุ่มกับคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อย่างไร เราจะพูดคุยกับคนอื่นๆ อย่างไรเพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่มกันได้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ อย่างนี้เป็นต้นนะครับไปมุ่งที่ตัวการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์

ในมิติถัดมาเป็นมิติเรื่องของกฎกติกา เราจะมาตั้งคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎกติกา เราจะแก้ระเบียบบริษัท หรือว่าแก้กฎหมาย หรือว่าข้อตกลงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคมได้อย่างไร มีกฏกติกาหรือว่าวิถีปฏิบัติอะไรที่จะส่งเสริมให้คนได้เข้ามามีโอกาสได้อย่างทัดเทียมกัน อย่างนี้เป็นต้น

ในมิติที่ที่ 4 เราจะมาเปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจกันอย่างไร ใครเป็นผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ใครคือผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย การตัดสินใจเป็นเรื่องของอำนาจ การเปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจ เป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างลึกซึ้ง เช่น

  • เราจะให้คนงานเข้ามามีส่วนร่วมในการออกระเบียบของบริษัทได้อย่างไร หรือว่า
  • เราจะทำยังไงให้ผู้หญิงได้มีสัดส่วนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการของกลุ่ม
  • เราจะทำไงให้ผู้หญิงมีส่วนในการตัดสินใจในการดำเนินไปของหมู่บ้านของเราให้มากกว่านี้
  • เราจะทำยังไงให้เด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับความเป็นไปของโรงเรียนมากขึ้น

ในมิติสุดท้าย เราจะเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรอย่างไร อันนี้มันจะตั้งคำถามไปถึงว่า ทรัพยากรที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้มันถูกใช้ไปเพื่ออะไร มันถูกใช้เป็นความเท่าเทียมหรือเปล่า แล้วถ้าเราจะเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนมันยังไง ยกตัวอย่างเช่น

  • งบประมาณที่เรามีในบริษัทในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร เราจะสามารถที่จะเปลี่ยนทรัพยากรเหล่านี้เนี่ยมาเครื่องหนุนให้แก่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบในบริษัทของเราได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองมากขึ้นได้หรือเปล่า
  • หรือว่าเราจะเอางบประมาณมาทำทางลาดให้แก่คนพิการในพื้นที่ของเราได้หรือไม่
  • เราจะให้งบฯ การส่งเสริมอาชีพที่เป็นกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนผู้ถูกกดขี่ได้มากกว่านี้ได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นคำถามแบบที่ 5 ที่มันจะนำไปสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของกันและกัน

สรุป

ชุดคำถามเพื่อปฏิบัติการสร้างความเป็นธรรม หรือว่า Recap นี้ เป็นตัวอย่างชุดคำถามที่ฟาสามัญสามารถจะเอาไปใช้ได้ในกระบวนการที่เราพูดคุยกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นธรรมได้ พบกันใหม่คลิปหน้าครับ