ฟาสามัญ ep.8
ทักษะการทวนคำพูดในวงสนทนา

สวัสดีครับ เรามาพบกันอีกครั้งแล้วนะครับ สำหรับคลิปฟาสามัญออนไลน์ เราจะมาพูดถึงทักษะสำคัญอีกอันนึงที่อยู่ระหว่างเรื่องการฟังกับการตั้งคำถาม มันคือทักษะการทวนคำพูดของคู่สนทนาของเรา

เรามาดูกันว่ามันมีความสำคัญอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสนทนายังไง

ประโยชน์ของการทวนคำพูด

การทวนคำพูด จะช่วยให้วงสนทนาของเรามันลื่นไหลแล้วก็คมชัดขึ้น มันคือการที่เรารับคำพูดของคู่สนทนามา แล้วก็โยนกลับไปให้ที่วง ก็จะเป็นทักษะสำคัญอันหนึ่งของฟาที่จะช่วยให้วงได้รับรู้และถ่ายเทข้อมูลข่าวสารของกันและกัน

1. ทำให้รู้ว่าเข้าใจแล้ว

การทวนนี้มีประโยชน์อยู่หลายอย่างมาก อย่างแรกมันก็คือ เพื่อที่จะให้คู่สนทนาของเรารู้ว่าฟาเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดแล้ว เมื่อเขารู้ว่าเราเข้าใจสิ่งที่เขาพูดแล้ว เขาก็จะจบประเด็นนั้นได้เลย คือในหลายๆ ครั้งเราจะพบว่ามันมีบางคนที่เขาพูดเยอะ พูดยาว พูดแล้วไม่รู้จะลงยังไง

ซึ่งจากที่ได้เคยพูดคุยสนทนากับเขาเนี่ย หลายคนนะครับที่พูดยาว พูดแล้วไม่มีที่ลง พูดแล้วอ้อมไปอ้อมมา มันเกิดจากที่เขารู้สึกว่า ผู้ฟังเนี่ยอาจจะไม่เข้าใจเขา เขาเลยพยายามที่จะอธิบายเพิ่มเติม แต่ว่าถ้าหากว่าคนที่ฟังเขาเนี่ยช่วยทบทวน ช่วยบอกว่า สิ่งที่เขาพูดไปเนี่ย ผู้ฟังเข้าใจแล้ว เขาก็จะได้รู้สึกว่า โอเค พอได้แล้วสำหรับประเด็นนี้ แล้วก็จะต่อที่ประเด็นต่อไปหรีอว่าจบการพูดของเขาในครั้งนั้นได้

2. ได้ตรวจสอบกันและกัน

ประโยชน์อันที่สองก็คือได้ตรวจสอบกันและกันว่าเข้าใจตรงกันหรือเปล่า บางทีมันไม่ใช่ว่า ผู้พูดพูดไปแล้ว ผู้ฟังเข้าใจไปเอง หรือว่าฟาเข้าใจไปเอง หรือว่าวงเข้าใจไปเอง

ตอนที่มาคุยกันในทีหลัง ที่จะต้องมีข้อตกลงกัน มันก็อาจจะมีการแย้งกันทีหลัง ซึ่งจะเสียเวลาไปอีกได้ การทวนคำพูดกลับไปเนี่ย มันเป็นการช่วยตรวจสอบได้ เช่น 

ที่คุณพูดมาเนี่ยหมายความว่า เราจะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของกันและกันเพิ่มขึ้นใช่ไหมครับอย่างนี้เป็นต้น มันมีการตรวจสอบกันแล้วก็ถามไถ่กันว่า ที่เข้าใจนี่ตรงกันหรือเปล่า

3. ปักหมุดประเด็นให้กับวง

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งนะครับในฐานะที่เป็นฟา การที่เราทวนคำพูดของผู้พูดมันจะเป็นเสมือนการยอมรับว่าประเด็นที่เขาพูดนี้เนี่ยมันสำคัญ ได้รับการยอมรับอยู่ในวงแล้ว มีพื้นที่อยู่ในวงแล้ว โดยการพูดที่ทวนให้ทุกคนได้ฟัง ได้รับรู้ร่วมกัน ซึ่งในกรณีนี้นะครับมันก็จะเหมือนกันที่เราปักหมุดให้กับวงแล้วว่า โอเคเรื่องนี้เนี่ยเราพูดแล้วนะครับ มีประเด็นนี้อยู่แล้ว จากนั้นเนี่ยใครมีประเด็นต่อไปอีกบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องพูดวนไปวนมานะครับ พูดในประเด็นถัดไปได้เลย

4. เป็นเครื่องขยายเสียงให้ผู้ด้อยอำนาจ

บทบาทสำคัญอีกอันหนึ่งของการพูดทวน โดยเฉพาะฟาสามัญที่ทำงานกับผู้ด้อยอำนาจ การพูดทวนของฟา มันเป็นเสมือนเครื่องขยายเสียง ก็คือคนที่ด้อยอำนาจในหลายๆ ครั้ง เขาจะไม่ค่อยกล้าพูด บางทีเขาจะพูดน้อย พูดสั้น การที่ฟาได้ช่วยขยายเสียงของเขาให้คนในวงได้ฟัง เป็นเสมือนการยอมรับเขา เป็นการขยายอำนาจในเบื้องต้นให้เขา เพื่อให้เขารับรู้ว่า โอเค สิ่งที่เขาพูดออกมาอย่างน้อยมีฟาคนนึงแล้วที่ยอมรับ และเมื่อฟาได้ขยายผลไปที่วงแล้ววงเนี่ยยอมรับอย่างไม่ตัดสิน อย่างไม่เยาะเย้ย อย่างไม่ละเลย มันจะช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจของเขาให้มากขึ้น

5. ช่วยให้ผู้พูดได้เรียบเรียงความคิด

ในหลายๆ ครั้งบางทีคนพูดยาว พูดไม่เป็นลำดับขั้น ฟาสามารถที่จะช่วยในการทวน เพื่อช่วยเรียบเรียงคำพูดของเขา สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย คนที่พูดไม่เก่ง คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการพูดให้วงฟัง บางทีเขาจะพูดตะกุกตะกัก วนไปวนมา ฟาทำหน้าที่ทวนคำพูดของเขาเพื่อให้เขาพูดได้ชัดขึ้น พูดให้เป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น เขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ในสิ่งที่จะพยายามสื่อสารกับวงได้มากขึ้น

เทคนิคการทวนคำพูด

จะเห็นว่าการทวนมีประโยชน์ทั้งในแง่ของการเป็นคู่สนทนาที่ดี และประโยชน์ในแง่ของการที่เป็นวงที่มุ่งไปที่วัฒนธรรมการสนทนา มุ่งไปที่การใส่ใจการรับรู้กันและกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้มันลื่นไหลและคมชัดขึ้น และวงจะค่อยๆ เคลื่อนตัวไปผ่านการทวน การปักหมุดให้กับวงของฟา ที่นี่เรามาดูเรื่องของเทคนิควิธีการในการทวนกัน

หลักการที่ 1 ใช้คำพูดของผู้พูดเป็นหลัก

พื้นฐานง่ายๆ ที่สุดของการทวนคำพูดก็คือเราจะต้องพยายามที่จะใช้คำพูดของผู้พูดเป็นหลัก ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับผู้พูดก็ตาม เพราะว่าสิ่งที่เราทวนมันไม่ได้คำพูดของเราหรือเป็นความเห็นของเรา แต่มันคือการทวนคำพูดของผู้พูดให้กับวงฟัง ดังนั้นจึงยังไม่ต้องใส่ความเห็นเข้าไป หรือไม่ต้องไปประเมินค่า เพื่อให้วงได้รับรู้ร่วมกันถึงข้อมูลข่าวสารที่มาจากผู้พูดได้จริงๆ

หลักการที่ 2 เตรียมใจรับความผิดพลาด

อันที่ 2 เมื่อทวนแล้วฟาเองก็ต้องเตรียมไว้ด้วยว่าอาจจะไม่ถูก ยังไงก็ต้องเตรียมพื้นที่ไว้ให้สำหรับผู้พูดได้บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง ที่เราทวนนั้นมันตรงกับความหมายที่เขาพูดจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งในบางกรณีอาจจะตรง 100% ก็ดีไป อาจจะไม่ตรงก็ให้เขาพูดแย้งออกมาหรืออธิบายเพิ่ม หรืออาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างก็จะเป็นโอกาสของผู้พูดที่เขาจะได้อธิบายเพิ่มเติมขึ้นมาได้ ดีกว่าเราเงียบไปเฉยๆ เลยแล้วก็ผ่านไปที่ประเด็นถัดไป

1. การพูดซ้ำ

เทคนิคในการทวนคำพูด แบบแรกเนี่ยง่ายที่สุดเลยนะครับก็คือการพูดซ้ำ เราจะพูดซ้ำในตอนที่ผู้พูดพูดถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือลำดับขั้นตอนการทำงาน พูดถึงตัวสถานที่ พูดถึงชื่อสิ่งของ พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นข้อเท็จจริง อันนี้เราจะง่ายนะครับ เราก็พูดซ้ำไปเลย ว่าเขาพูดอะไรอย่างนี้ออกมา ถือเป็นการรับรู้ว่าเราเข้าใจแล้ว

2. ทวนคำสำคัญ

ในส่วนที่ 2 เนี่ยก็คือเป็นการทวนที่ตัวคำสำคัญ ในกรณีนี้ผู้พูดอาจจะพูดยาวขึ้น อาจจะพูดถึงเหตุการณ์ พูดเล่าเรื่อง อาจจะเจือปนไปที่ตัวความคิดเห็น หรือว่าตัวความรู้สึกไปด้วย เราก็เลือกจับไปที่ตัวคำสำคัญ เพื่อทวนกลับไป 

ในการทวนคำสำคัญ มันจะสั้น มันจะเป็นแค่คำๆ เท่านั้น ในแง่ข้อดีของมันก็คือมันจะทำให้การพูดของคู่สนทนาของเรามันไม่สะดุด เราค่อยๆ ทวนไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะบอกว่า โอเคฉันได้ยินแล้ว ฉันรับรู้แล้ว ในกรณีนี้เนี่ยมันก็จะช่วยให้คู่สนทนาของเรามั่นใจมากขึ้นว่าเราเข้าใจเขาแล้วเพราะว่าจับคำสำคัญได้แล้ว

3. ทวนเป็นหมวดหมู่

แบบที่ 3 ก็จะยากขึ้นมาอีกหน่อยแล้วนะครับ ก็คือในบางกรณีคนพูดพูดหลายเรื่องหลายประเด็นมาก มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างมาก เราจะต้องมีทักษะของการจัดหมวดหมู่ด้วย เราอาจจะพูดแค่หัวข้อก็ได้ว่า 

โอเคครับผม ที่ผมได้ยินที่คุณพูดมันมีอยู่ 3 เรื่องนะครับ 

เรื่องแรกคุณก็จะพูดถึงเรื่องความทุกข์ใจของคุณในการทำงานในการมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการกดขี่

เรื่องที่ 2 คุณพูดถึงคนรอบข้างของคุณมีความทุกข์ใจอยู่เช่นเดียวกัน

เรื่องที่ 3 คุณพูดถึงความหวังของคุณ ที่คุณอยากที่จะออกจากสภาพสังคมที่มันกดขี่เลวร้ายในปัจจุบัน พูดถึง 3 เรื่องนี้ อย่างนี้เป็นต้น 

อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดมาก แต่อย่างน้อยเราอธิบายให้เขาฟังได้ว่าเราเข้าใจอยู่ว่าเขาพูดถึง 3 เรื่องนี้เป็นหมวดหมู่

4. ทวนโดยการสรุป

เทคนิคอันถัดมาจะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เทคนิคนี้เราเรียกว่า การสรุป การสรุปเนี่ยมันจะเกิดขึ้นตอนที่ผู้พูดเนี่ยเริ่มพูดยาวละ พูดยาวมีทั้งข้อเท็จจริง ความคิดเห็น อารมณ์ความรู้สึกปนๆ กันนะครับซึ่งมันก็จะมีทั้ง 2 ส่วน ก็คือมีส่วนที่มันเป็นเรื่องของรายละเอียด หรือเรื่องของเนื้อหา กับอีกสิ่งนึงก็เป็นสิ่งที่พูดต้องการที่จะสื่อสารออกมา เราก็จะต้องพยายามแยกแยะให้ได้ว่าอันนี้เป็นรายละเอียด เป็นเนื้อหา อีกส่วนนึงเนี่ยเป็นเรื่องของสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมา ดังนั้นการทวนแบบนี้มันจึงเป็นการทวนที่ค่อนข้างเสี่ยงขึ้นมารือนิดนึงนะครับ ก็คือเราจะทวนในสิ่งที่เราเข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร มันก็จะเป็นกึ่งๆ การเดาแล้ว

ว่า เอ้ …สิ่งที่คุณพูดเนี่ยมันหมายถึงว่าคุณต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใช่ไหมครับ มันก็จะเป็นการพยายามที่จะลองเดาดูว่า สิ่งที่เขาต้องการสื่อสารหลักๆ แล้วเนี่ยมันคืออะไร มันจะไม่ใช่การพูดซ้ำ มันจะไม่ใช่การพูดถึงข้อเท็จจริงที่เขาพูดออกมา แต่ว่าเราพยายามที่จะแปลความหมายที่เขาพูดมา ซึ่งเทคนิคนี้สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือมันจะต้องถามเขาว่าเราเข้าใจถูกหรือเปล่า แต่ว่าอย่าเพิ่งเลยไปถึงขั้นของการตัดสินหรือประเมินค่านะครับ เช่นว่า คุณพูดอย่างนี้เนี่ยว่าคุณเกลียดเขา หรือว่าคุณพูดอย่างนี้เนี่ยมันไม่ค่อยจะดีนะผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเลย สิ่งที่คุณพูดออกมา อันนี้ไม่ได้นะครับ เราจะยังไม่ตัดสิน ยังไม่ประเมินค่า มันจะเป็นเพียงแค่การสรุปว่าเขาพูดอะไรออกมาเท่านั้นเอง เราเข้าใจว่าอะไร

5. ทวนจากการตีความ

เทคนิคอีกอันนึงนะครับก็คือ มันเป็นการตีความแล้วครับ มันจะเป็นเรื่องของการตีความสิ่งที่เขาพูดหมายถึงอะไร มันเป็นการเดาใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูดของเขา มันจะยากกว่ากันสรุปขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง การสรุปเนี่ยมันยังมุ่งไปที่เนื้อหาที่เขาพูดออกมาเป็นหลัก แต่การตีความ บางทีคนพูดอาจจะไม่กล้าพูดอะไรออกมาเยอะๆ ลึกๆ มากนัก อาจจะกลัวความขัดแย้ง หรือว่าไม่กล้าที่จะพูดข้อมูลบางอย่างที่เขาอาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อนให้กับคนอื่นๆ แต่ว่าเราสามารถที่จะตีความคำพูดของเขาได้

เช่น การที่เขาพูดว่าเมื่อเผชิญกับความสัมพันธ์กับหัวหน้าในการทำงานแล้วเนี่ยเขาไม่สามารถที่จะพูดอะไรตรงๆ ออกมาได้เลย เขาเข้าไปทำงานทุกๆ วันด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้ง ไม่อยากตื่นขึ้นมาตอนเช้า ไม่ได้อยากที่จะไปทำงานเลย เราก็อาจจะตีความคำพูดของเขาว่า โอเค คุณรู้สึกอึดอัดที่จะไปเจอหัวหน้าในที่ทำงานใช่ไหมครับ คำพูดคำว่าอึดอัดเนี่ยอาจจะไม่ใช่เป็นคำพูดของเขา แต่ว่าเป็นการพยายามที่จะลองหาคีย์เวิร์ด หาความหมายของสิ่งที่เขาพูดออกมา มันก็จะไปอีกขั้นหนึ่งที่จะค่อนข้างยากหน่อย แต่ว่าเราสามารถทดลองได้ เราไม่ต้องกลัวว่าการตีความของเราจะผิด เพราะว่าเราก็จะต้องเผื่อใจไว้อยู่แล้วในการที่จะถามเขาว่า สิ่งที่เราตีความมันถูกต้องหรือเปล่า

ที่เราจำเป็นที่ต้องมีการตีความ เพราะว่าบางครั้งเนี่ยตัวผู้พูดเองบางทีก็ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเขารู้สึกอะไรอยู่ มีความคิดเห็นอะไรอยู่ การตีความหรือว่าการสรุปมันจะช่วยให้ผู้พูดมีโอกาสได้อธิบายสิ่งที่ขยายไปจากการตีความหรือว่าการสรุปของฟาได้ เป็นการเปิดบทสนทนาที่มันกว้างไกลขึ้นกว่าเดิม

หรือบางทีถ้าฟาสามารถที่จะตีความหรือว่าสรุปที่มันตรงจุดกับที่เขาอยากที่จะอธิบายเพิ่ม มันก็อาจจะช่วยให้เขากล้าที่จะอธิบายเพิ่มขึ้นมาได้อีก หรือแม้แต่การที่จะโยนเข้าไปสู่วงว่า โอเคมีใครคิดเห็นคล้ายๆ อย่างนี้อีกไหม 

มันก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนการสนทนาในประเด็นที่ใกล้เคียงกันได้มากขึ้น โดยที่ผู้พูดอาจจะไม่ต้องทนอึดอัดที่จะต้องเล่าอะไรที่เขารู้สึกยากอีกต่อไปก็ได้

6. ทวนโดยการสะท้อน

อันสุดท้ายคือการสะท้อน ฟาอาจจะทำหน้าที่เพียงแค่เป็นกระจกเท่านั้น ก็คือพูดในสิ่งที่สังเกตได้จากที่เราเห็นอยู่ เช่น

โอเค …คุณดูหน้าแดงแล้วนะ 

แววตาของคุณดูสดใสขึ้นนะครับ

เอ้อ …ตอนนี้ผมรู้สึกว่าคุณกำลังใช้เสียงที่มันดังขึ้นแสดงถึงความมั่นใจที่มากขึ้นหรือเปล่า

การสะท้อนเนี่ยมันเป็นการช่วยให้ผู้พูดได้รู้ตัวว่าตัวเองกำลังแสดงสารอะไรอื่นๆ ออกมามากขึ้น ช่วยให้ผู้พูดได้รู้ตัว ช่วยให้เขาเห็นว่าฟาเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดมากขึ้น มากกว่าที่เป็นภาษาคำพูดอย่างเดียว 

หรือฟาเองอาจจะใช้การประมวลจากสารต่างๆ ที่ผู้พูดพูดออกมามากกว่าตัวคำพูดนั้นนะครับ สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ภาษาที่ใช้ บรรยากาศ ความพูดเร็วพูดช้าของผู้พูด เราก็อาจจะตั้งข้อสังเกตนั้นกลับไป เช่น 

ดูคุณใช้ความพยายามมากเลยนะครับ ที่จะต้องไปทำงานในตอนเช้า หรือว่า

โอเค..ดูคุณหลังจากเล่าเรื่องนี้แล้วเนี่ยร่างกายคุณดูสบายๆ มากขึ้น

ก็จะเป็นการสะท้อนสิ่งที่เราได้เห็นจากผู้พูด ผู้สนทนาของเรานะครับ ซึ่งเขาอาจจะมีโอกาสที่จะได้อธิบายสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมจากที่ใดสะท้อนกลับไป

แต่อย่างไรก็ตามนะครับ ฟาเองก็ต้องหลีกเลี่ยงการประเมินค่า เช่น 

โห..ฟังดูแล้วคุณโหดจังเลย หรือว่า

เฮ้ย คุณมักจะยอมคนแบบนี้เหรอ หรือว่า

เหมือนคุณเกลียดเขามากเลย

สิ่งเหล่านี้เป็นการประเมินค่า เป็นการตัดสิน ต้องระมัดระวังไม่ได้หมายความว่าจะห้ามนะครับ แต่ต้องระมัดระวังเพราะว่าในบางครั้งเนี่ยนะครับคนที่มีอำนาจน้อยบางทีก็อาจจะยอมรับการตัดสินจากฟาไปเลย มันอาจจะทำให้การสนทนาของเรามันไปกดทับ มันไปทำให้เขารู้สึกด้อยอำนาจลงไปอีก

การทวน = การเปิดโอกาสให้เกิดการใช้อำนาจร่วม

การทวนเป็นเครื่องมือสำคัญนะครับที่จะช่วยให้ฟาที่อยู่ในฐานะของผู้ฟังได้ใช้อำนาจร่วมในการตัดสินใจว่าประเด็นสำคัญของผู้พูดคืออะไร เขาจะได้มีโอกาสในการบอกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันหมายถึงอะไร แล้วก็การที่ฟาโยนเอาการทวนคำพูดเข้าสู่วง มันก็จะเป็นการทำให้วงได้ร่วมตัดสินใจว่า ประเด็นนี้ได้รับการยอมรับอยู่ในวงและเราจะพิจารณาเรื่องนี้กันต่อ 

นอกจากนั้น การทวนยังช่วยในการลดการตัดสินว่าผิดหรือถูกโดยการใช้อัตวิสัยส่วนตัวเท่านั้น แต่มันเป็นการทวนที่มาจากตัวข้อเท็จจริงของการพูด ส่วนการประเมินค่า การตัดสินก็อาจจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่เราจะต้องตกลงกันว่า โอเค ช่วงนี้เป็นช่วงของการประเมินค่าและการตัดสินว่า สิ่งที่เราต้องการนี้มันคืออะไรกันแน่ มันจะค่อยๆ เคลี่อนวงไปอีกทีนึง

สรุป

ทั้งหมดนี้นะครับ การทวนจะค่อยๆ สร้างความเข้าใจร่วมในวงสนทนา ให้วงค่อยๆ ไปด้วยกัน และเคลื่อนไปสู่ขั้นตอนที่ยากขึ้นๆ เรื่อยๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ หรือนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันของวงต่อไปเรื่อยๆ นะครับ เป็นการสร้างวัฒนธรรมการสนทนาอีกแบบหนึ่งที่ฟาสามารถเอาไปใช้ได้

ลองดูนะครับ ลองไปฝึกดูกับการทวนคำพูดของคู่สนทนา เราก็อาจจะไปสนทนากับคนที่ใกล้ตัวของเรานะครับแล้วก็ลองทวนเขาดู คุยกับคำว่าอยากที่จะฝึกการทวน อาจจะเริ่มจากการพูดซ้ำในสิ่งที่เขาพูด หาคำสำคัญ ไปสรุป ไปตีความ ไปสะท้อน ให้เขาได้พูดแล้วเราได้ทวนดู แล้วก็มาสรุปบทเรียนกันว่า เอ๊ะ การทวนของเราเป็นอย่างไร เราก็จะได้ทักษะสำคัญที่อันหนึ่งของฟา เอาไปใช้ในการขับเคลื่อนกระบวนการ ขับเคลื่อนวงให้ก้าวไปข้างหน้าได้ต่อไป 

สำหรับคลิปนี้ก็จบลงแล้ว ก็ขอบคุณมากนะครับ แล้วเจอกันในคลิปต่อไป