จากสุขภาพส่วนตัวสู่สุขภาพสังคม

คำถามเพื่อเปลี่ยนจากวิธีคิดแบบโทษเหยื่อสู่วิธีคิดเชิงโครงสร้าง

เรามาพบกันกับชุดเรียนรู้เรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพกันอีกครั้งนะครับในคลิปนี้ เราจะมาดูกันว่าเราจะเปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องสุขภาพที่เป็นเรื่องส่วนตัวเปลี่ยนเป็นสุขภาพสังคมได้อย่างไร เปลี่ยนวิธีคิดจากการโทษเหยื่อมาเป็นการคิดแบบเชิงระบบได้อย่างไรในมุมมองเรื่องสุขภาพของเรา

ที่มาหลักๆ ของวิธีคิดแบบโทษเหยื่อก็คือ การเชื่อว่าโลกนี้มีความยุติธรรม หมายความว่าถ้าเราทำดีเนี่ยเราก็ควรจะได้รับรางวัลนะ แต่ถ้าเราทำไม่ดี เราก็ควรได้รับการลงโทษ เอ๊ะ! ดูมันก็สมเหตุสมผลดี แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว การกระทำของเราเอง มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งต่างๆ อีกหลายปัจจัยที่แวดล้อมเราอยู่ หมายความว่าการที่เราทำดีแล้วเนี่ยอาจจะไม่ได้รับผลที่ดีก็ได้ เพราะว่าในโลกของเรามันมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่มันจะเกิดขึ้น

ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราขยันแล้วเราจะร่ำรวย ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรากินอาหารดี พยายามที่จะเลือกกินอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนดี แล้วเราจะไม่เป็นโรคร้ายอะไรเลย

เมื่อเรามองไม่เห็นว่ามันมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ มันก็จะทำให้เรามีแนวโน้มที่เราจะไปโทษคนที่ได้รับผลร้ายว่า เกิดจากตัวเขาเองโดยไม่ได้มองผลกระทบอื่นๆ ไม่ได้มองเหตุปัจจัยอื่นๆ

โมเดลภูเขาน้ำแข็ง

ในคลิปนี้ เราก็จะมีตัวช่วยตัวนึงนะครับ เป็นเครื่องมือในการคิดก็คือ วิธีคิดเชิงระบบ เราก็จะใช้ตัวโมเดลภูเขาน้ำแข็งมาช่วยในการทำให้เรามองเห็นว่า อ๋อ มันมีเหตุปัจจัยอยู่ 3 – 4 อย่างที่ส่งผลถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม

ส่วนประกอบของโมเดลภูเขาน้ำแข็ง

อันแรกเลย ส่วนที่ปรากฏออกมาอยู่ข้างบน ก็คือยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเราก็จะเปรียบเทียบกันว่ามันเป็นตัวปรากฏการณ์ 

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นกันชัดๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งโรคเบาหวาน มีเกิดอุบัติเหตุขึ้น มีคนยากคนจนที่รายได้ไม่พอประทังชีวิต มีคนพิการที่ไม่สามารถเดินทางหรือว่าใช้ชีวิตได้อย่างสมกับที่เขามีศักยภาพอยู่

อันนี้ก็เป็นตัวปรากฏการณ์ที่เราอาจจะเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ในระดับที่สองที่มันลงลึกกว่านั้นก็คือการมองเห็นเรื่องของแบบแผน

แบบแผนก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นร่วมๆ กันซ้ำๆ ในกลุ่มคนต่างๆ

และลึกลงไปกว่านั้นก็คือในระดับของโครงสร้าง หรือว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ 

และในชั้นสุดท้ายก็คือชั้นของตัวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ มุมมองที่ทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างบนนั้น

ใต้ผิวน้ำชั้นแรก “แบบแผน”

ยกตัวอย่างเช่นเวลาเราไปเจอใครที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เราก็อาจจะมองว่าเขาเนี่ยไม่ดูแลสุขภาพ ไม่เลือกกินอาหาร ไม่ออกกำลังกาย ไม่ดูแลการพักผ่อนของตัวเองให้ดี 

แต่ว่า ถ้าหากว่ามองในระดับของแบบแผน เราอาจจะตั้งคำถามใหม่ เราอาจจะเปลี่ยนคำถามเป็น เอ๊ะ ทำไมคนกลุ่มนี้จึงมักจะเป็นเบาหวาน หรือคนที่เป็นเบาหวานเนี่ยมักจะอยู่ในอาชีพแบบไหน อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน แล้วทำไมจึงเป็นเบาหวาน อย่างนี้เป็นต้น

หรือแทนที่เราจะไปโทษผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าแต่งตัวโป๊ ว่าไปในที่ที่ไม่ควรจะไป เราอาจจะตั้งคำถามใหม่ว่า เอ๊ะ! ผู้หญิงกลุ่มไหนที่มักจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือคนกลุ่มไหนที่มักจะล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น สถานที่ไหนที่มักจะเกิดคดีการล่วงละเมิดทางเพศ อย่างนี้เป็นต้น

เราก็จะพอมองเห็นแบบแผนซึ่งมันจะช่วยให้เราออกจากการมองในแง่บุคคล คนๆ เดียว เราก็จะเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วว่า อ๋อ ที่แท้แล้วเนี่ยคนที่เป็นเบาหวานเนี่ยมักจะมีฐานะที่ยากจน มีอาชีพที่สร้างรายได้ได้น้อย มีชั่วโมงในการทำงานค่อนข้างเยอะแต่ว่ารายได้กลับต่ำ

หรือว่าผู้หญิงที่มักจะถูกล่วงละเมิดทางเพศเนี่ย ก็อาจจะเป็นผู้หญิงที่ยากจน เป็นต้น

แต่ว่าการมองแบบนี้เนี่ยนะครับมันอาจจะตกหลุมพรางบางอย่างได้เช่น เราอาจจะหลุดออกจากการโทษตัวบุคคล แต่ว่าอาจจะไปโทษกลุ่มคนแทนก็ได้ เช่น อ๋อ ก็พวกคนจนมันไม่รู้จักดูแลตัวเองนี่นา หรือว่าพวกกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นนี่แหละที่มักจะไปในที่ที่ไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น

มันก็จะทำให้เราอาจจะเพียงแค่เปลี่ยนจากการโทษตัวบุคคลไปเป็นโทษกลุ่มคนแทนก็ได้

ใต้ผิวน้ำชั้นกลาง “โครงสร้าง”

ดังนั้นเราจึงต้องมีชั้นถัดมาครับ ก็คือเราก็จะต้องมองในระดับของตัวโครงสร้างหรือว่าสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นด้วย

อาจจะพูดถึงสถาบันทางสังคม อาจจะพูดถึงพื้นที่ทางกายภาพก็ได้ คำถามในชั้นนี้นะครับมันจะเป็นคำถามในเชิงที่ถามไปถึงว่าทำไมจึงเกิดแบบแผนนั้นขึ้นมาด้วย

เราก็จะไม่ได้จบอยู่แค่ว่าไอ้กลุ่มนั้นมันเป็นอย่างนั้น กลุ่มนั้นมันเป็นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วมันมีสาเหตุว่าทำไมคนกลุ่มนั้นจึงเป็นเช่นนั้นด้วย

คำถามในเชิงโครงสร้างเนี่ยจะทำให้เรามองหาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดแบบแผนเหล่านั้นขึ้นมา เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคนจนจึงไม่สามารถหาอาหารที่มีคุณภาพมากินได้ หรือไม่เลือกที่จะบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ

อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเข้าไม่ถึง อะไรเป็นปัจจัยที่เขาไม่เลือกอาหารที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ เขาจำเป็นที่จะต้องไปซื้ออาหารที่ไหน แล้วราคาเป็นอย่างไร มันพอเหมาะพอสมกับรายได้ที่เขามีหรือเปล่า

หรือถ้าเป็นในกรณีของการล่วงละเมิดทางเพศ อาจจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคนกลุ่มคนจนจึงมักจะมีคดีล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า อาจจะเป็นไปได้ไหมว่าตัวสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ไม่ใช่เมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิง เป็นตัวคำถามเชิงโครงสร้างแบบนี้ ตัวสภาพแวดล้อมแบบนี้ 

หรือถ้าจะไกลไปกว่านั้น เราอาจจะต้องมองไปถึงตัวความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงเนี่ยจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาผู้ชายในการใช้ชีวิตในทางเศรษฐกิจ ทำให้มีอำนาจที่น้อยกว่าผู้ชาย จึงมักจะถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายกว่า

หรือว่าคนยากคนจนอย่างเช่นผู้ใช้แรงงานทั้งหลายที่รายได้ปกติไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องทำงานล่วงเวลา มันถึงจะมีรายได้ที่มากเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้

นั่นแปลว่าเขาก็จะอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมง ไม่มีเวลาที่จะไปสันทนาการ ไม่มีเวลาที่จะไปออกกำลังกาย ซ้ำยังอยู่ในท่าทางเดิมซ้ำๆ ที่ทำให้สุขภาพของเขาเนี่ยมีปัญหามากขึ้นก็ได้

เราก็จะมองทั้งในแง่ของปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทางกายภาพ ทางการเมือง เป็นต้น

ใต้ผิวน้ำชั้นล่างสุด “ทัศนคติ”

และในชั้นล่างสุดมันเป็นชั้นของตัวความเชื่อและทัศนคติมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ชั้นนี้จะเป็นชั้นที่ลึกที่สุด แต่ว่ามันจะส่งผลที่ทำให้เกิดตัวโครงสร้าง หรือว่าแบบแผนและปรากฏการณ์นั้นขึ้นมา

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีทัศนคติว่า “ไม่เลือกงานไม่ยากจน” ถ้างั้นเนี่ย เราเรียนน้อย เราไม่มีความสามารถ เราก็ต้องไปทำงานที่มันรายได้น้อย เราก็จะต้องไปเจองานที่มันยาก มันสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังนั้นเราก็ต้องยอมอดทนไป ทั้งๆ ที่ทุกๆ คนเนี่ยสมควรที่จะมีสิทธิ์ที่จะมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไร เขาควรได้รับการปฏิบัติ ได้รับสภาพแวดล้อม ได้รับบริการเท่าเทียมกับทุกๆ คน ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับอาชีพ

หรือการมีทัศนคติที่มองว่าผู้หญิงเนี่ยไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นจึงควรจะมีรายได้ที่ไม่เท่ากัน หรือมีหน้าที่ที่อยู่ดูแลที่บ้าน ต้องพึ่งพาผู้ชายในการใช้ชีวิต ทำให้มองเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย แล้วก็ผู้ชายสามารถทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้

สรุป

เราก็จะมาทบทวนกันนะครับว่า เมื่อเวลาเรามองเห็นปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเนี่ย ลองฝึกกันดูว่า เอ๊ะ! เราจะตั้งคำถามให้มองเห็นแบบแผนได้อย่างไร

ถัดจากนั้น เราก็ลองมองลึกไปกว่านั้นว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดแบบแผนแบบนั้น มันมีเหตุปัจจัยทางการเมือง ทางเพศรษฐกิจ ทางกายภาพ ทางสังคมอย่างไร ที่ทำให้เกิดแบบแผนเหล่านั้นขึ้นมา

แล้วสุดท้ายเราก็จะมาดูกันว่า มันมีวิธีคิดหรือว่าความเชื่ออะไรที่มันสนับสนุนให้โครงสร้างเหล่านั้น แบบแผน้หล่านั้นยังดำรงอยู่ ก็จะเป็นคำถามที่จะช่วยออกจากแนวคิดแบบโทษเหยื่อได้ แล้วมันก็จะทำให้เรามองเห็นตัวปัจจัยทางสังคมที่มากำหนดสุขภาพของคน นำไปสู่ที่เราจะเปลี่ยนวิธีคิดจากสุขภาพส่วนตัวเป็นสุขภาพทางสังคมได้ในที่สุด มันก็จะนำไปสู่เส้นทางของการพยายามที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา