พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ เขียน
เพลงเป็นสื่อ soft power ที่ทรงพลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงได้รับอิทธิพลจากเนื้อดินของสังคม สะท้อนสภาพสังคม ปรากฏการณ์และวิธีคิดในบริบทสังคมนั้น แต่ในขณะเดียวกันเพลงก็สะท้อนความคิดของนักดนตรีนักแต่งเพลงรวมถึงผู้ร้องด้วย ซึ่งในแง่นี้เองที่เพลงจะมีส่วนผลักดันสังคมให้ไปข้างหน้าหรือรักษาสถานะเดิมไว้หรือแม้กระทั่งฉุดรั้งสังคมให้ถอยหลัง
ในสังคมไทยเมื่อเอ่ยถึงเพลงเพื่อชีวิตเรามักนึกถึงบทเพลงของวงในตำนานอย่างคาราวาน คาราบาว พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กระทั่งวงเฉลียงที่มีคนกล่าวขานว่าเป็นเพื่อชีวิตยุคใหม่
สำหรับนักกิจกรรมเจเนอเรชั่นที่ได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์เดือนตุลาจนถึงพฤษภาทมิฬ มรดกทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นคือเพลงที่ร้องกันในค่ายอาสาอย่าง เธอวันนี้ ประกายไฟ เดือนเพ็ญ สหาย เด็กหญิงปรางค์ ฯลฯ ทั้งเพลง พคท. ที่เรียกกันว่าเพลงป่า ทั้งเพลงของวงที่เป็นตำนานเพื่อชีวิตในไทย หลายเพลงยังถูกเอาไปใช้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้บนท้องถนน เช่น เพื่อมวลชน สู้ไม่ถอย ถั่งโถมโหมแรงไฟ แสงดาวแห่งศรัทธา ดอกไม้พฤษภา เป็นต้น
เพลงแต่ละเพลงมีเรื่องราวที่มาที่ไปและไม่อาจแยกขาดจากประวัติศาสตร์และบริบทของสังคม แต่ก็อย่างที่รู้กันดี เราได้ยินบทเพลงเหล่านี้โลดแล่นออกจากหน้าประวัติศาสตร์ประชาชน จากท้องถนนสู่หอประชุม สู่ลานแสดงคอนเสิร์ตจนไปลงเอยที่ผับบาร์และวงเหล้า มิพักต้องพูดถึงว่าผู้แต่งเพลงและคนร้องที่ได้ชื่อว่าตำนานเพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้ บ้างก็ดูจะไม่แยแสยี่หระกับเนื้อหาเพลงที่ตนเคยแต่งอีกต่อไป บ้างก็ย้อนแย้งจนแทบไม่น่าเชื่อ เช่นร้องเพลงที่มีเนื้อหาเรียกร้องประชาธิปไตยแต่เจ้าตัวกลับเชียร์เผด็จการ หรือสามารถร้องเพลงที่มีเนื้อหาโค่นล้มชนชั้นนายทุนบนเวทีที่มีทุนใหญ่สนับสนุน เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปประการหนึ่งว่า ณ วันนี้บทเพลงเหล่านี้ได้สิ้นสุดภารกิจทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ยิ่งเมื่อบทเพลงที่เป็นตำนานเหล่านี้ถูกเอาไปใช้ในเวทีเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย นักกิจกรรมฝ่ายก้าวหน้าในยุคหลังก็กระดากปากเกินกว่าจะร้องเพลงเหล่านั้นอีกแล้ว ท่ามกลางสภาวะอับจนเช่นนี้ได้ก่อเกิดผลงานเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ขึ้นมา
หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เราอาจคุ้นหูบทเพลงที่ร้องต่อๆ กันเป็นไวรัลอย่าง “บทเพลงของสามัญชน” หรืออีกหลายเพลงที่ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในยุคนี้ บางเพลงแต่งในห้วงยามบีบคั้นกดดัน (ดังบทเพลงของสามัญชน) บางเพลงแต่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ถูกพรากไป (เช่นเพลงเราคือเพื่อนกัน) บางเพลงแต่งเพื่อปลอบโยนเป็นกำลังใจให้ผู้คนที่ถูกคุมขังหรือต้องลี้ภัยไปต่างแดนด้วยอำนาจปืนและกฎหมายอยุติธรรม (เช่นเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ)
เบื้องหลังบทเพลงเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งในนาม triple H music ที่พยายามนิยามเพลงเพื่อชีวิตขึ้นใหม่คู่ขนานไปกับการสร้างวัฒนธรรมเพลงที่สื่อสารเรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรม พวกเขาผนวกดนตรีเข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นหนึ่งในแนวรบด้านวัฒนธรรมขับเคลื่อนเพลงเพื่อชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อสื่อสารเรื่องราวในยุคสมัยของพวกเขาเอง
คนหนุ่มสาวเหล่านี้เติบโตมากับการแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองในรอบสิบปีที่ผ่านมา หลายคนยังเป็นเด็กมัธยมเมื่อครั้งเกิดรัฐประหาร 2549 หลายคนผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามจากรัฐประหาร 2557 และเรื่องราวหนึ่งที่ดูจะเป็นจุดร่วมที่พวกเขาได้รับรู้และเผชิญด้วยตัวเองคือการถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเพียงเพราะคิดต่างทางการเมือง
ทุกวันนี้แม้หลายอย่างของสังคมไทยจะเดินถอยหลังจนน่าสิ้นหวัง แต่การเดินทางเพื่อแสวงหาบทเพลงแห่งยุคสมัยของหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลุ่มนี้กำลังรุดหน้าไปอย่างมีพลังและประกายแห่งหวัง
นิยามใหม่เพลงเพื่อชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21
triple H จัดทำโครงการบทเพลง (เพื่อ) การเรียนรู้ (ชีวิต) เพื่อพยายามทลายกรอบสร้างนิยามใหม่ให้คำว่าเพลงเพื่อชีวิตซึ่งจากเดิมเป็นแค่แนวดนตรีภาพจำวงรุ่นใหญ่คาราวานคาราบาวแต่นิยามใหม่ของเพลงเพื่อชีวิตไม่ใช่จำกัดแค่แนวดนตรีแต่คือเนื้อหาของเพลงที่สื่อสารบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผ่านทุกแนวดนตรี
นั่นหมายความว่าเพลงลูกทุ่ง เพลงแร็ป เพลงสตริงที่มีเนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคมก็เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ได้เช่นกัน
“เพื่อชีวิตไม่ใช่แนวดนตรีแต่เป็นเนื้อหา เอาเนื้อหามาใส่ดนตรี อย่างแนวดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกในต่างประเทศก้าวหน้าทั้งเนื้อหาและเทคนิค เนื้อหาก้าวหน้าคือพูดถึงเรื่องราวในสังคมที่ยังไม่มีใครพูด หน้าที่เราคือต้องยืนยันว่าเพื่อชีวิตแบบเราเป็นยังไง”
นิยามเพลงฝ่ายก้าวหน้าในแบบของ triple H music คือเนื้อเพลงพูดถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองหรือเศรษฐกิจมุ่งโครงสร้างที่เป็นต้นตอปัญหาสังคมเช่นเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อพูดถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองแม้เนื้อเพลงจะเป็นเรื่องราวของเพื่อนแต่เพลงเกิดมาจากบริบทการเมืองที่กดดันบีบคั้นให้คนจำนวนหนึ่งต้องจากบ้านเกิดไปอย่างที่ชีวิตนี้ไม่อาจหวนกลับเป็นต้น
แต่ก็ไม่จำเป็นที่เพลงจะต้องรับใช้ผู้ถูกกดขี่หรือเอาไว้ใช้งานวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายเท่านั้น พวกเขายืนยันว่าขึ้นกับคนเอาเพลงไปใช้ตามความเข้าใจของเขา ตัวอย่างเช่นมีคนเอาบทเพลงของสามัญชนไปใช้ในสแตนด์เชียร์โดยที่อาจไม่ได้เข้าใจว่าเพลงต้องการสื่อสารอะไรก็เป็นได้
“เพลงเกิดมารับใช้ใครก็ได้ หน้าที่เราคือเราต้องยืนยันความหมายหรือต้องช่วงชิงความหมายกลับมา เพลงซ้ายก็รับใช้ฝ่ายขวาได้ อย่างเพลงสู้ไม่ถอย แสงดาวแห่งศรัทธาก็ไปอยู่บนเวที กปปส. หน้าที่เราคือต้องช่วงชิง เพราะเพลงไม่ได้เกิดมารับใช้โดยตัวของมันเอง”
อย่างไรก็ตามโดยตัวบทของเพลงอาจจะเป็นตัวบ่งชี้อยู่แล้ว “เพลงของวงสามัญชนตีความว่ารับใช้นายทุนไม่ได้เพราะคนกำหนดมันอยู่บนดิน มันบอกในเพลงอยู่แล้ว อย่างเพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อท่อนที่ว่า ‘แม้อยู่ใต้ฟ้าชะตากำหนดจากคนบนดิน’ ประโยคนี้บอกโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เช่นกันเพลงฝ่ายขวาคนแต่งก็อาจไม่รู้ตัวว่ารับใช้นายทุนแต่ตัวบทมันบอก”
นอกจากนิยามของเพลงที่มุ่งโครงสร้างและบริบทของสังคมการเมืองแล้ว “เพลงก้าวหน้าในแบบของเรา คือไม่คลั่งชาติ ไม่บังคับให้เชื่อ ไม่กดทับตนเอง ไม่ยอมจำนน ไม่สั่งสอนศีลธรรม ไม่กล่อมเกลาให้คนสยบยอมต่ออำนาจหรือให้ก้มหน้ารับกรรม ไม่ศิโรราบต่อคนใหญ่โต ไม่เชื่อบาปบุญวาสนา”
ดังนั้นตามนิยามนี้เพลงยาใจคนจนจึงไม่ใช่เพลงก้าวหน้าในแบบของ triple H เพราะเป็นเพลงให้กำลังใจเชิงปัจเจก ปลอบใจตัวเองดังท่อนที่ว่า “เป็นแฟนคนจน ต้องทนหน่อยน้อง…เมื่อเจอปัญหาใดใด ยืนเคียง เพื่อคอยยิ้มให้ เป็นยาชุบใจคนจน” หรือเพลงเย้ยฟ้าท้าดิน “ข้าขอลิขิตชีวิตข้าเองไม่เกรงดินฟ้า…หากทำดีฟ้าดินต้องคุ้มครองเอย” เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสยบยอมต่ออำนาจก็ไม่เข้าข่าย เป็นต้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงของฝ่ายก้าวหน้าในแบบนี้จะต้องหนักหน่วงโกรธแค้นก่นด่าหรือทุกข์ระทมเสมอไป มีโลกสวยมีความฝันถึงอุดมคติได้ด้วย เพียงแต่ไม่ใช่เพ้อฝันลมๆ แล้งๆ แต่เป็นความฝันถึงโลกใหม่ที่มาจากปรากฏการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ยกตัวอย่างเพลงอีสานใหม่
“อีสานลุกเป็นไฟแล้ว จงอย่าเปลี่ยนแนวมาซอยกันเบิ่งแยง อีสานที่เฮาฮักแพง ฮักกันปานแบ่งไม่แห้งแล้งน้ำใจ…มาร่วมกันสร้างอีสานใหม่ ด้วยหัวใจสมองและสองมือ บนระบอบเก่าที่มันบ่คือ เพราะพวกเฮาคือสามัญชนคนอีสาน” จุดเริ่มมาจากความทุกข์ยากและการต่อสู้ของชาวบ้าน และปลายทางคือสังคมอุดมคติจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไร
“ไม่โรแมนติไซซ์การกดขี่ มีความฝันถึงโลกที่ดีกว่า เราไม่ได้ปฏิเสธศิลปะเสรีนิยม เพลงแบบของเราสวยงามได้ด้วยแต่ไม่ใช่ตอกลิ่มให้การกดขี่สวยงาม”
ติดตั้งแว่นทางสังคมให้นักดนตรี
เมื่อชัดเจนในนิยามเพลงก้าวหน้าในแบบของ triple H แล้วสิ่งที่พวกเขาทำคือพัฒนาศักยภาพของศิลปินทั้งด้านทักษะและความคิด มีเวิร์กชอปพัฒนาทักษะดนตรีให้นักดนตรีอย่างมืออาชีพ ทั้งทักษะการแต่งเพลง ทักษะการเล่นเครื่องดนตรี รวมทั้งทักษะการแสดงบนเวที ความสำคัญของทักษะเหล่านี้คือเพื่อส่งสารประเด็นปัญหาสังคมออกไปสู่ภายนอกให้ได้
มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจากการผลิตอัลบั้มในช่วงแรกมาเป็นการแต่งเพลงจากประสบการณ์การลงพื้นที่ ทำกิจกรรมทางสังคม และนำประสบการณ์เหล่านี้สร้างสรรค์เพลงออกมา เพื่อสื่อสารเรื่องราวการลงพื้นที่ให้สังคมเข้าใจประเด็นนั้น
นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้นักดนตรีของ triple H ไม่ใช่นักดนตรีที่สื่อสารทางเดียวแต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วย เป็นการติดตั้ง “แว่น” ที่จะใช้มองสังคมให้แก่นักดนตรี ทำให้เขาประจักษ์แก่สายตาตนเองด้วยการลงพื้นที่ไปเจอของจริง
“เราให้คุณค่ากับการเจอของจริง โดยที่การไปเจอของจริงนั้นต้องนำไปสู่การทำให้เขารู้สึกเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของคนทุกข์คนยากของผู้ถูกกดขี่ เขาอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น เขาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารการต่อสู้ การเจอของจริงการลงพื้นที่คือการหล่อเลี้ยงอุดมคตินี้”
การลงพื้นที่ทำให้นักดนตรีเหล่านี้มีแง่มุมที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าอ่านตำรา ได้สัมผัสชีวิตจริงความรู้สึกจริงโดยมีชุดวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบทฤษฎี อันจะนำไปสู่การถ่ายทอดสารที่แข็งแรงขึ้น ภาษาที่แต่งเพลงจะชัดขึ้น มีมุมมองที่มาจากของจริง ไม่ใช่พูดในสิ่งที่ใครๆ ก็พูดกัน สิ่งสำคัญคือยึดโยงตัวเองกับเหตุการณ์เรื่องราวในพื้นที่ได้ นอกจากเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพในการเขียนเพลงให้ลึกขึ้นคมขึ้นแล้วยังเป็นการฝีกฝนพื้นที่ปฏิบัติการไปด้วย ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่าต่อพื้นที่ต่อพี่น้องคนทุกข์ยาก
“เราพยายามทำให้เขารู้ว่าเขาเป็นนักดนตรีแต่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเขาไปเป็นนักเคลื่อนไหวหรือนักต่อสู้ แต่เขาเป็นเขาในการไปเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้น”
ซอฟ Power และวงสามัญชนเล่นดนตรีให้กำลังใจพี่น้องสมัชชาคนจนที่มาชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือน ต.ค. 2562
กลุ่ม Stardust นำดนตรีไปสร้างความสุขให้กับผู้สูงอายุที่ รพ.สต. บ้านกุ่ม อยุธยา
(ภาพ: https://www.facebook.com/Triple.H.Music/)
กล่าวได้ว่า Triple H พัฒนานักดนตรีใน 3 มิติ คือ 1. มือ ยกระดับมาตรฐานการเล่น เป็นดนตรีที่สื่อสารได้ 2. ตา ติดตั้งแว่นทางสังคม มีโลกทัศน์แบบฝ่ายก้าวหน้า และ 3. ใจ การลงเจอของจริงเพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลง อยู่กับพี่น้องใกล้ชิดกับขบวนการต่อสู้ เชื่อมโยงตัวเองกับการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมได้
นับเป็นการผสมผสานระหว่างเนื้อหากับเทคนิคเข้าด้วยกัน กล่าวคือ triple H สร้างนักกิจกรรมที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ปฏิบัติการของพวกเขาไม่ใช่หมู่บ้าน แต่คือพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลง พวกเขาสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้นักดนตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ให้นักดนตรีเหล่านี้ไปสร้าง impact ต่อสังคม
“การลงพื้นที่เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ครบทั้ง 3 ฐาน คือ หัว หัวใจ และมือ เมื่อได้ครบ 3 ฐานแล้วจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติการทางสังคม แง่มุมที่เปลี่ยนไปคือการมองว่านักดนตรีก็เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ทำเพลงเพื่อดึงคนนอกเข้ามาฟังอย่างเดียว แต่เป็นการทำให้คนในได้ทวนความจำถึงอุดมการณ์ที่ตัวเองมีด้วย”
แน่นอนว่าการลงพื้นที่ลงเจอของจริงเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งที่ค่ายไหนๆ ก็ทำ แต่แว่นที่ triple H ติดตั้งให้นักดนตรีแตกต่างจากงานจิตอาสาอื่นๆ ที่พวกเขาเคยพบเจอมา คือมีมุมมองที่ไปพ้นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ คนมั่งมีแบ่งปันคนไม่มี แต่พวกเขาทำให้เห็นว่าการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ต้องมีรัฐสวัสดิการ คือเชื่อว่ามีวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมอีกแบบที่ไม่ใช่แค่มีน้ำใจแบ่งปันกันอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิเสธน้ำใจแต่การมีน้ำใจอย่างเดียวไม่พอ
“เราชวนเรียนรู้ประเด็นปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ เน้นให้นักดนตรีไปเรียนรู้ประเด็นมาเพื่อจะเอามาพัฒนาตัวเองเราจะได้ผลิตเพลงเกี่ยวกับสังคมได้เข้มข้นขึ้น ที่มากกว่าแค่ไปบอกให้คนพิการยิ้มได้เพราะมีความสุข แต่เราต้องแต่งเพลงที่ไม่ใช่ไปบอกให้คนจนยิ้ม ไม่ยัดเยียดความสุขให้เขา”
พื้นที่ปฏิบัติการ “ไทยร็อกม็อบ”
สิ่งที่ triple H ทำ นอกจากพานักดนตรีลงไปสัมผัสของจริง ทั้งลงพื้นที่ ไปทำกิจกรรมอาสาใน รพ. กับผู้ป่วยสูงอายุ ไปลงชุมชนที่ประสบปัญหาที่ดินอย่างพื้นที่บางบาล ไปม็อบชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐจนต้องออกมาชุมนุมประท้วง ไปหน้าโรงพักเมื่อครั้งนักกิจกรรมถูกจับเพราะเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร และอีกไฮไลต์หนึ่งที่น่าสนใจคือกิจกรรมร็อกแอนด์ม็อบ
RocknMob ถือกำเนิดขึ้นที่รัสเซีย เป็นการรวมตัวของนักดนตรีกว่าร้อยชีวิตมาร้องเล่นดนตรีในที่สาธารณะในวาระโอกาสต่างๆ Rocknmob ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ 18 มิ.ย. 2559 มีนักดนตรีรวม 80 ชีวิตทั้งมือกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด นักร้องและคนทั่วไป มาร่วมเล่นเพลง Starlight ของวง Muse ที่ Gorky Park สวนสาธารณะชื่อดังในมอสโก
กระแสตอบรับที่ดีเกินคาดทำให้มีการจัดร็อกม็อบทุกปี มีนักดนตรีเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งที่เป็นที่โจษขานกันมากคือครั้งที่ 5 เมื่อนักดนตรีกว่า 200 ชีวิต เล่นเพลง Numb ของวง Linkin Park เพื่ออุทิศแด่ เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงร็อกชื่อก้องโลก เมื่อ 1 ก.ค. 2560 ที่ Gorky Park กรุงมอสโก (https://www.youtube.com/watch?v=RqLj4izrKFw)
อันที่จริง RocknMob ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวจาก Cesena เมืองเล็กๆ ในอิตาลีที่รวมเอานักดนตรี 1,000 คนมาร่วมกันเล่นเพลง Learn to fly ของวง Foo Fighter เพียงเพื่อจะให้วงอเมริกันนี้มาเล่นคอนเสิร์ตในเมืองเซเซน่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2558 (https://www.youtube.com/watch?v=JozAmXo2bDE)
การแสดงนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายทั่วโลกจนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Rockin’1000 และจัดการแสดงขึ้นอีกหลายครั้งในหลายประเทศ (https://www.youtube.com/watch?v=h9QPhI7UDjo)
Rock-n-mob กลายเป็นแพลตฟอร์มรูปแบบหนึ่งของนักดนตรีร็อกที่ใครก็เข้าร่วมได้ เป็นการแสดงดนตรีสดในที่สาธารณะเพื่อสื่อสารเรื่องราวบางอย่าง ไม่ใช่เพื่อการค้า ไม่มีการแบ่งแยกวงหรือค่ายเพลง พวกเขามาร่วมกันร้อง เล่นและถ่ายทำคลิปเผยแพร่ทางยูทูบ (https://www.youtube.com/c/RocknMob) เพื่อแสดงความรักที่มีต่อวงดนตรีที่โปรดปราน ปัจจุบันนอกจากที่รัสเซียแล้วยังมีการจัดกิจกรรมร็อกม็อบขึ้นในบราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฟินแลนด์และอีกหลายประเทศ งานทดลองนี้ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนร็อกภายใต้สโลแกน “มาร่วมกันเปลี่ยนโลกด้วยเสียงดนตรี ร็อกแอนด์โรลจงเจริญ!”
triple H ได้ประยุกต์เอารูปแบบร็อกม็อบมาใช้โดยรวมพลนักดนตรีกว่า 50 ชีวิตมาร้องและเล่นเพลง Another brick in the wall ของ Pink Floyd ในวาระครบ 40 ปีของบทเพลงที่พูดถึงการศึกษาที่แหลมคมที่สุดในยุคนั้น กิจกรรมนี้เป็นการนำนักดนตรีรุ่นใหม่มาอ่านและตีความเนื้อเพลง แลกเปลี่ยนถกเถียงความคิดก่อนจะบรรเลงเพลงนี้ร่วมกันเพื่อสะท้อนถึงความคิดของพวกเขาต่อระบบการศึกษาไทย งานนี้จัดขึ้นที่มูลนิธิกระจกเงาเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2562 (https://www.facebook.com/watch/?v=1198621383643525). ก่อนหน้านั้นมีวงคุยวิเคราะห์เพลงนี้อย่างลงลึกซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่กิจกรรมร็อกม็อบโดยใช้เพลงนี้เป็นงานทดลองครั้งแรกของพวกเขา (อ่านเพิ่มเติม “40 ปี อัลบั้ม ‘The Wall’ วง Pink Floyd: เรายังเป็นแค่อิฐในกำแพง”, https://www.the101.world/the-wall-pink-floyd/)
การแสดงนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายทั่วโลกจนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Rockin’1000 และจัดการแสดงขึ้นอีกหลายครั้งในหลายประเทศ (https://www.youtube.com/watch?v=h9QPhI7UDjo)
อาจกล่าวได้ว่าร็อกม็อบเปรียบเสมือน flash mob รูปแบบหนึ่ง ขณะที่แฟลชม็อบหมายถึงการชุมนุมในชั่วพริบตาที่ผู้คนมารวมตัวกันปฏิบัติการบางอย่างในที่สาธารณะจากนั้นสลายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมมาระยะหนึ่งแล้ว
แม้ร็อกม็อบที่ triple H ทำดูจะห่างไกลจากร็อกม็อบในต่างประเทศและไม่อาจเรียกแฟลชม็อบได้เต็มที่ อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ถือเป็นก้าวแรกที่เหล่านักดนตรีได้มีปฏิบัติการร่วมกันผ่านบทเพลงที่สื่อสารประเด็นทางสังคม
กรุยทางสู่ฝัน “ชุมชนคนดนตรีฝ่ายก้าวหน้า”
ความน่าสนใจของ triple H music คือสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้จำกัดเพียงโครงการที่รับทุนมาทำแล้วจบ แต่พวกเขามุ่งหวังมากกว่าผลสัมฤทธิ์ของโครงการ นั่นคือการก่อเกิดชุมชนคนดนตรีฝ่ายก้าวหน้า
การแสดงนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายทั่วโลกจนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Rockin’1000 และจัดการแสดงขึ้นอีกหลายครั้งในหลายประเทศ (https://www.youtube.com/watch?v=h9QPhI7UDjo)
“ชุมชนคนดนตรีฝ่ายก้าวหน้า เป็นที่รวมของคนที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ทั้งออร์กาไนเซอร์ กลุ่มนักดนตรีที่มาซัพพอร์ตกัน เปลี่ยนมือกัน คนดนตรีที่ใช้หรือฟังดนตรีเพื่อขับเคลื่อนสังคม คนที่แต่งเนื้อหาด้านสังคม คนเสพที่มาฟังและคอยสะท้อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิลปิน”
ชุมชนคนดนตรีฝ่ายก้าวหน้าเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมความเสมอภาค วิพากษ์วิจารณ์กันได้ ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาตัวเองทั้งในเชิงความคิด เชิงเทคนิค เชิงโอกาสในการไปร่วมงานกับคนที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นที่ผลิตงานร่วมกัน อาจจะทำเทศกาลดนตรีหรือมีคอนเสิร์ตทุกปี เป็นต้น
ชุมชนคนดนตรีแบบนี้ค่อยๆ หล่อหลอมขึ้นด้วยวิถีวัฒนธรรมความเชื่อที่ triple H พยายามสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งการแยกวงฟอร์มวงกันเล่นดนตรีด้วยกันทั้งในค่ายนอกค่าย การลงพื้นที่ กิจกรรม Rock Mob ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกับการรวมวงเล่นดนตรีด้วยกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ
พวกเขายังสร้างวัฒนธรรมถกเถียงแลกเปลี่ยนพูดคุยประเด็นทางสังคมหรือดนตรีที่ลงลึกซึ่งจะส่งผลให้แต่งเพลงได้ลึกกว่าเดิมและอาจโยงไปถึงเรื่องการตีความเพลง ทำให้ได้ฝึกที่จะคุ้นเคยกับการวิพากษ์วิจารณ์ ฝึกคิดเป็นระบบซึ่งมีส่วนช่วยให้มองลึกขึ้นกว่าเดิมนำไปสู่เรื่องงานศิลปะที่ลึกขึ้นด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเกื้อหนุนให้เกิดชุมชนคนดนตรีฝ่ายก้าวหน้าคือวัฒนธรรมของความเท่ากัน ไม่มีโซตัส ไม่ใช้วิธีโซตัสแบบในมหาลัยฯ ที่รุ่นพี่ถูกเสมอซึ่งตอกย้ำความคิดว่าคนไม่เท่ากันและยังกดทับศักยภาพของคนไม่ให้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
“เป็นพื้นที่สร้างสรรค์โอกาสให้แก่นักดนตรีที่ไม่มีโอกาสได้เล่นดนตรี เรามีพื้นที่ให้เขาได้เล่น บางคนอยากเล่นแต่ไม่ได้เล่นเพราะในโรงเรียนมหาลัยฯ ที่ใช้ระบบโซตัสรุ่นพี่ได้เล่นอย่างเดียวรุ่นน้องไม่เคยมีโอกาสได้เล่น”
“ที่นี่เราไม่ได้เคารพกันที่ตำแหน่ง วุฒิ ชั้นปี อายุ ฐานะ เงิน อำนาจ สถานะทางสังคม นามสกุล แต่เราเคารพหลักการร่วมกัน เคารพความคิดเห็นของกันและกัน เคารพตัวตนและการแสดงออกของกันและกัน เคารพด้วยความเท่ากัน ไม่ใช่ด้วยความกลัว”
นอกจากนี้ยังส่งเสริมวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน ไม่มุ่งแข่งขัน “การคละกลุ่มคละวงทำให้ได้รู้จักและเห็นความพิเศษในแต่ละคนที่ได้ไปทำงานด้วย ความคิดที่ว่าเขาเป็นคู่แข่งแล้วเราต้องแข่งกับเขามันไม่มี เป็นการแลกเปลี่ยนมากกว่าแข่งขัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้เทคนิคทักษะดนตรีข้ามวง มีพื้นที่ให้เล่นดนตรีให้ได้แสดงโชว์ มีเวิร์กชอปเสริมทักษะดนตรี ทำให้คนได้พัฒนาศักยภาพอย่างที่เขาต้องการ”
เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่ triple H พยายามสร้างให้เกิดขึ้นโดยใช้ดนตรีมาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม
คงไม่เกินเลยที่จะสรุปว่า เส้นทางที่ triple H ถากถางนี้กำลังเติบโตเป็นหน่ออ่อนของขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะวัฒนธรรมเพื่อเปิดแนวรบทางวัฒนธรรมในยุคสมัยที่พวกเขาต้องลุกขึ้นมาขีดเขียนอนาคตด้วยมือตนเอง
หมายเหตุ: โครงการ triple H music ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ดำเนินมาเป็นปีที่ 10 แล้ว โครงการบทเพลง (เพื่อ) การเรียนรู้ (ชีวิต)ในปี 2560-61 มีการรับสมัครนักดนตรีเข้ามาทำกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรีในประเด็นปัญหาสังคมที่ตนสนใจโดยโครงการให้เครื่องมือทักษะด้านดนตรีและการเรียนรู้ปัญหาสังคมผ่านเวิร์กชอปและการลงชุมชน รวมทั้งมีพื้นที่ให้ทดลองทำโชว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักดนตรีได้พัฒนาทักษะการแสดงดนตรีไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ปัญหาสังคมอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ดนตรีที่มีเนื้อหาทางสังคมต่อไป อ่านเรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Triple.H.Music/. อนึ่ง เนื้อหาบางส่วนของข้อเขียนนี้เก็บความจากงานถอดบทเรียน 10 ปี triple H music 28-30 ต.ค. และ 4-6 พ.ย. 2562