โควิด-19:
ความเหลื่อมล้ำกัดกร่อนกินใจ

1

” ‘เราะห์’  จ๊ะว่าร้านเราไม่รู้จะต้องปิดไหม  ร้านอาหารบางร้านเริ่มปิดกันแล้ว แฟนจ๊ะก็ชวนให้กลับไปอยู่บ้านที่ตะกั่วป่า ที่นั่นยังพอหาเก็บผัก หาปูปลาในคลองมากินได้..”  

“…แต่จ๊ะว่าจะลองเปิดขายไปเรื่อยๆ ก่อนรอประเมินสถานการณ์อีกที ” 

‘จ๊ะนาฟ’ เจ้าของร้านข้าวแกงอิสลามเปรยกับ ‘ซาเราะห์ จันทร์ดี’ ลูกจ้างรายวันที่ช่วยทำงานทุกอย่างในร้าน และร่วมทุกข์สุขกันมาหลายปี    

สถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดหนัก  ชาวบ้านพูดกันว่าจังหวัดภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อแล้วหลายราย              

ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งจากจีน จากยุโรป อเมริกาเดินทางเข้ามาปีละหลายล้านคน และยังมีคนไทยจากทั่วสารทิศเข้ามา ‘ขุดทอง’ สร้างฐานะ  บางรายที่พอจะโชคดีมีทุนรอนก็สามารถลงหลักปักฐานเป็นพลเมืองชาวภูเก็ตไปเลยก็มาก   แต่อีกจำนวนมากมาเป็นได้แค่แรงงานในธุรกิจต่างๆ  เป็นประชากรแฝงของเมืองไข่มุกอันดามันแห่งนี้         

ในบรรดาประชากรแฝงนั้น นอกจากคนไทยแล้ว ก็มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย และแรงงานเถื่อน และในบรรดาแรงงานเถื่อนยังมีปลีกย่อยกว่านั้น!!!


2

ซาเราะห์ จันทร์ดี  ปีนี้เธออายุครบ 30 ปีเต็ม เป็นประชากรแฝงของจังหวัดภูเก็ตมานานตั้งแต่วัยแรกรุ่น เนื่องจากเธอไม่ได้เรียนหนังสือ  พอเริ่มช่วยทำงานได้  ‘ป๊ะ’ (พ่อ) ของเธอก็พาติดสอยห้อยตามไปอยู่ตามแค้มป์คนงานก่อสร้าง  แรกๆ ก็คอยทำหน้าที่หุงข้าวต้มแกง ซักเสื้อผ้าให้พ่อของเธอ  แต่ระยะหลังๆ นายจ้างก็จ้างเธอให้ทำงานเป็นคนงานทั่วไปในไซต์งาน หิ้วถังปูน เก็บเศษไม้ เศษตะปู ได้ค่าแรงเล็กน้อยแต่ก็สร้างความหวัง ความภูมิให้เด็กสาวมากทีเดียว ใช้ชีวิตเร่ร่อนมาทั่วเกาะภูเก็ต แล้วแต่ว่าไซต์งานจะย้ายไปตรงไหน ส่วนน้องสาวกับน้องชายยังเป็นเด็ก ต้องเข้าโรงเรียนโดยอาศัยอยู่กับ’ม๊ะ'(แม่) ที่บ้านห้วยปลิง จังหวัดระนอง ทั้งครอบครัวจะมีโอกาสอยู่พร้อมหน้าก็ตอนเทศกาลรอมฎอน หรืออีกทีก็เมื่อทางอำเภอนัดให้ไปดำเนินการเรื่องทะเบียนราษฎร์นั่นแหละ   

….ก็ทั้งครอบครัวของเธอเป็นคนไทยพลัดถิ่น 

ซาเราะห์ เกิดที่บ้านอ่าวใหญ่ จังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ หมู่บ้านชายฝั่งแถบนั้นล้วนแต่เป็นหมู่บ้านคนเชื้อสายไทยมุสลิม และบางหมู่บ้านก็เป็นมลายู พูดภาษายาวีสำเนียงลังกาวี  พ่อแม่พาอพยพโยกย้ายมาอยู่บ้านห้วยปลิง อำเภอเมือง จังหวัดระนองตั้งแต่เธอยังจำความไม่ได้  ส่วนน้องทั้งสองคนเกิดที่ระนอง ในระยะแรกๆทั้งครอบครัวจึงเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง!!  จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม 2548 ทั้งหมดจึงได้เข้ารับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติเป็น ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’   มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว   

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสัญชาติยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนต่างด้าว ฉะนั้นการทำงานจึงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบการทำงานของคนต่างด้าว  ซึ่งคนไทยพลัดถิ่นเกือบทั้งหมดปฏิเสธที่จะอยู่ใต้ระเบียบนี้ เพราะถือว่าตนไม่ใช่คนต่างด้าว ไม่อาจยอมสถานะนี้ได้ ฉะนั้นการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัด และการทำงานจึงเป็นไปโดยผิดกฎหมาย ต้องทำแบบหลบๆซ่อนๆแฝงตัวไป

ชีวิตเรร่อนของ’ซาเราะห์’ดูเหมือนจะยุติลงในวันหนึ่ง เมื่อเธอพบรักกับหนุ่มกระบี่ผู้กำพร้าพ่อแม่ ที่อพยพตัวเองมาเป็นลูกจ้าง เป็นคนประจำเรือนำเที่ยวอยู่แถวชายหาดราไวย์ ทั้งคู่เช่าบ้านอยู่ไม่ไกลจากบ้านพี่สาวของสามี   หลังจากแต่งงานแล้ว’ซาเราะห์’ก็ทำหน้าที่แม่บ้านเพียงอย่างเดียว หลายปีต่อมาจนกระทั่งมี’เด็กชายฟารุก’ พยานรักของทั้งคู่    ปากท้องที่เพิ่มขึ้นทำให้ซาเราะห์ต้องออกหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว    


3

‘จ๊ะนาฟ’ (จ๊ะ = พี่สาว)  เป็นคนมุสลิมจากบ้านบางใหญ่ อำเภอตะกัวป่า เธอกับสามีวางมือจากอาชีพทำสวนหันมาเสี่ยงโชคในเมืองท่องเที่ยวเช่นกัน โดยใช้ความรู้ความสามารถด้านการปรุงอาหารที่มีเป็นทุนเดิมเปิดร้านขายข้าวแกง ‘จ๊ะนาฟข้าวแกงมุสลิม’  ให้เป็นที่พึ่งปากท้องสำหรับคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำในย่านนั้น ด้วยสนิทสนมส่วนตัว ‘ซาเราะห์’ จึงเข้าไปสมัครเป็นลูกจ้างช่วยงานในร้าน   

” ‘จ๊ะนาฟ’  เราขอลากลับบ้านที่ระนองสักสามวันนะ  น้องสาวโทรมาว่า ปลัดอำเภอแจ้งให้ไปสแกนลายนิ้วมือ ที่เราไปยื่นคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว” 

ซาเราะห์เอ่ยปากขออนุญาตหยุดงานกับเจ้าของร้าน 

“เอ๊า!  ยังไม่เสร็จอีกเหรอ!!  สองปีมานี้เห็นซาเราะห์กลับระนองบ่อยจัง  บางทีก็ไปหลายวัน”

จ๊ะนาฟ ถามกลับด้วยความห่วงใยแต่ก็ไม่เข้าใจรายละเอียดสภาพปัญหาของลูกจ้าง    

“เราก็เกรงใจจ๊ะนาฟ  หลายหนแล้วที่เราไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมของเครือข่ายฯ.. มันเป็นกติกาของเครือข่ายที่ให้สมาชิกต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้มีพลังในการผลักดันแก้ปัญหา …แต่เราอยู่ไกลและเกรงใจจ๊ะนาฟถ้าต้องหยุดบ่อยๆ จ๊ะนาฟก็ต้องทำงานเหนื่อยอยู่คนเดียว แต่ถ้าเราไม่ไปร่วมกิจกรรมเลยการแก้ปัญหาก็จะยิ่งล่าช้า นี่ขนาดทำเรื่องแก้รายการทะเบียนผิดกลุ่มยังใช้เวลาตั้งสองปี เวลามีกิจกรรมสำคัญจริงๆ เราจำเป็นต้องไป จ๊ะนาฟเข้าใจเราด้วยนะ” 

ซาเราะห์ พยามอธิบายความจำเป็นให้นายจ้างเข้าใจ 

แต่ดูเหมือนนายจ้างจะเข้าใจและเตรียมใจไว้แล้วสำหรับการรับคนแบบซาเราะห์มาเป็นลูกจ้างมันคล้ายจะเป็นความสัมพันธ์แบบพี่แบบน้องมากกว่า  

“ไปเถอะ จ๊ะเข้าใจ พอดีช่วงนี้ลูกค้าก็มีไม่มากเท่าแต่ก่อน ตั้งแต่ภูเก็ตเราพบคนติดเชื้อโควิดนี่แหละ ร้านใหญ่ก็ปิดกันหลายร้านแล้ว  เราก็ไม่รู้จะเปิดต่อได้กี่วัน”


4.

วันนั้นขณะนั่งรถยังไม่ถึงบ้านที่ระนองเจ้าของร้านก็โทรมาบอกว่า

“อยู่ระนองยาวๆ เลย ไม่ต้องรีบกลับ” 

“อ้าว ..ทำไมล่ะ?” ซาเราะห์ถามกลับอย่างแปลกใจ ตอนนั้นในใจคิดไปว่าตัวเองคงถูกไล่ออกเพราะเจ้าของร้านคงไม่อยากทนทำงานกับลูกจ้างที่หยุดงานบ่อยเช่นเธอ  

 “มีคำสั่งผู้ว่าฯ ให้ปิดร้านอาหารทุกแห่ง ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด จ๊ะเองคงต้องกลับไปอยู่บ้านสวนที่ตะกั่วป่าล่ะ”

ความเคียดขึ้งเข้ามารุมเร้าจิตใจทันที ต่อแต่นี้เธอจะดำเนินชีวิตอย่างไร สามีก็ต้องหยุดงานมาเกือบสัปดาห์แล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อน บ้านที่ระนองเป็นเพียงบ้านเดี่ยวในพื้นที่แคบๆ ซึ่งน้องสาวอาศัยอยู่กับสามี และงานขายโรตีของน้องสาวก็ต้องหยุดเช่นกัน เพราะตลาดนัดถูกสั่งปิด และ ‘ป๊ะ’ ซึ่งเร่ร่อนทำงานก่อสร้างอยู่ในภูเก็ต บัดนี้ก็ไม่มีงาน ต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวน้องสาว รอว่าเมื่อไหร่ ‘นายหัว’ (ผู้รับเหมางาน) จะโทรมาตาม     


5

วันนี้ครอบครัวซาเราะห์ยังโชคดีตรงที่ยังไม่มีใครติดเชื้อไวรัสโควิด ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เสียงเช่นจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 109 คน และมีผู้อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง 1,400 กว่าคน  เป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้   

แต่ในโชคดีก็แฝงไว้ด้วยโชคร้ายเสมอ…

ภูเก็ตถูกปิด รถประจำทางไม่วิ่ง  สถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินไปเนิ่นนานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้  เพียงไม่กี่วันของคำสั่งปิดจังหวัด เหล่าประชากรแฝงเริ่มลำบากยิ่งขึ้น ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้ออาหาร หากเจ็บป่วยก็ไม่มีเงินรักษาด้วยอยู่ระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับความช่วยเหลือจากจังหวัด มีไว้สำหรับประชากรที่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น มาตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลังล่ะ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เงินแค่นั้นก็อาจช่วยต่อชีวิตยามยากได้  ..แต่ มันมีไว้สำหรับผู้มีสัญชาติไทย ยามบ้านเมืองเผชิญภาวะวิกฤตเช่นนี้  ‘ซาเราะห์’ รู้ว่าทุกคนในสังคมต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เธอและเพื่อนผู้มีปัญหาสัญชาติจึงไม่คิดเรียกร้องเอากับใคร นอกจากจะรอความเมตตาจากองค์อัลเลาะห์เท่านั้น

ตี้ฟิ้ลอูก๊อด ว่ามิ้นชันรฺรี่ฮา 

ซี่ดิน อี้ซา ฮ่าชัด

“ในนามของอัลเลาะห์ 

ฉันขอความคุ้มครองจากพระผู้ปกปักรักษาแห่งรุ่งอรุณ  

ให้พ้นจากเภทภัยที่พระองค์ทรงบันดาลขึ้น    

ให้พ้นจากความชั่วร้ายในยามรัตติกาลเมื่อมันปกคลุมอย่างมืดมิด 

ให้พ้นจากความชั่วร้ายของบรรดาผู้เสกเป่ามนต์

และให้พ้นจากความชั่วร้ายของผู้มีจิตริษยาเมื่อเขาได้ริษยา อามัน”

               …………………………..