ความรุนแรงที่มิอาจมองข้าม

อัชรา แก้วประดิษฐ์

Photo by Melanie Wasser on Unsplash
Photo by Melanie WassPhoto by Melanie Wasser on Unsplasher on Unsplash

คุณเอมอร เพ็ชรสังหาร หรือพี่อร นักขับเคลื่อนสังคมรุ่นที่ 1 เป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center – OSCC) ในโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  พี่อรเล่าว่าก่อนหน้านี้ในบทบาทของพยาบาล  ต้องพบเจอกับความเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพของผู้คน ในหลายรูปแบบ หลายครั้งเกิดคำถามในใจว่า”ทำไมคนเราถึงไม่ดูแลสุขภาพ หรือไม่ได้ทำตามที่ แนะนำ มันมีปัญหาหรือช่องว่างอะไร ทั้งที่เราก็ได้พยายามพูดคุย ให้ข้อมูลกับคนไข้มากมาย” ซึ่งการทำงานศูนย์พึ่งได้ต้องพบเจอคนไข้ที่ได้รับความเจ็บป่วย  บาดเจ็บจากการใช้ความรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น คนที่มีบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกาย  หรือมีคนมาขอให้ช่วยกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนทำร้ายร่างกาย เป็นต้น  จากการทำงานมาระยะหนึ่งจึงคิดว่างานส่วนใหญ่ของศูนย์พึ่งได้ ส่วนใหญ่คือการรักษา เยียวยา และส่งต่อกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงซึ่งเป็นงานเชิงรับ คือเกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงจัดการ แม้ว่างานนี้จะมีความสำคัญมาก แต่ก็คิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะตัวเองพบเจอกับผู้ประสบปัญหาโดยตรงโดยเฉพาะบุคคลที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่คือ เด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว ถ้าหากเราสามารถป้องกันปัญหาความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรก หรือถ้าเกิดแล้ว เขาได้รับการดูแลรักษา เยียวยา และมีระบบการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ปัญหาความรุนแรงก็น่าจะลดน้อยลง

จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา การผ่านหลักสูตรการเรียนรู้การฟื้นฟูอำนาจภายในของคนชายขอบและการเรียนรู้ในหลักสูตรนักขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากรากฐาน  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือ ทัศนคติที่เชื่อมั่นว่าตัวเรา และคนอื่นๆก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ทำให้มีความมั่นใจในการเริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายคือการป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงต่อ เด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัวลง โดยเชื่อว่า หากคนในชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไปด้วยกันก็จะสามารถลดปัญหาความรุนแรงลงได้ และเห็นว่าคนในชุมชนเองจะสามารถป้องกัน เฝ้าระวัง และบรรเทาปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาอาสาสมัครชุมชนเพื่อป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัวเพื่อสุขภาวะที่ดีจากฐานราก

หลายคนบอกเธอว่า “ผัวเมียก็มีทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเลิกกันลูกจะเป็นปมด้อย คนเป็นแม่ต้องอดทน” และตัวเธอเองก็เชื่อเช่นเดียวกัน เธอจึงยอมทนอยู่กับเขาเพราะไม่มีทางเลือก เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมไทย

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานในพื้นที่ของพี่อร ทำให้ตัวผู้เขียนเองได้เข้าใจถึงความรุนแรงมากขึ้น และเข้าใจผู้ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องความรุนแรง ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในการใช้ชีวิตของเราเองกำลังใช้ความรุนแรงกับคนอื่นบ้างหรือไม่? เพราะตัวเราเองหรือ หลายๆคนอาจจะคิดถึงภาพความรุนแรงคือ การทำร้ายร่างกาย การทะเลาะ ทุบตี  แต่จริงๆ แล้ว ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การด่าทอ การดูถูกเหยียดหยาม การลดคุณค่าของอีกฝ่าย หรือถูกทำให้อีกฝ่ายด้อยค่า การลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย หรือแม้แต่กระทั่งการเพิกเฉยต่อกันของคนในครอบครัว การไม่คุยหรือสื่อสารกัน ก็เป็นความรุนแรงในรูปแบบหนึ่ง คือเป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น แต่มันส่งผลต่อจิตใจ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไร้ตัวต้น ไร้คุณค่า ถูกมองข้าม ดังนั้นความรุนแรงไม่ได้หมายความถึงความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น การทำร้ายจิตใจนับเป็นความรุนแรงไม่แตกต่างกัน และจากประสบการณ์ทำงานพบว่าหลายครั้ง คนในสังคม หรือเพื่อนบ้าน มักจะมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่าเรื่องของผัวเมีย หรือเรื่องครอบครัวเขา เราเป็นคนนอก ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว จึงทำให้คนที่ถูกกระทำ หรือคนที่กระทำ ยังคงมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ผลิตซ้ำความรุนแรงเช่นเดิม

บ่อยครั้งความรุนแรงได้สร้างบาดแผลในจิตใจที่ฝั่งลึกให้กับใคร หลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่กระทำเอง หรือคนที่ถูกกระทำ หรือคนที่อยู่ร่วม รวมถึงคนที่เห็นเหตุการณ์ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องอยู่ในครอบครัวที่มีแต่ความรุนแรง หรืออยู่ในสังคมที่มีแต่ความรุนแรง สุขภาพจิตของเรานั้นจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญหากเด็กคนหนึ่งต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว สิ่งเหล่านี้อาจไปลดทอนศักยภาพการเรียนรู้ เพราะสุขภาพจิตไม่ดี และมีงานวิจัยที่บอกว่า เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงจะซึมซับ ความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ โดยพบว่าหากปล่อยให้คนคนหนึ่ง ต้องเผชิญกับความรุนแรงเป็นเวลายาวนาน คนคนนั้นอาจเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเคร้า หรือบางรายอาจพัฒนาตัวเองเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง

‘พี่อร’ ได้บอกเล่าแนวคิดของการทำงานว่า สิ่งสำคัญ หากเราจะต้องทำงานกับความรุนแรง เราต้องเข้าใจทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือคนที่อยู่แวดล้อม โดยการฟัง ฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสินหรือตีตราเขาจากพฤติกรรมที่เห็น อาจต้องค้นให้ลึกว่าบุคคลคนนั้นมีความคิดความเชื่ออย่างไร ที่ใช้ความรุนแรง หลายครั้งพบว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้อยากเป็น หรือมีพฤติกรรมดังกล่าว

ในมุมของคนที่ถูกกระทำที่ตีตราตัวเอง หรือมองว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีศักยภาพที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ผู้ถูกกระทำเองก็ไม่มั่นใจว่า หากลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือเปิดเผยเรื่องราว มีใครมั้ยที่พร้อมจะช่วยเหลือ บางครั้งอาจถูกมองว่าตนเองเป็นปัญหา ทำให้เกิดความอับอาย  หรือคิดว่าการออกมาสู้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงมักถูกสั่งสอนมาว่า ผู้หญิงที่ดีต้องอดทน หลายคนถูกสอนให้ยอมเพื่อลูก เพื่อจะมีครอบครัวที่อบอุ่น ดังเช่นกรณีตัวอย่างนี้ ‘เธอ’ อายุ 30 ปี เธอมาปรึกษาว่า ตัวเธอท้อง แต่ไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก เพราะมีลูกมาแล้ว 3 คน ท้องนี้เป็นคนที่ 4 พอสามีรู้ว่าเธอท้องก็บอกว่าให้ไปเอาออก เพราะเลี้ยงไม่ไหว เธอพูดไปโดยไม่สบตา แต่ที่สังเกตได้คือในดวงตาเธอมีความเศร้าและทุกข์ใจ เธอเล่าว่า เธอกับสามีแต่งงานกันมา 6 ปี สามีรับราชการ เป็นคนหารายได้หลักในครอบครัว ตัวเธอเป็นแม่บ้านและดูแลลูก สามีเป็นคนชอบกินเหล้ามาก หลายครั้งสามีเมากลับมา ก็จะทะเลาะกัน เขาจะพูดดูถูกเธอ  และมักจะพูดว่าตัวเธอและลูกเป็นภาระ บางครั้งก็มีการทำร้ายร่างกายกัน จนเธออยากจะเลิก เพราะรู้สึกไม่มีความสุขและหมดรักเขาแล้ว แต่เมื่อเขาหายเมาก็กลับมาขอร้อง และไม่ยอมเลิก เขาอ้างเสมอ หากเลิกเขาจะไม่ช่วยส่งเสียเรื่องลูก ซึ่งเธอเองก็ประเมินว่าไม่สามารถรับผิดชอบเลี้ยงลูกสามคนได้ หลายครั้งที่เอาเรื่องนี้ไปปรึกษาญาติๆ ทุกคนก็บอกให้เธออดทน เพื่อลูก หลายคนบอกเธอว่า “ผัวเมียก็มีทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเลิกกันลูกจะเป็นปมด้อย คนเป็นแม่ต้องอดทน” และตัวเธอเองก็เชื่อเช่นเดียวกัน เธอจึงยอมทนอยู่กับเขาเพราะไม่มีทางเลือก เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมไทย

การทำงานเพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาความรุนแรง โครงการฯ ได้ทำงานโดยใช้ฐานคิดเรื่องอำนาจร่วม ขยายแนวคิดเรื่องลดความรุนแรง เริ่มต้นจากการจัดประชุมร่วมกับทีม สหวิชาชีพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในระดับจังหวัด มีคณะทำงานย่อยทำหน้าที่ในการ กำหนดบทบาทการทำงานของทีม หาพื้นที่นำร่อง โดยเริ่มจากองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ 3 เทศบาล ในพื้นที่อำเภอเมือง เพื่อเป็นต้นแบบในการทำงาน เนื่องจากกลไกการดำเนินงานหลักในพื้นที่คือทีมอาสาสมัคร จึงต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ ใกล้ชิดกับปัญหา อยู่ในชุมชน สามารถเข้าถึงคนในชุมชน และเป็นที่ยอมรับ (ผู้นำตามธรรมชาติ) หรือบางคนเคยประสบปัญหาความรุนแรง ได้รับการเยียวยา จนผ่านพ้นปัญหา อยากลุกขึ้นมาช่วยคนอื่นๆต่อ  จากนั้นจึงจัดอบรมเสริมศักยภาพให้แก่อาสาสมัคร โดยการปรับฐานคิดเรื่องเพศและความรุนแรง อบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ให้ข้อมูลอาสาสมัครเพื่อให้เห็นช่องทางการส่งต่อผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ไปยังกลไก OSCC ของโรงพยาบาล

การลงชุมชนสำรวจปัญหา โดยเอาเครื่องมือรูปแบบความรุนแรง เพื่อประเมินจัดทำข้อมูล การลงไปพูดคุยกับผู้ประสบปัญหา ใช้กระบวนการรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ไม่ตีตราจากพฤติกรรมภายนอก ไม่มองว่าบุคคลดังกล่าวเป็นตัวปัญหา แต่เขากำลังเผชิญกับปัญหา จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สถานการณ์ปัญหา เพื่อหาแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัวในพื้นที่ร่วมกันต่อไป

จากมุมมองของผู้เขียนมองว่า หากแนวคิดการป้องกันความรุ่นแรงในชุมชน สร้างความเข้าใจต่อความรุนแรงผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ โดยการรับฟัง ให้โอกาส ไม่ตัดสิน ตีตราคนจากปรากฎการณ์ที่เห็นภายนอก สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการป้องกันและแก้ปัญหา หากแนวคิดดังกล่าว ได้มีการขยายผล และดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ปัญหาความรุนแรง การบาดเจ็บและความสูญเสียน้อยลง อนาคตเราอาจจะเห็นข่าวคราวความรุนแรงในช่องทางสื่อต่างๆ ของสังคมไทยลดน้อยลง