จะสร้างองค์กรนวัตกรรมทางสังคมอย่างไร?: มองผ่านกระจกเงา (2) | “โลกนี้ไม่มีขยะ” วิธีคิดเรื่องการรับบริจาค

พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์: เรื่องและภาพ

แทบทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติในประเทศไทยเราจะเห็นกระจกเงาลงไปลุยหน้างานอยู่เสมอ ล่าสุดวิกฤตน้ำท่วมภาคอีสานเราก็ได้เห็นการระดมกำลังอาสาสมัครไปเป็นอาสาล้างบ้าน ซ่อมบ้านและฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้

นอกจากระดมพลอาสาแล้วยังมีการระดมของบริจาคไปช่วยพื้นที่ประสบภัย น่าสนใจว่าวิธีรับบริจาคของของมูลนิธิกระจกเงาดูจากความต้องการของหน้างานเป็นหลัก ดังที่เราได้เห็นการขอรับบริจาคกระสอบเปล่าเพื่อใช้ในภารกิจล้างบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือขอรับบริจาคชุดนักเรียนเพื่อให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนหลังน้ำลด หรือขอรับบริจาคถุงมือสำหรับภารกิจทำความสะอาด เป็นต้น

การรับบริจาคในภารกิจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสานล่าสุดทางหน้าเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิกระจกเงา

การค้นหาและระบุความต้องการที่แท้จริงทั้งของผู้ประสบภัยและอาสาสมัครนับเป็นลักษณะเด่นของงานรับบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาในกรณีภัยพิบัติ

แต่นอกเหนือจากนี้ เป็นเวลาหลายปีแล้วที่กระจกเงาเปิดช่องทางรับบริจาคข้าวของหลากหลายรวมทั้งเงินบริจาคเพื่อส่งต่อในภารกิจโครงการต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังวิธีคิดเรื่องการรับบริจาคของกระจกเงานั้นมีแง่มุมน่าสนใจหลายประการ

“มีของบริจาคมา หลักการคือเราต้องใช้มัน ต่อชีวิตมัน เปลี่ยนมันเป็นมูลค่า จะทำยังไงให้ของที่ผลิตมาแล้วมีชีวิตยืนยาวที่สุดเท่าที่จะยืนยาวได้ การที่คนหันมาใช้ของมือสองทำให้ทรัพยากรของโลกที่ถูกผลิตแล้วได้ใช้ต่อ ไม่ใช่แค่รับของบริจาคมาระดมทุนมีรายได้เท่านั้น แต่มันมีมิติสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้น รวมทั้งมิติเศรษฐกิจ คนจนคนทำมาหากิน มันช่วยลดต้นทุนชีวิตของแม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสองไปได้เยอะ มันเป็นเรื่องดีที่จะมีอะไรแบบนี้”

สมบัติ บุญงามอนงค์

ต้นทาง: การรับบริจาค


ที่ศูนย์รับบริจาคของกระจกเงา หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เข้าไปบริจาคของที่นั่น พอจอดรถปุ๊บจะมีอาสาสมัครใส่เอี๊ยมสีเหลืองเข็นรถเข็นมารับของแล้วพาเราไปลงทะเบียนผู้บริจาค

มีคนต้องการเคลียร์ของ + มีคนต้องการของ

สิ่งที่กระจกเงาทำคือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนต้องการเคลียร์ของกับคนต้องการของ พี่หนูหริ่งกล่าวว่า

“ทุกคนต้องเคลียร์บ้าน คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนชั้นกลางเขาต้องการเคลียร์บ้าน พอเคลียร์แล้วไม่รู้จะเอาไปไหน ของที่ใช้ไม่ได้ก็ทิ้งลงถังขยะ แต่มันมีของบางประเภทที่ทิ้งไม่ลง ดังนั้นจึงมีความต้องการในการที่จะมีคนรับไปจัดการต่อ นี่เป็นสิ่งที่กระจกเงาทำ ที่จริงเราไม่ใช่คนค้นพบ คนอื่นค้นพบมานานแล้วในต่างประเทศ Oxfam ทำ charity shop, ในสวีเดนมีห้างสรรพสินค้าของมือสอง, ญี่ปุ่นมีระบบจัดการที่ซับซ้อนมาก ส่วนไทยเราก็มีวัดสวนแก้วเป็นแม่แบบ”

ข้าวของที่รับบริจาคมามีแทบทุกประเภทตั้งแต่ตุ๊กตา เครื่องเขียน เสื้อผ้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนจะเกิดของเก่าจำนวนมหาศาล

“เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราได้มามีทุกสภาพตั้งแต่ใช้ได้ใช้ไม่ได้ แน่นอนส่วนใหญ่เป็นของมือสอง ถ้าจะบริจาคแสดงว่ามันจะอยู่ในสถานะที่บางทีใช้ไม่ได้แล้วมันเสียหรือบางทีมันเก่าแล้วเขาต้องการซื้อใหม่เขาก็เอาของเก่ามาบริจาค มันจึงเป็นทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างเก่ากับเก่ามาก เก่ากับเสีย อย่างเช่นพวกเครื่องเสียง ทีวี เราจะได้ทีวีอ้วนๆ จำนวนมากที่คนไม่ต้องการในยุคที่ LED เข้ามา หรือแม้แต่ทีวีพลาสม่าจอใหญ่ๆ ซึ่งถ้ารื้อแล้วแทบไม่มีราคา คือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนมันจะเกิดของเก่าขึ้นมาเสมอ เครื่องเล่นดีวีดีซีดีแผ่นหนังทั้งหลาย ของพวกนี้จะทะลักเข้ามา”

ของเก่าเหล่านี้มีต้นทุนในการจัดการ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่รับบริจาคมาจะมีห้องเวิร์กชอปสำหรับซ่อมแซมและติดตั้งโปรแกรมเพื่อจัดส่งไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน “ปีหนึ่งๆ เราส่งคอมพิวเตอร์ 2 พันกว่าเครื่องทุกปีมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นอกจากคอมก็จะมีโปรเจ็กเตอร์บ้างเครื่องถ่ายเอกสารบ้าง ของมือสองมีข้อจำกัดที่เวลามันเสียทีมันซ่อมแล้วแพง มันมีต้นทุนในการจัดการ”

การเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคของกระจกเงาต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อให้ข้าวของเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ ด้วยเหตุนี้งานอาสาสมัครจึงมาช่วยอุดช่องว่างตรงนี้

มีคนอยากอาสา + มีคนต้องการอาสาสมัคร

จะเห็นว่านอกจากรับบริจาคข้าวของแล้วสิ่งที่กระจกเงาทำคือรับบริจาค “แรงงาน” และ “เวลา” ด้วยผ่านระบบอาสาสมัคร ซึ่งแรงงานและเวลาคือทรัพยากรสำคัญของการขับเคลื่อนงาน

บางคนมาเป็นอาสาเพราะต้องการเก็บชั่วโมง บางคนมาเป็นอาสาเพราะเงื่อนไขต่างๆ บางคนมาเป็นอาสาเพราะอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

“นักเรียนนักศึกษาต้องการพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมจิตอาสา เพราะมันอยู่ในหลักสูตรและอยู่ในเงื่อนไขการกู้เงิน กยศ. รวมทั้งอยู่ในเงื่อนไขของกรมควบคุมความประพฤติ เป็นต้น แต่ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่อยากทำอะไรเพราะว่าง พนักงานออฟฟิซพอวันหยุดว่างก็มาเป็นอาสา”

“ที่กระจกเงามีคนหมุนเวียนมาเป็นอาสาสมัครทุกวัน ส่วนใหญ่ก็จะมา 1 วันบ้าง 2-3 วันบ้าง ทุกวันจะมี ‘อาสาจัดเต็ม’ เป็นอาสาประจำวัน เรามีเจ้าหน้าที่ 2 คนดูแลโครงสร้างอาสาสมัคร อาสาจะมีพี่เลี้ยงเป็นทอดๆ มีระบบส่งงานมาโดยอาสาสมัครจะได้รับการปฐมนิเทศก่อนแยกย้ายไปทำงานในส่วนงานต่างๆ ตั้งแต่อาสาแยกของไปจนถึงอาสาในโครงการอ่านสร้างชาติ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง โครงการแบ่งปัน โครงการ รพ.มีสุข เป็นต้น”

งานอาสาสมัครถือเป็นกองหนุนสำคัญที่เข้าไปช่วยในภารกิจต่างๆ ของกระจกเงา โดยเฉพาะงานจัดการของบริจาคที่สลับซับซ้อนและละเอียดที่สุดขององค์กรนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดกองกำลังอาสาสมัคร

ระหว่างทาง: การคัดแยก


ของบริจาคจะถูก “คัดหยาบ” และขนย้ายไปตามโซนต่างๆ ได้แก่ โซนเครื่องใช้ไฟฟ้า กิ๊ฟต์ชอป เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ คอมพิวเตอร์ จากนั้นในแต่ละโซนจะมีการ “คัดละเอียด” อีกทีหนึ่งเพื่อจำแนกข้าวของรอการส่งต่อ

คัดแยกให้เหลือขยะน้อยที่สุดก่อนส่งต่อ

หัวใจของการคัดแยกคือทำทุกวิถีทางให้ข้าวของไปต่อได้โดยเหลือเป็นขยะน้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อของบริจาคมาถึงมือกระจกเงามั่นใจได้ว่ามันเกิดประโยชน์มากกว่าที่คิดเสียอีก

ตัวอย่างเช่นตุ๊กตา “ตุ๊กตาสำคัญกับกระจกเงามาก ตุ๊กตาจะถูกแยกไว้ชั่วคราวเพื่อรอส่งต่อให้เด็กๆ เวลาทำโครงการกับโรงเรียน ปีหนึ่งๆ เราได้รับบริจาคตุ๊กตาเยอะมาก เมื่อถึงช่วงปีใหม่หรือวันเด็กเราจะส่งต่อตุ๊กตาไปสนับสนุนองค์กรที่ทำงานกับเด็กซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดกิจกรรมวันเด็กขององค์กรต่างๆ ไปได้มาก”

ส่วนของเบ็ดเตล็ดทั้งหลาย อาทิ กระเป๋า หมวก เข็มขัด รองเท้า แก้วน้ำ จานชาม ร่ม ฯลฯ จะถูกนำใส่ตะกร้าพลาสติกเพื่อง่ายต่อการขนย้าย เมื่อเข้าสู่กระบวนการคัดแยกจะแบ่งเป็นการคัดแยกลงลังเพื่อระดมทุน กับคัดแยกเพื่อส่งต่อ โดยเฉพาะเครื่องครัว เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์คอม ส่วนของชำรุดก็จะถูกคัดแยกเป็นขยะ RDF แยกพลาสติกกับกระดาษ คือทำทุกอย่างให้กลายเป็นขยะน้อยที่สุด

เสื้อผ้าถือเป็นของบริจาคที่มีปริมาณมากที่สุดในบรรดาของทั้งหมด กองผ้ามหึมาในห้องคัดแยกผ้านี้มีเสื้อผ้าทุกประเภท อาสาสมัครจะทำการคัดแยกออกเป็นกองละ 10 บ. 20 บ. หรือ 30 บ. สำหรับระดมทุน บางครั้งก็จะมีเสื้อผ้าแบรนด์เนมปะปนไปด้วย

ส่วนเสื้อผ้าที่ชำรุดจนใช้การไม่ได้แล้วจะถูกคัดแยกออกมาเป็นเสื้อผ้า RDF ส่งไปที่ SCG recycle ที่สระบุรี ซึ่งเป็นโรงปูนที่มีเตาเผาที่ความร้อน 800 องศา

“เสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่นี้เป็นปัญหาระดับโลกคือมันจะมีโพลีเอสเตอร์อยู่ในผ้า เมื่อเอาไปฝังกลบ กระบวนการฝังกลบมันย่อยยาก ซึ่งเมื่อย่อยแล้วมันจะกลายเป็นไมโครพลาสติก ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่มากในโลกใบนี้ ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการเศษผ้าคือเผาที่ 800 องศา ในต่างประเทศมีการเปิดประเด็นเรื่องนี้ มีกระแสไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ใส่เสื้อผ้ามือสองหรือมีเสื้อผ้า 5-6 ชุดใส่ซ้ำๆ เพื่อจะลดปริมาณการเกิดไมโครพลาสติก”

“พลาสติกมันควรจะเอามาย่อยกลับไปเป็นเม็ดพลาสติกจึงจะมีมูลค่าสูงสุด ในต่างประเทศไม่มีคนทำสิ่งนี้เพราะค่าแรงแพงเพราะต้องใช้มนุษย์แยกมันละเอียดมาก. เมื่อก่อนเราทิ้งถุงทั้งหมดนี้ลงถังขยะ อาสาสมัครของเราคนหนึ่งทำงานอยู่ร้านรีไซเคิลพลาสติกก็ถามว่าทำไมไม่แยกแล้วเอาไปขาย นับจากนั้นเราจึงเริ่มแยกและพบว่ามันคุ้มค่า”

ในส่วนหนังสือบริจาคที่มักพ่วงมาด้วยกระดาษ กระจกเงาค้นพบว่าการคัดแยกกระดาษช่วยเพิ่มมูลค่า “กระดาษขาวดำตอนนี้กิโลละ 8.50 บ. ขณะที่กระดาษสีกิโลละ 2 บาท หมายความว่าถ้าคุณสามารถแยกได้มันจะได้ราคา ดังนั้นการคัดแยกเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ในกระดาษจะประกอบด้วยเยื่อแบบยาวกับแบบสั้น การรีไซเคิลจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเยื่อยาว ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบเยื่อกระดาษแบบยาวมาจากจีนเพื่อผลิตกระดาษ เราสามารถลดปริมาณการนำเข้าโดยคัดแยกกระดาษเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล”

ไม่เพียงความคุ้มค่าด้านตัวเงินแต่เป็นพันธกิจหลักขององค์กร พี่หนูหริ่งกล่าวว่า “เราทำเรื่องรีไซเคิลเราจะต้องลดขยะที่ผลักออกสู่สิ่งแวดล้อม มันเป็นความรับผิดชอบของเราเราต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ก่อน ในการแยกขยะคนจะรู้สึกว่ามันวุ่นวายไม่คุ้มค่า กระดาษแผ่นหนึ่งหรือเห็นถุงพลาสติกใบหนึ่งก็ต้องพยายามแยกมันให้ได้ มันไม่ได้ทำได้ในทุกกรณีหรือทุกเวลาแต่ว่าเราทำได้เยอะพอสมควร ผมคิดว่าประมาณ 95% ของที่จะถูกทิ้งมันถูกแยกก่อน”

เสื้อผ้าชำรุด เฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเคิลและข้าวของต่างๆ ที่หาทางไปต่อไม่ได้จะถูกเรียกรวมๆ ว่า “ขยะ RDF” รอการส่งต่อไปเข้าเตาเผานี้พี่หนูหริ่งมองว่า “มันคือเชื้อเพลิงพลังงาน แทนที่จะผลักภาระไปให้เขตหรือรัฐบาลเรามองเรื่องการสร้างมูลค่าขึ้นมา การจัดการขยะในประเทศไทยมีปัญหามาก มันไม่คุ้มค่าในการจัดการเลย แต่ถ้าเราไม่จัดการมันจะเป็นขยะของเขต ของ กทม. แล้วมันก็จะไปลงที่บ่อขยะ สุดท้ายแล้วบ่อก็จะเต็ม ดังนั้นเราต้องจัดการ ปัญหาในประเทศไทยยังมีช่องว่างเรื่องกิจการที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ เราจัดการได้แย่มาก เรื่องนี้เป็นทั้งช่องว่างของปัญหาและโอกาส”

ปลายทาง: การส่งต่อ


หลังผ่านการคัดแยกอย่างละเอียดแล้วของบริจาคจะถูกส่งต่อไปยังศูนย์แบ่งต่อและโครงการต่างๆ ของมูลนิธิกระจกเงา เพื่อส่งต่อถึงมือผู้รับที่ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุด

ต่อลมหายใจให้ข้าวของ

“มีของบริจาคมา หลักการคือเราต้องใช้มัน ต่อชีวิตมัน จะทํายังไงให้ของที่ผลิตมาแล้วมีชีวิตสุดชีวิตมันยืนยาวที่สุดเท่าที่มันจะยืนยาวได้ การที่คนมาใช้ของมือสองต่อมันทําให้ทรัพยากรของโลกที่ถูกผลิตแล้วมันใช้ต่อ มันไม่ใช่แค่ เรื่องรับของบริจาคมาระดมทุนมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ มันมีมิติสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้น รวมทั้งมิติเรื่องเศรษฐกิจ คนจนคน ทํามาหากินไม่ต้องเดินสายขับรถไปหลายๆ ที่เพื่อจะรวบรวมของมาขายที่ตลาด แต่คุณมาที่นี่คุณเสียเวลาชั่วโมงเดียว คุณมีวัตถุดิบที่คุณคิดว่าขายได้แน่คุณเอาไปขาย มันลดต้นทุนชีวิตของคนที่เป็นแม่ค้าขายของเสื้อผ้ามือสองไปได้เยอะเลย”

นี่คือหลักการของการส่งต่อของบริจาคของกระจกเงา คือต่อชีวิตข้าวของเหล่านี้ให้มีอายุยืนยาวที่สุด ตกเป็นภาระกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความพยายามในการหาผู้รับให้ตรงกับความต้องการที่สุด งาน ของศูนย์แบ่งต่อจึงเข้ามารับช่วงตรงนี้

แมตชิ่งความต้องการของผู้ให้กับผู้รับ

งานของศูนย์แบ่งต่อคือต้องพยายามหาทางให้ข้าวของมันไปต่อให้ได้โดยหลักการคือให้มันถูกทิ้งน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ศูนย์แบ่งต่อเล่าให้ฟังว่า

“อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียนที่เกิดจากการคัดแยกจากกิ๊ฟต์ชอปเราจะส่งต่อให้โรงเรียน ชุมชน เทศบาล โรงพยาบาล โดยแต่ละวันจะมีคุณครูจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาคัดอุปกรณ์เครื่องเขียน แฟ้ม ฯลฯ ไปใช้ในโรงเรียนที่ขาดแคลน”

“ในศูนย์แบ่งต่อยังมี เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ หนังสือ เราก็จะติดต่อไปยังองค์กรต่างๆ ว่าเขาขาดเหลืออะไรเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรเราก็จะแมตชิ่งของให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการแล้วส่งออกไป รวมทั้งของบางอย่างที่ได้รับบริจาคมาบางทีเรามองไม่ออกเลยว่าจะไปไหนต่อ อย่างเช่นไส้กรองน้ำ ตอนแรกมาเรามองไม่ออกเลยว่าจะไปไหนต่อ ใช้เวลาอยู่สักพักหนึ่งในการค้นหาปรากฏว่าไปเจอกรมน้ำบาดาล กรมประมงและมูลนิธิคุณภาพชีวิตที่เขาติดตั้งเครื่องกรองให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เราก็ได้จัดส่งไส้กรองน้ำไปให้ประมาณเกือบ 3,000 ชิ้นที่ส่งไปให้โรงเรียนต่างๆ ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างมหาศาลโดยที่ถ้าอยู่กับเราแล้วเรามองไม่ออกเลยว่าจะไปไหน”

“อุปกรณ์กีฬาเช่นไม้เทนนิสที่เราได้รับบริจาคมา โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สอนเทนนิส โรงเรียนที่สอนเทนนิสเด็กจะมีกำลังทรัพย์ในการซื้อไม้เทนนิสอยู่แล้ว เมื่อก่อนเราเอาไม้เทนนิสไประดมทุนซึ่งมันแมตชิ่งไม่ถูกต้อง ผมก็เลยติดต่อสมาคมคนพิการก่อนว่าเขาต้องการไปใช้มั้ย ปรากฏว่าสมาคมกีฬาเพื่อคนพิการแห่งประเทศไทยบอกว่าปกตินักกีฬาคนพิการขาดแคลนอุปกรณ์กีฬา เครือข่ายของเขาที่เป็นคนพิการเป็นโรงเรียนที่มีสนามเทนนิสเพื่อให้คนพิการเข้าไปเล่นกีฬาได้ พออุปกรณ์ลงไปเลยแมตชิ่งพอดี เขาบอกว่าเหมือนปลูกต้นกล้าให้ชีวิตเขาอีกครั้ง เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอีกครั้ง นี่คือจากอุปกรณ์ที่เมื่อก่อนเราไม่รู้จะเอาไปไหนมันไปสร้างกำลังใจให้คนอื่นต่อ”

“ไม้กอล์ฟก็เช่นกันตอนแรกเราก็ไม่รู้จะเอาไปไหน เราติดต่อไปที่มูลนิธิคนไทยใจดีซึ่งพอดีกับที่มีโครงการเฟ้นหานักกีฬาจากเด็กขาดแคลนและยากไร้ เราจึงส่งไม้กอล์ฟไปให้เพื่อไปทำโครงการนี้ต่อ”

นอกจากนี้โครงการต่างๆ ของมูลนิธิกระจกเงายังเปิดรับของบริจาคที่ตรงกับหน้างานของโครงการด้วย ตัวอย่างเช่นโครงการอาสามาเยี่ยม ซึ่งจะส่งอาสาสมัครไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน ดังนั้นอุปกรณ์ทางการแพทย์มือสองจะถูกส่งต่อมาที่โครงการนี้ เจ้าหน้าที่โครงการอาสามาเยี่ยมเล่าให้ฟังว่า

“เตียงผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์จะมีไว้สำหรับให้ญาติผู้ป่วยที่มีผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านได้มายืมหมุนเวียน คือถ้าผู้ป่วยเลิกใช้เมื่อไรก็ให้นำมาคืนเหมือนเดิมเพื่อผู้ป่วยท่านอื่นจะได้มาใช้ต่อ ส่วนแพมเพิร์สผู้ใหญ่เราจะนำไปลงเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านที่มีฐานะยากจน เราจะลงเยี่ยมเกือบทุกอาทิตย์ ตอนนี้มีเคสอยู่ 500 ราย มีทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดเตียงธรรมดาที่ยืมอุปกรณ์การแพทย์อย่างเดียว และผู้ป่วยติดเตียงยากจนรายได้น้อย”

พี่หนูหริ่งเสริมว่า “เราอยากให้มีการหมุนเวียนของพวกนี้ อย่างเช่นถังออกซิเจนใบหนึ่ง 6,000 บาท เตียง วีลแชร์ ไม้ค้ำยัน วอล์กเกอร์ เครื่องผลิตออกซิเจน ซึ่งสำหรับคนจนมันเป็นภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล และของพวกนี้ รพ. ไม่มีให้ ดังนั้นเรามั่นใจว่าคนในสังคมมีของพวกนี้อยู่ในบ้านซึ่งถ้าเราจัดการดีมันจะช่วยคนได้อีกมากในทางการแพทย์”

เช่นเดียวกัน โครงการอ่านสร้างชาติก็จะคัดแยกหนังสือบริจาคก่อนส่งต่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เจ้าหน้าที่โครงการอ่านสร้างชาติอธิบายว่า “หนังสือบริจาคก่อนจะส่งต่อเราจะคัดแยกก่อน เหตุที่เราต้องคัดและแยกเพราะก่อนหน้านั้นเวลาเราส่งหนังสือบริจาคไปให้โรงเรียนมันแพ็กใส่กล่องไปทั้งอย่างนั้นไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร บางทีคุณครูเปิดมาเจอปฏิทินใช้แล้ว เจอหนังสือพิมพ์หรือรายงานประจำบริษัทซึ่งมันไม่เกี่ยวเลย เราจึงคิดว่าเราต้องคัด เราอยากให้ผู้รับมีศักดิ์ศรีเท่ากับผู้ให้ รับไปเขาจะได้ภูมิใจ”

“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เราออกเดินสายทำโครงการหนังสือเล่มละบาท พื้นที่ไหนที่สนใจจะเปิดตลาดนัดหนังสือเราก็เข้าไป เรามีไอเดียว่าเราอยากให้เด็กๆ หรือผู้คนมีเงินหนึ่งบาทก็สามารถมาเลือกหนังสือไปอ่านได้ มีโควต้าคนละ 5-10 เล่ม ปีหนึ่งตัวเลขรายงานปีที่แล้วอยู่ที่เกือบ 400 แห่ง ประมาณแสนกว่าเล่ม”

สู่ตลาดนัดระดมทุน

ทุกวันที่มูลนิธิกระจกเงาจะเปิดชั่วโมงระดมทุนเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าไปจับจ่ายซื้อของไปขายต่อ มีข้าวของเบ็ดเตล็ดที่สามารถนำไปขายต่อได้และที่สำคัญคือเสื้อผ้ามือสองมากมาย

“กิจกรรมส่งเสริมเรื่องการระดมทุนสามารถเข้าไปซัพพอร์ตให้กับกลุ่มแม่ค้าสามารถมีรายได้เพิ่มเติมและยกระดับรายได้ครัวเรือนได้ นี่เป็นเมสเสจสำคัญที่เราพยายามพัฒนาให้กับกลุ่มผู้ค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ เราให้คุณค่ากับการสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาต่อยอดขึ้นมา จะเห็นว่ามีแม่ค้าจำนวนมากที่เข้ามาซื้อของกับเราและนำไปขายต่อตามตลาดนัด นอกจากเป็นการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการดูเรื่องนำของเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเอาไปรีไซเคิลรียูสต่อได้”

แน่นอนว่าการนำของบริจาคมาระดมทุนย่อมเจอข้อครหาบ้าง ประเด็นนี้พี่หนูหริ่งกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ จัดการศึกษา เราบอกผู้บริจาคเลยว่าของที่คุณบริจาคมาจะถูกจัดการในหลายรูปแบบ บางอย่างเราส่งต่อ บางอย่างเราระดมทุนเป็นรายได้ให้มูลนิธิ ถ้าเราทำระดมทุนอย่างเดียวจะเป็นปัญหา”

จะเห็นว่าการจัดการของบริจาคของกระจกเงานั้นแทบไม่มีขยะเหลือทิ้ง พี่หนูหริ่งเชื่อว่า “โลกนี้ไม่มีขยะ มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ‘ของเหลือใช้’” เท่านั้น ในเมื่อมนุษย์เราผลิตมันขึ้นมาเราจึงมีหน้าที่ต่อลมหายใจให้ของสิ่งนั้นจนกว่าจะสิ้นอายุขัยของมันจริงๆ

ที่มา: เรียบเรียงจากการศึกษาดูงานมูลนิธิกระจกเงาของนักขับเคลื่อนสังคมรุ่น 5 วันที่ 17 มิ.ย. 2562