นักศึกษา (ไม่ได้) หายไปไหน !

แมน ปกรณ์​ เรื่อง
กันต์ แสงทอง ภาพ

นักศึกษา (ไม่ได้) หายไปไหน ! เป็นข้อความจากหลังเสื้อครบรอบเหตุการณ์ 36 ปี 14 ตุลาฯ ที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย[1] จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อปี 2552 นัยยะหนึ่งเพื่อต้องการยืนยันถึงการดำรงอยู่ของขบวนการนักศึกษา แต่อีกนัยยะหนึ่ง การใส่วงเล็บคำว่า (ไม่ได้) หายไปไหน ก็เหมือนเป็นการหยอกเย้าในเชิงตั้งคำถามถึงนักศึกษาด้วยกันเอง ว่าเหตุใดจึงไม่ออกมาเป็นแก่นแกนหลักในการขับเคลื่อนทางการเมือง

การทำความเข้าใจต่อคำถามที่ว่า นักศึกษาหายไปหรือไม่ นั้นคงต้องใช้การอธิบายผ่านช่วงเวลาของเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นช่วงๆไป ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละช่วงเวลา ต่างก็มีเงื่อนไขปัจจัยที่แตกต่างกันไป
แต่อย่างไรเสีย ก็มีลักษณะเป็นพัฒนาการและพลวัต กล่าวคือ มีความสัมพัทธ์สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เช่น หากเราจะตั้งคำถามว่า “นักศึกษาในปี 2561 หายไปไหน ทำไมถึงไม่สนใจการเมือง ไม่ตื่นตัวทางการเมือง” เราก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 หรืออาจจะต้องเจาะลึกศึกษาบริบทการเมืองในสังคมไทยในยุคก่อนหน้านั้น

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้มุมมองเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาไว้ว่า “บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ นั้นเป็นศัตรูกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เอื้อในการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก แน่นอนอาจมีบ้าง แต่มันไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่นักศึกษาเป็นผู้นำเหมือนในอดีต มีแค่การต่อสู้ที่เป็นประเด็นเฉพาะ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิสตรี” [2]

นั่นหมายถึงว่าผลของการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การถ่ายเทเปลี่ยนผ่านอำนาจของระบบ “ถนอม-ประภาส” ไปสู่ระบบรัฐสภาที่ถึงแม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยบางส่วนรู้สึกว่าพัฒนาการของประชาธิปไตยนั้น ค่อยๆ ดีขึ้น

กล่าวอย่างรวบรัด ชัยชนะของ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ขบวนการนักศึกษาหรืออาจจะรวมถึงผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ เข้าใจไปเองว่าพวกเขา (และพวกเรา) ชนะแล้ว ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว มีบรรยากาศประชาธิปไตยแล้ว มีรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็คงจะมีคนเถียงว่าไม่ใช่

ข้อถกเถียงดังกล่าว ผู้อ่านคงศึกษาได้จากงานเขียนชิ้นอื่นๆ แต่ที่ผู้เขียนพยายามกล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ก็เพียงอยากนำเสนอว่า ความเข้าใจซึ่งไม่ว่าถูกหรือผิด ที่ว่าเราชนะแล้ว เมื่อ 14 ตุลาฯ นั้น มันส่งผลต่อการมีอยู่ของขบวนการนักศึกษาในยุคหลังอย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างน้อยก็ในทุกๆครั้ง ที่คนยุคนั้นตั้งคำถามกับคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันว่า “นักศึกษาหายไปไหน”

เพียงแต่ว่า ผู้เขียนเห็นว่านักศึกษาไม่ได้หายไปจากความสนใจเรื่องปัญหาสังคม ซึ่งอธิบายผ่านการเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.)”[3] ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ 16 สถาบัน ก็นับว่าเป็นพัฒนาการมาจากกระแสการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในยุครัฐบาลพลเอกเปรม[4] และหลังการฆ่าตัวตายของคุณสืบ นาคะเสถียร[5] เพื่อปกป้องป่าห้วยขาแข้ง ก็ยิ่งทวีความตื่นตัวของนักศึกษาต่อกระแสอนุรักษ์

ความเข้าใจที่ว่าเราชนะแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้ว อย่างน้อยก็ในรูปแบบที่เรามีรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกผลิตซ้ำอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535[6] ก็ยิ่งทำให้ความสำคัญของขบวนการนักศึกษากับการเป็นแก่นแกนหลักในการขับเคลื่อนทางการเมืองนั้นลดทอนลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) องค์กรกลางของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นก็ไม่ได้มีบทบาทนำเหมือนที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(ศนท.) เคยมีในอดีต

เอาเข้าจริงชมรมอนุรักษ์และชมรมอาสาพัฒนา ในหลายๆมหาวิทยาลัยนั้นก่อตั้งขึ้นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และหนึ่งในชนวนเหตุของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 คือเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวรตกที่นครปฐม ก็เป็นจุดเริ่มต้นล้มรัฐบาลทหาร[7] นั่นหมายถึงว่าความรู้สึกที่มีต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมว่ามันไม่ชอบธรรมนั้น มีอยู่ในการรับรู้ของคนหนุ่มสาวมาตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาฯแล้ว

จากคำบอกเล่าของคุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2536 เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษา การเคลื่อนไหวของ สนนท. กับคอทส. นั้น เป็นลักษณะที่คู่ขนานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กล่าวคือคอทส. ซึ่งก็คือพวกชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ออกค่ายปลูกป่า อาสาสร้างโน่นสร้างนี่ในชุมชนชนบทต่างๆ แล้วพอไปเจอว่า ชุมชนนั้นกำลังจะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชุมชนนี้กำลังจะมีเขื่อนปากมูล ประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อให้ สนนท. ไปเคลื่อนไหวยื่นหนังสือกับรัฐบาลที่ทำเนียบ ไปคัดค้านการออกกฎหมายที่อาจจะนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมที่รัฐสภา

หลังปี 2540 ในทางการเติบโตทางความคิดของนักศึกษาแบบปัจเจกบุคคลก็เช่นกัน ก็ในเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญปี 40 สภาวะสังคมที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยมันไม่ได้มีแรงบีบคั้นให้คนหนุ่มสาวในชุดนิสิตนักศึกษาต้องออกไปยืนป่าวร้องบนถนน แต่เปลี่ยนไปเป็นการสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาอื่นๆที่ใกล้ตัวมากขึ้นในยุคสมัยต่อมา

ในยุคใกล้ (2549-ปัจจุบัน) ผู้เขียนเคยจำแนกลักษณะของขบวนการนักศึกษาออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มทำค่ายอนุรักษ์-อาสาพัฒนา ที่เน้นการทำค่ายตามแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือการออกค่ายสร้างห้องสมุด โรงอาหาร ลานกีฬาในพื้นที่ชนบทห่างไกล แน่นอนว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และยังคงมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี บางชมรมเป็นชมรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ นั่นทำให้ในห้องชมรมเหล่านี้ มักมีรูปภาพของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือแม้แต่เช เกวารา รวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองหรือปรัชญาแนวคิดต่างๆ ก็ปรากฏอยู่ตามชั้นวางหนังสือในห้องชมรม ส่งผลให้นักศึกษาที่เป็นสมาชิกของชมรมเชิงอาสา-อนุรักษ์บางคน เริ่มรู้สึกว่ากิจกรรมที่เขาหรือเธอทำอยู่มันน่าจะไปต่อได้มากกว่าการออกค่าย พวกเขาจะขยับไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่สอง

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ลงพื้นที่ชาวบ้านที่มีความขัดแย้งกับรัฐ ศึกษานโยบายรัฐที่มีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น เน้นมองปัญหาเชิงโครงสร้างมาก่อน เช่น การใช้อำนาจทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน พวกเขาก็จะสนใจและเข้าไปเรียนรู้ฝังตัวกับชาวบ้านในระยะยาว อาจมีการออกค่ายในชุมชนแต่กิจกรรมหลักของค่ายในกลุ่มนักศึกษาแบบที่สองนี้ ไม่ใช่การสร้างแต่เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือศึกษาว่านโยบายที่รัฐหรือกลุ่มทุนจะดำเนินการนั้น จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไร นักศึกษาที่เป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ อาจจะเคยอยู่ หรือเคยไปค่ายของชมรมอาสา-อนุรักษ์มาก่อน รวมทั้งอาจจะมีพื้นฐานทางความคิดเชิงโครงสร้างมาจากสาขาวิชาที่ตนเองเรียน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ หรือคณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น

และกลุ่มที่สาม กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมุ่งความสนใจหลักไปที่ความไม่เป็นธรรมในภาพใหญ่ของระบบการเมือง หรือประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในมหาวิทยาลัย การคัดค้านระบบ Sotus กิจกรรมในกลุ่มนี้มักเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น เวทีเสวนา หรือกิจกรรมเชิงรณรงค์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มนักศึกษาในลักษณะนี้ มักเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหลังการลดบทบาทลงของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในช่วงปี 2555

อย่างไรก็ตาม การจำแนกดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาภารกิจหลักของกลุ่ม แต่ในรายละเอียดของปรากฏการณ์ พบว่าทั้ง 3 กลุ่มทำงานเชื่อมโยงกันอยู่เสมอๆ และมีการสลับบทบาทตามสถานการณ์ต่างๆ การทำกิจกรรมร่วมกันนี้เองถือเป็นการแลกเปลี่ยน ถ่ายเท ทั้งในเชิงความคิดและวัฒนธรรมของการทำกิจกรรม

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 กลุ่มนักศึกษาจากทั้ง 3 กลุ่มตามที่จำแนกข้างต้น จะร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย หรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ คสช.

ภาพนักศึกษานับพันคนชุมนุมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่หน้ารัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2554[8] หรือการที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าร่วมการเดินคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ กับ อ.ศศิน เฉลิมลาภ เมื่อปี 2556 หรือภาพคนหนุ่มสาวหลายร้อยคนรวมตัวกันที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จนนำไปสู่การก่อตั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คงเป็นการอรรถาธิบายว่านักศึกษาไม่ได้หายไปไหน โดยไม่ต้องใส่วงเล็บเพื่อซ้อนนัยยะการสื่อสาร

แต่ประโยคที่ว่านักศึกษาหายไปไหน ? ก็มีสิทธิถูกตั้งคำถามได้อยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะมาจากคนที่เคยผ่านเหตุการณ์สำคัญๆในอดีต หรือจากคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองจากหนังสือ หรือเอกสารตำรา วิชาการ แต่ก่อนที่จะก่นด่ากัน โปรดลองสำรวจตัวเองว่าถ้าการตั้งคำถามดังกล่าวมาจากความคาดหวังสังคมที่ดีงาม สังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บางทีการมองหาวิธีการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไป อาจเป็นสิ่งสำคัญกว่า


[1]วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์, การเคลื่อนไหวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เข้าถึงได้ที่ http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเคลื่อนไหวของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

[2]กูเป็นนักศึกษา เข้าถึงได้ที่ Way Magazine https://waymagazine.org/power-of-young-gen/

[3]บทบาทคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.) ในการสืบทอดเจตนา “สืบ นาคะเสถียร” (การก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) เข้าถึงได้ที่ https://www.seub.or.th/bloging/…

[4]พัชริดา พงษปภัสร์, 30 ปี การคัดค้านเขื่อนน้ำโจน จากความทรงจำของคนในเหตุการณ์ https://goo.gl/HdGRiV

[5]วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, สืบ นาคะเสถียร : ชีวิตและลมหายใจในผืนป่าของวีรบุรุษผู้เสียสละ 3/3 เข้าถึงได้ที่ https://adaymagazine.com/yesterday-51/

[6]กองบก. Way magazine, ‘พฤษภา 35’ ใครมาบ้างยกมือขึ้น เข้าถึงได้ที่ https://waymagazine.org/thailand-black-may-1992-who-was-there/

[7]ย้อนประวัติศาสตร์ ฮ.ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร ตกนครปฐม สู่จุดเริ่มต้นล้มรัฐบาลทหาร เข้าถึงได้ที่ https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_740562

[8]นศ.ราชภัฎสวนสุนันทา บุกรัฐสภา ยันไม่เอามหาลัยออกนอกระบบ. ประชาไท. เข้าถึงได้ที่ https://prachatai.com/journal/2011/09/36714