ครั้งที่ 5 ลงพื้นที่ศึกษาดูงานหลักสูตรนักเคลื่อนสังคมและสรุปการเรียนรู้

ลงพื้นที่ศึกษาดูงานหลักสูตรนักเคลื่อนสังคมและสรุปการเรียนรู้
หลักสูตร “นักขับเคลื่อนสังคม : สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก”รุ่นที่ 3

แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ(นธส.) ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งที่ 5 ในหัวข้อการลงศึกษารูปธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการสรุปบทเรียน โดยแผนงานฯได้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วงโดยช่วงแรกจะเป็นช่วงศึกษาดูงาน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายทามมูน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  (5-8 พฤษภาคม 2560) และช่วงที่ 2 เป็นช่วงสรุปการเรียนรู้ตลอดทั้งหลักสูตร ณ ห้องประชุมชั้น 8 ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน  อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย(เชิงสะพานหัวช้าง) ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ (9 – 11 พฤษภาคม 2560) โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 26 คน จากภาคีเครือข่ายโครงการสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะภายใต้การสนับสนุนของสำนัก 9 ภาคีของ สสส. คนทำงานภาคประชาสังคมและคนทำงานภาครัฐที่ทำงานในประเด็น “ชายขอบ”

วัตถุประสงค์ในช่วงที่ 1 คือเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการสร้าง การรวมพลัง หรือส่งเสริมการทำงานที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มคนชายขอบเพื่อมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (New Social Movements)

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นแผนงานฯจึงกำหนดโจทย์การศึกษาดูงานโดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. เป้าหมายของการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมกรณีศึกษา: เครือข่ายทามมูนฯ คืออะไร
  2. ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเครือข่ายฯ/ขบวนการทำงาน
  3. กิจกรรมในเครือข่ายฯ/ขบวนการทำงานมีอะไรบ้าง
  4. วิธีการประสานเชื่อมร้อนภาคีในเครือข่ายฯ/ขบวนการทำงาน
  5. ผลลัพธ์/ความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการดำเนินงานเครือข่ายฯ/ขบวนการทำงาน
  6. บทเรียนที่สำคัญของเครือข่ายฯ/ขบวนการทำงาน
  7. การประยุกต์กับเครือข่าย/ขบวนตัวเองของผู้เข้าร่วมศึกษาเรียนรู้

และวัตุประสงค์ในช่วงที่ 2 คือการสรุปการเรียนรู้หลักสูตรนักเคลื่อนสังคม: สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก ตลอดทั้งหลักสูตร

กระบวนการเรียนรู้ ใช้วิธีการตั้งโจทย์การศึกษากรณีศึกษาผ่านมุมมอง(Lens) จากการเรียนรู้ที่จัดขึ้นภายในหลักสูตรที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยแกนนำชุมชนและ วิทยากร (Keynote speaker) ที่มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมและสุขภาพในพื้นที่ การสนทนาแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อย การลงพื้นที่จริงและการวิเคราะห์ตนเอง

การจัดกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ในครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเห็นรูปธรรมของขบวนการทำงานในลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ชัดเชนขึ้น ผู้เข้าร่วมสามารถวิเคราะห์เป้าหมาย วิธีการและการดำเนินงานของขบวนการทำงานรวมกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและสุขภาพจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา กว่า 2,000 ครอบครัว ในรายละเอียดประกอบไปด้วยรูปแบบการสร้างและการบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ และการต่อรองประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยุทธวิธีการทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสุขภาพที่เชื่อมโยงกันในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น การทำงานข้อมูลไทบ้านในเรื่อง อาหาร ทรัพยากร เศรษฐกิจ(ตลาดสีเขียว) การจัดการที่ดินและสุขภาพ การสื่อสารกับสังคมให้มีความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น กระบวนการผลักดันปัญหาและข้อเรียกร้องไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ การทำงานจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายแบบองค์กรชาวบ้าน  เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้ทดลองนำเอากรอบคิดและเครื่องมือที่ได้จากการเรียนรู้ในครั้งนี้มาเปรียบเทียบกับขบวนการทำงานในเครือข่ายของตนเองได้