บทเรียนขบวนการเคลื่อนไหวลาตินอเมริกาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวไทย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหว องค์กรภาคประชาชนและพรรคการเมือง

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทนำ

บทความนี้มุ่งนำเสนอแนวทางการพัฒนาการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนในรูปแบบต่างๆโดยศึกษาผ่านกรณีศึกษาลาตินอเมริกา เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเรียนรู้สำหรับการยกระดับขบวนการภาคประชาชนในไทย การพิจารณาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมจำเป็นต้องพิจารณาผ่าน ปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในระดับโลก ควบคู่กับความสัมพันธ์ของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ และข้อเสนอเชิงนโยบาย ละตินอเมริกาเป็นภาพสะท้อนเงื่อนไขข้างต้นที่แสดงถึงความเปราะบางในชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในศตววรรษที่ 21 นำสู่การจัดระบบของขบวนการต่อสู้ของประชาชนโดยมีทั้งลักษณะเฉพาะของพื้นที่ และลักษณะทั่วไปของขบวนการต่อต้านทุนนิยม อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษ 2010 ได้แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของขบวนการเคลื่อนไหว ความผิดพลาดทางเทคนิคของนโยบาย ตลอดจนการไม่สามารถยกระดับการต่อสู้เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้อันนับเป็นประเด็นสำคัญที่ขบวนการภาคประชาชนไทยพึงเรียนรู้และถอดบทเรียนเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 1.สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเมืองในศตวรรษที่ 21 ภาพสะท้อนจากลาตินอเมริกา 2.ทฤษฎีขบวนการสังคมนิยมในศตวรรษที่ 21 3.การจัดระบบความสัมพันธ์ขององค์กรภาคประชาชนและความสำเร็จทางการเมือง 4.ความเสื่อมถอยจากการประนีประนอมเชิงนโยบายและการกลับเข้าสู่นโยบายสังคมสงเคราะห์เพื่อลดการปะทะทางการเมือง 5.บทสรุปและข้อเสนอต่อภาคประชาชนไทย

ที่มาภาพ: https://www.ishr.ch/news/human-rights-council-states-must-protect-civil-society-space

สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเมืองในศตวรรษที่ 21 ภาพสะท้อนจากลาตินอเมริกา

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การรับเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment Loans) อันเป็นเงื่อนไขของการปล่อยเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อันมีเงื่อนไขสำคัญหลายประการที่สอดรับกับแนวทางการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนการเงิน กลุ่มทุนข้ามชาติและการมุ่งเน้นลดบทบาทอำนาจรัฐในการดูแลชีวิตประชาชน ลักษณะสำคัญของ เงื่อนไขการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองประกอบด้วยลักษณะสำคัญเช่น  1.การรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด-อันมีความหมายว่ารัฐไม่พึงลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรและรายได้กลับมา สวัสดิการประชาชนคนส่วนมากถูกทำให้เป็นการรับผิดชอบส่วนตัว 2.การเปิดการค้าเสรีส่งเสริมเงื่อนไขการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น 3.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่งผลให้การบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชนมากขึ้น 4.การลดกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการแสวงหากำไรในกลไกตลาด ซึ่งรวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ถูกลดบทบาทและแทนที่ด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาแทน ระบบทั้งหมดนี้ถูกรับประกันด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำให้สิทธิสวัสดิการของประชาชนส่วนมากถูกถือครองโดยกลุ่มทุน เช่นเดียวกันกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อต่างๆ

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในลาตินอเมริกา ดัชนี Gini ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเท่าเทียมกันของสังคมเพิ่มสูงขึ้นแทบทุกประเทศ แสดงถึงความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มสูงขึ้น ระหว่างปี 1990-1999 ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผลสำรวจระบุว่าคนลาตินอเมริกาเพียงแค่ร้อยละ 37 พอใจกับระบอบประชาธิปไตยของตน ภายใต้เงื่อนไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และความไร้อำนาจทางการเมืองได้มีการก่อตัวของขบวนการฝ่ายซ้ายขึ้นมา ภายใต้คำขวัญการรณรงค์ของผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยมที่มีความหลากหลายมากกว่าชนชั้นแรงงานเดิม ไม่ว่าจะเป็น สิทธิของชนพื้นเมือง สิทธิแรงงาน สิทธิผู้หญิง สิทธิในที่ดินทำกิน รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา การตั้งคำถามเหล่านี้นำไปสู่การกลับมาของความนิยมในผู้นำฝ่ายซ้ายในอดีต ที่จางหายไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

การก่อตัวของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ข้ามชนชั้น นำไปสู่ลักษณะของพรรคการเมืองที่มีลักษณะแตกต่างจากพรรคการเมืองแนวมวลชนที่มีการจัดตั้งแบบเดิม ลักษณะนี้ได้สร้างให้เกิดพรรคการเมืองรูปแบบใหม่ที่ยึดโยงประเด็นหลากหลายทั้งผู้ที่อยู่ในส่วนกลางของระบบเศรษฐกิจ พื้นที่ชายขอบ นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ รวมถึงนักการเมืองในระบบเดิม ด้านหนึ่งอาจพิจารณาได้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่พิจารณาว่านักการเมืองฝ่ายซ้ายเป็นภัยคุกคามการสะสมทุนของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอีกต่อไป จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคลักษณะ “แนวร่วม” ภาคประชาชนเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่เริ่มเกิดขึ้นในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น การขยายตัวของกระแสนักวิชาการฝ่ายซ้าย หรือการเกิดขึ้นของสมัชชาสังคมต่างๆ อันปูทางสู่ชัยชนะการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 21 ในท้ายสุด โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายร่วมกับภาคประชาชนมีจุดยืนสำคัญว่าด้วยการโจมตีนโยบายเสรีนิยมใหม่ โดยเน้นการกระจายความมั่งคั่ง และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร

ที่มาภาพ: http://biendateao.com/heinz-dieterich-maduro-entrampado-en-stalingrado/

การจัดระบบความสัมพันธ์ ความสำเร็จ

ความสำเร็จของกลุ่มทางการเมืองฝ่ายซ้ายขยายเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศเรียกว่า  Pink Tide- “กระแสสีชมพู” อันเป็นภาพสะท้อนของการผลักดันแนวคิดสังคมประชาธิปไตย หรือแนวคิดแนวร่วมฝ่ายซ้าย กระแส Pink Tide นำโดย Hugo Chavez ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 1998  Lula Da Silva จากบราซิลซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2002-2003 และ Evo Morales จากโบลิเวียที่มีอิทธิพลในช่วงปี 2006  ซึ่งเป็นแนวร่วมที่สำคัญในระดับภูมิภาค

การทำงานภายในการขยายเครือข่ายและการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญในลาตินอเมริกา พรรคแรงงานของบราซิลจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองแบบ “สหภาพนิยม” ที่ผูกติดกับการต่อสู้ในสถานประกอบการเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มสู่การขยายแนวร่วมกับแรงงานนอกระบบมากขึ้น รวมถึงเกษตรกรไร้ที่ดิน ชนพื้นเมือง ที่กลายเป็นแนวร่วมการจัดสรรทรัพยากรทางการเมืองใหม่ เวเนซูเอลาพยายามที่จะเข้าควบคุมวิสาหกิจด้านการปิโตรเลียมที่ถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติและนำทรัพยากรนั้นมาจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ผู้ยากไร้ภายในประเทศ  ผลสำคัญที่ได้คือความเหลื่อมล้ำที่วัดจากดัชนี Gini ลดลงจาก 0.495 ในปี 1998 เหลือเพียง 0.39 ในปี 2011 เช่นเดียวกับอัตราการอ่านออกเขียนได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หัวใจสำคัญของความนิยมของ Chavez และความสำเร็จของขบวนการฝ่ายซ้ายมาจากการทำงานร่วมกับท้องถิ่น การกระจายทรัพยากรการผลิตสู่ “คอมมูน” ที่มีส่วนสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการ ปล่อยสินเชื่อ สร้างอาชีพ และทำให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสามารถเล็งผลได้ในทางปฏิบัติโดยท้าทายระบบราชการแบบเดิม และโครงการต่างๆก็ได้รับการตัดสินใจในระดับคอมมูนที่มีอิทธิพลมากโดยไม่ถูกควบคุมโดยวิธีคิดจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับ Morales ของโบลิเวียที่ใช้กลไกการประชามติในระดับชุมชนเพื่อกำหนดนโยบายที่มีความหลากหลาย โดยตัดตอนอำนาจรัฐส่วนกลางที่เคยครอบงำ

ดังนั้นลักษณะความสัมพันธ์ในการก่อตัวของขบวนการภาคประชาชนฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกาอาจสรุปได้เป็น

ขบวนการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน—องค์กรภาคประชาชน—การเมืองท้องถิ่น

↑↓

การเมืองระดับชาติ (เป็นเพียงพื้นที่การปฏิสัมพันธ์-ภาพสะท้อนอุดมการณ์เท่านั้น)

ทฤษฎีทางสังคม

ทฤษฎีทางสังคมที่มีผลต่อขบวนการฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกาได้รับอิทธิพลสำคัญจาก Heinze Dieterich ซึ่งได้พยายามสร้างพิมพ์เขียวของสังคมหลังทุนนิยมที่ขบวนการภาคประชาชนต้องไปให้ถึง

  1. เศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยยึดผ่านแนวคิดมูลค่าแรงงาน ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยในการกำหนดว่าผู้ที่สร้างมูลค่าควรได้ประโยชน์จากมูลค่านั้นแทนที่วิธีคิดแบบกลไกตลาด
  2. ประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่ การพยายามให้ผู้ยากไร้ส่วนใหญ่ของประเทศได้กำหนดประเด็นสำคัญและตอบคำถามต่อประเด็นสำคัญของสังคมแทนที่ เทคโนแครตหรืออภิสิทธิชนในสังคม
  3. ประชาธิปไตยพื้นฐานสำหรับในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมสำหรับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และยังเคารพเสียงส่วนน้อย
  4. พลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ รับผิดชอบต่อการกระทำอย่างเป็นเหตุเป็นผลและกำหนดชีวิตตัวเองได้

ลักษณะเช่นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องนำสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพผ่านการปฏิวัติระบบทุนนิยมที่จัดลำดับความสำคัญเสียใหม่

ที่มาภาพ: https://www.telesurtv.net/english/news/5-Latin-American-Campesino-Movements-You-Really-Need-to-Know-20160416-0042.html

ความเสื่อมถอย จากการประนีประนอมเชิงนโยบาย และอำนาจทางการเมืองที่ถอดถอย

แม้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจะสามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลฝ่ายซ้ายได้แต่เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้แนวรวมภาคประชาชนพบกับความเสื่อมถอยและไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถาวรได้สามารถพิจารณาผ่านเหตุปัจจัยดังนี้

  1. เงื่อนไขเศรษฐกิจแม้จะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับคนยากจนในประเทศ แต่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเลือกที่จะประนีประนอมกับโครงสร้างเสรีนิยมใหม่และยังคงปล่อยให้กลุ่มทุนข้ามชาติแสวงหากำไรได้ โครงการ Bolsa Familia หรือโครงการบัตรคนจนของประธานาธิบดี Lula แม้จะช่วยกลุ่มคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้ แต่การแสวงหากำไรจากมูลค่าส่วนเกินของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจไม่ได้ลดลง ความเหลื่อมล้ำมิได้หายไป ในทางตรงกันข้ามกลุ่มอภิสิทธิชนก็มองว่านโยบายข้างต้นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ชนชั้นตน และไม่มองเป็นสิ่งที่คนในสังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในเวเนซูเอลา และโบลิเวียเช่นเดียวกัน
  2. ประเด็นทางการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับอุดมการณ์และเป้าหมายที่มีความชัดเจน กลุ่มองค์กรการเคลื่อนไหวมุ่งเน้นเฉพาะประเด็นของตัวเองและทำตัว “ปลอดการเมือง” อันเป็นเงื่อนไขให้พรรคการเมืองปรับตัวเข้าสู่ลักษณะอำนาจนิยมเพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นพยายามทำให้ประเด็นของตนเอง บริสุทธิ์ และขาดการเชื่อมโยงกับประเด็นทางโครงสร้างอื่นๆ
  3. การใช้คำใหญ่ๆอย่าง ประชาธิปไตยทางตรงและการมีส่วนร่วม วางเงื่อนไขการปฏิสัมพันธ์ที่รูปแบบโดยละเลยอุดมการณ์และเนื้อหา จนภาพภายหลังเริ่มชัดเจนว่า “ประชาธิปไตย” แบบถอนรากอาจไม่ท้าทายเสรีนิยมใหม่ในตัวมันเอง ดังที่ Amataya Sen ตั้งข้อสังเกตว่า Morales เป็นเพียงแค่ชนพื้นเมืองที่รับใช้เสรีนิยมใหม่ด้วยภาษาของชนพื้นเมืองผ่านประชาธิปไตยทางตรงที่ไร้ความหมาย

บทสรุปและข้อเสนอแนะกรณีไทย

ประเทศไทยมีประสบการณ์หลายอย่างที่คล้ายกับลาตินอเมริกาอันรวมถึงเงื่อนไขทางสังคมด้วยวัฒนธรรมศาสนา จารีต อำนาจนอกระบบจากกองทัพ และชนชั้นกลางที่ไม่นิยมประชาธิปไตยนัก บทเรียนจากลาตินอเมริกาสำคัญที่สามารถปรับใช้ในเงื่อนไขไทยประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการเช่นกัน

  1. ไม่ประนีประนอมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ ต้องสร้างองค์กรทางการเมืองที่มีกลไกในการควบคุมลักษณะข้างต้น การสร้างความเสมอภาคในสังคมต้องมาจากการเฉลี่ยคนที่มั่งคั่งจากโครงสร้างลงมา มิใช่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการหารายได้ทางอื่นเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหา เพราะช่องว่างทางสังคมจะไม่ลด ภาคประชาชนไทยจำเป็นต้องก้าวหน้า และยืนยันจุดยืนการต่อต้านและตั้งคำถามต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยไม่ใช้ช่องทางชาตินิยม
  2. องค์กรภาคประชาชนต้องมีขบวนการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อต่อรองกับการเมืองระดับชาติ ต้องไม่ทำให้ประเด็นของตนกลายเป็นประเด็นเฉพาะที่ขาดการเชื่อมโยง เพราะเมื่อประเด็นของภาคประชาชนถูกทำให้เป็นเรื่องเฉพาะและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองย่อมไร้อำนาจต่อรองและเปิดช่องทางให้ถูกครอบงำโดยรัฐราชการ หรือคนที่มีบารมีอีกครั้งหนึ่ง
  3. ลดความสำคัญของบุคคล ให้ความสำคัญต่อรูปแบบควบคู่กับอุดมการณ์ ความคิดที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรที่มีจุดยืนใกล้เคียงกันในต่างประเทศและสุดท้าย คือการปักธงแนวคิดให้มีความก้าวหน้าที่สุด เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างจุดร่วมกัน ไมใช่การลดจุดยืนของตนเพื่อสร้างแนวร่วมที่ไร้พลังและอุดมการณ์

เอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง

Dieterich, H. (2018). Past, Present and Future of World Socialism. International Critical Thought, 8(1), 1-27.

Grugel, Jean, and Pia Riggirozzi. “New Directions in Welfare: Rights-based Social Policies in Post-neoliberal Latin America.” Third World Quarterly 39, no. 3 (2018): 527-43.

Gómez Bruera, Hernán F. “Securing Social Governability: Party-Movement Relationships in Lula’s Brazil *.” 47, no. 3 (2015): 567-93.

Iber, P. (2016). The Path to Democratic Socialism: Lessons from Latin America. Dissent, 63(2), 115-120.