ฟาสามัญ ep.11
การกดขี่ในระดับจิตสำนึก

สวัสดีครับเรามาพบกันกับฟาสามัญออนไลน์กันอีกครั้งหนึ่งนะครับ ในคลิปนี้เราจะมาพูดคุยถึงแนวคิดสำคัญอีกแนวคิดหนึ่งของการจัดกระบวนการกลุ่มก็คือแนวคิดเรื่องการกดขี่ในระดับจิตสำนึก

เราอาจจะเคยพบกับพฤติกรรมต่างๆ ของคนในกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายกันไป ซึ่งมันอาจจะมีคำอธิบายถึงพฤติกรรมต่างๆ ว่าอาจจะเกิดมาจากการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในวัยเด็ก ความเป็นเพศ ความเป็นวัฒนธรรมต่างๆ หลากหลาย

แต่ว่าแนวคิดเรื่องการกดขี่ในระดับจิตสำนึกเนี่ย มันเป็นการพยายามที่จะอธิบายพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ ว่ามันมีผลมาจากการกดขี่ของสถาบันต่างๆ ในสังคมของเรา จนกระทั่งมันฝังเข้าไปอยู่ในระดับจิตสำนึกของพวกเรา

ผู้มีอำนาจ เขาใช้สถาบันต่างๆ เพื่อผลิตซ้ำความเชื่อในสังคม เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการกดขี่ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ โง่จนเจ็บ ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน ไม่เลือกงานไม่ยากจน ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า แข่งเรือแข่งพายแข่งได้แข่งวาสนาแข่งไม่ได้ เราอยู่ในสังคมที่ผลิตซ้ำความเชื่อเหล่านี้ จนเราชื่อว่านี่คือเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามันมีปัญหาก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราเองนี่แหละที่ปรับตัวเข้ากับโลกไม่ได้

เรารับความเชื่อเหล่านั้นเข้ามา ไม่เพียงแต่ว่าจะเอามากดขี่ตัวเอง แต่ยังเอาไปใช้ในการกดขี่คนอื่น ผลิตซ้ำความคิดเหล่านี้ต่อเนื่องไปอีกด้วย

ในสภาวะเหล่านี้ เขาเรียกมันว่าการกดขี่ในระดับจิตสำนึก ในทางจิตวิทยา อาการแบบนี้เรียกว่า Internalised oppression  หมายถึงการที่เรารับทัศนคติที่มาจากสังคมที่กดขี่และไม่เท่าเทียมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา ของวิถีชีวิตของเราและค่านิยมของเรา 

การกดขี่ในระดับจิตสำนึก มันทำงานอยู่ภายในตัวของเรา ภายในตัวของผู้ถูกกดขี่ สั่งสมยาวนานผ่านสถาบันทางสังคม ผ่านประวัติศาสตร์และคนรอบตัวของเรา มันส่งผลให้ผู้ถูกกดขี่มีสภาวะที่ไม่พึงประสงค์อย่างน้อย 4 เรื่อง

เรื่องแรกเลยคือเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปกติ

คือผู้ถูกกดขี่จะยอมรับว่าตัวเองควรจะอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบหรือว่าไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรม การเรียกร้องความเท่าเทียมเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปแล้วก็ไม่ยุติธรรมกับคนอื่นสังคมเสียด้วยซ้ำ 

เมื่อเราเชื่อว่าระบบที่ไม่เท่าเทียมแบบนี้นะครับเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่มันอยู่มานานแล้ว เราก็อยู่กันมาได้อยู่กันมาแบบนี้ แค่นี้ก็ดีแล้ว มันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราก็จะไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม แล้วก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เป็นเรื่องที่สร้างความวุ่นวาย แล้วก็อาจจะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นอีก

หนักไปกว่านั้น เราก็จะเป็นผู้รักษาระบบนี้ไว้แบบด้วยซ้ำ เช่น การโหยหาผู้นำที่ดี การลงโทษอย่างเด็ดขาดจากผู้กดขี่เพื่อให้สังคมสงบสุข การไปขัดขวางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคม

อันที่ 2 คือการเชื่อว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีคุณค่ามากพอจะได้รับสิ่งดีๆ ไม่มีคุณค่ามากพอที่จะได้รับความยุติธรรมใดๆ แล้วก็คนอื่นๆ ที่เขาได้รับสิ่งเหล่านี้เพราะว่าเขามีคุณค่าพอ เขาเก่งกว่า เขารวยกว่า เขาอยู่ในชาติตระกูลที่ดีกว่า เขาอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า เป็นต้น 

ถ้ารู้สึกว่าเป็นทุกข์มากๆ บางทีคนที่ชื่อว่าตัวเองไม่ดีพอก็จะพยายามที่จะไปแสวงหาการปลดทุกข์ส่วนตัว เช่น ไปนั่งสมาธิ การไปเข้าหาศาสนาแบบหนีความจริง หวังโลกน่าหวังอนาคต เพราะว่ามันสิ้นหวังกับปัจจุบันไปเสียแล้ว ไปทำบุญ ไปเยียวยาบำบัดจิตใจส่วนตัว ไปท่องเที่ยว ไปเสพยา หรือว่าเข้าร่วมกลุ่มตามความเชื่อที่ช่วยปลอบใจของตัวเองได้

อันที่ 3 ก็คือเราเชื่อว่าผู้กดขี่เราเนี่ยมีความเป็นมนุษย์ที่มากกว่า ก็คือกลายเป็นว่าเราเนี่ยมองผู้กดขี่เราเป็นต้นแบบ อ๋อ คนแบบนี้แหละที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่า ดีกว่า แล้วเราควรที่จะพัฒนาตัวเองเป็นแบบเขา เพื่อที่ว่าเราจะได้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ดังนั้นเราจึงไปเลียนแบบผู้กดขี่ โดยทำตัวเป็นผู้กดขี่เสียเอง เพราะว่าเราคิดไปว่าการทำเช่นนั้นมันทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากกว่า เช่น ใช้อำนาจเหนือกว่าคนที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือกลับกันก็คือ การเป็นผู้ที่โอบอ้อมอารีย์ ทำบุญบริจาคข้าวของ มีความเมตตา สั่งสอนปกป้องดูแล โดยที่บางทีเนี่ยก็ไม่ได้ฟังว่าคนอื่นเขาต้องการอะไรแบบนี้จริงหรือเปล่า หรือว่าไม่ได้มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงตัวระบบให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น หรือหนักไปกว่านั้น เราก็อาจจะไปแสวงหาความวิเศษส่วนตัว ให้รู้สึกตัวเองเนี่ยเหนือกว่าคนอื่น เช่น หาประกาศนียบัตรใบรับรองเยอะๆ ไปเรียนรู้วิชาลึกลับต่างๆ หายศฐาบรรดาศักดิ์ หรือว่าวัตถุสิ่งของพิเศษต่างๆ นานา

อันที่ 4 ก็คือการจ้องโจมตีกันเอง เราจะพบว่าผู้ถูกกดขี่จำนวนมากมักจะนินทากันเอง ต่อว่ากันเอง ดูถูกกันเองอยู่เสมอ เพราะว่าเมื่อเราถูกทำลายความมั่นใจในตัวเองไปแล้ว เราก็จะแสวงหาความมั่นใจแบบอื่นๆ นะครับ ในทางหนึ่งของเราก็คือทำให้รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น การจ้องโจมตีกันเองในระหว่างกลุ่มในระหว่างผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเอง ทำให้เราไม่สามารถที่จะสร้างพันธมิตรในการต่อสู้ขึ้นมาได้ มันจะเป็นการทะเลาะกันเอง มันจะเป็นการทะเลาะกันระหว่างกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการจะเป็นการซุบซืบนินทา จำผิด ดูถูกสติปัญญาของกันและกัน แย่งพื้นที่ทำงานกัน บอกว่าฉันทำได้ดีกว่า แกเนี่ยทำแย่ มองหาจุดผิดของเขา แบ่งพรรคแบ่งพวก ดูถูก แปะป้าย ต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่ผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเอง

นอกจากนั้นการสูญเสียความมั่นใจในตัวของเราเนี่ยนะครับ มันนำไปสู่การไประบายกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเรา ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันเอง เกิดการแบ่งแยกกันและกัน

จะเห็นว่าการกดขี่ในระดับจิตสำนึก มันก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทั้งในตัวกระบวนการกลุ่ม เวลาที่เราทำจัดฝึกอบรม หรือในกระบวนการทำงาน ฟาเองจะต้องทำคงามเข้าใจในเรื่องนี้ ว่าจริงๆ แล้วบางทีมันไม่ใช่แต่เรื่องไม่ใช่แค่นิสัยส่วนบุคคลที่มันแย่เท่านั้น ต้องมองลึกไปกว่านั้นว่านี่มันคือผลมาจากโครงสร้างที่มันกดขี่ ฝังเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของเรา

ก่อนจะจบคลิปนี้ผมก็อยากจะชวนให้พวกเราลองใช้เวลาทบทวนตนเองดูนะครับว่า เราเคยเผชิญกับการกดขี่ในระดับจิตสำนึกตรงไหนบ้าง แล้วตอนนี้เรารู้สึกยังไงบ้างกับตัวเอง เรารู้สึกว่าเราไม่ดีพอ? ไม่มีคุณค่า? ไม่คู่ควรกับบางสิ่งบางอย่างอะไรหรือเปล่า? ทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น? แล้วตอนนี้เนี่ยอะไรที่มันทำงานกับเราอยู่นะครับ อาจจะเป็นคำพูดของครู คำพูดของครอบครัว คำพูดของคนรอบข้างที่กระทำกับเราหรือว่าเป็นสิ่งที่มันอยู่ในสื่อมวลชน ในหนังสือ อะไรต่างๆ นะครับ เราลองสำรวจดูว่ามันทำงานอะไรกับเราในตอนนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มองเห็นเรื่องการกดขี่ในระดับจิตสำนึก แล้วก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วก็จัดกระบวนการการเรียนรู้ จัดกระบวนการการประชุมที่ส่งเสริมให้แต่ละคนเนี่ยสามารถที่จะออกจากการกดขี่ในระดับจิตสำนึกต่อไปได้