ฟาสามัญ ep.4
การเสริมสร้างพลังอำนาจ

ในเรื่องของแนวคิดเรื่องการเสริมสร้างพลังอำนาจ เป็นแนวคิดที่ 3 ของฟาสามัญหลังจากที่เราได้คุยกันแล้วเรื่องวงจรการเรียนรู้การศึกษาของประชาชน แล้วก็แนวคิดเรื่องทฤษฎีการสนทนากับพื้นที่ปลอดภัย 

ในคลิปที่ 4 นี้เราก็จะมาคุยกันเรื่องแนวคิดของการเสริมสร้างพลังอำนาจกัน เวลาเราพูดถึงการเสริมสร้างพลังอำนาจ การ Empower บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันคือการอบรม มันคือการเติมความรู้ เสริมทักษะ ให้ทรัพยากร ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าหลายครั้งเราก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเราเรียนรู้มาตั้งเยอะ ไปเข้ามาตั้งหลายคอร์ส ไปอบรมผู้นำ ไปอบรมการฟัง ไปอบรมการวิเคราะห์คน อบรมอย่างลึกซึ้งอะไรต่างๆ นานามากมาย แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะใช้ความรู้เหล่านั้นออกมาได้ ก็ยังอาจจะรู้สึกว่าเราไม่รู้อะไรมากพอ และยังไม่กล้าที่จะพูดอะไรออกมา ไม่กล้าที่จะกระทำการอะไรออกมากับสังคม กับโลก

หรือว่าแม้แต่บางคนที่อาจจะรู้หรือว่าการเสริมสร้างพลังอำนาจมันคือการชื่นชมให้กำลังใจกัน หรือว่าการมอบทรัพยากร มอบความรักความอบอุ่นอะไรต่างๆ ให้กัน แต่ว่าจะกลับกลายเป็นว่าเรายิ่งมอบให้ เรายิ่งรับเข้ามา เรากลับรู้สึกแย่ลงทุกที ในขณะที่บางคนเนี่ยกลับไปในทางตรงกันข้าม ก็คือยิ่งรู้มาก อ่านมาก มีความรู้มาก แต่กลับนำเอาความรู้นั้นมาข่มคนอื่น มาทำให้รู้สึกตัวเองดีตัวเอง เติมเต็มด้วยการไปข่มคนอื่น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การเสริมสร้างพลังอำนาจ ถ้าอย่างงั้นการเสริมสร้างพลังอำนาจคืออะไร

การเสริมสร้างพลังอำนาจคืออะไร

ในฟาสามัญของเรา การเสริมสร้างพลังอำนาจก็ต้องเชื่อมโยงกันกับเรื่องโครงสร้างของการกดขี่ การเสริมสร้างพลังอำนาจจึงต้องมีเป้าหมาย เพื่อที่จะให้เราสามารถท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่มีการกดขี่กันและกัน ที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่เอง ภายใต้โครงสร้างที่กดขี่ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้ การเสริมสร้างพลังอำนาจของเราจึงต้องพยายามที่จะท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจเหล่านี้ และทำให้แต่ละคนมีพลังอำนาจที่จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาใหม่ ที่จะนำไปสู่โครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ ที่มุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ ที่มุ่งสู่ความเท่าเทียม

4 มิติของการเสริมพลังอำนาจ

ในฟาสามัญของเรานะครับ เราจะให้ความหมายของการเสริมพลังอำนาจใน 4 มิติ 

การนิยามตัวเอง

มิติแรก ก็คือมิติของการนิยามตัวเอง การรู้จักตัวเอง การบอกว่าเราคือใคร กำลังประสบปัญหาอะไร และเราต้องการอะไร 

การตัดสินใจ

ในมิติที่ 2 เราจะพูดถึงพลังอำนาจในการตัดสินใจ การตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง การตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร 

การดำเนินงาน

ในมิติที่ 3 เราจะพูดถึงเรื่องพลังอำนาจในการดำเนินงาน การทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ การประสานงานกับคนอื่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น เราสามารถที่จะกำหนดบทบาทของตัวเองได้ สามารถที่จะติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ เพื่อให้งานสำเร็จ 

การประเมินผล

และในมิติสุดท้ายก็คือการประเมินผลด้วยตัวเอง เราไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี สิ่งนั้นควรจะทำ สิ่งนั้นไม่ควรจะทำ แต่เราพูดถึงเรื่องการประเมินผลด้วยตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้พัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต

การเสริมพลังอำนาจ 3 ระดับ

การเสริมพลังอำนาจ เราก็จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับบุคคล ระดับกลุ่มองค์กร และระดับของขบวนการ

ระดับบุคคล – คืนอำนาจในการนิยามตัวตน

ในชั้นนี้เราจะมาคืนอำนาจ คืนความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ทั้งตัวเรา ทั้งคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น จากเดิม สังคมอาจจะนิยามเราจากมุมมองของผู้กดขี่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ อาจจะถูกมองว่าเป็นชาวเขา ล้าหลัง ด้อยพัฒนา เป็นคนสลัม ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นแหล่งก่ออาชญากรรม เป็นแหล่งที่เสื่อมโทรมในสังคม เป็นคนรักเพศเดียวกัน ก็จะถูกมองเป็นคนที่ผิดปกติทางเพศ ผิดปกติทางจิตวิทยา หรือว่าเป็นคนอ้วน เป็นคนตัวดำ เป็นคนหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานสังคม ต่างๆ เหล่านี้นะครับ เราจะถูกมองว่าเป็นอัตลักษณ์ที่ด้อยกว่าอัตลักษณ์แบบอื่น ถูกมองในมุมของศีลธรรมต่างๆ อาจจะเป็นแบบเป็นคนบาปที่ไปทำแท้ง อาจจะเป็นคนที่ไม่เคารพ ไม่สัมมาคารวะผู้ใหญ่ เป็นแค่เด็ก เมื่อเรามาเรียนรู้เรื่องกระบวนการที่เราจะนิยามตัวเอง เราก็จะมาสำรวจอัตลักษณ์ของตัวเองใหม่ ให้นิยามอัตลักษณ์ของตัวเองใหม่ กลับมาสู่ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเราเป็น เรามองกลับไปที่ตัวเองหรืออัตลักษณ์ของกลุ่มเรา เพื่อที่จะบอกว่าฉันเป็นอย่างนี้ ฉันคือผู้นิยามว่าตัวฉันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่คนอื่นมานิยามให้  เพื่อนำความรู้สึกที่เราได้เป็นผู้กระทำการต่อสังคมต่อโลก กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

หรือแม้แต่การนิยามในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจทางสังคมแบบอื่น ยกตัวอย่างเช่น คนที่บ้านโดนโครงการพัฒนาของรัฐเข้าไป อาจจะมองว่าฉันเป็นเหยื่อของการพัฒนา ฉันเป็นคนจนที่ด้อยโอกาส ถูกทำร้ายจากรัฐ ถูกทำร้ายจากสังคม ถูกทำร้ายจากพ่อค้าคนกลาง เป็นคนที่น่าสงสาร เป็นผู้ด้อยโอกาส เป็นคนที่ทุกข์ยากลำบาก ถูกแย่งชิงที่ดินถูกแย่งชิงน้ำ ถูกแย่งชิงทรัพยากร อย่างนี้เป็นต้น 

แต่จริงๆ แล้วหลายครั้งก็มีคนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเสริมสร้างพลังอำนาจตัวเอง แล้วก็ลุกขึ้นมาบอกว่าฉันไม่ใช่เหยื่อ แต่ฉันเป็นนักสู้

ถึงแม้ว่าจะถูกจับขังคุกจากการที่ไปละเมิดกฎหมายที่ผู้กดขี่เป็นผู้ถือ ก็อาจจะไม่ได้นิยามตนเองว่าตัวเองเป็นนักโทษหรือว่าเป็นเหยื่อ แต่นิยามตัวเองว่า ที่ฉันถูกจับเหล่านี้มันเป็นเพราะว่าฉันลุกขึ้นมาสู้ ฉันเป็นนักสู้ต่างหาก 

การนิยามตัวเองเหล่านี้ มันจะไปเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น คือแทนที่เราจะมองว่าตัวเองควรที่จะถูกช่วยเหลือ ถูกสงเคราะห์ เราก็จะมองตัวเองในฐานะที่เป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้กระทำการ ดังนั้น เราจะมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันกับคนอื่นๆ ในการที่จะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่เท่าเทียม สังคมที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถูกสงสาร ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการดูแล เพียงเท่านั้น

หรือว่าในแง่มุมทางจิตวิทยา ที่สังคมอาจจะมาคอยบอกเราว่าผู้ชายควรจะเป็นคนนิสัยอย่างนี้ เป็นผู้นำ เป็นคนที่คิดเป็นระบบ ทะเยอทะยานไปข้างหน้า มีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นผู้หญิงจะต้องสุภาพเรียบร้อย มีมารยาท เป็นคนอ่อนโยนอบอุ่น ยอมตาม หรือว่าในแง่อื่นๆ แต่จริงๆ แล้วเราสามารถนิยามตัวเองแบบอื่นได้ในแง่จิตวิทยา ในแง่นิสัย ในแง่ความถนัดของเรา อาจจะผ่านการเรียนรู้ สัตว์ 4 ทิศ เป็นกระทิง – เหยี่ยว – หนู – หมี หรือว่าผ่านนพลักษณ์ที่เราพยายามที่จะรู้แรงจูงใจ เรียนรู้ความกลัว เรียนรู้กิเลสของตัวเอง หรือว่ามองผ่านทฤษฎี MBTI ที่แบ่งคนตามความถนัด 16 ประเภท อะไรอย่างนี้เป็นต้น 

สิ่งเหล่านี้เป็นการพยายามที่จะบอกว่ามนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความเป็นตัวของตัวเองในแง่มุมต่างๆ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นคนทำอาชีพนั้น คนทำอาชีพนี้ เป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก ต่างก็มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความเป็นตัวของตัวเอง 

ทฤษฎีเหล่านี้อาจจะมาช่วยเราให้ทำความรู้จักตัวเองได้ และสามารถที่จะพัฒนาตัวเองตามแบบที่ตัวเองเลือก ตามแบบที่ตัวเองเป็นได้ โดยไม่ต้องไปทำตามมาตรฐานของสังคมที่พยายามบอกให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการคืนอำนาจในการพัฒนาตนเองกลับมา

การจัดการตัวเอง

ในแง่ของการจัดการเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ตอนนี้ ในสังคมที่กดขี่ มันพยายามที่จะมาบอกว่าเนื้อตัวร่างกายของเราเนี่ยจัดการเองไม่ได้ จะต้องผ่านมือของผู้เชี่ยวชาญ ผ่านมือของคนที่มีค่านิยมตามมาตรฐานของสังคม เราควรจะอ้วน เราควรจะผอม ควรจะสูง-ควรจะมีน้ำหนักเท่าไหร่ โดยที่หลายครั้งก็ยังไม่ได้มีหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักการวิชาการรองรับ เราต้องคอยวิ่งตามค่านิยมของสังคมอยู่เสมอ ในขณะที่เรื่องการจัดการสุขภาพภายในของตัวเราเอง เราก็ถูกหมอบ้าง ถูกบริษัทอาหารเสริมบ้าง ถูกใครก็ไม่รู้เยอะแยะมากมายในชีวิตของเรา ที่จะมาบอกว่าเราควรจะมีสุขภาพแบบนั้นแบบนี้ ควรมีรูปร่างแบบนั้นแบบนี้ การคืนกลับมาที่การจัดการเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง จึงเป็นการเสริมพลังอำนาจแบบหนึ่ง การที่เรากลับไปเรียนรู้การเคลื่อนไหวของตัวเอง อาจจะผ่านการออกกำลังกายที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เป็นการว่ายน้ำ เป็นการฝึกโยคะ ไท่จี๋ ศิลปะป้องกันตัว หรือว่าการนวด การเรียนรู้การใช้สมุนไพร การเรียนรู้การรักษาตัวเองเบื้องต้น การเรียนรู้การประเมินสุขภาพของตัวเองต่างๆ เหล่านี้ มันคือการพยายามกลับมาที่จะจัดการเนื้อตัวร่างกายของเราเอง แทนที่จะให้ใครมาบอกว่าแกอยากกินหวานมากเกินไป แกอย่าไปสูบบุหรี่ แกอย่าไปกินเหล้า แกอย่าไปกินนั่นอย่าไปกินนี่ ซึ่งบางทีเนี่ยก็อาจจะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งสำคัญมันไม่ใช่การบอกว่าอะไรดีหรืออะไรไม่ดีโดยคนอื่น มันต้องกลับมาสู่ที่ว่าเราจะจัดการควบคุมเนื้อตัวชีวิตร่างกายของเรายังไงตะหาก ดังนั้น กระบวนการหวังดีจากภายนอก อาจจะนำไปสู่การลดทอนพลังอำนาจของเราเองด้วยซ้ำ การจัดการเนื้อตัวร่างกายจึงเป็นการคืนความเป็นมนุษย์ คืนพลังอำนาจของเรากลับมา

ในโลกที่มีสิ่งเร้าจำนวนมากผ่านโทรศัพท์ ผ่านสื่อต่างๆ เรามีสิ่งเร้าที่ทำให้เรารู้สึกหวั่นไหวไปกับเรื่องราวต่างๆ เยอะแยะมากมายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสนุก ความอยาก ความต้องการในสิ่งต่างๆ หรือความเกลียดชัง ความโกรธ ความหดหู่ รวมทั้ง ทุกวันนี้มันก็มีศาสตร์ของการทำให้คนรัก มีศาสตร์ของการทำให้คนเกลียดชังสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้กระทำการเหล่านั้นต้องการ 

การคืนกลับมาเสริมพลังอำนาจตัวเองในการทำความเข้าใจความรู้สึก/อารมณ์ของตัวเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ การกลับมาสำรวจจิตใจของตัวเอง การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการไปฝึกสมาธิ ฝึกสติ ฝึกการสำรวจจิตใจของตัวเองตามแนวทางต่างๆ เช่น ทางจิตวิทยาอาจจะไปเรียนรู้เรื่องซาเทียร์ เรื่องการวิเคราะห์ตัวเองตามแบบต่างๆ ในเรื่องของรู้จักอารมณ์และจิตใจของตัวเอง หรือว่าแม้แต่การไปเรียนรู้เรื่องการคิดเชิงระบบ (System Thinking) การเรียนรู้ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ทั้งหลาย เพื่อทำให้เราสามารถที่จะทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ทั้ง 2 อย่างนี้มาด้วยกัน เพื่อที่จะให้เราคืนอำนาจของเรา ที่จะมาจัดการกับตัวความคิด-ความรู้สึกของตัวเราเอง ว่าจริงๆ แล้ว มันมาจากไหนกันแน่ มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกข้างนอกจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกหรือว่าความคิดของเรา

ทั้งหมดเหล่านี้ ก็จะเป็นกระบวนการที่คืนพลังอำนาจของชีวิตเรากลับมา เป็นการ Empower หรือว่าการเสริมสร้างพลังอำนาจในระดับบุคคล 

จะเห็นได้ว่ามันคล้ายกับการเรียนรู้ทั่วๆ ไป แต่ว่าโดยการเรียนรู้ทั่วไปถ้าหากว่าไม่ได้มีเป้าหมายไปที่การคืนพลังอำนาจเพื่อไปท้าทายความสัมพันธ์อำนาจแบบเดิม หรือเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน สังคมที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ การเรียนรู้ต่างๆ เหล่านั้นอาจจะเป็นไปเพียงเพื่อการให้เรารู้สึกว่าเรารู้มากกว่า สูงส่งกว่า ลึกซึ้งกว่า ยิ่งใหญ่กว่า รวยกว่า ฉลาดกว่าเท่านั้น ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันไม่มีที่สิ้นสุด มันเพียงแค่ขั้นกว่า ซึ่งก็จะมีขั้นกว่าให้กับเราอีกมากมายภายใต้สังคมที่มีโครงสร้างของการกดขี่ทุกวันนี้ ดังนั้น การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าหากว่าเรามองในมุมมองใหม่ เราจะเปลี่ยนมันเพื่อการเรียนรู้ที่มุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม และปราศจากการกดขี่ เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น

ระดับกลุ่ม

การที่เรามาอยู่รวมกัน การมาอยู่ที่เดียวกันหลายๆ คน มันไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเป้าหมายเดียวกัน เราอาจจะแค่บังเอิญมาอยู่ด้วยกัน หรือว่าเราอาจจะแค่มารวมกลุ่มกันภายใต้เป้าหมายที่ผู้กดขี่สร้างให้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาแสดงความรัก การออกมาทำพิธีกรรมต่างๆ มารวมกันตามเป้าหมายของผู้หลักผู้ใหญ่ เหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้แปลว่าเราเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจ 

การเสริมพลังอำนาจระดับในกลุ่มมันก็มี 4 มิติเหมือนเดิมนะครับ คือในเรื่องของการนิยามตัวเอง การตัดสินใจ การดำเนินงาน และ การประเมินผลและการเรียนรู้ ในมิตินี้ ในระดับกลุ่มก็มีเช่นกัน เพียงแต่ว่าระดับกลุ่ม มันก็จะต้องอาศัยทักษะความรู้ต่างๆ ที่มันต่างไปจากในระดับบุคคล 

ในลำดับแรกของการเสริมพลังอำนาจระดับกลุ่ม เราจำเป็นที่จะต้องมีทักษะการฟัง ทักษะการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการฟังในมิติต่างๆ การจับประเด็น การพูดความต้องการ การพูดเป้าหมายที่เป็นประเด็น การสะท้อนความรู้สึก การสะท้อนความคิดเห็นของกันและกัน 

ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการสื่อสารในระหว่างบุคคลต่อบุคคลในกลุ่มของเรา เพื่อที่จะนำไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกัน อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่การเสริมสร้างพลังอำนาจระดับกลุ่มจำเป็นต้องมี ก็คือการเสริมสร้างให้เกิดการร่วมกันนิยามความหมายของตัวเอง รู้จักว่าเราเป็นใคร รู้จักว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นอะไร แล้วก็นำมาสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกัน ว่าเราจะต้องทำอะไรต่อไป เราต้องการที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อไป ที่จะเป็นเรื่องของการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่มันเป็นการกดขี่ แล้วก็นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ที่เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มันเท่าเทียมและเสริมสร้างความเป็นมนุษย์

นอกจากนั้น เราจะต้องพัฒนากระบวนการตัดสินใจของเรา เราจะต้องทำความเข้าใจถึงอำนาจในการตัดสินใจ อำนาจที่เราสัมพันธ์กันและกัน อาจจะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจสถานะอย่าง Rank ทฤษฎีของอาร์โนลด์ มินเดล ทฤษฎีเรื่องจิตวิทยากระบวนการ หรือทำความเข้าใจเรื่องอำนาจ 3 แบบของสตาร์ฮอว์ก เช่น อำนาจเหนือ อำนาจร่วม และอำนาจภายใน เพื่อให้ เราเข้าใจกระบวนการทางอำนาจที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เกิดจากอำนาจร่วม เกิดการตัดสินใจที่มันมาจากความต้องการของแต่ละคนขึ้นมาจริงๆ แล้วก็นำไปสู่การคิดและรับผิดชอบร่วมกัน เราก็จะต้องมีการเสริมสร้างพลังอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน เราอาจจะต้องมาเรียนรู้เรื่องทฤษฎีอำนาจเหนือ อำนาจร่วม อำนาจภายใน ของสตาร์ฮอว์ก เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง Rank หรือว่าสถานะทางสังคมว่ามันมีผลต่อความสัมพันธ์ของกันและกันยังไง เราอาจจะต้องมาเรียนรู้เรื่องการแสวงหาฉันทามติ ว่ากระบวนการตัดสินใจมันมีได้กี่แบบ และทำยังไงมันถึงจะเป็นกระบวนการการตัดสินใจที่ทุกๆ คนเห็นพ้องต้องกัน  ที่มันเกิดมาจากภายในของแต่ละคนที่ก่อให้เกิดกลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มร่วมกัน จะมีกระบวนการตัดสินใจหลายๆ แบบที่มันเสริมสร้างพลังอำนาจของคนในกลุ่มร่วมกัน

ในระดับกลุ่ม เราก็จะต้องมีการจัดการภาวะการนำของคนในกลุ่มด้วย เราจะผลัดกันนำผลัดกันตามยังไง เราจะแบ่งบทบาทและเห็นคุณค่าของกันและกันในแต่ละบทบาทได้อย่างไร เราจะดำเนินการ เราจะทำงานร่วมกันโดยไม่ใช่การสั่งการได้ยังไง ในที่นี้ เราจะต้องเรียนรู้เรื่องการเป็นฟาฯ คือการอำนวยความสะดวกให้แก่กันและกัน หรือว่าเราอาจจะเรียนรู้เรื่องกระบวนการการตั้งเป้าหมายแบบเน้นผลสัมฤทธิ์ เรียนรู้การตั้งเป้าหมายแบบ OKR ให้มองเห็นเป้าหมายที่เป็นรูปประธรรมของกันและกัน เพื่อที่จะได้มาช่วยกันสนับสนุนกันและกันได้อย่างชัดเจน สะท้อนกันและกันได้อย่างชัดเจน และรู้บทบาทของกันและกันได้

มีกระบวนการประเมินผลเพื่อทบทวนการทำงาน ไม่ใช่เพื่อการตัดสินกันและกันว่าแกดีแกแย่อะไร แต่ว่ามันคือการเทียบกับการทำงานว่า เราตั้งเป้าหมายไว้อย่างนี้ แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออะไร เราทำอะไรลงไปบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็ให้มีการสะท้อนกัน ประเมินกัน ทั้งตัวเองประเมินตัวเอง ทั้งจากตัวเราไปช่วยเพื่อน ทั้งจากเพื่อนมาช่วยประเมินเรา แล้วก็นำไปสู่การประเมินภาพรวมใหญ่ของกลุ่ม เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน มันเป็นการสร้างความรู้กลุ่มขึ้นมา มันเป็นการสร้างกระบวนการที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกันขึ้นมา ไม่ใช่เกิดมาจากเพียงทฤษฎีจากข้างนอกเท่านั้น แต่ว่ากลุ่มเนี่ยสามารถสร้างความรู้ของกลุ่มขึ้นมาได้เองด้วย มันคือการสร้างกลุ่มที่มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ทำงานร่วมกัน ไม่ได้มุ่งเอาชนะกัน ไม่ได้มุ่งรุกรานครอบงำกันและกัน แต่มุ่งที่จะทำให้แต่ละคนเนี่ยเติบโตเกื้อหนุนกันและกัน มันเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย มันเป็นการสร้างพื้นที่การสนทนาที่เราได้เรียนรู้กันในคลิปก่อนนั่นเอง

คนที่ได้ผ่านกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจในระดับกลุ่มจะมองเห็นพลังอำนาจของตัวเอง ในการสัมพันธ์กับคนอื่น รับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองต่อผู้อื่น รับรู้ถึงพลังของการทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายที่ว่านั้นก็เป็นเป้าหมายที่มันเกิดจากการค้นคิดร่วมกัน การตัดสินใจร่วมกันด้วย แล้วก็สามารถที่จะรับรู้มุมมองของโลกผ่านมุมมองของคนอื่นได้ด้วย ไม่เพียงแต่ก็ทั่วโลกในมุมมองของตัวเองเท่านั้น มันมากไปกว่าที่ตัวเองเคยมอง 

ดังนั้น การเสริมสร้างพลังอำนาจของกลุ่มจึงไม่ใช่แค่การทำกลุ่มให้เข้มแข็งอย่างเดียว ทำให้กลุ่มรักกัน ทำให้กลุ่มสามัคคีกัน ไม่ใช่แค่นั้น แต่ว่ามันเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติการของการสร้างพื้นที่สนทนาหรือว่าพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา มันคือการเอาตัวทฤษฎีการสนทนานำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจต่อสู้กับการกดขี่ทั้งหลาย ต่อสู้กับการกดขี่ที่หลงเหลืออยู่ในตัวเรา ที่อาจจะเผลอไผลไปกดขี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว การต่อสู้กับการกดขี่ที่อยู่ในคนอื่น ที่เราจะต้องสะท้อนให้คนอื่นได้เห็นว่ามันมีการกดขี่กันในระดับจิตใต้สำนึกอยู่ และสุดท้ายมันก็จะนำไปสู่การที่กลุ่มจะลุกขึ้นไปสู้กับการกดขี่ที่มันอยู่ในสังคม

เราก็จะเอากลุ่มเรานี้ไปท้าทายกับความสัมพันธ์อำนาจที่มันก็กดขี่ในสังคมต่อไป

ระดับขบวนการ

เราก็มาถึงการเสริมสร้างพลังอำนาจในระดับที่ 3 นะครับคือในระดับของขบวนการ หรือว่าในระดับตัวเราในสังคม ในระดับที่มันใหญ่ขึ้น คือเรามักจะรู้สึกไร้อำนาจเวลาที่เราจะต้องต่อกรกับโครงสร้างทางสังคมที่มันกดขี่ เราอาจจะรู้สึกว่าเราสู้กับเพื่อนได้ สู้กับคนที่อยู่ใกล้ตัวเราได้ สู้กับเจ้านาย สู้กับคนในองค์กร-ผู้นำที่อยู่ใกล้ตัวเราได้ แต่เวลาเราจินตนาการถึงโครงสร้างที่กดขี่ขนาดใหญ่ อาจจะเป็นตัวสถาบันต่างๆ อาจจะเป็นรัฐบาล อาจจะเป็นระบบราชการ ระบบศีลธรรม ระบบความเชื่อต่างๆ เราอาจจะรู้สึกว่า โอ้โห..มันเป็นเรื่องที่มันใหญ่โตมากๆ มันยากๆ มากๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงมัน ก็คือเราไม่รู้สึกตระหนักถึงพลังอำนาจที่เรามี โครงสร้างที่กดขี่ มันถักทอมาจากสิ่งเหล่านี้ล่ะครับ มาจากตัวสถาบันต่างๆ จากกฎหมาย จากนโยบาย จากกลุ่มคน จากความเชื่อ จากวัฒนธรรม จากประเพณี จากความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ที่มันมีอยู่ในสังคม สิ่งที่เราจะต้องทำ มันก็คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจเหล่านี้ในสังคมขนาดใหญ่ 

เราสามารถที่จะสร้างพลังอำนาจในระดับสังคมของเรานี้นะครับ ผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมต่างๆ ผ่านการพยายามที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการรณรงค์โน้มน้าว การแทรกแซง การประท้วง การกดดัน การเปิดโปง การขัดขวาง หรือสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับที่มันใหญ่โตขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นตัวเราในฐานะของผู้กระทำการต่อสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่ถูกกระทำการจากสังคม จากโลกเท่านั้น การเคลื่อนไหวการต่อสู้ในที่นี้นะครับ ไม่ได้เป็นการมุ่งเพียงแต่การเอาชนะในประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการเท่านั้นนะครับ แต่ว่าจริงๆ แล้ว  การเคลื่อนไหวต่อสู้ไม่ว่ามันจะชนะหรือมันจะแพ้ หรือว่ามันจะยาวนาน หรือว่าจะสั้น จริงๆ มันคือการสร้างพื้นที่การสนทนาขึ้นมาในสังคม มันจะพยายามที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย การพูดคุยกัน การนิยามตัวเองใหม่ การนิยามประเด็นปัญหา การสร้างฉันทามติ การตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันจะเกิดขึ้นในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ การเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม มันจะทำให้เราเห็นว่า เรามีพลังอำนาจของตนเองในการที่จะท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับสถาบัน หรือว่าในระดับของความเชื่อในสังคมได้ 

การเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม มันคือการเสริมสร้างพลังอำนาจของเราในฐานะผู้กระทำการทางสังคมด้วย เราอาจจะทำคนเดียวไม่ได้ อาจจะต้องไปร่วมกับคนอื่นอีกจำนวนมากมายมหาศาลในสังคมที่จะมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าการเข้าร่วมเหล่านี้ มันจะค่อยๆ ทำให้เราเห็นว่า ที่จริงๆ แล้ว เราเป็นผู้กระทำการได้ เราไม่ได้เป็นเพียงผู้ถูกกระทำจากสังคมเท่านั้น เราอาจจะสร้างกลุ่มการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของตัวเองขึ้นมาก็ได้ เป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่อาจจะเป็นชุมชนรอบข้างของเรา ชุมชนของตัวเราเอง หรือใหญ่ไปกว่านั้น เราอาจจะไปร่วมมือกับคนอื่นๆ อีกจำนวนมากมาย เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับที่มันใหญ่ขึ้นมากกว่าระดับของชุมชน อาจจะเป็นระดับของจังหวัด หรือในระดับของประเทศ หรือในระดับของประเด็นขนาดใหญ่อื่นๆ หรือว่าอาจจะเป็นการเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวที่มันมีอยู่แล้วก็ได้ อย่างเช่น ขบวนการผู้หญิง ก็อาจจะมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ในมิติต่างๆ อาจจะเป็นมิติเรื่องของการทำแท้งที่ปลอดภัย อาจจะเป็นมิติเรื่องของการนิยามตัวเองของผู้หญิง อาจจะเป็นมิติเรื่องของการมีบทบาททางสังคมต่างๆ ของผู้หญิง เราก็อาจจะเข้าไปร่วมกับขบวนการของผู้หญิงเหล่านี้ก็ได้ หรืออาจจะมีขบวนการอื่นๆ เช่น ขบวนการสิทธิคนพิการ ขบวนการสิทธิในทรัพยากรต่างๆ ขบวนการประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับเผด็จการ หรือว่าเสริมสร้างพลังอำนาจของประชาชน ขบวนการต่างๆ เหล่านี้นี่แหล่ะครับ มันจะช่วยทำให้เรามองเห็นว่าการปะทะกับโครงสร้างอำนาจเดิมมันเป็นยังไง มันไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามันสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือเราสามารถปะทะกับอำนาจเดิมได้ เราสามารถท้าทายอำนาจที่เป็นการกดขี่ได้ นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วย

ลำพังการเรียนรู้เข้าใจตัวเอง การทำงานเป็นทีม การรู้จักชีวิตอย่างลึกซึ้งอะไรต่างๆ อาจจะไม่จำเป็นอะไรเลยก็ได้ ผมเคยเห็นคนชายขอบนะครับ เข้าสู่ม๊อบ เข้าสู่ขบวนการเปลี่ยนแปลงนะครับ ผมเห็นแววตาของเขาที่รู้สึกมีพลัง ผมรู้สึกถึงการเอาศักยภาพของตัวเองของเขาออกมาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ ในพื้นที่ของการต่อสู้ในพื้นที่ของการชุมนุมประท้วงกดดัน หรือว่างานรณรงค์ต่างๆ การตระหนักรู้ถึงพลังอำนาจของตัวเองในขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เนี่ย มันอาจจะนำไปสู่การเข้าไปในระดับของบุคคล ในระดับของกลุ่มกันอีกครั้งหนึ่ง คือหมายความว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องค่อยๆ เรียนรู้ โอ้…เราจะต้องเสริมสร้างพลังอำนาจระดับบุคคลให้เข้มแข็งก่อน และหลังจากนั้นเราก็มาเสริมพลังอำนาจในระดับของกลุ่ม แล้วจึงจะเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมได้ จริงๆ มันไม่จำเป็นเลย ทั้ง 3 ระดับมันทำงานเกื้อหนุนกันตลอดเวลา เราไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจึงไปด้านอื่นนะครับ เราสามารถที่จะเข้าร่วมขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วก็กลับมาสะท้อนตัวเองว่า เอ้..เราอาจจะมีปัญหาเรื่องพลังอำนาจในระดับกลุ่มหรือว่าพลังอำนาจในระดับบุคคล เราก็ค่อยไปเรียนรู้และเติบโตเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ตัวเองในการที่จะกล้าลุกขึ้นมาท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับอื่นๆ ต่อไปได้

กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจเนี่ย มันจึงเป็นแนวคิดอันที่ 3 ของฟาสามัญ ก็คือมันก็จะเสริมตัววงจรการศึกษาของประชาชน เราคงยังจำกันได้กับวงจรการศึกษาของประชาชนที่ตรงกลางมันคือการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ แล้วก็เริ่มที่ตัวคน เริ่มที่ตัวเรานี่แหละที่จะมานิยามตัวเอง มาเข้าใจตัวเอง มาเห็นปัญหาของตัวเอง แล้วก็นำไปสู่วงจรอื่นๆ หรือว่าการเข้าใจในทฤษฎีการสนทนา ที่มองเห็นว่า มันมีโครงสร้างที่กดขี่พยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมเงียบ ผ่านทฤษฎีการต่อต้านการสนทนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาชนะ การครอบงำ การรุกรานทางวัฒนธรรม หรือการแบ่งแยก เหล่านี้เนี่ยมันคือกระบวนการที่สร้างให้เกิดวัฒนธรรมเงียบขึ้นมา เราจึงต้องมาสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้เกิดการใช้แนวคิดของการสนทนา เพื่อทำให้เกิดวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมของการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ ของความเท่าเทียมมากขึ้น จนกระทั่งมาตัวแนวคิดที่ 3 นี้นะครับ คือแนวคิดของการเสริมสร้างพลังอำนาจ ซึ่งมันจะไปเสริมแนวคิดทั้ง 2 อย่างก็คือว่ามันจะทำให้ตัวบุคคลของเราเนี่ยนะครับ ลุกขึ้นมาใช้วงจรการศึกษาของประชาชนอย่างเต็มที่มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็เข้าไปใช้พื้นที่ปลอดภัย ไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มากขึ้นนะครับ

บทบาทของฟาสามัญเนี่ยมันจึงต้องใช้แนวคิดทั้ง 3 แบบนี้นะครับ มาเกื้อหนุนกันและกัน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมที่เท่าเทียมกัน นำไปสู่การสร้างโครงสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน แล้วก็เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ของกันและกันต่อไป