ทำไมเราต้องมีรัฐสวัสดิการ? กระบวนการขับเคลื่อนของคนชายขอบสู่รัฐสวัสดิการในสังคมไทย

พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
เรียบเรียง

เรียนฟรีมีทางเลือก… ป่วยแล้วไม่จน… แก่แล้วเลี้ยงตัวเองได้

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสามข้อนี้คือสวัสดิการที่ประชาชนพึงปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และเงินบำนาญเลี้ยงชีพสำหรับผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

ธนาคารโลกประเมินว่าไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุเต็มที่ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) หรือในอีก 22 ปีจะมีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 17 ล้านคน หรือ 25% ของประชากรทั้งประเทศ[1] เรียกว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้นโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ขณะที่สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีเพียงเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บ. ล่าสุดมติ ครม. เห็นชอบแนวทางดำเนินโครงการสละสิทธิ์เบี้ยยังชีพคนชรา เพื่อนำเงินที่คนชราสละสิทธิ์มาเพิ่มให้กลุ่มคนชราที่มีรายได้น้อย โดยเปิดโอกาสให้คนชราแสดงความจำนงขอสละสิทธิ์รับเบี้ยคนชรา ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติและสามารถนำเงินบริจาคไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้[2]

นโยบายดังกล่าวสะท้อนวิธีคิดที่มองเรื่องสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ ว่าเราควรจะมีสวัสดิการไว้เฉพาะสำหรับคนจนเท่านั้น ดังนั้นจึงยกเลิกรถเมล์ฟรี ให้คนจนมาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนรวยควรสละเบี้ยยังชีพคนชรา รวมไปถึงการพยายามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้

ขณะที่รัฐมองสวัสดิการในรูปแบบการสงเคราะห์ช่วยเหลือ แต่รัฐสวัสดิการที่ภาคประชาสังคมกำลังขับเคลื่อนผลักดันอยู่นั้นมาจากวิธีคิดที่มองว่า รัฐสวัสดิการคือสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าต่างหาก

ในงานเสวนาหัวข้อ “รัฐสวัสดิการกับสังคมไทย: เสียงจากคนชายขอบ” ซึ่งมีวิทยากรคือ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (คคสส.), คุณสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และลุงดำ-สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน ดำเนินรายการโดยคุณสมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยที่เวทีนี้จัดโดยสมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (สมาคม นธส.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ที่ห้องประชุมชั้น 8 ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย (เชิงสะพานหัวช้าง) กรุงเทพฯ มีประเด็นพูดคุยที่น่าสนใจเพื่อทำความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการร่วมกัน


ทำไมต้องรัฐสวัสดิการ?

เดชรัต สุขกำเนิด ฉายภาพให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาติดกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับมาเลเซีย ทั้งที่เมื่อ 25 ปีก่อนนั้นไทยอยู่ระดับเดียวกับเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้และไต้หวันหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้ เส้นสีแดงคือเส้นที่จะพ้นจากรายได้ปานกลาง ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่าไทยจะพ้นในปี 2583

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โจทย์แรกที่รัฐบาลคิดก็คือต้องมีการวิจัยและพัฒนา จากภาพด้านล่างจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศที่ผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้ล้วนแล้วแต่ต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างสูง

แต่นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้วสิ่งที่รัฐบาลไม่ค่อยพูดถึงก็คือเกาหลีใต้และไต้หวันทำอีกสองเรื่องด้วย เรื่องแรกคือ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการพัฒนาลงมา อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงโดยตลอด นั่นคือต้องมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่รัฐบาลไทยกลับเดินสวนทางด้วยการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะที่กระบี่หรือเทพา

เรื่องที่สองคือลดความเหลื่อมล้ำจนสู่ระดับต่ำ เกาหลีใต้และไต้หวันมีการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจทุกระดับ การศึกษาทั่วถึงและมีคุณภาพ มีระบบคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการที่ดี มีการปฏิรูปที่ดีตั้งแต่ช่วงแรก และเน้นอุตสาหกรรม SME ตั้งแต่ช่วงแรก นี่คือเหตุผลสำคัญที่เกาหลีใต้และไต้หวันสามารถผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้

ในขณะที่ 4 ประเทศ จีน มาเลเซีย ไทย บราซิล ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลไม่เคยพูดก็คือเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงประเทศเราจึงจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

สิ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือสวัสดิการ จะเห็นว่าเกาหลีใต้และไต้หวันมีระบบสวัสดิการที่ดี ในส่วนของไทยเราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น

ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ  การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจนลดลงอย่างมาก จากที่ในอดีตคนจนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้สูงมาก นั่นคือถ้ามีรายได้ 100 บ. คนจนต้องเสียเงินเพื่อสุขภาพโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ในขณะที่คนรวยเสียประมาณร้อยละ 1  ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจนอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ดังภาพด้านล่าง

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา จากรูปด้านล่าง เส้นบนเเป็นอัตราการเข้าเรียนของคนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ดีที่สุด 25% ของประเทศ เส้นล่างเป็นอัตราการเข้าเรียนของคนที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 25% เราจะเห็นว่าก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 คนจนที่สุด 25% ของประเทศไม่ได้มีโอกาสเรียนระดับมัธยมปลาย แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 อัตราการเข้าเรียน ม.ปลายเริ่มสูงขึ้น ช่องว่างเริ่มแคบลง แต่ในระดับอุดมศึกษาช่องว่างกลับห่างขึ้น อันเนื่องมาจากค่าเทอมสูง ภาพนี้บ่งบอกชัดเจนถึงปัญหาในระดับอุดมศึกษา ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกจากกัน

เมื่อเปรียบเทียบเด็กชนบทกับเด็กเมืองพบว่าเข้าเรียนประถมเท่ากัน 88% เริ่มลดลงเมื่อถึง ม.ต้น แต่ยังใกล้เคียงกันระหว่างชนบทกับเมือง พอถึง ม.ปลายเริ่มห่างกัน แต่ที่ห่างกันมากที่สุดคือระดับอุดมศึกษา ขณะนี้รัฐบาลกำลังถอยการศึกษาภาคบังคับจากมัธยมปลายมาเป็น ม.3  สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นเรียกได้ว่าสวนทางกับที่เกาหลีใต้และไต้หวันทำเพื่อพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

จากข้อมูลจะพบว่าคน 10% ที่รวยที่สุดของประเทศ ส่งลูกหลานเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้ถึง 66% ส่วนคน 10% ที่จนที่สุดของประเทศส่งลูกหลานไปถึงระดับอุดมศึกษาได้เพียง 4% นั่นหมายความว่าเรากำลังจะส่งผ่านความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งด้วยโครงสร้างทางสังคม เรากำลังจะส่งผ่านความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นต่อไป


รัฐสวัสดิการแบบไหนเหมาะกับสังคมไทย?

จากรูปด้านล่าง QU1 ถึง QU5 คือข้อมูลครัวเรือนตามระดับรายได้  QU1คือกลุ่มคนจนที่สุด 20% ของประเทศ  QU2 คือกลุ่มคนจนรองลงมา QU3 กลุ่มคนฐานะปานกลาง QU4 กลุ่มคนที่ค่อนข้างมีฐานะ และ QU5 คือ 20% ของคนที่รวยที่สุดในประเทศ ภาพนี้เปรียบเทียบให้เห็นว่าคน 5 กลุ่มนี้ใช้สวัสดิการของรัฐแตกต่างกันอย่างไร โดยมีสวัสดิการ 4 เรื่อง ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้าน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ จากรูปเราจะเห็นว่ากลุ่มคนจนใช้สวัสดิการของรัฐมากที่สุดในทุกเรื่อง

ภาพนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงสำคัญเมื่อคนกลุ่มหนึ่งมองว่าสวัสดิการต้องถ้วนหน้าแต่ไม่ต้องเท่าเทียมก็ได้ กรองโดยคุณภาพ คนอีกกลุ่มมองว่าเราต้องได้สวัสดิการที่ทั้งถ้วนหน้าและเท่าเทียม คนทุกกลุ่มใช้สวัสดิการของรัฐได้ ขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่าสวัสดิการของรัฐควรให้เจาะจงเฉพาะคนจนเท่านั้น

       คุณคิดว่าระบบสวัสดิการแบบไหนเหมาะสมสำหรับเมืองไทย?

         – สวัสดิการถ้วนหน้า แต่ไม่ต้องเท่าเทียม (ก็ได้)

            – สวัสดิการถ้วนหน้า และต้องเท่าเทียม

               – สวัสดิการแบบพุ่งเป้า สำหรับคนจน

เดชรัตทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าเราเห็นด้วยกับระบบที่ 2 คือถ้วนหน้าและเท่าเทียม เราก็ควรจะต้องชี้แจงให้สังคมเห็นว่าสุดท้ายแล้วผลที่ได้คืออะไร เราไม่ได้ต้องการช่วยคนจนเท่านั้น เราต้องการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราทำเรื่องสวัสดิการไม่ใช่เพราะเฉลี่ยทุกข์สุขภายในประเทศเท่านั้น แต่เราต้องการให้ประเทศมีพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด นั่นคือพลังที่มาจากทุกๆ คน ไม่ใช่พลังที่บางคนขับเคลื่อนได้แต่บางคนขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่”

เราไม่ได้ต้องการช่วยคนจนเท่านั้น เราต้องการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเราต้องการให้ประเทศมีพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด นั่นคือพลังที่มาจากทุกๆ คน ไม่ใช่พลังที่บางคนขับเคลื่อนได้แต่บางคนขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่

เดชรัต สุขกำเนิด


วิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ชี้ให้เห็นว่า เวลาพูดเรื่องรัฐสวัสดิการจะมีคนจำนวนมากที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะรัฐสวัสดิการต้องสร้างจากประเทศที่ร่ำรวยแล้วแต่ว่าจากข้อมูลชัดเจนว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมซึ่งมันไปพร้อมๆกันถ้าหากว่าเรามีประชาธิปไตยมีอำนาจที่ประชาชนมีส่วนร่วมรัฐสวัสดิการก็จะสร้างขึ้นได้ดังนั้นเราไม่ได้พูดถึงรัฐสวัสดิการในฐานะรูปแบบทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีแต่เรากำลังพูดถึงความเชื่อและการเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนมุมมอง

ซึ่งแนวคิดของการจะทำให้เกิดสวัสดิการมีหลายรูปแบบ นิติรัตน์แจกแจงให้เห็นว่าแบบแรกคือสวัสดิการแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบบที่สองใครอยากได้ซื้อเอา อยากได้ประกันชีวิตอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องซื้อเอง แบบที่สามคือสวัสดิการชุมชน มองในขอบเขตชุมชนเช่นออมวันละบาท บางชุมชนมีเงินฌาปนกิจเป็นต้น และแบบที่สี่คือแนวคิดสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ การบริจาค คนมีช่วยคนไม่มี ซึ่งรัฐไทยมีวิธีคิดเช่นนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นรูปธรรมที่บ่งบอกได้ชัดเจน”

ความแตกต่างของแนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของนโยบายรัฐในหลายเรื่อง สำหรับนิติรัตน์เชื่อว่า “รัฐสวัสดิการต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมความเป็นธรรมโดยระบบภาษี คนรวยต้องจ่ายภาษีเพื่อให้เท่าเทียมทางสังคม” เราจึงต้องผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการร่วมกันเพราะ “รัฐสวัสดิการจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนสังคม รัฐสวัสดิการจะเป็นคำตอบ และสิ่งที่ยังเป็นมายาคติคือรัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศร่ำรวยเท่านั้นซึ่งไม่จริง”

“รัฐสวัสดิการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมซึ่งมันไปพร้อมๆ กัน ถ้าหากว่าเรามีประชาธิปไตย มีอำนาจที่ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐสวัสดิการก็จะสร้างขึ้นได้”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

เงิน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการมาจากไหน?

คนจำนวนไม่น้อยมีมายาคติว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ในประเทศร่ำรวย แต่ประเทศเรายากจนแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ลองมาดูข้อมูลตัวเลขบางส่วน

งบ สวัสดิการ สังคม

เดชรัตชี้แจงข้อมูลไว้ว่า “ปัจจุบันงบสวัสดิการทั้งประเทศลงไปสู่ข้าราชการประมาณ 51%  ปี 2561 ข้าราชการรับเบี้ยหวัดบำนาญทั้งหมด 191,222 ล้านบาท จ่ายให้ข้าราชการ 6-7 แสนคน แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการ มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งประเทศประมาณ8 ล้านใช้เงินรวมกัน 6 หมื่นกว่าล้าน คน 6-7 แสนใช้เงินแสนเก้าล้าน ส่วนคนอีก 8 ล้านใช้เงิน 6 หมื่นกว่าล้าน ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะแจกเหรียญเชิดชูเกียรติให้คน 8 ล้านถ้าไม่รับเงิน คาดว่าน่าจะประหยัดเงินไปได้หมื่นล้าน ในทางกลับกันข้าราชการคิดง่ายๆ ถ้าสมมติบำนาญลดลงไปสัก 10% เท่ากับเกือบ 2 หมื่นล้าน โจทย์แบบนี้รัฐบาลไม่เคยตั้งว่าตกลงเงินไปอยู่ที่ไหนกันแน่ เงินที่บอกว่ามันมีน้อยมันไปอยู่ที่ไหนกันแน่ ผมเองเป็นกลุ่มผู้รับข้าราชการบำนาญ ผมเป็นผู้ที่อยากได้บำนาญเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมเลยกับพี่น้องประชาชนเลยเมื่อเราโชว์ตัวเลขนี้ออกมา ดังนั้นเราต้องคุยกับรัฐบาลว่าถ้าเราอยากจะได้สวัสดิการเพิ่มขึ้นการจัดสรรแบบนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่”

การหักลดหย่อนภาษี

ในแต่ละปีเราให้การลดหย่อนภาษีแก่บริษัทปีละประมาณ 2 แสนกว่าล้าน ดูอัตราการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งคือเก็บจากบริษัทจะพบว่าของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ล่าสุดมีมติ ค.ร.ม. ลดหย่อนภาษีให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐอีก ลองพิจารณาว่าหากไม่ลดหย่อนมากเพียงนี้ประเทศจะมีเงินมาทำสวัสดิการได้มากมายเพียงใด

เมื่อมาดูเรื่องการลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้ส่วนบุคคล พบว่านอกจากการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วยังมีการหักลดหย่อนค่าประกันชีวิต หักลดหย่อนค่าลงทุนใน LTF/RMF และสุดท้ายช็อปช่วยชาติ กลุ่มที่หักลดหย่อนได้มากที่สุดก็คือกลุ่มที่เสียภาษีเยอะที่สุด นี่คือรายจ่ายของภาษี จะเห็นว่าคนกลุ่มที่ 5 ก็หักลดหย่อนได้มากที่สุด ถ้าเราไม่หักลดหย่อนขนาดนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ภาษีที่ดิน

สุดท้ายที่เรายังไม่มีการเก็บภาษีเลยก็คือภาษีที่ดิน เราจะเห็นว่าเรามีที่ดินที่ไม่มีความเป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำกันมาก ดังนั้นถ้าเก็บภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้นเราก็น่าจะมีเงินสำหรับสวัสดิการอีกไม่น้อย

จากภาพ สมมติเราเก็บเฉพาะคนสองกลุ่มแรกที่มีที่ดิน 61% กับมีที่ดิน 18% คือรวมกันมีที่ดิน 80% ของประเทศ เราไม่เก็บคน 80% ที่เหลือแต่เก็บคน 20% แต่คน 20% นี้มีที่ดิน 80% ของประเทศ ก็น่าจะมีเงินได้ประมาณ 8 แสนล้านกว่า ยังไม่รวมเก็บที่ดินว่างเปล่าซึ่งควรจะเก็บ ที่ผ่านมาเราเก็บภาษีที่ดินถูกเกินไป

เดชรัตยกตัวอย่างประสบการณ์ของเขาว่า หลายปีก่อนผมมีที่ดินที่บางบัวทองเมื่อครั้งยังไม่สร้างบ้านผมจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ 100 บาทที่ดินของผมมีมูลค่าโดยประเมินคือ 4 ล้านบาททุกปีจะขึ้นประมาณ 5% ซึ่ง 5% ของ 4 ล้านบาทก็คือประมาณ 2 แสนบาทสองแสนบาทคือมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยผมไม่ได้ทำอะไรซึ่งส่วนที่ทำให้ที่ดินราคาขึ้นคือรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนราชพฤกษ์ถนนชัยพฤกษ์สะพานที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้ทำให้ที่ดินราคาขึ้นแต่ผมได้ประโยชน์ไป 2 แสนบาทโดยที่ผมไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วถ้าผมจะเสียภาษีแค่ 10% ของมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นคิดว่ายุติธรรมกับรัฐมั้ยแค่ 10% ก็คือเสีย 2 หมื่นแต่ผมยังได้เงิน 180,000 แต่ผมเสีย 100 . นี่คือปัญหาของระบบเมืองไทยผมควรจะเสียอย่างน้อย 2 หมื่นแต่ผมเสีย 100 . และสุดท้ายผมก็ยังได้รับบำนาญอีกแต่เขาบอกว่าไม่มีเงินขึ้นเบี้ยยังชีพแล้วนี่คือปัญหาของสังคมไทย

เขายืนยันว่าต้องมีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังโดยเฉพาะประเด็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ราต้องมีการปฏิรูปที่ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินว่างเปล่าซึ่งมีถึง 7 ล้านไร่กว่าตามตัวเลขที่ถูกโชว์ซึ่งมากกว่าที่ดินที่คน 60% ของประเทศมีดังนั้น 7 ล้านไร่กว่าต้องเอามาให้ได้ 7 ล้านไร่กว่าเราควรคิดอย่างไรคิดง่ายๆถ้าผมมีที่ดิน 1 แปลงที่ดินของผมมูลค่าราคาเพิ่มขึ้นปีละ 5% ผมเก็บไว้ไม่ทำอะไรเลยผมก็เก็บไว้เพราะเก็บไว้ราคาเพิ่มขึ้น 5% ว่างเปล่าก็เก็บดังนั้นถ้าจะให้ผมไม่เก็บทำอย่างไรก็ต้องเก็บภาษีให้เกินกว่า 5% เก็บ 1-2% ก็ยังเก็งที่ดินต่อเพราะได้ราคา 5% เสียภาษี 1% ก็ยังสบายอยู่ดังนั้นภาษีที่ดินที่เรียกเก็บในกรณีที่ดินว่างเปล่าต้องมากกว่ามูลค่าของที่ดินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี


กระบวนการขับเคลื่อนของคนชายขอบสู่รัฐสวัสดิการ

สุจินรุ่งสว่าง ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า “ตอนนี้แรงงานนอกระบบเรากำลังขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเป็นสังคมสวัสดิการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการเรื่องสุขภาพด้วย เราก็บอกว่าเรื่องสุขภาพน่าจะขยับไปตรวจสุขภาพแรงงานนอกระบบที่มีความเสี่ยงด้วย ตรวจคนที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว เราก็เลยบอกว่าในเรื่องสุขภาพควรจะมีเรื่องส่งเสริมและป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย เมื่อเราป้องกันก่อนเจ็บป่วยเราก็จะลดค่าใช้จ่ายตอนเจ็บป่วยได้ มีผลบวกต่อเรื่องลดค่าใช้จ่ายตอนเจ็บป่วย ก็เป็นเรื่องสุขภาพ

ส่วนเรื่องสวัสดิการสังคมเราเคลื่อนเรื่องประกันสังคมเพราะเรามีส่วนร่วมสมทบ ทำไมเคลื่อนเรื่องประกันสังคมเพราะว่าสวัสดิการอื่นๆ เราไม่มี ก็จะมีข้าราชการ แรงงานในระบบ สวัสดิการคนทั่วไป เรื่องบำนาญ เราบอกว่าข้าราชการมีบำนาญ พวกเราทำอย่างไรจะมีบำนาญบ้างทำอย่างไรจะมีสวัสดิการตอนเจ็บป่วยแล้วเราไปนอน รพ. เรารักษาฟรีแต่เราไม่มีรายได้ ก็เลยคุยกัน เราอยากได้สวัสดิการตอนเราไปนอน รพ. แล้วเราขาดรายได้ เราก็มาเคลื่อนในประกันสังคมให้มีตัวนั้น แล้วถ้าเราพิการขึ้นมาเราก็อยากมีรายได้ตอนเราพิการ เราก็ไปเคลื่อนเรื่องตอนพิการแล้วเราได้รายได้ชดเชย เราไปเคลื่อนเรื่องตอนเราตาย ปัจจุบันบางคนตายแล้วลูกหลานต้องไปกู้เงินมาทำศพ ตอนนี้ถ้าเราตายตอนนี้เราต้องมีเงินหลักหมื่นขึ้นไป ค่าน้ำมันเผาศพอย่างเดียวก็ 5 พันแล้ว ดังนั้นหมื่นหนึ่งนี้ก็ไม่พอหรอก เราก็เลยมาเคลื่อนเรื่องเสียชีวิตให้อยู่ในสิทธิของประกันสังคมมาตรา 40 เพราะแรงงานนอกระบบมีสิทธิเข้าประกันสังคมได้แค่มาตรา 40 เท่านั้น ตอนนี้เรามาขับเคลื่อนเรื่องพัฒนาสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมมาตรา 40 ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะในระบบเขาตายได้ 4 หมื่นแต่นอกระบบตายได้ 2 หมื่น คุณภาพชีวิตคนเราก็เท่ากัน เราจึงไปขับเคลื่อนว่าต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องตายให้ได้ 4 หมื่นเท่ากันเพราะคนเหมือนกัน ตายเหมือนกัน เรามีคุณภาพชีวิตเหมือนกัน เราก็เลยไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ แล้วค่าทดแทนการขาดรายได้ถ้าเราไปนอน รพ. เราขาดรายได้เราขอเพิ่มจาก 200 เป็น 300 บ. ได้มั้ยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะปัจจุบันถ้าเราเจ็บป่วยไปนอน รพ. เราจะได้ค่าทดแทน 200 บ. ต่อวัน ปีหนึ่งได้ 30 วัน เราขอเพิ่มเป็น 300 บ. ปีหนึ่ง 90 วัน ก็เป็นเรื่องที่เราขับเคลื่อนอยู่ ส่วนเรื่องพิการ ตอนนี้เขาให้ 5,000 หรือ 1,000 ให้แค่ 15 ปี แต่เราบอกว่าขอเป็นตลอดชีวิต ก็เป็นเรื่องที่เราขับเคลื่อนสวัสดิการเรื่องประกันสังคมมาตรา 40

“แรงงานนอกระบบไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลย ถามว่าทำไมต้องอยากมี พ.ร.บ. คุ้มครอง ก็เพราะงานที่ทำในระบบมันไหลออกมานอกระบบ ซึ่งงานบางตัวมันมีสารเคมีฝุ่นฝ้ายมันกระทบกับสุขภาพ เราเอามาทำมันกระทบกับครอบครัว พี่น้องเรา คนท้อง คนแก่ เด็กเล็กในบ้าน มันก็มีผลกระทบกับคนในครอบครัวด้วย สิ่งเหล่านี้เราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลยเราก็เลยไปขับเคลื่อนให้มีกฎหมายคุ้มครอง ตอนนี้แรงงานนอกระบบเรามีสองกลุ่ม มีอาชีพอิสระทั่วไป กับกลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้านซึ่งจะรับงานจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้าน พอเราไปเคลื่อนกฎหมายคุ้มครอง กฎหมายคุ้มครองออกมาคุ้มครองเฉพาะกลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้านเท่านั้น แต่กฎหมายนี้ก็ยังอยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกกันอยู่ยังไม่ได้บังคับใช้ พวกเราก็พยายามเข้าไปขับเคลื่อน นี่คือการเคลื่อนไหวของแรงงานนอกระบบที่เป็นอยู่”

สุชินเอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า “เรื่องคนไร้บ้าน เรื่องรัฐสวัสดิการโดยเฉพาะบำนาญแห่งชาติ บำนาญผู้สูงอายุต้องมีเพดานมากกว่านั้น เรื่องการรักษาพยาบาล เราเรียกร้องว่าน่าจะตั้งเป็นกองทุน 3 พันล้านกระจายไปให้ รพ.รัฐทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ผ่านมาสวัสดิการเราคนจนไม่เคยได้รับ จะทำอย่างไรที่จะเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เป็นผลดีสำหรับคนจนจริงๆ” เป็นคำถามที่ลุงดำทิ้งท้ายไว้

ในที่สุดแล้วรัฐสวัสดิการจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนสังคม เป็นคำตอบของสังคมเท่าเทียมเป็นธรรมได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะร่วมก่อร่างสร้างขึ้นมา

[1] “โลกกับความท้าทายของ ‘สังคมสูงอายุ’”, https://www.matichon.co.th/news/789840

[2] https://thestandard.co/elderly-care-allowances/