การฟังด้วยใจ เป็นวิธีการฟังที่เน้นการสื่อสารที่เข้าถึงความรู้สึก เข้าถึงความทุกข์ของผู้พูด สิ่งนี้ใช้เพียงแค่หูไม่ได้ เราต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งทางกายและทางใจ ทำการสังเกตและปล่อยวางการตัดสินด้วยสมอง หรือวิธีคิดของเราเพื่อเป็นประจักษ์พยานความทุกข์ให้กับผู้พูด ต่อไปนี้จะเป็นประเภทและวิธีการเป็นผู้ฟังด้วยใจในงานอบรมครั้งนี้
การฟังและชื่อเรียกการฟังแบบต่าง ๆ
- การฟังด้วยใจ/การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ฟังลึกลงไปในใจ ใส่ใจความรู้สึก ไม่ใช้หัวในการคิดวิเคราะห์
- การฟังด้วยความเมตตา/กรุณา (Compassion Listening) วิธีการฟังด้วยการให้คนได้ระบายความทุกข์ โดยไม่แนะนำคนเล่า
- การฟังอย่างมีสติ (Mindful Listening) ฟังและรับรู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรขณะที่เราฟัง และรู้ว่าเรากำลังคิดเรื่องตัวเอง หรือเรื่องอื่น หรือกำลังตัดสินคนเล่า
- การเป็นประจักษ์พยานความทุกข์ (Bearing Witness) ฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยายานความทุกข์ของคน ให้คนที่มีความทุกข์ได้ระบายและอยู่เป็นเพื่อน ทำให้เขาไม่โดดเดี่ยว การฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยายานนั้น “กลุ่มเควกเกอร์” (Quaker) เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าที่แยกตัวออกมาจากคริสเตียน สนใจเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในหมู่คนทำงานเพื่อสังคม และต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมในสังคมด้วย โดยนำศาสนามาเป็นฐานในการทำงานเรื่องความเป็นธรรม เป็นองค์ที่คนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยการใช้กระบวนการฟัง โดยไม่แนะนำ ไม่ตัดสิน เรียกว่า การเป็นประจักษ์พยานความทุกข์ของคน กลุ่มเควกเกอร์ทำงานกับผู้ที่มีความทุกข์ เช่น คนไร้บ้าน ผู้ต้องขัง นักโทษที่จะถูกประหารชีวิต คนรักเพศเดียวกัน ผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม คนอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยติดเตียงคนที่ใกล้ตายมีชีวิตอยู่ไม่นาน ผู้อพยพลี้ภัย เด็ก ผู้ชายที่ถูกข่มขืนแล้วไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ คนเหล่านี้มีความทุกข์มาก
หมายเหตุ: การฟังทุกแบบที่กล่าวมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยคลายความทุกข์ให้กับผู้พูด แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างตามกลุ่มที่นำการฟังเหล่านี้ไปใช้
แนวทางการฟังด้วยใจ / การฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยานความทุกข์
- ผู้ฟังต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมรับฟัง ทำใจให้ว่าง
- ผู้ฟังรับฟังด้วยสีหน้า ท่าทางที่เปิดกว้าง เป็นมิตร ผ่อนคลาย
- ผู้ฟังต้องใส่ใจรับฟัง แสดงให้ผู้พูดเห็นว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขา เช่น พยักหน้า สบตา
- ผู้ฟังต้องไม่ขัดจังหวะผู้พูด เช่น ไม่พูดแทรก ไม่พูดขัด ไม่ถามคำถาม ไม่แนะนำ ไม่สั่งสอน
- ผู้ฟังไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ในระหว่างการับฟัง เช่น รับโทรศัพท์ จดบันทึก
- ผู้ฟังต้องไม่ตัดสินตัวตน เรื่องราว หรือประสบการณ์ของผู้พูด ควรเคารพตัวตนและประสบการณ์ของผู้พูด
- หากผู้พูดร้องไห้ ให้ผู้ฟังอยู่กับผู้พูด ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดได้ระบายความรู้สึกด้วยการร้องไห้ หรือบอกผู้พูดว่าเขาสามารถร้องไห้ได้ไม่เป็นไร “เรื่องของคุณหนักมาก และการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องอ่อนแอ”
- ผู้ฟังต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดความเงียบ หากผู้พูดเงียบให้ผู้ฟังนิ่งเงียบอยู่กับเขา ไม่กดดันให้ผู้พูดต้องพูดหรือเล่าเรื่องต่อ
- เมื่อผู้ฟังรู้สึกอึดอัด ให้กลับมารับรู้ลมหายใจ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ผ่อนคลายร่างกาย
- ผู้ฟังต้องเก็บรักษาความลับของผู้พูด สร้างพื้นที่ปลอดภัยและความไว้วางใจ
- หากสังเกตเห็นว่าผู้พูดมีอาการเกร็งร่างกายในระหว่างที่พูด ให้ผู้ฟังชวนผู้พูดผ่อนคลายร่างกายด้วยการหายใจเข้าออกยาว ๆ รวมทั้งให้ผู้พูดหยุดพูดชั่วคราวจนกว่าร่างกายจะหายเกร็ง