ฟาสามัญ | ภาคฟานอกห้อง

ตอน 3 มุมมอง 5 วิธีการของฟาในงานชุมชน

เราอาจจะคุ้นเคยกับฟาที่ทำงานอบรมหรืออำนวยการประชุม ดูเหมือนพื้นที่ทำงานจะอยู่ในห้องเป็นหลัก มีผู้เข้าร่วมจำนวนจำกัด มีหลักสูตร กำหนดการที่ชัดเจน

แต่การทำงานชุมชนนั้นอยู่นอกห้อง มีผู้เข้าร่วมหลากหลายและส่วนใหญ่ไม่ได้สมัครใจที่จะเข้าร่วม 

แล้วเราจะใช้ทักษะฟาอย่างไร เมื่อเราต้องทำงานนอกห้อง ในคลิปนี้ เราจะชวนกันมาพิจารณามุมมองและเครื่องมือของเราต่อบทบาทฟาที่ต้องทำงานนอกห้อง

สามมุมมองเมื่อฟาออกจากห้องสู่ชุมชน


มุมมองแรก เปลี่ยนมุมมองจากห้องเป็นชุมชน

เมื่อเราขยายมุมมองพื้นที่ทำงานของเราเป็นชุมชน จากเดิมที่เราจะรับมือกับผู้เข้าร่วมที่หลากหลายในห้อง เราจะเห็นคนในชุมชนที่มีความต้องการ ความกลัว ความรู้ ความถนัดแตกต่างกันไป

ฟาทำงานกับกลุ่ม ดังนั้น ฟาจะทำงานกับชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนในชุมชนนั้น นั่นหมายถึงการชวนให้คนในชุมชนมีเป้าหมาย และไปถึงเป้าหมายโดยใช้พลังของแต่ละคนมาร่วมกัน

แต่แน่นอนว่า ในชุมชนนั้นมีทั้งคนเห็นด้วย คนกลาง ๆ  และคนที่ไม่เห็นด้วย จึงนำไปสู่มุมมองที่สอง

มุมมองที่สอง งานพัฒนาคือการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่

จากแนวคิดของเปาโล เฟรเร ในสังคมที่อยู่ในโครงสร้างของการกดขี่เช่นปัจจุบัน เราต่างคือผู้ถูกกดขี่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเลือกอยู่ข้างผู้กดขี่หรือผู้ถูกกดขี่ก็ตาม

การทำงานพัฒนาชุมชน คือการรวมกลุ่มผู้คนเพื่อสร้างอำนาจร่วม ไปใช้ในการสร้างสังคมที่เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ เกื้อกูลดูแลกัน

ด้วยมุมมองนี้ งานของเราจึงนับรวมแม้กระทั่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเรา

เราจะเปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ได้มีพื้นที่ในการต่อสู้กับการกดขี่นั้น บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับเราเพราะกลัว เพราะไม่เห็นด้วยกับเป้าหมาย บางคนอาจไม่มีเวลา ไม่มีทรัพยากร ในเบื้องต้นเราอาจทำได้เพียงสร้างพื้นที่รวบรวมผู้คนที่เห็นด้วยกับเราก่อน แล้วค่อยๆ ขยายออกไป

มุมมองที่สาม งานพัฒนาคือกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน

เราต่างเติบโตในสังคมที่ไม่เป็นธรรม จนอาจเผลอคิดไปว่าเป็นเรื่องธรรมดาและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้เราสิ้นหวังและยอมจำนนในที่สุด

แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ แสวงหาเส้นทางที่ต่างออกไป อาจจะยากเย็น เพราะเส้นทางสู่โลกที่เป็นธรรมเป็นเส้นทางที่ไม่เคยมีมาก่อน 

วงจรการศึกษาของประชาชน จะช่วยให้เรามองงานพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้และท้าทายอำนาจ เริ่มจากประสบการณ์ของเรา มองหาจุดร่วมกับผู้อื่น เสริมเติมความรู้ ออกแบบแผนงาน และสรุปบทเรียน เราสามารถใช้มุมมองของวงจรการศึกษาของประชาชนในการออกแบบงานร่วมกับพี่น้องในชุมชนของเราได้

5 วิธีการทำงานนอกห้อง


จากสามมุมมองที่กล่าวมา เราก็จะนำมาประยุกต์ใช้ทักษะของฟามาช่วยในงานพัฒนาชุมชนได้ เช่น

1. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในระดับชุมชน

พื้นที่ปลอดภัยคือพื้นที่ที่ทุกคนสามารถพูดและตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ แม้อาจจะผิดหรือมีคนไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร และพร้อมเริ่มใหม่ได้เสมอ

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนก็คล้ายกับในห้อง คือ

  1. มีการสร้างเป้าหมายร่วมกัน
  2. มีข้อตกลงที่ช่วยให้ทุกคนฟังกันและเปิดโอกาสให้กันและกัน เข้าใจเงื่อนไขของคนในชุมชนว่ามีความแตกต่างกัน
  3. มีโครงสร้างที่จะได้ยินกันและกัน เช่น แบ่งกลุ่มย่อย การให้เวลาแก่การฟังกัน

พื้นที่ปลอดภัยจะไม่สามารถสร้างได้พร้อมกันทุกคน จะมีบางคนที่เข้ามาก่อน จากนั้นจึงจะค่อย ๆ มีคนเข้ามาทีหลังหากมีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ

2. เสริมสร้างพลังอำนาจด้วยความสำเร็จทีละขั้น

สังคมที่กดขี่กันและกันได้ทำลายความสามารถในการรวมกลุ่มและการกำหนดชีวิตตนเองของเราไป งานสำคัญของเราจึงเป็นการฟื้นฟูความสามารถเหล่านั้นกลับมา

ฟาในฐานะคนทำงานพัฒนาชุมชน จะเสริมสร้างพลังอำนาจในชุมชนทั้ง 3 ระดับ

ในระดับบุคคล เราจะฟื้นฟูความมั่นใจกลับมาด้วยการฟังกันและกัน และเสริมพลังด้วยการเพิ่มทักษะการทำงาน ความกล้าแสดงออก การชื่นชมกันและการยอมรับความผิดพลาด

ในระดับกลุ่ม เราจะค่อย ๆ เพิ่มพลังอำนาจของชุมชนด้วยการสร้างความสำเร็จทีละขั้น จากความสำเร็จเล็ก ๆ ไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งการสร้างอำนาจร่วมให้เข้มแข็ง

ในระดับขบวนการ เราจะเชื่อมต่อกับองค์กรและเครือข่ายภายนอก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมพลังกันและกัน และทำให้ชุมชนตระหนักว่าเรามิได้โดดเดี่ยว หากแต่มีคนจำนวนมากที่มีความฝันความหวังดุจเดียวกัน เราคือส่วนหนึ่งของขบวนการเพื่อโลกที่ดีกว่า

3. สร้างเป้าหมายร่วม

การมีเป้าหมายร่วมจะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าเรากำลังจะไปที่ไหนและควรจะทำอะไร ในชุมชนที่มีความหลากหลาย เราอาจจะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนได้ยาก เราอาจจำเป็นต้องมีหลายเป้าหมาย โดยแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของทุกคนในชุมชน

เป้าหมายควรเป็นในด้านบวก เช่น คุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในที่ดิน อาชีพ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น

ในบางครั้งเราอาจได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งต่างก็มีวาระของตนเอง เช่น ด้านที่อยู่อาศัย ยาเสพติด การพนัน งดเหล้าเลิกบุหรี่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาวัฒนธรรม

เราต้องระวังว่าเราอาจเผลอนำเอาเป้าหมายของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกมาเป็นเป้าหมายของชุมชน จนกระทั่งสูญเสียเป้าหมายเดิมที่เคยตกลงกันและสูญเสียการมีส่วนร่วมไปอย่างน่าเสียดาย

เราจะมองเป้าหมายชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนเป้าหมายของโครงการจากภายนอกนั้นเป็นเป้าหมายย่อยที่จะนำมาสนับสนุนชุมชนของเรา เป็นหนึ่งในเครื่องมือทำให้ชุมชนพัฒนา

4. สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย

หากิจกรรมที่คนสามารถมีส่วนร่วมได้ในมิติต่าง ๆ กัน ตามศักยภาพและเงื่อนไขแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน

เช่น บางคนอาจถนัดงานเก็บข้อมูลหรือเป็นผู้ให้ข้อมูล อย่างเช่น แผนที่ชุมชน ปฏิทินฤดูกาล องค์ความรู้ต่าง ๆ

หรือบางคนถนัดงานเอกสาร การเงิน

บางคนประสานงานได้ บางคนชอบปะทะ ประท้วง หรือบางคนก็ดูแลคนอื่น

ลองชวนกันคิดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้คนที่หลากหลายได้มีพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมตามเงื่อนไขของแต่ละคน เพื่อค่อย ๆ หลอมรวมกันทีละเล็กละน้อย

5. ถอดบทเรียนยกระดับชุมชน

เมื่อเสร็จงานหนึ่ง ๆ การกลับมาเจอกันเพื่อถอดบทเรียนก็จะช่วยให้แต่ละคนได้ทบทวนและสรุปบทเรียนตนเอง ได้เห็นงานของกันและกัน สร้างเป็นความรู้ร่วม พัฒนาอำนาจภายในและอำนาจร่วมแก่ชุมชนต่อไป

สามมุมมองห้าวิธีการนี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ลองเอาไปใช้มองงานของเราดู และหากใครมีไอเดียหรือมุมมองใหม่ ๆ ก็ลองมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันได้ ที่เพจ เราเท่ากัน สำหรับทักษะและเครื่องมือต่าง ๆ ของฟา สามารถค้นอ่านได้ในเวบไซต์ www.roottogether.net

สวัสดีครับ