ฟาสามัญ ep.6
การตั้งคำถามเพื่อสร้างวัฒนธรรมการสนทนา

สวัสดีครับ เรามาพบกันกับคอร์สฟาสามัญออนไลน์นะครับ ในคลิปที่ 6 นี้เนี่ยเราจะมาคุยกันถึงเรื่องเครื่องมือสำคัญอีกอันนึงของฟาสามัญนะครับ ก็คือการตั้งคำถาม

การตั้งคำถามนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการสนทนาอีกด้วย

ในคลิปที่ 3 เราพูดถึงวัฒนธรรมเงียบ ซึ่งมันเป็นเครื่องมือสำคัญของสังคมที่มีการกดขี่ ในวัฒนธรรมเงียบมันจะมีเครื่องมือสำคัญ มีอาวุธสำคัญก็อยู่ 4 อย่าง อันแรกคือการเอาชนะ การแบ่งแยกแล้วปกครอง การควบคุมบงการ และการรุกรานทางวัฒนธรรม

การที่เราจะสู้กับวัฒนธรรมเงียบ เราจำเป็นที่จะต้องใช้วัฒนธรรมของการสนทนาขึ้นมา เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมของการที่เป็นการร่วมมือกัน การเป็นหนึ่งเดียวกัน การจัดตั้งร่วมกัน และสุดท้ายก็คือการสังเคราะห์วัฒนธรรมร่วมกัน การค้นหาการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเครื่องมือหลักของการสร้างวัฒนธรรมสนทนาเนี่ยนอกจากการฟังที่เราพูดกันไปแล้ว ก็คือการตั้งคำถามนั้นเอง 

การตั้งคำถามจะช่วยให้พวกเราได้แลกเปลี่ยน ได้พูดคุย ได้สนทนากันอย่างจริงจัง การตั้งคำถามที่ดีจะช่วยให้เราสนทนากันได้อย่างลึกขึ้น นำไปสู่การสร้างปฏิบัติการเพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันได้มากขึ้น

เราอาจจะคุ้นเคยกับการตั้งคำถามมาตลอดชีวิต แต่ว่ามันมีการตั้งคำถามที่ไม่พึงปรารถนาอยู่ในวัฒนธรรมการสนทนาของเรา

การตั้งคำถามแบบแรกมันคือการตั้งคำถามเพื่อแสดงความเหนือกว่า เป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่ในใจ ผู้ตอบมีหน้าที่เดาใจว่าผู้ถามต้องการคำตอบอะไร อำนาจในการตัดสินว่ามันถูกหรือผิดอยู่ที่ผู้ถาม หรือผู้ถามเป็นผู้ที่ยึดกุมความถูกต้องของคำตอบเอาไว้ ไม่ว่าจะมาจากหลักการ จากคำภึร์ จากหนังสือ จากทฤษฎี จากค่านิยมของสังคม หรือว่าจากความเป็นผู้มีอำนาจ มีตำแหน่งที่สูงกว่า การถามแล้วรอคำตอบจากผู้ตอบที่ถูกต้องตามตรงใจ มันเป็นวัฒนธรรมของการเอาชนะ การควบคุมบงการ

คำถามอีกแบบหนึ่งก็คือเป็นคำถามที่มาจากผู้ด้อยอำนาจ เมื่อเราตระหนักถึงความไม่มีอำนาจของตัวเองนะครับ เรามักจะมอบเอาการตัดสินใจ การสร้างความรู้ การตัดสินถูกผิดไปสู่คนที่มีอำนาจมากกว่า 

บางครั้งเราอาจจะเป็นคนที่ไปตั้งคำถามคนที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อให้เขาช่วยตัดสินใจให้ ช่วยประมวลความรู้ให้ ช่วยให้คำแนะนำอะไรต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะดำรงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมเอาไว้ ผ่านการตั้งคำถามเหล่านี้อยู่ดี

หรือแม้แต่คำถามอีกประเภทหนึ่งก็คือเป็นคำถามที่เรียกว่าคำถามชี้นำ คือเป็นคำถามที่ชวนให้ผู้ตอบอย่างตอบตามทิศทางที่เราต้องการ ทำให้ผู้ตอบไม่มีโอกาสได้พิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน

แต่คำถามที่ฟาสามัญเราจะใช้ เป็นคำถามที่จะมุ่งเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนสนทนากัน สร้างความรู้ร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน แล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติการร่วมกัน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการสนทนา ทั้งจากในวง จากคู่สนทนา และจากสังคมของเราทั้งหมด

คำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิด

คำถามที่ฟาสามัญเราจะใช้ มันจะมีอยู่ 2 ลักษณะก็คือคำถามแบบปลายปิดและคำถามแบบปลายเปิด เราอาจจะค่อนข้างคุ้นเคยกับคำถามปลายปิด ส่วนใหญ่ผู้มีอำนาจมักจะใช้คำถามปลายปิดครับ จะเป็นคำถามแบบที่ให้ตอบมาว่าใช่หรือไม่ ถูกหรือผิด หรือมี Choice ให้เลือก รูปประโยคของมันก็คือขึ้นต้นหรือว่าลงท้ายด้วยคำว่าใช่หรือไม่

เราใช้คำถามปลายนปิดใน 3 สถานการณ์

แต่ว่าคำถามปลายปิดเอง มันก็มีประโยชน์ของมันอยู่ ที่เราจะใช้ในการสนทนาได้ เวลาที่เราต้องการคำตอบเพื่อการเลือกหรือการตัดสินใจ ในฟาสามัญเราจะใช้คำถามปลายปิดใน 3 สถานการณ์หลักๆ นะครับ

อันแรกไว้ใช้ทวนคำพูด ก็คือเวลามีคนพูดอะไรออกมาเราก็สามารถที่จะใช้ทวนคำพูดของเขาได้ เช่น “เมื่อกี้คุณพูดว่าคุณรู้สึกเหนื่อยใช่ไหมครับ” คำว่า “ใช่ไหมครับ” ก็เป็นคำถามที่มันปลายปิด แต่ว่าอันนี้เนี่ยมันเพื่อการยืนยันว่าเขาพูดแบบนี้จริงๆ เราได้ยินแบบนี้มันถูกหรือเปล่า

แบบที่ 2 ก็คือเราต้องการการตัดสินใจ ก็คือ “ตกลงเนี่ยเราจะเดินทางไปชุมนุมที่สนามหลวงหรือที่ทำเนียบรัฐบาลดี” หรือว่า “เราจะไปยื่นหนังสือกันหรือไม่” “เราจะทำข้อมูลกันหรือเปล่า” “เราจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเรื่องของการทิ้งขยะกันหรือไม่” อย่างนี้เป็นต้นนะครับมันเป็นคำถามเพื่อให้เกิดการตัดสินใจ หรือการเลือกอะไรบางอย่าง จึงเป็นคำถามที่มันปิด ไม่ได้ต้องการการอภิปรายอะไรเยอะนะครับ อาจจะผ่านการอภิปรายผ่านการแลกเปลี่ยนไปกันมาเยอะมากพอแล้วเราก็นำมาสู่การตัดสินใจกันเลย

และสุดท้ายมันก็จะนำไปสู่การเชื้อเชิญ เป็นประเภทที่ 3 ของคำถามปลายปิด เช่น 

“ใครมีอะไรที่จะพูดเพิ่มเติมอีกไหมครับ” 

“เราจะพูดกันในเรื่องนี้กันอีกหรือเปล่า” 

เป็นการชวนให้คนพูดนะครับ ถ้าไม่มีเราก็จะได้จบ อย่างนี้เป็นต้นนะครับ ใน 3 สถานการณ์ที่เป็นคำถามปลายปิด

สรุปฟาสามัญใช้คำถามปลายปิดในสามสถานการณ์ คือ

  1. ทวนคำพูด 
  2. ต้องการการตัดสินใจ
  3. เชื้อเชิญ

การใช้คำถามปลายปิดเนี่ยมันต้องระมัดระวัง เพราะว่าคำถามปลายปิดนี่มันไม่ได้มุ่งที่การสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แต่ว่ามันมุ่งที่การตัดสินใจ หาข้อสรุป การเลือก ดังนั้น ฟาสามัญจำเป็นที่จะต้องใช้คำถามปลายเปิดเพื่อการสนทนาด้วย

การใช้คำถามปลายเปิด

คำถามปลายเปิด ไม่ได้มุ่งคำตอบที่มันถูกต้อง หรือไม่ได้มุ่งเพื่อการตัดสินใจ แต่ว่ามุ่งตัวกระบวนการการสนทนา เราสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สนทนาเพื่อให้เห็นข้อมูลข่าวสารถ่ายเทข้อมูล ข้อคิดเห็น อะไรต่างๆ ของคนในวงจนกระทั่งนำมาสู่การเห็นแบบแผน การเห็นหลักการร่วมกัน แล้วก็ดึงความรู้ของทุกคนในกลุ่มร่วมกัน ขบคิดร่วมกัน จนกระทั่งมันมากพอแล้วเราจึงจะมาใช้คำถามปิดเพื่อจบการสนทนา หาข้อสรุป เพื่อการตัดสินใจในท้ายที่สุด

คำถามปลายเปิด จะมีองค์ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกก็คือตัวประโยคมันเลย รูปประโยคทั่วไปเลยก็คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ทำไม ประโยคที่ขึ้นต้นหรือว่าลงท้ายด้วยคำเหล่านี้นะครับ จะเป็นประโยคที่นำไปสู่การตอบที่มันหลากหลายมากขึ้น มันไม่ได้มีคำตอบที่จำกัดอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น 

“ใครจะไปทำกับข้าวบ้าง” หรือว่า “เราจะทำให้ขยะลดลงอย่างไรกันดี”

“อะไรเป็นเหตุปัจจัยของการที่ผู้หญิงมีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าผู้ชาย” อย่างนี้เป็นต้น มันก็จะมีตัวรูปประโยคคำถามแบบนี้

…..

ส่วนที่สองคือตัวท่าทางครับ มันคือตัวทางที่มันเปิด ท่าทีที่เปิดรับฟัง ทำให้ผู้ตอบในรู้สึกว่าได้รับการได้ยิน มีการสบตา ใส่ใจผู้พูด แล้วก็ไม่ได้มีท่าทีที่นำไปสู่การตัดสิน การไม่สนใจที่จะฟัง หรือว่าทำให้ผู้ตอบเนี่ยรู้สึกไม่มั่นใจกับคำตอบของตัวเอง

ส่วนที่ 3 คือตัวใจเปิด เวลาเราตั้งคำถามไปแล้วหลายครั้งเราก็มักจะเผลอที่เราจะอยากได้คำตอบที่เราต้องการ แต่ว่าในการตั้งคำถามแบบฟาสามัญเนี่ยนะครับ มันจะเป็นตามคำถามที่หัวใจของเราเนี่ยมันอยากที่จะรู้ อยากที่จะรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่

เขามีประสบการณ์อะไรอยู่ แล้วคนในวงมีประสบการณ์คล้ายกันหรือเปล่า หรือว่ามีประสบการณ์ที่มันแตกต่างกัน 

ถึงแม้ว่าคำตอบเหล่านั้น อาจจะเป็นคำตอบที่เรารู้อยู่แล้ว เราเคยได้ยินกันอยู่แล้ว แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว คำตอบที่มันคล้ายคลึงกับที่เราเคยได้ยินมา แต่มันมาจากคนที่อยู่ตรงหน้าเราจริงๆ นะครับ เป็นคำตอบที่มีชีวิต เป็นคำตอบที่มันเป็นประสบการณ์ของตัวเขาจริงๆ

และนอกจากนั้น คำว่า “ใจเปิด” นี้นะครับ มันหมายถึงว่าเราในฐานะฟา เปิดรับคำตอบที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ ไม่สนใจ เพราะว่าการถามของฟานี้นะครับไม่ได้มุ่งหาคำตอบที่สนองความอยากรู้อยากเห็น ความเชื่อของฟาเท่านั้น ฟาไม่ได้ถามเพื่อตัวเอง แต่ว่าถามเพื่อดึงเอาประสบการณ์และความรู้ของคนในวงนี้ออกมามอบให้กับวง ดังนั้นเนี่ย ใจที่เปิดมันหมายถึงว่าใจที่เราต้องการที่จะได้รับคำตอบเข้าสู่วงต่างหาก

ประเภทของคำถามเปิด 

คำถามปลายเปิดมันจะมีอยู่หลายประเภทนะครับ ในที่นี้เราจะมาคุยกันอยู่ 3 ประเภทหลักๆ ก่อน

คำถามเก็บเกี่ยว

คำถามประเภทแรกเนี่ยก็คือเป็นคำถามเก็บเกี่ยว คำถามเก็บเกี่ยวเนี่ยมันจะเป็นคำถามที่พวกเราเอาไว้ใช้สำหรับเพื่อให้คนได้พูดถึงประสบการณ์กว้างๆ พูดถึงข้อมูลคร่าวๆ เพื่อเตรียมการสนทนาของกลุ่มต่อ ยังไม่ต้องไปลงลึกอะไรมากนะครับ ทำให้คนได้รู้สึกว่า เอ้อ…เรากำลังจะเริ่มคุยเรื่องหัวข้อประมาณนี้นะ เป็นประเด็นประมาณนี้นะ เราจะได้เตรียมตัววงไปสู่คำถามที่มันลึกขึ้นนะครับ ยกตัวอย่างเช่น 

ใครเคยไปชุมนุมมาแล้วบ้าง

หรือว่าหนังสือประเภทไหนที่เราชอบ

เราคิดยังไงกับปัญหาความเท่าเทียมในสังคมไทย อย่างนี้เป็นต้นไป มันก็จะเป็นคำถามกว้างๆ ทั่วๆ ไป

คำถามเจาะลึก

คำถามแบบที่ 2 เป็นคำถามเจาะลึก คำถามเจาะลึกเนี่ยมันจะช่วยให้คนได้ลงลึงในคำตอบของตัวเองมากขึ้น บางทีเราตอบคำถามมาเนี่ยมันก็ตอบแบบเร็วๆ ไปก่อน ก็ไม่ได้แบบอธิบายอะไรให้มันลึกซึ้งเนื่องจากกังวลเกรงใจว่าคนในวงจะสนใจคำตอบของเราหรือเปล่า หรือว่ากลัวว่าจะพูดยาวเกินไป

ฟาก็จะมีหน้าที่เจาะลึกให้คนตอบเนี่ยตอบคำตอบที่มันลึกขึ้น มีเหตุผล มีสภาพแวดล้อมที่มันชัดขึ้นนะครับ ในที่นี้ ฟาก็จะใช้เครื่องมือหนึ่งนะครับ ก็คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำความเข้าใจว่าคนเราจะเล่าประสบการณ์ของตนเอง จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน

ส่วนแรกจะเป็นวงเหตุการณ์หรือว่าการกระทำ เป็นวงนอกสุด ที่คนจะพูดง่ายนะครับ มันเป็นสิ่งที่เรามองเห็นกันนะครับ ไปกินข้าว ไปเดิน โกรธ มีการแสดงท่าทีของการโกรธ เสียงดังขึ้น หน้าแดง อะไรอย่างนี้เป็นต้นนะครับ มันเป็นเหตุการณ์ เป็นพฤติกรรมที่เราเห็นกัน

ส่วนที่ 2 เนี่ยมันคือตัวความคิด ตัวความคิดเนี่ยมันจะเป็น… อ้อ ทำไมถึงโกรธ ทำไมฉันถึงเดินไปทางนั้น ทำไมวันนั้นฉันถึงวิ่ง ทำไมวันนั้นถึงเสียงดัง มันเกิดอะไรขึ้น ก็คือตัวเหตุการณ์มันก็จะมีความคิดที่มันอยู่เบื้องหลังตัวเหตุการณ์นั้น 

ส่วนวงในที่สุดก็คือตัวของความรู้สึก ในส่วนของความรู้สึกเนี่ยบางทีเราก็จะไม่ค่อยกล้าพูดความรู้สึกโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเงียบนานๆ นะครับ ความรู้สึกเชิงลบเขาจะไม่ค่อยกล้าพูดมันออกมา มันจึงอยู่ในส่วนที่มันลึกที่สุด เวลาเราเกิดเหตุการณ์เรากระทำอะไรออกมาเนี่ยนะครับ มันจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนนี้ตลอดเวลา

บางทีคำตอบมันจะถูกตอบมาในเชิงของการกระทำ เช่น “โอ้ว..วันนั้นฉันโวยวายหนักมากเลย” อะไรอย่างนี้นะครับ ฟาเองก็อาจจะตั้งคำถามไปว่า “วันนั้นทำไมถึงโวยวายล่ะ”

เขาก็อาจจะบอกเหตุผลไปนะครับ

“อ๋อ..ก็ไอ้นั่นมันไม่ยอมฟังฉันเลย ฉันอยากให้มันได้ยินฉัน” แบบนั้นเป็นต้น 

หรือ “อ่อ..แล้วตอนนั้นเนี่ย ความรู้สึกอะไรที่ผลักดันทำให้คุณเสียงดังขนาดนั้นได้”

ก็เขาอาจจะตอบมาว่า “วันนั้นฉันรู้สึกโกรธมาก” เป็นต้นนะครับ เราก็จะชวนคุยเจาะลึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้อย่างลึกขึ้น

คำถามต่อเนื่อง

ส่วนสุดท้ายก็คือตัวคำถามต่อเนื่อง คำถามต่อเนื่องเนี่ยมันจะเป็นคำถามที่ช่วยให้คนตอบเนี่ยตอบกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ตอบเนี่ยนะครับมองประสบการณ์เล่าประสบการณ์ของตัวเองในมิติอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ด้วย ต่อเนื่องจากสิ่งที่ตัวเองได้ตอบไปแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น “จากที่คุณบอกว่าคุณเคยไปชุมนุมมาซัก 3-4 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ผมอยากรู้ว่าคุณมีประสบการณ์อะไรแบบนี้ ใกล้เคียงกับเรื่องการไปชุมนุม 3-4 ครั้งที่คุณเล่ามาอีกหรือเปล่า” อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นคำถามต่อเนื่องที่ทำให้เขาพูดถึงในมิติอื่นๆ จากประสบการณ์ของเขามากขึ้น ก็จะเป็นคำถาม 3 แบบที่ฟาสามารถใช้ช่วยในการสร้างการสนทนาขึ้นมาได้

คำถามเปิดที่ปิดการสนทนา

แต่ว่า คำถามเปิดนี่นะครับ ถึงแม้ว่ารูปประโยคจะเปิดเช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรนะครับ แต่ว่าท่าทีเราไม่เปิด เป็นกระบวนการที่มันตัดสินคนอื่น หรือว่ามีใจที่มันไม่ได้เปิดรับฟัง มันก็จะเป็นคำถามเปิดที่มันหยุดการสนทนาได้เหมือนกัน

เหมือนอย่างเช่นที่นายกพูดว่า “แล้วจะให้ผมทำยังไง” หรือว่า “ถ้าผมออกแล้วใครจะมาทำแทน” อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นท่าทีหรือว่าหัวใจที่มันไม่ได้เปิดที่จะรับฟังหรือนำไปสู่การสนทนา

หรือว่าแม้แต่คำถามที่เป็นท่าทีที่อาจจะไม่ได้แบบคุกคามอะไรมาก แต่ว่ามันเป็นคำถามที่มันเป็นเชิงตัดสินไปแล้วนะครับ เช่น “อิจฉาอะไรเขาตรงไหนหรือเปล่า” เวลาที่เราไปวิพากษ์วิจารณ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เราก็อาจจะโดนตอกกลับกลับมาว่า “ไปอิจฉาอะไรเขาตรงไหนหรือเปล่า” หรือ “ทำได้ดีอย่างเขาตรงไหน” ก็อาจจะเป็นคำถามที่มันหยุดการสนทนา 

หรือว่าการถามว่า “อ้าว แล้วเรามีอะไรดีกว่าเขาบ้าง” อย่างนี้เป็นต้นนะครับ มันเป็นคำถามที่ตัดสิน มันเป็นคำถามที่โจมตีผู้ตอบ ไม่นำไปสู่การสนทนา ดังนั้นเนี่ยองค์ประกอบที่เหลืออีก 2 อย่างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

โครงคำถาม

ฟาสามัญไม่ได้เป็นแค่คนที่คอยตั้งคำถามแล้วก็ชวนคุยไปเรื่อยๆ เท่านั้นนะครับ แต่ว่าจะตั้งคำถามเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ แล้วก็ตัดสินใจร่วมกัน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตั้งคำถามแบบมีวัตถุประสงค์ด้วย

การตั้งคำถามแบบมีวัตถุประสงค์

การตั้งคำถามแบบมีวัตถุประสงค์ มันจะเป็นชุดของคำถามที่มันจะร้อยเรียงกันมาเพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายร่วมกันบางอย่างได้

การที่เรามีชุดคำถามเนี่ยมันจะช่วยชวนให้ทุกคนในวงค่อยๆ พิจารณาความคิด ประสบการณ์ทีละเรื่อง เป็นประเด็นๆ ไปจนกระทั่งมันนำไปสู่เป้าหมายในที่สุด มันจะช่วยให้แต่ละคนคุยกันในเรื่องเดียวกันในแต่ละช่วงเวลานะครับ ไม่ใช่การแย่งกันนำเสนอในเรื่องที่ตัวเองสนใจเท่านั้น

การตั้งคำถามแบบมีวัตถุประสงค์ มันจึงเป็นการเรียงลำดับคำถามเป็นชุด เพื่อให้กลุ่มแลกเปลี่ยนกันไปทีละเรื่องจนกระทั่งถึงประเด็นที่ต้องการร่วมกัน เช่น ถ้าจู่ๆ เราจะถามไปเลยว่า

“เราจะแก้ปัญหาขยะในโรงเรียนกันได้อย่างไร” เราอาจจะไม่ได้คำตอบที่มันตรงประเด็นนัก บางคนก็น่าจะตอบมาเลยว่า “เอ้า..เอาถังขยะมาเลย” “เราจะต้องลงโทษคนที่ทิ้งขยะ” หรือ “ทำไมคนถึงทิ้งขยะหรืออะไรอ่ะ” หรือ “ครูใหญ่ทำอะไรอยู่” “ภารโรงทำอะไรอยู่” “งบฯ มันน้อยไปหรือเปล่า” บางทีมันจะคุยกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ว่าถ้าหากว่าเราตั้งคำถามแบบเรียงเป็นชุดขึ้นมา เราจะค่อยๆ ชวนกันพิจารณาทีละเรื่อง

ยกตัวอย่างเช่น 

“ตอนนี้ เราคิดยังไงกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนของเรา” “เราคิดยังไงกับปัญหาขยะ ณ ปัจจุบัน”  

“แล้วเราคิดว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาสภาพแวดล้อมหรือปัญหาขยะที่มันเกิดขึ้น”  

และ “เราอยากให้โรงเรียนของเรามีสภาพแวดล้อมเป็นยังไง”

อันสุดท้ายก็คือ “เราจะทำอะไรกันอย่างไรได้บ้าง”

ก็จะเป็นชุดของคำถามที่มันจะชวนคุยกันไปทีละเรื่อง 

อันแรกก็เป็นเรื่องของการมาระบุสภาพปัญหาร่วมกัน

อันที่สองก็จะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์สาเหตุร่วมกัน

หลังจากจบ 2 ประเด็นนี้แล้วเราก็มาดูกันว่าเราจะมีเป้าหมายร่วมกันอย่างไร และก็จะนำไปสู่เรื่องของการออกแบบวิธีการ ออกแบบกิจกรรม บทบาทของแต่ละคน แล้วก็จะคุยกันทีละเรื่อง ทีละประเด็นในหัวข้อเดียวกัน

โครงคำถามนี้ จะมีอยู่หลายแบบมากที่ให้เราได้เลือกใช้กันนะครับ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค แบบที่ผมใช้ไปเมื่อกี้ ก็คือการวิเคราะห์ปัญหา ปัญหาคืออะไร สาเหตุคืออะไร เป้าหมายคืออะไร และวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นคืออะไรก็จะเป็นโครงคำถามแบบหนึ่ง

หรือว่า โครงคำถามแบบ ข้อดี-ข้อเสีย-ทางเลือก เช่น “ข้อดีของโทรศัพท์มือถือคืออะไร” 

“ข้อเสียของโทรศัพท์มือถือคืออะไร”

“และทางเลือกถ้าหากว่าเราจะใช้เพื่อการสื่อสาร เพื่อการแสวงหาความรู้ เราจะใช้โทรศัพท์มือถือให้เป็นประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร” อย่างนี้เป็นต้น

หรือจะใช้โครงคำถามแบบที่นำไปสู่การสร้างความรู้ร่วมกัน จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ก็ได้ ที่เราใช้การทบทวนเหตุการณ์ 

“เรามีความรู้สึกยังไง”

“มันเกิดอะไรขึ้น” “อะไรที่เป็นเบื้องหลังของพฤติกรรมนั้นๆ “ เป็นการทบทวนเหตุการณ์นั้น แล้วก็มาดูกันว่าหลักการมันคืออะไร “การที่เราแสดงพฤติกรรมแบบนั้นมีหลักการยังไง มีบทเรียนอะไรที่มันเกิดขึ้นได้บ้าง” “อะไรที่มันทำให้สำเร็จบ้าง” “อะไรที่เราต้องระมัดระวังบ้าง” สุดท้ายก็คือ “นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้อย่างไร”

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของโครงคำถามนะครับ มีไม่กี่อย่างแต่จริงๆ แล้วเราอาจจะเลือกใช้โครงคำถามแบบอื่นได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงคำถามแบบ SWOT โครงคำถามแบบที่ตั้งเป้าหมาย-วัตถุประสงค์-กิจกรรม-ผลผลิต หรือว่าโครงคำถามแบบอื่นอีกเยอะแยะที่เราสามารถที่จะมาเลือกใช้กันได้

ชุดคำถามเหล่านี้ จะอำนวยให้วงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน ได้มีข้อสรุปร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การที่เรามาผนวกกับเรื่องพื้นที่ปลอดภัย การที่เรามีพื้นที่ปลอดภัยให้กับวง วงก็จะตอบคำถามที่มันลึกขึ้น กล้าเสี่ยงมากขึ้น ลองผิดลองถูกมากขึ้น การที่เรามีการฟังที่ดีจะนำไปสู่การใส่ใจกันและกันของคนในวง และทั้งหมดนี้มันก็จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่ของวัฒนธรรมการสนทนาที่มันจะพูดถึงเรื่องความร่วมมือกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน การจัดตั้งกลุ่มร่วมกัน และการสังเคราะห์วัฒนธรรม การสังเคราะห์ความรู้ความคิดร่วมกันได้

ก็จบลงแล้วนะครับสำหรับคลิปที่ 6 ผมก็จะขอเชิญชวนนะครับฝากไว้สำหรับพวกเรา ได้ไปลองการใช้คำถามเปิด หรือว่าคำถามปิดในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างวัฒนธรรมการสนทนาของเรา 

ลองไปพิจารณากันดูว่าเราตั้งคำถามแบบไหนที่คนจะอยากตอบ

ตั้งคำถามแบบไหนที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนสนทนากัน

สร้างวัฒนธรรมการสนทนาขึ้นมา

ตั้งคำถามแบบไหนที่มันจะทำให้เกิดการหยุดการสนทนา มันเป็นการกดทับ เป็นการที่ผลิตซ้ำวัฒนธรรมเงียบ

ตั้งคำถามแบบไหนที่จะนำไปสู่การท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ

ผมหวังว่าเราจะสามารถเอาการตั้งคำถามนี้ไปผนวกกับความรู้เรื่องการฟังแต่ละแบบ การฟังเพื่อผู้อื่น การฟังกลุ่มนะครับ เราจะไปผนวกกับพื้นที่ปลอดภัย เราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันยังไงที่จะทำให้การตั้งคำถามการฟังและการตัดสินใจของเรา มันลงลึกขึ้น มันกล้าเสี่ยงมากขึ้น กล้าลองผิดลองถูกมากขึ้นในการที่จะนำไปสู่สังคมที่มันเท่าเทียมกัน มีความสัมพันธ์กันและกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้มากขึ้น

ก็จบลงนะครับสำหรับคลิปที่ 6 ของเรานะครับในเรื่องของการตั้งคำถามเราพบกันใหม่ในอีกคลิปหน้า

สวัสดีครับ