ฟาสามัญ ep.2 – วงจรการศึกษาของประชาชน
คลิปนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของการศึกษาของประชาชน ก่อนที่เราจะได้ไปคุยกันเรื่องการศึกษาของประชาชนเนี่ยนะครับใครที่เคยเรียนรู้เรื่องการเป็นฟาอะไรมาก่อนนะครับ อาจจะคุ้นเคยกับทฤษฎีของ เดวิด โคล์บ นะครับ เดวิด โคล์บ เนี่ยเขาบอกว่ามันมีวงจรการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์อยู่แบบง่ายๆ เลยนะ มันก็มี 4 ขั้นตอนนะครับ
ขั้นตอนแรก ก็จะเป็นขั้นตอนของการผ่านประสบการณ์นะครับ มนุษย์เราเนี่ย เรียนรู้จากการผ่านประสบการณ์ก่อนนะครับ แล้วก็มาที่ตัวของทบทวน หลังที่ผ่านประสบการณ์มาแล้วเรามาทบทวน ประสบการณ์นั้นว่ารู้สึกยังไง เป็นยังไงเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะทบทวนอยู่คนเดียวหรือว่าทบทวนร่วมกับเพื่อนที่ผ่านประสบการณ์ร่วมกัน อันนี้จะเป็นเรื่องของหลักการ แนวคิด ประสบการณ์ที่เราผ่าน ผ่านกันมาเมื่อกี้นี้ เมื่อครู่นี้นะครับ หรือว่าที่ผ่านกันมานานแล้วเพิ่งทบทวนไปนะครับว่าในเรื่องนี้เนี่ยที่เราหาประสบการณ์กันมาเนี่ย มันมีหลักการยังไงนะครับ มีแนวคิดยังไง เกี่ยวกับประสบการณ์นี้ มันจนกระทั่งมันกลายเป็นความรู้ หลังจากที่ได้เป็นหลักการแล้ว เป็นความรู้แล้วนะครับ เราก็จะเอาความรู้เหล่านี้เนี่ยไปลองปฏิบัติไปใช้จริง ไปปฏิบัติให้มันเกิดผลอื่นๆ เกิดขึ้นนะครับ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์อีกครั้งหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นวงจรการเรียนรู้นะครับ 4 ขั้นตอนที่คนที่ทำงานเรื่องเกี่ยวกับการเป็นฟาที่เคยเรียนรู้ด้วยกันกับผมมานะครับว่าจะใช้วงจรเหล่านี้เนี่ยนะเป็นกระบวนการเรียนรู้หลัก
แต่ที่นี้ วันนี้เราก็จะมาดูกันว่ามันมีวงจรการเรียนรู้แบบอื่นอยู่นะครับซึ่งแฝงไปด้วยตัวแนวคิด ตัวหลักการทำงานที่ต่างออกไปครับ
หลักการศึกษาของประชาชน
Popular Education
การศึกษาของประชาชนหรือว่า Popular Education เขาเรียกกันย่อๆ ทั่วไปว่า “Pop Ed” คำว่า Popular ในลาตินอเมริกามันแปลว่า “ของประชาชน” Popular Education มันก็เลยแปลว่าการศึกษาของประชาชน การศึกษานี้มันเกิดขึ้นที่ลาตินอเมริกานะครับแล้วก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของ เปาโล เฟรเร ด้วย ซึ่งเป็นการศึกษาที่พยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเนี่ยนะครับ สอนนักเรียนรู้กันและกัน เพื่อที่จะให้เขาสามารถรวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเปลี่ยนแปลงโลกให้มันดีขึ้นได้ ก็เป็นการศึกษาที่จะตรงข้ามกับกระบวนการศึกษาที่มาจากผู้ปกครองมาจากผู้กดขี่ ซึ่งมันก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ก็คือว่าการศึกษาของประชาชนเนี่ย เขาจะมุ่งเน้นให้คนเรียนเนี่ยนะครับ ได้กำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ของตัวเองนะครับ ไม่ได้กำหนดมาจากผู้รู้ ผู้เป็นครู ผู้หลักผู้ใหญ่อะไรอย่างนี้นะครับ
เน้นให้ผู้เรียนกำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เอง
แล้วก็ผู้สอนกับผู้เรียนเนี่ยแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกันนะครับ หรือต่างผลัดกันเป็นผู้เรียนและผู้สอน
ผู้สอนกับผู้เรียนเป็นหนึ่งเดียวกัน
แล้วก็มุ่งเน้นไปที่การปลุกสำนึกที่มีต่อสังคมของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้มองเห็นว่า ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเราเนี่ย มันไม่ใช่แค่มีตัวของเราคนเดียวนะ มันมีคนอื่นอยู่ร่วมด้วยนะครับ มันเป็นประสบการณ์ที่มีแบบแผนร่วมกันกับคนในสังคมทั่วๆ ไป โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เราถูกกดขี่จากสังคมที่ไม่เป็นธรรมทุกวันนี้
ปลุกสำนึกต่อสังคมของผู้เรียน
กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เนี่ยมันถูกเอาไปใช้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมหลายที่นะครับ มันก็จะมีหลักการแบบเป็นวงจรเหมือนกัน คล้ายๆ กับ เดวิด โคล์บ ที่ผมพูดถึงไปเมื่อกี้แต่ว่ามันจะมีทั้งหมดอยู่ 5 ขั้นตอนนะครับ ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาดูกันตรงนี้เลย
วงจรการเรียนรู้ของการศึกษาของประชาชน
วงจรนะครับ หรือว่าวงเกลียวของการศึกษาของประชาชนเนี่ยนะครับ มันจะมีทั้งหมดอยู่ 5 ขั้นตอน จะสังเกตว่าตรงกลางเนี่ยมันก็คือการที่บอกว่า เราจะต้องท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน คือทั้งหมดของวงจรนี้เนี่ยมันจะต้องคำนึงถึงเรื่องการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันตลอดเวลา และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมคืออะไร ก็เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แบบฝ่ายหนึ่งถูกกดขี่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กดขี่นะครับ ซึ่งก็ฟังดูมันจะดูแบบมันดูรุนแรง ดูขัดแย้งกันเหลือเกินนะครับ แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ มันเป็นความสัมพันธ์ที่เราพบเจอกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างผู้ปกครองนะครับ รัฐบาล ข้าราชการกับประชาชนคนรวยกับคนจน หรือแม้แต่ไม่ลำดับอาวุโส พี่กับน้อง พ่อแม่กับลูก หรือว่าคนที่มีอัตลักษณ์ที่เป็นกระแสหลักกับคนที่มีอัตลักษณ์ที่เป็นกระแสรอง เช่น พวกรักต่างเพศกับพวกรักเพศเดียวกัน คนขาวคนดำนะครับ ก็จะเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มันไม่เท่าเทียมซึ่งตรงนี้ มันไม่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มันเท่าเทียมกัน แล้วก็พัฒนาศักยภาพของกันและกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กดขี่หรือว่าผู้ถูกกดขี่เองนะครับ ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่ามันเกิดสิ่งเหล่านี้กันขึ้นมา ดังนั้นวงจรการเรียนรู้ วงจรการศึกษาแบบนี้มันต้องตั้งเป้าตรงนี้ก่อนนะครับ เพื่อที่ว่าเราลองมาท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมดูนะครับ เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งต่างๆ แล้วก็นำไปสู่การพัฒนาความเป็นมนุษย์ร่วมกันนะครับ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม แล้วก็เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากประสบการณ์ผู้เข้าร่วม
ถ้างั้นเรามาดูกันที่ขั้นตอนแรก เราต้องเริ่มต้นนะครับด้วยประสบการณ์หรือว่าความรู้ของผู้ที่เข้าร่วมก่อนเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การเริ่มต้นที่ตัวความรู้หรือว่าประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม มันเป็นการยืนยันว่า ฟาเคารพ รับฟังผู้เข้าร่วม ไม่ใช่ว่าเป็นการมุ่งมาที่ฟาเป็นผู้ให้ความรู้เป็นหลัก แต่ว่าเราเริ่มต้นด้วยตัวประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนของการสำรวจกลุ่มว่าตอนนี้ แต่ละคนมีฐานความรู้ ประสบการณ์เป็นยังไง พื้นฐานชีวิตความสนใจของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง มีความคาดหวังยังไงบ้างในการที่จะมาร่วมกันเรียนรู้ในครั้งนี้ก็จะเป็นขั้นตอนของการสำรวจร่วมกัน นำมาสู่เรื่องของการทำความรู้จักกัน มีกระบวนการแนะนำตัว กระบวนการที่เรียนรู้ร่วมกันอย่างลึกซึ้ง อาจจะมีการเล่าเรื่องชีวิตให้แก่กันและกันฟัง แบ่งปันประสบการณ์ร่วมในบางเรื่องนะครับ ซึ่งกระบวนการขั้นตอนนี้ จะเป็นกระบวนการขั้นตอนที่แต่ละคนเนี่ยสามารถที่จะเล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างรู้สึกปลอดภัย โดยไม่ต้องไปกังวลว่าจะถูกตัดสินใจ จะถูกมองว่าโง่ จะถูกมองว่าไม่มีความรู้ ขั้นตอนนี้ ฟาจะต้องสร้างบรรยากาศของพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา พอแต่ละคนสามารถที่จะเล่าประสบการณ์ของตัวเองออกมาได้เนี่ย มันก็จะเกิดความเชื่อมโยงกันแล้วจะเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสัมพันธ์กัน ซึ่งการที่เราสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำเร็จเนี่ยนะครับมันจะนำไปสู่การที่แต่ละคนเนี่ยจะเริ่มที่จะกล้าเสี่ยงมากขึ้น กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อนนะมากขึ้นนะครับ ซึ่งตรงนี้ทั้งฟาและผู้เข้าร่วมต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศนี้ขึ้นมา
การเล่าประสบการณ์ของตัวเองนะครับ มันจะมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกก็คือเป็นประสบการณ์ที่เราเจอมาในชีวิตเลย ..เมื่อ 7 วันที่แล้วหรือว่า 10 ปีที่แล้ว หรือว่าที่ผ่านมาหลายๆ ปี มันเป็นช่วงประสบการณ์ที่เราผ่านมันมา เช่น ประสบการณ์ที่เราเคยถูกทำร้าย ประสบการณ์ที่เราเคยพบกับเหตุการณ์ความไม่ยุติธรรมในชีวิต ความเจ็บปวดในชีวิต หรือความสุขในชีวิต หรือว่าประสบการณ์ภายในของตัวเราเองที่ไปประสบพบเห็นในเรื่องราวต่างๆ อันนี้ก็เป็นประสบการณ์แบบนี้นะครับ เราสามารถที่จะเล่าได้ หรือบางทีเราก็อาจจะใช้ตัวกิจกรรมของมาช่วย อาจจะพาเล่นเกมท้าทายบางอย่าง เช่น เกมเดินเป็ด เกมข้ามรั้วไฟฟ้า เกมโยนไข่ เราก็จะมีเกมมาเล่นนะครับ เพื่อที่จะเป็นประสบการณ์เดียวกัน เป็น ประสบการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เราผ่านมาร่วมกันแล้วเราก็มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้นด้วยกัน ก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เราก็เลือกใช้ได้นะครับ แต่ว่าจุดสำคัญมันก็คือว่าเราจะต้องเริ่มต้นจากตัวประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก
ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาแบบแผน
ขั้นตอนที่ 2 มันคือการพยายามที่จะค้นหาแบบแผน แบบแผนซ้ำๆ ที่มันเกิดขึ้น คือพอเราแลกเปลี่ยนกันว่า ที่ฉันเคยมีประสบการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ เคยมีประสบการณ์อย่างเช่นผมเคยทำงานกับเยาวชนที่บ้านโดนโครงการเขื่อนเข้าไป ตอนที่เราไปคุยกับน้องๆ ในพื้นที่ในหมู่บ้านนะครับ มันก็จะมีบรรยากาศแบบเขาก็รู้สึกว่าเขาโชคร้ายที่อยู่ๆ เนี่ยบ้านที่เขาอยู่กันมา พ่อแม่อยู่มานี่แหละครับถูกโครงการเข้ามาแล้วเขาจะต้องถูกไล่ที่นะครับแต่ว่าเมื่อเขาไปพบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเยาวชนอื่นๆในจังหวัดอื่นๆนะครับ ที่ชุมพรบ้าง ที่แพร่บ้าง ที่อุบลบ้าง มันก็พบว่า เฮ้ย! มันเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ ในพื้นที่อื่นด้วย ทำไมถึงมีคนซวยร่วมกันมากขนาดนี้ มันก็จะเริ่มกลับมาพูดคุยกันแล้วว่า อันนี้มันไม่ใช่ความซวย ไม่ใช่ความโชคร้ายนะครับ ประสบการณ์ที่เราพบเจอเนี่ย บางครั้งเนี่ยมันเป็นแบบแผนของการกดขี่ มันเป็นแบบแผนของความไม่ยุติธรรมทางสังคม หรือมันเป็นแบบแผนที่เราถูกหล่อหลอมมาร่วมกัน บางทีอาจจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่เราถูกใช้อำนาจโรงเรียน ครูเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะครับ มีเพื่อนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็อาจจะมาแบ่งปันกันได้ว่า มันมีประสบการณ์ที่เราไม่สบายใจ เราทุกข์ใจจากเรื่องกรณีแบบนี้ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนแล้วเราก็จะมาชวนกันดูว่าประสบการณ์ซ้ำๆ เหล่านี้มันคืออะไร นำไปสู่การที่เราจะเชื่อมโยงประสบการณ์กับคนอื่น เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเรามีสิ่งต่างๆ ที่ร่วมกัน ซึ่งกระบวนการนี้แหละมันจะช่วยให้แต่ละคนเนี่ยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในประสบการณ์ของตัวเอง มันจะเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย! เรามีเพื่อนละ เราเริ่มรู้สึกเรามีพลังมากขึ้นละ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มันจะนำไปสู่ขั้นตอนท้ายๆ นะครับที่จะนำไปสู่เรื่องของการวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน ที่เราจะจัดการกับประสบการณ์ที่มันเป็นแบบแผนซ้ำๆ ร่วมกับคนอื่นได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ นะครับ
ขั้นตอนที่ 3 เพิ่มเติมข้อมูลใหม่ : สร้างความรู้
ขั้นตอนที่ 3 ของวงจรการเรียนรู้ของการศึกษาของประชาชน ก็คือเป็นขั้นตอนของการเพิ่มเติมข้อมูลใหม่หรือขั้นตอนของการที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา ก็คือว่าเราสามารถที่จะเห็นแบบแผนจากขั้นตอนที่ 2 มาแล้ว เราเห็นแบบแผนของประสบการณ์ที่มันมีร่วมกัน เราอาจจะช่วยกันตั้งชื่อหรือว่ามาดูกันว่า หลักการทั่วไปของแบบนี้มันคืออะไร เราก็อาจจะช่วยกันให้มองเห็นได้ เช่น อาจจะสรุปได้ว่าการที่เยาวชน ชาวบ้าน ถูกโครงการของรัฐ โครงการพัฒนาของรัฐอย่างเช่นการสร้างเขื่อนเข้ามาที่หมู่บ้าน เป็นแบบแผนซ้ำๆ ร่วมกัน มันเกิดจากอะไรล่ะ ทำไมชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจำนวนหนึ่ง หลายๆ กลุ่ม หลายๆ คนถูกโครงการพัฒนาเข้ามา อาจจะต้องมาดูว่าแบบแผนซ้ำๆ ที่เราเจอก็คือ เจ้าหน้าที่เข้ามาโดยไม่บอกอะไรเลย แล้วจู่ๆ ก็มาทำการศึกษา แล้วก็บอกว่าตรงนี้ เหมาะสำหรับการสร้างเขื่อน ประเทศไทยต้องการน้ำไปทำชลประทาน ต้องการน้ำไปทำไฟฟ้า เราก็จะพอมองเห็นเป็นตัวแบบแผนเหล่านี้ขึ้นมาว่า อ้อ เนี่ย! เห็นซ้ำๆ เลย ซึ่งเราก็จะมองเห็นได้ ถ้าอย่างนั้นมันก็เหมือนกับการที่รัฐไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน ไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน มันก็มีกระบวนการที่จะทำให้เห็น-ตั้งชื่อตัวแบบแผนประสบการณ์นั้นๆ เป็นตัวความรู้ขึ้นมา แล้วก็ตัวความรู้เนี่ย ชื่อนี้เนี่ย “รัฐที่ไม่ฟังเสียงประชาชน” เนี่ยนะครับ เป็นหลักการหนึ่งที่เรามองเห็นได้ว่า จากแบบแผนอันนี้ที่เราสรุปได้จากแบบแผนตัวนี้ เราก็เอาไปเทียบเคียงประสบการณ์แบบอื่นได้เช่น มันไม่ใช่แค่กรณีเรื่องเขื่อนเรื่องน้ำอย่างเดียวละ มันเป็นกรณีเรื่องของโรงไฟฟ้า กรณีเรื่องของที่ดิน กรณีเรื่องของการทำแท้ง ของอนามัยเจริญพันธุ์ทั้งหลาย เรื่องของการท้องไม่พร้อม มันก็จะมีกรณีศึกษาที่รัฐไม่สามารถที่จะฟังแต่ของประชาชนเยอะขึ้นนะครับ เราก็จะพอมองเห็นแบบแผนที่มันกว้างขึ้น มันก็กลายเป็นความรู้ใหม่ว่า สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของที่เราเจอในประสบการณ์ของเราในห้องจริงมันเชื่อมโยงกับคนจำนวนมาก มันก็จะมองเห็นเป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา
อีกแง่หนึ่งก็คือว่า เราสามารถที่จะเอาตัวทฤษฎีที่มีคนคิดขึ้นมาแล้ว จากหลายๆ ที่นะครับจากต่างประเทศบ้าง จากในไทยเองบ้าง เพื่อที่จะมาสำรวจได้ว่า ประสบการณ์หรือว่าแบบแผนที่พวกเราเจอนี้เนี่ย มันมีตัวทฤษฎี มีแนวคิดอะไรที่มีนักคิดเขาคิดกันมาก่อนหน้านี้แล้ว มาช่วยกันเติม เพราะว่าบางทีเนี่ยนะครับประสบการณ์ของเราแต่ละคนทุกคนเนี่ยนะครับ มันมีข้อจำกัด บางทีเราเอาคนที่มีประสบการณ์จำกัดอยู่ด้วยกันหลายๆ คนแล้วมาคุยกันแล้วก็คิดว่ามันเป็นความจริงของโลก ซึ่งมันไม่ใช่ บางทีมันอาจจะเป็นประสบการณ์ของคนแค่ 20-30 คน 50 คน 100 คนเท่านั้น เราต้องเปิดใจในอีกมุมหนึ่งด้วยว่าประสบการณ์ของพวกเราทุกคนอาจจะมีข้อจำกัด เราอาจจะต้องไปมองในเรื่องของตัวทฤษฎีแนวคิดด้วย อาจจะไปมองของกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งตัวทฤษฎี-แนวคิดโดยส่วนใหญ่มันก็จะถูกพัฒนามาจากการทำงานวิจัย การสังเกตของกลุ่มคนจำนวนมากด้วยนะครับ เราก็มาเทียบเคียงแต่ไม่ได้หมายความว่า ตัวทฤษฎีนั้นน่ะ เราจะต้องเชื่อมันตลอดเวลานะครับ เพราะว่าโดยพื้นฐานแล้ว กระบวนการเรียนรู้แบบนี้มันก็พยายามที่จะบอกว่า มันต้องเริ่มจากตัวของผู้เข้าร่วมเอง ของประชาชนที่เข้าร่วมตรงนี้ เพราะว่าถึงที่สุดแล้วตัวความรู้เหล่านี้แล้วตัวความรู้ที่เราร่วมกันพัฒนา มันไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสัจจะสมบูรณ์แน่ๆ มันจะต้องถูกทดสอบ มันจะต้องถูกนำมาใช้ แล้วก็กลับมาทบทวนกันอีกครั้งอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นความรู้ที่เป็นสัจธรรม แต่ว่าขั้นตอนนี้มันจะเป็นขั้นตอนของการพยายามที่จะลดทอนข้อจำกัดของการมีประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีขีดจำกัดของมัน(1) แล้วก็ช่วยที่จะพัฒนาให้ประสบการณ์ของเราเนี่ยเป็นแบบแผน เป็นตัวความรู้ที่มันกว้างขึ้นใหญ่ขึ้นนะครับ
ขั้นตอนที่ 4 จัดกระบวนการ วางแผน และออกปฏิบัติการ
ขั้นตอนที่ 4 มันคือการจัดกระบวนการแล้วฮะ เริ่มจัดขบวนของตัวผู้เข้าร่วมละ มีการจัดขบวน มีการวางแผนแล้วก็ออกปฏิบัติการ มีการออกแบบปฏิบัติการร่วมกัน ขั้นตอนนี้เนี่ยเป็นขั้นตอนที่มันสำคัญมากๆ ต่อกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ก็คือว่า เดิมพวกเราเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกกดขี่ หมายถึงว่า เป็นผู้รับการกระทำจากสังคม จากคนที่มีอำนาจมากกว่าจากคนที่กดขี่อะไรอย่างนี้นะครับ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจอะไรในการที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าไม่มีขั้นตอนนี้ กระบวนการเรียนรู้แบบนี้มันจะเป็นแค่การมาพูดคุยกันอยู่ในห้อง ได้ระบาย ได้ปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวด หาเพื่อนอะไรเท่านั้น แต่ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบนี้นะบอกว่า เฮ่ย! หลังจากที่พวกเราแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้ว เห็นแบบแผนแล้วว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วก็มาดูด้วยว่าเราสรุปมันว่าสิ่งเหล่านี้มันถูกเรียกว่าอะไร มันเป็นความรู้เรื่องอะไรมีทฤษฎีอะไรที่มันมีการอธิบายเรื่องเหล่านี้บ้าง มันก็จะต้องนำมาสู่การออกแบบอย่างเช่น ตัวเยาวชนที่ที่บ้านโดนโครงการของรัฐเข้ามานะครับ ที่จะสร้างเขื่อนขึ้นมา เขาก็จะต้องออกแบบแล้ว อ่อ…ถ้าอย่างนั้นเนี่ยที่เขารู้สึกได้ว่ารัฐไม่ได้ฟังประชาชน นโยบายการจัดการน้ำเนี่ยมันเป็นนโยบายการจัดการน้ำที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ ไม่ได้คำนึงถึงตัววัฒนธรรมของชุมชน ของคนที่เคยอยู่มาก่อน เหล่านี้ เขาก็ต้องออกแบบวางแผนละครับว่า จะทำไงกับเรื่องเหล่านี้ดี
การออกแบบวางแผนในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องแบบ.. โอ้โห…นำไปสู่ความสำเร็จเลยในครั้งแรกที่เดียว มันมุ่งไปที่ตัวของการทำให้ผู้เข้าร่วมเป็นฝ่ายกระทำ มันเปลี่ยนวิธีคิดจากคนที่เคยถูกกดขี่ เคยถูกกระทำ ให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง อาจจะมุ่งไปที่ตัวคู่กรณีโดยตรงหรือว่าอาจจะทำกับคนรอบข้าง หรือว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรอื่นๆ สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือว่าเรามุ่งเน้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง คือมุ่งเน้นไปที่กระบวนการเติบโตภายในของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก
ในแง่ของกลุ่ม การมีส่วนร่วมของกลุ่มนะครับ การสร้างกระบวนการ การวางแผนร่วมกันกับกลุ่มเนี่ยนะครับ มันคือกระบวนการที่เสริมสร้างพลังอำนาจแบบหนึ่ง ก็คือว่า ถ้าทุกคนได้ทดลองที่จะพูดคุยกัน วางแผนกัน ออกแบบการประเมินสถานการณ์ร่วมกันเนี่ย มันคือการสร้างพลังอำนาจที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ ฝ่ายผู้กดขี่ไม่ชอบ เขาไม่ได้ชอบให้เรารวมตัวกัน เขาไม่ได้ชอบให้เรามีการปฏิบัติการอะไร นอกจากฟังคำสั่งหรือว่ามีทำตามแบบแผนที่เขาเสนอขึ้นมา แล้วก็การรวมกลุ่มเนี่ยมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มันสำคัญมากที่จะทำให้ฝ่ายผู้ด้อยอำนาจ ผู้ไร้อํานาจ ผู้ถูกกระทำได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร
ที่นี้หลังจากมีการปฏิบัติการไปแล้ว สิ่งสำคัญที่เราลืมไม่ได้ก็คือ พอปฏิบัติการไปแล้วเราต้องกลับมาประเมินผลนะครับ มาสรุปบทเรียนถอดบทเรียนกันว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วเนี่ยเราวิเคราะห์แบบนี้ เราวางแผนแบบนี้มันได้ผลอะไรบ้าง แล้วมันสำเร็จหรือไม่สำเร็จอะไรซึ่งมันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 5 ประยุกต์สิ่งที่เคยเรียนรู้ – ปฏิบัติการ
ขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษาของประชาชนก็คือ ขั้นตอนของการประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มา คือการที่เราเอาขั้นตอนที่ 1-4 สรุปเป็นความรู้เรียบร้อยแล้ว มันกลับมากลายเป็นเนื้อเป็นตัวแล้ว เราออกนอกห้อง เราออกนอกกลุ่ม กลับไปที่ตัวกลุ่มทำงานจริงๆ ของเรา หรือว่าในชีวิตประจำวันของเรา ในหมู่บ้านของเรา แล้วก็เอาความรู้ที่เราได้มาจากการวิเคราะห์แบบแผน จากความรู้ทฤษฎีที่ได้ จากประสบการณ์ที่ได้ทดลองปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ก่อให้เกิดการทำซ้ำในชีวิตประจำวัน ทดลองมันใหม่ เกิดเป็นตัวทักษะใหม่ๆ ของเรา อาจจะเป็นทักษะของการยืนยันสิทธิตัวเอง อาจจะเป็นทักษะของการเขียนการพูดในสิ่งที่เราคิดเพื่อที่จะบอกถึงคู่กรณีของเรา ถึงผู้มีอำนาจ หรือว่าทักษะของการรวมกลุ่มกับคนอื่นในการทำงานการเปลี่ยนแปลงสังคม ของการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม เหล่านี้จะเป็นทักษะที่เราติดออกมานะครับ จากกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 4 ขั้นตอนแรก แล้วเราก็เอาไปใช้จริงๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มันสำคัญมากว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ตัวการเรียนรู้ในห้องอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะออกมาสู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เสร็จแล้วเจ้าตัวประสบการณ์ที่เราไปประยุกต์ใช้เหล่านี้แหละที่จะกลับมากลายเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะกลายเป็นขั้นตอนที่ 1 ของวงจรการเรียนรู้แบบนี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เมื่อเราเกิดห้องเรียนขึ้นมาใหม่ เกิดห้องอบรมขึ้นมาใหม่ มันก็จะกลายเป็นตัวประสบการณ์ขั้นที่ 1 ที่เราจะไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดของ 5 ขั้นตอนนี้มันก็คือขั้นตอนของการพยายามที่จะกลับมาที่การท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมๆ ที่เรามีอยู่ในสังคมที่ไม่ยุติธรรมตอนนี้
สรุป
ขั้นตอนเหล่านี้เนี่ยเป็นแค่ไกด์ เป็นแค่แนวทางทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ บางทีเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับมันมากว่า โอ้โห..ต้องเป็น 1-2-3-4-5 อาจจะเป็น 1 แล้วก็ไป 5 อาจจะเป็น 1 แล้วก็ไป 3 หรือจะถอยกลับมา 2-3-1 อะไรแล้วแต่นะครับ แต่ให้เรารู้ตัวนะครับว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เนี่ยมันอยู่ในขั้นตอนไหนวงจรการเรียนรู้อันนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้พอมองเห็นได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของเราเนี่ยมันจะต้องมุ่งเน้นไปที่ตัวไหนเป็นหลัก
การศึกษาของประชาชนก็มี 5 ขั้นตอนอย่างที่ได้พูดไปนะครับ ทีนี้ ลองกลับไปเทียบกันดูกับวงจรการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์ของ เดวิด โคล์บ ที่ผมพูดในตอนแรก ดูแล้วคล้ายกันนะ มันเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ แล้วก็มาทบทวนกัน แล้วก็มาค้นหาแบบแผนค้นหาหลักการ แล้วนำไปสู่การประยุกต์ใช้ แต่สังเกตได้ว่าวงจรการเรียนรู้ของการศึกษาของประชาชน มันจะมีมิติของการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ด้วย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือจุดเน้นมันคนละจุด ของ เดวิด โคล์บ ก็จะมุ่งเน้นไปที่ตัวการเรียนรู้เป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนเป็นหลัก แต่อาจจะไม่ได้ไปเน้นที่ตัวการท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ได้ไปมุ่งเน้นที่ตัวการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราเลยต้องระวังว่าเราใช้ทฤษฎีแบบของ เดวิด โคล์บ มากๆ บางทีเราเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อจะได้รู้เยอะๆ เรียนรู้เพื่อที่จะรู้มากกว่าคนอื่น แล้วสุดท้ายมันกลายเป็นว่าเราเป็นคนที่ธำรงรักษาระบบที่ไม่ได้ยุติธรรมแบบนี้ต่อไปเสียเอง ผมก็เลยนำเสนอเรื่องการศึกษาของประชาชนมาช่วยให้เรามองเห็นได้ว่ามีวงจรการเรียนที่มันสามารถใส่เอาแนวคิดที่อยากเห็นสังคมที่ดีกว่าอยากเห็นสังคมที่ศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ร่วมกันของทั้งสังคม ไม่ใช่ของตัวเราเองอย่างเดียว หรือของกลุ่มของตัวเองอย่างเดียว มันก็จะทำให้ตัวกระบวนการเรียนรู้ของเราเนี่ยไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ที่ไปส่งเสริมหรือว่าสนับสนุนตัวโครงสร้างสังคมแบบเดิมๆอีกต่อไป ก็จะเป็นวงจรการเรียนรู้แบบหนึ่งนะครับที่ผมมานำเสนอในซีรี่ส์ชุดฟาสามัญในครั้งนี้
ขอบคุณครับ