ครั้งที่ 1 ฐานคิดสำหรับคนทำงานเพื่อความเป็นธรรมกับคนชายขอบ

การเรียนรู้ครั้งที่ 1
หลักสูตร นักขับเคลื่อนสังคม : สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก” รุ่นที่ 3
เรื่อง ฐานคิดสำหรับคนทำงานเพื่อความเป็นธรรมกับคนชายขอบ
วันที่ 22 – 27 กันยายน 2559 (6 วัน)

แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) ได้จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ครั้งที่ 1 เรื่อง “ฐานคิดสำหรับคนทำงานเพื่อความเป็นธรรมกับคนชายขอบ”ภายใต้หลักสูตร“นักขับเคลื่อนสังคม: สร้างความเข้มแข็งที่ฐานราก” รุ่นที่ 3 เมื่อวันที่ 22 – 27 กันยายน 2559 ณ ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม (บ้านดิน) อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน  34 คน ประกอบด้วยกลุ่มแกนนำจากภาคีเครือข่ายโครงการสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะภายใต้การสนับสนุนของสำนัก 9, ภาคี สสส.,คนทำงานภาคประชาสังคม, อาสาสมัคร,อาจารย์มหาวิทยาลัย,นักวิจัยและคนทำงานภาครัฐที่ทำงานประเด็นกลุ่มชายขอบกลุ่มต่างๆอาทิเช่น  แรงงานกลุ่มต่างๆ คนไทยพลัดถิ่น/กลุ่มชาติพันธ์ คนไร้บ้าน คนมุสลิม กลุ่มคนที่ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

วัตถุประสงค์เพื่อ

  1. ให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจกรอบวิเคราะห์เรื่องอำนาจเป็นฐานในการทำความเข้าใจความไม่เป็นธรรมและแนวทางการทำงานสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่
  2. ให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจเรื่องโครงสร้างหรือระบบต่างๆในสังคมที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหลากหลายรูปแบบที่ทับซ้อนเชื่อมโยงกันต่อกลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบ และหาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านั้น และ
  3. ให้ผู้เข้าร่วมฝึกทักษะที่เป็นฐานสำคัญของการทำงานแนวฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพของกลุ่มคนชายขอบ ตลอดจนวิธีการฟื้นฟูดูแลสุขภาวะหลายด้านของคนทำงานเพื่อสังคม

กระบวนการเรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม ในบางหัวข้อกระบวนกรจะใช้บทบาทสมมุติเพื่อทำความเข้าใจกรอบแนวคิดพื้นฐานในเรื่องความเป็นชายขอบความไม่เป็นธรรมในระดับต่างๆและ การฟื้นฟูพลังอำนาจของคนชายขอบในรูปแบบต่างๆ การเรียนรู้นอกจากจะใช้ฐานหัวหรือการคิด การวิเคราะห์แล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้ฝึกการรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและของเพื่อนในรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ร่างกายเป็นฐานในการเข้าใจตนเอง, การดูแลสุขภาวะตนเอง และฐานจิตวิญญาณคือการฝึกฝนความมั่นคงภายใน สติ และการรู้ตัวด้วย

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจกรอบคิดหรือมุมมองใหม่ในการทำงานเรื่องความไม่เป็นธรรมหลายรูปแบบที่ทับซ้อนกันสังคม (เช่นประเด็นความไม่เป็นธรรมในระดับปัจเจกและในระดับโครงสร้างของกลุ่มประชากรต่างๆ) และได้ทบทวนวิธีการและยุทธศาสตร์ในการทำงานเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนการใช้อำนาจในทุกระดับของชีวิตและการทำงาน ได้เรียนรู้แนวทางการทำงานเพื่อฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพของกลุ่มคนชายขอบให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม ตลอดจนการมีทักษะใหม่ที่จะนำไปใช้ในการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนชายขอบ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้มีเวลาฟื้นฟูสุขภาวะของตนเองและทบทวนวิถีชีวิตส่วนตัวและวิธีการทำงานที่ผ่านมาด้วย