ฟาสามัญ ep.1 – อะไรวะฟาสามัญ

ฟาสามัญ มิใช่ครูแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม มิใช่ผู้วิเศษที่จะมาชี้ทางสว่างแก่ผู้คน เป็นเพียงผู้เอื้อให้การเดินทางสู่เป้าหมายร่วมกันของกลุ่มง่ายขึ้นเท่านั้น มาทำความรู้จักกับฟาซิลิเตเตอร์ หรือ ฟา ในฐานะบทบาทหนึ่งในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม และในฐานะของปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเท่าเทียมเป็นธรรม คลิปนี้เป็นตอนแรก ในชุดการเรียนรู้ฟาสามัญ ที่จะช่วยให้เราเห็นหลักการและขั้นตอนการทำงานฟาเพื่อสร้างสังคมเป็นธรรมจากฐานราก

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่หลักสูตรฟาสามัญออนไลน์ครั้งแรกในโลก 

คลิปนี้จะพาเรามารู้จักกับฟาว่าคืออะไร และฟาสามัญคืออะไรนะครับ อันดับแรกเลย เรามาดูคำว่าฟา ฟามาจากคำว่าฟาซิลิเตเตอร์นะครับ แปลตรงตัวว่าผู้อำนวยความสะดวก ฟังดูตลกนะครับ และก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันคืออะไรผมอยากชวนให้เรามาดูคำว่าฟาซิลิตี้ก่อน มันคือสิ่งอำนวยความสะดวกนั่นเอง เช่น ฟาซิลิตี้ของเมืองคือ ถนน ไฟฟ้า ประปา อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ฟาซิลิตี้ของการทำครัวก็คือ คำว่าฟาซิลิเตเตอร์จึงหมายถึงคนที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ สะดวกขึ้นนั่นเอง ผมเรียกสั้น ๆ ทับศัพท์ว่าฟา

มีคนเปรียบว่าฟาทำอะไร ผ่านการไหลของน้ำ เมื่อมีน้ำฝนจากหลังคาตกลงพื้นดิน แรกเริ่มมันจะไหลอย่างไร้ทิศทาง สักพักมันจะเริ่มหาทางไปในทางที่ล่ายที่สุด แต่ก็จะเจอสิ่งกีดขวางระหว่างทาง เช่น ก้อนหิน เนิน ไม้ ขยะ

ทีนี้เรามาดูว่าสุดท้ายปลายทางของน้ำน่าจะอยู่ไหน น่าจะเป็นสระน้ำหรือรางระบายน้ำ และเราก็รู้ว่าน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำ เราจะปล่อยน้ำไปตามธรรมชาติก็ได้ แต่ก็อาจจะช้าหน่อย อาจจะมีบางส่วนไปค้างเติ่งเป็นแอ่งกลางทาง อาจจะทะลักไปเปียกในบ้าน หรืออาจจะไปกัดเซาะพื้นเสียหาย

บางทีเราอาจจะทำท่อเลย บังคับให้น้ำไปตามทางที่เราต้องการ จบ แต่เปลืองหน่อย หรือบางที เราอาจจะแค่มอง สังเกตว่าน้ำจะไปทางไหน เราก็อาจจะเอาเสียมไปเซาะ ๆ สิ่งกีดขวางออกไป หรือน้ำเอ่อล้นไร้ทิศทาง ก็อาจจะทำร่องให้มันมารวม ๆ กัน ช่วยกำหนดทิศทางให้มันได้ลงวระหรือรางระบายอย่างสะดวกรวดเร็ว

ใช่ครับ ฟาทำหน้าที่ประมาณนั้นแล สรุปคือฟา ทำหน้าที่เอื้ออำนวยกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายง่ายขึ้นนั่นเอง

ทีนี้ ไอ้ทักษะฟาเนี่ย มันไปประยุกต์ใช้ได้กับบทบาทหน้าที่ได้หลายบทบาทนะครับ เช่น เทรนเนอร์ ประชุม วงสนทนา จัดการความขัดแย้ง ชุมนุม รณรงค์ เยอะแยะมากมาย ทำให้บางทีก็เกิดความสับสนขึ้นมาว่า ฟากับครูต่างกันยังไง คือครูที่มีเกมให้เล่นเยอะๆ ใช่ไหม ฟาประชุมต่างจากพิธีกรยังไง มีเกมเยอะๆ ใช่ไหม

เปล่าเลย มันต่างกันตั้งแต่วิธีคิดแล้ว

หลักการพื้นฐานสำคัญของฟา

ผมคิดว่าฟามันถือกำเนิดมาอย่างเจียมเนื้อเจียมตน มันยืนอยู่บนความเคารพในเพื่อนมนุษย์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นใคร ดำขาวเหลือง จนรวยชาวนากรรมกรนายทุนขุนศึกศักดินา พุทธคริสต์อิสลามเอทิสต์ ชายหญิงเพศหลากหลาย เด็กผู้ใหญ่คนชรา หัวหน้าลูกน้องประธานผู้ถือหุ้น

ดังนั้น เอาแบบพื้นฐานที่สุด ฟาเชื่อว่าทุกคนมีความรู้ โอเค เราอาจจะไม่ได้มีความรู้เรื่องเดียวกัน แต่เราก็มีความรู้ของเรา มีความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้เรากับคนอื่น รวมไปถึงสร้างความรู้เองได้ ตรงนี้แหละที่จะทำให้ฟาต่างจากวิทยากร คำว่าวิทยากร มาจากคำว่า วิทยาที่แปลว่าความรู้ และอากรที่แปลว่าแหล่งกำเนิด วิทยากรจึงแปลว่าผู้กำเนิดความรู้ มอบความรู้ คือความเชื่อพื้นฐานต่างกันตรงนี้ ตรงที่วิทยากรไม่เชื่อหรือไม่สนใจว่าคนอื่นมีความรู้ไหม แต่ฉันมีและฉันจะทำให้คนอื่นมี

ทีนี้ถ้าวิทยากรเชื่อแบบนี้ก็ไม่เป็นไร เราก็เรียนมาจากวิทยากร หรือครูในความหมายนี้มาจนโตป่านนี้แล้ว ก็มีความรู้ความสามารถตามอัตภาพ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นมาว่า ไอ้ความเชื่อแบบนี้ มันไปสร้างระบบเยอะแยะมากมายที่ไปบอกว่าคนอื่นไม่มีความรู้นะ จะมีความรู้ต้องมาหาฉันนะ มาเข้าโรงเรียน มีใบประกาศ มีคนรับรอง พาลกีดกันความรู้ของคนอื่นไป คนอื่นก็มีหน้าที่รอรับความรู้จากผู้รู้ ไม่สามารถบอกว่าสิ่งที่ตนเองรู้เป็นความรู้และไม่สามารถสร้างความรู้เองได้ อันนี้แหละ เลยกลายเป็นเครื่องมือให้แก่ระบบที่กดขี่ นำไปสู่การศึกษาที่เปาโล เฟรเรเรียกว่าการศึกษาแบบฝากธนาคาร ที่ยัดความรู้เข้าหัวผู้เรียน

การบอกว่าทุกคนมีความรู้ นำไปสู่อะไร นำไปสู่การเคารพคนอื่นไงครับ ถ้าเราเชื่อว่าคนที่เราคุยด้วย ไม่มีความรู้ แต่เรามีความรู้ เราก็อาจจะไปสอนเขา บอกเขาให้ทำนู่นทำนี่ รู้สึกเหนือกว่า หรือในทางกลับกัน ถ้าเราเชื่อว่าเราไม่มีความรู้ ไปคุยกับคนที่มีความรู้ เราก็จะรอคอยคำสอนของเขา เราอาจจะกลัวว่าเขาจะทำอะไรเรา อาจจะไปประจบนบนอบเขา รอให้เขาชี้ผิดถูกให้

แต่ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีความรู้ เรามี เขามี คนอื่น ๆ ก็มี มันจะนำไปสู่การเคารพกันและกัน ฟังกัน แลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็นความสัมพันธ์อีกแบบ

เรื่องถัดมา ฟาเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบต่าง ๆ รวมทั้งผ่านการลองผิดลองถูกหรืออีกความหมายหนึ่งคือการตัดสินใจด้วยตนเอง อันนี้แหละที่ทำให้ฟาต่างจากผู้นำหรือหัวหน้า ฟาจะสนับสนุนให้กลุ่มตัดสินใจร่วมกัน ผ่านประสบการณ์ด้วยกัน และสร้างความรู้ด้วยกัน โดยฟาทำแค่การตั้งคำถามหรือชี้ให้เห็นแนวทางต่าง ๆ เท่านั้น 

การที่เราเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ เรียนรู้ได้ นี่หมายความว่าอย่างไร มันหมายถึงการที่คน ๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้ ไม่จำเป็นอยู่ในสถานะเดิมตลอด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือตลอด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนจนตลอด แต่สามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ วันนี้เขาอาจจะมีความรู้บางอย่าง ทักษะบางอย่างน้อย แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้ มันนำไปสู่ท่าทีที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนเปลี่ยนแปลงได้ ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนได้ สังคมเปลี่ยนแปลงได้ และเราจะเปลี่ยนมัน

จากสองความเชื่อนี้ ว่าทุกคนมีความรู้และทุกคนเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ นำไปสู่การสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยน เติบโต ร่วมกันตัดสินใจ และแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มในเวลานั้นได้ ฟาจะทำหน้าที่ให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น

ความแตกต่างระหว่างฟา กับบทบาทอื่นๆ ที่คล้ายกัน

ทีนี้ เรามาดูความแตกต่างระหว่างหน้าที่ฟากับหน้าที่อื่นดู  จากตารางนี้นะครับ แกนตั้งหมายถึงสิ่งที่เน้น แกนนอนหมายถึงพื้นที่ทำงาน

จะเห็นว่า แกนตั้ง โค้ชกับเทรนเนอร์จะอยู่ด้วยกัน คือเน้นที่การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาในระดับบุคคล ส่วนที่ปรึกษากับฟาจะอยู่ด้วยกันคือพื้นที่การทำงานจะอยู่ระดับกลุ่ม องค์กร

ส่วนแกนนอน เทรนเนอร์กับที่ปรึกษาจะอยู่ด้วยกัน คือทั้งสองจะมอบคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ผู้รับบริการ และจะเน้นว่า “อะไร” ควรทำ

ในขณะที่โค้ชกับฟา จะจัดการค้นหาหนทางที่จะไปให้ถึง และเน้นว่า เราควรจะ “ทำอย่างไร”

เราจะเห็นว่า ฟาทำหน้าที่ช่วยหาหนทางไปถึงเป้าหมาย โดยแสวงหาคำตอบจากกลุ่มว่าจะทำอย่างไรนั่นเอง

ฟาสามัญคืออะไร

เอาละครับ เราได้รู้จักความหมายของฟาไปแล้ว ทีนี้กลับมาคำถามที่สอง แล้วฟาสามัญล่ะคืออะไร ต่างจากฟาพิเศษ หรือฟาอื่น ๆ ยังไง อันที่จริงก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ผมตั้งชื่อมันเพื่อเตือนใจตนเองว่าฟาไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่คนที่รู้ความลับของจักรวาลอะไรนั่น เพราะภายใต้วัฒนธรรมแบบเดิมที่เรามักจะยกย่องคนที่อยู่หน้าห้องในฐานะครูอาจารย์ที่ต้องได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษกว่าคนอื่น หรือมีคนมาชื่นชมเรื่องนั่นนี่ จนบางทีอาจจะเผลอไผลไปว่าเรานั้นเก่งกว่าใคร

ถ้าเรามองฟาในฐานะบทบาทการทำงาน เราอาจจะมองว่าฟาต้องมีทักษะอะไรบ้าง จะเป็นฟาที่เก่งได้อย่างไร มีเทคนิคดี ๆ อะไรบ้างที่จะทำให้คนประทับใจเราในฐานะที่เป็นฟา ประมาณนั้น

แต่ถ้าเรามองฟาในฐานะภาคปฏิบัติของคนที่มีความเชื่อชุดหนึ่ง ชุดที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความรู้ มีศักยภาพ แต่ถายใต้ระบบระเบียบโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมแบบที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน มันไม่เอื้อต่อการใช้ศักยภาพมนุษย์อย่างเต็มที่ มันมีการกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบให้คนไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมได้ ฟาจะเป็นคนที่ทำหน้าที่นี้ ทำหน้าที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างพลังอำนาจให้เท่าเทียม สร้างพื้นที่ให้ขัดแย้งกัน และสร้างทางเลือกหรือแผนงานสู่การเปลี่ยนแปลง

การฟา จะเป็นปฏิบัติการเพื่อสร้างความเท่าเทียม คืนศักยภาพในความเป็นมนุษย์ ท้าทายอำนาจกดขี่ และสร้างหนทางไป เริ่มจากในห้อง ในกลุ่มงาน ในเครือข่าย ไปจนถึงสังคมของเรา

ดังนั้น ในคลิปหน้า เราจะมาดูกระบวนการของการศึกษาของประชาชน ที่จะทำให้เราเห็นขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้เพื่อท้าทายความสัมพันธ์ทางอำนาจกัน