ฟาสามัญ ep.5
การฟัง 3 ระดับฉบับฟาสามัญ

การฟัง เครื่องมือสำคัญของฟาสามัญ

แน่นอนว่าการฟังเนี่ยเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จะต้องมีการฝึกฝนกันขึ้นมา ในที่นี้ เราจะมาพิจารณาการฟังในฐานะของเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับความเป็นมนุษย์มากขึ้น 

ฟาสามัญ เชื่อเรื่องมนุษย์มีปัญญา หมายถึงว่ามีความสามารถในการสร้างความรู้ได้และมนุษย์เนี่ยสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเองด้วยนะครับ เราเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ อีกมุมนึง เราสามารถสร้างความรู้ร่วมกันกับคนอื่นได้ นี่เป็นฐานความเชื่อหลักๆ ที่สำคัญที่แตกต่างไปจากความเชื่อแบบผู้กดขี่ ผู้กดขึ่ก็จะเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะสร้างความรู้เองได้ ไม่มีปัญญา เขาต้องเป็นผู้มอบปัญญาให้คนอื่น หรือว่าความรู้ของผู้ถูกกดขี่ไม่ได้สำคัญเท่าความรู้ของผู้มีอำนาจ สิ่งที่เขาทำ เขาก็จะมอบความรู้ให้ มอบสิ่งที่ดีให้ โดยที่เขาเป็นคนตัดสินไปแล้วว่า สิ่งนั้นมันดีต่อผู้รับหรือผู้ถูกกดขี่ หรือพยายามที่จะยัดเยียดความเชื่อแล้วบอกว่ามันดีกับผู้ถูกกดขี่ เพราะฉะนั้น ผู้กดขี่ไม่จำเป็นที่ต้องเรียนรู้เรื่องกันฟังมากนัก เขาอาจจะไปมุ่งเน้นเรื่องการสอน การพูดให้ดูดีน่าเชื่อถือ ทำให้คนอื่นเชื่อสิ่งที่เขาต้องการ เขาไม่ได้เชื่อว่าอีกคนมีความรู้ หรือเชื่อว่าตัวเองมีความรู้มากกว่าดีกว่า ฟาสามัญตั้งอยู่บนฐานของการที่มุ่งคืนความเป็นมนุษย์จากสังคมที่มีการกดขี่กัน ด้วยการมุ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจมันเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เครื่องมือสำคัญของฟาสามัญ มันจึงไม่ใช่การสอน แต่มันคือการฟัง

การฟัง 3 ระดับ

ในฟาสามัญที่เรามุ่งมองการฟังในฐานะที่เป็นเครื่องมือเสริมสร้างพลังอำนาจ เราจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับโดยแบ่งตามเป้าหมายในการฟัง ซึ่งมี 3 เป้าหมายในระดับแรก เราจะฟังเพื่อตัวเอง ระดับที่ 2  เราจะฟังเพื่อผู้พูด และในระดับที่ 3 เราเป็นการฟังเพื่อกลุ่ม

การฟังเพื่อตัวเอง

เราจะมาพิจารณาอันแรกก่อน ในการฟังเพื่อตัวเอง การฟังเพื่อตัวเองเนี่ยเป้าหมายมันมุ่งที่ตัวเราโดยเฉพาะเลยนะครับ เรารับสารมาเนี่ย เราจะรับสารมาได้ 2 แหล่งนะครับแหล่งแรกก็จะเป็นเสียงจากภายนอก และแหล่งที่สองเป็นเสียงจากภายใน ในแหล่งแรกที่เป็นเสียงจากภายนอกมันก็จะเป็นเรื่องของการฟังครูบาอาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย เราฟังเพื่อรับความรู้เข้ามา เราฟังเพื่อได้รู้ข้อมูลข่าวสารจากข้างนอก เพื่อที่จะให้เรารู้ได้ว่าตอนนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นในโลก ในสภาพแวดล้อม ในสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจอยู่ บางทีเราก็ฟังเพลง ฟังเรื่องราว ฟังนิทาน ฟังทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงอารมณ์บ้างเพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้รับรู้ถึงสภาวะต่างๆ ของตัวเราเอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราก็จะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของตัวเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ของเรา ความปลอดภัยของเรา ความเข้าอกเข้าใจของเรา แล้วก็การที่เราหล่อเลี้ยงอารมณ์ของเรา

ในส่วนที่ 2 ที่เป็นเสียงจากภายใน ก็คือเราจะฟังเสียงร่างกายของตัวเอง ฟังเสียงอารมณ์ของตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของฟาสามัญด้วยเหมือนกันนะครับ การเข้าใจอารมณ์ของเรา ความรู้สึกของเรา ความเชื่อของเรา หรือว่าร่างกายของเรา มันนำไปสู่การเข้าใจปฏิกิริยาของเราที่มีต่อสิ่งอื่นๆ ด้วย บางทีมีเสียงจากภายนอกเข้ามา เป็นเสียงด่า เสียงชม หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เราชอบใจหรือไม่ชอบใจ เวลาเรารับรู้ข้อมูลข่าวสารจากข้างนอกเข้ามา มันจะมีเสียงจากภายในของเราด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเสียงของความไม่ชอบ ของความโกรธ ของความเกลียด ซึ่งเราก็จะต้องฟังมัน เพื่อความเข้าอกเข้าใจตนเอง เข้าใจ-รู้ว่าสภาวะปัจจุบันของเราเนี่ยเป็นอะไรอยู่ บางทีเรากำลังทำการฟาอยู่ กำลังฟังคนอื่นอยู่ มันอาจจะเกิดสภาวะอะไรบางอย่างอยู่ภายในของเรา เป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบ หรือว่ามีไหล่แข็งขึ้นมา ปวดเอวปวดหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นจุดสังเกตได้ที่เราสามารถที่จะฟังได้ เพื่อให้เราเข้าใจสภาวะว่าเรากำลังตอบโต้กับสิ่งต่างๆ ที่มากระทบกับเราเป็นอะไรบ้าง จะเห็นได้ว่าทั้งสองส่วนเองมันมุ่งไปที่ตัวเราเป็นหลัก ที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา 

ทีนี้ แน่นอน เนื่องจากมันเป็นการฟังเพื่อตนเอง เราจึงสามารถที่จะตัดสินได้ครับ เป็นขั้นตอนที่เราชอบหรือเราไม่ชอบ – เราตัดสินได้เลย เราไม่อยากฟัง ไม่อยากรับรู้เรื่องนี้ เราสามารถเลือกคัดกรองได้ว่าข้อมูลบางอย่างเราไม่โอเค เราไม่ชอบ เราไม่อยากฟัง เราไม่อยากรับรู้ หรือว่าคิดว่าไม่สำคัญ เรามีการทำเรื่องนี้เป็นปกติ มนุษย์มีความสามารถในการจัดการสิ่งเหล่านี้เป็นปกติ แต่สิ่งที่มันจะทำให้มันสิ่งเหล่านี้มันผิดปกติก็คือ เราไม่รู้ตัวว่าเราทำการตัดสินมัน เราไม่รู้ตัวว่าเราคัดกรองข้อมูลที่อาจจะมา 100 แต่ว่าเราไม่ชอบมัน 30% เราเลยรับมาแค่ 70% แล้วเราไม่รู้ตัวว่าเราคัดกรองไป 30% มันทำให้เรารับรู้โลกได้ไม่หมด ไม่ครบ ถ้าเรารับรู้ เราก็จะเผื่อใจไว้สำหรับที่เราจะผิดพลาดได้ เราจะเผื่อใจไว้สำหรับการฟังคนอื่นต่อไปด้วย ไม่ได้ไปตัดสินแล้วจบว่า เรื่องนี้ผิด เรื่องนี้ถูกทันที แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลงมัน แต่ให้เรารับรู้ว่า เราเป็นมนุษย์ เรามีอคติได้ เราเป็นมนุษย์ เราเลือกคัดกรองข้อมูลเป็นปกติ คือถ้าเราอยู่กับการไม่ตัดสินตลอดเวลา อยู่กับการรับข้อมูลข่าวสารทุกชนิดที่เข้ามาในตัวเราตลอดเวลา ผมว่ามันไม่ปกติครับชีวิตมนุษย์ มันก็จะแบบ… รับข้อมูลเยอะแยะมากมายตลอดเวลา ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย แต่สิ่งสำคัญมันไม่ใช่เรื่องของการฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างรับรู้ข้อมูลทั้งหมดอะไรอย่างนั้นนะครับ มันไม่ใช่อันนั้น แต่มันคือการรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และการรู้เช่นนี้เราจึงเผื่อใจไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงหรือการตัดสินใจผิด เรายอมรับได้ที่เราผิด แล้วเราก็พร้อมรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาอีก นี่คือการฟังเพื่อตัวเอง

การฟังเพื่อผู้พูด

มาดูกันที่การฟังแบบที่ 2 นะครับคือการฟังเพื่อผู้พูด การฟังแบบนี้จะมุ่งประโยชน์ของตัวผู้พูดเป็นหลัก คือในสังคมที่มีการกดขี่ มันจะมีการสร้างวัฒนธรรมเงียบขึ้นมา ก็คือวัฒนธรรมที่ทำให้คนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความรู้สึกของตัวเอง ไม่กล้าแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ความคิดอะไรของตัวเองออกมา หรือถ้าพูดมันออกมาก็จะถูกพิพากษา ตัดสิน ลงโทษ ถูกเยอะเย้ยต่างๆ นานา มันเลยทำให้คนจำนวนหนึ่งโดยเเฉพาะผู้ถูกกดขี่ ไม่สามารถที่จะนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกมาได้อย่างจริงจัง มันก็ไปปรากฏในรูปลักษณ์อื่นๆ อาจจะเป็นความเก็บกด ความโกรธ ความเสียใจ เป็นโรคทางจิตเวช เป็นอะไรอย่างอื่นอีกเยอะแยะมากมาย สิ่งที่ฟาสามัญพยายามที่จะทำก็คือทำให้คนรู้สึกปลอดภัย ที่เขาจะพูดออกมาได้โดยที่จะไม่ถูกพิพากษา ไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกถูกลงโทษ อีกส่วนนึงคือทำให้เขารู้สึกว่าเขามีค่ามากพอที่จะมีคนฟัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฟาสามัญจะนั่งฟังเขาไปเรื่อยๆ นั่งฟังไปไม่รู้จบ นั่งฟังอะไรก็ได้ การฟังของฟาสามัญเนี่ยมันมีเป้าหมายของมันอยู่

เป้าหมายแรกก็คือทำให้ผู้พูดนี้นะครับรู้สึกถึงความปลอดภัยที่เขาสามารถที่จะพูดแสดงความรู้สึก ความคิด แสดงการตัดสินใจของเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์ ในฐานะเป็นผู้กระทำการออกมาได้ แบบที่ 2 ก็คือเขาจะได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตัวเองว่าเขามีค่ามากพอที่มีคนฟังอย่างน้อย 1 คน การฟังของฟาสามัญ ต้องทำให้ผู้พูดรับรู้ได้ว่ามีคนฟังเขาอยู่ เข้าใจสิ่งที่เขาพูดและพร้อมที่จะฟังเขาเพิ่มเติมในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ที่มีปัญญาและก็สามารถสร้างความรู้ของตัวเองขึ้นมาได้ 

แต่ในบางครั้งเราก็จะเจอกับผู้ที่ไม่กล้าพูด พูดน้อย พูดไม่กี่คำ พูดสับสน พูดตะกุกตะกัก ซึ่งหลายครั้งก็จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดที่จะต้องมานั่งฟัง แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเกิดขึ้นจากการที่เขาถูกไม่ฟังมานาน ถูกลงโทษ ถูกตัดสิน ถูกพิพากษามานาน มันทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจที่จะนำเสนอสิ่งต่างๆ ออกมาหรือว่าไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะในการพูดที่เป็นเรื่องเป็นราว ชัดเจน ฉะฉาน สิ่งที่ฟาสามัญจะต้องทำในการฟังเพื่อผู้พูดก็คือทำให้เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัย รู้สึกว่ามีคนฟังก็คือ การฟัง การรอ แล้วก็ทบทวนสิ่งที่เขาพูดออกมาให้เขารับรู้ว่าเราได้ยินเขา เราเข้าใจเขาจริงๆ

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จริงๆ ก็จะกลายเป็นการที่ไปเสริมสร้างพลังอำนาจของเขาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เขาได้หวนกลับมา เรียนรู้ เรียบเรียงคำพูดของตัวเองให้มากขึ้น และกล้าที่จะพูดสิ่งต่างๆ ที่เขาคิดอยู่ รู้สึกอยู่ออกมาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทางกลับกัน บางทีเราก็จะไปเจอคนที่พูดมาก พูดเยอะ พูดยาว ยกตัวอย่างเยอะ พูดวนซ้ำ พูดในประเด็นเดิมๆ ซึ่งหลายครั้งมันอาจจะเป็นไปได้ว่าเขามีความปรารถนาบางอย่างที่เขาไม่สามารถที่จะพูดออกมาตรงๆ เขาก็อาศัยวิธีการพูดอ้อมๆ หรือบางครั้งเขาอาจจะรู้สึกว่าเขาพูดออกไปแล้วคนฟังอาจจะยังไม่เข้าใจ เขาจึงต้องพยายามที่จะอธิบายเพิ่มเติม หรือว่าพูดซ้ำๆ จนกว่าเขาจะรู้สึกว่าผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดได้ สิ่งที่ฟาสามัญต้องจะต้องทำคือทำให้เขารู้สึกได้ว่ามีคนฟังเขาจริงๆ รอที่จะฟัง แต่ก็พร้อมที่จะแสดงความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เขาพูดไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะต้องมีการพยายามที่จะทบทวนในสิ่งที่เขาพูดออกไป บอกว่าเราได้ยินอะไรให้เขาได้ยินแล้วเขาจะได้รับรู้ว่ามีคนฟังเขาจริงๆ

ในขณะที่ในการฟังแบบที่ 1 การฟังเพื่อตัวเอง เราจะต้องพึ่งพาการตัดสิน การประเมินค่าและการคัดเลือกข้อมูลข่าวสาร แต่ว่าในการฟังเพื่อผู้อื่นนั้นเราจะต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าสิ่งที่ผู้พูดพูดออกมาเป็นสถานการณ์ของเขา เราในฐานะผู้ฟังเราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าเขาก็เผชิญกับสถานการณ์อะไรบ้าง เราจะไม่มีโอกาสได้รู้ว่าเขาเผชิญกับเรื่องอะไรมาบ้างที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น รู้สึกแบบนั้น ดังนั้น สิ่งที่เราทำมันจึงไม่ใช่เป็นการตัดสินว่าเขาดีหรือเลว เราต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่าในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คือส่วนหนึ่ง กับในฐานะที่เขาพูดออกมา ในเนื้อหาสิ่งที่เขาพูดออกมา โอเคว่าในเนื้อหาสิ่งที่เขาพูดออกมา มันอาจจะขัดต่อความเชื่อเรา มันอาจจะขัดต่อค่านิยมที่สังคมยึดถือ ขัดต่อการต่อเป้าหมายต่างๆ แต่ว่านั่นเป็นเพียงสิ่งที่เขาคิดออกมา นำเสนอออกมา แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเลย สิ่งที่เราจะต้องทำในฐานะที่เป็นการฟังเพื่อผู้พูด คือเรามุ่งตรงไปที่ตัวผู้พูดเป็นหลัก ยอมรับเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์ รู้สึกปลอดภัยมากพอ หลังจากนั้นเราจะเชื่อมั่นในกระบวนการทางปัญญาของเขา หรือว่าของร่วมกันระหว่างเรากับผู้พูด ในการที่จะร่วมกันสร้างปัญญา สร้างความรู้ หลังจากที่เราได้ฟังกันและกันแล้ว กระบวนการฟังเหล่านี้จะช่วยให้เขาสงบลง นิ่งลง และมีเวลาที่จะพิจารณาความรู้ ความรู้สึก ความคิดของตัวเอง เพื่อที่จะเรียบเรียงมันออกมาอย่างที่ตัวเองรู้สึกได้จริงๆ ดังนั้น การฟังเพื่อพูดที่มากพอ มันจะช่วยกรอง ช่วยเรียบเรียง ช่วยขัดเกลา ความรู้สึกของเขา ความคิดของเขาให้คมขึ้นชัดขึ้น แล้วก็เป็นสิ่งที่เขาปรารถนามาจากข้างในของเขาเองได้จริงๆ ฟาสามัญจะช่วยฟื้นฟูความสามารถในความเป็นมนุษย์ของผู้พูดได้ด้วยการฟังในระดับนี้

การฟังเพื่อกลุ่ม

ในการฟังแบบที่ 3 นะครับคือการฟังเพื่อกลุ่ม การฟังเพื่อกลุ่มจะแตกต่างจากการฟังแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 ในแง่ที่ว่า โอเค 1.มันมุ่งที่ตัวประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลัก ซึ่งในการฟังทั้ง 3 แบบนี้นะครับ โอเค เราไม่ได้ฟังแค่เสียงของผู้พูดทั้งหลายที่เราได้ยินเท่านั้น ไม่ใช่แค่ตัวเสียงเท่านั้น แต่ว่าเราสังเกตสิ่งอื่นด้วยนะครับซึ่งเป็นสารที่มันส่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง น้ำเสียง บรรยากาศการพูดคุย ตำแหน่งแห่งที่ของคนนั่ง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พูด ผู้ฟังและคนอื่นๆในกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องฟังมันทั้งหมดด้วยเช่นกัน ในการฟังแบบกลุ่ม เราต้องอาศัยการฟังแบบนี้เยอะขึ้นมากๆ ก็คือมองเห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของสมาชิกในกลุ่ม ในการฟังเพื่อกลุ่มนี้นะครับ เราจะไม่ได้ฟังที่ตัวคนเป็นหลักเหมือนแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 ที่จะมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่การฟังเพื่อกลุ่ม มันจะฟังที่การได้ยินเสียงของกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่ามันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นตัวคนจำนวนมาก แต่ว่าเราไม่ได้มุ่งไปที่ว่าใครเป็นคนพูดเป็นหลัก บางทีเราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนพูด แต่เรามุ่งที่ในฐานะที่เขาเป็นสมาชิกของกลุ่ม 

ฟาสามัญจะฟังสิ่งที่สมาชิกพูด แล้วก็ทำให้สมาชิกคนอื่นได้ยินสิ่งที่สมาชิกท่านนั้นพูดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเล็กเสียงน้อย เสียงของคนที่ด้อยอำนาจในกลุ่ม ต้องถูกทำให้ได้ยินในกลุ่ม โดยเป้าหมายก็คือว่าเรามุ่งให้กลุ่มบรรลุสิ่งที่ต้องการร่วมกัน ในการฟังแบบที่ 3  เราฟังอะไร สิ่งที่สมาชิกกลุ่มเนี่ยมักจะส่งสารถึงกันและกันเนี่ย มันก็จะเป็นเรื่องของเป้าหมายของกลุ่ม เป็นสถานการณ์ของตัวเอง เป็นสถานการณ์ของกลุ่มเป็นมุมมองของเขา ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน อาจจะมีตัวข้อเสนอ ตัวทางแก้ ตัวความรู้สึก สิ่งที่ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลข่าวสารที่ส่งกันไปมาอยู่ในกลุ่ม ดังนั้น สิ่งที่ฟาสามัญจะต้องฟัง มันก็ต้องฟังเพื่อที่จะมองให้เห็นว่า กลุ่ม ณ ตอนนี้สถานการณ์ของกลุ่มเป็นอย่างไร อุณหภูมิของกลุ่มเป็นยังไง กำลังเดือด กำลังเย็น กำลังมีความสุขสนุกสนาน หรือเป็นทุกข์ เราต้องได้ยินสิ่งเหล่านี้ 

เป้าหมายของกลุ่ม ณ ตอนนี้เป็นยังไง ยังคงอยู่ในเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก หรือว่าเปลี่ยนเป้าหมายไปแล้ว หรือว่าลดขนาดเป้าหมายลง เราก็จะมองเห็น ฟัง ได้ยินสิ่งเหล่านี้ การฟังข้อมูลข่าวสารของสมาชิกในกลุ่ม นำไปสู่การรับรู้กลุ่ม ได้ยินกลุ่ม การเข้าใจกลุ่ม ว่ากลุ่ม ณ ตอนนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ฟาจะต้องขยับต่อก็คือการชวนให้กลุ่มเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งการเคลื่อนไปข้างหน้าของกลุ่มนี้นะครับก็คือมันต้องผ่านการตัดสินใจบางอย่าง จากข้อมูลที่มี จากมุมมองที่ได้ จากสถานการณ์ที่เราค้นพบร่วมกันในกลุ่ม ซึ่งมันก็ต้องอาศัยทักษะอื่นๆ เช่น การถาม การชวนให้ตัดสินใจ เป็นต้น ในการที่จะชวนให้คุณไปข้างหน้าต่อ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ฟาเองก็ต้องฟังกลุ่มให้ได้ยินก่อน และก็มั่นใจให้ได้ว่า ทุกๆ คนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มสามารถได้ยินสิ่งที่กลุ่มพูดออกมา ส่งสารออกมาได้ด้วย

การฟังกลุ่มที่ดีนะครับ มันจะช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจของสมาชิกในกลุ่มได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในกลุ่มที่รู้สึกถึงอำนาจของตัวเองน้อย คนที่เป็นผู้ถูกกดขี่มานาน ก็จะรู้สึกถึงตัวเองในกลุ่ม รู้สึกพื้นที่ของตัวเองในกลุ่มที่ได้รับการยอมรับ ที่ได้รับการมองเห็นในขณะที่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก็จะนำไปสู่การเสริมสร้างพลังอำนาจของกลุ่มด้วยเช่นกัน ก็คือมันจะเป็นกลุ่มที่มันมีสุขภาพที่ดี มันมีภาวะที่ได้ยินกันและกัน ปัญญาของทุกคนได้ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน 

ดังนั้น ในการฟังกลุ่มที่ดี มันจึงไม่ใช่แค่ทักษะส่วนบุคคลอย่างเดียว คือไม่ใช่ว่าฟาสามัญสามารถที่จะตั้งใจฟังคนในกลุ่มได้ดีโดยตัวของฟาเอง แต่จริงๆ แล้วการฟังกลุ่มที่ดี มันจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงสร้างของกลุ่มที่เอื้อต่อการได้ยินกันและกัน แบบเป็นกลุ่มได้ดีจริงๆ ซึ่งเราพูดเรื่องนี้ในตอนที่เราพูดถึงเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เช่น การสร้างคู่บัดดี้ การสร้างกลุ่มฐาน การมีช่องทางในการ feedback ของกันและกัน การมีโครงสร้างการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสารต่างๆ หลากหลายมากพอที่จะทำให้เสียงทุกเสียง มีโอกาสที่จะถูกได้ยินมากที่สุด 

นอกจากนั้น ฟาสามัญเองก็ต้องมีทักษะแบบที่ 1 กับแบบที่ 2 ด้วย คือรู้ว่าตัวเองฟังแบบไหนอยู่ บางครั้งฟาอาจจะต้องกลับมาที่การฟังเพื่อตัวเอง การฟังเสียงภายในของตนเอง การฟังเพื่อความเข้าใจของตัวเองเพื่อที่จะไปข้างหน้าได้ เพื่อที่จะมองเห็นว่าจะตัดสินใจอะไรในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มได้ หรือบางครั้งเราจำเป็นที่จะต้องฟังผู้อื่น-ฟังผู้พูดอย่างตั้งใจ เพื่อให้เขารับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองในกลุ่ม และก็มาฟังในฐานะที่เป็นฟังเพื่อกลุ่ม มองให้เห็นว่าตอนนี้กลุ่มต้องการอะไร ต้องการที่จะไปทางไหน

ดังนั้นการฟังทั้ง 3 แบบ มันจะถูกสลับปรับเปลี่ยนกันตลอดเวลาในช่วงเวลาหนึ่งๆ ใน 1 วัน ใน 1 Session นั่นหมายถึงว่าฟาเองก็จะต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่าตอนนี้กำลังฟังอยู่ที่หมวดไหน อยู่ที่ระดับไหน

สรุป

ก็จบลงไปแล้วนะครับ สำหรับการฟัง 3 แบบซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของฟาสามัญในการที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมแล้วก็เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ 

เรายังมีเครื่องมือสำคัญๆ อีกหลายแบบอีกหลายเรื่องนะครับ เช่น เรื่องการถาม การตั้งคำถาม การโอบอุ้มดูแลวง การขับเคลื่อนวงไปข้างหน้า ซึ่งเอาไว้ถ้าเรามีโอกาสนะครับเราก็จะมาพูดคุยกันถึงเรื่องนี้กันต่อไป