#ผีพระ : การตกหล่นจากสารบบ ทะเบียนและหน้าประวัติศาสตร์

อนันทชัย วงศ์พยัคฆ์

1

เสียงร้องเตือนกระชั้นถี่ของนกกะปูดสองสามตัวดังมาจากพุ่มไม้ใกล้บ้าน บอกให้รู้ว่าน้ำในคลองลดสุดแล้ว อีกไม่เกินหนึ่งชั่วโมงน้ำจะค่อยๆ ไหลขึ้น       

มันคือยามเช้าของวันแรม ๔ ค่ำ

ผมซดกาแฟที่เหลือติดก้นแก้วจนหมด จัดเตรียมมีดพร้า  แกลลอนน้ำดื่มและขนมที่ใช้เป็นมื้อกลางวันสำหรับงานในสวนจาก นี่เป็นภาพกิจวัตรของคนทำสวนจากในลุ่มแม่น้ำกระบุรี  ที่ต้องใช้เรือล่องไปในลำคลองเพื่อเดินทางไปยังสวนจาก    

๒ ชั่วโมงถัดมาขณะแล่นเรือไปถึงคุ้งน้ำสุดท้ายของลำคลอง ก่อนจะเทียบเรือเข้าจอดริมฝั่งซึ่งตลอดแนวเต็มไปด้วยต้นลำพูและแสม  ดอกลำพูร่วงลงสู่ผิวน้ำห่มคลุมจนแลดูเป็นสีม่วงละลานตา  ทอดสายตาออกไปทางทิศตะวันตกเป็นปากคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำใหญ่ ‘แม่น้ำกระบุรี’ แลเห็นทิวเทือกเขาซ้อนกันเป็นลอนคล้ายกับคลื่นทะเลที่ถูกแช่แข็งด้วยกาลเวลา ภาพผืนน้ำ ขอบเขาและโค้งฟ้าที่มองดูคล้ายภาพปฏิมากรรมซึ่งปรับเปลี่ยนสีสันไปตามช่วงเวลาของวัน

เมื่อเราอยู่กับความรู้สึกเฉพาะหน้าก็จะสัมผัสความงดงามของสีสันและอารมณ์ของปัจจุบันขณะ  แต่เมื่อเพ่งลึกลงไปใต้ผืนน้ำ ทะลุชั้นเมฆ ข้ามโขดเขาสู่วันเวลาเก่าๆ อารมณ์หม่นเทาก็เข้าโถมทับความรู้สึก เมื่อผมระลึกนึกถึงเรื่องราวของผู้คนที่ได้เข้าไปรับรู้


2

แม่น้ำกระบุรีมีต้นกำเนิดจากลำห้วยลำคลองสายเล็กๆ จากผืนป่าด้านใต้สุดของเทือกเขาตะนาวศรี ก่อนจะไหลรวมกันเป็นสายน้ำแผ่กว้างออกไปและออกสู่อันดามันที่ปากน้ำระนอง  อีกฟากฝั่งของปากแม่น้ำคือ ‘วิกตอเรียพ้อยต์’หรือ’เกาะสอง’ปลายแหลมใต้สุดของแผ่นดินสหภาพเมียนมาร์  นับจากปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นต้นมา ทั้งแม่น้ำกระบุรีและเทือกเขาตะนาวศรีถูกกำหนดให้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนตามธรรมชาติระหว่างรัฐไทยกับพม่า ดินแดนอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเวลานั้น        

ตอนเป็นเด็กเริ่มจำความได้บ้าง ยังเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่บางคนยังเรียกฝั่งพม่า(ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกระบุรี) ว่า “ฝ่ายหรั่ง” และผู้เฒ่าคนเดิมยังโอ้อวดที่มาของขวานเล่มที่แกแบกว่า “ขวานหรั่ง” ด้วยวัยของแกขณะนั้นก็อนุมานได้ว่าแกคงเกิดและโตทันยุคปลายที่อังกฤษปกครองพม่า  ส่วนคนรุ่นพ่อของแกอาจเกิดทันยุคที่สยามทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนกับมหาอำนาจตะวันตก และคนรุ่นทวดรุ่นปู่ รุ่นทวดของแกอาจเกิดในยุคที่อยุธยาสูญเสียอิทธิพลเหนือพื้นที่ มะริด ทวาย ตะนาวศรี      


3

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ผมมีโอกาสได้รู้จัก ‘คุณยายเสริม อุปถัมภ์’ ที่ชุมชนซอยสิบ อำเภอเมือง ระนอง  ยายเสริมเป็นอีกหนึ่งคนไทยซึ่งเกิดและโตในตำบล ‘บกเปี้ยน’ มณฑลตะนาวศรี  วันวัยก็คงไล่เลี่ยกับผู้เฒ่าคนแรก ต่างกันตรงที่ ‘ยายเสริม’ เกิดและโตอยู่คนละฟากฝั่งแผ่นดิน ผ่านพบประสบการณ์คนละชุด

บรรพบุรุษเป็นคนถลาง คนรุ่นตารุ่นทวดพากันหนีสงคราม หนีมาจนมาตกอยู่เมืองกะทิ้ง   เมืองกะทิ้งเป็นเมืองไทยนะ ไม่ใช่เมืองพม่า  ตอนหลังอังกฤษมันแผ่บารมีมาปกคลุมพอเสร็จสงครามโลกครั้งที่สองก็ยกให้เป็นดินแดนพม่าไปเสีย  พอยายย้ายมาอยู่เมืองไทย คนไทยก็ว่าพม่า ก็แล้วแต่จะสมมุติกัน

ยายเสริมเคยบอกเล่าความทรงจำที่ได้รับการถ่ายทอดมา

ยายเสริมเสียชีวิตด้วยโรคชราในขณะที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย มีสถานะเป็น ‘ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย’ ตามที่สภาความมั่นคงกำหนด  ‘ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย’ คือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่รัฐไทยเรียกคนไทยด้วยกัน แต่เป็นคนไทยที่กาลเวลาทำหล่นไว้บนผืนแผ่นดินใต้สุดของพม่า ‘มณฑลตะนาวศรี’  

จะว่าไปแล้วถ้าจะอ้างอิงประวัติศาสตร์รัฐชาติซึ่งเน้นความสำคัญไปที่ศูนย์กลางอำนาจ ก็ต้องบอกว่าความเกาะเกี่ยวของคนสายเลือดไทยที่นั่นกับคนไทยที่อาศัยอยู่ด้านทิศตะวันออกบนแผ่นดินรูปขวานนั้นได้เริ่มห่างออกไปนับแต่กรุงศรีอยุธยาเสียอำนาจควบคุมเหนือหัวเมืองทั้ง ๓ ซึ่งประกอบด้วย มะริด  ทวาย และตะนาวศรี แต่ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้วลักษณะรูปทรงของขวานก็เปลี่ยนรูปไปมาไม่คงที่ตามแต่ความสามารถของพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคซึ่งรูปแบบการปกครองในลักษณะอาณาจักรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขตแดน หากต้องการความยอมรับนับถือ การแสดงความสวามิภักดิ์  การส่งส่วย ส่งเครื่องราช ส่งเสบียงและช่วยกะเกณฑ์กำลังคนในยามศึกตามแต่ศูนย์อำนาจจะร้องขอเท่านั้น   ส่วนผู้คนภายใต้ปกครองของหัวเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรีก็คงมีอิสระในการไปมาหาสู่เชื่อมความสัมพันธ์กันเชิงเครือญาติ การค้าขายแลกเปลี่ยนในฐานะผู้คนร่วมวัฒนธรรมเดียวกันกับเมืองบางสะพาน ชุมพร กระบุรี ระนอง สืบเนื่องมา   

เข้าใจว่าความ ‘ต่างแผ่นดิน’ ความเป็น ‘คนอื่น’ ในสายตารัฐไทยจะเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมๆ กับการปรากฎขึ้นของรูปแผนที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ตามแรงบีบของมหาอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศสที่กำลังขนาบซ้าย-ขวา ในตอนนั้น  สยามจึงค่อยๆ ปรับตัวรับแนวคิดระบบรัฐชาติ แนวคิดอธิปไตยเหนือดินแดนตามแบบตะวันตกนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา         

ผมเคยคุยกับ ‘ตาเจียร ซุยยัง’ แกเป็นคนสูงอายุ เป็นกลุ่มคนเชื้อสายไทยกลุ่มแรกๆ ที่อพยพกลับมาตั้งรกรากในเขตแดนไทยหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ (พ.ศ. ๒๔๙๑)   ‘ตาเจียร’ เล่าว่าเหตุผลของการอพยพตอนนั้นคือคาดว่าเมื่อประเทศพม่าเปลี่ยนผู้ปกครอง ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นและคงต้องกระทบต่อคนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นแน่แท้    นอกจากนี้แกก็ยังติดตามข่าวคราวความเป็นไปในประเทศไทยด้วย แกจำเหตุการณ์ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ ว่าขณะนั้นแกเข้าสู่วัยหนุ่มและอาศัยอยู่ที่ชุมชนตลาดสุหรี ฝั่งอาณานิคมอังกฤษ  ที่บ้านมีวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องหนึ่ง ก็เปิดรับรู้ข่าวสารจากเมืองไทย เหตุการสำคัญคือการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘   คนไทยที่นั่นยังแต่งบทกลอนที่แสดงออกถึงความรู้สึกผูกพัน  “เมืองไทยในสมัยแปดเก้า มีเหตุแสนเศร้า  เมื่อวันที่เก้ามิถุุนา..” ตาเจียร จำเนื้อร้องได้แค่นั้นด้วยว่าเหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานเต็มที  แรกเข้ามาแกมาอยู่กับญาติๆ และคนรู้จักที่นับถือกันที่ตำบลปากจั่นเป็นชุมชนเส้นทางการค้าวัว ควายและช้างที่แกทำอยู่  แล้วต่อมาจึงย้ายไปอยู่คุระบุรี จังหวัดพังงา ไปมีภรรยาและอาศัยอยู่ที่นั่นตลอดมา

ตาเจียรเสียชีวิตในวัยเก้าสิบปีเศษ ในฐานะพลเมืองสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์เพราะกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนและออกบัตรประชาชนให้ราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๖  คือหลังจากตาเจียรย้ายมาอยู่ในประเทศไทยแล้วเป็นเวลาหลายปี  ตาเจียรจึงเข้าออก และอยู่อาศัยในยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบบุคคล 

อย่างที่รับรู้กัน หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง โลกถูกแบ่งเป็น ๒ ค่ายตามอุดมการณ์ความชื่อ หนึ่งคือโลกเสรีประชาธิปไตย อีกหนึ่งคือค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์   เมื่อพลพรรค ‘ก๊กมินตั๋ง’ ถูกกองทัพประชาชนจีนของ ‘ประธานเหมา’ ตีแตกถอยร่นลงทางใต้   ส่วนน้อยถอยร่นเข้าพม่า ลาวและไทย รัฐบาลไทยเมื่อเลือกฝ่ายอยู่กับค่ายโลกเสรีก็ต้องอ้าแขนรับผู้แพ้ ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามตัวแทนที่เรียกให้น่ารักว่า ‘สงครามเย็น’ เอาไว้ในฐานะที่เลือกเชื่อลัทธิเดียวกัน   และจัดให้พลพรรคก๊กมินตั๋งเป็นชนกลุ่มน้อยในชื่อ ‘อดีตทหารจีนคณะชาติ’  ส่วนชาวบ้านที่ไม่ใช่ทหารก็กำหนดให้เป็น ‘จีนฮ่อพลเรือน’ ‘จีนฮ่ออิสระ’  การสิ้นสุดของสองครามโลกยังทำให้มี ‘เนปาลอพยพ’ เข้ามาด้วย   เมื่ออังกฤษถอนตัวจากพม่า ชนชาติต่างๆ ในพม่าก็จับอาวุธห้ำหั่นกัน เกิดคลื่นผู้อพยพเข้าไทย กลุ่มคนเชื้อสายไทยก็อพยพเข้ามาในคราวนี้เอง   โชคร้ายที่โลกแบ่งเป็น ๒ ค่ายทำให้ผู้ปกครองรัฐไทยขณะนั้น มองคนสายเลือดไทยด้วยกันอย่างระแวงด้วย เพราะอพยพมาจากประเทศที่มีอุดมการณ์ความเชื่อแตกต่างกัน  จึงกำหนดให้คนไทยร่วมประวัติศาสตร์มีฐานะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ชื่อ ‘กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย’  ส่วนผู้อพยพอื่นที่มิได้เป็นคนเชื้อสายไทย ก็จัดรวมให้เป็น’ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า  หรือในส่วนผู้อพยพรุ่นหลังๆ ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่าเป็นการอพยพด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ จึงกำหนดสถานะให้เป็น’ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า’ กลุ่มหลังนี้ยังจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทคือ กลุ่มที่เข้ามาแล้วมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กับอีกกลุ่มคือพวกเร่ร่อนแรงงาน


4

ด้านทิศตะวันออกของไทยก็มีกลุ่ม ‘เวียดนามอพยพ’  เข้ามาหลังไซ่ง่อนแตก  โดมิโน่คอมมิวนิสต์ยังล้มต่อไป ทำให้มี’กลุ่มชาวลาวอพยพ’ ‘กลุ่มผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกง’ ‘กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองเชื้อสายไทยจากเกาะกง’ ‘กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา’ ‘กลุ่มโจรจีนคอมิวนิสต์มลายา’ ‘กลุ่มไทลื้อ’ ‘กลุ่มชนบนพื้นที่สูง’ ‘กลุ่มม้งสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก  ฯลฯ               

คนธรรมดาๆต้องตกเป็นผู้รับผลกระทบจากการปะทะกันของ ๒ ความเชื่ออุดมกาณ์ และรัฐไทยก็ดำเนินนโยบายกับชนกลุ่มน้อยบนฐานของความหวาดระแวง ดังปรากฎหลักฐานชัดในเรื่องการควบคุมจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหว จำกัดสิทธิต่างๆต่อบรรดาชนกลุ่มน้อย เช่น ควบคุมให้อยู่ในเขตเฉพาะอำเภอ จังหวัด  หากจะเดินทางออกนอกเขตต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอในเวลาต่อมา   

คนเชื้อสายไทยหรือคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพมาจากเขตประเทศพม่า ทางราชการมีนโยบายกำหนดให้เป็นชนกลุ่มน้อย   แบ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาก่อน ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ กับหลัง วันเวลาดังกล่าว   ไม่รู้เหตุผลว่าทำไม่ทางราชการจึงกำหนดวันเวลาให้มีผลต่ออนาคตของคนไทยพลัดถิ่น  แต่เข้าใจได้ว่าขณะนั้นรอบบ้านเราล้วนเป็นสมรภูมิสู้รบของ ๒ ลัทธิ ประเด็นความมั่นคงของรัฐจึงมีความสำคัญ  การกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนก็เพื่อบล๊อคจำนวนคน กับปริมาณงานที่ต้องทำ   วันเวลายังถูกใช้เป็นเครื่องกลั่นกรองขัดเกลา’ความเป็นไทย’ เพื่อจะได้พิจารณาว่าใครควรจะได้รับการอนุมัติให้ ‘แปลงสัญชาติเป็นไทย’ ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๑๐ วรรค ๒                       

ต่อมาเมื่อเกิดขบวนชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่น รวมตัวเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ จนมีผลให้พรบ.สัญชาติฉบับแก้ไขครั้งที่ ๕ เกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับ เมื่อ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕  ทำให้คนเชื้อสายไทยตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด(มาตรา ๓  มีสิทธิได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเมื่อผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ(มาตรา ๔ วรรค  ๙.๕) สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการแปลงสัญชาติไปก่อนแล้ว ก็ให้ได้รับสัญชาติตามพรบ.ฉบับนี้ด้วย(มาตรา ๕)   

คนเชื้อสายไทยหรือที่คนทั่วไปอาจเรียกว่า “คนไทยพลัดถิ่น” หรือเรียกด้วยท่าทีกดทับว่า “คนกะริด”(คนมะริด ซึ่งอาจได้ยินคำนี้ในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ)  “คนฝ่ายม่า” (ฝ่ายพม่า) “คนฝ่ายท่า” (ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกระบุรี อาจได้ยินคำนี้แถวอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง) “คนลิวัลย์”(ตำบลมลิวัลย์ อยู่ในอำเภอเขมาจี จังหวัดเกาะสอง  อาจได้ยินคำนี้ในเขตอำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง)  “คนสองน้ำ” (คำนี้จะได้ยินในเขตอำเภอเมืองระนอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่หลายคนก็มักใช้คำนี้แทนนิยามคนไทยพลัดถิ่น  ไม่ว่าคนพูดจะมีเจตนากดทับ หรือเป็นด้วยความไม่ใส่ใจต่อประวัติศาสตร์ของคนร่วมสายเลือดก็ตาม แต่คำเรียกข้างต้นสร้างความโกรธเคือง ความน้อยเนื้อต่ำใจให้คนไทยพลัดถิ่นอย่างยิ่ง  

“คนไทยพลัดถิ่น” นั้นหากเดินทางเข้าประเทศไทยและเข้ารับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติกับทางราชการจะแบ่งเป็น ๑) กลุ่มเข้าก่อน ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  ๒)กลุ่มที่เข้าหลัง ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และ ๓)กลุ่มที่เข้ารับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล (กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเดิม แต่ตกสำรวจ)   แต่อำนาจการเปิดสำรวจนั้นเป็นอำนาจส่วนกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรี หากไม่สั่ง ไม่อนุมัติงบประมาณเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็ทำไม่ได้   ทำให้ความเป็นจริงที่พบคือ มีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่ง ‘ขึ้นทะเบียนผิดกลุ่ม’ และหลายรายอาจยังไม่มีหลักฐานแสดงตัวใดๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องอำนาจในการเปิดสำรวจอยู่ส่วนกลาง เช่น คนไทยพลัดถิ่นสักคนที่อาจเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว และอาจจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปตามแหล่งงานทำให้ไม่รู้ ไม่ทันสถานการณ์จึงไม่ได้เข้ารับการสำรวจเมื่อรัฐเปิดดำเนินการ แล้วอยู่ๆจะเดินเข้าไปที่อำเภอเพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ‘ขอเข้ารับการสำรวจ’จะทำไม่ได้

อย่างกรณี  พระสุทินหรือนายสุทิน ยอดใหญ่ เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นคนเชื้อสายไทย ที่บ้านวังใหญ่ เขตตำบลสิงขร จังหวัดมะริด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘   เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ก็เข้ารับการอุปสมบทเป็นสามเณร ที่วัดทุ่งมะพร้าว   ๑ พรรษาผ่านไป  วันหนึ่งได้ติดตาม’หลวงพ่อหยวก’ เดินทางเข้าประเทศไทยมาอยู่ที่’วัดทับสะแก’และได้บวชเป็นพระในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีพระครูพิสุทธิ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้เรียนพระปริยัติและสอบได้นักธรรมชั้นตรี   ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สอบได้นักธรรมชั้นโท และปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สอบได้นักธรรมชั้นเอก  ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ พระสุทิน เข้าร่วมโครงการสอนจริยธรรมให้กับนักเรียน โดยสอนอยู่ที่วัดทับสะแก พอปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึง ๒๕๖๒ ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดเขาโบสต์ อำเภอบางสะพาน ยังคงเป็นพระผู้สอนจริยธรรมให้แก่นักเรียนในโรงเรียนวัดเขาโบสต์ โรงเรียนวัดห้วยทรายขาวและโรงเรียนบ้านล่าง    พระสุทิน เป็นพระผู้สอนที่ไม่ได้รับซองปัจจัยตอบแทน แม้จะเป็นปัจจัยเพียงเล็กน้อยก็ตาม  นั่นเพราะพระสุทินไม่มีบัตรประจำตัว ไม่ได้เป็นบุคคลของรัฐไทย หรือของรัฐใดในโลก 

ความจริงแล้ว เมื่อรัฐบาลมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ในปี ๒๕๔๘ และดำเนินการสำรวจกลุ่มเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ พระสุทิน ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาโบสถ์ บางสะพาน  ได้ไปยื่นขอเข้ารับการสำรวจฯ แต่เข้าใจว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติจนทำให้พระสุทินไม่มีข้อมูลปรากฎในรายการทะเบียน   ต้องอยู่ในสถานะบุคคลที่ล่องลอย    


5

หากคำนิยามที่สังคมไทยใช้เรียกแรงงานชาวไทยเดินทางเข้าไปขายแรงงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายว่า “ผีน้อย”   พระสุทิน ในฐานะเป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยครองตนในเพศบรรพชิต ก็คงเป็น “ผีพระ” อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายการทะเบียนราษฎรปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ญาติๆมีช่องทางช่วยให้พระสุทินมีเอกสารแสดงตัว กรณีบุคคลที่ตกหล่นทางทะเบียน ได้ถือบัตรแสดงตัว ‘บัตรเลข ๐ กลุ่ม ๐๐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒   แต่พระสุทินยังไม่สามารถยื่นคำขอพิสูจน์ฯเพื่อให้คณะกรรมการฯพิจารณารับรองได้ เพราะพระสุทินไม่มีเอกสารที่ระบุว่าเป็นผู้มีเชื้อสายไทย    พระสุทินนั้นมีญาติทั้งฝั่งพ่อและแม่ซึ่งได้รับสัญชาติไทยแล้ว จึงได้ทดลอง’ทำผังเครือญาติ’เพื่อแสดงความเชื่อมโยงทางสายโลหิต โดยมีญาติที่อ้างถึงในผังเครือญาติ แล้วทดลอง’ยื่นคำขอ’ต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งที่รู้คำตอบอยู่แล้ว  แต่เพื่อใช้เป็น’กรณีศึกษา’  “ต้องมีหนังสือสั่งการ กรณีแบบนี้” เจ้าหน้าจากสำนักทะเบียนกลางซึ่งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ภายใต้โครงการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น อันเกิดจากบันทึกความร่วมมือหลายฝ่ายในการช่วยพาพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นข้ามพ้นข้อจำกัดเพื่อการได้คืนสิทธิ์ในสัญชาติไทย อธิบายต่อผู้ยื่นคำขอฯ   

คำนิยามคนไทยพลัดถิ่น มาตรา ๔ พระราชบัญญัติสัญชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๕) คือ ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

…ก็คงต้องผลักดันปัญหานี้ให้ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจออกกฎกระทรวง..