ความเหลื่อมล้ำ: สภาพการรับรู้ ความยากจน และความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ เมื่อคน 1% ครองความมั่งคั่ง 58%

พรชัย ยวนยี

ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ = ความขัดแย้งทางชนชั้น

“ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา คือ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ พูดตรงๆก็คือ ความขัดแย้งทางชนชั้นที่เพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจไม่ลดลง” คำพูดของ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ในการให้สัมภาษณ์ หัวข้อ “อนาคตการเมืองไทยและประชาธิปไตยโลก” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ความน่าสนใจของคำพูดนี้ คือ “ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ” ซึ่งดำรงอยู่ในรัฐไทยทั้งในแง่ภาพสะท้อนผ่านความรู้สึกของคนทั่วไปและรายงานการวิจัย ทั้งของรัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม และต่างประเทศ ที่ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง และควรแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในทุกโครงสร้างและสถาบันของรัฐไทย

ในส่วนของรัฐเอง มีความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกรัฐบาล แต่ก็เน้นไปที่แนวนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลเสียมากกว่าที่จะเป็นการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ มีแบบแผน และวิธีการที่ชัดเจนในระยะยาว พอเปลี่ยนรัฐบาลแผนนโยบายนั่นๆก็ถูกพับเก็บ แนวนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำชุดใหม่ก็มากับรัฐบาลใหม่ที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา (หรือรัฐประหารเข้ามา) ซึ่งความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกรัฐบาล สะท้อนอะไร? สะท้อนว่า รัฐไทยมีความรับรู้ว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริงและอยู่ในอัตราที่สูง[1]

ดังเช่น รัฐไทยมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาในการดูแลด้านนี้หลากหลายหน่วยงาน จนบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนกันขึ้น แต่ก็สะท้อนว่ารัฐไทยเองมองเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ในรายงานหัวข้อ “รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย”[2] ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่างก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ รวมไปถึงการระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้อย่างชัดเจน

ในส่วนของเอกชน ดูเหมือนจะเป็นผู้เล่นหลักในสมการความเหลื่อมล้ำ เพื่อสะสม “ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ตามแนวทางของรัฐบาลทหารปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ถูกมองว่าเป็น “ทุนนิยมผูกขาดเหนือรัฐ” ในงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวข้อ “การผูกขาดทางธุรกิจกับการเมือง”[3] ได้อธิบายรูปแบบไว้ว่า ทุนผูกขาดกับรัฐอยู่ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยทุนผูกขาดได้อาศัยอำนาจทางกฎหมายในมือของนักการเมืองเซ็นต์อนุมัติโครงการฯ หรือกฎหมายต่างๆ ส่วนนักการเมืองได้การสนับสนุนทางการเงินในการหาเสียงและสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆผ่านการบริจาคผ่านพรรคการเมือง ในรายงานยังอธิบายต่อว่า ปัญหาการผูกขาดส่วนมากเกิดขึ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์,กลุ่มบริษัทในเครือสุรามหาราษฎร,บริษัทในเครือซีเมนต์ไทย และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่

นอกจากนี้ ทุนผูกขาดเหล่านี้ยังไม่ยึดติดกับนักการเมืองเพียงเท่านั้น ยังคงมีเส้นสายอำนาจกับเหล่าข้าราชการในกระทรวงและกรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทหาร(ที่มีลักษณะรัฐซ้อนรัฐ) ซึ่งจะมีอำนาจอย่างมากเมื่อเกิดการรัฐประหารเข้าปกครองประเทศ เช่น ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารใช้งบประมาณประเทศไปแล้วกว่า 16 ล้านล้านบาท[4] มีการออกกฎหมายผ่าน ม.44 และ สนช.ซึ่งตนเป็นคนแต่งแต่ง มีการอนุมัติโครงการต่างๆ มีการแต่งตั้งเหล่านายทุนทั้งหลายอยู่ในคณะกรรมการแผนปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้างต้นเพื่ออธิบายให้เห็นภาพของความเป็นรัฐ(ทหาร) และทุนที่สนิทแนบชิดผ่านการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสภาพของความเหลื่อมล้ำขึ้นในรัฐไทย

ในส่วนของนักวิชาการและประชาสังคม ยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำประจักษ์ให้คนในสังคมได้เห็น และทำหน้าที่ในการตรวจสอบและวัดค่าหน่วยความเหลื่อมล้ำให้สังคมได้รับทราบ เช่น ในงานวิจัยขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ได้ทำวิจัยและเปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย รายได้ 1 ปีของคนรวยที่สุดในไทย สามารถนำมาใช้ลดความยากจนของคนทั้งประเทศได้ โดยคนรวยที่สุด 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 35 เท่า โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 28 คน จาก 5 คน และทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันถึง 9,142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรของไทย 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน นอกจากนี้ยังพบว่าคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และ 5 ปีที่ผ่านมาคนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน[5]

เป็นงานวิจัยของ ดร.ดวงมณี เลาวกุล ได้จำแนกการถือครองที่ดินเป็น 10 กลุ่ม จากคนถือครองที่ดินน้อยสุด 10% แรก ถึง คนถือครองที่ดินมากสุด 10% หลัง
ที่มา: http://www.tef.econ.tu.ac.th/wp-content/uploads/2015/04/02_TEF-Presentation.pdf

หรือในเรื่องการถือครองที่ดิน ในงานวิจัยของ ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำวิจัยหัวข้อ “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย” พบว่า คนเพียง 10% ถือครองที่ดินเอกชนทั้งหมด 60% และมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพียง 3%[6] ในปี 2555 อธิบายได้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินในประเทศไทย ปี 2555 อยู่ที่ 0.89 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก โฉนดที่ดินในประเทศไทยทั้งหมด 95 ล้านไร่ มีจำนวนผู้ถือครองประมาณ 15.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ พบว่า ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่ ,ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่ และร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครอง มากกว่า 5 ไร่ นั้นหมายความว่า คนไทยมากกว่าสามในสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย และหากแบ่งคนทั้งประเทศออกเป็น 10 กลุ่ม พบว่า กลุ่มรวยสุด 10% ถือครองที่ดินรวมทั้งสิ้นถึง 61.48% และหากรวมคนที่รวยรองลงมากลุ่มที่สอง(ถือครองที่ดิน 18.44%)  พบว่า มีที่ดินโฉนดรวมกันทั้งสิ้น 79.92% ของที่ดินโฉนดทั้งประเทศ ขณะที่คนจนสุด 10% มีที่ดินรวมกันเพียง 0.07% และกลุ่มคนจนรองลงมา มีที่ดินรวมเพียงแค่ 0.17% หรือผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 10% แรก มีโฉนดที่ดินมากกว่าผู้ถือครองที่ดิน 10% สุดท้าย 854 เท่า[7] ขณะที่ผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีที่ดิน รวมกันทั้งสิ้นถึง 631,263 ไร่[8]

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่า คนไทยราว 2.2 ล้านคนอยู่ในสภาวะเปราะบางเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน โดยร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนอีกร้อยละ 37 ไม่มีโฉนดที่ดิน และที่เหลือไม่มีที่ดินเพียงพอในการทำมาหากิน[9] ทำไมถึงยกตัวอย่างการถือครองที่ดิน เพราะเป็นตัวสะท้อนถึงความมั่งคั่งของคนรวยในไทยได้ดีที่สุด เพราะหากคนรวยเลือกที่จะลงทุน ที่ดินดูเหมือนจะเป็นทรัยพ์สินที่งอกเงยและปลอดภัยมากที่สุด เพราะหากนำเงินไปฝากธนาคาร จะได้ดอกเบี้ยเพียง 1-2% แต่หากเอาไปซื้อที่ดิน ราคาที่ดินพุ่งขึ้น 5% ทุกปี[10](ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่เพียงแค่ 2-4%) แต่การเพิ่มขึ้นจะมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละที่ ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง[11]

ในส่วนของต่างประเทศ ซึ่งได้ทำรายงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทั่วโลกขึ้น ว่าประเทศใดครองความเหลื่อมล้ำมากสุด ในรายงานของเครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ต 2016[12] ที่มีรายงานถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆในโลก โดยวัดจากสัดส่วนความมั่งคั่งของคนรวย 1% ในประเทศ เทียบกับความ มั่งคั่งของประเทศในปี 2016 ผลปรากฏว่า ประเทศรัสเซียครองอันดับ 1 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศรัสเซียสูงถึง 74.5% อันดับ 2 ประเทศอินเดีย คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศสูงถึง 58.4% อันดับ 3 ประเทศไทย คนรวย 1% ครองความมั่งคั่ง ในประเทศสูงถึง 58.0%

หน้าตาของคนจน สภาพความจนเชิงตัวเลข? หน่วยงานประเทศไทยอย่างสภาพัฒน์ฯ ได้ใช้เกณฑ์รายได้ 2,667 บาท/คน/เดือน เป็นเส้นแบ่งความยากจน ซึ่งมากกว่าที่ธนาคารโลกใช้ 1.9 เหรีญสหรัฐฯ/คน/วัน (ราว 2,000 บาท/คน/เดือน) โดยพบว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และหลายรัฐบาล คนจนในเมืองไทยลดลง จาก 34.1 ล้านคนในปี 2531 (คิดเป็น 65.2% ของประชากร) เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 (คิดเป็น 8.6% ของประชากร)[13]

แต่หากแบ่งตามเกณฑ์รายได้ของสภาพัฒน์ฯ และกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดในประเทศไทย พบว่า เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,074 บาทต่อคนต่อเดือน หากขยับเส้นความยากจนมาอยู่ที่ 4,074 บาทต่อคนต่อเดือน แล้ว ประเทศไทยจะมีคนจนสูงถึง  26.9 ล้านคน โดย ประชากรกลุ่มนี้เป็นคนยากจนและคนเกือบจน อันเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตกเป็นคนจนได้ง่าย[14] ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่กำหนดให้มีอัตราอยู่ที่อย่างน้อยวันละ 300 บาทในทุกจังหวัด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แรงงานร้อยละ 55.7 ของไทยเป็นแรงงานนอกระบบ การมีงานทำไม่แน่นอน ทำให้รายได้ไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน[15] และในรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2559 มีคนจนจำนวน 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.2 ของประชากรทั้งหมด[16]

ข้างต้นคงพอทำให้เห็นภาพเชิงประจักษ์ของสภาพการดำรงอยู่ของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อไม่ให้เกิดอคติที่ทำให้ใช้ความรู้สึกในการบอกว่าความเหลื่อมล้ำไม่มีจริง หรือมิได้เป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน หรือการดำรงอยู่ของสภาพความขัดแย้งในปัจจุบันมิได้เป็นภาพสะท้อนกลับของภาวะความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจอันนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างแก้ไขไม่ได้ (หรือเลือกที่จะไม่แก้ไขโดยผู้มีอำนาจ ที่มีสิทธิแก้ไขเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป…) โดยหากมองดูรูปแบบของความเหลื่อมล้ำ อาจแบ่งภาพรวมออกได้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ[17] คือ ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ (Wealth & Income Inequality) ซึ่งเกิดจาก การพัฒนาที่มีลักษณะไม่สมดุลหรือกระจุกตัวในบางพื้นที่หรือบางสาขาการผลิต ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนากระจายไปไมทั่วถึงทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มบุคคล  ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส (Opportunity Inequality) ในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และการเข้าถึง แหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต ความเหลื่อมล้ำด้านอํานาจ (Power Inequality) ทั้งด้านสิทธิทางการเมือง อํานาจต่อรอง ในการเข้าถึงทรัพยากร และการมีส่วนรวมในการกําหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและระดับทองถิ่น ส่งผลใหการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และอาจเกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อกลุ่มที่มีอํานาจในสังคมน้อย

ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ช่วงว่างทางรายได้” ซึ่งถือเป็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการกระจายรายได้ พบว่า ยังกระจุกตัวอยู่กับคนรวยสุด 10% ถือครองรายได้ร้อยละ 40% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่คนจนสุด 10% ถือครองรายได้เพียง 1.6% ของรายได้ทั้งหมดเพียงเท่านั้น ซึ่งห่างกันถึง 25.2 เท่า[18] ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า คนรวยสุด 10% มีการใช้จ่ายสูงสุดมากว่าคนจนสุด 10% อยู่ที่  11 เท่า และยังมีประชากรถึง 8.4 ล้านคน ที่ได้รับสารอาหารและสิ่งพื้นฐานไม่เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีพ ในส่วนของความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน พบว่า คนที่มีเงินฝากเกิน 10 ล้านบาท มีเพียงร้อยละ 0.1 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด และมีเงินฝากรวมกันถึง 46.5% ในแง่ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน (ดังที่กล่าวไปแล้ว) คนถือครองที่ดินมากสุด 20% แรก ถือครองที่ดินคิดเป็น 325.7 เท่า ของกลุ่มที่ที่ครองที่ดินน้อยสุด และครอบครองที่ดินสูงถึง 80%  ของพื้นที่ทั้งหมด,ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ประชากรที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด ร้อยละ 10 มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่าคนมีฐานะด้อยสุดถึง 16.3 เท่า นักเรียนในเขตเมืองมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่าเขตชนบท,ในแง่ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคทางเพศ ในแง่การศึกษา เพศหญิงมีโอกาสเข้าถึงมากกว่าเพศชาย ขณะที่ในการทำงานเพศหญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยกว่าเพศชาย และผู้หญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย

ขณะที่สาเหตุของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากการรวบรวมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ยังได้รวบรวมให้เราได้เห็นภาพอย่างชัดเจน ถึง 5 สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากกว่าแรงงานอันเป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างทางรายได้ขึ้น เช่น ค่าตอบแทนแรงงานและสวัสดิการคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 37.4 ของ GDP ขณะที่รายได้ของทุนและผู้ประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 59.7 ของ GDP ยังไม่นับรวมแรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62.6 ที่ยังขาดหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการสังคม,โครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ บริการรัฐต่างๆกระจุดตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่, ปัญหาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน, กระบวนการยุติธรรมยังมีข้อจำกัดสำหรับคนจน คนชายขอบไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เน้นแบบแแผนราชการแบบเคร่งครัด ภาษายากต่อการเข้าใจ การผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐไม่กระจายสู่ชุมชน และการบริหารราชการขาดประสิทธิภาพ ความโปร่งใส่ และการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะที่ก็มีข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เช่นในรายงานของธนาคารโลก Riding the Wave An East Asian Miracle for the 21st Century ซึ่งได้อธิบายถึง ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นผู้นำที่แสดงวิธีให้เห็นว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความยากจนอย่างชัดเจนได้ ซึ่งช่วยให้คนเกือบล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน พร้อมกล่าวถึงโมเดลใหม่ในการสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอย่างยั่งยืน พร้อมกับลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น[19] โดยได้เสนอ 3 แนวทาง คือ สร้างเศรษฐกิจให้กับผู้มีรายได้น้อย ให้สวัสดิการ และการเก็บภาษี

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานโครงการศึกษาวิจัยประเด็นนโยบายเชิงลึกด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและสังคมไทยภายใต้เบริบทการเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ผ่านการปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูประบบสวัสดิการ ปฏิรูประบบการศึกษา และการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการเพิ่มความเท่าเทียมทางด้านโอกาส ในการเลื่อนฐานะทางสังคม และข้อเสนอของ TDRI ในรายงานโครงการวิจัย เรื่อง สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560 ที่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะผ่านการปฏิรูประบบภาษี และโครงสร้างทางสังคม

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2017/12/74783

โดยในประเด็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านระบบภาษี ในงานวิจัยของ TDRI มีแนวทางและข้อเสนอแนะว่า โครงสร้างภาษีของไทยมีความแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประการ เช่น ภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานรายจ่าย ได้แก่ ภาษีการขาย ภาษีสรรพสามิต สูงเกินไป ในขณะที่สัดส่วนของภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานรายได้ต่ำเกินไป และการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินยังไม่น้อยเกินไป โดยต้องมีการเพิ่มการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มากขึ้น ควรจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินให้มากขึ้น ในกรณีการเก็บภาษีจากการขาย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ปัจจุบันจะเป็นรายได้หลักของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ก็อาจพิจารณาปรับเพิ่มได้อีก ควรลดการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลง หากสามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้[20]

ที่มาภาพ: https://themomentum.co/momentum-feature-thailand-inequality-2016-by-oxfam/

ในประเด็น การปฏิรูปที่ดิน แน่นอนว่าที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นตัวแสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำได้อย่างเด่นชัดที่สุด ควรมีการใช้ระบบภาษีที่ดิน ซึ่งไทยเรานั้นยังไม่เคยมีกฎหมายนี้(แม้จะมีความพยายามในยุค คสช.) มีเพียงแค่ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเก็บในอัตราที่น้อยนิด ทำให้ที่ดินถือเป็นทรัพย์สินที่ซื้อไว้เก็งกำไรของเหล่าคนรวย หากมีการใช้ภาษีที่ดินจะทำให้เกิดการให้ปล่อยที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น และจัดตั้งธนาคารที่ดิน (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเป็นสถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์การมหาชน)) ในการเป็นผู้ซื้อที่ดินจากเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรและผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และรัฐควรดำเนินการจัดทำระบบที่ดินทั่วประเทศ (Land Database) โดยใช้เทคโนโลยีแผนที่ภูมิศาสตร์ที่ดิน (GIS) เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบการถือครองที่ดิน และเพื่อวางแผนการใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ[21]

ในประเด็นการปฏิรูประบบสวัสดิการ ควรจัดให้มีสวัสดิการให้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกคน เป็นสวัสดิการที่พึ่งปราถนา เช่น “เป็นสวัสดิการที่ดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย ตรงความต้องการประชาชน ถ้วนหน้าในสวัสดิการสำคัญ แม้จะมีปัญหาการรั่วไหลไปสู่คนไม่จนบ้างก็เป็นเรื่องที่จำเป็น สวัสดิการที่ได้รับต้องไม่ซ้ำซ้อน มีความเท่าเทียมกันในสิทธิประโยชน์ มีสวัสดิการเพิ่มเติมที่เน้นดูแลคนจนและผู้ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ เป็นสวัสดิการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในระยะยาว ไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐมากจนเกินไป โดยอาจต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีถ้าจำเป็น มีความเป็น สังคมสวัสดิการ หมายถึง ไม่ใช่ภาครัฐเท่านั้นที่เป็นผู้รับภาระ แต่ภาคส่วนอื่นได้แก่ ชุมชน ธุรกิจ ประชาชน และอื่นๆมีส่วนร่วมด้วย และอาจขยายความคุ้มครองไปถึงคนไร้รัฐและคนต่างด้าวในบางกรณี” นี้คือสังคมสวัสดิการอันพึงปราถนา ที่ผ่านการสอบถามความเห็นของประชาชน และการประชุมระดมสมองและสืบค้นของนักวิจัยในโครงการวิจัย เรื่อง  “สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในประเด็นการปฏิรูประบบการศึกษา คุณภาพการศึกษามีส่วนในการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ซึ่งแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างลดอำนาจการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางและส่งเสริมให้จัดการศึกษาโดยท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน และอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ปรับปรุงหลักสูตร  ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันระหว่างการศึกษาในเมืองกับชนบท ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลในทุกชุด เช่น ในรัฐบาลปัจจุบัน มีความพยายามปฏิรูปการศึกษา การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) การออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561(สนช.เห็นชอบ) ร่างพ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ…(รับฟังความคิดเห็น) ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…(รับฟังความคิดเห็น) ร่างพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ…(เสนอ ครม.) ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ พ.ร.ฏ.สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน (เสนอ ครม.) ฯลฯ

ในประเด็น การปฏิรูประบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แม้ว่าประเทศไทยจะมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาล ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าอำนาจในการต่อรองกับส่วนกลาง และการทำงานซ้ำซ้อนกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย ยังคงเป็นปัญหาเรื่อยมา ควรมีการเพิ่มอำนาจการต่อรองและการตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรให้กับประชาชนในท้องถิ่น ผ่านการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานและการเพิ่มอำนาจให้กับชุมชนและประชาชนในการจัดการตนเอง ส่งเสริมการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดทำแผนพัฒนาชุมชนตนเอง


[1]สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561.ที่มาลิงค์ http://social.nesdb.go.th/social/Portals/0/PDF%20%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%AF%202559.pdf

[2] เรื่องเดียวกัน

[3]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI),การผูกขาดธุรกิจกับการเมือง.สืบค้น 21 มิถุนายน 2561,ที่มาลิงค์ http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/02/dd_final.pdf

[4] ข่าวประชาชาติธุรกิจ,16 ล้านล้าน ต้นทุนรัฐประหาร 4 ปี มรดกไทยนิยม-รัฐธรรมนูญฉบับ “จักรี”,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561,ที่มาลิงค์ https://www.prachachat.net/politics/news-161517

[5] https://prachatai.com/journal/2017/02/69913

[6] ดร.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์

[7] ดวงมณี เลาวกุล.การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561.ที่มาลิงค์ http://www.tef.econ.tu.ac.th/wp-content/uploads/2015/04/02_TEF-Presentation.pdf

[8] https://www.tcijthai.com/news/2015/12/current/5448

[9]ดร.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์

[10] ข่าวฐานเศรษฐกิจ,กรุงเทพฯ ราคาที่ดินพุ่ง 4%,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ,ที่มาลิงค์ http://www.thansettakij.com/content/150673

[11] ข่าวแบงค์คอกซิตี้สมาร์ท,ราคาประเมินปีหน้าพุ่ง 25% กรมธนารักษ์เผยที่ดินแนวรถไฟฟ้าเพิ่ม 100%,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561,ที่มาลิงค์ http://bit.ly/1HsHK49

[12] https://www.thairath.co.th/content/802316

[13] ข่าวฐานเศรษฐกิจ,สภาพัฒน์เผย ปี 2559 คนไทย 5.8 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561.ที่มาลิงค์ http://www.thansettakij.com/content/241052?ts

[14] เรื่องเดียวกัน

[15] เรื่องเดียวกัน

[16]สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561.ที่มาลิงค์ http://social.nesdb.go.th/social/Portals/0/PDF%20%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%AF%202559.pdf

[17] สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2554). โครงการศึกษาวิจัยประเด็นนโยบายเชิงลึกด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและสังคมไทยภายใตบริบทการเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ. สืบค้น 21 มิถุนายน  2561 ที่มาลิงค์  http://social.nesdb.go.th/

[18] สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ. (2557). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2555. สืบคน 21 มิถุนายน 2561 จาก http://social.nesdb.go.th/

[19]ข่าวผู้จัดการ,ธนาคารโลกเผย รายงานประเทศไทยเริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่ง,สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2561 ,ที่มาลิงค์  https://mgronline.com/stockmarket/detail/9600000123469

[20] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,รายงานโครงการวิจัย เรื่อง สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี 2560

[21] สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2554). โครงการศึกษาวิจัยประเด็นนโยบายเชิงลึกด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและสังคมไทยภายใตบริบทการเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ. สืบค้น 21 มิถุนายน  2561 ที่มาลิงค์  http://social.nesdb.go.th/